ตรวจสอบ กสทช.
โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
ประจำวันพุธที่ 5 กันยายน 2555
คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล จึงเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ภาคธุรกิจจะเข้ามาแสวงรายได้และผลกำไร ขณะเดียวกันก็เป็นที่หมายปองของนักการเมืองและข้าราชการที่จะเข้ามาทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นการดำเนินการของกสทช.ทั้งโดยตัวบุคคลและกลไกที่เกี่ยวข้อง จึงอยู่ในจุดที่ล่อแหลมและเป็นที่สนใจของสังคมว่าจะสามารถดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติได้แค่ไหน การกระทำหรือการละเว้นการกระทำบางอย่างอาจถูกตั้งคำถามได้ตลอดเวลาว่ามีเจตนาหรือไม่ที่จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบหรือเกิดการสูญเสียโอกาสหรือผลประโยชน์ของสาธารณะ
หลักการในการตรวจสอบ
กลไกติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกสทช. โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายและของรัฐธรรมนูญนั้น ต้องการให้เป็นกลไกถาวรที่ทำหน้าที่คอยถ่วงดุลย์และตรวจสอบ กสทช.ที่มีอำนาจสูงและมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์จำนวนมหาศาลของประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทรัพยากรสื่อสารของชาติจะถูกบริหารจัดการด้วยความเป็นธรรม กระจายอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ ซื่อตรงโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ
เพื่อให้บรรลุผลสมตามเจตนารมณ์ดังกล่าว คณะกรรมการติดตามตรวจสอบชุดแรกที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นตามกฏหมายและถือเป็นชุดบุกเบิกที่ต้องทำหน้าที่วางรากฐานและสร้างวัฒนธรรมองค์กรตรวจสอบตั้งแต่ต้น จึงควรมีหลักการสำคัญสำหรับกำหนดทิศทางนโยบายและเป็นกรอบแนวคิดการดำเนินงาน ดังนี้ :
(1) หลักการความเป็นอิสระและยึดประโยชน์สาธารณะ กลไกติดตามฯ ต้องเป็นอิสระจากกสทช.และรักษาระยะห่าง-ระยะเคียงที่เหมาะสม มุ่งปกป้องผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าการปกป้ององค์กรกสทช.อย่างไร้หลักการ รวมทั้งต้องรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างซื่อตรง โดยแสดงผ่านกลไกรัฐสภาที่ประชาชนเลือกตั้งมาและการสื่อสารทางตรงกับสังคม
(2) หลักการการติดตามตรวจสอบในมิติที่กว้าง การติดตามตรวจสอบในมิติแคบ คือการทำงานติดตามประเมินผลแบบเป็นงานประจำเพียงเพื่อให้เห็นว่ามีรูปแบบการดำเนินงานติดตาม ตรวจสอบและจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินประจำปี มีการสะท้อนข้อมูลให้กสทช.หรือรัฐสภา ตลอดจนสังคมให้ทราบพอเป็นพิธีเท่านั้น การติดตามตรวจสอบในมิติกว้าง หมายถึงการทำงานเชิงรุกทั้งในด้านการติดตามเฝ้าระวังปัญหาและสะท้อนหรือส่งสัญญาณอย่างทันท่วงที การตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งการทำหน้าที่รายงานผลการประเมินต่อหน่วยงานที่กำหนดและต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ กลไกติดตามฯ ควรต้องยึดหลักการติดตามตรวจสอบในมิติกว้าง ไม่ใช่มิติแคบ
(3) หลักการการใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและองค์ความรู้ กลไกติดตามฯ ต้องออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่จำเป็น มีการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ การเชื่อมโยงกับแหล่งข่าว สื่อมวลชนและผู้มีส่วนได้เสีย ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ข้อเท็จจริงและองค์ความรู้ที่จะใช้ในการพิจารณาประกอบการวิเคราะห์ ลงความเห็นและตัดสินใจดำเนินงาน ในทุกกิจกรรมของการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล
(4) หลักการการสื่อสารเพื่อการศึกษาสาธารณะ กลไกติดตามฯ ควรมีช่องทางและเวทีการสื่อสารกับสาธารณะอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารและให้การเรียนรู้แก่สังคมให้รู้เท่าทัน ตื่นตัว หวงแหนห่วงใยทรัพย์สมบัติส่วนรวม ให้เป็นสังคมที่มีพลังความรู้ พลังปัญญาและสามารถจัดการตนเองได้ในทุกด้านในระยะยาว รวมทั้งการจัดการทรัพยากรสื่อสารนี้ด้วย
