จับตา “การปฏิรูปสื่อ” สงครามแย่งชิงพื้นที่สื่อสาร สู่การรักษา “สิทธิ” บนพื้นที่สาธารณะ

แท้ที่จริงแล้วจุดเริ่มต้นของ “การปฏิรูปสื่อ” ไม่ได้เริ่มต้นเพราะความเป็น “กระแส” กำลังมีเรื่องการปฏิรูปในเรื่องต่าง ๆ ของสังคมไทย ในเวลานี้

ทั้งยังไม่ได้เริ่มต้นเพียงเพราะการมี “มาตรา 40” บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ ของกระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่อนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นกระแสการเรียกร้องที่มาพร้อมกับ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เหตุการณ์เผาตึกกรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนิน สะท้อนให้เห็นถึงความเก็บกด ของประชาชนที่แสดงออกมา หลังการถูกปิดบังข้อมูลข่าวสารมายาวนาน ประชาชนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่อ และขอแยกสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยให้เป็นอิสระ จากกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล แต่ทว่าการเรียกร้องครั้งนั้นกลับประสบความล้มเหลว

จวบจนกระทั่งเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทย กำลังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แต่สภาพสังคมก็ยังคงติดหล่ม และสภาพสื่อก็ยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐในการทำร้ายประชาชน มีการปิดบังข้อมูลข่าวสาร และใช้ข้อมูลในการทำให้คนสับสน เช่น กรณีการปั่นหัวให้ทหารที่ถนนราชดำเนินเชื่อในบางเรื่อง เพื่อสามารถยิ่งคนที่ไม่มีอาวุธอย่างไม่รู้สึกผิด หากผลจากการต่อสู้ประชาธิปไตยในครั้งนั้น กลับกลายเป็นจุดสำคัญในการปฏิรูปสื่อ ของรัฐอย่างจริงจัง นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และกระแสสังคม ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้สื่อมวลชนของรัฐคืนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ให้ประชาชน จนมีกำเนิดแห่ง “มาตรา 40” ขึ้นมา

ความเคลื่อนไหวของภาครับ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ต่อมาตรา 40 : สงครามแย่งชิงพื้นที่สื่อสาร

หากจะมองดูโครงการสื่อ โดยมิได้สนใจบริบทของสังคม รองโครงสร้างดังกล่าว อาจจะทำให้เราไม่ชัดเจนในเรื่องสื่อมากไปกว่าความเข้าใจเพียงแค่เรื่องของระบบทุนนิยม ที่ทำให้สื่อดูไม่หลากหลาย หรือเป็นเรื่องระบบตลาดที่มากำหนดเนื้อหา ทำให้สาระ ของโทรทัศน์มีแต่ละครน้ำเน่าเข้าครอบครอง และวิทยุมีแต่เพลงโปรโมตของวัยรุน อันที่จริงแล้วถ้าจะมองโครงสร้างสื่อต้องมองให้สัมพันธ์กับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย

ในเริ่มแรกกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ก่อกำเนิดขึ้นโดยมีรัฐดูแล รวมทั้งการผูกขาดกรรมสิทธิ ไม่มีการกระจายกรรมสิทธิ์ในการ ส่งกระจายเสียงออกไปสู่ธุรกิจหรือประชาชน ต่อมาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้บริษัทเอกชน เข้ามาเช่าช่วงเวลา ทั้งในรูปแบบเช่าช่วงเวลาเพื่อการผลิตรายการ หรือเช่าเหมาทั้งคลื่น รวมถึงการให้เอกชนลงทุนสร้างสถานี ซึ่งการเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในลักษณะนี้ยังคงอยู่ภายใต้หลักการ ว่าคลื่นกระจายเสียงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน จึงเป็นไปภายใต้ “ระบบอุปถัมภ์” ซึ่งระบบแบบนี้เองคือที่มาของผลประโยชน์ระหว่างทั้งสองฝ่ายในการแสวงหากำไรจากคลื่นความถี่นี้

