จากมาบตาพิษ..ถึงองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

เกือบหนึ่งปีภายหลังศาลปกครองจังหวัดระยองตัดสินคดีให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปประกาศให้พื้นที่ชุมชนอุตสาหกรรมบางส่วนเป็นเขตควบคุมมลพิษ ยังคงมีการฟ้องร้องและกล่าวโทษกันไปมา ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวันมีแต่โทนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งสับสนจนอดที่จะห่วงไม่ได้

คำ “มาบตาพิษ” ที่สื่อมวลชนขนานนามเป็นตัวชี้วัดอย่างดีที่ สะท้อนความวิตกกังวลอันเนื่องมาจากความไม่คืบหน้าในการแก้ปัญหา “บาดแผลเรื้อรัง” และฟื้นฟู “ความเชื่อถือไว้วางใจ” ระหว่างกัน

ในขณะที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กำลังพยายามดูแลทั้งในเรื่องการจัดการพื้นที่ควบคุมมลพิษและเรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งล้วนเป็นภารกิจสำหรับอนาคต ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอยู่นั้น น่าสงสัยว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง ภาคธุรกิจที่ร่วมชะตากรรม ได้เร่งรุดเข้าไปรักษาบาดแผล ฟื้นฟูเยียวยาชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและจริงใจกันแค่ไหน

สำหรับการเตรียมจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เท่าที่พยายามศึกษาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานการให้ความเห็นขององค์กรอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ.2553 ซึ่งกำลังจะนำมาซึ่งการจัดตั้ง องค์กรอิสระ (ชั่วคราว) และศึกษา (ร่าง) พ.ร.บ. องค์กรอิสระตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ….. อันจะทำให้เกิด องค์กรอิสระ (ถาวร) ในระยะต่อไปนั้น ผมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางประการครับ
ประการที่ 1 ไม่แก้พิษที่มาบตาพุด คงฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางสังคมได้ยาก

มีความโน้มเอียงที่จะมองว่าองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมคือของวิเศษสิ่งใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงแอบงอมืองอเท้ารอคอย ซึ่งผิดครับ

ถ้าไม่แก้พิษที่มาบตาพุด ต่อให้มีองค์กรอิสระที่สุดวิเศษ ก็คงฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางสังคมได้ยาก การลงทุนใหม่ ๆ ในที่อื่นจะถูกหวาดระแวงจากบาดแผลเก่าอยู่ร่ำไป

ตรงกันข้าม หากกรณีมาบตาพุดได้ทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่ของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมและธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง แม้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมก็อาจไม่จำเป็นต้องมี

สภาพเหล็กกำลังร้อน หลังการตัดสินของศาลปกครองนี่แหละครับเป็นจังหวะที่ดีที่สุด แต่น่าเสียดายที่เวลาถูกปล่อยผ่านไปแต่ละวันจนเกือบจะหมดโอกาสทองแล้ว ในภาวะเช่นนี้ความจริงใจ สำคัญกว่าตัวเงิน กล่าวคือจุดยืนและท่าทีที่ผู้รับผิดชอบทุกระดับแสดงออกมาทางภาษาพูด และภาษากายนั้นสำคัญมาก บุคลากรที่ประสานดูแลการฟื้นฟูชุมชนและสิ่งแวดล้อมต้องเลือกคนและองค์กรมืออาชีพที่มีทัศนคติเข้าใจชาวบ้านและมีหัวใจของความเป็นมนุษย์

การใช้เงินทุ่มเข้าไปไม่อาจซื้อใจชาวบ้านได้หรอกครับ การเสแสร้งหรือการทำหน้าที่แบบแกน ๆ ชาวบ้านเขาจับสังเกตได้ไม่ยากและรังแต่จะเกิดผลเสียย้อนกลับเป็นทวีคูณ
 
ตัวอย่างบทเรียนจากชายแดนใต้น่าจะสอนเราได้เป็นอย่างดี
ประการที่ 2 องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ควรมีบทบาทกำกับดูแลและส่งเสริมการมีส่วนร่วม

