จากตลาดนัดสีเขียว สู่พื้นที่สาธารณะทางสังคม
รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน:เรียบเรียง
ความเป็นมาของตลาดนัดสีเขียว
ตลาดนัดสีเขียว เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการสเราะสแรสเร็นสรูลบูล (ท้องถิ่นสุรินทร์สุขสบาย : สสส.สบ.) ที่มีเป้าหมายมุ่งให้เกิดความร่วมมือภาคประชาสังคม และการจัดการองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพลังงานอย่างยั่งยืน ชุมชน-สังคมเข้มแข็ง การเมืองภาคพลเมือง เพื่อเป็นแนวทางและทางเลือกในการพัฒนาตนเองนำไปสู่สุขภาวะที่ดี
ตลาดนัดสีเขียว เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน และหน่วยงานภาครัฐ ใน จังหวัดสุรินทร์ มุ่งหวังให้เกิดพื้นที่สาธารณะทางสังคมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนภาคชนบทและเมือง ภาครัฐ ภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและประชาสังคม บนฐานยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 4 ด้านได้แก่ เศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานอย่างยั่งยืน ชุมชนสังคมเข้มแข็งและการเมืองภาคประชาชน ตลอดจนการนำเสนอชุดประสบการณ์ บทเรียนภูมิปัญญาท้องถิ่นเผยแพร่สู่สาธารณะ อันเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชน-สังคมที่ยั่งยืน
กิจกรรมตลาดนัดสีเขียวจัดขึ้นทุกวันเสาร์ เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2546 ณ หน้าเวทีผไทสราญ บริเวณสวนรัก สวนสาธารณะ ข้างวัดจุมพล เทศบาลเมืองสุรินทร์ เป็นต้นมา มีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจากแปลงเกษตรอินทรีย์ อาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร, การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารการพัฒนาผ่านเวทีเสวนา และชุดนิทรรศการจากองค์กรภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน
วัตถุประสงค์ของตลาดนัดสีเขียว
1. เพื่อส่งเสริมระบบตลาดที่ผู้ผลิต-ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีความเป็นธรรม ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
2. เพื่อขยายแนวคิด ประสบการณ์ การพัฒนาชุมชน สังคมอย่างยั่งยืน บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สาธารณะและผลักดันนโยบาย
3. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เอกชน รัฐ และวิชาการในการพัฒนาท้องถิ่น
จากตลาด สู่…พื้นที่สาธารณะ
จากกิจกรรมการซื้อขายของตลาด เมื่อต่อเติมกิจกรรมสร้างสรรค์ในมิติต่างๆ เช่น ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง เข้าไปบนพื้นที่เดียวกัน ทำให้ “ตลาด” เปลี่ยนบทบาทเป็น “พื้นที่สาธารณะ” เป็นแหล่งพบปะของผู้คน ทั้งเมือง–ชนบท เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความเป็นไปต่างๆ ของสังคม สู่สาธารณะในแง่มุมที่ต่างไปจากสื่อสารมวลชนทั่วไป
พื้นที่สาธารณะสำคัญอย่างไร?
พื้นที่กลาง หรือ พื้นที่สาธารณะดังกล่าว จะทำหน้าที่ในการกระตุ้น เตือน ความรู้สึกผูกพันต่อท้องถิ่น เห็นความเชื่อมโยงผูกพันระหว่างคนกับคน ระหว่างคนเมืองกับชนบท ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการสร้างสำนึกต่อการต้องร่วมกันดูแลส่วนรวม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเข้มแข็งของสังคม
การใช้พื้นที่ในลักษณะนี้ อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ได้แสดงทัศนะในงานครบรอบ 2 ปี ตลาดนัดสีเขียว ช่วงการเสวนา “ตลาดนัดสีเขียว กับพื้นที่สาธารณะทางสังคม” เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2548 โดยระบุว่า “เป็นความจำเป็นของส่วนรวมที่ต้องจัดตั้งและบริหารช่วยกัน การเป็นเมืองใหญ่แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ นายก อบจ. หรือนายก เทศบาลเพียงแค่ 2 คนมารับผิดชอบทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องสังคมเป็นเรื่องของทุกคน การที่บ้านเมืองไหนก็ตามมีอะไรแบบนี้เป็นความสนุก เป็นความน่าอยู่ที่ผู้คนปราถนา เราจะต้องเอาความหลากหลายมาสร้างควาสุข ใช้หลักเหตุผล วิชามาสร้างความเป็นสาธารณะด้วยกัน แต่การงอกงามกับการเรียนรู้ก็เป็นเรื่องที่จะไปเนรมิตหรือจะไปลอกเลียนให้เกิดเหมือนกันไปหมดทุกที่ไม่ได้ ต้องอาศัยการถอดความรู้แล้วนำไปเป็นแบบอย่าง บางอย่างที่สำคัญให้ทุกคนเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นของเราเกิดขึ้น” |
Be the first to comment on "จากตลาดนัดสีเขียว สู่พื้นที่สาธารณะ เพื่อสุขภาวะเมืองสุรินทร์…"