หลังจากก่อเกิด “มาตรา 40” มีการวิเคราะห์ในกลุ่มนักสื่อสารว่า จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสูง ในการถือครองและใช้คลื่นความถี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทั้งนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติได้มีการกำหนดให้มีการถ่ายการ ถือครองคลื่นทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้แต่คลื่นในวงการโทรคมนาคมจาก หน่วยงานต่าง ๆของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และกองทัพ ไปสู่องค์กรอิสระที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่เข้ามาเป็นผู้ดูแล และบริหารจัดการแทน ด้วยเหตุนี้เอง ความพยายามในการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือกลุ่มธุรกิจเอกชน จึงเกิดขึ้นอย่างแข็งขันรูปธรรม ในการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของสองกลุ่มดังกล่าวปรากฎขึ้นให้เห็นอย่างเด่นชัด เมื่อมีการร่าง “พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสีย วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม” “ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” และ “พระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม” เกิดขึ้น

ซึ่งทั้งสามร่างพระราชบัญญัติ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า
“เป็นพฤติกรรมซ่อนเงื่อน ที่เหมอทนจะแสดงภาพให้สาธารณะชน เห็นว่าเป็นการพบกันครึ่งทาง แต่แท้จริงแล้วยังเป็นทางให้ฝ่ายการเมืองกุมอำนาจ เพื่ออิงประโยชน์ให้กับฝ่ายตนเองและกลุ่มทุนด้านสื่อสารที่อยู่เบื้องหลังต่อไป และไม่มีหลักประกันในการ ที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีสิทธิ์ในการใช้คลื่นความถี่แต่อย่างใด”

ในส่วนของภาคประชาชน โดยมีพันธมิตรสำคัญคือ บรรดานักวิชาการทั้งด้านสื่อสารมวลชน ด้านกฎหมาย และองค์การพัฒนเอกชน ได้ร่วมกันเคลื่อนไหว สร้างกระแสกดดันทางสังคมไปยังรัฐบาลและกรรมาธิการ โดยใช้ยุทธวิธีทั้งการจัดสัมมนา นำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ และจัดทำเอกสารเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อกระตุ้นให้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตน โดยเฉพาะข้อเรียกร้องหนึ่ง ของภาคประชาชนคือ แนวทางการจัดสรรคลื่น ต้องให้ประชาชนหลากหลายกลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเข้าถึงสื่อ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมเสรีภาพและประโยชน์สาธารณะ จนในที่สุดในส่วนของภาคประชาชนได้สัดส่วนในการจัดสรรคลื่นมาร้อยละ 20

แม้มาถึง ณ วันนี้ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อสารเดินทางมาได้ 4 ปีแล้ว แต่การเคลื่อนไหวผลักดันกระบวนการมาตรา 40 ก็ยังคงไม่จบสิ้น และมีทีท่าว่าจะดุเดือดขึ้นทุกที เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมองว่านี่คือการรักษา “สิทธิ” รักษา “ผลประโยชน์” ที่ตัวเองพึงมีพึงได้ อย่างน้อยที่สุด ภาครัฐและภาคเอกชนรู้สึกก็คือ ตัวเองเคยได้ แต่ขณะนี้สิ่งที่เคยได้กำลังจะถูกกระจายออไป โดยภาครัฐนิยามการเคยมีอำนาจ มีสิทธิ ในการดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่นี้ว่าคือ “สิทธิของรัฐ” ในขณะที่ภาคเอกชนมองว่า นี่คือการรักษาผลประโยชน์ รักษา “สิทธิในการประกอบอาชีพ” ของเขา และภาคประชาชนที่เรียกร้องก็ถือ ว่าเป็นสิทธิของประชาชนเหมือนที่จะมี “สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและ สิทธิที่จะสื่อสาร แสดงความคิดเห็น”

