72 องค์กร ร่วมหารือแนวทางการทำงานกับสภาประชาสังคมชายแดนใต้
สภาประชาสังคมชายแดนใต้ จัดโครงการจัดทำแผนที่(Mapping) เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ร่วมหาทิศทางและความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยมีตัวแทนเครือข่ายฯ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 72 องค์กร ณ ห้องสะบารัง โรงแรมซี.เอส.ปัตตานีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2559
LEMPAR และ บุหงารายา ร่วมงานประชุมภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียน
ณ ประเทศติมอร์เลสเตย์
เมื่อวันที่ 1-5 สิงหาคม 2559 นายตูแวตานียา ตูแวแมแง ประธานสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) และ นายฮาซันยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการประชุมภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียน ณ ประเทศติมอร์เลสเตย์
นายตูแวตานียา กล่าวถึงความเป็นมาของการประชุมนี้ว่า ทุกๆ ปีจะมีการจัดประชุมภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียนคู่ขนานกับการประชุมของภาครัฐสมาชิกอาเซียน ซึ่งในปีนี้ประเทศลาวเป็นเจ้าภาพ โดยปกติการประชุมคู่ขนานจะจัดในประเทศของรัฐสมาชิกที่เป็นเจ้าภาพ แต่ในปีนี้ประเทศลาวไม่อนุญาตให้ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียนจัดประชุมได้ ต่อมามีมติจากคณะกรรมการให้เลือกประเทศติมอร์เลสเตย์เป็นเจ้าภาพ ในฐานะว่าที่รัฐสมาชิกอาเซียนประเทศที่11 สำหรับเหตุผลที่ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ได้รับเชิญไปร่วมการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นของปาตานีกับติมอร์เลสเต้ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการประเด็นผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้ง และเพื่อมีโอกาสเชื่อมต่อกับเพื่อนในประเทศอาเซียนอื่นๆ ซึ่งคณะตัวแทนของไทยได้รับการต้อนรับและดูแลอย่างดีจากเจ้าภาพ รวมทั้งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากอัครราชทูตไทยประจำประเทศติมอร์เลสเตย์
สำหรับประเด็นที่ประชุมแลกเปลี่ยนกัน เป็นประเด็นปัญหาที่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในทุกๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยมีการระดมข้อมูลข้อเท็จจริงและสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติภาพของแต่ละประเทศ ตลอดจนหารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาและความร่วมมือหนุนเสริมกันในอนาคต
“ประสบการณ์ที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้คือ ทำให้ได้รับรู้รับทราบว่า 1.ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาสากลโดยตัวของมันเอง จึงชอบธรรมที่จะมีการหนุนเสริมให้ความช่วยเหลือกันข้ามพื้นที่ แม้ว่าจะอยู่คนละประเทศก็ตาม 2.เครือข่ายและการสื่อสารสาธารณะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ในการที่จะให้เกิดการหนุนเสริมซึ่งกันและกัน3.ภาษาอังกฤษคือตัวแปรสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากจะให้ได้รับความช่วยเหลือจากสังคมระหว่างประเทศ
