ข้ามฝั่งแปซิฟิค (2) หลักประกันสุขภาพของคนอเมริกัน

9 มิถุนายน 2553

Table of Contents

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม ผมและครอบครัวของน้องสาวอยู่กันที่บ้านพักใน San Joseโดยพร้อมหน้าเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์การโหวตร่างกฎหมายปฏิรูปสุขภาพของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง C-Span ทำให้เรียนรู้และเห็นการทำงานในสภาทุกขั้นตอน

          คนอเมริกันทั่วประเทศเฝ้าติดตามการโหวตนัดนี้ด้วยใจจดจ่อ เขาถือเป็นนาทีประวัติศาสตร์สำคัญที่ประเทศกำลังจะเลือกว่าจะเดินทางไหนสำหรับประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันแบบคนละขั้วเช่นนี้

          อเมริกาเป็นต้นแบบของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมสุดขั้ว แม้ในเรื่องระบบสุขภาพของประชาชนก็ปล่อยให้ตลาดและทุนเป็นผู้กำหนด ประชาชนต้องซื้อหาบริการสุขภาพกันเองตามกำลังเงินที่มี ค่ารักษาพยาบาล ค่าหมอ ค่ายา ล้วนแพงหูฉี่ สถิติของผู้ล้มละลายในประเทศแต่ละปีประมาณกว่า 60 % มีสาเหตุจากรักษาโรคจนหมดเนื้อหมดตัว ประชาชนไม่มีทางตอบโต้ใดจึงแสดงออกโดยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหมอและโรงพยาบาลที่ทำผิดพลาด ทั้งคนไข้ทั้งหมอไม่มีความไว้วางใจที่จะให้แก่กัน อาชีพทนายความจึงร่ำรวยมากเพราะได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง 

ปัจจุบันยังมีคนอเมริกันอีก 47 ล้านคนที่ไม่มีปัญญาซื้อประกันสุขภาพจากเอกชน และค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศด้านระบบสุขภาพมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนทำท่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผู้นำสหรัฐหลายคนมีความพยายามที่จะปฏิรูประบบสุขภาพ ตั้งแต่ครั้งรูสเวลท์(คศ.1912) จนถึงวันนี้เกือบร้อยปีทีเดียว   แต่ก็ไม่สำเร็จครับ

          โอบามาชูนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นเมื่อได้ตำแหน่งแล้วก็ทุ่มเทเอาใจใส่ แต่คะแนนเสียงกลับตกลงอย่างรวดเร็วเมื่อเวลาผ่านไปหนี่งปี จนมีความเสี่ยงที่จะแพ้ศึกเลือกตั้งส.ส.ที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้

          สาเหตุที่คะแนนตกเพราะคนอเมริกันเห็นว่าโอบามาทุ่มพลังไปกับการผลักดันการปฏิรูประบบสุขภาพ (Health Care Reform : HCR) มากเกินไปจนทิ้งเรื่องอื่นๆ ในขณะเดียวกันเรื่อง HCR ก็มีแรงต้านจากภาคธุรกิจและพรรครีพับลิกันมากจนอาจจะไม่สำเร็จอีกเช่นเคยจึงกลัวว่าจะเสียเวลาเปล่า ขณะที่ปัญหาการว่างงานที่เป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งคนอเมริกันถือเป็นเรื่องเร่งด่วนแต่ประธานาธิบดีกลับไม่ทำอะไร ขณะเดียวกันภาระงบประมาณประเทศที่ใช้ในสงครามอัฟกานิสถานก็มากมายเหลือเกินจนประชาชนจะทนไม่ไหวอยู่แล้ว

          เมื่อเห็นท่าไม่ดี ประธานาธิบดีโอบามาจึงเลื่อนโปรแกรมการเยือนเอเชียทั้งหมดเพื่ออยู่ผลักดัน HCR Bill ด้วยตนเอง เพราะทั้งๆ ที่พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทน (House) แต่ ส.ส.บางส่วนกลับแสดงท่าทีจะโหวต “Nay” คือ ไม่รับรองกฎหมายนี้ตามรีพับลิกัน

          เรื่องนี้น่าสนใจศึกษามาก ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐมี 435 คน ทุกคนสังกัดพรรค แบ่งเป็นเดโมแครต 258 และรีพับลิกัน 177 แต่การโหวตถือเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวของส.ส.โดยที่พรรคจะมีมติบังคับให้ลงคะแนนอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ทีนี้เรื่องมีอยู่ว่าโอบามาต้องเผชิญศึกภายในด้านหนึ่งความรู้สึกไม่ยอมรับผู้นำผิวดำยังมีอยู่จึงมีแรงต้านภายในพรรค อีกด้านหนึ่งก็ถูกอิทธิฤทธิ์ของระบบล็อบบี้ยิสต์ที่เสนอค่าตอบแทนการโหวตคว่ำกฎหมายในราคาที่สูง ซึ่งล็อบบี้ยิสต์เหล่านี้ก็ได้เงินจากบริษัทประกันและธุรกิจที่ทุ่มสู้แบบสุดตัว

