ชีวิตชุมชน คนเมืองสาเกตนคร

หนี้สิน ยากจน ต่างคนต่างอยู่ ใช้สารเคมี ดินเสีย น้ำเสีย แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคำจำกัดความของท้องถิ่นไทยในทุกวันนี้ ดังนั้นการหันกลับมามองปัญหาดังกล่าว และสร้างแรงกระตุ้นในการพลิกฟื้นด้านเสียให้เป็นด้านดี คือ ความพยายามที่เกิดขึ้น ณ เมืองสาเกตนคร จังหวัดร้อยเอ็ด

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2548
หนี้สิน ยากจน ต่างคนต่างอยู่ ใช้สารเคมี ดินเสีย น้ำเสีย แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคำจำกัดความของท้องถิ่นไทยในทุกวันนี้ ดังนั้นการหันกลับมามองปัญหาดังกล่าว และสร้างแรงกระตุ้นในการพลิกฟื้นด้านเสียให้เป็นด้านดี คือ ความพยายามที่เกิดขึ้น ณ เมืองสาเกตนคร จังหวัดร้อยเอ็ด

สิ่งแวดล้อมดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และวิถีที่เอื้อต่อสุขภาพ คือ นิยามในการทำงานโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่นำไปสู่การกำหนดแผนงานใน 3 ด้านหลัก คือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

การสร้างสุขภาพที่ดี ไม่ได้หมายถึง ร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น หากแต่สภาวะของการอยู่อาศัยในชุมชนท้องถิ่นต้องเอื้อต่อความปลอดภัยด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นที่มาของการจัดประชาคมผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือ รถสกายแลป เพื่อจัดระเบียบสามล้อเครื่องเมืองร้อยเอ็ด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

ในด้านผู้ขับขี่ ได้รับความรู้ในเรื่องกฎระเบียบจราจร ความปลอดภัย มารยาทในการขับขี่ และการปรับปรุงสภาพรถสามล้อเครื่อง รวมถึงใบอนุญาตในการขับขี่อีกด้วย ส่วนผู้โดยสารได้ความอุ่นใจ และความมั่นใจในการใช้บริการกลับคืนมา

สุรวิทย์ สิงหาทิพย์ ประธานชมรมสามล้อเครื่องเมืองร้อยเอ็ด

“แต่ก่อนนี้สามล้อถ้ามีตังค์หน่อยก็จะซื้อเหล้ามาดื่มกัน อยู่ที่วิน มีการเล่นการพนัน หมากฮอส หรืออะไร ก็แล้วแต่ เดี๋ยวนี้เลิกหมดแล้ว ไม่มีแล้ว หลังจากผ่านการอบรม ผู้โดยสารได้รับ คือ ความสะดวกสบาย และความมั่นใจในการใช้บริการ”

พงษ์สันต์ ฮามวงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ร้อยเอ็ด

“ในเรื่องของการตอบรับของผู้ใช้บริการ บอกว่าดีขึ้น พูดจาดีขึ้น ช่วยเหลือเรายกของแบกของ เวลาผู้ใช้บริการถือมาเยอะๆ คือจะเห็นความต่างที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมๆ สามล้อเครื่องยังมีอีกเยอะที่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมตรงนี้ คิดว่าหลังจากที่มีการพัฒนาศักยภาพ การยอมรับจากผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นคนในจังหวัด ตนต่างจังหวัด คงจะให้การกล่าวขานที่ดีเกี่ยวกับผู้ขับขี่สามล้อเครื่องเมืองร้อยเอ็ด”


บรรยาย
ส่วนในเรื่องของการป้องกันอุบัติเหตุ มีความพยายามในการสร้างอำเภอต้นแบบ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนขึ้น ที่อำเภอเมยวดี โดยให้ชุมชนได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างพฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่ประมาณค่าไม่ได้