สำหรับภาคประชาสังคมในสายตาของรัฐบาลติมอร์เลสเตย์นั้น รัฐยอมรับและให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมมาก เพราะในการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวติมอร์เลสเตย์นั้น ภาคประชาสังคมได้มีส่วนสำคัญโดยใช้การเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี อีกทั้งปัจจุบันภาคประชาสังคมได้เป็นกลไกและมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมประสานระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐบาลติมอร์เลสเตย์ให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่กับภาคประชาสังคมที่ทำงานยึดโยงกับภาคประชาชน”
สำหรับทิศทางของปาตานีหรือชายแดนใต้นั้น ตูแวตานียาเห็นว่า ขึ้นอยู่กับการเมืองภาคประชาชนอย่างสันติวิธีของประชาชนชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการจะกำหนดทิศทางสันติภาพในอนาคตว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะทั้งรัฐและขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชต่างก็จะไม่มีความชอบธรรม หากประชาชนไม่ให้การสนับสนุน
PAW เตรียมเดินรณรงค์สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพ
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) ประชุมเตรียมเดินขบวนรณรงค์สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพระหว่างรัฐกับมาราปาตานี (MARA PATANI) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2559 ณ ประเทศมาเลเซีย ขอพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชน
โดยคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ กำหนดร่วมเดินรณรงค์ตั้งแต่เวลา 08.30 – 10.00 น.ในวันที่ 1 กันยายน 2559 โดยจะมีผู้ร่วมขบวนประมาณ 100 คน พร้อมข้อความเรียกร้องต่อฝ่าย Party A (ฝ่ายรัฐบาล) ว่า “รักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน” และข้อความเรียกร้องต่อฝ่าย Party B (มาราปาตานี)ว่า “ไม่ทำให้พื้นที่สาธารณะมีความเสี่ยงต่อผู้บริสุทธิ์”
การเดินรณรงค์จะเริ่มตั้งขบวนที่สวนสาธารณะสะพานศักดิ์เสนีย์ ริมแม่น้ำปัตตานี จากนั้นจะเดินผ่านตลาดเทศบาลเมืองปัตตานี และไปสิ้นสุดพร้อมอ่านแถลงการณ์ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี โดยขอให้ผู้ร่วมเดินรณรงค์เน้นแต่งกายสีขาวเป็นหลักเพื่อแสดงพลังเรียกร้องสันติภาพ
ทั้งนี้ ในขบวนจะมีการถือป้ายข้อความต่างๆ ได้แก่ 1.สันติภาพจะไม่มีความหมายอะไร ถ้าไร้ประชาชน 2.สันติภาพไม่ต้องการความรุนแรง 3.ขอถนนหนทางปลอดภัย 4.ขอตลาดปลอดภัย 5.ขอสันติสุขกลับคืนมา 6.หยุดกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี 7.ขอให้มัสยิดปลอดภัย 8.ขอให้วัดปลอดภัย 9.ขอให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดภัย 10.การหันหน้ามาพูดคุยกัน คือจุดเริ่มต้นของสันติภาพ 11.ขอให้โรงเรียนปลอดภัย 12.พื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย 13.ขอให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับเด็กและสตรี
นางสาวลม้าย มานะการ สมาชิกเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ กล่าวว่า การเดินรณรงค์ครั้งนี้เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะว่า คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง“ พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” ต่อฝ่าย Party A ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ผ่านทีมเทคนิคของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้รับข้อเสนอนี้แล้ว
