ตอนที่ 16: “สู่สวัสดิการสังคม”

          11 ธ.ค. เป็นวันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ แต่ทีม สร. (สำนักงานรัฐมนตรี) ซึ่งลุ้นและผลักดันให้แผนงานส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุขเข้าคู่วาระ ครม. นั้นยังคงทำงาน และที่สุดตอนบ่ายโทรมารายงานว่าได้เข้า ครม. เป็นวาระเพื่อพิจารณา (เพิ่มเติม) ซึ่งต้องขอให้เลขา รมว. Standby  เพื่อชี้แจง ครม. ด้วยตนเอง

                    ตกลงว่าอังคารนี้มีเรื่องของ พม. เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ถึง 5 เรื่องใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละเรื่องต้องมีผู้รับผิดชอบหน่วยงาน (อธิบดี, ปลัดกระทรวง) เข้าประจำเพื่อชี้แจง
                    1. (ร่าง) พ.ร.บ. แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว     (สค.)
                    2. (ร่าง) พ.ร.บ. คนขอทาน                                (สท.)
                    3. (ร่าง) พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา           (สป.พม.)
                    4. งบประมาณโครงการบ้านมั่นคง                         (พอช.)
                    5. แผนงานส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข             (สร.)
                    มองในด้านหนึ่งสะท้อนศักยภาพของกระทรวง พม. ในยุคนี้ที่สามารถนำเรื่องเข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาของ ครม.พร้อม ๆ กันมากขนาดนี้   นี่ผมถือเป็นโบว์แดงทีเดียว  ในอีกด้านหนึ่ง พม.ได้กระตุ้นให้กระทรวงทางสังคมอื่น ๆ ต้องขยับตัวตามกันจ้าระหวั่นเช่นกัน

12 ธ.ค. ที่หน้าห้องประชุม ครม. เขาจัดที่พักสำหรับรอชี้แจง ครม.ให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่าง ๆ 2-3 ห้อง ผู้คนคราคร่ำไปหมดซึ่งก็เป็นแบบนี้ทุกครั้งที่มีประชุม ครม. เพราะแต่ละครั้งจะมีเรื่องเพื่อพิจารณา จำนวนร่วม 20 เรื่องทีเดียว   เรื่องของกระทรวงใด กรมใด ผู้บริหารของหน่วยงานต้องถือ Priority เลยว่าต้องมา สำเร็จ-ล้มเหลวของแต่ละเรื่อง นับว่า ครม.คือด่านสำคัญ

                    มีเรื่องเล่าที่เคยได้ยินจากทีมงานไทยรักไทย สมัยรัฐบาลทักษิณว่า เรื่องที่บรรจุเข้า ครม.พิจารณาได้นั้นมีราคาและต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะกันทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพิจารณาที่เกี่ยวกับการอนุมัติโครงการก่อสร้าง, โครงการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มติ ครม. เร็วหรือช้า อนุมัติหรือไม่อนุมัติมีผลต่อธุรกิจของเอกชนที่เกี่ยวข้องนับพัน ๆ ล้านบาท จึงทำให้นักธุรกิจต้องวิ่งเต้น ยิ่งเป็นรัฐบาลแบบธุรกิจการเมืองด้วยแล้ว   เรื่องประเภทนี้ทำกันจนเป็นปกติวิสัยเลย
                    เข้าใจว่าปัจจุบัน โครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและการลงทุนก็คงจะยังมีระบบนั้นหลงเหลืออยู่บ้าง   แต่โครงการทางสังคมนั้นไม่มีเพราะไม่รู้ว่าใครจะได้ประโยชน์ส่วนตัวที่ตรงไหน
                    การชี้แจง ครม. วันนี้เห็นรองอธิบดีของ สท., สค., สป. และ ผอ.พอช. มาร่วมชี้แจงโดยพร้อมเพรียง โดยมีคุณอัจฉราพรรณ (รก.หน.สร.) ทำหน้าที่ประสานงานทั้งระบบ คุณชูเกียรติ ผอ.กองนิติการก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องยืนคู่กับทุกกรมเพราะเป็นผู้รับผิดชอบงานกฎหมายของกระทรวง พม. โดยตรง
ในห้องประชุม ครม. เขาจัดเป็นรูป  หัวอยู่ที่ก้นตัวยูซึ่ง นรม. และรอง นรม. นั่งตรงนั้น รมว.ของแต่ละกระทรวงนั่งตามขาตัวยู ส่วนคอกสำหรับผู้ชี้แจงอยู่ตรงข้ามกับ นรม. เขาจัดที่นั่งให้เป็น 4  ที่นั่ง เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่จะออกมาเชิญให้พวกเราเข้าไปทีละทีมสุดแต่ว่าจะถึงวาระของใคร
ในการนำเสนอวาระพิจารณา เลขาธิการ สลค. (สำนักเลขาธิการ ครม.)จะเป็นผู้สรุปประเด็นและนำเสนอต่อที่ประชุม จากนั้น รมว. เจ้ากระทรวงที่เป็นที่เป็นเจ้าของเรื่องจะอธิบายเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ และหากต้องมีการชี้แจงเพิ่มก็อาจจะเชิญเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของกระทรวงนั้น ๆ เป็นผู้อธิบาย ตอบข้อซักถามจนกระทั่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สรุปผลการพิจารณาว่าจะอนุมัติ ไม่อนุมัติ หรือให้กลับไปแก้ไขเพิ่มเติม ฯลฯ
วันนี้วาระของผมทั้ง 5 เรื่อง ผ่านไปได้ด้วยดี เรื่องโครงการบ้านมั่นคงใช้เวลามากหน่อยเพราะมีความซับซ้อนในประเด็นปัญหาและเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลก่อน
เรื่องแผนงานส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข ผมเข้าไปนั่งอยู่ในคอกชี้แจงเพียงคนเดียว แต่ไม่ได้พูดอะไรเลย เพราะอาจารย์ไพบูลย์ท่านตอบโต้ข้อซักถามของที่ประชุมได้เป็นอย่างดีเพราะท่านร่วมคิดร่วมจัดทำรายละเอียดมาตั้งแต่ต้น สรุปว่า หม่อมอุ๋ย รมว.คลังและ รอง นรม. อยากให้นำกลับไปบูรณาการเป็น package เดียวกับโครงการจัดสวัสดิการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการผู้ยากลำบาก
ผมฟังหม่อมอุ๋ยอภิปรายใน ครม. เข้าใจทันทีว่า เรื่องนี้เราด่วนนำเข้า ครม. เร็วเกินไป โดยไม่ได้หารือกับท่านเสียก่อน ที่เรารีบก็เพราะเราต้องการส่งการบ้านให้ทันภายใน 2 สัปดาห์ ที่รับปากมาจาก ครม. คราวก่อนโน้น   การผ่านเรื่องเข้า ครม. จึงต้องอาศัยนายกลงนามแบบเร่งด่วนแทนที่จะผ่านรองฯ อุ๋ยลงนามตามที่วางแผนไว้กับเจ้าหน้าที่ สร./สลค. ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่เจ้าหน้าที่ สลค. จะให้รองฯ อุ๋ย ดูได้ก่อนเพราะเป็นช่วงวันปิดยาวต่อเนื่อง
เมื่อสถานการณ์จากเวที ครม.เป็นเช่นนี้ ครม.รับหลักการโครงการแล้วแต่ให้นำไปปรับเพิ่ม ผมกำหนดในใจว่า ภายในอังคารหน้า (19 ธ.ค.) เราจะต้องทำโครงการใหม่ให้เสร็จและพร้อมที่จะให้ครม. เรียกหาจาก รมว.ของผมได้ทุกเมื่อ!!!!
และต่อไปควรขยับจากสภาพของแผนงานสู่การกำหนดเป็นแนวนโยบายหนึ่งของกระทรวง พม.ทีเดียว
13 ธ.ค. เข้าประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมครั้งที่ 1 เพื่อทำความเข้าใจในบทบาทและภารกิจของคณะกรรมการ และทำความเข้าใจยุทธศาสตร์สังคมโดยรวม ตลอดจนเป็นการให้ข้อมูลว่าทางกระทรวง พม. และทีมงาน รมว. ได้เคลื่อนอะไรไปล่วงหน้าบ้าง
ที่ประชุมติดขัดอยู่บ้าง เพราะเป็นครั้งแรก และตัวเลขานุการคณะกรรมการเองก็ไม่ได้เตรียมการเองทั้งหมด ทีมผู้ช่วยเลขาคือ สนย. อยู่ที่บ้านราชวิถี ในขณะที่ทีม รมว.อยู่ที่สะพานขาว สภาพทางกายภาพของกระทรวงที่แยกกันอยู่เช่นนี้ก็เป็นอุปสรรคไม่น้อย
ผมเองไม่ได้เอกสารล่วงหน้าพอที่จะเตรียมประธาน (รมว.) และ ทปษ. เอนกจึงสุดวิสัยที่อาจไม่สบอารมณ์พี่เอนกอยู่บ้าง
เรื่องแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่วางแผนไว้ว่าจะพูดกันโดยไม่ลงลึกถึงรูปธรรม เพราะเป็นการประชุมครั้งแรก แต่เอาเข้าจริง ๆ กลายเป็นเรื่องที่ใช้เวลาที่ประชุมมากเพราะกรรมการให้ความสำคัญ
ประเด็นโครงการบูรณาการแก้ยากจนในจังหวัดนำร่องของ สกว. (ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย) และการจัดสวัสดิการทางสังคมระดับชุมชนท้องถิ่น (ทปษ. เอนก นาคะบุตร) จึงถูก อภิปรายแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางโดยที่ยังไม่มีข้อสรุปอะไรที่เป็นมติตายตัวนัก   แต่ว่าทอดเวลาไปสู่การประชุมนัดหน้า จะได้มาพูดกันอย่างลงลึก
บ่าย นัดเจ้าหน้าที่ของ พม. ทุกกรมที่มีงาน จชต. มาปรึกษาหารือวิธีทำงานกันหน่อยว่า ใน 3 จชต. หน่วยงาน พม. ของเราควรจะช่วยกันทำอะไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง
สป.พม. มีงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเด็กกำพร้าและแม่หม้าย รับผิดชอบทั้งเรื่องการจ่ายค่ายังชีพและการพัฒนาอาชีพกลุ่มแม่หม้าย
กคช. มีงานโครงการบ้านเอื้ออาทรใน 3 จังหวัด แต่ติดปัญหาหาที่ผู้รับเหมาทำงานยากเพราะไม่ปลอดภัย ผู้รับเหมาทิ้งงานเพราะทั้งอันตรายและค่าใช้จ่ายสูงไม่คุ้มการลงทุน   ผู้ช่วย ผวก.กคช. ดีใจมากที่รู้ว่าวรรณชัย (ดอน) จะช่วยประสานได้ จึงขอที่ติดต่อเพื่อประสานงานทันที
พส. มีนิคมสร้างตนเองอยู่ 5-6 แห่ง ใน 3 จชต. ให้ข้อมูลว่าแม้สถานการณ์รุนแรงมาก แต่ในเขตนิคมยังไม่ปรากฎเหตุร้ายยกเว้นคนในนิคมไปโดนลูกหลงข้างนอกก็มีบ้าง
พอช. มีงานบ้านมั่นคงและงาน ศตจ. ปชช. ใน 3 จชต. ซึ่งก็พอทำงานไปได้แต่ก็มีอันตรายและต้องอาศัยคนพื้นที่แท้ ๆ เป็นตัวหลัก
สุดท้ายที่ประชุมประมวลทิศทางการทำงานใน 3 จชต. ของกระทรวง พม.ได้ว่า
    งานของ พม. ควร Focus อยู่ในประเด็นการรักษาสายสัมพันธ์ของชุมชน พุทธ-มุสลิมใน 3 จชต. เอาไว้ให้ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ปานาเระ, อ.ตากใบ ที่เป็นพื้นที่ที่คนไทยพุทธ-มุสลิมอยู่ด้วยกันอย่างสงบมาอย่างยาวนาน
    งานของเจ้าหน้าที่ พม. ยังปลอดภัยอยู่ ทั้งจากสายตาฝ่ายก่อการและเจ้าหน้าที่รัฐ  ดังนั้นควรรักษาสถานะความเป็นกลางให้มั่น อย่าไปทำงานด้านความมั่นคงหรือเอียงข้างขบวนการอย่างออกหน้า
    งานเยียวยาชุมชนเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงบทบาทของกลุ่มพลังสายกลางได้เป็นอย่างดี เพราะไม่เลือกปฏิบัติ เราช่วยทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ
    งานพัฒนา งานก่อสร้าง หรืองานกระบวนการชุมชน ควรทำด้วยความรอบคอบ และแปรเป็นงาน “ยุทธพัฒนา” ให้ได้จะเป็นประโยชน์ยิ่ง โดยพยายามให้ผู้รับเหมาท้องถิ่นและผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นผู้รับงานไปทำแทน
    สุดท้ายที่ประชุมอยากให้มีการประชุมแบบไม่เป็นทางการเช่นนี้ อีกโดยไม่ต้องตั้งเป็นคณะกรรมการเพราะกลัวเป็นเป้าหมายฝ่ายก่อการ
 
14 ธ.ค. เช้า ทีม คทง. รมว. มีโอกาสได้คุยกันถึงแนวคิด แนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งทำให้ผมสามารถต่อภาพได้ชัดขึ้นว่าในระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับกลุ่มคนและระดับประเด็นควรมีแนวทางดำเนินการอย่างไร
          เที่ยง ทีมทำงาน ศตจ., (ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน), กทบ. (กองทุนหมู่บ้าน) และ SML  (งบพัฒนาหมู่บ้านเล็ก-กลาง-ใหญ่) มาหารือกันเรื่องทิศทางงานทั้ง 3 ใน ครม.ทุกปัจจุบันควรทำอะไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาคนรากหญ้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะเหนือและอีสานเขารอคอยและกังวลใจมากว่างานนี้รัฐบาลสุรยุทธ์จะทิ้งหรือไม่
          นัดคุณทรรรศิน, คุณเอ็นนู, คุณสีลาภรณ์ และคุณเชิดชอ และคุณสันติ แต่ 3 คนหลังไม่มา เพราะมีการชี้แจงงบประมาณให้กับกรรมาธิการ สนช. พอดี แต่ที่ประชุมก็พอสรุปได้ว่า
       สทบ. ควรมีการปรับให้ชัดทั้งประธาน กทบ. และ ผอ. สทบ. รวมทั้งปรับทิศทางกองทุนหมู่บ้าน จากที่มุ่งทางเศรษฐกิจมาสู่สวัสดิการสังคม
       SML ควรทำต่อไปในปีที่ 2 และที่ 3 ตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วประกาศไว้ แต่ปีที่ 2 ให้มุ่งสู่เศรษฐกิจพอเพียงและให้ผ่านเม็ดเงินไปที่ อปท. จะได้นก 2 ตัว คือ เปอร์เซ็นต์งบรายจ่ายรัฐที่ให้ อปท.โดยรวม จะเพิ่มขึ้นทันทีเป็นผลดีต่อรัฐบาลที่ถูกกำหนดใน พ.ร.บ.กระจายอำนาจว่าต้องจัดงบประมาณ 35% ให้ อปท.ภายใน ปี 2549 ส่วนปีถัดไปให้เข้าสู่ระบบงานของ อปท. อย่างต่อเนื่อง
       ศตจ. ควรที่จะดำเนินการต่อ โดยลดรูปเหลือเพียง ศตจ. ภาคประชาชนเท่านั้น ซึ่งใช้เงินน้อยและได้ผลมากกว่า ส่วน ศตจ. ชุดต่าง ๆ ที่เป็นอนุกรรมการควรยุบเลิกทั้งหมด
บ่าย ประชุมคณะกรรมการนโยบายเยียวยา จชต. (กยต.) ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กยต.ชุดนี้เป็นชุดใหม่ที่รัฐบาลตั้งขึ้น เดิมมี รมต.จาตุรนต์ ฉายแสงเป็นประธาน เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็จบภารกิจลงไปด้วยนึกว่าจะยกเลิกไป แต่รัฐบาลสุรยุทธ์กลับตั้งขึ้นมาโดยให้ รมว.มท. (อารีย์ วงศ์อารยะ) เป็นประธาน
                    ผมต้องไปรายงานผลงานชุดที่แล้วในส่วนที่คณะทำงานประสานชุมชนเพื่อภารกิจประธาน กยต. รับผิดชอบ ท่านประธาน อารีย์ กับผมรู้จักกันดีเพราะป็นกรรมการสภาวิทยาลัยอิสลามยะลาด้วยกัน และทำงานให้มูลนิธิรัฐบุรุษด้วยกันมา อย่างน้อยก็ช่วง 2 ปีหลัง
                    ฝ่ายเลขานุการ กยต. เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการประสานการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยให้ผมเป็นประธาน แต่ท่านอารีย์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้ง แต่ขอให้เป็นผู้เสนอโครงการจะเหมาะกว่าเพราะเป็นตัวแทนจากภาค NGO
                   ค่ำ มีนัดทานข้าวกับ พลตรี ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ (ดร.โจ) ที่ปรึกษา สมช. และเป็นอาจารย์ NIDA ซึ่งดอน (วรรณชัย) เป็นผู้เชื่อมประสาน เรื่องมีอยู่ว่า เราอยากทำงาน 2 ชิ้นที่ จชต. โดยต้องอาศัยความร่วมมือจาก NIDA และสถาบันวิชาการด้านความมั่นคง งานแรกคือการขับเคลื่อนพลังข้าราชการมุสลิมใน 3 จชต. เพื่อมีส่วนร่วมคลี่คลายสถานการณ์ งานที่ 2 คือ งานขับเคลื่อนข้อเสนอแนวทางรุกทางการเมืองด้วยการออกกฎหมายและเพิ่มกลไกการจัดการที่ทางออกทางเลือกให้ทุกฝ่ายที่เรียกว่า “ทบวงกิจการ จชต.”
                    พล.ต.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นอาจารย์พิเศษที่ NIDA เป็นนักวิชาการทหารที่มีอิสระทางความคิด และมีความลุ่มลึกในตัว   ผมได้อ่านบทวิเคราะห์ดับไฟใต้ชิ้นแรกของเขาเมื่อเดือน ก.พ.47 หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน 4 ม.ค. 47 เพียง 1 เดือน ซึ่งพบว่ามีแนวคิดที่น่าสนใจ ตอนนั้น เขาชี้ว่าต้องใช้บทเรียน 66/2523 มาใช้อย่างประยุกต์ โดยให้สอดคล้องกับมิติทางศาสนาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
                    เขาแปลกใจมากที่ผมรู้จักเขา แต่พอบอกว่าผมทำงานกับ พลเอกศิริ ทิวะพันธุ์มายาวนานที่พิษณุโลก   รวมทั้งเรื่องสี่แยกอินโดจีน แกถึงบางอ้อทันที! เพราะแกคือมือวิชาการของพลเอกศิริ ทิวะพันธุ์ เช่นกัน แต่เราไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน
                    เราเห็นด้วยกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า ควรเสนอตั้ง “ทบวงกิจการ จชต.” เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เป็นการปิดจุดอ่อนของ ศอ.บต. แกพยายามซักถามว่าระหว่างเรากับ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ (ม.ธรรมศาสตร์) ใครคิดเรื่องทบวงก่อนกันเพราะแกรับแนวคิดจาก ดร.กิตติศักดิ์ ผมไม่อาจบอกได้ว่าใครก่อนใคร แต่คงเป็นเรื่องบังเอิญคิดตรงกันมากกว่า แกซักถามว่าทบวงควรมีโครงสร้าง/องค์ประกอบอย่างไร   ผมขยายความตามแนวคิดเราว่า น่าจะมี 2 กรม 1 องค์การมหาชน คือ 1. สำนักงานสภาผู้ชำนาญการศาสนา 2. สำนักงานคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคม จชต. 3. กองทุนเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟู จชต.
                    การพูดคุยออกรสชาติมาก เราคุ้นเคยกันอย่างรวดเร็วและมีนัดหมายที่ไปจะคุยกับผู้อำนวยการสถาบันวิยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ
                    พี่พีระพงษ์สูบบุหรี่จัดมาก แบบมวนต่อมวนเลยจริง ๆ
15 ธ.ค. ไม่ได้ไปร่วมเวที “การเคหะโฉมใหม่” ที่โรงแรมเรดิสัน เพราะต้องเร่งทำแผนสวัสดิการสังคมเสนอ ครม. งาน Yong Expo 2006 ที่สวนสันติไชยปราการก็ไม่ได้ไปร่วมกับนายกและ รมว.ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจ
                    สุดท้ายก็เบี้ยวงานอื่นหมด ยกเว้นการสัมภาษณ์สถานีวิทยุตอนบ่ายเท่านั้น ซึ่งก็ดีเพราะทำให้ร่างแผนฯได้เกือบเสร็จ รอเก็บไปทำต่อที่บ้านสุดสัปดาห์
16 ธ.ค. วันเสาร์นั่งทำเปเปอร์แผนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุขได้จนเสร็จโดยพื้นฐาน ส่งให้ก้อย (กฤติกา) พิมพ์เพื่อใช้งานวันจันทร์เป็นร่างที่ 1
                    ดีที่ย้ายมาบ้านใหม่ซึ่งมีห้องสมุดที่มีหนังสือให้ค้นคว้าอ้างอิงได้มาก ถ้าเป็นเมื่อปีก่อนซึ่งอยู่หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทองเป็นต้องออกไปเขียนหนังสือที่ LDI จึงจะทำได้
                    ห้องสมุดประจำบ้านมีประโยชน์มากสำหรับการทำงานแบบนี้ และพวกลูก ๆ เขาก็ใช้เป็นห้องอ่านหนังสือ ทำการบ้าน เตรียมการสอบ ฯลฯ สารพัด
17 ธ.ค. ไปเป็นประธานปิดงาน Yong Expo 2006 แทน รมว.พม. เป็นประธานรับฟังการสรุปผลเวทีวิชาการของพวกเขา รับข้อเสนอเชิงนโยบายจากพวกเด็ก ๆ และภาคีสนับสนุน
                    กล่าวปิดการประชุมและรับจะไปสานต่อสู่ ครม.ต่อไป.
นพ.พลเดช ปิ่ประทีป
17 ธันวาคม 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 16: “สู่สวัสดิการสังคม”"

Leave a comment

Your email address will not be published.