มีชัย เพชรโรจน์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ร้อยเอ็ด

“รถเยอะขึ้น คนก็เยอะขึ้น ถนนหนทางก็สะดวกขึ้น เป็นดาบสองคม เรามามองว่า ถ้าจะไปคอยกฎหมาย คอยเจ้าหน้าที่บ้านเมือง บางทีดูไม่ทั่วถึง เราต้องสร้างคนต้นแบบขึ้นมา คือต้นแบบเรื่องอุบัติเหตุ คือเมื่อใช้รถใช้ถนน เขาจะพร้อมที่จะป้องกันเรื่องอุบัติเหตุ เช่นมีหมวกกันน็อค มีสภาพรถดี ไม่เมา อยากจะสร้างตรงนั้นขึ้นมา เมื่อมีคนต้นแบบเยอะๆ ก็จะสร้างขยายเครือข่ายขึ้นมา เช่น คนต้นแบบหนึ่งคนต้องมีเพื่อน ขยายหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสาม จะให้คนดีเยอะ ให้คนที่ทำไม่ดี ละอาย เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดจิตสำนึก”

บรรยาย นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว การสร้างสุขภาวะด้านร่างกายและจิตใจ ถือเป็นสิ่งที่ยังคงต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ ดังนั้นการพลิกฟื้นภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยให้กลับคืนมา จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่ง ที่นำไปสู่การร่วมกันจัดตั้งศูนย์เรียนรู้แพทย์แผนไทยครบวงจร หรือที่เรียกว่า เมืองแสนวิชชาลัย อันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมภูมิปัญญาทางด้านสมุนไพร และตำรายารักษาโรคต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และ สืบต่อคุณค่าด้านนี้ต่อไป

พงษ์ศักดิ์ นวานุช คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ร้อยเอ็ด

“สุดยอดของภูมิปัญญาท้องถิ่น มันน่าจะถูกนำมารวบรวม ถูกยกย่องเชิดชูขึ้นมา ภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่ผมอาศัยอยู่ คิดว่าพอจะรวบรวม ค้นหาโจทย์ หาประเด็น ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับชุมชนได้เป็นโอกาสแล้ว หมอพื้นบ้าน/แพทย์แผนไทยเขาอยากให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น บรรจุลงในธรรมนูญสุขภาพ ที่น่าจะไปเชื่อมโยงกับสุขภาพชุมชน เขาก็รอคอยวันที่จะได้อะไรจากการจัดกิจกรรมอย่างนี้ หรือเขาจะต้องเสียชีวิตไปกับภูมิปัญญาที่มีอยู่ เขาไม่ได้หวงวิชาอย่างที่คนอื่นคิด ทำยังไงเรื่องของหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทยที่เรากล่าวถึงว่า มันจะทำให้สุขภาวะในเรื่องของคนที่กำลังมองเรื่องนี้ ว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีคุณค่า มันจะช่วยสังคมได้อย่างไร สิ่งที่มีคุณค่าอยู่จะถูกคนอื่นเขาขโมยไปหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่น่าจะลงมาสนับสนุน ก็ไม่มาดูแล ไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ ทั้งๆที่เป็นส่วนที่จะผ่อนคลายภาระ ของภาครัฐอยู่”

บรรยาย แม้จะมีสุขภาวะที่ดีเพียงใด แต่ถ้าสภาวะแวดล้อมเต็มด้วยปัญหา ย่อมไม่สามารถนำไปสู่ท้องถิ่นที่น่าอยู่ได้ ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองคูเมืองรอบเมืองร้อยเอ็ด เป็นกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ที่โครงการพยายามเข้ามาร่วมแก้ไข ด้วยการเข้าไปสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนรอบคลองคูเมือง ให้หันดูแลสภาพน้ำในลำคลอง ด้วยการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากน้ำซาวข้าว และกากน้ำตาล แล้วร่วมกันเทน้ำหมักชีวภาพลงในคลองคูเมืองในทุกวันศุกร์ รวมถึงการจัดการขยะในครัวเรือนของชุมชน ด้วยน้ำหมักชีวภาพเช่นเดียวกัน

