“ชีวิตและงาน จากประสบการณ์ที่ พม.” นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่หมดภารกิจร่วมกับคณะรัฐมนตรีชุดขิงแก่ และเพื่อเป็นการร่วมกันสร้างสีสันให้กับ LDI-Website อันเป็นบ้านน้อยหลังหนึ่งของข่ายงานประชาสังคมในโลกไซเบอร์ ที่ www.ldinet.org ผมจึงมอบต้นฉบับบันทึกส่วนตัวที่เกี่ยวกับชีวิตและงานในช่วงนั้น ให้น้อง ๆ ที่ LDI ทะยอยจัดพิมพ์และลงเผยแพร่ทีละตอนเป็นรายสัปดาห์นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไป

อันที่จริงตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา วงจรชีวิตการทำงานของผมและ LDI ได้เข้าไปคลุกวงในกับรัฐบาลชุดต่าง ๆ มาโดยตลอด ในใจนั้นคือการเข้าไปขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นของสถาบันฯ โดยผ่านมาตรการเชิงนโยบายและแผนงานโครงการของฝ่ายการเมืองในลักษณะวิน-วิน เขาและเราต่างฝ่ายต่างหวังใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน และก็เป็นไปด้วยความราบรื่นตลอดมาจนกระทั่งเกิดวิฤกตการเมืองปี 2549

การเข้าไปช่วยหมอมิ้งที่กองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) ช่วยบิ๊กจิ๋วที่ศูนย์ต่อสู้เอาชนะยาเสพติด (ศตส.) และศูนย์ต่อสู้เอาชนะความยากจน (ศตจ.) และช่วยอ๋อยที่ศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศพต.) ล้วนเป็นงานที่อยู่ข้างหลังฉากเพราะระมัดระวังในเรื่องสถานภาพความเป็นนักวิชาการอิสระ พยายามมิให้มีภาพติดไปกับขั้วการเมืองใด งานที่ทำจึงไม่ผูกมัดตัวมากนัก สามารถร่อนไปร่อนมาได้ทั่ว

แต่เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมทีมรัฐมนตรี พม.กับพี่ไพบูลย์และพี่เอนกแล้ว สถานการณ์เปลี่ยนไปเลย เพราะมันหมายถึงการผูกพันเข้าไปเต็มตัว จะมัวรักษาระยะแบบแต่ก่อนไม่ได้ และต้องยอมรับสภาพตัวเองว่าเป็นข้าราชการการเมืองแล้ว
ผมรู้ตัวดีว่าเป็นคนที่ความจำไม่ดี ไม่ช่างคิดอะไรที่ปรานีตนัก ปฏิกิริยาช้า ปฏิภาณไหวพริบในเชิงเล่ห์เหลี่ยมการต่อสู้มีข้อจำกัดมาก จึงมีความกังวลว่าตัวเองจะไม่ทันเกมส์ของสื่อมวลชน นักการเมือง และข้าราชการ ยิ่งเมื่อต้องรับบทเลขานุการรัฐมนตรียิ่งต้องการความรอบจัด ไหนจะต้องช่วยดูงานให้พี่ไพบูลย์ ไหนจะต้องคิดยุทธศาสตร์ และไหนจะต้องเชื่อมกับข้าราชการ ตลอดจนสื่อมวลชน
ผมตัดสินใจใช้วิธีเขียนบันทึกประจำสัปดาห์ ด้านหลักก็เพื่อช่วยการจำและสรุปบทเรียน เชื่อมร้อยเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ฝ่าข้ามมาในแต่ละวัน และตกผลึกความคิดเป็นระยะ การทำอย่างนี้พบว่าช่วยผมได้มากที่สุด ทำให้ทุกเช้าที่ออกจากบ้าน ผมสามารถกุมประเด็นงานและสถานการณ์ของกระทรวงได้โดยส่วนใหญ่ และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาทุกรูปแบบอย่างมั่นใจ
บันทึกทั้งหมดมีประมาณ 70 ตอน รวม 8 เล่ม สมุดไดอารี่พอดีกว่าจะจบคงใช้เวลา 16 เดือนเช่นกัน
ขอเชิญติดตามได้ตามอัธยาศัย นะครับ.

 

Be the first to comment on "“ชีวิตและงาน จากประสบการณ์ที่ พม.” นพ.พลเดช ปิ่นประทีป"

Leave a comment

Your email address will not be published.