มีเสียงสะท้อนจากผู้ปรารถนาดีมาหนาหูมากขึ้นว่า สายงานของรมว.พม.และทีมงานค่อนข้างมีแต่ชุมชน-ท้องถิ่น ขาดภาพลักษณ์ของกลุ่มเป้าหมาย และประเด็นสังคมอื่นๆไปหน่อย สิ่งที่อ.ไพบูลย์ สัมภาษณ์สื่อมีแต่เรื่องชุมชนท้องถิ่น กลุ่มที่มาพบก็เป็นพวกชุมชนท้องถิ่น จึงอยากให้มีกิจกรรมที่สะท้อน sector อื่นๆ, issue อื่นๆ ของกระทรวงพม.ให้มากขึ้น
อันที่จริงพวกเราก็ตระหนักในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เห็นได้จากการที่เราตั้งคณะทำงานที่ปรึกษาครบจากทุกส่วน ทั้ง area, sector และ issue แต่คงไม่ทันใจกองเชียร์ ทีมที่ปรึกษาจึงขอให้มีวาระนัดพบ NGO และนักวิชาการที่ทำงานสังคมเป็นเครือข่ายๆ ไป โดยเห็นว่าควรทำเสียก่อนถึงวันที่ 17 พย. ซึ่งเราจะจัดเวทีจุดประกายยุทธศาสตร์สังคมที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะกลัวกลุ่มนี้จะไปโวยวายในวันนั้นโดยไม่จำเป็น!!
จึงเป็นที่มาของการจัดคิว รมว.พบเครือข่ายพันธมิตรในช่วงวันจันทร์-อังคารนี้ รวดเดียว 5 เครือข่าย เครือข่ายละ 2 ชั่วโมงเต็มๆ
– เครือข่ายผู้พิการ
– เครือข่ายเด็ก-เยาวชน
– เครือข่ายผู้สูงอายุ
– เครือข่ายสตรี
– เครือข่ายผู้ด้อยโอกาส
การพบเครือข่ายของรมว.พม.คราวนี้ เป็นที่ชื่นชมของคนทำงานเครือข่ายทางสังคมต่างๆ มาก และมีข้อเสนอดีๆ โดยตรงจากกลุ่มคนที่ทำงานและกลุ่มเป้าหมายมากมาย คณะทำงานของกระทรวงและกรมที่รับผิดชอบจะได้ช่วยกันประมวลข้อเสนอทั้งหมดเพื่อเสนอให้ครม.รับทราบต่อไป
13 พย. นัดทีมอ.พิเชษฐ์ (ที่ปรึกษากม.) กับทีมนิติกรของกระทรวงนำโดยคุณชูเกียรติให้มาพบกัน เพื่อซักซ้อมบทบาทภารกิจและสร้างความคุ้นเคย จะได้มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อไป งานออกกฎหมายเป็นภารกิจเชิงโครงสร้างที่มีความสำคัญมากต่อการบริหารกระทรวงพม.ในช่วงนี้ จึงต้องการความร่วมมือกันอย่างยิ่งระหว่างทีมกฎหมายภายในกระทรวงและทีมที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรี
งานผลักดันกฎหมายเก่า 10 ฉบับที่อยู่ใน Pipeline เป็นภารกิจหลักของนิติกร ส่วนการยกร่างกฎหมายใหม่ 5 ฉบับเป็นหน้าที่ของทีมที่ปรึกษากฎหมายของรมว.