อย่างไรก็ตาม สิทธิเหล่านี้แม้จะนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม แต่ใช่จะหาทางออกไม่ได้ จากการผลักดันเคลื่อนไหว ของฝ่ายภาคประชาชนได้มีการนำเสนอประเด็น เรื่องการจำแนกประเภทกิจการและผู้ประกอบการให้ชัดเจนว่า ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนควรเป็นผู้ดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนในประเภทใด เนื่องจากมีกรณีตัวอย่างที่ไอทีวี ต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐมากเกิดความจำเป็น ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการแบ่งประเภทกิจการ ที่ไม่ชัดเจน จนในที่สุดการผลักดันดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขให้มีการแบ่งประเภทกิจการเป็น 3 ประเภท ตามข้อเสนอ โดยภาครัฐควรจะดำเนินกิจการบริการสาธารณะ ภาคประชาชนต้องดำเนินกิจการบริการชุมชน และภาคเอชนดำเนินกิจการในทางธุรกิจ ที่สามารถแสวงหากำไร ทั้งนี้ต้องมีการระบุที่มารของรายได้ให้ชัดเจน

หากทว่า เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น เมื่อมีการตั้งคำถามต่อไปในทุกเวทีสัมมนา ว่า “ภาคประชาชน” คือใคร เพราะเป็นคำกว้าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่อาจนิยามให้ตายตัวได้ แต่หากเราจะอธิบายแบบง่าย ๆ อาจกล่าวได้ว่า
“ภาคประชาชน คือ กลุ่มคน หรือองค์กรประชาชน ที่รวมตัวกันก่อตั้งเป็นองค์กรที่เป้ฯทางการ หรือไม่เป็นทางการ และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ ประกอบธุรกิจการสื่อสาร รวมทั้งไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจหรือการค้าด้านการสือ่สารในเชิงพาณิชย์ แต่มีวัตถุประสงค์ของกลุ่ม หรือองค์กรในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภาคประชาชน”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ถึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายต่อคลื่นความถี่ถึงเพียงนี้แล้ว การต่อสู้เพื่อแย่งชิงรักษาผลประโยชน์ก็ยังคงยืดเยื้อ ดังนั้นเส้นทางการต่อสู้ของมาตรา 40 จึงคงไม่ใช่เป็นเพียง การรักษาสิทธิตามที่อ้างเท่านั้น แต่เบื้องหลังที่น่าจะฟันธงลงไปได้เลยก็คือ เป็นเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนมากกว่าสาธารณะเป็นแน่

สื่อภาคประชาชนกับการสร้างพื้นที่สาธารณะ : หลักประกันเรื่องสิทธิในการสื่อสาร
หลักการสำคัญประการหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวมาตรา 40 ในส่วนภาคประชาชน ก็คือ เพื่อเป็นการผลักดันให้ภาคประชาชนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของคลื่น เจ้าของสื่อ หลังจาที่รัฐและทุนได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ตรงนี้มายาวนานกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตามข้อกังวล หวานวิตกจากกลุ่มชนต่าง ๆ ว่า ภาคประชาชนจะจัดรายการวิทยุได้หรือ นั้นไม่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเท่ากับเนื้อหาในการสื่อสาร และการสร้างพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิในการสื่อสารมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในโครงสร้างที่สื่อเป็นของรัฐหรือทุน เนื้อหาการสื่อสารก็จะออกมาในรูประชาสัมพันธ์งานของรัฐ การโฆษณาขายสินค้าของทุน

