ชุมชนคนรักษ์คลอง ที่สมุทรปราการ

สมุทรปราการ หรือ ปากน้ำ พื้นที่บรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับท้องทะเลอ่าวไทย เมืองชายฝั่งทะเล ที่มีความสำคัญด้านแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ มาตั้งแต่อดีต…แต่วันนี้ สมุทรปราการ กำลังถูกทำร้ายด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ จนกลายเป็นเมืองแห่งมลพิษ

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2548
สมุทรปราการ หรือ ปากน้ำ พื้นที่บรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับท้องทะเลอ่าวไทย เมืองชายฝั่งทะเล ที่มีความสำคัญด้านแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ มาตั้งแต่อดีต ทั้งยังมีลำคลองหลายสาย ที่เป็นทั้งแหล่งทำมาหากิน และเส้นทางสัญจร ของคนปากน้ำ แต่วันนี้ สมุทรปราการ กำลังถูกทำร้ายด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ จนกลายเป็นเมืองแห่งมลพิษ

รศ.ร.อ.ชูวิทย์ สุจฉายา ร.น. อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นครั้งใหญ่ ก็คือช่วงปี 2503 เป็น นโยบายพัฒนาประเทศโดยความมั่นคงทางอุตสาหกรรม เป็นนโยบายของจอมพลสฤษฏ์ซึ่งใช้มาถึงปัจจุบันนี้ พอมีอุตสาหกรรมก็ต้องมีคน พอมีคน ก็นำมา ซึ่งทุกอย่างถ้าคุณจัดการไม่ดี เรากำลังกลัวว่า เมืองอุตสาหกรรมอย่างสมุทรปราการ กำลังมีปัญหาเหมือนหลายๆแห่งในต่างประเทศ เขาเรียกว่า ล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมสกปรก เมืองที่โอกาสดีกว่า คือ เมืองที่มีอุตสาหกรรมสะอาด มีนิคมเป็นเรื่องเป็นราว หรืออุตสาหกรรมที่เป็น Green Technology ถ้าคนปากน้ำที่เป็นคนดั้งเดิม ค่อนข้างน้อยเนื้อต่ำใจ พูดถึงว่า เขาอยู่มาดั้งเดิม เขาก็มีความสุขในระดับหนึ่ง แล้วก็มีคนเข้ามา เมืองนี้กลายเป็นไม่มีเจ้าของ มีความพยายามของหลายฝ่ายเหมือนกัน ปัญหามันมีอยู่ว่า เมื่อคนไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นเมืองของใครก็ไม่รู้ พอจะรณรงค์หรือว่าช่วยดันทำเรื่องอะไร มันก็ลำบากพอสมควร”

เชย กลิ่นขจร ชาวชุมชนพัฒนา 1 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

“เมื่อก่อนนี้มันใช้อาบน้ำได้ ลงคลองได้ ผักปลาหาเยอะ เมื่อก่อนนี้ เดี๋ยวนี้มีที่ไหนล่ะ ผักปลาก็ไม่มี”

ผาด ถมใหญ่ ชาวคลองมอญ ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

“ตรงนี้เขาทำโรงงาน น้ำโรงงานที่ไหนไม่รู้ ท่อมันอย่างนี้ เขาฝังไว้ แล้วน้ำมันจะมายังไง อะไรก็เข้าไปอุดรูหมด น้ำไม่ไปก็เอ่อเต็ม เหม็น ของอะไรก็ทิ้งมาในคลอง ”

สนาน ญาณวิเศษสุข ชาวบางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

“เสียดาย ตอนเราเล็กๆ น้ำสะอาดดี ไปไหนน้ำก็ใส ดื่มกินได้เลย”

บรรยาย นี่คือเสียงสะท้อนที่แสดงให้เห็นความสมบูรณ์ในอดีต กับ ความเสื่อมโทรมในปัจจุบัน ของคลองหลายสายของสมุทรปราการ ซึ่งหากคนปากน้ำปล่อยให้คลองต้องเผชิญชะตากรรมอย่างนี้ ก็คงไม่มีสายน้ำที่จะหล่อเลี้ยงชุมชนอีกต่อไป

