ตลาดนัดสีเขียวแตกต่างจากตลาดสดทั่วไป ด้วยการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมสุขภาพ ความเป็นธรรมของผู้บริโภค การสร้างคุณค่าให้ผักพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น และเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค หรือ คนในเมืองกับชาวบ้านเกษตรกร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในเรื่องระบบเกษตร ที่ไม่ใช้สารเคมี…
|
![]() |
จินตนา ทองเอี่ยม เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ บ้านโดนเลงใต้ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์
“ก่อนหน้านั้นเราไปขายที่ตลาดในเมือง เราก็ขายไม่ค่อยดี เพราะว่าคนซื้อเขาเลือกซื้อแต่ผักสวยๆ ของเราเขาไม่ค่อยซื้อ แต่ที่เราไปขายตลาดสีเขียว ของเราไม่สวยเขาก็ยังซื้อ ตลาดสีเขียวไมใช่เป็นแค่ที่ขายของอย่างเดียว แต่ได้ประสบการณ์ ได้ความรู้ที่เวลาจัดงาน เขามีงาน การผลิตเราก็ได้กินเอง เหลือก็ขาย แล้วผู้บริโภคก็ได้กินผักที่ปลอดสารเคมี เราก็ดี เราได้กินแล้วก็ได้ขายด้วย” |
![]() |
สัญรวจ แย้มชู เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ บ้านโดนเลงใต้ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์
“รถกับข้าว เข้าบ้านนี้ ไม่เข้าหรอก เพราะมันขายไม่ได้ คนบ้านนี้เขาจะปลูกกินกัน อย่างมะเขือก็สี่ห้าต้น มีผักอินทรีย์ด้วย ผักอินทรีย์คือ ผักที่เรารับประทานเหลือ พี่ก็อยากเอาไปนำเสนอให้คนในจังหวัดเขาได้รู้ว่า ไม่ได้มีแต่ข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ก็มี และอยากให้เขารู้ว่า ข้าวอินทรีย์มันคืออะไร เราทำเองหรือเปล่า อยากให้เขารู้ว่า เรานี่ละเป็นคนทำ เป็นคนปลูกจริง เราก็คิดอยู่ในใจว่า มันจะอยู่ได้นานแค่ไหนนะ” |
สองปีที่ผ่านมา ตลาดนัดแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น แต่ตลาดนัดสีเขียวยังเป็นสถานที่ให้ความรู้ เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และเป็นพื้นที่สาธารณะของสังคมอย่างแท้จริง
![]() |
พักตร์วิไล สหุนาฬุ โครงการท้องถิ่นสุรินทร์สุขสบาย ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์
“เป็นกิจกรรมหนึ่ง ทุกองค์กรเห็นด้วยว่าต้องมีตลาดนัดสีเขียวเกิดขึ้น ซึ่งเราใช้เรื่องการขายสินค้าปลอดสารพิษสารเคมี เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดึงคนเข้ามาร่วมทำกิจกรรม เป้าหมายของตลาดนัดสีเขียวเอง หนึ่งนอกจากเป็นตลาดทางเลือกของผู้บริโภคแล้ว สองยังเป็นการนำเสนอวัฒนธรรมภูมิปัญญา ศิลปะพื้นบ้าน สามคือเป็นพื้นที่ทางสังคม ที่จะนำเสนอข้อเสนอระดับนโยบาย นอกเหนือจากการซื้อขายแล้ว แนวคิดอีกอย่างคือเรื่องการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ หลายองค์กร หลายหน่วยงานยังได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ในการทำงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ไม่ใช่ลักษณะกิจกรรมแบบใหญ่ๆ เป็นเวทีเล็กๆคุยกันสิบยี่สิบคน เราไม้ได้กะเกณฑ์ใครมานั่งฟัง แต่อาศัยว่า เราพูดไปแล้วให้กระทบกับหูคนที่เข้ามาใช้บริการ คือเราไม่อยากให้เกิดมิติของเรื่องการตลาด แต่ว่าถ้าตรงนี้เป็นตลาดทางสังคมจริงๆ มันต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย ที่นำสู่เรื่องราวสาธารณะต่างๆด้วย” |
![]() |
สุมารี ปรางค์ชัยกุล ข้าราชการเกษียณ : ผู้บริโภค