ตอนเที่ยงไปร่วมประชุมกับส.ส.ส. คณะของอาจารย์หมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เขาขอปรึกษาเรื่องการพัฒนาบทบาทวัดเป็นศูนย์กลางงานพัฒนาชุมชนด้านคุณธรรม ซึ่งส.ส.ส.อยากจะบุกเบิกด้านนี้ ผมจึงถือโอกาสเล่าให้ที่ประชุมฟังว่ากระทรวงพม.กำลังจะมีโครงการเครือข่ายธุรกิจเพื่อศาสนา โดยจะค้นหาวัดตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับในด้านความสะอาด ความสงบ และความสว่าง ตลอดจนความพร้อมในการเป็นที่ฝึกสอนและให้การฝึกปฏิบัติสมาธิด้วย เราจะค้นหาและส่งเสริมจำนวน 100 วัดในปีนี้ โดยจะหาองค์กรธุรกิจ 100 องค์กรทำหน้าที่สนับสนุน กระทรวงพม.ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้แล้ว
อ.อุดมศิลป์ ชอบใจมาก และอยากให้ส.ส.ส.ร่วมเป็นภาคีด้วย โดยอาจเพิ่มอีกสัก 200 แห่ง เป็น 300 แห่ง หรือคิดเป็น 1% ของวัดทั้งหมดทั่วประเทศ
ตอนเย็น หัวหน้าสำนักผู้ตรวจการกระทรวงพม.คุณวิสา ธรรมโน มาปรึกษาหารือด้วยเรื่องงานของผู้ตรวจว่าจะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมระดับพื้นที่ได้อย่างไร
14 พย. มีนัดหมายเข้าพบนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เช้า 8.30 น.โดยจะต้องไปดักรอพบนายกฯ ก่อนการประชุมครม. รมต.ไพบูลย์และผมมีประเด็นที่ต้องปรึกษานายกฯ 3 เรื่อง ได้แก่
1) เรื่องคณะกรรมการอิสระเพื่อการค้นหาความจริงและสร้างความสมานฉันท์ที่ท่านนายกฯมอบให้รมว.ไพบูลย์ช่วยคิดนั้น รมว.ได้รายงานว่าได้ปรึกษาหลายท่านรวมทั้งหมอประเวศ วะสี ซึ่งเบื้องต้นคิดว่าผู้ที่เหมาะที่จะเป็นหประธานคือ ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด อดีตสมาชิกไทยรักไทย ท่านนายกก็เห็นด้วยและพร้อมจะทาบทามด้วยตัวท่านเอง แต่รมว.บอกว่าจะขอไปพบปะแลกเปลี่ยนดูสักครั้งก่อน
2) เรื่องเชิญท่านนายกฯ เป็นประธาน เวทีจุดประกายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม 17 พย.ที่ทำเนียบรัฐบาล ท่านนายก Confirm ว่าจะไปร่วมตอนเปิดงาน ก่อนที่จะต้องออกเดินทางไปประชุม APEC ที่เวียดนามในตอนบ่าย
3) เรื่องการสัมมนาสมานฉันท์ 22 พย.ที่ พม. และ สถาบันพระปกเกล้า และ ยธ. จัดร่วมกัน ท่านนายกก็ Confirm อีกเช่นกัน
ก่อนลาจาก ท่านนายกฯได้เอ่ยปากถามผมเรื่อง จชต. ผมจึงรายงานท่านว่า เราไปปฏิบัติงานที่มาเลเซียตามที่ท่านอนุญาตมาแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ ซึ่งผมได้ทำรายงานสรุปเรียบร้อยแล้ว และพลตรีกลชัย (สุวรรณบูรณ์) จะนำเรียนท่านในไม่ช้า ท่านถามว่า มันมีทางที่จะดีขึ้นบ้างหรือไม่? ผมตอบว่า “มีหนทางครับ” ท่านยิ้มโดยไม่ว่าอะไรอีก
กลับไปที่กระทรวง ทีมของหมอกฤษดา, พี่เอื้ออารีย์ จาก ส.ส.ส.มารอปรึกษาเรื่องงานประชาสัมพันธ์กระทรวงกันอีกครั้ง ทีมของกองปชส.ไม่ว่าง จึงส่งเด็กมาร่วม 1 คน ได้ข้อสรุปเพียงว่าควรจะเอาปฏิทินงานที่เป็นวาระประจำปีของแต่ละหน่วยงานมาดูและวางแผนล่วงหน้าทั้งปี ทั้งนี้เพื่อส.ส.ส.จะช่วยเสริมได้ถูก และเสนอให้เตรียมรายงานผลงาน 3 เดือน เสียแต่เนิ่นๆ
