ผมหายหน้าจากสำนักงานตลอดสัปดาห์ที่แล้ว เพราะร่วมเดินทางไปกับกลุ่มศึกษาดูงานของไทยพีบีเอสที่นอร์ธเทิร์นไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร
พวกเราตั้งใจที่จะไปแสวงหาความรู้ ไปซึมซับประสบการณ์และภูมิปัญญาของคนอังกฤษในการแก้ปัญหาความไม่สงบในแคว้นไอร์แลนด์เหนือ ตลอดจนบทบาทของสื่อสาธารณะต้นแบบ (บีบีซี) ต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เพื่อนำสิ่งที่มีคุณค่ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานที่บ้านเรา
คณะของเราประกอบด้วย ๕ คนคือผม รองฯวุฒิ กับน้องนักข่าวอัจฉราวดีและติชิลา โดยมีคุณสมชัยเป็นหัวหน้าทีม อันที่จริงเราเตรียมประสานติดต่อกันมาเป็นแรมปี ติดน้ำท่วมด้วย เดิมทีจะมีสุภาพสตรีจากเวิลด์แบงค์อีก ๒ คนร่วมทีม แต่เขาเกิดติดประชุมใหญ่ประจำปีที่วอชิงตัน ในที่สุดไม่สามารถปรับโปรแกรมได้ จึงยกเลิกกระทันหัน จะชวนคนเพิ่มก็ไม่ทัน
ก่อนไปผมมีสมมติฐานว่าอังกฤษสามารถแก้ปัญหาขบวนการก่อการร้ายอาร์ไอเอได้ด้วยกุญแจสำคัญ ๕ ดอก คือ ๑) มีกระทรวงพื้นที่ ๒) การถ่ายโอนอำนาจ ๓) บทบาทบีบีซี ๔) มีมูลนิธิกองทุนชุมชน ๕) ชาวอเมริกันไอริชช่วย แต่เมื่อได้ไปเห็นจริงพบว่าผิดเกือบทั้งหมด แม้ว่าจะมีความใกล้เคียงอยู่บ้างก็ตาม ซึ่งจะทะยอยเล่าให้ฟังต่อไปนะครับ
ตอนขากลับ ทันทีที่พวกเราก้าวขึ้นเครื่องการบินไทยจากลอนดอน สองสาวนักข่าวรีบชูหนังสือพิมพ์จากเมืองไทยหัวสี ๒ ฉบับให้อ่านพาดหัวข่าว ปัตตานีถูกวางระเบิดถล่มห้างสรรพสินค้าหลายจุดพร้อมกัน พร้อมกับเปรยว่ามีงานหนักรอต้อนรับเราอยู่ที่บ้านอีกแล้ว ในใจของพวกเราไม่รู้แปลกเพราะมันเกิดอยู่เป็นประจำและยังถือเป็นความท้าทาย แต่สิ่งที่เราต้องขบคิดมากเป็นพิเศษจากนี้ไปก็คือไทยพีบีเอสจะแสดงบทบาทสื่อสาธารณะในวิกฤติความไม่สงบนี้อย่างไร จึงจะแตกต่าง สร้างสรรค์และมีส่วนหนุนให้เกิดสันติภาพที่ถาวรมั่นคงที่ปลายด้ามขวาน บทเรียนรู้จากอังกฤษเที่ยวนี้น่าจะเป็นประโยชน์อยู่มากทีเดียว
นอกจากข่าวระเบิดปัตตานีแล้ว ข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติที่กลับมาทวีความร้อนแรงขึ้นอีกจากประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็น ม.๑๑๒ และประเด็นรื้อองค์กรอิสระ ก็ทำให้เห็นแนวโน้มความวุ่นวายรออยู่เบื้องหน้าอีกหลายแนวรบ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งทางความคิดเห็นหากเป็นไปด้วยความเคารพในความหลากหลายและจัดการความแตกต่างด้วยสันติวิธีหรือวิถีแห่งอารยะนับเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่ไม่ลุกขึ้มมาเผาบ้านเผาเมืองหรือเข่นฆ่าทำร้ายกัน
แต่บรรยาการตอนนี้ที่ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ก็ตรงที่มีคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายพยายามปลุกกระแสเกลียดชังเข้าต่อสู้เพื่อเอาชนะคะคานกันโดยมีเป้าหมายทางการเมืองของฝ่ายตนเป็นที่ตั้ง ทั้งถ้อยคำ ท่าทีและรูปแบบการเคลื่อนไหวจัดตั้ง-จัดการที่ผ่านออกมาทางสื่อสังคมและสื่อมวลชนในสังกัดล้วนส่อไปในทางนั้น ระวังว่ายั่วยุกันไปมาอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนแบบนี้จะเกิดน้ำผึ้งหยดเดียวขึ้นสักวัน ซึ่งสื่อพีบีเอสอย่างเราควรต้องเฝ้าระวังและให้สติสังคมทุกฝ่าย ทำเป็นระยะ อย่าได้ขาดตอน
บทเรียนรู้ที่ไอร์แลนด์เหนือ แม้ว่าวันนี้จะบรรลุการหยุดยิงมาแล้ว ๑๔ ปี และฝ่ายต่างๆ กำลังฟื้นฟูและสร้างสันติภาพกันอย่างเข้มแข็ง แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการพบปะพูดคุยกับอดีตนักรบไออาร์เอและเยี่ยมชมสถานที่รำลึกประวัติศาสตร์ชุมชนของพวกเขา ในส่วนลึกแล้วที่นั่นยังคงมีความคับแค้น-เกลียดชังอยู่แน่นหนาทีเดียว
อันว่าความเกลียดชังนี้ ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใด ล้วนเป็นเป็นต้นทางของพลังแห่งการทำลายล้างที่อาจปะทุขึ้นมาได้ทุกขณะ จึงควรที่เราในฐานะสื่อสาธารณะจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งนะครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ความเกลียดชังและการทำลาย"