ใน (ร่าง) พ.ร.บ.กำหนดให้คณะกรรมการองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ ให้ความเห็นประกอบ
, ส่งเสริมการมีส่วนร่วม, ศึกษาวิจัยปัญหา และเสนอแนะต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็น 4 เรื่องหลัก ซึ่งผมคิดว่าเกือบไม่มีอะไรใหม่ในเชิงนโยบายและโครงสร้างเลย
จะออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งที่ ควรทบทวนให้ถึงโครงสร้างครับ อาทิ:
•  ควรแยกบทบาทให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดูแลนโยบาย (Policy) กระทรวงและกรมเป็น หน่วยปฏิบัติ (Implement) ส่วนองค์กรอิสระทำหน้าที่ กำกับดูแล (Regulation) ซึ่งถ่วงดุลย์กัน
•  ควรดึง กองทุนสิ่งแวดล้อม มาไว้กับองค์กรอิสระเพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ควรปรับภารกิจเพิ่มเติมให้ครอบคลุมปัญหานิเวศน์อุตสาหกรรม และเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้กองทุนให้สัมพันธ์กัน
ประการที่ 3  ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมให้ครบวงจรปัญหา
จาก (ร่าง) พ.ร.บ.ดูเหมือนว่าจะเน้นเฉพาะการมีส่วนร่วมในกระบวนการให้ความเห็นต่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นขั้นตอน ก่อนอนุมัติ/อนุญาต เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอครับ
ผมคิดว่าถ้าอยากจะเห็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชน (empowerment) ควรกำหนดให้การส่งเสริมครอบคลุมไปถึงขั้นตอน ระหว่าง และ หลังการดำเนินงาน กระทั่งกระบวนการกำหนดทิศทางนโยบายในภาพรวมด้วย
•   ส่งเสริมประชาชน ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม
•   สนับสนุนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การฟื้นฟูเยียวยา และการพัฒนาที่ประชาชนริเริ่ม/ดำเนินการ
•   ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทุกฝ่ายมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ การจัดทำผังเมืองและแผนพัฒนานิเวศน์อุตสาหกรรมในท้องถิ่น
•   สนับสนุนประชาชนมีส่วนร่วม ในการบังคับใช้กฎหมายและกติกาสังคมอย่างเข้มข้น
ประการที่ 4 การสร้างองค์กรอิสระที่มีประสิทธิภาพ
สังคมไทยมีประสบการณ์ที่น่าผิดหวังกับองค์กรอิสระมาแล้วในหลายกรณี ระบบที่เคยวาดไว้อย่างสวยงามในทางอุดมคติและทางหลักคิดทฤษฎี แต่เมื่อนำมาสู่การปฏิบัติจริงกลับบิดเบี้ยวไปเพราะมีปัจจัยด้านกลุ่มพลังอำนาจ และกลุ่มผลประโยชน์แทรกเข้ามาบ่อนเซาะ
แต่เราก็มีบทเรียนจากหลายองค์กรที่ประสบความสำเร็จและมีภูมิคุ้มกันดีกว่า ซึ่งทั้งบทเรียนที่ล้มเหลวและสำเร็จพบว่าปัจจัยด้านคุณภาพคนและการวางรากฐานวัฒนธรรมองค์กรในช่วงตั้งต้นมีความสำคัญมาก
มีสิ่งที่ผู้รับผิดชอบหรือผู้เกี่ยวข้องควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาทิ:
•  การได้มาซึ่งคณะกรรมการองค์กรอิสระ 2-3 ชุดแรก ต้องการผู้ที่มีวุฒิภาวะ มีจิตสาธารณะและมีความเสียสละทุ่มเท
•  สำนักงานคณะกรรมการองค์กรอิสระเป็นกลไกบริหารและดำเนินงาน การจัดตั้งและวางรากฐานของหน่วยงานในช่วง 2-3 ปีแรกสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ควรระวังอย่าให้วัฒนธรรมองค์กรแบบราชการเข้ามาครอบ การวางตัวผู้อำนวยการหรือเลขาธิการต้องสรรหาอย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ การคัดเลือกพนักงานต้องไม่รับโอนข้าราชการเข้ามาแบบอัตโนมัติ หรือคัดเลือกแบบมักง่าย
•  สังคมควรจับตาบทบาทการทำงานของคณะกรรมการอิสระอย่างเข้มข้น และสนับสนุนให้ทั้งคณะกรรมการและสำนักงานสามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระ  พ้นจากอิทธิพลครอบงำจากกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
27 ม.ค. 2553
 

Be the first to comment on "จากมาบตาพิษ..ถึงองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม"

Leave a comment

Your email address will not be published.