ซำผักหนาม “เราต้องการให้ป่าคงอยู่ถึงลูกหลาน”

ซำผักหนาม “เราต้องการให้ป่าคงอยู่ถึงลูกหลาน”

“ถ้าทำวนเกษตรคืออยู่ได้ แม้ที่ดินไม่เพิ่ม แต่ประชากรเพิ่ม ก็สามารถทำกินที่เดิมได้ เพราะ 1 ไร่ เราสามารถทำเป็น 10 ไร่ได้” เสียงที่เอ่ยประโยคเบื้องต้นมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม ผู้พูดเป็นชายกลางคนวัยไม่เกิน 45 ปี

เขาเป็นชาวบ้านคนหนึ่งของหมู่บ้านซำผักหนาม ซึ่งอยู่บนอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น “ซำผักหนาม” ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านและชุมชนที่เข้มแข็งอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติขององค์กรชุมชน
สองข้างทางของหมู่บ้านที่ต้องผ่านทางเข้าอุทยานฯนั้น ต้นไม้ดูรกครึ้ม เขียวชอุ่มตลอดเส้นทางที่ผ่าน ภาพลักษณ์เก่าๆ ที่ติดว่า มาภาคอีสานต้องเจอสภาพแห้งแล้ง ใช้ไม่ได้เลยกับภูมิทัศน์ของหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่ใช่เพราะหมู่บ้านอยู่ในอุทยานแห่งชาติ จึงดูสมบูรณ์ แต่เป็นเพราะชาวบ้านมีจิตสำนึกในการให้ความสำคัญว่า “คนกับป่าต้องอยู่ด้วยกัน” มากกว่า
ที่นี่มีเขตป่าแบ่งออกเป็น 5 ประเภทด้วยกันคือ

(1) ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ 8 ซำ สำหรับเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำโดยเฉพาะ มีกฎว่า ห้ามบุกรุกเป็นที่ทำกิน ห้ามตัดไม้ทุกชนิด และดำเนินการปลูกป่าเสริมทุกปี

(2) ป่าชุมชนถาวรเพื่อการอนุรักษ์ 1,500 ไร่ ดูแลโดยคณะกรรมการของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ดูแลพื้นที่ต้นน้ำด้วย จะมีแผนงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ดำเนินการกับพื้นที่ป้องกันไฟป่า เพื่อให้ป่าฟื้นสภาพ

(3) ป่าชุมชนเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วม จำนวน 150 ไร่ ชุมชนได้มีการตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดูแล รักษา และประเมินผลการฟื้นฟูป่าทุกปี

(4) พื้นที่ป่ากันชนระหว่างที่ดินทำกินและป่าอนุรักษ์ของอุทยาน ประมาณ 80 ไร่ ชาวบ้านมีการตั้งกฎระเบียบในการดูแลรักษาป่าแห่งนี้เช่นเดียวกับป่าชุมชนเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วม

(5) ป่าที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ จำนวน 300 ไร่
“ตอนเราอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ เราถูกป่าไม้สบประมาทว่า ถ้าชาวบ้านเข้ามา ต้องโลภ อยากได้ที่ดินมากๆ และต้องบุกรุกป่าแน่ๆ เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรท้องถิ่นได้เอง และยังมีการฟื้นฟูระบบนิเวศชุมชนให้มีความยั่งยืนได้”
จากปี 2536 ถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 7 ปี ชาวบ้านได้พิสูจน์คำพูดของพวกเขาอย่างชัดเจน

กฎระเบียบที่สลักอยู่บนป้ายไม้ในหมู่บ้านตรงทางเข้าป่าชุมชน และความเขียวสดชื่นของป่ารอบๆหมู่บ้าน เป็นบทพิสูจน์ที่ดี
ปัจจุบันชาวบ้านร้อยละ 60 ของครอบครัวทั้งหมดที่มีอยู่ ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำไร่มาเป็นการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อตอบรับแนวคิดการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เสียงชายวัยกลางคนที่บอกกับเราเมื่อตอนเดินดูพื้นที่ ยังคงประทับใจในความรู้สึก โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “ถ้าเราทำวนเกษตร เราอยู่ได้ เพราะ 1 ไร่สามารถทำเป็น 10 ไร่ได้” แปลงต้นฝรั่ง บ่อเลี้ยงปลา ต้นมะม่วง มะขาม ในแปลงเกษตรช่วยให้ภาพประกอบของคำพูดชัดเจนขึ้น

