“ความมั่นคงคือ การมีชีวิตอยู่ร่วมกัน” สัมภาษณ์พิเศษอานันท์

สันติวิธีต้องใช้ก่อนเหตุการณ์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วต้องอย่าเข้าไปในกับดักหรือในหลุมพราง สันติวิธีจะต้องใช้เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะหากเกิดขึ้นมาแล้วแก้ยาก…

ศูนย์ข่าวอิศรา
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

รูปธรรมชัดๆ ที่จะเสนอเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอะไรบ้าง
: ผมได้เห็นรายงานของทุกคณะอนุกรรมการแล้ว อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เขียนรายงานกันมาดีมาก และได้มีการปรับในคณะทำงาน มีการดูร่างอันแรก แล้วก็มีข้อคิดเห็นให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ตรรกะ ต่างๆ วิธีการเสนอเป็นอย่างไร ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้รับนโยบายจากผมที่จะนำไปพิจารณา เพราะทั้ง 5 คณะ จะต้องมีอะไรที่ทับซ้อนกัน เพราะไม่ใช่ 5 ประเด็น แต่เป็นประเด็นเดียว แต่ละประเด็นจะมองหลายมิติด้วยกัน ทั้งการศึกษา มิติทางศาสนา การพัฒนา ความปลอดภัย ความมั่นคง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ละมุมมองของแต่ละมิติจะ

ต้องมีความคาบโยงกันอยู่เสมอ จากห้ารายงานจะปรับเป็นรายงานเดียว เขียนออกมาเป็นรายงานเดียว ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ กอส.ใหญ่จะพิจารณา จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน – 3 เดือน เชื่อว่าภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมคงมีร่างฉบับแรกของรายงานชุดเดียวที่ว่านี้ออกมาได้ แต่คงยังไม่มีการประกาศออกมา จากนั้นใช้เวลาพิจารณาถกเถียงกันอีกประมาณ 2 เดือน เพราะคงมีการถกเถียงกันอย่างมาก จากนั้นก็จะมีการออกมาเป็นร่างฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 แต่กว่าจะลงตัวเชื่องว่าคงเป็นร่างฉบับที่ 4 เพราะกอส.มีกรรมการอยู่ประมาณ 50 คน จะลงลึกกันจริงๆ เลยคงมีการอธิบาย แสดงข้อคิดเห็นกันมา


หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว กลไกการนำไปใช้จะเป็นอย่างไร

: เราจะมอบให้รัฐบาล แต่ก่อนหน้านั้นเราจะประกาศต่อประชาชนเพื่อให้นำไปพิจารณา แล้วหากเห็นว่าเรื่องใดที่เห็นชอบ หรือต้องการให้เป็นอย่างนั้นก็ต้องไปดำเนินการกับรัฐบาลเอง ขณะนี้เมื่อผมไปพบ ไปพูดคุยกับประชาชนที่ไหน ก็จะนำสาระของแต่ละชุดที่ได้ไปพบเห็นมา นำมาเล่าให้ประชาชนฟัง เราพูดถึงเรื่องของความมั่นคงของคน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการศึกษามาแล้ว เราจะค่อยๆ ปล่อยข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นของอนุกรรมการต่างๆ ออกมาให้มีการวิจารณ์กัน ไม่ต้องมาเห็นด้วยกับเราในขณะที่เรากำลังร่าง หากในขณะที่เรากำลังร่างกันอยู่นี้ เรามีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากประชาชน หรือจากสื่อ ก็จะได้นำมาปรับปรุง

        กลไกนี้จะเป็นเช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่

: กลไกไม่สะดวกเหมือนกับการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะช่วงนั้นเปิดเผยทุกอย่าง นักข่าวจะมานั่งฟังมาอักเทปการประชุมเมื่อไหร่ก็ได้ กาติดตามของสื่อในการร่างรัฐธรรมนูญจะกวางกว่า ลึกกว่า แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การพูดคุยบางสิ่งบางอย่าง ที่ไม่อาจให้คนมานั่งฟังได้ เพราะฉะนั้นการติดตามของประชาชนก็จะยากกว่า

ครั้งนั้นเรามีการเดินสายไปตามที่ต่างๆ ตามจังหวัดต่างๆ ครั้งนี้เราก็คิดว่ามีความจำเป็น เพราะข้อเสนอต่างๆ ในเรื่องของนโยบายหรือมาตรการ ไม่ใช่เขียนจากหอคอย หรือจากที่เรานั่งกัน แต่ต้องเขียนจากความรู้ที่เราได้ฟังชาวบ้าน ฟังราชการ ฟังทั้งหมด แต่เราก็ต้องฟังความเห็นของคนกลุ่มอื่นที่ยังไม่เกี่ยวข้องด้วย