การเสนอความช่วยเหลือของทีมส.ส.ส.ในด้านสื่อคงทำด้วยความหวังดีและเป็นห่วงว่ารมว.ไพบูลย์จะเพลี่ยงพล้ำหรือเสียโอกาสในการประชาสัมพันธ์ แต่การรุกเข้ามาของพี่เอื้ออารีย์ ทำให้ผมรู้สึกอึดอัดมาก เหมือนกับว่าอะไรๆ ที่กระทรวงพม.ทำนั้นดูไม่เข้าท่าไปเสียหมด ผมจึงโพล่งออกไปบ้างว่า วันนี้พวกเราไม่ได้เข้ามาทำงานเพื่อสร้างคะแนนนิยมใดๆ เลยนะ สื่อและสังคมใหญ่อยากจะชอบอะไรที่ผิวเผินผมก็ไม่ค่อยแคร์เท่าใดนัก พวกเราอยากมีเวลาทำงานนโยบายและกฎหมายเพื่อปรับ/วางโครงสร้างที่จำเป็น ซึ่งในภาวะปกติทำไม่ได้ให้สำเร็จลุล่วงก็พอแล้ว
เข้าใจว่ากฤษดาได้สติก่อน จึงค่อยๆ ประคับประคองวงสนทนา จนจบลงด้วยดี คราวนี้งาน“ความรุนแรงในครอบครัว” ที่กระทรวงพม.กำลังมี Event อยู่ก็มีทีมส.ส.ส.ช่วยทำ press release ให้อีกทางหนึ่ง
ใกล้ถึงวันจุดประกายประกาศยุทธศาสตร์สังคม(17พย.) ทางฝ่ายกองปชส.คุณปันนัดดา ได้เตรียมรายการวิทยุ และ TV ทำสัมภาษณ์วันละหลายหน นับเป็นการโหมโรงที่ทำได้ดีพอสมควร
15 พย. งานมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 8 ที่ปตท. ซึ่ง LDI เป็นองค์กรรับผิดชอบจัดงาน แต่จริงๆ แล้วทีมลูกโลกสีเขียวของปตท.เขาทำเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่อาศัยชื่อเสียงของ LDI และมีผมเป็นหัวเรือที่เป็นทางการให้เท่านั้น
พิธีมอบรางวัลจะมีพรุ่งนี้ แต่ต้องรีบปลีกเวลาไปปรากฏตัวเสียแต่เย็นนี้เพราะพรุ่งนี้อาจไม่ได้ไป ตอนบ่ายงานเริ่มด้วยวิชาการ การเสวนา “วิถีพอเพียง” โดยผู้รับรางวัลและอดีตผู้รับรางวัลมาอภิปราย มีอ.กิตติชัย รัตนะ เป็นผู้ดำเนินรายการ ตบท้ายด้วย ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ จะเป็นผู้ทำการสรุปในหัวข้อ“ที่เห็นและเป็นอยู่” ส่วนผมถูกกำหนดให้ต้องพูดหัวข้อ “ที่เห็นจะเป็นไป” แต่บอกทีมงานว่าคงไปไม่ทัน ขอให้แก้ปัญหาไปก่อน ทราบว่า คุณตุ้ม (ศรีสุรางค์ มาศศิริกุล) ได้ขอร้อง ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นผู้พูดแทนเรียบร้อยแล้ว
พอโผล่เข้าไปในห้องประชุม เกือบจบอภิปรายหมู่พอดี ศ.ธงชัยเห็นเข้าก็จะขอให้ผมพูดตามเดิม จึงขอร้องอาจารย์ว่าขอตัว เพราะไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นและก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาเลย
ตอนค่ำ ร่วมงานนิทรรศการลูกโลกสีเขียว มีอาหารการกินแบบชาวบ้านพื้นเมืองด้วย มีดนตรีเด็กๆ ชาวเขาน่ารักมาก พรรคพวกพากันเข้ามานั่งกินข้าวเย็น ตั้งวงคุยกัน มีดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยกุล (สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย), คุณสุรพล ดวงแข, ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์, คุณอุดม วิเศษสาธร, ฯลฯ
16 พย. จนท.ที่รับผิดชอบกพร.ของกระทรวง 2 คน มาพบเพื่อปรึกษาการเตรียมการลงนามเซ็นต์สัญญาปฏิบัติงาน ระหว่าง รมว. กับ อธิบดี ทั้ง 6 หน่วยงานของกระทรวงพม. ผมลองยิงคำถามว่า หากเราจะตั้งองค์การมหาชนอีกสัก 1 องค์กรคือ “สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” จะต้องทำอย่างไร ดูปฏิกิริยาแล้ว จนท.คงไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยนัก จึงมีคำพูดประมาณนี้ให้ได้ยิน: “จะลองปรึกษา กพร.ใหญ่ดูว่า กระทรวงหนึ่งๆ ควรมีองค์การมหาชนได้กี่องค์กร?”
