ชี้ 6 ตุลาถึงตากใบโยงใบประวัติศาสตร์ จี้รบ.อย่าใช้สื่อปลุกปั่นให้คนเกลียดกัน

นายโคทมกล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลานั้น อาจจะอยากได้อำนาจรัฐ ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะต้องการการปกครองที่มีลักษณะเป็นธรรมาภิบาลมากขึ้น แต่การต่อสู้ทางการเมืองนั้นเมื่อวิธีทางการเมืองถูกปิดกั้น กลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ…

รำลึก 6 ตุลาพิธีรำลึก 26 ปี 6 ตุลา ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีองค์กรต่างๆ เข้าร่วมงานกว่า 400 คน เพื่อรำลึกและไว้อาลัยวีรชนที่เสียชีวิตจากเหตุล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานรำลึก 29 ปี 6 ตุลา โดยช่วงเช้ามีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 30 รูป ที่บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ ในงานมีองค์กรภาคประชาชนและประชาชนมาร่วมงานกว่า 400 คน และมีบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นมีการวางพวงหรีดและจุดเทียนเพื่อไว้อาลัยให้แก่เหล่าวีรชน โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบให้ตัวแทนนำพวงหรีดมาร่วมไว้อาลัยด้วย

จากนั้นมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จาก 6 ตุลา 2519 ถึงตากใบ ประชาชนเรียนรู้อะไร” โดย นายโคทม อารียา กรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) และประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะรำลึกถึงผู้ที่จากไปเมื่อ 29 ปี เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่ผูกโยงเข้ากับเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมือง

ในปัจจุบัน จะถือโอกาสนี้เปรียบเทียบข้อเหมือนหรือข้อแตกต่างของเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ 6 ตุลากับเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการต่อสู้เพื่อหวังที่จะได้อำนาจการปกครองอำนาจทางการเมือง
นายโคทมกล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลานั้น อาจจะอยากได้อำนาจรัฐ ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะต้องการการปกครองที่มีลักษณะเป็นธรรมาภิบาลมากขึ้น แต่การต่อสู้ทางการเมืองนั้นเมื่อวิธีทางการเมืองถูกปิดกั้น กลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ เมื่อ 29 ปีก่อนเรียกว่า ป่าล้อมเมือง ต่างจากการต่อสู้ด้วยอาวุธของผู้ก่อความไม่สงบในขณะนี้ที่หันมาใช้วิธีจรยุทธ์ในเมือง ทางออกในการแก้ปัญหาภาคใต้คือสันติวิธี

เหตุการณ์ 6 ตุลา มีคนออกมาปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังขึ้นในสังคมของสถานีวิทยุทำให้เกิดความรุนแรงและหากเราทำเช่นเดียวกันกับเหตุการณ์จังหวัดชายเดนภาคใต้ บุคคลเดียวกันยังทำอยู่แม้ว่าจะผ่านมาเกือบ 30 ปี ถ้ารัฐบาลมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ขอร้องว่าอย่าให้มีการใช้สื่อมวลชนเพื่อความเกลียดชังเลย ขออย่าให้มองว่ารัฐบาลแอบสนับสนุนเป็นอันขาด” นายโคทมกล่าว

หลังจากที่ปาฐกถาจบลงเครือข่ายเดือนตุลาได้ยื่นหนังสือให้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเรียกร้องทั้งหมด 4 ข้อ 1.เรียกร้องให้มีการจัดการกับข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 2.ให้มีการจ่ายเงินชดเชยกับญาติผู้เสียชีวิต 3.รัฐต้องทำมากกว่าคำขอโทษ 4.ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นวันสำคัญของชาติ “14 ตุลา วันประชาธิปไตย” นั้น มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย ร่วมกับมูลนิธิ 14 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพไทย กำหนดจะจัดกิจกรรม “เดิน วิ่ง เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย” ขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 05.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ส่วนวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ที่อนุสรณ์สถาน สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง จะมีการจัดงานรำลึก โดยช่วงเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตร และกล่าวสดุดีโดยตัวแทนฝ่ายต่างๆ จากนั้นจะมีพิธีเปิดห้องประชุม 14 ตุลา และกล่าวปาฐกถาโดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ในหัวข้อ “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” เป็นต้น

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10072

หน้า 15

Be the first to comment on "ชี้ 6 ตุลาถึงตากใบโยงใบประวัติศาสตร์ จี้รบ.อย่าใช้สื่อปลุกปั่นให้คนเกลียดกัน"

Leave a comment

Your email address will not be published.