MENU

ตลาดหุ้นในโลกทุนนิยม แกรมมี่จะฮุบมติชน

โครงสร้างการกำกับดูแล(Governance Structure) ที่ควรจะเป็น จะต้องสะท้อนบทบาทผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดข้างต้น การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์จะมีประสิทธิผลมากขึ้น..

ตลาดหุ้นในโลกทุนนิยม แกรมมี่จะฮุบมติชน

โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เศรษฐกิจทุนนิยมในโลกให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกและวิสาหกิจ โดยมีกลไกตลาดเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญก็จริงอยู่ แต่ตลาดไม่ได้ทำงานในสุญญากาศ ตลาดทำงานในบริบทของคุณภาพของสถาบันของสังคมนั้นๆ ซึ่งหมายถึงลักษณะคุณภาพของกติกาที่เป็นทางการและที่ไม่ต้องเขียนไว้ รวมทั้งการบังคับใช้ โครงสร้างและวิธีการทำธุรกิจ ความเชื่อของคนในสังคม มาตรฐานทางศีลธรรม คุณค่าที่คนในสังคมยึดถือทั้งหมดล้วนมีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมของบุคคล แม้มนุษย์จะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตโดยคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตนเองอย่างเดียวเท่านั้น ทุนนิยมในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี ก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของกติกาและต่างกับทุนนิยมของไทย ของรัสเซีย ของประเทศในแอฟริกา เป็นต้น ในบางประเทศนักการเมืองซุกหุ้นไว้กับคนใช้ คนขับรถ

ขณะที่ในอีกประเทศหนึ่งหุ้นของนักการเมืองบริหารโดย Trustee เป็นระบบและโปร่งใส ญี่ปุ่นและยุโรปในอดีตไม่นิยมการครอบงำกิจการโดยเฉพาะแบบไม่เป็นมิตร(Hostile Takeover) และทำไม่ได้ง่าย ในประเทศที่การทำเทกโอเวอร์บริษัท ผ่านตลาดหุ้นเป็นไปอย่างกว้างขวาง เช่น ในสหรัฐอเมริกา การครอบงำกิจการที่ไม่เป็นมิตร มีเพียงร้อยละ 8 ในช่วง ค.ศ.1973-1998 และโดยเฉลี่ยเพียงแค่ร้อยละ 4 ที่ประสบความสำเร็จ ตรงข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจใหญ่ในอเมริกา สาเหตุของความสำเร็จที่ต่ำมาจากกลยุทธ์การต่อสู้ป้องกันของบริษัทที่เป็นเป้าหมายและกฎหมายโดยเฉพาะในระดับมลรัฐที่ทำให้ต้นทุนในการครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตรสูง

กรณีแกรมมี่ต้องการเทกโอเวอร์หนังสือพิมพ์มติชนแล้วล้มเหลว ก็เป็นตัวอย่างของความหลากหลายและความแตกต่างของสถาบันในระบบทุนนิยม พิจารณาได้หลายแง่หลายมุม เป็นไปได้ว่าสังคมไทยอาจไม่รังเกียจการครอบงำกิจการ แบบไม่เป็นมิตร ในกิจการประเภทอื่นที่ไม่ใช่สื่อหนังสือพิมพ์ เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย กรณีของสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ ปฏิกิริยาต่อต้าน จากสังคมอาจจะไม่รุนแรงถ้าเป็นหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ไม่ใช่มติชน ใช่หรือไม่ เป็นเรื่องน่าวิจัย หรือปฏิกิริยาต่อต้านจะน้อยลงหรือเปลี่ยนไป ถ้าไม่มีมูลเหตุจากข้อมูลสภาวะแวดล้อมที่เป็นมูลเหตุทำให้คนจำนวนมากในสังคมเชื่อว่าการเข้ามาในเชิงพาณิชย์ของคุณไพบูลย์ ต้องมีวาระซ้อนเร้นทางการเมืองอยู่ด้วยแน่นอน ผู้เขียนก็ยังคิดว่าแม้เราสมมุติตัดเรื่องวาระซ่อนเร้นทางการเมืองออกไป คนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะผู้อ่านในสังคมจะมองว่าเป็นลูกค้าก็ได้(ไม่รวมพนักงานของมติชน) แม้ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น(Shareholder) ของมติชนแต่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็น Stakeholder คือเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการดำรงอยู่หรือการที่อาจจะต้องเปลี่ยนสภาพไปของหนังสือพิมพ์ ก็รู้สึกรับไม่ได้ในลักษณะการเข้ามาของผู้มาใหม่ในลักษณะของการเทกโอเวอร์