สำหรับช่องทางการสื่อสารเนื้อหาความเดือนร้อนของคนเล็กคนน้อย ของคนชนบท ของชุมชนก็จะถูกกลืนหายไป และเมื่อถึงเวลาที่เราอยากสื่อสารบ้าง เรามักจะพบว่าเสียงของเราไม่ดังและมีพลังพอ เราต้องเรียกร้อง ต่อสู้ ถึงขั้นบุกทำเนียบ เพื่อให้เป็นข่าวหน้าหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเป็นข่าวหน้าหนึ่งแล้ว ปัญหาของเราจะถูกแก้ไข แต่ถ้าเราได้ช่องทางในการสื่อสารของเราเอง ได้เรียนรู้เรื่องราวในชุมชนต่างชุมชน ต่างภูมิภาค ได้รับรู้ปัญหาของกลุ่มอื่น ๆ เราสามารถใช้ช่องทางตรงนี้ในการสื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอด เชื่อมโยง และร่วมกันคิดแก้ไขปัญหา โดยใช้พลังมวลชน ที่มีสื่ออย่างวิทยุหรือโทรทัศน์เป็นเครือข่ายเชื่อมโยง ดังนั้นสิ่งที่เราทำ คือการสร้างพื้นที่สาธารณะ เพื่อสื่อสารการเรียนรู้ซึ่งกันแกละกัน และเครือข่ายบนพื้นที่สาธารณะนี้เอง จะช่วยลดช่องว่างความเข้าใจผิด แต่กลับจะเพิ่มความเข้าใจของคนต่างกลุ่ม เพราะได้รับข้อมูลมาจากทางเดียวคือรัฐและทุน ซึ่งมีเบื้องหลังในการส่งสาร เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น หาใช้บริการเพื่อสาธารณและชุมชนอย่างแท้จิรง ดังเนื้อหาที่เราประจักษ์ชัดกันดีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ พื้นที่สาธารณะ ที่เราจะช่วยกันสร้างขึ้นมานี้ จะถือเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เรา จะสามารถกำหนดยินามความเป็นตัวตน และสามารถพัฒนา “สมรรถนะแห่งสิทธิ” ของเราเองได้ แต่ทั้งหมดต้องปลอดจากการผูกขาดของรัฐและทุน ปรากฏการณ์ “วิทยุชุมชน” คือรูปธรรมหนึ่งที่ได้บอกล่าวถึง ความเป็นพื้นที่สาธารณะของภาคประชาชน ซึ่งมีความสำคัญด้วยกันอย่างน้อย 2 ประการคือ

(1) ช่วยทำให้ประเด็นความเดือนร้อน ทุกข์ยาก และข่าวสารภาคประชาชนกลายเป็นประเด็นสาธารณะ ประชาชนมีสิทธิในการสื่อสาร และแสดงความคิดเห็น

(2) ช่วยสร้างการเรียนรู้ระหว่างชุมชน ระหว่างภูมิภาค และสังคมสาธารณะโดยรวม เป็นการสร้างการยอมรับต่อสังคม ซึ่งทำให้สิทธิของเราได้รับการรับรองจากสายตาของสังคมมากขึ้นเพราะสิทธิจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนยอมรับด้วย

ทุกวันนี้ที่คนเราในสังคมต่างไม่เข้าใจ และมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ เราไม่ได้รับรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายอย่างถูกต้อง เรารับรู้โดยผ่านสื่อของรัฐ ที่มีกลไกปกป้องตนเอง ผ่านสื่อของทุนที่มีความมายาจากการโฆษณา จนทำให้เราตัดสินใจไม่ถูกว่าสิ่งที่เห็นคือสิ่งที่เป็นจริงหรือลวงตา
ไม่มีสิ่งใดได้มา โดยไม่ผ่านการต่อสู้ เรียกร้อง ดังนั้น การจะเรียกร้อง ต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการสื่อสารจะเป็นมรรคเป็นผลไม่ได้เลย หากขาดการรวมพลังของมวลชน ผู้เป็นเจ้าของสิทธิเอง ที่จะต้องตระหนักและลุกขึ้น มาเรียกร้องสิทธิของตนเอง จับตาดู “การปฏิรูปสื่อ” ครั้งนี้ให้ดี เพราะสังคม แย่งชิงพื้นที่สื่อสารคงไม่จบลงง่าย ๆ
มีคุณเท่านั้นที่จะต้องตรวจสอบเพื่อรักษาสิทธิบนพื้นที่สาธารณะของสังคมแห่งนี้ก่อน
ที่จะไม่มีสิ่งใดเหลือให้คุณได้รักษาอีกต่อไป

 

อ้างอิงจาก
1.
โครงการวิจัยการปฏิรูปสื่ออิเล็คโทรนิค กับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดย วีระ สมบูรณ์ และคณะ
2.
โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองของระบบวิทยุและโทรทัศน์ และผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ โดยอุบลรัตน์ ศริยุวศักดิ์

 

Be the first to comment on "จับตา “การปฏิรูปสื่อ” สงครามแย่งชิงพื้นที่สื่อสาร สู่การรักษา “สิทธิ” บนพื้นที่สาธารณะ"

Leave a comment

Your email address will not be published.