สัปดาห์นี้เดินทางมากหน่อย และมีเรื่องร้อนที่รมว.ไพบูลย์ รับมาจากครม. ซึ่งต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวเข้าช่วย
27 พย. เรื่องที่มีความยากเรื่องหนึ่งในฐานะ เลขานุการรมว.คือการพยายามจัดวาระการประชุมทีมรมว.อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา อ.ไพบูลย์เรียกร้องมากแต่ตัวท่านเองก็เป็นอุปสรรคมากที่สุด เพราะหาเวลาที่แน่นอนยาก
แม้นัดหมายแล้วก็มักไม่ได้ตามนั้น ส่วนคทง.ที่ปรึกษาทั้งทีม(4+1) ต่างคนต่างมีภารกิจที่ต้องติดต่อ ประชุม ประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายในพม.และภายนอกกระทรวงตลอดเวลา ผมจึงขอทุกคนว่า 8.00-10.00 น. ทุกเช้าวันจันทร์ขอให้ทุกคน Lock ปฏิทินงานและมาร่วม Share ข้อมูลกันตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ขอวันเดียวเท่านั้น ทุกคนก็ OK
เช้านี้ก็เริ่มด้วยการเลื่อนเวลาจาก 8.00 มาเป็น 10.00 ตามช่วงเวลาของรมว. ก็ยังดีที่ยังได้ประชุม
เช้านี้เราคุยกันถึงเรื่องสืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว จากห้องประชุมครม.ที่ รมว.คลัง (มรว.ปรีดียาธร เทวกุล) หม่อมอุ๋ยได้นำเรื่องพรบ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าครม.เพื่อแก้ไข เรื่องหวยใต้ดิน-บนดินให้ถูกต้องเสียเพราะที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณ ทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงกาล หรือโดยลุแก่อำนาจ(ผสมกัน)ไม่แน่ใจ โดยนำเงินรายได้จากการเอาหวยขึ้นบนดินมาใช้ในการให้ทุนการศึกษาเยาวชน รมว.คลังเจตนาจะทำให้ถูกกฎหมายเสีย ระหว่างนี้ให้งดการออกหวยบนดินสักช่วงหนึ่ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อดังขรมไปหมด มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หม่อมอุ๋ยจึงดึงพม.เข้าไปอิง โดยบอกว่าจะนำเงินรายได้จากสลากกินแบ่งฯมาให้กระทรวงพม.ดูแลเรื่องคนพิการ คนด้อยโอกาส และรณรงค์ลด-ละ-เลิกอบายมุข(การพนัน) โดยบอกด้วยว่าจะเร่งผลักดันกฎหมายให้ผ่าน 3 วาระรวด!!
ได้เรื่องเลย เพราะสื่อมวลชนหันมาโฟกัสที่อ.ไพบูลย์และพม.ว่าจะมีท่าทีอย่างไรและจะทำอย่างไรต่อไป
(ร่าง) แก้ไขพรบ.สำนังกานสลากกินแบ่งฯผ่านจากครม.ไปสู่สภานิติบัญญัติ(สนช.) อย่างรวดเร็ว สนช.นัดพิจารณาวาระแรก เสียงของผู้นำสังคมและนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ครูหยุย(วัลลภ ตังคณานุรักษ์), คุณโสภณ สุภาพงษ์, มหาจำลอง ศรีเมือง, นต.ประสงค์ สุ่นศิริ, ฯลฯ แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนกันอย่างคึกคักและแข็งกร้าว
