ตอนที่ 15: “เขียนแผนท่ามกลางการเคลื่อนไหวและเดินทาง”

          สัปดาห์นี้ครม.งดประชุมเพราะวันอังคารเป็นวันที่ 5 ธค. 2549 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ซึ่งทั้งวันที่ 4-5 มีงานพระราชพิธี ทำให้มีเวลาอีก 1 วัน ในการทำโครงการลดละเลิกอบายมุข

          4 ธค. รับปากคณะทำงานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมพิษณุโลกและภาคเหนือตอนล่างเอาไว้ จึงต้องเดินทางไปแสดงปาฐกถานำเรื่อง “พัฒนาการของชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือตอนล่างในการพัฒนาสังคม”
กลุ่มอนุรักษ์พิษณุโลกและภาคเหนือตอนล่างเป็นภาคีสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมาตั้งแต่ยุค LDAP สมัยนั้นกองทุน LDAP ได้ให้ Grant สนับสนุนกลุ่ม NGO ที่พิษณุโลกทำงานเรื่องชุมชนและทรัพยากรป่า ทำงานที่บริเวณอ.เนินมะปราง ประมาณปี 2529 จึงเกิดเป็นหน่ออ่อนของชุมชนเข้มแข็งที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ปี 2538 เครือข่ายนี้เริ่มเชื่อมโยงกับเครือข่ายส่งเสริมประชาธิปไตยและเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่นๆ รวมทั้งเครือข่ายเอดส์, เครือข่ายป้องักนยาเสพติด, เครือข่ายเยาวชน, เครือข่ายพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA)