“ต่อไปให้มาซื้อตรงนี้ มาทุกเสาร์ อย่างน้อยชาวบ้านเขา ได้มีกำลังใจ เขาผลิตได้แล้วขายออก เราควรจะช่วยเหลือ อาจจะแพงกว่าท้องตลาดเล็กน้อย แต่เราซื้อชีวิตของเราเอง ปลอดจากสาร มันไม่ได้แพงอะไรมากมาย” |
![]() |
ชำนาญ ยานะ อ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ : ผู้บริโภค
“จริงๆแล้วมันมีตลาดอีกที่หนึ่งคือ ตลาดใหญ่ แต่ที่มาที่นี่เพราะอยากได้อาหารที่ปลอดภัย เพราะที่นี่มีคณะทำงานเรื่องนี้ และเชื่อถือได้” |
แม้การจัดตลาด นัดสีเขียวในสวนสาธารณะจะทำให้เกิดข้อสงสัยด้านความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ แต่ด้วยคุณค่าที่ไม่ใช่เป็นเพียงตลาดนัดธรรมดา องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจึงยังสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป
![]() |
ธงชัย มุ่งเจริญพร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จ.สุรินทร์
“เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตอนนี้ยังลำบาก ที่เราเห็นมาขายอยู่ตรงนี้ เป็นส่วนที่มันเหลือจริงๆ และเป็นคนที่ใกล้ขอบชานเมืองเท่านั้นที่ออกมา แต่ส่วนที่อยู่ต่างอำเภอไกลๆ ถ้าเกิดว่าเรามีตลาดให้เขานะ มีมาแน่นอน และโครงการนี้เป็นโครงการหนึ่งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ที่จะทำตลาดนัดสีเขียวให้เกิดขึ้นทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ตรงนี้ผมคิดว่ามีประโยชน์มากขึ้นกว่าที่จะมีเพียงสวนสาธารณะอย่างเดียว “ตลาด” ถ้าเราไปผลักให้เกิดเองนี่ยาก เหนื่อยครับ แต่ถ้าเขาอยากให้มันเกิดเองนี่ดี แต่ถ้ามันเกิดแล้วเราไปทำให้มันปิดนี่…เสียดาย” |
![]() |
สมชาย เกียรติคุณรัตน์ นายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์
“มุมมองที่แตกต่างกันเป็นความหลากหลายทางชีวภาพนะครับ เราคงจะไปกำหนดให้ทุกคนคิดเหมือนกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด เราต้องเอาข้อมูลที่มีอยู่สื่อสารให้เข้าใจ เพราะว่าแนวคิดตรงนี้มันสะท้อนอะไรหลายอย่างเยอะแยะครับ ผมไม่อาจจะรับปากกับเกษตรกรผู้ผลิตที่นำของมาขายในพื้นที่สวนสาธารณะว่า ผมจะให้อยู่อย่างมั่นคงยั่งยืน ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือ แต่ผมไม่ใช่ว่ามองเรื่องกฎหมายว่า นี่คือสวน ห้ามมาทำตลาด มาบังคับใช้จนทำให้เกิดปัญหาความเดือดร้อน ฉะนั้นมันก็อยู่ที่การร่วมมือกัน” |
ที่สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวจังหวัดสุรินทร์ เป็นรูปธรรมหนึ่งในการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เชื่อมั่นในเรื่องเกษตรอินทรีย์ และยังเป็นแหล่งรวมผลผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ในการอบรมสมาชิกใหม่เพื่อการขยายแนวคิดเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากการใช้สารเคมี มาสู่เกษตรปลอดสารพิษอย่างแท้จริง
![]() |
ส้มป่อย จันทร์แสง ผู้ประสานงานโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์