การประชุมสนช.นัดหมายวันที่ 29 พย. ซึ่งเป็นโปรแกรมที่รมว.พม.ต้องไปพิษณุโลกด้วยกัน จึงต้องมอบให้ผมเป็นหัวหน้าทีมลงพื้นที่แทน พร้อมกับมอบหมายให้ช่วย(ร่าง)ทำแผนงานรณรงค์ชี้วัดมั่นคงปลอดอบายมุขเพื่อเสนอต่อรัฐบาลด้วย
พอข่าวนี้ออกไป สื่อมวลชนไล่ตามหาผมเพื่อสัมภาษณ์ว่าพม.จะรณรงค์อย่างไร ผมต้องบอกไปว่า “ขอเวลาหน่อย” เพราะเพิ่งได้รับภาระมาสดๆร้อนๆจะเอาอะไรด่วนๆเลยเชียวหรือ?? นสพ.โพสต์ทูเดย์ขอนัดสัมภาษณ์วันศุกร์นี้เลย แม้ว่ายังไม่พร้อมมากก็จะขอมาทำข่าว(เป็นการช่วงชิงกันระหว่างนสพ.แต่ละฉบับ)
28 พย. คณะทำงาน GDH มาพบเพื่อประสานความร่วมมือในการจัดงานสัมมนาวิชาการ World Conference ครั้งที่ 3 มีนพ.อุกฤษณ์ เป็นแกน
การประชุมนานาชาติเรื่อง GNH ได้มีขึ้น 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกที่ภูฏาน ครั้งที่ 2 ที่แคนาดา ครั้งที่ 3 จะมาจัดที่ประเทศไทย โดยมีมูลนิธิเสถียรโกเศศ ของ อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เป็นแกนร่วมกับศูนย์คุณธรรม ซึ่งช่วงที่คณะของศูนย์คุณธรรมไปทัศนศึกษาที่ภูฏานก็ได้พบกันที่นั่นพอดี ตกลงกันว่าเราจะช่วยกันเป็นเจ้าภาพ
หมออุกฤษณ์ บอกวาทำรายละเอียดคืบหน้าไปมากแล้ว จะมาปรึกษาว่าพอดีรมว.มาอยู่ที่พม.จะเป็นตัวประสานรัฐบาลได้หรือไม่ และรัฐบาลจะร่วมเป็นเจ้าภาพอย่างไร จึงบอกว่าเรื่องนี้สบายมากแล้ว ช่วงที่ไปภูฏานตอนนั้นพวกเราเป็น NGO เราก็ยังจะจัดกัน แต่ตอนนี้มาเป็นรัฐบาลก็ยิ่งง่ายใหญ่ ขอให้ทีมทำ Proposal มาเลย เราจะตั้งเรื่องเข้าครม.เพื่อสมทบงบประมาณและร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างเต็มตัว
29 พย. ไปเวทีเครือข่ายยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกันของภาคเหนือตอนล่างที่พิษณุโลก ลงสนามบินแล้วตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมแม่(คุณย่า) ที่บ้านสักช่วงใดช่วงหนึ่งจึงโทรไปบอกไว้ก่อน จากนั้นเขาพาไปที่หมู่บ้านเขตรอยต่ออ.วังทอง กับ อ.เมือง (บ้านหนองม่วง) ที่นั่นเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่าง ชุมชนเข้มแข็งดีทีเดียว มีผู้นำ 2 คนผัวเมียทำงานเสียสละด้วยแรงบันดาลใจว่า “ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เมื่อแก่ตัวจะได้มีเพื่อนบ้านที่อบอุ่น”
ที่นั่นเขาดูแลเรื่องกลุ่มเรื่องอาชีพดีมาก ครอบครัวทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีกลุ่มแม่บ้านทำน้ำพริกแกงขาย คนแก่ปลูกตะไคร้-ขิงข่า กระชายมาขาย เด็กช่วยกันจัดเตรียมวัตถุดิบ แม่บ้านช่วยกันบดน้ำพริกและบรรจุ ทุกคนมีรายได้เสริมจากกิจกรรมกลุ่ม เป็นการทำงานตอนบ่ายหรือเลิกงานประจำของตน