ศรีประไพ กาญจนกันทร คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่

จ.สมุทรปราการ

“จำได้ไหมคะ ตอนนี้มีการแย่งน้ำกันใช้ที่ จังหวัดระยอง เราก็ว่า ถ้าอย่างงั้น คนเกิดเยอะขึ้นๆ ถ้าเราไม่ฟื้นฟูคลองเหล่านี้ มันต้องมาฆ่ากันเพราะน้ำ ก็ลำบาก เราก็มีแนวคิดว่า ต้องมาทำตรงนี้แหละ เพราะคลองเราเยอะ”

บรรยาย โรงงานอุตสาหกรรม เป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆของปัญหาน้ำเน่าเสีย เช่นที่คลองมอญ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เมื่อโรงงานฟอกย้อม ปล่อยน้ำเสียจากโรงงานสู่ลำคลอง โดยไม่มีการบำบัด ทำให้คุณภาพน้ำในคลองเน่าเสียอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีการสร้างกำแพงกั้นคลอง ทำให้เส้นทางน้ำถูกปิดกั้น คลองมอญที่เคยใสสะอาด จึงกลายเป็นเพียงความทรงจำในอดีต เท่านั้น

ผาด ถมใหญ่ ชาวคลองมอญ ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

“โอยน้ำใส อาบเอิบได้ ใช้ได้ เรือพายได้ ฉันทำสวนอ้อย สวนมัน ฉันไปขาย ออกทางป้อมได้ ทางนี้ก็ออกทางคลองมอญ แม่ค้าก็มาขายของ เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย น้ำดำน้ำเสีย เหม็นเน่าแล้วก็ขัง เวลาไม่สบาย อยู่ได้ยังไง ยุงก็ชุม”

จำลอง ภาคน้อย คณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.สมุทรปราการ

“ทีแรกตรงนี้ไม่เท่าไร เขม่า ควันพิษ ลงหลังคาบ้าน ตากเสื้อตากผ้าไว้ หมดเลย ไปๆมาๆทั้งเขม่า ควันพิษ กลิ่นจากควัน ไอน้ำ กลิ่นฉุนจากน้ำ ถ้าเราอยู่เฉยๆ ต่างคนต่างเห็นแก่ตัวกัน ไม่ร่วมมือกันทำ มันไปไม่ได้แล้วนะ ชุมชนเรา ผมก็เลยมาคิดหาวิธีการ”

บรรยาย กิจกรรมการเก็บขยะในลำคลอง และการเฝ้าระวังการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ที่กระตุ้นให้คนในชุมชนมาร่วมมือกันสร้างสุขภาวะในชุมชนของตนเอง ด้วยการคืนชีวิตให้คลองมอญ เช่นเดียวกับที่คลองหัวลำภูลายที่กำลังใช้กิจกรรมการลอกคลอง กระตุ้นให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของคลอง เนื่องจากขณะนี้ มีการสร้างบ้านคร่อมคลอง ซึ่งเป็นการปิดกั้นเส้นทางน้ำ แล้ว ชุมชนคนคร่อมคลอง ยังทิ้งสิ่งปฏิกูลลงสู่ลำคลอง ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างชุมชนคนคร่อมคลองกับหมู่บ้านใกล้เคียง รวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ซึ่งต้องอาศัยน้ำจากคลองหัวลำภูลายแห่งนี้

สุจริต บุญรอด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

“ผมเป็นคนที่นี่ เกิดที่นี่ เมื่อก่อนจะใช้เรือหาง เรือพาย สัญจรไปมา เรียกว่าขนถ่ายตลอด เรื่องรถจะไม่ค่อยมี ระยะหลังการขุดลอกคูคลองไม่เกิดขึ้น ก็ตื้นเขิน พอชาวบ้านรู้ว่าไม่มีการขุดลอกคูคลอง ชาวบ้านก็ค่อยๆลุกล้ำไปเรื่อย ทีละหลัง 2 หลัง ตอนแรกก็ใช้ไม้ผุพัง ตอนหลังมาก็หาไม้เดิมมาต่อเติมให้ดีขึ้นไปเรื่อย มองเป็นธุรกิจไปเลย อาจจะปลูกแล้วให้เขาเช่าไม่ได้อยู่เองบ้างก็มี”

