ตอนที่ 13 “เดินสายพบเครือข่าย ทีวี วิทยุ”

          ชีวิตติดเครื่องต่อมาจนถึงวันจันทร์อีกครั้งโดยไม่ได้หยุดพัก

 
          20 พย. เดินทางไปขอนแก่นตั้งแต่เช้ามืด เป็นโปรแกรมออกเยี่ยมพื้นที่ของรัฐมนตรีและทีมงาน สัปดาห์ที่แล้วเริ่มต้นที่ลำปาง เราตั้งใจไป 2 Trips จากทั้งสิ้น 6 trips ส่วนที่เหลือก็แบ่งกันไป ในขณะที่รมว.ไพบูลย์ ต้องไปทุกครั้ง

          ลงพื้นที่เพื่อไปเยี่ยม จนท.พม.และเครือข่ายที่กำลังถักทอกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน จะไปดูว่าเขาทำกันอย่างไร มีแผนอย่างไร และมีปัญหาอุปสรรคหรือเปล่า
          ที่ขอนแก่น ผู้ว่าให้การต้อนรับตั้งแต่ลงเครื่องบิน พากันไปดูชุมชนริมทางรถไฟ ที่นั่นเขาทำบ้านมั่นคงไปได้ดีมาก เครือข่ายชุมชนและนายกเทศมนตรีให้การต้อนรับและพาเยี่ยมพื้นที่หลายจุด ไปดูศูนย์เด็กเล็กของเทศบาลที่มีโรงเรียนเทศบาลช่วยดูแล รมว.ไพบูลย์ เห็นป้ายเขียนชื่อว่า “ศูนย์ดูแลเด็กผู้ด้อยโอกาส” จึงแอบกระซิบจนท.ว่าไม่ควรตั้งชื่อที่เป็นมลทินหรือตราบาปแก่เด็กแบบนั้น

ไปที่ศาลากลางจังหวัด เครือข่าย 8 จังหวัดมารวมตัวกัน มีรายการอภิปรายบนเวทีให้ ตัวแทนกลุ่มที่มี Best Practice มาเล่าให้ฟังว่า เขาดูแลช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสอย่างไร มีทั้งพระที่ดูแลผู้ติดยาเสพติด หมอผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้ติดเชื้อ HIV ชุมชนบ้านมั่นคง กลุ่มออมทรัพย์ คนพิการ และนายกเทศมนตรี

          ที่ขอนแก่นมีนายกเทศมนตรีที่หัวก้าวหน้า เป็นคนหนุ่ม เอา VCD มาฉายให้ดูตัวอย่างเด็กผู้หญิงพิการคนหนึ่งที่สู้ชีวิตและมีความเข้มแข็งมาก นายกมุ่งมั่นทำงานโดยเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พม.กำหนดยุทธศาสตร์ 3 ด้านขึ้นมา
          ส่วนผู้ว่าขอนแก่นคนนี้ จำได้ว่าปีที่แล้วเป็นผู้ว่าจังหวัดสกลนคร ซึ่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนครเคยมอบดุษฎีบัณฑิตกิกติมศักดิ์ให้ด้วย เป็นผู้ที่มีความสนใจงานชาวบ้าน แต่เมื่อได้ฟังท่านกล่าวต้อนรับ รมว.และพูดถึงความคิดความอ่านของท่านที่จะรณรงค์หลักชีวิตให้ประชาชนปฏิบัติแล้วจึงเข้าใจกรอบคิดของท่านซึ่งเป็นแบบฉบับของนักปกครองไทยที่ top down ตลอดเวลา นี่คงเป็นเพราะคนมหาดไทยเขาเติบโตและหล่อหลอมมาอย่างนี้
          บนเวทีจบแล้ว ที่ประชุมทำกลุ่มย่อยระดมความคิดเพื่อวางแผนว่าจะสำรวจและช่วยเหลือผู้ยากลำบากกันอย่างไร ดูคึกคักดีทีเดียว
          ตอนบ่ายไปเยี่ยมชุมชนที่อำเภอภูเรือ ที่นั่นมีการทำสวัสดิการวันละบาท และกลุ่มออมทรัพย์เข้มแข็ง ตลอดจนกลุ่มแม่บ้าน OTOP มีกันครบเครื่องเลย
          เย็นกลับไปที่ศูนย์อบรมสตรีของพม. รมว.ไพบูลย์ พบจนท.พม.ทุกหน่วยที่นั่น รมว.ต้องการพบปะเป็นการเฉพาะ และฟังเสียงสะท้อนจากจนท.หลังการประกาศขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน คุยกันไปกินข้าวเย็นไป พวกเขาดูยังเกร็งกับฝ่ายการเมืองอยู่มาก
