แม้จะมีทรัพยากรมากมายและหลากหลายเพียงใด แต่ทำไมคนโคราชจึงยังต้องประสบปัญหาหนี้สิน ยากจน ต่างคนต่างอยู่ ด้วยความเป็นเมืองประตูสู่อีสาน ทำให้การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาในอดีต มุ่งเน้นด้านวัตถุ จนลืมสุขภาวะของชุมชน ความพยายามในการพัฒนาศักยภาพของคน ให้มีความรู้ ความคิด และความสามารถที่จะเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อดำรงชุมชนให้น่าอยู่ตามวิถีที่เหมาะสม จึงเกิดขึ้น
ผศ.ดร.ปรีชา ฮุยตระกูล ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.นครราชสีมา
“ที่เราทำงานพัฒนา เรายอมรับกันว่า เป้าหมายของงานพัฒนา คือ การพัฒนาคน การพัฒนาคน คือ ทำให้คนมีสติ มีความคิด มีปัญญา มีระบบเรื่องการทำงาน เครื่องมือที่จะใช้ในการทำงานก็คือ ถ้าจะให้คนมีความรู้ได้ ต้องมีกระบวนการหาข้อมูล กระบวนการตั้งประเด็นปัญหา ก่อน กระบวนการตั้งเป้าหมายและหาข้อมูล เพื่อมาอธิบาย วิเคราะห์ จำแนกแยกแยะ แล้วมาวางแนวทาง คือ เอางานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์”
บรรยาย การวิจัยท้องถิ่น สร้างกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของคนโคราชบนฐานข้อมูล คือหัวใจในการทำงานของโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน สร้างนักวิจัยไทบ้าน ให้ค้นหาความรู้ เพิ่มพูนพลังให้กับชุมชน สู่การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
ปรีชา ฮุยตระกูล ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.นครราชสีมา
“งานที่ทำมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ เราจะเน้นเรื่องกระบวนการสร้างคน คือ ทำให้คนรู้จักว่า ถ้าเขาจะสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่เขา จะพัฒนาคนในพื้นที่เขา ต้องรู้อะไรบ้าง อย่างน้อย ต้องรู้จักว่าในพื้นที่เขามีใครอยู่บ้าง และเขาทำอะไรอยู่ ภายใต้สภาวะแวดล้อมอะไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร และเขาเจอปัญหาอะไรบ้าง ถ้าหากเขาจะทำให้สิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว ให้บรรลุผล ให้ได้ผลดี เขาต้องรู้อะไรเพิ่มเติม เขาต้องค้นความรู้อะไรบ้าง”
บรรยาย ปราสาทเก่าวัดปรางค์ทอง บ้านพุดซา อำเภอเมือง เป็นโบราณสถานซึ่งสะท้อนแสดงอารยธรรมท้องถิ่นจากครั้งอดีต ที่สืบทอดมาให้เห็นจนถึงในปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่คนในชุมชนกลับไม่มีความรู้และไม่ตระหนักถึงคุณค่า จนกระทั่งเมื่อเกิดกระบวนการค้นหาความรู้ในชุมชน จึงทำให้มีการตื่นตัว ที่จะสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองของตนเอง จนนำไปสู่การค้นพบความรู้อื่นซึ่งเป็นหนทางช่วยแก้ปัญหาของชุมชน เช่น สาเหตุแห่งความยากจน และการมีสุขภาพที่ไม่ดี
สมพงษ์ แสงศิริ คณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.นครราชสีมา
“ที่ผ่านมาโดยมากเวลาเราประชุมกัน เราจะคิดเอาเอง นึกว่าจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เราเอาข้อมูลจากฐานความคิด ความเชื่อของตัวเอง ไม่ใช่ความจริง เราจึงว่าการเก็บข้อมูลจะได้ข้อมูลจริงๆ โดยชาวบ้านเก็บ ที่ผ่านมาเขาอาจจะเก็บแล้วภาครัฐเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เขาก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่วันนี้เราจะเก็บข้อมูล ให้เขาลงไปเก็บเอง เอาเยาวชน เอาผู้นำ แกนนำชุมชนไปเก็บข้อมูล แล้วนำมารวบรวม แล้วขึ้นเวทีนำเสนอ ให้ทุกคนดูว่านี่เป็นเวทีคืนข้อมูล ให้เขาดูกันเองว่า หลังจากเก็บข้อมูลแล้วมาสู่เวทีกลาง จะเห็นภาพว่าเป็นอย่างไร