“สำหรับฝ่าย Party B คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายชุดเดียวกันผ่านตัวแทนของมาราปาตานีแล้วเช่นกัน และได้รับคำยืนยันแล้วว่าจะนำข้อข้อเสนอนี้ไปยื่นให้นายอาวัง ยาบะ ประธานมาราปาตานีต่อไป”
ขณะเดียวกันคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ ยังได้ทำแบนเนอร์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เชิญชวนเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ โดยใช้ข้อความความว่า “เดินรณรงค์สาธารณะ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยต้องอยู่บนโต๊ะพูดคุย” พร้อมกับเผยแพร่กำหนดการข้อเสนอเชิงนโยบาย“พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้”
ข้อเสนอเชิงนโยบาย “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้ชายแดนใต้” มีข้อเสนอที่สำคัญคือ
1.ยุติการก่อเหตุความรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะ พร้อมกับประกาศพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย
2.ตลาด ร้านค้า ถนน โรงเรียน มัสยิด วัดพื้นที่จัดงานประเพณี ทุ่งนา สวนยาง ร้านน้ำชา โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และรวมถึงบ้านพักหรือที่พักอาศัย
3.แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมืองและให้นำประเด็นพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงเป็นวาระสำคัญในการพูดคุย
4.เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงภาคประชาสังคมได้ทำงานอย่างปลอดภัยและอิสระ คือนักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่ลงพื้น ทำให้มีที่เสี่ยง ต้องพบกับความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ ถูกติดตาม จับตา ถูกมองอย่างมีอคติ หรือบางกรณีถูกข่มขู่คุกคามจากคู่ขัดแย้งทั้งหน่วยงานของรัฐกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ จึงสร้างความกลัว ความกังวลใจ ความไม่มั่นคงและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงการทำงาน ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ทั้งๆ ที่บทบาทการทำงานของภาคประชาสังคมเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยผลักดันสันติภาพหรือสันติสุขให้มีความก้าวหน้า การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและเยียวยาโดยไม่เลือกฝ่าย การเชื่อมประสานและคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยแนวทางสันติวิธี การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น การตรวจสอบการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่รัฐ ที่นำไปสู่การลดเงื่อนไขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมถึงการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เป็นความเดือดร้อนของคนในชุมชน จากปัญหาปากท้องของคนใน ครอบครัว/ชุมชน
ซึ่งการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้มีการศึกษาและรวบรวมความเห็นคิดเห็นของผู้เห็นจากภาคประชาชนและภาคชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ประมาณ 500 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 จนถึง เดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา
รายชื่อองค์กรสมาชิกคณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้ 23 องค์กร ได้แก่
1.กลุ่มเซากูน่า
2.กลุ่มด้วยใจ
