ตอนที่ 11 “ปฏิบัติการปีนัง”

          สัปดาห์นี้มี Event และกิจกรรมสำคัญบางอย่างที่ควรได้รับการบันทึกไว้

          6พย. “เวทีประกาศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน” เวทีวันนี้เป็นกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นเพื่อให้รมว.พม.สื่อสารสู่สาธารณะโดยผ่านสื่อมวลชนทุกช่อง เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของกระทรวงพม.ในแนวทางใหม่ และเป็นการแสดงความคืบหน้าของงานด้านสังคมของรัฐบาลสุรยุทธ์ที่มีรมว.พม.เป็นหัวหอก
          บนเวทีมีตัวแทนขององค์กรและเครือข่ายที่ดูแลผู้ยากลำบากในมิติต่างๆ ทั้งมิติชุมชนท้องถิ่น มิติกลุ่มเยาวชน คนพิการ คนสูงอายุ สลัม กลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการชุมชน และกลุ่มที่ดูแลผู้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทุกกลุ่มมาเล่า Best Practice ให้ผู้สื่อข่าวฟังสั้นๆ โดยมีคุณกิตติ สิงหาปัด เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีอ.ไพบูลย์ ร่วมออกความเห็น
          หลังรายการเสวนากลุ่มแล้ว เป็นการแถลงข่าวของรมว.ไพบูลย์ ซึ่งทางกองปชส.เป็นผู้เตรียมสาระร่วมกับที่ปรึกษาเอนก นาคะบุตร แต่เรื่องที่ผู้สื่อข่าวสนใจซักถามกลับเป็นประเด็น “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่กำลังอื้อฉาวอยู่ และปัญหาทุจริตใน กคช.

          อาจารย์ไพบูลย์เองก็มีหลักคิดและหลักการที่มั่นคงพอจะตอบโต้กับทุกคำถามของผู้สื่อข่าวได้  แต่เสียงสะท้อนที่ทราบมาในภายหลังคือ อาจารย์ไพบูลย์มักพูดด้วย ภาษาเทพ พวกเขาที่เป็นนักข่าวฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ! และไม่น่าสนใจเลย นี่เป็นภารกิจที่ที่ปรึกษาเอนกและทีมงานของผมต้อง AAR กันจริงจังเสียแล้ว

          7 พย.  เช้ามีประชุมครม.ตามปกติ  รมว.ไม่อยู่สำนักงานจึงทำให้พวกเรามีเวลาตั้งหลักคิดและเตรียมงานล่วงหน้ากันได้บ้าง น่าเห็นใจรมว.มือใหม่เหมือนกัน  เพราะคงกังวลว่าจะไม่มีใครช่วยคิดช่วยทำเรื่องสำคัญๆ  จึงต้องเรียกประชุมทีมอยู่เรื่อย  ประชุมแต่ละครั้งก็มักใช้เวลามากตาม Style ของพี่ไพบูลย์ พี่เขาชอบสอน ชอบพูดหลักการซ้ำไปซ้ำมาเพื่อให้คนร่วมประชุมใรงกัน  ท่านจะไม่ด่วนสรุปไปสู่การจัดการ และก็มักจะชอบลงรายละเอียดมากด้วยความเป็นห่วง

          แต่เรื่องแบบนี้เป็น Style ส่วนตัวของใครของมัน ทำอะไรให้เปลี่ยนคงยาก ผมจึงได้แต่คอยกระซิบเตือนและต้องทำใจปรับตัวเข้าหากัน  และทำงานเป็นทีม ตอนบ่ายประชุมผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงพม.  มีเรื่องจากครม.ซึ่งเรื่องที่เกี่ยวกับผมโดยตรงยังไม่ค่อยมีอะไร  ที่ประชุมได้นำเรื่อง AAR (After Action Review) จากงานวันที่ 5-6 พย. เข้ามาแจ้งเพื่อให้ที่ประชุมทราบว่าทีมงานของกระทรวงกับทีมรมว.และที่ปรึกษาสรุปบทเรียนกันแล้วและพบข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุงอะไรกันบ้าง

 

          8 พย.  ตอนเที่ยงมีนัดที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  เพื่อร่วมทานข้าวกับอาจารย์หมอเสม  พริ้งพวงแก้ว, อ.หมอประเวศ, อ.หมอไพโรจน์, อ.หมอมรกต ฯลฯ มสช.ทำหน้าที่พาพ่อเสมมาพบปะลูกศิษย์ลูกหาเดือนละครั้งเพื่อไม่ให้พ่อเหงา  และถือโอกาสที่พวกเราจะได้พบอาจารย์ผู้ใหญ่พร้อมหน้าพร้อมตากันด้วย