การรับไม่ได้นี้ส่วนหนึ่งมีพื้นฐานมาจากธรรมชาติของมนุษย์ แสดงออกมาในรูปของความเห็นอกเห็นใจมีฐานความคิดจากความรู้สึกว่าเป็นความไม่ยุติธรรม ที่เจ้าของธุรกิจยังหวงแหนธุรกิจของตนถูกซื้อกิจการโดยที่ตัวเองไม่เต็มใจ ผู้เขียนคิดว่าความเห็นอกเห็นใจข้างต้นนี้ จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์มติชนและนี่อาจจะเป็นความแตกต่างในเรื่องของคุณค่า ความเชื่อ ซึ่งไปกำหนดพฤติกรรมของผู้คนทำให้เกิดความแตกต่างในวัฒนธรรมการทำธุรกิจในบางสังคม และอธิบายได้ว่าทำไมการครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตร จึงมักไม่แพร่หลายและก็ไม่ประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม สังคมดูจะยอมรับได้ แม้ไม่พอใจอยู่บ้าง ถ้าการเข้ามาของแกรมมี่ มาในรูปของการร่วมเป็นพันธมิตร โดยมีสมมติฐานว่าเสรีภาพในการทำข่าวขององค์กรไม่ถูกแทรกแซงในทางลบ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความเป็นเจ้าของและคุณภาพของหนังสือพิมพ์ไม่เลวลง

เป็นเรื่องปกติที่มีคนจำนวนหนึ่ง นอกจากมองการเข้ามาเทกโอเวอร์มติชนโดยแกรมมี่เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีการทำผิดกติกาอะไร เป็นการทำตามกติกาที่เปิดให้โดยตลาดทุน ท่านนายกฯทักษิณก็คิดเช่นนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดศีลธรรม หรือผิดจรรยาบรรณทางธุรกิจแต่อย่างใด ถ้าเจ้าของเดิมและพันธมิตรไม่ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ก็ไม่ต้องกลัวการถูกเทกโอเวอร์ ซึ่งท่านก็พูดถูก และถ้าดูจากประสบการณ์ของ บริษัทชินคอร์ป ของท่านนายกฯทักษิณคงนึกแปลกใจอยู่ในใจว่าคุณขรรค์ชัยบริหารมติชนได้อย่างไรจนถูกเทกโอเวอร์โดยไม่รู้ตัว เพราะโครงสร้างตลาดหุ้นไทยมีภูมิคุ้มกันการถูกเทกโอเวอร์อยู่แล้วถ้าเจ้าของใส่ใจ เพราะครอบครัวเจ้าของและพันธมิตร(ถ้ามี) ครอบครองหุ้นในสัดส่วนที่สูง โดยมีรายย่อยถือหุ้นทั้งหมดประมาณ 15-30% จึงต่างกับที่เป็นอยู่ในสหรัฐอเมริกาที่การเทกโอเวอร์ทำได้ง่ายกว่า บริษัทมหาชนเทียมแบบไทยๆ มีผู้ถือหุ้น 15 คนก็เป็นได้แล้ว เมื่อเสนอขายหุ้นให้ประชาชน ก็กระจายหุ้นให้ประชาชนไม่ต้องมาก และเมื่อเข้าไปอยู่ในตลาดสักพักหนึ่ง ตลาดก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก ควรมีผู้ถือหุ้นรายย่อยสัก 150 คน มีมูลค่าหุ้นอย่างน้อย 15% ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ว่ากัน

โดยทั่วไป การมีสิทธิในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัท(Control Rights) รวมทั้งเพื่อไม่ให้การถูกเทกโอเวอร์ โดยการมีหุ้นในสัดส่วนที่สูงพอจะมีความสำคัญมาก สำหรับเจ้าของเดิมที่ทำ IPO และเอาหุ้นเข้าตลาด ถ้าผลประโยชน์หรือผลตอบแทน( เช่น การไซฟ่อนผลกำไรไปสู่บริษัทในเครือของเจ้าของในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียประโยชน์) ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าค่าเช่าทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Rent ซึ่งเป็นส่วนเกินกำไรทางเศรษฐกิจที่เกินปกตินั้นสูงมาก เราจึงพบรูปแบบของบริษัทเป็นกลุ่มในรูปของพีระมิด ที่เจ้าของต้องการมี Control Right สูงปรากฏอยู่ทั่วไปในตลาดหุ้นไทย เมื่อใดที่สิทธิในการควบคุมบริษัทซึ่งมีค่าสูงนี้ เปิดโอกาสให้ใครเห็นและเข้ามาตะครุบได้ (เช่น หุ้นอยู่ในมือรายย่อยมากควบคุมไม่ได้ หรือผู้ลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่พันธมิตรกับเจ้าของเดิมถือหุ้นเยอะ และพร้อมที่จะขาย) สถานการณ์ที่เป็นอยู่จะไร้ดุลยภาพ แรงจูงใจจะทำให้คนเข้ามาตะครุบ คุณไพบูลย์เห็นโอกาสนี้จากความบกพร่องของคุณขรรค์ชัย และบอกการกระทำของเขาให้สาธารณชนรับรู้เมื่อ 12 กันยายน 2548