ชิด อาศัยนา ผู้อาศัยในชุมชนคนคร่อมคลองหัวลำภูลาย

“ถ้ามีที่รองรับ เราก็คงไม่อยากรุกครับ เราก็รู้ว่าเป็นของหลวง ก็ไม่ดี ถ้ามีทางออกที่ดี เราก็คงไม่อยากอยู่อย่างนี้ พูดถึงมันก็แออัดนะอยู่แบบนี้ ถ้ามีที่ดีๆกว่า เราก็คงไป”

บรรยาย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาของทั้งคนและคลอง ชุมชนจึงหาทางออกร่วมกัน ด้วยการเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง ที่จะมีการจัดระเบียบชุมชน เปิดทางให้(กับ)ลำคลองได้ไหลเวียนตามธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูสภาพน้ำให้กลับมาใสสะอาดอีกครั้ง ที่คลองบางฝ้าย อ.พระประแดง เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการฟื้นฟูคลอง ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน ด้วยการปลูกจิตสำนึกสมาชิกชุมชน ให้ตระหนักถึงการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ในสภาพที่ดีและยั่งยืน

ประเสริฐ อินทรปัญญา ชาวสวน บ้านบางฝ้าย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

“โรงงานมาสร้าง มันก็เกิดน้ำเสียขึ้น ผลไม้ที่ปลูกในสวนก็ตายหมด เพราะมีสารเคมี รากต้นไม้มันดูดขึ้นลำต้น น้ำเสียนี่ ต้นก็ต้องตายเป็นธรรมดาอยู่แล้ว อันนั้นมันก็มองเห็นชัดๆอยู่แล้ว”

พงษ์ศักดิ์ ธีระวรรณสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางฝ้าย

“พอมีการปล่อยน้ำเสียออกมา เราก็พาชาวบ้านไปประท้วงกับผู้ว่าฯ พอไปประท้วงเสร็จเรียบร้อย ก็เป็นที่โชคดีนะผู้ว่าก็สั่งให้โรงงานนี้หยุด แต่พอหยุดได้สักระยะ โรงงานนี้ก็เปิดขึ้นมาอีก เปิดก็ประท้วงกันอีก ผมก็มองว่าวัฎจักรนี้มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ก็เลยเกิดว่าเราต้องระดมความคิดกันนะว่า การแก้ไขปัญหาน้ำจริงๆแล้วจะเป็นยังไงบ้าง ก็เลยเกิดที่มาว่า มารวมกลุ่มกัน เป็นการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เป็นชุมชนรักคลองบางฝ้าย จะให้โรงงานมาปล่อยน้ำเสียไม่ได้แล้วนะ”

บรรยาย ขณะนี้คนในชุมชนคลองบางฝ้าย อ.พระปะแดง ต่างให้ความสำคัญในการร่วมรักษาคลอง ด้วยการใช้ถังดักไขมัน ก่อนที่จะทิ้งน้ำเสีย นอกจากนั้น ยังร่วมกันเทน้ำชีวภาพเพื่อบำบัดสภาพน้ำให้ดีขึ้นด้วย ที่กิ่งอำเภอบางเสาธง มีคลองจระเข้น้อยที่ยังคงมีน้ำใสสะอาด เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชุมชน ที่ยังผูกพันกับคลอง ดังนั้นแม้จะได้รับผลกระทบจากคลองประเวศบุรีรมย์ จากเขตลาดกระบัง ที่ไม่เพียงไหลมาบรรจบ แต่ยังนำพาน้ำเสียและขยะมาด้วย แต่ผู้คนที่อยู่กับคลองยังคงร่วมกันดูแลรักษาคลองของพวกเขา

ศิริ วงษ์เปรม คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ กิ่ง อ.บางเสาธง

จ.สมุทรปราการ

“เพราะว่า คลองจระเข้น้อยทางทิศเหนือ มันติดกับคลองประเวศบุรีรมย์ ติดกับแหล่งชุมชนซึ่งเป็นตลาดสด ก็มีการปล่อยน้ำเน่าน้ำเสีย และขยะ ลอยมาตามคลองมากมาย ทีนี้ชาวบ้านที่อยู่ตำบลศีรษะจระเข้น้อย ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบอาชีพด้านการเกษตร คือทำบ่อปลา ปลูกผักกระเฉด ผักบุ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ลงมาทำงานนี้ ไม่ช่วยมาปลุกจิตสำนึกชาวบ้านให้ช่วยกันดูแลแม่น้ำลำคลอง อนาคตต่อไปก็คือ เราจะทำการเกษตรไม่ได้”