สื่อต้องทำหน้าที่นี้ ระยะนี้เราจึงให้ข้อมูลแก่สื่อมากที่สุด เราจะไปบอกว่าสื่อไม่ดี หรือเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องก็เป็นความผิดของเราด้วย จึงต้องหาทางสื่อกับสื่อก็ได้ บางสื่อตั้งใจจะเขียนไม่ตรงก็ช่วยไม่ได้

ครั้งนี้น่าเป็นห่วง เพราะวันนี้ เรื่องนี้ ประชาชนในแต่ละจังหวัดค่อนข้างจะมีความเห็นที่ต่างกันไป
       

: รัฐธรรมนูญเป็นการเขียนให้คนทั้งประเทศ แต่เรื่องนี้เป็นการเขียนให้คนในสามจังหวัดนี้ คนในจังหวัดที่เหลือก็ต้องเข้าใจด้วย

แต่คนในจังหวัดอื่นๆ ก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง มีการประณามมีทัศนคติอะไรต่างๆ ที่ผิดไป

 : ถือเป็นกรรมของพวกผม ช่วยไม่ได้ พวกคุณก็ต้องอธิบาย เราไปพบไทยพุทธในพื้นที่ เขาก็มีปัญหา มีความไม่เข้าใจ เราก็ต้องพยายามจะอธิบาย เรื่องนี้ผมไม่ห่วง ความสับสนในสังคมไทยมันมีอยู่เสมอไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ ทำไม ก็เพราะเป็นอย่างนี้

นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะฉะนั้นจึงตั้งคำถามแต่แรกว่าจะมีการขับเคลื่อนข้อเสนอต่อรัฐบาลอย่างไร

: ผมทำงาน ผมไม่มองถึงปัญหาโน้นปัญหานี้ ต้องทำให้ดีที่สุด มันไม่สำเร็จก็ช่วยไม่ได้ หาก 3 จังหวัดเข้าใจแล้วเกิดความสงบ คนจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือก็จะเข้าใจไปเอง ที่เหลือเขาต้องการให้มันออกมาให้เป็นรูปธรรม ขณะนี้บอกว่าเป็นนามธรรม เขาอาจมีความเข้าใจผิดว่าเราเอนเอียง เราดูแลหลายประเด็นในกลุ่มไทยพุทธ ทั้งความปลอดภัย การทำมาหากิน เรื่องครูก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เราให้ความสำคัญ และต้องดูแลอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นครูไทยพุทธ แต่ใครจะมาว่า จะมาบิดเบือนเราก็ช่วยไม่ได้ การทำงานอะไรก็แล้วแต่มีอุปสรรคทั้งนั้น มีทั้งคนชอบคนไม่ไชอบ ติเพื่อก่อ หรือเพื่อทำลายก็มี

ยังมีความเข้าใจหลายอย่างที่มีปัญหาอยู่ จะมีแนวทางให้คน 73 จังหวัดที่เหลือเข้าใจคนใน 3จังหวัดภาคใต้นี้อย่างไร

 : ผมมองว่าคนไทยที่อยู่อีก 73 จังหวัด เขาดูว่าความสมานฉันท์ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ 1,700,000 คน อาจมีคนที่ไม่ดี คนหวังร้ายเพียงพันคน หรืออย่างมากแค่หมื่นคน แต่พวกนี้สิ่งที่เขาพูดๆ กันมา มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐอิสระ หรือแบ่งแยกดินแดน แต่รัฐบาลก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปเจรจาได้ เพราะก็ยังไม่รู้ตัว อาจมีความสงสัยว่าใครเป็นหัวหน้า หรือกลุ่มขบวนการนี้เป็นใคร กอส.ก็ไม่มีหน้าที่ไปเจรจากับคู่ปรปักษ์หรือฝ่ายตรงข้าม