“เมื่อก่อนพี่น้องจะยึดอาชีพพืชล้มลุก ปลูกข้าวโพด เราเจอระบบตลาดคุมหมด พ่ออุทิศเคยมีที่ดินถึง 80 ไร่ ทำไร่ข้าวโพด แกบอกว่าแกจนเป็นหนี้เยอะเลย เราเลยมานั่งคุยกัน จนชาวบ้านมีมติที่ชัดเจนออกมาว่า ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการผลิต เดี๋ยวนี้เราเลยหันมาใช้ระบบเกษตรผสมผสาน เพื่อพืชตรงนั้นจะทำให้ลูกหลานมีกินมีใช้ต่อไปได้”

ชาวบ้านช่วยกันเล่าให้เราฟังต่อไปว่า ในทัศนะของพวกเขา การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน หมายถึง การที่ครอบครัวมีข้าวพอกินตลอดปี มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหาร ครอบครัวสามารถสร้างอาหารได้เอง มีเงินออมในครอบครัว โดยองค์ประกอบการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน จะต้องมีการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น สมุนไพร ไม้ล้มลุก รวมพืชอาหารหลากหลายชนิด มีบ่อน้ำสำหรับเลี้ยงปลาไว้เป็นอาหาร มีแปลงข้าวเถียงนาสำหรับเลี้ยงเป็ด ไก่ ใต้ถุน

“เราอยากมีอาหารพอกิน เพียงพอ เหลือกินก็ขายได้ มีพืชในแปลงเกษตรหลากหลายชนิด มีอาหารกินที่ปลอดสารพิษ ครอบครัวมีความสุข ไม่ต้องอพยพแรงงาน มีผลผลิตจากแปลงเกษตรไว้ขายตลอดปี มีรายได้เหลือเก็บออม เพื่อส่งลูกเรียนสูงๆ”

แต่การที่จะทำการเกษตรให้ได้ผลสำเร็จนั้น ต้องอาศัยทั้งความอดทนส่วนตัวของเกษตรกร การตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว ประสบการณ์บ้านซำผักหนามได้พยายามให้ความรู้เรื่องเกษตรผ่านทั้งสามี และภรรยา ด้วยการพาไปดูงาน ไปดูพื้นที่เรื่องการจัดการที่ดินในที่อื่นๆ หลายแห่ง เพื่อให้การรับรู้ข้อมูลที่เท่ากัน และสามารถนำไปสู่การตัดสินใจในการวางแผนการผลิตในแปลงเกษตรได้

เมื่อครอบครัวมีการตัดสินใจในการทำเกษตรทางเลือกแล้ว สิ่งที่สำคัญตามมาคือ การวางแผนการผลิต และการดูแลเอาใจใส่แปลงเกษตร เกษตรกรที่ทำเกษตรแล้วไม่ประสบผลสำเร็จหลายๆ คน เพราะเกิดการเปรียบเทียบการผลิตแบบผสมผสานกับการผลิตเชิงเดี่ยว ดูเหมือนว่าเมื่อเปรียบเทียบทั้งเวลา การดูแลรักษา และทุนเบื้องต้น การทำเกษตรเชิงเดี่ยวจะลงทุนลงแรงน้อยกว่า แต่ถ้าเกษตรกรได้เล็งเห็นความยั่งยืนในอนาคต ข้อเปรียบเทียบที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อไป และก็ไม่แน่ว่าข้อเปรียบเทียบนั้นจะเป็นจริงเสมอไปด้วย

หลักใหญ่ใจความในการอยู่รวมกันของชุมชนที่นี่คือ อาศัยพื้นฐานความสามัคคีของคนในชุมชน การทำความเข้าใจระหว่างผู้นำกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดการผลักดันการพัฒนาชุมชนร่วมกัน การจัดตั้งองค์กรชุมชนในการรักษาป่า มีคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งแบ่งบทบาท มีหน้าที่รับผิดชอบ ตั้งกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นหลัก ชาวบ้านพูดออกมาเองว่า ผู้นำจะต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม รู้ผิดรู้ถูก ถ้าไม่ตั้งอยู่ในหลักการนี้ เรามีสิทธิจะถอดถอนได้ตลอดเวลา และสิ่งสำคัญที่ชาวบ้านชี้ชัดคือ

“ที่นี่ไม่เอาระบบนายทุน” ชาวบ้านพูดย้ำเสมอว่า
“กินอยู่แบบพอเพียง หากเหลือค่อยขาย”

“เราต้องการให้ป่าคงอยู่ถึงลูกหลาน คนต้องอาศัยอยู่กับป่า ปลูกป่าฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อความเป็นอยู่ที่มีความสุข”

Be the first to comment on "ซำผักหนาม “เราต้องการให้ป่าคงอยู่ถึงลูกหลาน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.