บรรยาย อาชีพทางการเกษตร เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มมลพิษสู่ลำคลอง โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดสมุทรปราการ จึงได้ให้ความรู้เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมรักษาคลอง อันเป็นสายเลือดสำคัญ ของชาวคลองจระเข้น้อย

สายบัว กันภัย เกษตรกร บ้านปากคลองมอญ กิ่ง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

“ส่วนหนึ่งคือชาวบ้านยังไม่รู้จักการรักษาดูแลคูคลองเท่าที่ควร พอเขาทำเสร็จ เขาก็จะรื้ออย่างนี้ แล้วเขาก็จะดูดลงคลอง ซึ่งมันไม่ได้ประโยชน์ และทำให้น้ำเน่าเสียด้วย ต่อไปประโยชน์มันจะตกที่ลูกหลานเรา เราก็อายุมากแล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาคูคลอง ต่อไปจะทำการเกษตรไม่ได้ เพราะอาชีพของเราดั้งเดิมเป็นการเกษตรโดยตรง มีผลกระทบมาก เลี้ยงปลา ทำผัก ถ้าน้ำในลำคลองเน่าเสีย เราก็จะไม่ได้ตรงนั้น”

บรรยาย คลองกันยา อำเภอบางบ่อ เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการทำบ่อปลา บ่อกุ้งจำนวนมาก เมื่อมีการปล่อยน้ำจากบ่อ จึงมีการหมักหมมของทั้งอาหารและสารเคมีสู่ลำคลอง ผนวกกับผักตบชวาหนาแน่นที่สกัดการไหลของน้ำ ทำให้มีน้ำเสียเป็นช่วงๆ ชาวคลองกันยาจึงร่วมกันฟื้นฟูคลองด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยร่วมกันใช้น้ำชีวภาพที่ผลิตเอง เทเพื่อบำบัดลำคลอง

วัชระ เกาไศยนันท์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่

จ.สมุทรปราการ

“ทีนี้มันจะมีอยู่ฤดูหนึ่ง ฤดูแล้ง คือมิถุนา-กันยา คลองกันยา ช่วงนี้น้ำในคลองมันจะแห้ง พอน้ำในคลองแห้ง น้ำที่ลงมาจากสนามกอล์ฟก็ดี จากหมู่บ้านก็ดี จากบริษัทก็ดี มันก็จะไหลลงในลำคลอง น้ำในคลองก็จะเริ่มใช้ไม่ได้ มันจะเน่าเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบ่อกุ้ง เวลาเขาตากบ่อ เขาก็เอาน้ำก้นบ่อลงมา น้ำในคลองนี่จะข้น มันจะเป็นสีแบบชา กระทบผิวเราจะคันไปหมด”

สุรีย์ บุญมาเลิศ ชาวชุมชน บ้านคลองกันยา ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

“ใช้วัสดุที่ว่า เศษผักมาหมักกัน โดยใช้กากน้ำตาล และใช้น้ำ 10 ลิตร แล้วก็มาลองทำกันดู แล้วเอามาเทใช้ในนี้ ต่อมาคนมาเห็นเราทำได้ผล เทแล้วใช้ได้จริง โดยการที่เราลงเรือใส่กันก่อน แล้วดูว่าน้ำมีการเปลี่ยนแปลงยังไง ก็เห็นว่ามันดีขึ้นกว่าเดิม ช่วงนั้นที่เราทำคือเดือนเมษาปีที่แล้ว น้ำแห้งพอดี น้ำเขาปล่อยจากหมู่บ้าน มันเน่า มันดำ แล้วพอมาใส่ก็ดีขึ้น ใสขึ้น”

บรรยาย ในส่วนของคลองสำโรง คลองสำคัญของทั้งคนบางพลีและคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ก็เริ่มมีการตื่นตัวในการร่วมรักษาคลอง เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมา คลองสำโรงเกิดการเน่าเสียอย่างมาก ในช่วงอำเภอบางพลี น้ำในคลองสำโรง ยังมีสภาพที่พอใช้ได้ ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรตลอดลำน้ำ แต่ขณะนี้การขยายตัวของเมือง และการทิ้งสิ่งสกปรกลงลำคลอง ทำให้สภาพคลองสำโรงเริ่มเสื่อมโทรม