ปี 2543 ผมได้รับเชิญให้เป็นประธานที่ปรึกษาของเครือข่ายที่พวกเขาใช้ให้ทำนั่นทำนี่ ซึ่งก็รับด้วยความยินดี และก็มีความชื่นชมที่เห็นพวกเขาเข้มแข็งและขยายตัวมากขึ้นจนปัจจุบัน
ในวันงาน ผู้ว่าฯและนายกอบจ.มาร่วมเปิดงานด้วยตนเองมีนายกอบต.ปากโทกเข้มแข็งมาก บริเวณจัดงานเป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำจุดที่แม่น้อแดงน้อยและแม่น้ำน่านมาบรรจบกันบริเวณดังกล่าวเขาพัฒนาเป็น “เรือนแพ” เป็นที่ท่องเที่ยว และปรับปรุงบริเวณตลิ่งจนมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ชุมชนใช้บริเวณที่จัดงานตามประเพณีกันเป็นประจำ
หลังบรรยายไปร่วมพิธีปล่อยปลา และสืบชะตาแม่น้ำน่าน มีผู้สื่อข่าวท้องถิ่นทั้ง TV,วิทยุ และหนังสือพิมพ์ไปหลายคน คาดว่าคงจะเป็นข่าวในช่วงเย็นหรือวันต่อมา
          เสร็จจากงานบรรยาย รีบบี่งรถไปที่สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนเพื่อประชุมคณะกรรมการบริหารสพอ.เสียเลย แทนที่จะเป็นวันนัดเดิมเสาร์ที่ 9 ธค. มีกรรมการมาร่วมประชุมหลายคน จึงถือโอกาสเล่างานพม.ที่จะเชื่อมกับ สพอ.และเครือข่ายภาคประชาชนพิษณุโลกและภาคเหนือตอนล่าง ตามยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ
          บ่ายแก่ๆ เสร็จประชุมจึงมีเวลาอยู่กับแม่ที่บ้าน และถือโอกาสนั่ง draft โครงการฯจนถึงเวลาเครื่องบินออก 19.50 น.
          เที่ยวบินกลับเจอศ.นพ.(ดร.)ศุภสิทธิ์ พรรณารุโนทัย เพื่อเรียนมหิดล แกจบแพทย์รามา เรียนเก่งมาก เป็นคนสุโขทัย เป็นนักวิชาการที่มีศักยภาพสูงมาก และมีพื้นฐานแนวคิดที่ก้าวหน้าเข้าใจภาคประชาชนเป็นอย่างดี ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร แกกำลังจะบินไปเจนีวาเพื่อประชุมวิชาการ
          5 ธค. เขียนแผนงานส่งเสริมชี้วัดมั่นคงปลอดอบายมุขเสร็จ ส่งไปให้พัชราช่วยพิมพ์ เพื่อพรุ่งนี้เช้าจะได้ขอความเห็นจากรมว.และทีมงาน
          แผนงานนี้มุ่งรณรงค์ส่งเสริมชีวิตมั่นคง-พอเพียงควบคู่ไปกับรณรงค์ลด-ละ-เลิกอบายมุขที่เน้นเฉพาะการพนันเป็นหลัก เสนอเป็นแผนงาน 5 ปี โดยของบประมาณปีละ 500 ล้าน  รวมเป็น 2,500 ล้านบาท
          6 ธค. ประชุมทีมคณะทำงานรมว. จึงทราบว่ามีร่างโครงการที่คุณสิน และคุณหมอกฤษดา(สสส.) ทำมาอีก 2 ร่าง
          รมว.ดูทั้งหมดแล้วเห็นว่าน่าจะใช้ฉบับของหมอพลเดชเป็นแกนเพราะสมบูรณ์กว่าเพื่อน ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเต็มจนหมดเวลา รมว.ต้องเป็นประธานพิธีแถลงข่าวงานเครือข่ายสตรี
          สำหรับเรา ต้องมีหน้าที่ทำ document “แผนงาน” ให้สมบูรณ์เพื่อเตรียมเข้าครม.ให้ทันในวันที่ 12(อังคารหน้า) นั่นหมายความว่ามีความยากลำบากอย่างน้อย 2 ด่านที่ต้องฝ่าข้ามไป ด่านแรกคือการจัดทำเอกสารแผนงานฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จภายในพรุ่งนี้ ด่านสองคือการ Lobby เพื่อให้บรรจุเข้าเป็นวาระประชุมครม.ให้ทันในวันศุกร์(มะรืน)
          บ่ายนั้นทั้งบ่าย สมาธิมุ่งอยู่ที่การจัดทำเอกสารโครงการฯจนแล้วเสร็จโดยพื้นฐาน จนท.ช่วยกันพิมพ์ พรุ่งนี้เช้าจะได้ดูอีกครั้ง
          7 ธค. รมว.มีนัดประชุมกับทีม สกว.(ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย) ที่มาเสนอโครงการบูรณาการแก้ความยากจนที่เป็นส่วนขยายของโครงการซึ่ง สกว. และศตจ.ปชช. ได้ทำเมื่อปีที่แล้ว และได้รับความชื่นชมจากผู้ใหญ่มาก (ในขณะที่พวกเราไม่ได้ Appreciate มากขนาดนั้นด้วยเลย!!)
          เขาอยากจะชวนพม.ร่วมโครงการกันโดยสมทบงบประมาณด้วย ผมเสนอว่าควรทดลองส่วนหนึ่ง ไม่เกิน 4 จังหวัด ในขณะที่เขาจะทำทั้งหมด 12 จังหวัด
          8 ธค. ไปอยุธยาแทนรมว.พม. เพราะท่านติดงานที่ทำเนียบ เนื่องด้วยนายกรัฐมนตรีจะประกาศวาระแห่งชาติว่าด้วย “คุณธรรมและธรรมาภิบาล”  แม่งานคือคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ท่านบังคับเลยว่าอ.ไพบูลย์ต้องอยู่ด้วย!!
          ที่อยุธยาเครือข่ายชุมชนเป็นสุขภาคกลางจัดสมัชชาประจำปี เชิญ รมว.ไพบูลย์ ไปเป็นคนแสดงปาฐกถานำ อ.ไพบูลย์ เป็นคน.ผักไห่ จ.อยุธยา อยู่แล้วท่านจึงปวารณาตัวเป็นพิเศษ แต่ท่านไปไม่ได้จริงๆ จึงส่งเลขานุการมาแทน
          คนมาประชุมเต็มห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประมาณ 6-700 คนทีเดียว ลุงสุรินทร์ กิจนิตชีว์ เป็นหลัก งานคึกคักมากทีเดียว
          กลับจากอยุธยา เข้ากระทรวงเพื่อดูความเรียบร้อยของเอกสารที่จะเข้าครม. จึงต้องมั่นใจว่าถึง สลค.แล้ว และ สลค.ได้บรรจุเรื่องพวกเราเข้าแน่
          สร.(สำนักงานนายกรัฐมนตรี) แจ้งว่าเรื่องนี้ปกติเข้าไม่ได้ เข้าไม่ทัน เพราะมีประเด็นเสนอของบประมาณด้วย และเป็นงบประมาณสูงถึง 2,500 ล้าน แต่พวกเขาก็พยายามสุดฤทธิ์ที่จะเอาเข้าให้ได้เพราะเจ้านาย (เลขารมว.) สั่งต้องได้! พรุ่งนี้เสาร์-อาทิตย์ และต่อด้วยจันทร์ที่ 11 ธค. หยุด ชดเชยวันรัฐธรรมนูญอีกด้วย จะได้เข้าครม.หรือไม่จะรู้ก็ต่อเมื่อบ่าย-เย็นวันจันทร์นั่นแหละ
          ตกลงวันหยุด 3 วันนี้จนท.สร.ต้องใช้เวลาทำงาน Lobby และหารือวิธีการกับสลค.อย่างใกล้ชิด
          จนในที่สุดเย็นวันอาทิตย์จึงโทรมาบอกว่าเรื่องบรรจุเข้าครม.แน่นอนแล้วโดยผ่านช่องทางพิเศษ ขอให้นายกเซ็นต์โดยไม่ทันได้ผ่านรองนายกปรีดียาธร!
          งานเลขานุการรัฐมนตรี หากจะมุ่งความสำเร็จของงาน และเป็นการทำเพื่อสาธารณะจริงๆนั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้เวลา และใช้ความเท่าทัน ตลอดจนความสามารถเฉพาะตัวเอามากๆทีเดียว
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
10 ธันวาคม 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 15: “เขียนแผนท่ามกลางการเคลื่อนไหวและเดินทาง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.