ข้อจำกัด อุปสรรค และความท้าทาย

“ข้อจำกัด อุปสรรค และความท้าทาย”
บล็อกTPBS/LDI ประจำวันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๕

     เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมมองย้อนหลังไปถึงเป้าหมายรายทางของคณะกรรมการนโยบายที่สามารถบรรลุผลแล้วในช่วง ๕ ปีแรกขององค์การ อันที่จริงทั้ง ๒๐ รายการที่ได้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น ถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็คือฐานทุนทางนโยบายที่คณะกรรมการรุ่นแรกๆ ได้ทำและสะสมไว้ให้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการก้าวไปข้างหน้า
แต่ก่อนที่จะมองไปข้างหน้า เพื่อให้เกิดความรอบด้านมากขึ้นอีกนิด วันนี้จะขอพูดถึงข้อจำกัด อุปสรรคและสิ่งท้าทาย ที่เราไทยพีบีเอสได้เผชิญมาตลอด ๕ ปี ด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นปัญหาข้อจำกัดและน้ำหนักบรรทุก ที่เราแบกมาอย่างยากลำบาก จึงทำให้เราไม่สามารถไปได้เร็วและไกลเกินกว่านี้ ในขณะที่สังคมคาดหวังไว้มากยิ่งกว่า อีกด้านหนึ่งเป็นการเตือนสติว่าการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างส่วนบนในคราวนี้ยังมีด่านอุปสรรคใดบ้างที่รอการทดสอบและท้าทายอยู่ข้างหน้า เพื่อจะได้มองหาว่าอะไรคือกุญแจที่จะไขประตูทางออกและพากันก้าวข้ามไปให้ได้
๑. ช่องว่างใหญ่ในโครงสร้างส่วนบน
องค์กรนำระดับสูงสุดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการชี้ทิศนำทางและขับเคลื่อนองคพยพทั้งหมดให้ก้าวไปอย่างประสานสอดคล้องกัน ในระบบบอร์ดสองชั้นของเรา ส่วนที่ว่านี้ย่อมประกอบด้วยคณะกรรมการนโยบาย (กนย.) คณะกรรมการบริหาร (กบห.) และทีมผู้บริหารทั้งชุด(ผอ.) มีช่องว่างใหญ่เกิดขึ้นที่นี่นับตั้งแต่ปีที่ ๒-๓ และยังแก้ไม่ตกจนปัจจุบัน ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากสองส่วน

     ๑.๑) ข้อจำกัดในการบริหารงานเชิงระบบ
เนื่องจากทักษะ ประสบการณ์และขีดความสามารถของผู้บริหารและทีมงานมีข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงการบริหารองค์กรสื่อที่มีขนาดใหญ่ จึงส่งผลกระทบในระดับปานกลางถึงค่อนข้างมาก ต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงระบบ ทั้งในงานด้านการบริหารบุคคล บริหารงาน บริหารเงิน บริหารทรัพยากร บริหารภาพลักษณ์และบริหารเครือข่ายทางสังคม นอกจากนั้นยังส่งผลให้เกิดความกดดัน ปั่นป่วนและตึงเครียดอยู่เสมอๆ ต่อความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบาย ระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ
๑.๒) ช่องว่างใหญ่ในบอร์ดทั้งสองชุด
ด้วยองค์ประกอบ ที่มาและทักษะประสบการณ์ของกรรมการที่มีความหลากหลายและมีความเป็นตัวตนค่อนข้างสูง เมื่อประกอบกับภาวะการนำรวมหมู่และขีดความสามารถของผู้เป็นประธานแต่ละบอร์ดที่มีข้อจำกัด ได้ทำให้เกิดช่องว่างทางความสัมพันธ์และการสื่อสารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และส่งผลกระทบในระดับหนึ่งต่อการสร้างความเป็นปึกแผ่นในองค์กรและความเป็นเอกภาพในการจัดการกับปัญหาอุปสรรคระหว่างทาง ทำให้เรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องหรือเรื่องเล็กๆบางทีก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้บ่อยๆและต้องหมดเรี่ยวแรง หมดเวลาไปกับเรื่องเหล่านี้ นอกจากนั้นยังกระทบต่อกระบวนการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์การด้วย
๒. ข้อจำกัดทางด้านการเงินการคลัง
เนื่องจากมีข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยเรื่องเพดานรายได้ของส.ส.ท.ทีไม่ให้เกิน ๒,๐๐๐ล้านบาทต่อปี (จากแหล่งภาษีเหล้า-บุหรี่) โดยถ้าหากจะขอขยายเพดานก็จะต้องอาศัยอำนาจอนุมัติจากรมว.คลัง (ซึ่งเป็นนักการเมือง) และต้องรอเวลาทุกรอบสามปีเสียด้วย ซึ่งสิ่งนี้นับว่าไม่เอื้อต่อการขยายบทบาทภารกิจของสื่อสาธารณะ ที่ควรต้องเป็นไปตามกระแส ความเรียกร้องต้องการของสังคม หรือแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ตลอดจนปัญหาสถานการณ์บ้านเมือง ดังนั้นการพึ่งตนเองให้ได้ทางการเงินการคลังจึงเป็นประเด็นสำคัญ
๓. ความแตกแยกทางสังคมที่รุนแรง
วิกฤตการณ์สังคมไทยที่แตกแยกอย่างร้าวลึกในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา และยังคงมีแนวโน้มที่จะดำรงอยู่อีกต่อไปภายใน ๑๐ ปีข้างหน้า นับเป็นภาวะความเสี่ยงของประเทศ ที่ไทยพีบีเอสจะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขและช่วยกันนำพาสังคมออกจากวิกฤติ ในขณะเดียวกันควรมีสติตระหนักรู้ว่าความแตกแยกเหล่านั้นก็เป็นภาวะคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพภายในองค์การส.ส.ท.อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
๔. อิทธิพลจากสื่อเทคโนโลยียุคใหม่
กระแสและอิทธิพลของสื่อเทคโนโลยียุคใหม่ที่มีพลวัตรสูง ทำให้ประชาชนสามารถเป็นได้ทั้งผู้รับและผู้สื่อสารในเวลาเดียวกัน และไม่อาจมีกลไกใดที่จะมาควบคุมปัจจัยด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบทางบรรณาธิการในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนแต่ก่อน เมื่อประกอบกับสภาวะความรู้เท่าทันสื่อในระดับที่ต่ำของสังคมไทย(media literacy) ย่อมส่งผลต่อระเบียบสังคมในด้านการสื่อสาร การรับรู้ ความเชื่อและพฤติกรรมของประชาชนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และนี่คือความท้าทายใหญ่อีกเรื่องหนึ่งสำหรับสื่อสาธารณะไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยพีบีเอส

พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ข้อจำกัด อุปสรรค และความท้าทาย"

Leave a comment

Your email address will not be published.