พูลทรัพย์ บูรณะจิตติ ชาวบ้านชุมชนทุ่งเจริญ เมืองร้อยเอ็ด

“ส่วนผสมน้ำหมัก มีน้ำซาวข้าวผสมกับอีเอ็มจากกากน้ำตาล แล้วก็เป็นหัวเชื้อ แล้วมาผสมตรงนี้อีก ผสมกับน้ำเปล่า ทีแรกก็ไม่เชื่อ เราก็ลองทำดู แล้วมันเห็นผลดีมาก เลยทำมาตลอด แนะนำคนในชุมชนให้มาทำด้วย ถ้าไม่มีก็มาเอา ทำไม่เป็นเราจะสอนให้ เวลาฤดูแล้ง น้ำจะขึ้นเป็นแพเขียวๆ เหม็นมาก เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแล้ว น้ำจะดีมาก แต่ก่อนไม่มีโครงการนี้ น้ำจะสกปรก เดี๋ยวนี้น้ำสะอาดขึ้นเยอะ”

สมยงค์ รังเสนา คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ร้อยเอ็ด

“เริ่มแรกสภาพชุมชนเป็นอยู่ยากจน ถามว่าการที่จะทำให้เขามีเวลามาทำอย่างนี้ยากไหม ก็ยากครับ แต่ว่าเรามาทำยังไงให้ร้อยเอ็ดน่าอยู่ ผมก็เลยปรึกษากันว่า ลงกลุ่มว่า ทางไหนเขาสนใจ ทางไหนมีพี่น้อง โดยเฉพาะแกนนำที่มาประชุมปรึกษาหารือกันตลอด ใครมีใจรักบ้าง เรียกเขาเข้ามาร่วม แล้วก็เอาน้ำหมักให้เขาลองไปใช้ดู ถ้าดีวันหลังคุณก็เอามาแลก นี่คือกระบวนการของเรา กระบวนการเราเป็นกระบวนการเปิด ให้ทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วเขาจะรักคูคลองของเขาเอง ถ้าพูดถึงรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน คือ เรื่องน้ำ เรื่องบริเวณรอบคลอง ถามว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ผมก็ไม่กล้ารับว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สังเกตว่า ปลาเดี๋ยวนี้ ไม่มีปลาตายนะครับ แล้วค่าออกซิเจนที่กรมประมงมาตรวจ จะบอกว่า ดี ดีมาก พอใช้ จะมีป้ายอยู่ทุกจุด เขาจะมาตรวจทุกวันศุกร์ซึ่งจะมีการเทน้ำหมักอยู่แล้ว นี่ละครับคือรูปธรรม แค่เป็นจุดเริ่มต้น แต่สิ่งที่จะได้มา มันมากกว่าน้ำสะอาด นี่ละครับที่เราคิดร่วมกัน ”

บรรยาย นอกเหนือจากนั้น เรื่องของการจัดการขยะโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กำลังเกิดขึ้นในรูปแบบของแนวคิด ขยะเฮือนสาม หรือบ้านขยะ เพื่อให้ทุกครัวเรือนในชุมชน หันมาจัดการกับขยะในบริเวณบ้านของตนเอง เพื่อลดภาระปัญหาขยะต่อชุมชน

นงค์ แน่นอุดร คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ร้อยเอ็ด

“โบราณเขาสอนบอกว่าจะต้องให้มีเรือนสามน้ำสี่ แต่สังคมปัจจุบันไม่รู้จักเรือนสามน้ำสี่ เรือนสามคือ ที่ไว้ของสิ่งเหลือใช้ คนปัจจุบันนำของเหลือใช้ เช่น ถุงพลาสติก ทิ้งไปเป็นภาระของสังคม เพราะไม่มีที่เก็บ เพราะเขาไม่รู้จักเรือนสาม สมัยก่อนเขาใช้ใบตองเป็นที่ห่อ ไม่ใช้ถุงพลาสติก ตรงนี้เราทำจากการเอาของเศษสิ่งเหลือใช้ภายในครัวเรือน มาลงหมักตรงนี้ ให้มันเป็นปุ๋ย เมื่อมันย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย เราก็นำเอาไปใช้กับการเกษตรได้