3.กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้
4.กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี
5.เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women)
6.เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
7.เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
8.เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้
- เครือข่ายชุมชนศรัทธา
- เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี
- เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก
- เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
- เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้
- ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส
- ชมรมผู้นำมุสลิมะห์นราธิวาส
16 มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า
- สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)
- สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา
- สภาประชาสังคมชายแดนใต้
- สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
- ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา
- ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า
- ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)
ความสุขที่ไม่มีตัวชี้วัด… สุขจากกาวันกีตอ
“กาวันกีตอ” หนุนเสริมสันติภาพในพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี ผ่านการสื่อสารอย่างสันติและเข้าใจภายในครอบครัว ทีมงานก้าวย่างอย่างมีพัฒนาการและทักษะ พร้อมถ่ายทอดสู่พื้นที่ หนุนครอบครัวต้นแบบเป็นแกนนำเพื่อต่อยอดความดีงาม
จากกลุ่มเป้าหมายเพียง 10 ครอบครัวในการทำงานของกลุ่มกาวันกีตอในพื้นที่ ต.กระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี ที่มุ่งสร้างสันติภาพจากเยาวชนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ ขยายรายละเอียดและรูปแบบของงานเป็นสันติภาพที่เริ่มจากภายในครอบครัวสู่ “การเรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างสันติในครอบครัว” ภายใต้ “โครงการครอบครัวสื่อศานต์สุข” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้(ช.ช.ต.)สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)
ปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มกาวันกีตอลงพื้นที่จัดประชุมในแต่ละตำบลของอำเภอมายอเพื่อสอบถามความต้องการ ความสมัครใจและความร่วมมือของแต่ละชุมชน ซึ่งพบว่าได้รับความสนใจจากตำบลอื่นๆ ในอำเภอมายอมากขึ้น จึงขยับขยายไปยังตำบลอื่นด้วยในการดำเนินงาน
นางสาวนท ศิริกาญจน์ ผู้ประสานงานโครงการกล่าวว่า โครงการครอบครัวสื่อศานต์สุขมีเป้าหมายหลักเป็นครอบครัวของเยาวชนที่มีอายุ 13-24 ปี โดยให้ชุมชนร่วมคัดเลือกครอบครัวเป้าหมาย รวมทั้งให้ครอบครัวสมัครใจเข้าร่วมโครงการ มุ่งเน้นส่งเสริมการสื่อสารอย่างสันติภายในครอบครัวด้วยความเข้าใจกันและกัน ทุกคนฟังสมาชิกในครอบครัวและตอบสนองต่อความต้องการของกันและกันได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอยู่ในช่วงการสื่อสารเรื่องต่างๆ แก่กลุ่มเป้าหมาย