          วันนี้พ่อเสมอายุครบ 96 ปีแล้ว สุขภาพทั่วไปยังดีมาก เดินเหินเองได้ ความจำดีเยี่ยม  วันนี้ผมได้ฟังประโยคทองอีกครั้งว่า  เราต้องถามตัวเราเองอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรหนอ จึงจะให้ลูกของเราเก่งกว่าเรา…ทำอย่างไรหนอ จึงจะสอนน้องของเราให้เก่งกว่าเราให้ได้ ทุกครั้งที่ผมได้ยินประโยคนี้ ทำให้ผมมีสติ และมีแรงบันดาลใจว่า หน้าที่ของผู้นำโดยจิตวิญญาณนั้นคือการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ดีกว่าคนรุ่นเรา

          ในการวิเคราะห์สถานการณ์จาก อ.ปราโมทย์  นาครทรรพ  ซึ่งมาร่วมวงด้วยในวันนี้  ท่านชี้ว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงจากคลื่นใต้น้ำและอำนาจเก่าที่ไม่ยอมแพ้  น่าเป็นห่วงคมช.และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์  เกรงว่าจะรับมือไม่ไหว  อ.ปราโมทย์เป็นห่วงเพราะว่าคนในรัฐบาลนี้เป็นคนดีเกินไป  ในขณะที่ปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้เราต้องการคนประเภท เทพบุตรมาร มากกว่า!

 

          9 พย. กลุ่มนักกิจกรรมเก่า  และอดีตสหายที่ไปทำงานมวลชนให้บริษัทอิตัลไทยที่ได้รับสัมปทานโปแตสที่อุดรธานีมาขอเข้าพบ  เพื่อปรึกษาปัญหาการต่อต้านของชาวบ้านและ NGO ซึ่งหนักมากจนเข้าพื้นที่ไม่ได้ อันที่จริงเรื่องเหมืองแร่โปแตสที่มีการปรับแก้กฎหมายและให้สัมปทานไปในรัฐบาลชุดก่อนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคประชาชนรณรงค์ต่อต้านกันมาก  รวมทั้ง สว.  NGO กลุ่มไกรศักดิ์, นพ.นิรันดร์ ดร.เจิมศักดิ์ ฯลฯ กระแสต่อต้านปลุกขึ้นมาได้ผลเสียด้วย โดยเฉพาะประชาชน-ชุมชนในบริเวณทำเหมือง

          แต่ว่าในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าในหลายประเทศทั้งแคนาดา  และรัสเซียนั้นเขามีเทคโนโลยีในการขุดโปแตสที่ควบคุมสภาวะแวดล้อมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้จริงๆ  โดยมีตัวอย่างที่สามารถดูได้ในประเทศเหล่านั้น เรื่องนี้นำมาสู่ปัญหาการสร้างความเข้าใจ  การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการจัดการ  ตลอดจนการจัดการเชิงผลประโยชน์ที่เหมาะสมว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

          ตอนเย็น  มีนัดประชุม 6 เลขา รมว.ในเรื่อง กองทุนพัฒนาสังคมที่คิดกันจะเพิ่มภาษีเหล้าเอามาเข้ากองทุน เป็นการสานต่อการประชุมของ 5 รมว. เมื่อวานก่อนโน้น ผมในฐานะลข.รมว.พม.ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพและเป็นประธานการประชุม  มีมากันครบ  ทั้งจาก กกท., กค., สน., พม.  ขาดแต่ สธ. ซึ่งมี ส.ส.ส. มาแทน  และ วธ. ขอตัวเพราะติดธุระด่วน

          ผมนึกว่าตัวแทนจาก กค. จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น  กลับพบความจริงว่า  บุคลากรของกระทรวงการคลังนั้นลึกๆ แล้ว ต่อต้าน การตั้งกองทุนแบบ ส.ส.ส. มาก  พวกเขาท่องคาถาเดียวกันว่า เสียวินัยการคลัง”!!       ในที่สุด ผม,ทพ.กฤษดา  และดร.วิลาสินี(จากส.ส.ส.) ช่วยกันตะล่อม  พอสรุปลงได้ว่า

          เราจะช่วยกันสานต่อ  ความเห็นของที่ประชุม 5 รมว.ต่อไป

          เราจะตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่ง  โดยเชิญศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ เป็นประธาน  เพื่อศึกษาและจัดเตรียม paper ที่มีข้อเสนอ ในรายละเอียด