ตอนบ่ายทีมอ.พิเชษฐ์ เมาลานนท์ มาพบเพื่อรายงานความคืบหน้าของการร่าง พรฎ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ ผลงานเป็นที่น่าพอใจมาก ร่างเกือบสมบูรณ์ทีเดียว ปรับแก้กันอีกนิดหน่อยก็น่าจะ Final ได้เลย
อย่างน้อยขณะนี้ผมก็มี (ร่าง) กม.ใหม่ 1 ฉบับ อยู่ในมือซึ่งพร้อมจะเสนอครม.แล้วในเวลานี้
17 พย. ในที่สุดก็ถึงวัน D-Day การจุดประกายประกาศยุทธศาสตร์สังคม จัดที่ทำเนียบรัฐบาล ทีมงานพม.ได้เตรียมจัดเวทีและนิทรรศการตั้งแต่เมื่อวาน ทุกอย่างเรียบร้อยดี นี่ถ้าเป็นเมื่อก่อนพวกเรา NGO ต้องทำกันเองทุกอย่าง ตอนนี้สบายขึ้นเยอะ เพียงแต่คิดวางแผนและสั่งการ/มอบหมายเท่านั้น กลไกข้าราชการเขาทำให้เสร็จ
เข้าไปทำเนียบล่วงหน้าหน่อยเพื่อดูความเรียบร้อย และทักทายแขกผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิที่เชิญมาร่วมประชุมเกือบ 100 คน ศ.นพ.ประเวศ มาตั้งแต่ไก่โห่, ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา, ศ.ดร.วิริยะ นามศิริพงษ์พันธ์(ประธานสมาคมคนพิการ), น้าประยงค์ รณรงค์ (เจ้าของแม็คไซไซ), ศ.ดร.สุมน อมรวิวัฒน์, ฯลฯ
เดินทักคนไปทั่ว ทีมดร.อนุชาติ พวงสำลี, คุณดวงพร เฮงบุณยพันธุ์ ทำงานแข่งขันกันดีมาก อ.ประเวศ แซวว่า “ดูซิ พลเดช กับเอนก เดี๋ยวนี้แต่งตัวหล่อเชียว (ใส่สูท)” ท่านหันไปบอกน้าประยงค์
รอจนใกล้เวลาที่นายกจะมา อ.ไพบูลย์และพวกเราซึ่งออกไปต้อนรับที่หน้าตึกนารีสโมสร พลตรีกลชัย สุวรรณบูรณ์ เตรียมเอกสารรายงานจชต.ไปดักให้นายกฯ ที่นั่นด้วย, เลขาธิการนายกพลเอก พงศ์เทพ เทศประทีป เดินตามประกบนายกตลอด พี่แกแอบกระซิบกับผมว่างานดีมาก นายกฯชื่นชม
งานเริ่มจาก อ.ประเวศ ปาฐกถานำ แล้วนายกฯกล่าวแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม จากนั้นพัก Break ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เดินชมนิทรรศการ นายกฯ ก็เดินดูด้วย ท่านให้เวลามากทีเดียว อ.ประเวศและนายกฯ มีโอกาสได้นั่งกินกาแฟคุยกันในช่วงเบรคด้วย
หลังเบรค ที่ประชุมมาอภิปรายกันต่อ คนละ 2-3 นาที ได้ประเด็นที่ดีมาก ฝ่ายสนย.(สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงพม.) สรุปอย่างรวดเร็วส่งเอกสารให้นพ.สมศักดิ์ ชุนหรัศมิ์ ทันทีเพื่อสังเคราะห์ก่อนเสร็จการประชุม สาระสำคัญจากเอกสารนั้นผมได้ใช้เป็น Content ในการสัมภาษณ์สื่อวิทยุตอนค่ำได้เป็นอย่างดีเลย
กลางคืนดูข่าว ทีวีหลายช่องมีข่าวนายกฯสัมภาษณ์ทำนองว่า “สื่อต้องพิจารณาตัวเองด้วย วันนี้ได้คุยกับ อ.ประเวศ ท่านยังบอกเลยว่า ข่าวดีต้องจ่ายเงินจึงจะได้ออก ข่าวร้ายไม่ต้องเสียตังค์!!”
