เมื่อเราไปเที่ยวธรรมชาติ พวกเราควรต้องเคารพเจ้าบ้านซึ่งก็คือธรรมชาติ ไม่ใช่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่สร้างความสะดวกสบายเพื่อเราจะเข้าไปชื่นชมตามอำเภอใจ “กลุ่มรักษ์อุทยานฯ” เชื่อว่า การได้ท่องเที่ยวตามอุทยานฯป่าเขาหรือทะเล คือ การที่จะได้สัมผัสธรรมชาติจริงๆ ได้เห็นความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างขึ้น
จับตา “เอกชนเช่าอุทยาน”
ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ ?
เมื่อเราไปเที่ยวธรรมชาติ พวกเราควรต้องเคารพเจ้าบ้านซึ่งก็คือธรรมชาติ ไม่ใช่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่สร้างความสะดวกสบายเพื่อเราจะเข้าไปชื่นชมตามอำเภอใจ “กลุ่มรักษ์อุทยานฯ” เชื่อว่า การได้ท่องเที่ยวตามอุทยานฯป่าเขาหรือทะเล คือ การที่จะได้สัมผัสธรรมชาติจริงๆ ได้เห็นความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างขึ้น
เราไม่ได้ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกสบายที่เกินจำเป็นแต่ต้องเสี่ยงกับการทำร้ายทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น เราจึงไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องให้สัมปทานเอกชนเข้ามาพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวหาผลประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติเพราะเราเชื่อว่ารัฐสามารถจัดการบริหารเองได้บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
เราจึงขอคัดค้านการเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่บริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยวหาประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ
บางส่วนจากหนังสือคัดค้าน โดย [1]กลุ่มคนรักษ์อุทยานฯ
ดูข่าวเมื่อเช้าก็ตกใจนะ นี่มันอะไรกัน ถ้าจำไม่ผิด อุทยานแห่งชาติทั้ง10แห่งข้างต้นเพิ่งจะมีนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแล้วทำไปทำมาจะกลายเป็นให้เอกชนมาดูแล แล้วต่อไปจะทำอย่างไร ธรรมชาติสมบัติของชาติจะกลายเป็นขุมทรัพย์ของกลุ่มคนไม่กี่คน
อย่าลืมนะว่า อุทยานแห่งชาติเกือบทุกแห่งมีปัญหากับชาวบ้าน ไปยึดที่ ไล่ชาวบ้าน จับชาวบ้าน แล้วเอามาให้เอกชนเช่าแบบนี้ คิดเอาเองแล้วกันว่ามันเป็นธรรมไหมสำหรับชาวบ้านธรรมดาๆ
[3]จากคุณ : เทพินทร์
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนรักษ์อุทยาน บนโลกไซเบอร์ ผ่านเวปไซต์พันทิป ดอทคอม ในห้องบลูพลาเน็ต ซึ่งเป็นห้องของคนที่ชอบท่องเที่ยวอุทยานทางธรรมชาติต่อกระแสการเปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้เอกชนเช่า
ข่าวกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีนโยบายเปิดให้เอกชนเช่าอุทยานแห่งชาติ ลงทุนก่อสร้างที่พักรีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยประกาศเปิดอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง นำร่องให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่และมีแผนการเปิดให้เอกชนเข้าเช่าพื้นที่บริหารจัดการในโซนบริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี[4] กลายเป็นข่าวดังที่ถูกจับตาด้วยความห่วงใยในทันที เมื่อ 15 กันยายน 2551 ชาวเน็ตในนาม “กลุ่มคนรักษ์อุทยาน” ได้เข้ายื่นหนังสือและรายชื่อคัดค้าน การเปิดให้เอกชนเข้าหาประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติ4,451 รายชื่อ แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เหตุการณ์ในวันนั้น รัฐมนตรีหญิงไม่ได้ลงมารับหนังสือด้วยตนเอง เพียงแต่ให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้ออกหน้าในการรับหนังสือจากผู้คัดค้าน ด้วเหตุผลที่ว่าติดภารกิจ
การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเวปไซต์พันทิป ห้องบลูพลาเน็ต เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2551 มีการแสดงความคิดเห็นคัดค้านอย่างกว้างขวาง ก่อนจะมีการลงชื่อเสนอข้อคัดค้าน ทั้งนี้ ตามรายงานแจ้งว่าได้มีการตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้านในงาน ไทยเที่ยวไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5-8 มิถุนายน 2551 ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
บทสรุปที่ได้รับจากความเคลื่อนไหว ดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า ทางกระทรวงฯ ไม่ได้ปฏิเสธถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเพียงแต่นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงชุดความคิดเริ่มต้นที่จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายประเด็นและยืนยันว่ายังไม่มีการรับหลักการเพื่อดำเนินการใดใดทั้งสิ้น
[6]นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร วางมาตรการโดยเน้นให้หน่วยงานของรัฐจะต้องคิดแผนนโยบายการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ
เดิมที นโยบายการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหรือเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า เกิดขึ้นเพื่อการสำรวจ ศึกษาหรือวิจัย เชิงอนุรักษ์มากกว่าการเปิดท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตหวงห้าม ยิ่งถูกจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้พื้นที่อย่างเข้มงวด
ร่างนโยบายฉบับใหม่ กลายเป็นช่องโหว่สำคัญ เมื่อมีการเปิดพื้นที่เฉพาะเพื่อทำการศึกษาให้เอกชนสามารถเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจ ด้วยเหตุผลของรัฐมนตรี กท.ทรัพยากรฯ ที่ว่า “มีความจำเป็นต้องใช้มืออาชีพในการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว” โดยกำหนดให้เป็นไปตาม ดุลยพินิจของหัวหน้าเขตอุทยานหรือหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือ อาจจะเสนอเป็นกรณีพิเศษแก่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเปิดพื้นที่เฉพาะให้เป็นพื้นที่บริการ
เมื่อเปิดเป็นพื้นที่บริการนักท่องเที่ยวทั่วไปแล้ว ยังออกสัมปทานให้เอกชนเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อทำประโยชน์ในกิจการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งในเรื่องที่ค้างแรม บริการอื่นๆ ได้ในแต่ละเขตบริการละ 10 ไร่ คราวละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี โดยมีแผนนำร่อง 10 อุทยานแห่งชาติชื่อดัง คือ เขาใหญ่ ห้วยน้ำดัง ดอยอินทนนท์ หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ภูกระดึง ดอยสุเทพ-ปุย แก่งกระจาน เอราวัณและดอยผ้าห่มปก
ทั้งนี้ มีกระแสข่าวที่ค่อนไปในทางลบถึงการต่อรองราคาค่าเช่าพื้นที่กับกรมอุทยานฯของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวหลายกลุ่ม ปัจจุบัน การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่อุทยาน นักลงทุนจะต้องจ่ายค่าเช่าในอัตราตารางเมตรละ 30 บาทหรือไร่ละ 48,000 บาท/เดือน ซึ่งราคานี้ถูกมองว่าสูงเกินไป และมีความพยายามต่อรองให้เหลือแค่ตารางเมตรละ 3 บาท
[7]การต่อรองราคาดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการเปิดประมูลอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม แผนการนี้มีการจัดวางเงื่อนไข สำหรับการเข้าลงทุนของเอกชน เช่น นักลงทุนต้องจัดทำแผนการทำงานพร้อมกับแผนการอนุรักษ์ควบคู่กันไป เช่น ปลูกป่าเพิ่มและดูแลสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม
วิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ประธานคณะทำงานการท่องเที่ยวและการลงทุนดำเนินกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงหลักการ 3 ข้อ 1.จะต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมืออาชีพและยั่งยืน 2.ประชาชนทั่วไปต้องเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรม 3.ต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่[8]