“เจตนารมณ์ของกองทุนข้าว ไม่ใช่เจตนารมณ์ทางการตลาด หรือว่า ผลกำไรทางธุรกิจ แต่เจตนารมณ์ของกองทุนข้าว ต้องการเห็นการพึ่งตนเองของพี่น้องชุมชน ปีนี้มีชาวบ้านที่สรุปบทเรียน ได้ด้วยตนเองแล้วว่า ทำข้าวอินทรีย์อย่างเดียวแล้วซื้อทุกอย่างไปไม่ได้ เรามีการประชุมกัน ชาวบ้านคนหนึ่งพูดชัดว่า ถ้าทำข้าวอินทรีย์แล้วคนไม่เป็นอินทรีย์ด้วย คือเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วย ทำแต่ข้าวออกมา ไปไม่รอด ต้องให้มันมีความหลากหลายของอาหาร อย่างน้อยคนหนึ่งบอกว่า ต้องให้มีสวนครัวของตัวเอง ตลาดส่งออก เราใช้มันเป็นโอกาสเรื่องของราคาหรือรายได้ เพื่อทำให้เราตั้งหลักได้และพัฒนาฐานในชุมชนให้มากขึ้น เพราะความเข้มแข็งของกองทุนข้าวอยู่ที่ชุมชน อยู่ที่ฐานการผลิตของชาวบ้าน ตลาดสีเขียวทำหน้าที่มากกว่าการขายสินค้า ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ทางเลือกหนึ่งของสังคม สังคมโดยรวมก็ไปทางเกษตรเคมี ทางการค้าเสรี แต่ว่า ตลาดสีเขียว เน้นถึงความสัมพันธ์ของผู้ผลิตผู้บริโภค เน้นถึงการเกื้อกูลกันและกัน รวมไปถึงการเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม ” |
ทุกวันนี้ครอบครัวของสำราช และจินตนา ทองเอี่ยม มีอาชีพหลักคือการทำนาข้าวปลอดสาร หรือข้าวอินทรีย์ รวมถึงการปลูกผักปลอดสารเป็นอาชีพเสริม ประสบการณ์จริงกว่า 8 ปี ที่ครอบครัวทองเอี่ยม หันมาทำข้าวเกษตรปลอดสารนั้น สำราชบอกว่า การปรับเปลี่ยนแนวคิด ไม่ใช่เรื่องง่ายนักในปัจจุบัน ต้องอาศัยทั้งจิตใจ ความตั้งใจ และความอุตสาหะ เพราะคนทำเกษตรอินทรีย์ ต้องอยู่กับนาตลอดเวลา จนแทบไม่มีเวลาทำอย่างอื่น
![]() |
|
|
![]() |
สำราช ทองเอี่ยม เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ บ้านโดนเลงใต้ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์
“มันลำบากก็จริงแต่มันได้พลัง ได้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเองมากกว่า คือพลังที่เราทำไม่ใช่พลังเพียงคนเดียว แต่ตัวอย่างที่เราทำ มีหลายคนเข้ามาดูงาน เราก็มีกำลังใจว่าเราไม่ใช่ตัวคนเดียว ไม่ใช่ทำโดดเดี่ยว เดี๋ยวคนนั้นคนนี้ก็มาดูงาน ทีนี้ก็มีพลังแล้ว การสนับสนุนของภาครัฐผมว่า สนับสนุนมาก็จริง แต่การส่งเสริมไม่มี คือมีงบประมาณสนับสนุน แต่เจ้าหน้าที่ที่มาคลุกคลีคอยอยู่กับชาวบ้านแทบไม่มี ไม่ว่าเกษตรตำบลหรืออะไร เขารับงานมาก็จ่ายงาน ตรวจสอบเสร็จ ผ่านไม่ผ่านก็จบ ไม่มีการประเมินผล ไม่มีการส่งเสริมที่จริงจัง ถ้าอย่างกลุ่มของเรา กลุ่มเกษตรธรรมชาติสุรินทร์ เขามีการประเมินผล มีเจ้าหน้าที่คลุกคลีกับชาวบ้าน มีการประชุมประจำเดือนทุกเดือน อย่างน้อยปีละหกครั้ง คือการขยายผลสมาชิก ผมว่าไปได้ดี แต่ในอนาคตอยากให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ อยากให้ตรงไหนก็ดูได้ในจังหวัดสุรินทร์ ไม่ต้องเลือกว่าตรงนั้นตรงนี้ดี” |
หากการเปิดตลาดนัดสีเขียวแห่งนี้ ทำให้เกิดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนภาคชนบทและชุมชนเมือง และนำไปสู่การเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างคนต่อคน และคนต่อธรรมชาติแล้ว ตลาดนัดที่ไม่ธรรมดาแบบนี้จึงน่าจะขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับความร่วมแรงร่วมใจของชุมชน และการสนับสนุนขององค์กรส่วนท้องถิ่น รวมทั้งปฏิบัติการของภาครัฐ ที่รับกับวาระเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อให้เกิดสภาวะท้องถิ่นน่าอยู่ ที่สอดคล้องไปกับการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่นสุรินทร์
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ข้อมูลและภาพประกอบ : ทีมงานพัฒนาการสื่อสารฯ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 17/04/2549
Be the first to comment on "จากตลาดนัดสีเขียว สู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อสุขภาวะเมืองสุรินทร์"