18-19 พย. มีงาน LDI สัมมนาใหญ่ปิดโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ (HPL) พวกเรา 35 จังหวัดที่ร่วมโครงการมากันเพียบ บรรยากาศคึกคักมาก เพราะแทนที่จะปิดโครงการด้วยความ “ล้างลาอาลัย” แต่ทุกคนในเวทีกลับเดินเข้าสู่บรรยากาศของการ “เปิดฉากใหม่” ในจังหวะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่มีพม.เป็นแกนนำ
กระบวนการประชุมของอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้ปลุกเร้าผู้เข้าร่วมประชุมให้เกิดแง่คิดและแรงบันดาลใจอย่างเข้มข้น พวกเราต้องหลั่งน้ำตาด้วยความซาบซึ้งใจกันเป็นระยะๆ ตลอด 2 วัน
เอกสารวิชาการ กึ่งวิชาการ และสื่อที่เป็นผลผลิตของ HPL จำนวนมากได้ถูกนำมาแสดงและมอบเป็นอภินันทนาการ ทั้งหนังสือเล่มเล็ก เล่มใหญ่ VCD คู่มือ โบรชัวร์ แผนภูมิ ของชำร่วย ฯลฯ
นิทรรศการผลงาน HPL 35 จังหวัดตั้งแสดงให้ชมตลอดงาน มีจอ TV เปิดสารคดีเรื่องราวและองค์ความรู้จากพื้นที่ผู้สนใจได้ให้ชมตลอดเวลา มีทั้งที่ผลิตโดย Nation TV และที่ผลิตโดยศูนย์สื่อของ LDI ที่มีอ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เป็นที่ปรึกษา
อาจารย์เสน่ห์ (ศ.ดร.เสน่ห์ จามริก) กล่าวถึง “ประชาธิปไตยที่มีท้องถิ่นเป็นรากฐาน” ท่านอาจารย์ยังคงเสนอแนวคิดที่คม-ชัด-ลึก อย่างคงเส้นคงวา แม้ปีนี้จะครบรอบอายุ 80 ปีไปหยกๆ
อาจารย์หมอวิจารณ์ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) พึงพอใจกับงานสัมมนานี้มาก ท่านบอกว่าเพิ่งเข้าใจว่างานโครงการ HPL แท้จริงคืออย่างนี้ ทั้งๆ ที่เป็นกรรมการโครงการและเป็นกรรมการพิจารณาของแผนงานชุมชน (สสส.) มาตั้ง 2 ปีแล้ว
อาจารย์ไพโรจน์ สุจินดา อดีตรองเลขาธิการสศช. ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการโครงการ HPL บอกภูมิใจมาก และเสียดายที่โครงการต้องจบลงตามเงื่อนไขเวลา
เอนก นาคะบุตร วิเคราะห์สถานการณ์ประเทศอย่างเจาะลึกด้วยความห่วงใยบ้านเมือง เอนกกังวลว่า คปค.(คมช.) และรัฐบาลจะตกเป็นเป้าสังคมและเพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายทักษิณ ภายในไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า หากยังคงบริหารประเทศด้วยวิธี “ปกติ” ในสถานการณ์ที่ “ไม่ปกติ” อยู่เช่นนี้ ฟังเอนกแล้วมีแง่คิดที่เป็นประโยชน์มาก ทำให้ไม่ประมาท มีสติ และความพยายาม แต่วิธีคิดและวิธีมองของเอนก บ่อยครั้ง Negative มาก จนเกิดความหดหู่ อึดอัด แต่ถ้าเทียบกับโสภณ สุภาพงษ์ แล้ว ยังลบน้อยกว่า เพราะพี่โสภณมักมีวิธีคิดแบบแยกเป็นขาว-ดำ, ดี-ชั่ว อย่างสุดๆ จนใครๆก็ไม่ดีไปเสียหมด ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เคยบอกว่า ฟังคุณโสภณทีไรจะมีแต่ความทุกข์ ซึ่งผิดกับฟังอาจารย์หมอประเวศ วะสี เพราะฟังทุกครั้งก็มีแต่ความสุข และมีกำลังใจไปทุกครั้ง
อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ อดีตสว.กทม. รุ่น 6 เดือน มาสายอีกตามเคย ทราบว่าเพิ่งกลับจากต่างประเทศ แต่ก็มาพร้อมกับสีสันเสมอ แผ่นใสหรือ power point ประกอบการอภิปรายของอ.ขวัญสรวงนั้นใครเห็นก็อยากได้ เพราะมันเป็นผลผลิตของสถาปนิกที่มีแนวคิดประชาสังคมที่ลุ่มลึกจากเยอรมันนี มีทั้ง graphic มีทั้งการ์ตูน และใช้คำพูดสามัญๆ ฟังเข้าใจง่าย ตกผลึกเร็ว
รศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เป็นผู้มีส่วนอย่างยิ่งต่อการพัฒนางานสื่อของ LDI และเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อ รวมทั้งวิทยุชุมชนของภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ทุกวันนี้คราวใดที่มีประเด็นนโยบายเกี่ยวกับสื่อในระดับชาติ มักจะมีภาพข่าวและความคิดเห็นของอ.เอื้อจิต ติดมาในหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์เสมอ ผลงานผลิตสื่อ VCD และหนังสือ ร่วม 100 ชิ้น ของ HPL คือสิ่งที่ อ.เอื้อจิต กับน้องๆ LDI เคี่ยวเข็ญทำกันตลอด 2 ปีหลัง
รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย หัวหน้าทีมประเมินภายในและสังเคราะห์องค์ความรู้ของโครงการ HPL ยังคงเข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระ ตามสไตล์นักวิชาการ-นักประเมิน ยังคงเป็นอาจารย์ใหญ่เคียงคู่กับ อ.ชัยวัฒน์ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย อ.เนาวรัตน์ เป็นผู้รายงานผลการประเมินชุดโครงการ HPL ด้วยความภาคภูมิใจ และด้วยความเชื่อมั่นว่า “กระบวนคิด” ของโครงการ HPL นั้นสอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประชาสังคมในประเทศไทยอย่างยิ่ง โดยสามารถแสดงข้อมูลเชิงประจักษ์ และผลกระทบของโครงการทั้งในเชิงลึกแคบและเชิงกว้างได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อ.เนาวรัตน์คือผู้ยืนโต้กับทีมประเมินภายนอกที่ สสส.จ้างมาติดตาม และโต้กับกลไกควบคุมของสสส.(กรรมการพิจารณาโครงการ) อย่างหนักแน่น
2 วันนี้มีประเด็น และวาทะที่น่าสนใจหลายเรื่องที่ควรบันทึกไว้ อาทิ:
ศ.เสน่ห์
· เรื่องท้องถิ่น คือเรื่องประชาคม…เรื่องของคนสามัญ
· อย่าลืมว่าประเทศเราตั้งอยู่บนถิ่นฐานที่มี “ทรัพยากรเขตร้อน”ที่ทั่วทั้งโลกมีแค่ 7% เท่านั้น…ถ้าจะสร้างความเข้มแข็งต้องมาจากฐานนี้ด้วย