ที่นาที่ถูกน้ำท่วม กลุ่มก็คิดพลิกแพลง ทำการเช่าและปลูกผักกระเฉด ช่วยกันดูแลและเก็บขายเป็นรายได้ทั้งสิ้น
คนพิการในหมู่บ้าน คนปัญญาอ่อน พวกเขาก็ใช้พลังกลุ่ม พลังชุมชนช่วยกันดูแลไม่ปล่อยให้เป็นภาระของญาติพี่น้องตามลำพัง
ที่ว่างสาธารณะและบึงน้ำขนาด 28 ไร่ พวกเขาช่วยกันพัฒนาและทำเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา ซึ่งจะปล่อยให้ประชาชนมาเอาไปเป็นอาหารได้ปีละครั้ง โดยซื้อบัตรอนุญาติ รายได้นำเข้าชุมชน
ไปดูคุณลุงคนหนึ่งเผาถ่านจากกิ่งไม้แห้ง กิ่งไม้สดที่ตัดจากสวน ได้ทั้งถ่านและได้ทั้งน้ำส้มควันไม้ (Vinegar) เตามีขนาดเล็กๆ เหมาะกับครอบครัวเกษตรกรมาก ลงทุนน้อยเดียว ดูแล้วคิดถึงโครงการพลังงานชุมชนมาก อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสเลย
เวทีเสวนาที่นี่เขาจัดที่วัด TV ช่อง 11(ภูมิภาค) มาบันทึกรายการเพื่อนำไปออกอากาศ รอบแรกเป็นตัวอย่างดีๆ ในการช่วยเหลือผู้ยากลำบากโดยชุมชน มีกรณีของคุณสมไทย เจริญวงศ์ (บริษัทวงศ์พาณิชย์) ที่ทำเรื่องขยะจนลือลั่น เขามี Concept ที่ดีมากที่มองว่า“ขยะเป็นทอง” คือมองให้เห็นศักยภาพที่อยู่ในขยะ แทนที่จะมองว่าเป็นภาระต้องกำจัด เป็นของเสียของน่ารังเกียจ เช่นเดียวกันเขาให้แง่คิดที่คมมากว่า “มองคนป้ำๆเป๋อๆ ในสถานพินิจไปเห็นศักยภาพของเขาแล้ว Recycle มนุษย์เป็นๆ” เขาบอกว่าเขาชอบไปทำทานเลี้ยงคนเร่ร่อนเหล่านี้เป็นประจำ วันหนึ่งเกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงดูมีวินัยมาก! เวลาให้ตั้งแถวมารับทาน สั่งอย่างไรได้อย่างนั้นไม่มีแตกแถว ผิดกับคนงานในบริษัทของตน จึงทอลองขอมาช่วยทำงาน Recycle ขยะที่บริษัท ปรากฏว่าได้ผลดีมาก!! นี่คือการดูแลไม่ทอดทิ้งกันที่มีนวัตกรรมมาก
กรณีของผู้ใหญ่บ้านทำเศรษฐกิจพอเพียงที่พิษณุโลก, กรณีกำแพงเพชรที่เริ่มจากฌาปนกิจสงเคราะห์มาสู่การทำกลุ่มออมทรัพย์และสวัสิดการชุมชนที่ขยายไปทั่วจังหวัด, กรณีพิจิตรที่ทำเกษตรปลอดสารพิษเกษตรอินทรีย์กันอย่างคึกคักขยายตัว แก้ปัญหายากจนหนี้สินได้และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน, กรณีชมรมคนพิการที่สุโขทัย ผู้นำเป็นคนมีการศึกษา เคยมาทำงานกรุงเทพฯแล้วประสบอุบัติเหตุ ตาบอด 2 ข้าง กลับบ้านไปมีแรงบันดาลใจเมื่อตนเองต้องพิการ จึงเข้าใจคนยากลำบากและอุทิศตนทำงานเพื่อคนอื่น จิตใจช่างยิ่งใหญ่แท้, กรณีเพชรบูรณ์ที่มีการสำรวจคนยากลำบากแล้วมีแผนเข้าช่วยเหลือกันจริงจัง