“กรมอุทยานฯ ต้องการมืออาชีพซึ่งจะเป็นใครก็ได้เข้ามาบริหารพื้นที่บริการ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในพื้นที่ นักธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดกลางโดยกรมจะแบ่งพื้นที่ของอุทยานฯ เป็นกลุ่มๆ คือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง กลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลาง กลุ่มทั่วไป ให้มีตัวเลือกหลากหลายไม่ปิดกั้นโอกาสของประชาชนในการเข้าถึงธรรมชาติ”
ต่อเรื่องความหวั่นเกรงกันว่า กลุ่มธุรกิจจะเข้าไปทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น ตนเชื่อว่า ความคิดของนักธุรกิจเปลี่ยนมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เป็นกระแสหลักของโลก ตอนนี้
แรงผลักดันของการเปิดสัมปทานอุทยานมาจากแรงจูงใจเรื่องการท่องเที่ยว รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ให้เหตุผลเอาไว้ในวันที่ 24 กันยายน 2551 ในการแถลงข่าวเรื่องนี้ว่า [9]โดยความเป็นจริงแล้วแนวคิดนี้เกิดจากว่าจะทำอย่างไรถึงจะรักษาพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นป่าบกและป่าเลนหรือพื้นที่อุทยานต่างๆ ที่ผ่านมาวิธีการดูแลรักษามีอยู่หลายวิธี เช่น ให้เจ้าหน้าที่ตรวจลาดตระเวนซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้วหรือเรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
เรื่องการให้เอกชนเช่าที่อุทยานนั้น หากทำให้เป็นมืออาชีพ ภาคเอกชนหรือประชาชนจะได้ค่าตอบแทนจากการที่นักท่องเที่ยวมาจับจ่ายใช้สอยสินค้า อาหารหรือเช่าที่พักต่างๆ แต่ต้องดูแลป่าด้วย ซึ่งก็ถือเป็นแนวคิดในการเพิ่มปริมาณป่าให้ป่าสามารถอยู่ได้ เรื่องนี้มีในกฎหมายยู่แล้ว ไม่ได้บัญญัติกฎหมายขึ้นมาใหม่แต่จะนำกฎหมายอุทยานที่มีอยู่แล้วมาปฎิบัติ
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของหลายฝ่ายซึ่งส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจในมาตรการการควบคุมเอกชนที่เข้ามาลงทุนซึ่งเป็นปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ดี รมต.กท. ย้ำว่า เรื่องยังนี้เป็นเพียงแค่แนวคิดและไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ต้องศึกษาและหาบทสรุปอีกมาก
ต่อเรื่องนี้ ได้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านจากฝ่ายนักวิชาการด้าน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อสารมวลชน ด้านสิ่งแวดล้อมขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง
ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในวันทื่ 3 กันยายน ว่า [10]10 อุทยานนำร่อง)เป็นเสมือนพื้นที่ชั่วคราวที่กรมอุทยานเข้าไปทำการรักษาเอาไว้ แต่กลับมีความพยายามทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจพื้นที่เหล่านี้(
เชื่อว่า ชาวบ้านคงไม่ยอม เพราะที่ผ่านมาอุทยานฯพยายามผลักดันชาวบ้านออกมาจากพื้นที่แต่กลับจะเปิดให้เอกชนมาแทนที่ นอกจากนี้ โดยส่วนตัวน่าเป็นห่วงมากเพราะถ้าดูจากวิธีใช้พื้นที่อุทยานมาทำเขตบริการซึ่งเลือกในจุดที่เปราะบางที่สุดโดยไม่ได้อิงข้อมูลทางวิชาการ แต่อิงความสวยงามเป็นหลัก ดร.อนันต์ กล่าวว่า นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมได้พูดคุยกันแล้วและไม่ค่อยจะเห็นด้วย ยิ่งบนเกาะมีสิ่งปลูกสร้างถาวรเมื่อใด ปัญหาอีกมากมายจะตามมา
[11]อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ นักข่าวสำนักข่าวประชาธรรม ได้เสนอบทเรียนแสนแพงในประเด็น การสัมปทานพื้นที่อุทยานให้เอกชนเช่า กรณีศึกษา เกาะเสม็ด จ.ระยอง ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ
ยุครัฐบาลทักษิณมีการจัดตั้ง องค์กรบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ซึ่งทำหน้าที่วางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ อย่างเช่น พื้นที่เกาะช้าง จ.ตราด แหลมถั่งงอก จ.กาญจนบุรี หมู่เกาะพีพี-หมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ เกาะตะรุเตา จ.สตูล หาดเจ้าไหมและหมู่เกาะทะเลตรัง จ.ตรัง ด้วยแนวคิดเปิดเสรีทางการลงทุนทางธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศจัดตั้งอพท.ในปี 2546 กลับเกิดคำถามตามมาอย่างมากมายถึงแนวทางการทำงาน ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับคนบนเกาะเสม็ด
สุวิทย์ นามแสงให้มุมมองต่อร่างนโยบายเปิดสัมปทานอุทยานว่า แนวนโยบายที่ถูกอ้างว่าเพื่อสร้างรายได้จากป่า กลายเป็นข้ออ้างของกลุ่มนักลงทุนที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่อุทยานได้อยู่ภายใต้สังกัดกรมป่า กระทรวงเกษตรฯ รัฐบาลทักษิณมีแนวคิดตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วชูนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนโดยการหารายได้จากพื้นที่ป่าที่มาพร้อมกับการชูเหตุผลทางด้านการอนุรักษ์
การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนหรือการแปลงทรัพย์สินสาธารณะแผ่นดินเป็นทุน โดยในนโยบายใหญ่นั้นมีหลายส่วน การแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติ เป็นเพียงส่วนเดียวที่จะหาประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดิน
เกาะเสม็ดเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างของปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ถึงแม้ว่า พ.ร.บ.อุทยานฯ มาตรา 6 อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ประกาศพื้นที่ป่า ทับพื้นที่ของชาวบ้านได้ กรณีที่ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ชาวบ้านบนเกาะเสม็ด ออกมาคัดค้านประกาศนี้มาตลอด 26 ปี
ช่วงปี 2543 เริ่มมีการพูดถึงนโยบายเพื่อให้เช่าพื้นที่แต่ระเบียบนั้นไม่สอดคล้องกับชุมชนเพราะเป็นการเสนอให้เช่าเพื่อประกอบกิจการการท่องเที่ยว เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นมากกว่าคนในชุมชนที่มีอาชีพประมงชายฝั่ง
การเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อุทยานฯ สอดคล้องกับแผนแม่บทของ อพท. ซึ่งมีหน้าที่ชี้เป้าดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ แน่นอนว่า นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนย่อมไม่ใช่ผู้ประกอบการในท้องถิ่น สิทธิประโยชน์จากการเข้าครอบครองพื้นที่สาธารณะจะตกอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียว
หากมีการสร้างรีสอร์ทระดับห้าดาว ชายหาดสาธารณะจะกลายเป็นพื้นที่เอกชน ห้ามชาวบ้านเข้าไปเดินหรือชาวบ้านจะถูกห้ามเข้าบริเวณทะเลหน้าหาด ซึ่งเคยหาปลา-หาหอย
เครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ดสรุป

4 ตุลาคม 2551 กลุ่มประชาชนที่รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จาก เวปไซต์ Ok Nation กลุ่มคนรักษ์อุทยานฯจากห้องบลูแพนเน็ท-พันทิปดอทคอม เวปไซต์เทรคกิ้งไทย ชมรมนักนิยมธรรมชาติ เวปไซต์ตะลอนรักเมืองไทย มูลนิธิกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมไทยและประชาชนทั่วไป ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการติดตามและแก้ไขปัญหา[12] ต่อกระแสการออกมาแก้ข่าวของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่าจะยังไม่มีการดำเนินการและให้ชะลอนโยบายการเปิดอุทยานฯ ออกไป ขณะนี้ ทางกรมกำลังคิดโครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว
ที่ถูกมองว่าเป็น เพียงการลดกระแสคัดค้านการเปิดอุทยานฯให้เอกชนเช่า
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสรุปว่า ระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่เปิดพื้นที่ให้เอกชนเข้าจัดบริการการท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกับวัตถุประสงค์เดิมของการก่อตั้งอุทยานแห่งชาติที่มุ่งแผนงานในการอนุรักษ์ ทั้งนี้ บทสรุปในการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อติดตาม ตรวจตราและศึกษาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสนอทางกรมอุทยานฯ อีกด้วย