ติดตามตรวจสอบ อะไรและอย่างไร
เพื่อเป็นตุ๊กตาสำหรับผู้สนใจได้ถกเถียงกัน ในที่นี้ผมขอเสนอลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับกลไกติดตามตรวจสอบกสทช.ว่าควรเป็น“กลไกที่มีความเป็นอิสระเข้มแข็ง ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของกสทช. ด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เพื่อให้ กสทช.สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยความมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ซื่อตรงโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในทุกด้าน โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง”
มีประเด็นในการติดตามตรวจสอบภารกิจและอำนาจหน้าที่ของกสทช.ตามมาตรา 27 ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
(1) ด้านการออกนโยบาย หมายถึง การกำหนกติกา แผนงานและหลักเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการวินิจฉัยปัญหา ตามมาตรา 27(1),(2),(3),(5),(8),(9),(10),(11),(12),(15),(17),(21)
(2) ด้านการให้ใบอนุญาต หมายถึง การพิจาณาให้หรือไม่ให้ใบอนุญาตและการกำกับควบคุมดูแลต่างๆ ตามมาตรา 27(4),(6),(7)
(3) ด้านการให้บริการภายนอก หมายถึง การบริการให้คำปรึกษาทางวิชาการ การคุ้มครองสิทธิ์ ตามมาตรา 27(13),(14),(16),(18),(22),(23)
(4) ด้านการใชอำนาจภายใน หมายถึง การอนุมัติงบประมาณ การพิจารณาจัดสรรเงินกองทุน การออกระเบียบ การใช้อำนาจบริหารภายใน ตามมาตรา 27(19,)(20),(21),(24),(25)
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องใช้ข้อมูลข่าวสารมาจากแหล่งที่หลากหลาย ทั้งภายในและภายนอก อาทิ:
– วาระการประชุม มติและบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ
– องค์กรและหน่วยงานที่ขอใบอนุญาต
– ประชาชน เครือข่ายผู้บริโภค หน่วยงานที่ใช้บริการและผู้มีส่วนได้เสีย
– เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและมีการร้องทุกข์-ร้องเรียน หรืออุทธรณ์ในเรื่องต่างๆ
สำหรับกระบวนการรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลควรประกอบด้วยงานจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูล การวิจัย วิเคราะห์สังเคราะห์ เวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ กระบวนการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เจาะลึก การออกแบบสำรวจความคิดเห็น ฯลฯ
ติดตามตรวจสอบ ใครและอย่างไร
ในโครงสร้างการแบ่งส่วนงานภายในสำนักงานกสทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการของกสทช.และกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามพรบ.ฉบับนี้ ประกอบไปด้วย
-6 คณะกรรมการ คือ กสทช. กสท. กทค. คณะกรรมการตรวจสอบภายใน
คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ และคณะกรรมการติดตามฯ
-1 เลขาธิการ และ 4 รองเลขาธิการ
-44 กลุ่มงาน และ 14 สำนักงานเขต
เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว กลุ่มเป้าหมายที่ควรติดตามตรวจสอบและประเมินผลอย่างเข้มข้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 70 และ 72 น่าจะอยู่ที่คณะกรรมการทั้ง 6 คณะซึ่งประกอบด้วยบุคคลประมาณ 25 คนกับผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการและรองเลขาธิการอีก 5 คนเป็นสำคัญ
สำหรับมิติในการติดตามตรวจสอบและประเมินผลได้แก่ มิติในด้านธรรมาภิบาล ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มิติในด้านคุณธรรมจริยธรรมและความซื่อตรงโปร่งใส ส่วนมาตรการดำเนินการนั้น ควรใช้วิธีการที่หลากหลาย อาทิ
ในด้านการติดตาม โดยเปิดเวทีสาธารณะ พัฒนาหน่วยเฝ้าระวังภาคพลเมือง การป้องปราม การสื่อสารสาธารณะและการใช้สื่อสังคมออนไลน์
ในด้านการตรวจสอบ ใช้การแจ้งเตือน การประสานกับองค์กรอิสระเช่นสตง.และปปช. การประสานอัยการ การฟ้องศาลและการยื่นถอดถอนต่อวุฒิสภาในกรณีที่มีความจำเป็น
ในด้านการประเมินผล ควรมีทั้งการจัดทำรายงานผลการประเมินประจำปีและการจัดทำรายงานเฉพาะกิจตามสถานการณ์ประกอบกัน
Be the first to comment on "ตรวจสอบ กสทช."