          ดร.วิลาสินี จะยกร่างประเด็นที่จะเสนอต่อครม.ควบคู่ไปกับการเสนอกม.ควบคุมการโฆษณาเหล้าที่สธ.จะนำเข้าครม.ในคราวต่อๆไป  เพื่อจะได้ให้ครม.มีมติรับรองหลักการเสียชั้นหนึ่งก่อน

          ให้แต่ละกระทรวงไปรายงานรมว.ของตนว่าเราประชุมกันว่าอย่างไร  และขอให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมคทง.ที่ว่านี้

          หากจำเป็นจะเชิญประชุม ลข.รมว.ทั้ง 6 กระทรวงอีกครั้ง

 

10 พย. ตั้งแต่เช้ามามีผู้สูงวัย 2 คน จากจังหวัดยะลา มาขอพบ  ใช้นามว่ากลุ่มประชาสังคมจังหวัดยะลา  พวกเขามีความเดือดเนื้อร้อนใจต่อสถานการณ์ไฟใต้เป็นอย่างมาก  ทั้งคู่เป็นเพื่อนรักกัน  คนหนึ่งเคยเป็นครูเกษียณอายุแล้ว  อีกคนหนึ่งเป็นทนายความ  เป็นคนพุทธทั้งคู่  แต่มีจิตใจดีอยากเห็นการแก้ปัญหาไฟใต้ให้ได้ผล  และตนเองก็พร้อมช่วยเหลือ

คนหนึ่งชื่อ นายสมนึก  ระฆัง (สนง.กฎหมายสมนึก  ระฆัง จ.ยะลา) อีกคนหนึ่งชื่อ นายเจนวิทย์  ฤทธิรงค์ ผมหมายตาว่าทั้ง 2 ท่านนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาจชต.ในอนาคต ก่อนจากท่านได้มอบหนังสือเล่มใหญ่มาก  เป็นรวมบทความที่ท่านเขียน  และจำหน่ายภายในกลุ่มชื่อ สถานการณ์ภาคใต้เมื่อ….นาวาไทยหลงทิศ โดย ภูวดล แดนไทย

          19.00 น. ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปปีนัง เพื่อปฏิบัติการเฉพาะกิจตามที่ขออนุญาตจากนายกรัฐมนตรีไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน          ถึงสนามบินที่ปีนังประมาณ 4 ทุ่ม  ใช้เวลาบิน 2 ชม.  เวลาที่นั่นเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง คณะทีมงานมารอเราที่นั่นแล้ว  พวกเขาเอารถ อบต.ขับไป 2 คัน  เพื่อบริการทีมงาน

          ก่อนเข้าที่พักพวกเขาพาแวะกินข้าวเย็นที่ร้าน ต้มยำกุ้ง ซึ่งล้วนเป็นของคนไทยมุสลิมที่ไปทำมาหากินเป็นล่ำเป็นสันอยู่ที่นั่น          ทราบจากพวกเขาว่า  มีร้านต้มยำกุ้งแบบนี้นับหมื่นแห่งและมีแรงงานไทยจากจชต.มาทำงานร่วมแสนคน  เวลาเลือกตั้งก็จะพากันกลับบ้านมาใช้สิทธิ์กัน

          ที่มาเลย์นิยมกินอาหารนอกบ้าน  ทีมงานบอกว่า คนมาเลย์ไม่ทำอาหารเย็นกิน แต่นิยมออกมากินนอกบ้าน ร้านต้มยำกุ้งจึงรุ่งเรืองมาก และถูกปากคนมาเลย์ที่สุด โรงแรมที่เราพักเป็นโรงแรมไม่หรูหรามากนัก  แต่ก็สะอาดพอใช้  ทราบว่าเป็นของรัฐบาลท้องถิ่น  ไม่ใช่ของเอกชน สนามบินที่ปีนังถือเป็นสนามบินที่ใหญ่พอสมควร  ใหญ่กว่าหรือพอๆกับดอนเมืองทีเดียว

          ปีนังเป็นแหล่งคนจีนในมาเลย์แหล่งใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่ง  มีชื่อเสียงมานาน  เดิมเคยเป็นของไทยชื่อ เกาะหมาก ต่อมาถูกอังกฤษยึดครองแล้วแยกไปอยู่กับมาเลเซีย          แต่ก่อนลูกคนรวยในกรุงเทพก็นิยมส่งไปเรียนหนังสือที่ปีนัง อาภัสรา หงสกุล อดีตนางงามจักรวาลคนแรกของไทยก็เคยมาเรียนที่นี่ สมัยก่อนตอนที่เราเรียนร.ร.เตรียมอุดมศึกษา  ยังเคยมีงานประเพณีแข่งกีฬาระหว่างร.ร.เตรียมอุดมศึกษากับร.ร.ปีนังฟรีสคูลด้วย