บรรยาย จากการศึกษาข้อมูลของชุมชน พบว่า การใช้สารเคมีในการเกษตร เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อสร้างวิถีที่เหมาะสมต่อชุมชน จึงเกิดขึ้น จันทร์ บุตรนันท์ เกษตรกรผู้เปลี่ยนรูปแบบการทำนา จากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ จนสามารถฟื้นฟูสุขภาพและเศรษฐกิจของครอบครัวได้
จันทร์ บุตรนันท์ เกษตรกร บ้านพุดซา ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา
“เคมีก็ทุนสูง อันตรายด้วย เคยทำมา ได้ถึง 10 เกวียน ถึง 20 เกวียน แต่ทุนเกือบแสน ถ้าราคาตกก็เจ๊ง สู้ไม่ไหว ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีฉีดทุกอย่างก็ไม่ไหว คนจะตายก่อน เลยกลับมาย้อนอดีต คนแก่คนเฒ่าก็ไม่ต้องใช้ เลยปรับเปลี่ยนหาอะไรมาปลูกมาขยายพันธุ์ ใช้ปุ๋ยพืชสด ทำมาเริ่มตั้งแต่ปี 36 เริ่มขุดไว้เป็นแหล่งน้ำ เมื่อก่อนมันแล้ง ทำแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ทำมาตัวเองก็ไม่ค่อยได้เข้าโรงพยาบาลเท่าไร”
บรรยาย เช่นเดียวกับชาวนาที่ อำเภอโนนไทย ที่ใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ภายในชุมชน สามารถสร้างหลักสูตร “การทำนาลดต้นทุนแบบเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน” รวมทั้ง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดเพื่อใช้กันเองในชุมชน อันเป็นผลมาจากการศึกษาข้อมูล จนเห็นปัญหาและแนวทางแก้ไข นำไปสู่แนวคิดในการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม
กาญจนา ภานนท์ คณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา
“ที่นี่เราคิดถึงขบวนการทำนา ทำยังไงจะลดต้นทุน ทำยังไงจะสอดคล้องกับชุมชนของเรา เพราะเป็นหนี้เป็นสินทุกหลังคาเรือน เรามาทำแบบพึ่งพาตัวเอง และทำของใช้เองได้ไหม เราจะขุดรากเหง้าขึ้นมาได้ยังไง ในการแก้ปัญหาของเรา เราก็ระดมปัญหาถึงสิบกว่าปัญหา จนเกิดกระบวนการต่างๆทั้งปัญหา และวิธีแก้ร่วมกันในปีนี้โนนไทยโชคดี พอเรามีกิจกรรมเกี่ยวกับ การทำนาลดต้นทุน ในกระบวนการต่างๆ ฝนตกลงมา เราก็ได้เอาวิชาการที่ระดมกันเองในกลุ่ม วิเคราะห์ สังเคราะห์ หาวิธีแก้ ให้เป็นหลักสูตรการทำนาลดต้นทุน”
เลิศ เย็นหลักร้อย สมาชิกเกษตรอินทรีย์ ต.หลักร้อย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา
“เคยใช้ปุ๋ยเคมี 2 กระสอบต่อนา 1 ไร่ ผลผลิตมักจะเก็บแล้วไม่ได้ผล ก็เลยเลยใช้ปุ๋ยชีวภาพผสมกับปุ๋ยเคมีก่อน และนำปุ๋ยพืชสดมาใช้ หลังจากนั้นปีที่สองสาม ก็ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี มาใช้ชีวภาพแล้วการผลิตจะเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าปุ๋ยเคมี ก็จะไม่ค่อยมีแมลง ข้าว หรือพวกมันสัมปะหลัง(ขอตรวจทานจากสื่อ) ก็ไม่ค่อยเน่า”
บรรยาย ที่ อำเภอหนองบุญมาก เมื่อนักวิจัยไทบ้านได้ศึกษาข้อมูลในท้องถิ่น พบว่า คุณค่าในชุมชนหลายอย่างทั้ง ประวัติศาสตร์ ประเพณี และ ภูมิปัญญา กำลังจะสูญหาย ชาวหนองบุญมากจึงร่วมแรงร่วมใจฟื้นฟูสิ่งดีงามของท้องถิ่นให้กลับคืนมา โดยใช้แนวคิดเดียวกับการออมทรัพย์ ซึ่งมีทั้งการออมป่าชุมชน ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มาหลายชั่วอายุคน ร่วมกันปลูกผักหวาน เพื่อออมผักโบราณอาหารพื้นบ้าน ออมปุ๋ย ออมดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ออมอาชีพดั้งเดิมและภูมิปัญญา ที่เป็นทั้งแหล่งรายได้ และเป็นความภาคภูมิใจที่ต้องรักษา และถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป
จินดา บุษสระเกศ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา
“เมื่อก่อนเราไม่มีโอกาสทำวิจัยเลย แต่พอทำวิจัยแล้วรู้ว่า คุณค่าของเรามี มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ที่ได้โอกาสเห็นคุณค่าของตัวเอง เรารู้จักอดีต รากเหง้าของเรา รู้จักปัจจุบันซึ่งมีปัญหาหนี้สิน ทรัพยากรลดถอยไป และรู้จักว่า เราจะวางแผนอนาคตยังไง ซึ่งเราต้องการผู้สืบทอดต่อ ไม่ใช่เฉพาะรุ่นเราทำ แต่ต้องการสืบสานต่อไป เรื่องสิ่งที่ดีงามในชุมชนของเรา ชุมชนของเราก็จะได้น่าอยู่”
บรรยาย กิจกรรมการออมที่อำเภอหนองบุญมาก ไม่เพียงแต่จะมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและจัดการทุนทางสังคมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการสร้างสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้นด้วย
พรม ปีกกลาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.บ้านใหม่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา
“เรามีแนวคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน มันสร้างความสามัคคี ความเอื้ออาทรในชุมชน เห็นใจกัน ไม่เหมือนกับต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างไป แต่ตอนนี้ถึงปีเราจะมีนัด มีสรุปปันผล มาโสเหล่ มาถกเถียงปัญหากัน เรามีการหาทางแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่ดีมีความเอื้ออาทรกันในชุมชน”
จินดา บุษสระเกศ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา
“เมื่อก่อนจะเป็นเหมือนสังคมเมือง ตัวใครตัวมัน เช้ามาก็ไปไร่ไปนา แต่พอมีกระบวนการเรียนรู้ มันเกิดความสัมพันธ์ เป็นพี่เป็นน้องกัน ได้พูดคุยพบปะกันบ่อยขึ้น และมีขบวนการที่สร้างปัญญาให้เรา เราได้คิดว่า สิ่งนี้มันดีนะ สิ่งนี้มันไม่ดีนะ มีโอกาสได้เห็นตัวตนเราด้วย”
บรรยาย ที่อำเภอวังน้ำเขียวในวันนี้ การทำงานของชุมชนเปลี่ยนรูปแบบไป มีการนำข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ศึกษาและสืบค้น มาเป็นพื้นฐานในการจัดการปัญหาของชุมชน ซึ่งเริ่มจากการจัดเวทีพูดคุย เพื่อถอดความรู้ และบทเรียนต่างๆของท้องถิ่น
สมบูรณ์ สิงกิ่ง คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่
“หลังจากที่มีการถอดบทเรียน ก็จะทำให้เราย้อนหลังไปดูว่า ที่ผ่านมาเป็นยังไง แต่ละคนคิดยังไง เราเองมีแนวคิดยังไง แล้วนำสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการถอดบทเรียนมาวิเคราะห์ร่วมกัน วิเคราะห์ให้เป็นชุดความรู้หนึ่ง เพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยกัน แทนที่ชุมชนเองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพต่างคนต่างไป ไม่มีเวลามาคุยกัน ไม่มีเวลาใช้เวทีพูดคุยเรียนรู้กัน ทำให้เขาดูห่างเหิน หลังจากมีการจัดเวที ถอดบทเรียน ผู้นำได้เห็นแนวทางในการนำไปสู่การพัฒนา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของพื้นที่”
บรรยาย ข้อมูลความรู้ที่ค้นพบที่อำเภอวังน้ำเขียว นอกจากประเด็นการอนุรักษ์ผืนป่าแล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ที่มีภูมิประเทศสวยงาม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดการโดยชุมชน มีการดำเนินการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการให้นักท่องเที่ยวเข้าพักเพื่อสัมผัสวิถีแท้จริง หรือโฮมสเตย์ และการสร้างกลุ่มอาชีพ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ที่ส่งผลต่อการลดการบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร เช่น กลุ่มสวนเห็ดหอม สวนเบญจมาศ และสวนผักปลอดสารพิษ แต่ที่ อำเภอพิมาย จากการศึกษาค้นคว้าปัญหาในท้องถิ่น พบว่า ในอดีตที่ผ่านมา ชุมชนปล่อยให้กระแสการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว พัดพาไปอย่างไร้ทิศทาง ข้อค้นพบหรือบทเรียนนี้ ทำให้ชุมชนได้หันกลับมาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อฟื้นฟูชุมชนให้น่าอยู่เช่นเดิม