          กลับกรุงเทพเที่ยวบิน 20.30 น. กว่าจะถึงบ้านเล่นเอาดึกเลย
          21 พย. เตรียมงานช่วงเช้าที่กระทรวงพักหนึ่ง ต้องรีบไปโรงแรมหลุยส์เทรเวล ซึ่งมสช.(มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) จัดประชุม Node โครงการบูรณาการสุขภาวะจังหวัด วณีเป็นผู้จัดการโครงการอยู่ ไม่ไปไม่ได้ เพราะเขาเชิญ (ร้องขอแกมบังคับ) ให้ไปช่วย Modulate การอภิปรายบนเวทีในหัวข้อบทเรียนรู้การบูรณาการสุขภาวะที่จังหวัด เป็นการอภิปรายหลังปาฐกถาพิเศษของศ.นพ.ประเวศ วะสี
          ช่วงเช้าวันอังคารเป็นช่วงที่พอจะกระโดดไปไหนมาไหนได้บ้าง เพราะรมว.ติดประชุมครม. เสร็จแล้วต้องรีบกลับเพราะบ่ายมีประชุมผู้บริหารกระทรวงพม.
          การประชุมผู้บริหารกระทรวงเที่ยวนี้เห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า พี่ไพบูลย์ท่านมีจิตเมตตาและติดนิสัยในการสอนแบบครูบาอาจารย์ ซึ่งแก้ได้ยากแม้มาเป็นรมว.ที่ต้องทำบทบาทฝ่ายนโยบาย (ฝ่ายการเมือง) แล้วก็ตาม
          เรื่องแต่ละเรื่องพี่ไพบูลย์เล่าให้ที่ประชุมฟัง และที่หยิบขึ้นมาพิจารณาจะใช้เวลาค่อนข้างมากตาม Style ของท่าน ทุกเรื่องนำมาเป็นการสอนงานได้หมด อันที่จริงพี่ไพบูลย์เน้นเรื่องการเรียนรู้ร่วมกันมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นจุดแข็ง แต่บางครั้งถ้ายืดยาวมากเกินไปก็ทำให้ผู้คนเริ่มเบื่อ ผมสังเกตแววตาและสีหน้าผู้ร่วมประชุมทั้งฝั่ง ขรก.และทีมงานรมว.ค่อนข้างเหนื่อย ประเด็นนี้คงต้องระวังและคอยเตือนกัน
          จบการประชุมผู้บริหาร ต่อด้วยการประชุมหารือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการเคหะแห่งชาติ (โครงการบ้านเอื้ออาทร) มีดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ ดร.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ (นายกสมาคมสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงมากเรื่องบ้าน,ที่พักอาศัย)
          พี่ยอดเยี่ยมเป็นนักศึกษารุ่นพี่จากคณะสถาปัตย์จุฬา แก่กว่าผม 1 ปี เมื่อปี 2515-17 เรามีกิจกรรมค่ายบำเพ็ญประโยชน์ของนักศึกษามหาวิทยาลันมหิดล มีพี่สถาปัตย์จุฬามา 2 คนคือพี่ป้อมกับพี่ยอดเยี่ยมคนนี้นี่แหละ แต่เจอกันคราวนี้ผมจำพี่ยอดเยี่ยมได้ แต่พี่ยอดเยี่ยมคงจำผมไม่ได้แล้ว เสียดายที่ไม่มีเวลาได้ฟื้นความหลัง คงต้องเอาไว้โอกาสหน้า
          มีทีมประชาสัมพันธ์กระทรวงกับ สสส.มาประชุมด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน จึงต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่าง 2 ประชุม