เราวางแผนแม่บทแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาว ในการ การแก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีที่มาที่ไปอย่างลึกซึ่งทั้งด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมชนชาติ ศาสนา ทัศนคติ เพราะฉะนั้นหากคนอีก 1,690,000 ล้านคน แสดงให้คนที่เหลือรู้สึกว่า คนพวกนี้ โดยการนำของผู้นำชุมชน ทั้งผู้นำศาสนา ที่เชื่อในความปรองดองและสมานฉันท์ สามารถทำให้ทัศนคติ ที่แตกต่างกันนั้นใกล้เคียงเข้ามาอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ไม่ใช่อยู่ร่วมแบบต่างคนต่างอยู่ ซึ่งไม่ใช่ความมั่นคง ความมั่นคงคือการมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้ มีกิจกรรมอยู่ร่วมกันได้ หากเกิดสภาวะเช่นนี้ขึ้นมา คนทั่วประเทศก็จะอนุโมทนา

แต่ปัจจุบันยังมีความหวาดระแวงกันสูง

  : ผมไม่อยากจะพูดว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร อย่างน้อยนโยบายในอดีตก็คงไม่เหมาะ และมาตรการตามนโยบายก็คงไม่เหมาะสมแน่ ดังนั้น เราจะต้องดูทิศทางที่ผ่านมาจะมีอะไรที่ควรปรับปรุง ที่ผ่านมารัฐเองก็พยายามปรับเปลี่ยน แต่ขณะนี้ความรวดเร็วของการเปลี่ยน หรือความเข้าใจนโยบายที่เปลี่ยนไปก็ดี หรือคนในวงการเมือง ความเข้าในในการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ลึกซึ้งพอ เพราะแนวทางการเปลี่ยนแปลง ทิศทางการดำเนินงานแบบสันติ จะต้องซาบซึ้งไม่เฉพาะแค่ในหัวใจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอยู่ในจิตรวิญญาณ ของทั้งผู้ปฏิบัติและผู้กำหนดนโยบาย ไม่ฉะนั้นก็จะไม่มีความต่อเนื่องไม่มีความสม่ำเสมอ กระบวนการสร้างความสมานฉันท์ ก็จะเกิดช่องว่างให้ขบวนการผู้ไม่หวังดีใช้เป็นประโยชน์ได้

คำว่าชาตินิยมยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่
       
  : หากใช้ในการชี้จุดบกพร่อง หรือใช้ให้ถูกกาลเทศะก็เป็นเรื่องดี แต่ที่ผมเป็นห่วงและไม่อยากเห็นก็คือเรื่องของความคลั่งชาติ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับชาตินิยม หรือคลั่งศาสนาหรือบ้าศาสนา เพราะส่วนใหญ่คนที่คลั่งก็จะไม่รู้จริง ไม่รู้ถึงธรรมที่แท้จริง

        กรณีตันหยงลิมอ ท่านพยายามชี้เห็นถึงแนวทางสันติวิธี และให้กำลังใจทหารที่ยึดมั่นแนวทางนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็จบลงด้วยความสูญเสียเช่นกัน จะมีการพบกันอย่างสมดุลระหว่างสันติวิธีและการใช้กำลัง เพื่อเป็นทางออกที่เหมาะสมบ้างหรือไม่
       

  : สันติวิธีต้องใช้ก่อนเหตุการณ์ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วต้องอย่าเข้าไปในกับดักหรือในหลุมพราง สันติวิธีจะต้องใช้เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะหากเกิดขึ้นมาแล้วแก้ยาก ไม่ว่าจะใช้สันติวิธี หรือไม่ใช้สันติวิธีมันแก้ยากทั้งนั้น

เมื่อเกิดปัญหาแล้วการจะใช้แนวทางไหนระหว่างสันติวิธีหรือใช้กำลัง ต้องไปถามรัฐบาล แต่ก็ควรต้องปรับปรุงอะไรหลายอย่าง เรากำลังเสนอให้มีคณะกรรมการสันติชุมชน เอาผู้ที่เขาเคารพ สถาบันที่เขาเคารพนับถือ มาเสริมให้ทุกคนมีความเข้าใจ ลดความระแวงแคลงใจกัน ความแคลงใจ ระแวงที่เกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร หากเข้าใจก็จะน้อยลง นี่คือการแก้ไข นี่คือสันติวิธี

แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นแล้ว เราจะแก้ไขด้วยสันติวิธี มันพูดได้แต่ทำยาก


ที่มา :  ผู้จัดการออนไลน์ 3 ตุลาคม 2548

Be the first to comment on "“ความมั่นคงคือ การมีชีวิตอยู่ร่วมกัน” สัมภาษณ์พิเศษอานันท์"

Leave a comment

Your email address will not be published.