ขยะมันเป็นอันตรายในส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือเป็นประโยชน์ ถ้าเราไม่จัดการมันจะเป็นอันตราย เป็นผลเสีย ต่อเรา แต่ถ้าเราจัดการ มันจะเป็นประโยชน์ต่อเรา เราต้องทำให้เขาเห็นก่อน เราต้องเป็นอิฐก้อนแรก ยอมเสียก่อน เพื่อจะให้พวกนั้นเขาได้เห็น ในส่วนหนึ่งคือ ยังไม่ได้ทำเรือนสามอย่างนี้ แต่ก็รู้จักเก็บขยะ ไม่ให้คนอื่นเข้าไปเก็บบ้านตัวเอง อย่างน้อยเด็กในครอบครัวก็รู้จักเก็บเอาไปขาย ขายแล้วมันได้เงินไปซื้อขนมเวลาไปโรงเรียน นี่คือสิ่งที่กระตุ้น เริ่มเปลี่ยนแล้วนะ สิ่งที่คาดหวังต่อไป คาดว่าจะได้เรือนสามเต็มหมู่บ้าน นี่คือเป้าที่ผมตั้งไว้ ต้องทำตรงนี้ให้ได้”

บรรยาย อย่างไรก็ตาม การสร้างเพียงสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นให้น่าอยู่นั้น คงจะไร้ผล หากพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของชุมชน ยังคงมุ่งไปสู่ระบบการแข่งขันแบบกำไรขาดทุน เป็นหลัก ดังนั้นการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่กำลังเกิดขึ้นกับการสร้างรงเรียนต้นแบบการศึกษาชุมชน เพื่อให้โรงเรียนเป็นแหล่งความรู้ของชุมชน และเพื่อให้ภูมิความรู้ของชุมชนกลับมามีพลังสร้างสรรค์อีกครั้ง

ดร .ยุทธสิทธิ จันทร์คูเมืองผู้อำนวยการโรงเรียนคำนาดีพิทยาคม ต .คำนาดี อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด

“เราเริ่มต้นที่หมูป่าเพื่อจะปราบหญ้าคา ต่อมาเห็นขี้หมูก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็ให้ไปปลูกผัก เอาขี้หมูไปใส่ผัก ต่อมาก็เอาผักนั้นให้หมูกิน ปุ๋ยใส่ผัก เรานำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เข้ามาต่อยอด หนึ่งสองสามไปเรื่อย จากที่เด็กเข้ามาทำ เด็กก็ได้บอกว่า อาจารย์เราทำตรงนี้ต่อไหม ผมไปดูตรงนี้แล้วน่าจะทำอันนี้เสริมอีก สอนให้เด็กเป็นคนเก่ง เป็นคนดี มีปัญญา สามตัวนี้ ทีนี้แต่ละโรงเราจะทำได้ไม่ครบ เราต้องนึกถึงชาวบ้านด้วย โดยค้นหาปราชญ์ชาวบ้านมาช่วย แต่ละหมู่บ้านก็จะมีคนเก่งๆอยู่ คือนำมาเพื่อให้เขาได้ถ่ายทอดความรู้ เพราะฉะนั้นชาวบ้านในจุดนี้ เขาพร้อมที่จะทำงานพร้อมที่จะดึงภูมิปัญญามาใช้ ถ้าโรงเรียน/องค์กร เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน เข้ามาร่วม เพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ”