          22 พย. เช้าวิ่งไปที่ศูนย์คุณธรรมเพื่อลงนาม TOR โครงการพัฒนาเครือข่ายคุณธรรม LDI ได้รับทุนอุดหนุนจากศูนย์คุณธรรมให้ทำเรื่องนี้ 1 ปี โดยมีงบอุดหนุน 10 ล้านบาท เป้าหมายของโครงการจะเป็นการพัฒนาผู้นำภาคประชาสังคม-ชุมชนท้องถิ่นในเครือข่ายของ LDI ในเชิงคุณธรรม จริยธรรม โดยโครงการมีเป้าหมายที่จะฝึกอบรม พัฒนาความคิด พัฒนาจิตใจ พัฒนาคุณธรรม ทั้งระดับปัจเจกและกลุ่ม-เครือข่าย ตลอดจนสร้างมาตรฐานหรือคุณธรรมพื้นฐานและจริยธรรมสำหรับผู้นำภาคประชาสังคม
          บ่ายต้องรีบเดินทางไปงานสัมมนาสันติวิธีและสมานฉันท์ ซึ่งพม., สถาบันพระปกเกล้า และกระทรวงยุติธรรมร่วมกันจัด มีศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ และ ดร.กิติพงษ์ กิตยารักษ์ (รองปลัดยธ.) เป็นแกน
          ต้องทำหน้าที่ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อย 1 กลุ่ม ว่าด้วยเรื่องสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้อภิปรายคือ ดร.จิราพร บุนนาค (รองเลขาธิการสมช.), รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม และคุณพระนาย สุวรรณรัตน์ ซึ่งเป็น ผอ.ศอบต.คนล่าสุด แต่ไม่ได้มา
          ในที่ประชุมกลุ่มเล็กแต่มีคนดังๆ เข้าร่วมหลายคน เช่น คุณพิชัย รัตนพล, คุณอังคณา นีละไพจิตร ตอนท้ายการประชุมสัมมนา นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มารับฟังข้อเสนอจากเวทีระดมความคิดด้วยตนเอง มีรมว.พม.,รมว.ยธ. มาร่วมงานด้วย
          23 พย. ตอนเช้ามีตัวแทนกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยประมาณ 10 คน เข้ามาพบที่กระทรวง มีอดีตสหายผู้เฒ่าหลายคนที่รู้จักกันมาก่อน เช่น สหายเกื้อ แห่งเขตภูซาง ซี่งเคยมาอยู่ที่ฐานที่มั่นเขตภูเขียว (196) ร่วมกัน, มีลุงขจัด, มีคุณวิทิต จินดาวงศ์ สหายทางภาคอีสาน, คุณกำพล เป็นผู้นำมา
          เมื่อตอนที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สัปดาห์แรกท่านบุกไปอีสาน และเหนือเพื่อพบกับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพื่อสยบกระแสคลื่นใต้น้ำเพราะท่านรู้ดีว่ากลุ่มพวกนี้มีศักยภาพ และอาจเป็นฐานกำลังของฝ่ายทักษิณ มิ้ง (นพ.พรหมินทร์) และอ้วน (ภูมิธรรม)
          ตัวท่านเองก็มีพ่อเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของ พคท. คือ สหายคำตัน หรือพันโท พโยม จุลานนท์ ท่านจึงได้คำสมญาจากหนังสือพิมพ์ว่า เป็น “นายกลูกคอมฯ” ลูกชายของท่าน (รอ.นนท์ จุลานนท์) ก็พลอยถูกเรียกว่า “ลูกทหาร หลานคอมฯ” ไปด้วย
          เมื่อท่านเดินทางบุกไปพบกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจึงได้รับคำชมเชยจากสื่อมวลชนมากว่าท่านเดินยุทธศาสตร์เป็น ท่านไปหลายครั้งหลายหน แต่ละครั้งก็พบกลุ่มสหายเก่าของพ่อจำนวนมากให้การต้อนรับที่อบอุ่น พร้อมกันก็มีการทวงถามถึง “คำสัญญา” ที่รัฐบาลสมัยนั้นเคยให้ไว้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่ว่าจะให้ที่ดินทำกิน และเงินช่วยเหลือเป็นรายคนเพื่อการพัฒนาอาชีพ โดยพวกสหายมีหนังสือยื่นให้กับนายกเป็นลายลักษณ์อักษรเกือบทุกครั้งที่ลงพื้นที่ และเมื่อกลับถึงทำเนียบรัฐบาลแล้ว หนังสือเหล่านั้นได้ถูกมอบหมายมายังกระทรวงพม. นี่เป็นสาเหตุให้พวกเขาจึงต้องมาประสานที่นี่