· ทำการเมืองภาคพลเมืองต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รศ.ดร.เนาวรัตน์
· HPL เป็นงานเชิงนวัตกรรม….โอกาสสำเร็จโดยทั่วไปแค่ 10% แต่มี Impact สูง
· ผลลัพธ์ HPL
o 1. โครงการมีองค์ความรู้ที่มีบริบทรองรับ (อาทิ : Self organizing, Public space,พัฒนาคนแนวใหม่, empower ผู้คน, ความรู้แบบไหนที่จุดไฟติด, ฯลฯ)
o 2. โครงการได้ empower ผู้คนนับ 1000 คน
o 3. โครงการทำให้เกิด Document ที่มีคุณค่ามากมาย..Tacit Explicit Knowledge
o 4. โครงการช่วยรกะตุ้นให้เกิดนโยบายท้องถิ่น และpolicy process
o 5. กลุ่มองค์กรที่ร่วมงานมี social credit ในพท.จริง
· การเรียนรู้ที่ได้ผล ไม่ใช่เปลี่ยนจากปลาเล็กเป็นปลาใหญ่ แต่ต้องเปลี่ยนจากดักแด้เป็นผีเสื้อ, จากลูกอ๊อดกลายเป็นกบ
อ.ชัยวัฒน์
· Tao of Democracy….. ปกครองสูงสุดคือ ไม่ปกครอง
· สวิสเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ไม่มีใครรู้จักชื่อประธานาธิบดีหรือนายกฯเลย….แต่ทำไมเขาเจริญ…เพราะเขาแข็งแกร่งด้วยประชาชน!
· สภาวะการเมืองตัวแทนแข็ง การเมืองพลเมืองอ่อน เป็นปฏิภาคกัน
· 5 ปีต่อไปข้างหน้า ภาคพลเมืองต้องทะลวงความซับซ้อนอันวิกฤตให้ได้
หมอพลเดช สรุปปิดท้าย
· ขณะนี้โอกาสเปิด…….3 ปี HPL ได้สะสมทุนความรู้-ภูมิปัญญา และเครือข่าย กำลังจะต่อด้วย 1 ปี ของการบริหารกระทรวง พม.
· ขณะเดียวกันมีสัญญาณอันน่าหวาดเสียว
– 6 เดือนของ คมช./รัฐบาล อาจทำไม่ได้อย่างที่สังคมคาดหวัง
– 5 ปีคงหนีภาวะ Chaos ไม่พ้น
– การสู้กันระหว่างทุนเก่า กับทุนใหม่ ทั้งแรง ลึก และบาดเจ็บกันทั้งคู่
– สถาบันพระมหากษัตริย์มีความเสี่ยง และมีปัจจัยความเสื่อมจากเนื้อใน
· 10 ปีข้างหน้าต้องขับเคลื่อนปฏิรูปสังคมต่อเนื่อง
– 1 ปี ที่พม. ……5 ปี…..10 ปี
· ความเป็นไปได้อันใกล้
– 1 ปี คมช./รัฐบาลสุรยุทธ์
– ปีที่ 2 รัฐบาลใหม่ (เลือกตั้ง) (ดี ปานกลาง แย่) ส่งผลกระทบต่อการเมือง, ธุรกิจ และสถาบันกษัตริย์ แต่ ขบวน ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นน่าจะมีแต่ได้กับได้
· เสนอภารกิจภาคประชาสังคม 4 ประการได้แก่ :
1. สลายขั้วภาคพลเมือง-บูรณาการเครือข่ายพอช./LDI/สกว.
2. Chaos เกิดแน่…ต้องการความนิ่งและการเคลื่อนเชิง
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์
3. ต้องหาทางให้นกเผ่าพันธุ์เดียวกันมาเจอะกันทุกเดือน
4. Attack ยุทธศาสตร์ “สื่อ” จริงจังได้แล้ว
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
19 พฤศจิกายน 2549
Be the first to comment on "ตอนที่ 12 HPL ปิดโครงการ แบบทะยานขึ้น"