‘การคืนน้ำใจให้อาสาสมัคร’ กลายเป็นประเด็นที่หลายหน่วยงานให้ความสนใจ เคลื่อนไหว ด้วยตระหนักว่าการคืนน้ำใจให้กับผู้เสียสละย่อมได้รับการตอบแทนที่คุ้มค่ากว่ากลับคืนมา เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ไม่เพียงจะทุ่มเทศักยภาพกาย ใจ ความรู้ทั้งหมดช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นการ ‘ซื้อใจ’ พวกเขาในระยะยาวด้วย..”
ด้านหนึ่ง ‘คลื่นยักษ์สึนามิ’ เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ไม่เพียงคร่าชีวิตมนุษย์กว่าสองแสนคนทั่วโลก และในประเทศไทยกว่าห้าพันคนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเลวร้ายต่อคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง หรือผองเพื่อน ที่ล้วนต้องเศร้าโศกเสียใจให้กับการจากไปแบบไม่มีวันกลับของคนที่ตนรัก และทรัพย์สินที่สั่งสมมาทั้งชีวิต ทว่า อีกด้านหนึ่งหายนะคฟรั้งนั้นกลับเป็นกระจกฉายมิตรภาพ ภราดรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งๆ ที่หลายคนลืมเลือนความรู้สึกเหล่านั้นไปแล้วว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร
กระแสธารน้ำใจที่หลั่งไหลไม่ขาดสายไปยังผู้ประสบภัยนอกจากปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตแล้ว “ความรู้สึกร่วม”ของคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก โดยเฉพาะจากอาสาสมัครที่เสียสละเร่งรุดเข้าไปช่วยเหลือ โดยไม่ย่นท้อต่อความยากลำบาก ความน่าสะพรึงกลัว และความเศร้าโศกที่โอบล้อมพื้นที่ที่ประสบภัยในขณะนั้น ได้เปลี่ยนเป็นพลังใจให้ผู้ประสบภัยที่ยังเหลือรอดชีวิตกลับมาฮึดสู้ ไม่ท้อถอยต่อโชคชะตาโหดร้ายครั้งร้ายแรงสุดในชีวิต
อาสาสมัครเหล่านี้ไม่เพียงเสียสละความสะดวกสบายในชีวิต เพื่อมาผจญกับความเหนื่อยยาก ตรากตรำทั้งกายและใจกับงานที่ดูประหนึ่งไม่มีวันหมดเท่านั้น แต่บางรายยังต้องควักเงินส่วนตัวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำคุณงามความดีให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย ส่งผลให้บางครั้งอาสาสมัครที่มาด้วยใจเหล่านี้ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ทำงานได้ไม่เต็มที่ตามศักยภาพที่มี เพราะจะคอยกังวลกับประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดของตัวเอง
คืนน้ำใจให้อาสาสมัคร
‘การคืนน้ำใจให้อาสาสมัคร’ จึงกลายเป็นประเด็นที่หลายหน่วยงานให้ความสนใจ เคลื่อนไหว ด้วยตระหนักว่าการคืนน้ำใจให้กับผู้เสียสละย่อมได้รับการตอบแทนที่คุ้มค่ากว่ากลับคืนมา เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ไม่เพียงจะทุ่มเทศักยภาพกาย ใจ ความรู้ทั้งหมดช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นการ ‘ซื้อใจ’ พวกเขาในระยะยาวด้วย ให้พวกเขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เดียวดายในการทำความดี ด้วยอย่างน้อยก็ยังมีคนอื่นเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ แม้อาสาสมัครหลายคนจะไม่ต้องการชื่อเสียงก็ตาม
‘กองทุนอาสาสมัครเพื่อเพื่อนมนุษย์’ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 5 มูลนิธิ ทั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, มูลนิธิมิตรภาพสู่ท้องถิ่น และมูลนิธิสายธารประชาธิปไตย โดยการบริหารจัดการจะอยู่ภายใต้นิติบุคคลมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มีคณะที่ปรึกษาอย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำมาสนับสนุนกลุ่มและองค์กรอาสาสมัครภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ยากลำบากทั้งในยามประสบภัยพิบัติและปกติ โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติศาสนา น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป รองประธานโครงการ เผยที่มาของกองทุนฯว่า ช่วงแรกที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามินั้น องค์กรภาครัฐในพื้นที่ต่างตกอยู่ในสภาวะช็อคกับความรุนแรงของสถานการณ์ และตึงเครียดกับการรอรับคำสั่งจากหน่วยเหนือนั้น กลับปรากฏคลื่นอาสาสมัคร และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ที่รวมตัว ประสานงาน และสร้างเครือข่ายเพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชนและประชาชนที่กำลังตกอยู่ในความเดือดร้อน หวาดผวากับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างรวดเร็วแข็งขันเคียงคู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน สายธารการบริจาคเงินและสิ่งของช่วยผู้ประสบภัยก็ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง ต่อเนื่อง แต่ก็น่าเสียดายที่ หน่วยงานอย่างภาครัฐ สถาบันการเงิน และองค์กรการกุศลต่างๆที่ลุกขึ้นมาเป็นตัวกลาง มักจะขาดความเข้าใจในกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง และไม่ทราบความต้องการที่หลากหลายของผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง จึงกำหนดการช่วยเหลือแบบสำเร็จรูปจากส่วนกลางลงไป ทั้งๆ ที่ยังขาดระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ และผูกติดกับระบบราชการมากเกินไป “ยิ่งกว่านั้นภาครัฐและเอกชนควรจะสร้างกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยผ่านกลไกอาสาสมัครและองค์กรภาคประชาสังคม แทนที่จะมุ่งช่วยเหลือเป็นรายบุคคลแบบประชาสงเคราะห์ หรือไม่ก็เฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชุมชน ชาวบ้านระดับรากหญ้า และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศดังแต่ก่อน อีกทั้งต้องไม่ลืมให้ความช่วยเหลือกลุ่ม SMEs หลายพันราย และลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานอีกหลายแสนคนที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ประสบภัยด้วย”น.พ.พลเดชย้ำว่า เอ็นจีโอและกลุ่มประชาสังคมที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยล้วนต้องเผชิญกับความยากลำบากในการพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันเอง เพราะขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณและเงินทุนในการดำเนินงาน เนื่องจากภาครัฐ องค์กรการกุศล บริษัทห้างร้าน กองทุนที่รับบริจาคในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆจะช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นที่ประสบภัยผ่านระบบราชการ หรือไม่ก็ดำเนินการด้วยตนเองแบบสังคมสงเคราะห์ โดยขาดความเข้าใจในกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง และมองข้ามบทบาทขององค์กร กลุ่มประชาสังคมเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย “กองทุนอาสาสมัครเพื่อเพื่อนมนุษย์จึงต้องการเชิดชูจิตใจบรรดาอาสาสมัคร ส่งเสริมกิจกรรมของเครือข่ายการพัฒนางานอาสาสมัครเพื่อสังคมทั้งในเชิงโครงสร้างและระบบ รวมทั้งการสร้างเครื่องมือ กลไกในการระดมทุน และกลวิธีการจัดการกระบวนการอาสาสมัครภาคประชาชนของเมืองไทยด้วย นอกจากนั้นเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งเหตุการณ์คลื่นสึนามิ และเหตุการณ์อื่นๆผ่านกิจกรรมต่างๆของกลุ่มและองค์กรอาสาสมัครภาคประชาสังคมด้วย ยิ่งกว่านั้นยังจะสรุปบทเรียนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ พร้อมนำเสนอทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนด้วย” ธารรัก ธารน้ำใจ สู่ไทยอันดามันมหกรรมดนตรี ‘มหกรรมรวมพลคนอาสา ธารรัก ธารน้ำใจ สู่ไทยอันดามัน’ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม 2548 เวลา 12.00 น. – 24.00 น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงไม่เพียงเป็นการผสานความร่วมมือของ 15 เครือข่าย เช่น เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสดีที่ประชาชนทั่วไปจะได้มีส่วนร่วมในการทำความดีกับเพื่อนมนุษย์ ผ่านทางการบริจาคเงินภายในงานด้วย ภายในงานนอกจากจะได้ชมมหกรรมคอนเสิร์ตรวมน้ำใจศิลปินเพื่อชีวิตกว่า 70 วง นำโดย หงา คาราวาน หมู พงษ์เทพ แล้ว ยังจะได้ฟังการร่ายบทกวีโดยกวีรัตนโกสินทร์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ด้วย นอกจากนั้น ยังจะได้ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ศิลปะพื้นเมือง ละคร นาฏลีลา กิจกรรมออกร้านขององค์กรอาสาสมัครต่างๆ การบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย รวมทั้งการจำหน่ายซีดีเพลงเพื่อชีวิตที่สะท้อนเรื่องราวเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิ ที่แต่งขึ้นใหม่ด้วย ผู้สนใจร่วมบริจาคเงินสนับสนุนกองทุนอาสาสมัครเพื่อเพื่อนมนุษย์ ได้ทั้งการติดต่อโดยตรงที่สำนักงานกองทุนฯ หรือโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนโดยตรงที่บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาพลับพลาไชย ชื่อบัญชีมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เลขที่บัญชี 057-2-22535-6 พร้อมแจ้งรายละเอียดให้สำนักงานกองทุนทราบเพื่อออกเอกสารสำคัญให้ โดยส่งสำเนาใบโอนเงินพร้อมชื่อ ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อกลับทางแฟ็กซ์ หมายเลข 0-2621-8042-3 |
|
|
Be the first to comment on "คืนน้ำใจให้อาสาสมัครสึนามิ เติมเต็มมิตรภาพของผู้เสียสละ"