ได้ร่วมวงเสวนากับเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งแบบนี้แล้วก็ได้ idea และแรงบันดาลใจใหม่ๆ ทุกครั้ง
ทีมน้องๆ นักข่าวที่ไปจากกรุงเทพฯ มารุมสัมภาษณ์บันทึกภาพและเทปมากมาย วิทยุจากกรุงเทพฯก็สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เสียยาวยืด ว่าลงพื้นที่แล้วพบเห็นอะไร พม.จะทำอย่างไรต่อ
ตอนเย็นมีโปรแกรมพบจนท.พม.ทุกหน่วยในพท. ที่สถานสงเคราะห์วังทอง ที่ๆคุณย่าและลูกๆมาทำบุญทำทานเป็นประจำทุกปี ที่นั่นผมเปิดโอกาสให้จนท.ได้ระบายความรู้สึกกันเต็มที่ บรรยากาศเป็นกันเองมากเพราะไม่มีรมว.ไปด้วย ดูจากสีหน้าแววตาแล้วคิดว่าทุกคนน่าจะมีความเข้าใจในนโยบายและภารกิจของรมว. มีกำลังใจ มีความอุ่นใจมากขึ้นเยอะ จากที่แรกๆ เกร็งกันหมดว่าทีม รมว. NGO เข้ามาบริหารกระทรวงพม.แล้วจะเป็นอย่างไร!
เสร็จแล้วต้องรีบขึ้นเครื่องบินกลับกทม.เลย จึงไม่ได้ไปเยี่ยมแม่ เพียงแต่โทรฯไปบอก ไม่เป็นไรสัปดาห์หน้าจะมาพิษณุโลกอีกครั้งอยู่แล้ว
30 พย. เครือข่ายชุมชนเป็นสุขภาคเหนือตอนล่างจัดประชุมใหญ่ประจำปีที่จ.เพชรบูรณ์ เครือข่ายส่งแกนนำไปเชิญถึงกระทรวงพม.ขอให้มาเป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ พยายามอธิบายว่ามีเวลาทำงานที่กระทรวงน้อยถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากไปไหน แต่ก็ต้องไปที่เพชรบูรณ์ด้วยความเต็มใจ
เดินทางจากบ้านตั้งแต่เช้า 7.00 น. เพราะบรรยายบ่ายโมง ทางกระทรวงโดยสำนักรัฐมนตรีเป็นธุระจัดหารถตู้และคนขับให้เสร็จ มีพัชราและศุภวัฒน์ติดตามไปเป็นเพื่อน
เขาจัดงานที่วัดใหญ่กลางเมืองเพชรบูรณ์ สถานที่กว้างขวาง มีศาลาการเปรียญหลายหลัง ทางเจ้าอาวาสหนุนประชาชนเป็นอย่างดี เครือข่ายมาใช้ประชุมเป็นประจำ
พมจ.ที่นี่ทำงานเข้ากับเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคมได้เป็นอย่างดี งานนี้ก็มาร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย
บรรยายในหัวข้อเศรษฐกิจพอเพียงกับงานชุมชนเข้มแข็งถือโอกาสปราศัยกลางแจ้ง แดดเปรี้ยงๆเลย สังเกตดูว่าคนฟังมีความสนใจกันพอสมควร
ขากลับพัชราและศุภวัฒน์บอกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ฟัง Lecture เศรษฐกิจพอเพียง และวัฒนธรรมชุมชนจากคุณหมอ เห็นบอกว่าคุณเกษร พงษ์มณี สสอ.หล่มศักดิ์ ซึ่งกำลังเรียนปริญญาโทกับดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อยู่พูดว่า “ข้อสอบปริญญาโทของเกษรอยู่ในนี้หมดแล้ว!”
หมอพงศฺพิชญ์ พงศ์มณี ผอ.รพ.หล่มศักดิ์ เจ้าของตำรับ “กองทุนโรงพยาบาลตำบล” อันลือชื่อก็มาต้อนรับและรับฟังอยู่ด้วย
กลับถึงบ้าน 2 ทุ่ม
1 ธค. วันนี้สัมภาษณ์สื่อ 3 รายการ วิทยุ 1, TV 1 และนสพ.โพสต์ทูเดย์ สาระที่สื่อกำลังสนใจคือ การรณรงค์ส่งเสริมชี้วัดมั่นคงปลอดอบายมุข ที่พม.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการ
เรื่องเรื่องคือ รมว.คลัง(มรว.ปรีดียาธร เทวกุล) นำพรบ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าครม.และผ่านเข้าสู่สภาโดยสัมภาษณ์สื่อว่าจะให้ผ่าน 3 วาระรวด เท่านั้นแหละแรงต้านหือขึ้นทันที ด้านหนึ่งเป็นเพราะหม่อมอุ๋ยเป็นรัฐบาลไปพูดว่าจะผ่าน 3 วาระรวด เป็นการไม่เคารพสนช.เสมือนหนึ่งว่าจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้เหนือนรัฐบาลและรัฐสภาชุดที่แล้ว อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะเรื่องหวยเป็นเรื่องร้อนที่มีคนเห็นต่างกันได้อย่างสุดขั้วและพร้อมที่จะแสดงตันตนออกมาต่อสู้กันได้ตลอดเวลา มหาจำลองและนต.ประสงค์ สุ่นศิริ จึงพูดทำนองว่า “รัฐบาลมีเรื่องมากมายที่ต้องทำกลับไม่ทำ แต่ดันมาทำเรื่องหวย!!”
เมื่อสนช.เปิดประชุมสาระที่ 1 ก็ตกม้าตาย กำหนดอภิปราย 2 วัน แต่ผ่านไปวันเดียวเท่านั้น รัฐบาลต้องยอมถอนเรื่องออกมาแก้ไขตั้งหลักใหม่ ไม่กล้าที่จะยืนยันให้สนช.ยกมือโหวต เพราะถ้าขืนดันทุรังให้โหวตแล้วเกิดแพ้ขึ้นมา รัฐบาลต้องลาออกโดยกติกามารยาทเลยทีเดียว
เมื่อเป็นดังนี้ หม่อมอุ๋ยจึงดึงอ.ไพบูลย์ ไปอยู่ข้างๆตลอดเวลา เพื่อปรึกษาและเพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ที่สุดเมื่อต้องดึงเรื่องกลับมา หม่อมอุ๋ยจึงมอบหมายให้อ.ไพบูลย์(พม.) ทำโครงการรณรงค์ลดละเลิกอบายมุข เพื่อเป็นการแก้เกมส์สำหรับการนำพรบ.กลับเข้ามาสู่สภาอีกครั้ง
นี่เป็นเหตุให้สื่อมวลชนมุ่งมาหาผม เพราะพวกเขารู้ดีว่าการบ้านชิ้นนี้ อ.ไพบูลย์จะให้ใครทำ
ผมสัมภาษณ์สื่อโดยออกตัวว่า ยังไม่ได้ทันได้คิดรายละเอียดอย่างรอบคอบเพราะยังเร็วเกินไป ผมขอเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์นี้จะคิดรายละเอียดให้เรียบร้อยโดยพื้นฐานเพื่อจะได้เสนอต่อรมว.และทีมงานช่วยกันทำให้สมบูรณ์โดยเร็ว และเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
3 ธค. วันอาทิตย์ช่วงเช้า ไปร่วมงานเปิดการแข่งขันกีฬาคนพิการร่วมกันรัฐมนตรี มีโอกาสได้คุย idea รณรงค์กันบ้าง ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน
ที่แน่ๆ คือคืนนี้อดนอนเช่นเคย เพราะต้องประมวล/สังเคราะห์ Concept ทั้งหมดในการรณรงค์ลดละเลิกอบายมุข
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
3 ธันวาคม 2549
Be the first to comment on "ตอนที่ 14: หม่อมอุ๋ยโยนเรื่องร้อนมาให้"