“ช่วงนี้อยู่ในช่วงการทำศาสนบำบัด เป็นการให้ผู้ร่วมโครงการมาเจอกันที่บ้านของสมาชิก การจัดครั้งแรกจำนวน 10 ครอบครัวทำที่ ต.กระเสาะ โดยเป็นกลุ่มแม่กลุ่มลูก ใน ต.กระเสาะและ ต.เกาะจัน ของอ.มายอ มาพูดคุย ทำความรู้จักกัน สร้างความคุ้นเคยระหว่างกันทั้งทีมงานและสมาชิกด้วยกัน ตอนนั้นเป็นช่วงปอซอ(เดือนรอมฏอน) คิดให้เป็นกิจกรรมที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่มานั่งฟังบรรยายเพราะชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้อะไร เป็นการมาทำกับข้าวเปิดปอซอ ซึ่งทุกบ้านต้องเตรียมทำกับข้าวกันเป็นปกติอยู่แล้ว หากเป็นมื้อพิเศษที่มาทำด้วยกัน เป็นการทำอาหารอย่างมีสติ ส่งต่อความรักให้กับคนในครอบครัวที่จะกลับไปกินด้วยกัน
เมื่อถามสมาชิกว่ารู้สึกยังไงก่อนเริ่มกระบวนการจนทำกระบวนการเสร็จ เขาบอกว่ารู้สึกโล่งใจ ได้สร้างความสัมพันธ์ คุยกันได้ลึกขึ้น รู้ว่าที่ผ่านมาแล้วช่วงไหนที่มีความสุข ทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกนี้ได้บ่อย สรุปได้คือ ความสุขของแม่ๆ คือการได้ทำกับข้าว ดูแลลูก สามีช่วยทำงาน ส่วนความสุขของลูกๆ คือ เวลาที่ได้ทานข้าวพร้อมหน้ากัน ได้พูดคุยกัน และเวลาที่พ่อแม่พาไปเที่ยวคือการสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นวิถีชีวิตปกติที่อาจไม่ได้มีปกติของผู้คนสมัยนี้ ด้วยการทำมาหากินและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป”
ในกิจกรรมครั้งที่สอง กลุ่มกาวันกีตอไปจัดกันที่ ต.ปะโด มีจำนวน 7-8 ครอบครัว และจาก ต.ลุโบะยิไรอีกหนึ่งครอบครัว นทบอกว่าวันนั้นมีบางครอบครัวมีลูกชายมาด้วย วิธีดำเนินการคือใช้กระบวนการทำกับข้าวเช่นกัน จากปกติที่ไปสั่งข้าวกล่องมาทานกันก็มาทำทานกันเอง และได้เอากลับบ้านด้วย
“เริ่มต้นโดยใช้กระบวนการพูดคุยก่อน ฝึกทักษะการฟังเริ่มเป็นขั้นตอนมากขึ้น เริ่มไหลลื่นขึ้น เชื่อมโยงเรื่องศาสนาว่าไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็สามารถทบทวนตัวเองได้ตลอดเวลา ครั้งนี้สมาชิกสะท้อนว่า ถ้ารู้ว่าใช้กระบวนการอย่างนี้จะมีคนมาร่วมมากกว่านี้ เพราะเขาคิดว่ามาฟังบรรยายอย่างเดียว หากเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการ เนื้อหายังคงเช่นเดิม พอมาปรับตามหลักสูตรที่ได้รับการเสนอแนะ เป็นการพบเจอพูดคุยแบบฮาลาเกาะ(การจัดกลุ่มศึกษาขึ้นเพื่อการศึกษาอิสลามร่วมกัน) กันก่อน คุยตามวิถีธรรมชาติของชาวบ้าน เชื่อมถึงกัน มาล้อมวงคุยกัน สิ่งสำคัญคือการทบทวนตัวเองว่าได้ทำอะไร อะไรที่ดีที่ควรเก็บไว้ คุยเรื่องการทบทวนความสุขที่มี ความสุขที่เจอ แม่ให้ลูก ลูกให้แม่ ไม่พูดถึงสถานการณ์ที่พบเจอของแต่ละคนเพราะหนักเกินไป มีผู้นำชุมชนมาเยี่ยมตอนทำกิจกรรม ทำให้ได้รู้จักสมาชิกและรับรู้ปัญหา รวมทั้งสมาชิกกล้าพูดคุยมากขึ้น ในการทำกิจกรรมมีการแบ่งหน้าที่กัน บางคนหาฟืน ช่วยกันก่อไฟ ทอดไข่เจียว หุงข้าว ทุกคนต่างมีหน้าที่ และทำด้วยความสุข”
“ก่อนเข้ากระบวนการถามว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อจบกระบวนการแล้วถามอีกครั้งว่ารู้สึกอย่างไร เขาบอกว่ารู้สึกโล่ง เอาสิ่งที่กังวลออกก่อน ให้กระบวนการได้เกิดผล ณ เวลาที่เขาอยู่กับเรา เป็นการพักวาง เมื่อเจอสถานการณ์สามารถนำออกไปใช้ได้ โดยใช้ทักษะการฟัง เมื่อถามว่าอยากได้คนแบบไหนที่มาฟัง หรือในบ้านมีคนแบบนี้มั้ย ล้วนเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวก็ต้องการ คนที่ได้ระบายแล้วมีคนฟังอย่างตั้งใจคือสุดยอด