สันทนา ธรรมสโรจน์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อ.พิมาย
จ.นครราชสีมา
“สิ่งที่มันมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปคือว่า เรามองว่าจะทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการพัฒนา
อย่างยั่งยืนในพิมาย ไม่ใช่ว่าเอางบมาทำกิจกรรมเป็นเรื่องๆแล้วหมดไป เพราะฉะนั้นการเอาข้อมูล มาใช้ประโยชน์ในงานวิจัย จึงเกิดขึ้น” ช่วยตรวจทานเพราะพยายามขยับความให้เต็มบรรทัด ไม่แน่ใจว่าอะไร หลุดหายไปไหม
บรรยาย จากการศึกษา ค้นคว้า ข้อเท็จจริง จนได้ข้อมูล ความรู้ ที่เมื่อผนวกกับความต้องการของคนในท้องถิ่น ทำให้ได้แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้ ”พิมาย” เป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียว ด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานอย่างประหยัด ไร้มลพิษ โดยใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ เช่น การคิดค้นเตาเผาถ่าน 200 ลิตร ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเผา ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ด้วยการผนวกวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาดั้งเดิม จนเป็นที่ยอมรับ และได้บรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน การนำลูกสีหลอดหรือสบู่ดำ ซึ่งปลูกกันอย่างแพร่หลาย มาผลิตเป็นน้ำมันเพื่อใช้กับเครื่องสูบน้ำและรถไถนา โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์สาธิตไบโอดีเซล ที่ อ.พิมาย ยังสามารถนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว มาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ ใช้งานได้จริงจำหน่ายแก่ชุมชน
ร.อ.ยุทธนา ไวยเวช (ร.น) ผู้คิดค้นเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซล อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
“เกรดของน้ำมันที่เคยนำไปทดสอบผ่านมาตรฐานของยุโรป ยกเว้นเครื่องยนต์คอมมอลเรลจะไม่นิยม คือจะไม่แนะนำให้เติมเลย แต่ว่าถ้าเป็นเครื่องยนต์ทั่วไปเติมได้เลย”
บรรยาย นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานแล้ว ชาวพิมายยังให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน จึงรื้อฟื้นการนวดแผนโบราณ อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และรวมตัวสร้างชมรมจักรยาน เพื่อเป็นทั้งการออกกำลังกายของคนในชุมชน ทุกเพศทุกวัย และเป็นเครื่องมือสร้างความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ให้กับเด็กและเยาวชน เพราะเส้นทางจักรยานนั้นมีแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย ความพยายามทั้งหมดในวันนี้ของคนโคราชในการทำวิจัยท้องถิ่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างชุมชนที่มีสุขภาพกายที่ดี มีสุขภาพจิตวิญญาณที่งดงาม มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น อันเป็นทิศทางของความมีปัญญาและสันติสุขของชุมชนคนโคราช ต่อไป
|
Be the first to comment on "งานวิจัยไทบ้าน เพื่อการพัฒนาเมืองย่าโม"