ชาวบ้านลุ่มน้ำชีบุกยุติเวทีประชุม ”โครงการพัฒนาน้ำโขงไทย-ลาว”

ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำชีบุกหยุดเวทีประชุมความร่วมมือการจัดการน้ำไทย – ลาว ของธนาคารโลก หลังชุมนุมด้วยความสงบแต่เวทียังเดินหน้า เผยในเวทีคุยทั้งโครงการผันน้ำไทย-ลาว โครงการโขง ชี มูล ชาวบ้านแจงเหตุล้มเวทีเพราะไม่โปร่งใส

วันนี้ (23 ก.พ.) เวลาประมาณ 11.00 น. ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำชี จาก จ.ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ และยโสธร ประมาณ 60 คน ได้ชุมนุมกันบริเวณหน้าโรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งภายในโรงแรมดังกล่าวทางคณะที่ปรึกษาของธนาคารโลกได้จัดการประชุมเรื่องขอบเขตทางเลือกสำหรับการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงร่วมกัน ระหว่างประเทศสปป.ลาว และประเทศไทยโดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมยุติการประชุมลงเพราะการประชุมครั้งนี้มีการหารือเรื่องการพัฒนาลุ่มน้ำโขงโดยเฉพาะโครงการผันน้ำระหว่างไทย-ลาว รวมทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ อาทิ โครงการโขง ชี มูลด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ว่าชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำชีจะทำการชุมนุมไป แต่ปรากฏว่าเวทีการประชุมดังกล่าวก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำชีตัดสินใจบุกเข้าไปในเวทีการประชุมเพื่อให้มีการยุติการประชุมหารือกัน อย่างไรก็ตามผู้ดำเนินรายการบนเวทีพยายามเกลี้ยกล่อมให้กลุ่มชาวบ้านนั่งฟังก่อน โดยแจงว่าเวทีประชุมรั้งนี้เป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็น แต่ตัวแทนชาวบ้านไม่ยอมและกล่าวว่าการรับฟังความคิดเห็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ทราบในวงกว้าง เพื่อจะได้ส่งตัวแทนชาวบ้านมาเข้าร่วม ไม่ใช่การจัดในวงแคบอย่างนี้ และได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นหลายคน พร้อมกันนี้ได้ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า

1.ยกเลิกโครงการผันน้ำระหว่างไทย ลาว

2. ยุติการดำเนินการก่อสร้างเขื่อน  คลองหรือท่อส่งน้ำ  ในโครงการโขง ชี – มูล ทั้งหมด

3. การดำเนินโครงการใด ๆ จะต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดโครงการ และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน

4. การบริหารจัดการ เขื่อน ฝาย ประตูระบายน้ำ และระบบชลประทานอื่น ๆ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

5. การดำเนินโครงการใด ๆ จะต้องรับฟังความคิดเห็นของชุมชน และเคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการบริหารจัดการทรัพยากรของชาวบ้านแบบดั้งเดิม ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ 6. รัฐควรมีการทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมา ลดการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำ  ส่งเสริมการจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ 7. ควรมีการจัดระเบียบ สร้างกฎกติกาและการบังคับใช้อย่างจริงจังในการบริหารจัดการน้ำ  โดยให้ชุมชนกำหนด 8. การสรรหาคณะกรรมการลุ่มน้ำควรให้ชุมชนเป็นผู้กำหนด  และเพิ่มสัดส่วนชาวบ้านที่ดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น  เวลาประมาณ 13.00 น. เวทีประชุมดังกล่าวได้ยุติลง และชาวบ้านทั้งหมดได้สลายการชุมนุมไปในที่สุด

สำนักข่าวประชาธรรม  23 กุมภาพันธ์ 2550

Be the first to comment on "ชาวบ้านลุ่มน้ำชีบุกยุติเวทีประชุม ”โครงการพัฒนาน้ำโขงไทย-ลาว”"

Leave a comment

Your email address will not be published.