บรรยาย วัฒนธรรมการออม เคยมีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นไทย แต่ทุกวันนี้กำลังเปราะบางอย่างยิ่งจากผลกระทบของวัฒนธรรมการบริโภค การหันกลับมาดูแล รักษาทุนทางสังคมของชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่ ด้วยการฟื้นวัฒนธรรมการออม ทั้งการออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์ และออมเงิน จะเป็นฐานที่นำไปสู่การสร้างชุมชนต้นแบบเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ที่แท้จริง

ปานทอง เจริญผิว เกษตรกรไร่นาสวนผสม ต.เหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

“ทำนาอย่างเดียวเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว มันมีผลได้อย่างเดียว เมื่อเวลาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็ปล่อยทุ่งนาให้มันแห้งแล้ง จึงกลับมาทำไร่นาสวนผสม ปลูกต้นไม้ ออมไม้ ออมดิน ทำบ่อ บ่อปลาบ่อนี้ถ้าทำข้าวก็ไม่ถึงสิบถัง ถ้าเราขุดเป็นบ่อขึ้นมา เอาปลามาเลี้ยง เวลาเราจับปลาขาย มันได้มากกว่าข้าว น้ำมันเป็นธนาคารน้ำ เพื่อนำไปรดต้นไม้ รดผัก รดพืช ที่เราปลูก เมื่อมีดินขึ้นมา ทำยังไงดินของเราถึงจะปลูกพืชได้ผล ต้องหาปุ๋ยคอก ใบไม้เศษไม้ เข้ามา มาลงในพื้นที่ที่เราปลูก ก็ถือว่าเป็นการออม ออมดิน ออมน้ำ ต้นไม้เราต้องรักษา เราปลูกต้นไม้ต้องมาเยี่ยมเขาบ้าง มีของ มาฝากเขา ก็คือ ปุ๋ย เขาตอบแทนเราก็ต่อเมื่อ เป็นหมากเป็นผล”

นายดาบตำรวจไพทูรย์ ทะวะลัย คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่น

น่าอยู่ จ .ร้อยเอ็ด

“เรื่องสุขภาวะเป็นภาวะของความสุข จริงๆแล้วเราพูดถึงสามตัวคือ สุขทางกาย สุขทางใจ สุขทางสังคม แล้วมันยังไม่พอ ต้องมีอีกตัวหนึ่งคือ สุขทางด้านจิตวิญญาณ เราจึงมาคิดกันว่า เราจะไปหาสุขตัวนี้จากที่ไหน เราก็มองตัวเองก่อนว่า พื้นฐานเรามีอะไรบ้าง ทุนเรามีอะไรบ้าง เลยได้ว่า เราต้องมาออมดิน ออมเรื่องน้ำ ออมเรื่องสัตว์ ออมเรื่องพืช ออมเรื่องทุนหรือเงิน เราจะคุยกันว่า ดินคุณดีไหม ถ้าดี เราต้องตอบได้ว่า พืชผลที่ออกมา ก็ต้องดี เราต้องเชื่อ เรื่องพื้นฐานตรงนี้ก่อน ต้องหวนกลับมาตรงนี้ให้ได้ เราจะถามตัวเองว่า พวกเราอยู่กับอะไร ตรงนี้ก่อน คือเราไม่จำเป็นต้องไปคิดอะไรแล้ว เพราะเรามีอยู่แล้ว”

บรรยาย หากการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดร้อยเอ็ด

ในปัญหาสามด้านหลัก ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม และ ด้านเศรษฐกิจ ได้รับการร่วมแรงร่วมใจแก้ไขแล้ว คุณภาพชีวิตของผู้คนที่ร้อยเอ็ดก็น่าจะดีขึ้น ตามเป้าหมายหลักที่วางไว้ว่า “คนร้อยเอ็ดมีสุขภาวะที่ดี ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อนำพาไปสู่ ความเป็นท้องถิ่นที่น่าอยู่”

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ
– ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

Be the first to comment on "ชีวิตชุมชน คนเมืองสาเกตนคร"

Leave a comment

Your email address will not be published.