มีผู้ที่คิดว่าการเข้ามาเทกโอเวอร์โดยแกรมมี่สามารถสร้างมูลค่าให้มติชนเพิ่มขึ้นในระยะยาว เนื่องจากการครอบงำ หรือแม้กระทั่งในที่สุดการควบรวมกิจการ(Merger) แต่เนื่องจากสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องไปคาดเดา กล่าวโดยย่อในทางเศรษฐศาสตร์การครอบงำกิจการย่อมมีผลต่อการกระจายหรือโอนสินทรัพย์ระหว่างกลุ่มต่างๆ อาจจะมีผู้ได้และผู้เสีย ไม่ใช่ทุกคนได้ก็เป็นไปได้ แต่สำหรับสังคม สวัสดิการทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น ก็ต่อเมื่อการครอบงำกิจการนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมูลค่าของบริษัทในเวลาต่อมาสะท้อนออกมาในผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ในกระแสเงินสด ผลิตภาพ ต้นทุน นวัตกรรม ราคาหุ้นจะสะท้อนมูลค่าในอนาคตของบริษัทได้แท้จริงก็ต่อเมื่อตลาดหุ้นหรือตลาดทุนมีประสิทธิภาพซึ่งมักจะไม่เป็นจริงเสมอไปโดยเฉพาะกรณีของประเทศไทย จึงดูจากราคาหุ้นอย่างเดียวไม่พอ

สำหรับวัฒนธรรมตลาดทุนที่ให้ความสำคัญแก่ผู้ถือหุ้น โดยถือว่าเหนืออื่นใดการสร้างค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น(Shareholders Value) สำคัญที่สุดผ่านราคาหุ้นหรือเงินปันผล กลไกเทกโอเวอร์ถูกมองว่าเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างวินัยให้ฝ่ายบริหารต้องเอาใจผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นรายย่อยหรือสถาบัน เช่น ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา

กรณีที่สังคมออกมาเอ็ดตะโรโวยวาย(Voice) ถึงขั้นจะบอยคอตสินค้าแกรมมี่ สำหรับกรณีของมติชนและบางกอกโพสต์นั้น เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าการมองบทบาทบริษัทมหาชนในมิติที่แคบๆ (ทั้งธุรกิจหนังสือพิมพ์ และธุรกิจอื่นๆ) เพียงแค่ประสิทธิภาพทางการเงินหรือทางเศรษฐกิจ เพื่อผู้ถือหุ้นเป็นหลักคงไม่เพียงพอ มูลค่าทางสังคม(Social Value) ก็สำคัญ จริงๆ แล้วผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholders โดยเฉพาะสำหรับบริษัทมหาชน ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ต้องเป็นอะไรมากกว่าผู้ถือหุ้น แต่รวมถึงพนักงาน ชุมชน ลูกค้า ผู้สนับสนุน หรือแม้กระทั่งพลังประชาสังคมซึ่งล้วนมีส่วนทั้งช่วยและร่วมรับความเสี่ยง ในความก้าวหน้าการดำรงอยู่ การจากไป หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่น้อยไปกว่าผู้ถือหุ้น

โครงสร้างการกำกับดูแล(Governance Structure) ที่ควรจะเป็น จะต้องสะท้อนบทบาทผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดข้างต้น การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์จะมีประสิทธิผลมากขึ้น ถ้าโครงสร้างการกำกับดูแลบริษัทมหาชนในตลาดหุ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกติกาสำหรับผู้ถือหุ้นเท่านั้น

 

คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ
หน้า 6 มติชน 28 ก.ย.48

Be the first to comment on "ตลาดหุ้นในโลกทุนนิยม แกรมมี่จะฮุบมติชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.