พัฒนพงศ์ จงรักดี นายกเทศมนตรีตำบลบางพลี

“ในปัจจุบันสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไป ความเจริญเข้ามา มีโรงงานอุตสาหกรรม มีบ้านจัดสรร เพราฉะนั้นความเจริญเข้ามา มันก็เข้ามาพร้อมกับความเสื่อม เพราะฉะนั้นสภาพคลองสำโรงในปัจจุบัน จึงประสบกับลำน้ำที่เริ่มจะเน่าเสีย เราจึงเห็นความสำคัญร่วมกันกับพี่น้องประชาชน เรามาทำประชาคมร่วมกันว่า เราคิดจะฟื้นฟูคลองสำโรงร่วมกัน จึงมีโครงการคืนน้ำใสให้คลองสำโรง”

ลั่นทม เส็งเจริญ ชาวชุมชนบางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

“ประธานบอกว่าจะหมักปุ๋ยเอง แล้วก็จะช่วยกันปรับให้น้ำ มันดีขึ้น เทศบาลก็มาบ่อยแล้ว แต่เราก็ช่วยด้วย ก็ของพวกเราเอง น้ำดี เราก็ดีด้วยนะ ผักหญ้าเราก็ไม่เสีย เราก็ขายได้บ่อยๆ”

บรรยาย ที่คลองสำโรง ในช่วง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น และมีโรงงานตั้งอยู่ใกล้คลอง ทำให้มีปริมาณน้ำเสียไหลลงสู่คลองจำนวนมาก มีผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ที่ต้องเปลี่ยนไป

สมศักดิ์ กลิ่นขจร ชาวชุมชนพัฒนา 1 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

“นึกถึงสภาพสัก 30-40 ปี เช้า(เนี่ย)จะมีพระ บิณฑบาตในคลองเต็มไปหมด การสัญจรคือทางเรือ ทางบกไม่มี เป็นแต่ทุ่งนา พอออกหน้าบ้านผม มีทุ่งนาเต็มไปหมด ทำมาหากินเรื่องผักปลา หาอะไรก็สะดวกสบาย มันได้ประโยชน์สิ่งทุกอย่าง??? แต่มาสมัยนี้แล้ว มันผิดไปหน้ามือเป็นหลังมือ ธรรมชาติเปลี่ยนไปมากเลยครับ”

บรรยาย ด้วยเหตุที่ชุมชนยังคงเห็นคุณค่าและความสำคัญของคลอง จึงเกิดการรวมตัวกัน เพื่อใช้พลังชุมชนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พยายามฟื้นฟูคลองสำโรง

คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

“ตอนนี้เราเริ่มจากคนก่อน ในบ้านเรือนเราว่า กำจัดน้ำเสียออกมาจากบ้าน ส่วนเงินก็คุยกับเทศบาลว่า ทำยังไงเราจะปรับภูมิทัศน์ให้มันดี ก็จะทำ 2 ส่วน คือทำให้คลองสะอาด และให้ชาวบ้านช่วยกันกำจัดน้ำเสีย ก่อนออกจากบ้าน ตอนนี้ที่เราทำอยู่”

กิตติ ยงค์สงวนชัย ประธานโครงการส่งเสริมสังคมคุณภาพ จ.สมุทรปราการ

“สิ่งดี สิ่งไม่ดี สิ่งถูก สิ่งผิด ขึ้นกับตัวคนทั้งนั้น ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม คือ ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ต้องแก้กันที่ตัวตนของบุคคล ให้มีจิตร่วมกัน มีความเข้าใจตรงกัน ปัญหาต่างๆก็จะไม่เกิด”

ด้วยความตระหนักในคุณค่าของคลองต่อชีวิต ผนวกกับการเห็นความสำคัญของการร่วมแรงร่วมใจของชุมชน ทำให้คนสมุทรปราการ รวมพลังเพื่อฟื้นฟูสายน้ำลำคลอง เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ดีงามแห่งวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณี เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อสุขภาวะทั้งกายและใจ ที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตอย่างพึ่งพาตนเองได้ ทั้งยังสามารถรักษาสภาวะแวดล้อม ให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน เพื่อชาวสมุทรปราการทั้งในวันนี้และตลอดไป

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ
– ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

Be the first to comment on "ชุมชนคนรักษ์คลอง ที่สมุทรปราการ"

Leave a comment

Your email address will not be published.