ทักษะการฟังคือทักษะที่สำคัญมาก ต้องฝึก ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนคือผู้เรียนรู้ ในการทำกิจกรรมครั้งหน้าได้ให้โจทย์กับทีมงานไปว่า ในอัลกุรอ่านมีซูเราะฮฺ(บท)ไหนบ้างที่กล่าวถึงเรื่องของครอบครัว ทำข้อไหนได้ ทำไม่ได้ เพื่อความชัดเจนมากขึ้น”
นทบอกว่า กิจกรรมครั้งต่อไปจะไปจัดที่ ต.ลุโบะยิไร เพราะมี 10 เคสเช่นกัน คาดว่าจะจัดภายในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ต้องรอดูการประสานงานและความพร้อมของชาวบ้าน เอาความพร้อมของชาวบ้านเป็นหลัก รวมทั้งความคืบหน้าในการอบรมการสื่อสารอย่างสันติ
“ขณะนี้กำลังให้ทีมงานผ่านการอบรมการสื่อสารอย่างสันติของม.มหิดล แล้วกลับมาถ่ายทอดให้แก่สมาชิก โดยจะถามความสมัครใจจำนวน 10 รายเพื่อฝึกทักษะด้านนี้เป็นพิเศษ ให้ได้ลึก เพื่อเป็นแกนในการขยายผล ส่วนสมาชิกที่เหลือใช้กระบวนการฮาลาเกาะ หรือสุนทรียสนทนา”
นทบอกว่า ก่อนหน้านี้เป็นช่วงเตรียมทีมทำงาน เตรียมกระบวนการ เก็บข้อมูล ขณะนี้เป็นการเริ่มต้นดำเนินงาน โดยในช่วงแรกเธอประสานเองทั้งหมด จนทุกวันนี้ทีมงานสามารถทำงานได้ทั้งหมด นับเป็นพัฒนาการที่ดีมาก
“ทีมงานเรามีทั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ผู้นำชุมชน เมื่อเขาแข็งแรงเช่นนี้แล้วจึงสามารถทำงานและประสานได้เองอย่างดี ถ้าสมาชิกมีอะไรก็สามารถส่งต่อ เหมือนเป็นเพื่อนกัน กาวันกีตอเป็นตัวกลางประสานให้ เราไม่เลือกที่จะแก้ปัญหาให้ ต้องให้เขาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยมีศักยภาพที่เพียงพอ เราไม่มีเงินให้ แต่มีกระบวนการที่ชวนกันคิด และเรากลับได้เห็นวิถี การแก้ปัญหา สิ่งที่เขาเผชิญ กลับมาเสริมความเข้มแข็งให้เราเป็นอย่างดี เป็นความยั่งยืนและเป็นความสุขไม่มีตัวชี้วัด หากสามารถรับรู้ได้ โดยมองจากความรับผิดชอบที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ แก้ปัญหาเองได้ สามารถรู้จุดประสาน รู้กระบวนการ เดินได้ด้วยตัวเอง”
“หากไม่มีโครงการช.ช.ต.ก็ไม่มีการอำนวยความสะดวกมากขึ้นเช่นนี้ เขาพร้อมมาเรียนรู้ด้วยกัน ยินดีให้ความร่วมมือ ไว้วางใจกันมากขึ้น สิ่งที่ได้กลับเช่น กับข้าวหนึ่งมื้อมีความหมาย อาหารที่ช่วยกันทำด้วยหัวใจ ให้คนที่บ้านรับรู้ว่าทำด้วยใจ เป็นเหตุผลที่อธิบายได้แม้ไม่ได้มีตัวชี้วัดเป็นรูปธรรม” นทกล่าวทิ้งท้าย
พื้นที่ของการแลกเปลี่ยน พื้นที่แห่งความไว้วางใจก่อเกิดขึ้น และพัฒนาพื้นที่แห่งสันติภายในใจ คือสันติภาพที่สร้างขึ้นมาด้วยหัวใจของทุกคน คือ … ความสุขที่ไม่ต้องมีตัวชี้วัด
ชวนทำข่าวและเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ
วันที่ 1 กันยายน 2559
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้และประชาชนผู้รักสันติภาพ ชวนสื่อมวลชนร่วมทำข่าว กิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ เพื่อผลักดันประเด็น “พื้นที่สาธารณปลอดภัยต้องอยู่บนโต๊ะพูดคุย”
.วันที่ 1 กันยายนนี้ เนื่องในโอกาส ตัวแทนรัฐบาลไทยและ ‘มารา ปาตานี’ พูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ประเทศมาเลเซีย
กำหนดการกิจกรรม
8.00 น. รวมพล ณ ริมแม่น้ำปัตตานี/สะพาน. ศักดิ์เสนีย์
8.30 น. – 10.30 น เดินรณรงค์และอ่านแถลงการณ์สาธารณะ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย ”
ณ หน้าโรงเรียน/วัดตานีนรสโมสร – ตลาดโต้รุ่ง – ตลาดเทศบาลเมือง
จ.ปัตตานี
10.30 น. -11.00 น. เดินรณรงค์และรวมพลอ่านแถลงการณ์ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” ต้องอยู่บนโต๊ะเจรจา ณ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี
11.30 น. เดินทางกลับ
อนึ่ง ขอให้ผู้ร่วมเดินรณรงค์เน้นแต่งกายสีขาวเป็นหลักเพื่อแสดงพลังเรียกร้องสันติภาพ
ถอดบทเรียนการทำงาน ต.ห้วยกระทิง
โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน คณะทำงานระดับตำบล ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ร่วมกันถอดบทเรียนการทำงานในการทำงานปีที่ 1 และร่วมกันกำหนดหาแนวทางในการดำเนินงานในปีที่ 2 เพื่อให้งานพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องใน ต.ห้วยกระทิง ณ เพ็ชรมีรีสอร์ท อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2559
สี่ชีวิตที่ต้องสู้ต่อของครอบครัวรักบุตร
จากการรณรงค์เรียกร้องเพื่อขอให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัย ของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) ในตลาด ถนนหนทาง โรงเรียน และศาสนสถาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของพลเรือนที่มีทั้งผู้หญิงและประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หากยังเกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องทั้งในบริเวณศาสนสถานและใกล้ศาสนสถาน ทางสมาชิกเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (civic women) จึงร่วมกับ PAW ซึ่งมีสมาชิกทั้งพุทธและมุสลิม ได้ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้ศาสนสถาน ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา
“คิดว่าเขายังไม่ตาย เขาไปทำงาน ไม่อยากคิดมาก”
อร หรือ รัชนู รักบุตร วัย 32 ปี ชาวอ.ระโนด จ.สงขลา ภรรยาของ จ.ส.ต.อนุรักษ์ รักบุตร ตำรวจจราจร สภ.อ.เมืองปัตตานี ที่เสียชีวิตด้วยเหตุระเบิดใกล้มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม 2559 บอกด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเมื่อสมาชิก PAW ถามถึงสามี วินาทีที่ได้รับรู้เรื่องราวของสามี อรบอกว่า เหมือนโลกทลายเพราะสามีเป็นทุกอย่างของเธอและลูกๆ
“อรเป็นแม่บ้าน ดูแลลูกและบ้าน ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน พี่นุ (จ.ส.ต.อนุรักษ์) เขาทำงาน ดูแลทุกอย่าง สิบปีที่อยู่ด้วยกันมา เขาเป็นสามีที่ดีมากๆ รักครอบครัว ทำงานได้ทุกอย่าง ช่วยดูแลลูกด้วย”
อรย้อนความหลังให้ฟังถึงคราวที่เธอและสามีใช้ชีวิตร่วมกันมา ตั้งแต่ปี 2549 ที่สามีบรรจุทำงานที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จนย้ายมาอยู่ปัตตานีเมื่อต้นเดือนพ.ค. 2556 รวมทั้งมีแผนชีวิตที่วางไว้ด้วยกันว่า ในอนาคตจะไปอยู่กันที่สงขลา
“เขาเป็นคนปัตตานี คนพื้นที่นี้ เขาบอกว่าเราเป็นพี่น้องกัน เรามีเพื่อนมุสลิมเยอะ ก่อนหน้านี้ไม่เคยกลัวอะไร ไปไหนมาไหนก็ได้ จนเริ่มปี 2547 ที่เริ่มมีเหตุการณ์มากขึ้น เขาเริ่มระวังตัวมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้วิตกเกินเหตุ เขาเป็นคนขยัน รับจ้างเข้าเวรแทนเพื่อนเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น จนช่วงหลังเริ่มไม่ไหวเพราะไม่ค่อยได้พักผ่อน บางครั้งเข้าเวรตั้งแต่หกโมงเช้ารวมไปถึงรับจ้างด้วยเลิกเอาสี่ทุ่ม ทำงาน 3 วัน พัก 1 วัน
วันที่เกิดเหตุเป็นเวรของเขาเอง เขาบอกว่ามุสลิมกำลังจะออกบวช(รายอ) คงจะได้พักยาวหน่อย ก่อนนั้นเขาเข้าเวรที่วงเวียนหอนาฬิกาแล้วย้ายไปที่ข้างมัสยิดกลาง จุดที่เขาไปนั่งกับเพื่อนๆ ที่บอกว่าเช็คดูแล้วไม่เห็นมีของต้องสงสัยอะไร จนเกิดเหตุระเบิดขึ้น”