          ผมเชิญพวกเขามาพบเพื่อปรึกษาหารือว่าจะช่วยอะไรกันได้บ้าง
          ประการแรก การช่วยเรื่องที่ดินทำกิน ทำได้ยากลำบาก เพราะพม.ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง
          ประการที่ 2 การช่วยเรื่องเงินเพื่อพัฒนาอาชีพ ก็คงเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีโดยตรงว่าจะทำอย่างไร
          ประการที่ 3 การช่วยเรื่องพัฒนาชุมชน พัฒนากลุ่ม ส่วนนี้พม.น่าจะช่วยได้ จึงเริ่มจากจุดนี้ มาช่วยกันทำโครงการพัฒนา/ส่งเสริมชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงกัน
          การทำโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในเครือข่ายชุมชนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เป้าหมาย 30 จังหวัด 300 ตำบล ผมดึงน้องๆ จาก LDI มาช่วยกันจัดทำรายละเอียดโครงการ เมื่อเสร็จแล้วให้รีบส่งมาที่ พม.
          ตอนบ่ายทีมงานอ.พิเชษฐ์ เมาลานนท์ มารายงานความคืบหน้าในการร่าง พรฎ.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ ซึ่งยกร่างเสร็จเกือบ 100% แล้ว ช่วยกันขัดเกลาเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ทีมนี้ทำงานรวดเร็วดีมาก น่าจะช่วยงานด้านร่างกฎหมายได้เยอะ ค่อยเบาใจหน่อย เพราะทีมอื่นๆ ยังไม่มีวี่แววเลยว่าจะส่ง (ร่าง)กม.มาถึงมือเมื่อไร
          24 พย. วันนี้เป็นคิว TV ช่อง 11 มาบันทึกเทปสัมภาษณ์เลขารมว.พม.ที่ตึกวัง(ตึกสำนักงานรัฐมนตรี) เนื้อหาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม
          บ่ายพบปะภาคีองค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มใหญ่ มีทั้งสายองค์กรสาธารณประโยชน์ของพม. (กลุ่มอ.สมพร เทพสิทธา, คุณอำนวย อินทุภูติ), กลุ่มองค์กรผู้บริโภค, กลุ่มต้านคอร์รัปชัน, กลุ่มรณรงค์คุณธรรมความโปร่งใส ฯลฯ
          25 พย. ออกวิทยุ “รายการหน้าต่างสังคม” สัมภาษณ์สดเรื่องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม อันที่จริงบทบาทพบสื่อเช่นนี้ ควรเป็นตัวรมว.นำเสนอ แต่พี่ไพบูลย์ท่านมอบความไว้วางใจ และสื่อมวลชนเองก็คาดหวังว่าผมจะให้รายละเอียดรูปธรรมได้มากขึ้น จึงหนีไม่พ้น
          26 พย. มีเวลาได้พักอยู่กับบ้านอยู่กับลูก และจัดระเบียบความคิดเพื่อสัปดาห์ต่อไป
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
26 พฤศจิกายน 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 13 “เดินสายพบเครือข่าย ทีวี วิทยุ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.