          บ้านเมืองที่นั่น สะอาดเป็นระเบียบดีทีเดียว

 

          11 พย. ได้พบกับแกนนำขบวนการ ตัวจริง เสียงจริง 2 คน  คนแรกตำแหน่งเหมือน ส.คำตัน หรือ พโยม  จุลานนท์ ที่กุมกำลังรบ  คนหลังเหมือน อุดม  ศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นฝ่ายต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในยุคหนึ่งนั่นเอง พวกเราพบกันแล้วก็ไปหาที่นั่งคุยในภัตตาคารโรงแรมหรูหราแห่งหนึ่งบนเขากลางเมืองปีนัง คุยกันอย่างพี่น้อง  ออกรสชาติ  และมีความอบอุ่นมาก

          ก่อนจะมาถึงวันนี้ทีมงานประชาคมมุสลิม จชต.ที่ทำงานร่วมกันสมัยปี 2547,2548 จนถึงปัจจุบัน  จากโครงการร่วมกับ ทภ.4,กยต.,มูลนิธิรัฐบุรุษ เรื่อยมาจนถึงโครงการ พรบ.สันติสมานฉันท์  พวกน้องๆ เหล่านี้เป็นตัวเชื่อม  ตัวสานจนเกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน มีข้อสรุปบางอย่างในการพูดคุยกัน  และเกิดขึ้นภายในใจของผม  อาทิ:

          แท้จริงแล้ว  ขบวนการก่อความไม่สงบในจชต. ไม่ใช่ขบวนการที่มีอุดมการณ์หรือทฤษฎีชี้นำที่ลึกซึ้งอะไรเลย  แต่เป็น ขบวนการชาวบ้าน ที่ลุกขึ้นสู้จากความขมขื่น คับแค้นเท่านั้น

          พวกเขายังอยากอยู่ร่วมเป็นครอบครัวใหญ่ของประเทศไทย  เว้นเสียแต่ว่าปัญหาไม่ถูกแก้ไข  และอยู่ไปก็มีแต่ความทุกข์ ไร้ทางออก  จึงจำเป็นต้องแยกทาง  เหมือนหย่าขาดกัน

          พวกเขายังคงความเคารพในพระเจ้าอยู่หัว  และอยากเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยยึดโยงอยู่กับสถาบันกษัตริย์มากกว่าจะอยู่ใต้อำนาจนักการเมือง

          พวกเขาเสนอว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เอื้อกับการมีที่ยืนของพวกเขา  และอยากมีกลไกการทำงานที่เป็นรูปธรรม  หรือมีกฎหมายเฉพาะในลักษณะเขตพัฒนาพิเศษ  ไม่ได้ต้องการเป็นหน่วยบริหารอิสระแบบ กทม. หรือ พัทยา

          ฯลฯ

เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ  ผมตั้งใจว่าจะเขียนสรุปรายงานทันที  เพื่อเตรียมรายงานนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า ขากลับจากปีนัง พวกเรานั่งรถ Ford Escape ของอบต. 2 คัน เดินทางเข้ามาทางด่านสะเดา จ.สงขลา  พวกเขามาส่งถึงสนามบินหาดใหญ่ทันเที่ยวบิน 20.00 น.พอดี ระหว่างทางก่อนเข้าด่านสะเดา พวกน้องๆ แวะทำละหมาดที่มัสยิดข้างทาง  น่าสังเกตว่าสถานที่ของเขาสะอาดสะอ้าน  และถนนหนทางมีสภาพดีมาก เมื่อเข้าถึงเขตประเทศไทย   เห็นสภาพที่ไร้ระเบียบอย่างเปรียบเทียบกันชัดเจนกับฝั่งมาเลย์

 

12 พย. อยู่บ้านทั้งวัน จึงมีเวลาสรุปรายงานเพื่อเสนอท่านนายกได้พอดี สัปดาห์หน้ามีโปรแกรมงานที่ต้องพบท่านนายก 2 ครั้ง  ในวันอังคารและวันศุกร์  น่าจะได้มีโอกาสเรียนท่านโดยตรงบ้าง

 

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

12  พฤศจิกายน 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 11 “ปฏิบัติการปีนัง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.