          เหตุผลต่อสาธารณะซึ่งฝ่ายรีพับลิกันหยิบมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้คือ HCR จะนำเรื่องการทำแท้งเข้ามาอยู่ในสิทธิประโยชน์ด้วยซึ่งขัดกับกระแสความคิดของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคที่ prolife  นี่เป็นการดึงแนวร่วมทางศาสนามาคัดค้านทีเดียว, HCR จะเปิดทางให้รัฐเข้ามาเทคโอเวอร์การบริการสุขภาพจากภาคธุรกิจซึ่งผิดหลักการเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ- นี่ก็เอารัฐธรรมนูญมาเป็นอาวุธต่อต้านเช่นกัน, ปัจจุบันมีระบบประกันสุขภาพอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น Medicare สำหรับคนสูงอายุและผู้พิการ, Medicaid สำหรับคนจน, Tricare สำหรับทหารและครอบครัว, SCHIP สำหรับเด็กและมีรายได้ต่ำ จึงไม่มีความจำเป็น ฯลฯ และที่สำคัญคือจะทำให้ภาระหนี้สินของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

          ส่วนสิ่งที่โอบามาใช้ปลุกขวัญกำลังใจชาวดีโมแครต และเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนคือ HCR จะทำให้คนอเมริกันทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งระบบที่มีอยู่ยังไปไม่ถึง, เราต้องทำให้คน 32 ล้านคนมีหลักประกันสุขภาพ และป้องกันไม่ให้ 45,000 ชีวิตต้องตายเพราะไม่มีประกันสุขภาพในแต่ละปี, นี่เป็นสิ่งที่ท่านจะทำเพื่อประเทศชาติ, นี่เป็นการสร้างประวัติศาสตร์, นี่เป็นสิ่งที่ชาติที่มีหลักประกันจะต้องทำ

          ในที่สุดวันนั้น HCR Bill ได้ผ่านเป็นกฎหมายด้วยคะแนน 219 : 212 ซึ่งหวุดหวิดมาก และใน 212 เสียงที่คัดค้านนั้นเป็นส.ส.รีพับลิกัน 178 เสียง ซึ่งไม่แตกเลยแม้แต่เสียงเดียว กับส.ส.เดโมแครตอีก 34 เสียง 

          ทันทีที่คว่ำกฎหมายไม่สำเร็จ พรรครีพับรีกันต้องยอมรับผลการลงคะแนนของ House

ซึ่งเป็นกลไกตัดสินใจของประเทศ ตรงนี้น่าสังเกตว่า สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ลงคะแนนตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะประกาศใช้ให้เป็นกฎหมายหรือไม่ โดยร่างกฎหมายนั้นผ่านมาจากวุฒิสภาก่อน ซึ่งอันนี้กลับทางกับบ้านเรา อย่างไรก็ตาม แม้มีผู้ว่าการ 14 มลรัฐประกาศจะคัดค้าต่อด้วยข้อหาละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ แต่สังคมอเมริกันเขาเคารพกฎหมาย กระบวนการประกาศใช้และบังคับกฎหมายจึงเดินหน้าไป

          2 วันต่อมา ประธานาธิบดีโอบามาลงนามร่างกฎหมายฉบับนี้ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของนักการเมืองระดับสูงของเดโมแครตและผู้สนับสนุน โอบามาใช้ปากกาลงนาม 22 ด้ามเพื่อเก็บปากกาเหล่านี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชาติในที่ต่างๆ นี่เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีทางการเมืองของเขา โอบามากล่าววาทะไว้น่าสนใจ :

          “วันนี้ หลังจากที่พยายามกันมาเกือบร้อยปี, วันนี้ หลังจากที่ใช้เวลากว่าปีในการถกเถียงกัน, วันนี้ หลังจากเสียงโหวตได้ถูกตรวจนับ การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพได้กลายเป็นกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว”

 

          โอบามากล่าวด้วยว่า ยังมีชาวอเมริกันจำนวนมากที่ยังห่วงหรือไม่มั่นใจกับร่างกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพฉบับนี้ เพราะสับสนกับเสียงต่างๆ จนลืมตรวจสอบข้อมูลความเป็นจริง

 

          “ผมมั่นใจว่า พวกคุณจะชอบในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น”

Be the first to comment on "ข้ามฝั่งแปซิฟิค (2) หลักประกันสุขภาพของคนอเมริกัน"

Leave a comment

Your email address will not be published.