วันชัย ตัน เขียนถึงเรื่องนี้ลงหนังสือพิมพ์มติชน ในวันที่ 28 กันยายน 51[13] แนวคิดการเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ สิบกว่าปีก่อน นายสาวิต โพธิวิหค รัฐมนตรีสมัยรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย พยายามผลักดันให้มีการอนุมัติให้เอกชนเช่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี รัฐบาลสมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน ได้สั่งรื้อถอนโรงแรมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มานานนับสิบปีเพราะพิสูจน์ได้ว่าสร้างปัญหา น้ำเสีย ขยะ การลักลอบตัดไม้ ทำลายป่าและการล่าสัตว์ป่ามาอย่างยาวนาน
เมื่อได้รับเสียงคัดค้านจากผู้คนทุกภาคส่วนจำนวนมาก รัฐมนตรีผู้นี้จึงยอมถอนนโยบายดังกล่าว นักเขียนผู้นี้สรุปว่า เหตุผลง่ายๆ ที่คนออกมาคัดค้าน คือ อุทยานแห่งชาติไม่ได้มีไว้เพื่อขายหรือให้สัมปทานเอกชนรายใหญ่เช่าและที่สำคัญ คน ไม่ไว้ใจนักการเมือง
นอกเหนือจากนั้น เขายัง ตั้งข้อสังเกตุและเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ถึงเหตุผลที่ นายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้เหตุผลว่าเพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่คาดว่าปี 2551 จะมีนักท่องเที่ยวอุทยานฯ ถึง 12 ล้านคนว่า ข้าราชการกระทรวงหรือกรมอุทยานฯ คงไม่กล้าผลักดันโครงการเหล่านี้ตามลำพัง
ขณะที่เกิดกระแสข่าวว่า
‘ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่พาอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งแห่งบ้านเลขที่ 111 และนายทุนของพรรคไปตระเวนตามเกาะต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเลือกสถานที่ในการสร้างรีสอร์ทและเกาะบางแห่งได้มีการก่อสร้างรีสอร์ทไปแล้ว อาทิ บนเกาะอาดังในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล’
เขาทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมีการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการอุทยานฯกันใหม่ เพื่อกระจายอำนาจการดูแลอุทยานฯไปสู่ทุกภาคส่วนในสังคม มีคณะกรรมการที่มีอำนาจเต็มอันประกอบด้วย ข้าราชการ ภาคเอกชน นักวิชาการ คนในท้องถิ่นมามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทยานฯที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาอยู่ที่ว่าจะสร้างแรงกดดันอย่างไร
เพื่อให้นักการเมืองยอมคายอำนาจของตัวเอง
[1] http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E6931312/E6931312.html#321
[2] http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E6913736/E6913736.html
[3] http://www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E6920969/E6920969.html
[4] http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=13674&Key=HilightNews
[5] http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=13674&Key=HilightNews
[6] http://www.seub.or.th/INDEX/database/hotissue/install/?action=entry&id=1215153618
[7] http://www.suthichaiyoon.com/WS01_A001_news.php?newsid=4544
[8] (22 สิงหาคม พ.ศ. 2551) http://www.suthichaiyoon.com/WS01_A001_news.php?newsid=4544
[9] http://www.oknation.net/blog/print.php?id=326499
[10] http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9510000104399
[11] http://www.prachatai.com/05web/th/home/13689
[12] http://www.seub.or.th/INDEX/database/hotissue/install/?action=news&id=1223108366
[13]http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way03280951§ionid=0137&day=2008-09-28
Be the first to comment on "จับตา เอกชนเช่าอุทยาน ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ ?"