อรบอกว่าต้องเข้มแข็ง อ่อนแอไม่ได้ เมื่อลูกเห็นแม่อ่อนแอแล้วจะทำอย่างไร ต้องรับทุกอย่างให้ได้ เพื่อชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยความเข้มแข็งที่ต้องสร้างพลังและกำลังใจอย่างมหาศาล เธอมีกำลังใจที่ดีจากเพื่อนๆ ทั้งพุทธและมุสลิม
“พี่น้องพุทธและมุสลิมไม่ทอดทิ้งกัน ทางมัสยิดกลางปัตตานีมามอบกระเช้า ทางท่านจุฬาราชมนตรีมอบเงินให้หนึ่งแสน ทุกศาสนาสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่วทั้งนั้น อย่าเจาะจงและเหมารวมว่าอิสลามไม่ดีหรือเป็นผู้ก่อการร้าย”
สามีเธอจากไปพร้อมหนี้สินจากการกู้ยืมมาซื้อรถยนต์ ซึ่งต้องผ่อนชำระอีกเดือนละ 8000 กว่าบาท และหนี้จากการกู้ธนาคารอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อได้รับเงินเยียวยาซึ่งต้องแบ่งทั้งพ่อแม่สามี ลูกสองคนและตัวเธอ ทำให้มีเงินก้อนหนึ่งที่จะผ่อนรถยนต์ได้เพื่อไว้ใช้งานที่จำเป็นในชีวิต รวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่มีน้ำใจให้เธอและลูกๆ อาศัยที่บ้านพักตำรวจอยู่ต่อไป ส่วนลูกทั้งสามคนไดรับสิทธิ์เรียนต่อพร้อมค่าครองชีพจนจบปริญญาตรี
ในสิทธิ์ของทายาทที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิตนั้นจะให้ภรรยาหรือบุตรได้รับราชการต่อ อรบอกว่าหากรอให้ลูกโตก็อีกนาน ค่าใช้จ่ายมีทุกวัน เธอจึงสมัครเป็นทายาทรับสิทธิ์นั้นเพื่อได้มีค่าใช้จ่ายที่แน่นอนทุกเดือน ซึ่งกำลังรอคำตอบเช่นกัน ตอนนี้แม่ของเธอมาอยู่เป็นเพื่อนเพราะเธอต้องจัดการอีกหลายอย่าง เธอวางแผนว่าจะเลี้ยงลูกเองสัก 6 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นให้ย่าช่วยเลี้ยง และทำงาน รวมถึงตั้งใจอยู่ที่ปัตตานีต่อไป
“ตอนคลอดลูกสองคน เขาดูแลลูกและทำให้ทุกอย่าง ตอนนี้ไม่มีเขาแล้วต้องพยายามทำเองให้ได้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เคยวางแผนด้วยกันแต่ก็ต้องพังทลาย จึงไม่อยากคิดวางแผนอะไรอีก ขอแค่มีเงินมีงานได้ดูแลลูกๆ ต่อก็ไม่อยากได้อะไรแล้ว”
อรบอกว่า ลูกในท้องคนนี้เป็นผู้ชาย รวมเป็นลูกชายสามคน ซึ่งสามีเธอชอบเด็กผู้ชาย หากในวันนี้เขาล่วงลับไปแล้ว
เธอตั้งใจดูแลสามชีวิตนี้ให้ดีที่สุดกับชะตากรรมที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย รวมทั้งชีวิตน้อยๆ ที่ยังไม่ทันได้ลืมตาดูโลก ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าพ่อ…ด้วยระลึกถึงพ่อของพวกเขาสุดหัวใจ
กลุ่ม PAW ได้ให้กำลังใจและตั้งใจจะไปเยี่ยมเยียนอรอีกเมื่อวันที่ลูกน้อยของเธอออกมาดูโลก
การเรียกร้องขอพื้นที่สาธารณะปลอดภัยจากเหตุรุนแรงของกลุ่ม PAW ยังคงต้องขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป จนกว่าจะมีพื้นที่ปลอดภัยแท้จริง…
อบรมมัคคุเทศก์อาซ่องโมเดล
คณะทำงานโครงการช.ช.ต.ระดับตำบลอาซ่อง จัดการอบรมเยาวชน ผู้รู้ ปราชญ์ชุมชนในตำบลในการเป็นมักคุเทศก์ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดการรักทรัพยากร เกิดอาสาสมัครพิทักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ โดยวิทยากรจากสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา ในการให้ความรู้ของการเป็นมัคคุเทศก์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2559 ณ อบต.อาซ่อง ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา