ตอนที่ 17: “ข่ายประชารัฐ (ยุคใหม่)”

            สุดสัปดาห์ที่จะถึง (22-23-24 ธ.ค.) จะมีการประชุมเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัด จากทั่วประเทศที่ รร.ปรินซ์พาเลซ เพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานและสรุปบทเรียนช่วง 2 เดือนของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน

เครือข่ายนี้คล้ายคลึงกับเครือข่ายประชารัฐในสมัยที่ผมขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้านเมื่อปี 2544-2545 แต่ต่างกันในองค์ประกอบ  คราวนั้นเราใช้กรมการพัฒนาชุมชนและ กศน. (รัฐ) + ชุมชนและประชาสังคม (ประชาชน) คราวนี้เราใช้ ชุมชน ท้องถิ่น ประชาสังคม และ พม.
AAR  (After Action Review) คราวนี้มี อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ มาช่วย ดำเนินกระบวนการแล้วต่อด้วยการซักซ้อมภารกิจไปข้างหน้าโดย ทปษ. + ลข. รมว. พม. เป็นองค์ประกอบ
จึงเป็นบรรยากาศของการอยู่ในท่ามกลางกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายประชารัฐยุคใหม่ ปานนั้น

18 ธ.ค. เช้ามีประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ที่มีปลัด พม.เป็นประธาน รมว.พม. เข้าร่วมเพื่อพบปะกับคณะกรรมการและหารือถึง “แผนงานส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข” ที่กระทรวงกำลังจะเสนอรัฐบาล

ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ และสนับสนุน รมว.พม. เต็มที่แต่ผู้ทรงคุณวุฒิติงออกมาตรงไปตรงมาว่า เกรงว่าองค์กรจัดการและเจ้าหน้าที่ของ พม.ที่รับผิดชอบจะไม่สามารถสนองเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐมนตรีได้   เพราะติดทั้งระบบระเบียบ และกระบวนวิธีคิด!!!
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีทั้งคุณธวัชชัย ยงกิติกุล , คุณณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ, คุณ อำนวย อินทุภูติคนเหล่านี้เล็งเห็นว่าต้องมีการปรับองค์กรกองทุนครั้งใหญ่จึงจะรับภารกิจใหม่ของ รมว.ได้
บ่าย ทีม World Bank  ชุดเก่า มีคุณภมรรัตน์ (น้อง) และ คุณ Marry Jndd (ผู้รับผิดชอบงานพื้นที่ไม่สงบในภูมิภาคของ WB) มาปรึกษาหารืองานที่จะทำร่วมกันที่ จชต. เป็นการสืบต่อจากครั้งที่มาคุยที่ LDI และกระทรวงศึกษาธิการก่อนหน้าที่เราจะเข้ามาบริหารกระทรวง พม.
สรุปได้ว่าเราน่าจะทำงานร่วมกันในลักษณะตั้งเป็นกองทุนเพื่อฟื้นฟูพัฒนา จชต. โดยอาจร่วมลงขันกันระหว่าง WB และองค์กรภาคีพัฒนาในประเทศไทย เบื้องต้นคนละ 40 ล้าน เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนโครงการของภาคประชาชน ซึ่ง พม. จะตั้งเรื่องไปให้  WB ได้ Process ต่อ   ผมตั้งใจว่าจะเขียน Proposal นี้ช่วงหยุดปีใหม่!!
เย็น ไปพบพลตรี ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ มสช. ร่วมกับวรรณชัย   หวังว่าจะมีเวลายกร่างโครงการ “ทบวงกิจการ จชต.” กันแต่ไม่มีโอกาสเพราะสถานที่ไม่สะดวกและมีคนไปมา ไม่มีสมาธิคุย
19 ธ.ค.  เช้าแอบไปบรรยายพิเศษให้หลักสูตรนักปกครองที่วิทยาลัยการปกครอง อำเภอธัญญบุรี 3 ชั่วโมงในระหว่างที่ รมว. ประชุม ครม. ที่ทำเนียบ
รีบกลับมากระทรวงเพื่อเตรียมการประชุมผู้บริหาร พม. ตอนบ่าย รมว.บอกให้เริ่มประชุมไปก่อน เพราะ ครม. เลิกช้า   ผมจึงต้องทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมแทน
มีเรื่อง Roadmap และเรื่องการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่ง รมว.ฝากให้ย้ำว่าจะใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายประจำกับฝ่ายการเมือง
รมว. มาช้ามาก   แต่ก็พอดีกับเรื่องกำลังเดินไปได้จังหวะ ป.พม. ไม่ทันอยู่ถึงประชุมเลิกเพราะนัดประชุมเรื่องฟื้นฟูน้ำท่วม
20 ม.ค. มีนัดพบรองนายกปรีดิยาธร ร่วมกับ รมว.พม. จึงเตรียมเอกสาร “แผนงานพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมฯ ไปเต็มที่เพื่อแสดงความพร้อม เตรียมไปทั้ง proposal และ power point คิดว่าท่านจะเรียกไปปรึกษาเรื่องนี้ แต่กลับเป็นว่าท่านขอหารือ รมว. พม. เรื่องแก้ไข พ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่ สนช. ให้ข้อเสนอแนะ
ท่านเชิญพบพร้อมกับนักกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดูในแง่กฎหมาย โดยสรุปคือท่านอยากจะเสนอเข้า ครม./ สนช.ใหม่โดยปรับในประเด็น
          ไม่เป็นการนิรโทษกรรมผู้ทำผิดในรัฐบาลชุดที่แล้ว
          ให้นำเงินรายได้จากสลากเข้ากองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ส.ส.ค.) อย่างเป็นระบบ
    ได้เตรียมคุยกับสมาชิก สนช. ที่ทรงอิทธิพลเป็นรายคนแล้วทั้ง นต.ประสงค์ สุ่นศิริ, คุณประพันธ์ คูนมี, คำนูญ สิทธิสมาน, วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์, ฯลฯ
ก่อนเลิก รมว.พม. ปรึกษาเรื่องแผนงานฯ ของเรา หม่อมอุ๋ย บอกไม่มีปัญหาเลย ทำมาเลย ท่านพอใจงานของ พม.มากเป็นพิเศษอยู่แล้ว งบประมาณจะขอมาเท่าไรก็ไม่กลัว ขอให้รัฐบาลอนุมัติ รวม.คลังก็จะจัดให้ตามนั้น
ตกลงว่าไม่ต้องนำเสนอสิ่งที่เตรียมเอาไว้เลย แต่ก็ดีเพราะมั่นใจว่าสิ่งที่เราได้บรรจุไว้ในยกร่างนั้นน่าจะผ่านฉลุย
ก่อนออกจากทำเนียบ รมว. พาไปคุยกับ รมต.ทิพาวดี เรื่อง “สภาธรรมาภิบาลแห่งชาติ” นัยว่าจะออกเป็น พ.ร.บ. และจะทาบทามคุณอานันท์ ปันยารชุนมาเป็นประธาน
และยังพากันแวะไปพบรองนายกโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัฐ อีกเพื่อหารือเรื่อง กทบ. SML และ ศตจ.
กลับจากทำเนียบ ผมต้องมานั่งปรับ Proposal และ Power Pint อีกครั้งจนลงตัว และพร้อมจะนำเสนอเวทีแรกสุดสัปดาห์นี้ ให้เครือข่ายทั่วประเทศได้รับรู้พร้อมๆ กันกับทีมงานของกระทรวง!
21 ธ.ค. นัดพบปลัด พม. (วัลลภ พลอยทับทิม) ตั้งแต่เช้า ปรึกษากันว่าในโอกาสที่เครือข่ายทั่วประเทศจะมาสุดสัปดาห์นี้ ถ้าไม่มีงาน/งปม.ที่เป็นรูปธรรมให้เขากลับไป exerciser กันในพื้นที่จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
ปลัด พม. เป็นคนที่ไวมากในเรื่องสนองต่อนักการเมืองจึงมีข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจว่า
    จะเอาเงินกองทุน ส.ส.ค. ให้คณะทำงานจังหวัด ๆ ละ 200,000 บาท เพื่อเป็นงบเชิงกระบวนการของเครือข่าย
    จะให้งบประมาณสำรวจคนพิการ, ขึ้นทะเบียนอีก 200,000 คน งบประมาณรวม 45 ล้านบาท ผ่านลงไปพื้นที่ พมจ. เพื่อทำงานร่วมกัน
โดยจะนำเข้าที่ประชุม ก.ส.ค. ในวันที่ 5 ม.ค.นี้
ตอนสาย มีนัดกับ รมว. และทีมงานระดมความคิดเพิ่มเติมในแผนงานสวัสดิการฯ รมว.ขอให้ปรับลดงบประมาณลงจาก 3,500 ล้าน/ปี เป็น 3,000 ล้าน/ปี   ส่วนอื่น ๆ นั้น OK ตามที่ยกร่างไว้
บ่าย พบคณะทำงานตัวแทนภาคประชาชนที่ต่อต้านเหมืองโปแตสที่อุดร   พวกที่มาเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับทีม ITALTHAI ที่มาพบเมื่อคราวก่อน
ผมตั้งใจว่าจะช่วยให้ทีมนี้มีโครงการเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม/ชุมชนต่อไป และอยากจัดให้มีกระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธีในระยะต่อไป
ตอนเย็น คุณอนันตศักดิ์ จากกรมประชาสัมพันธ์มาปรึกษางานประชาสัมพันธ์ว่าจะมาช่วยกระทรวง พม. และรัฐบาลได้อย่างไร   พื้นฐานอนันตศักดิ์ เป็นนักประชาสัมพันธ์ แต่เรียน ป.โททางด้านพัฒนาสังคมและมีความคิดผูกพันกับงาน พม. กระทั่งอยากจะย้ายมาอยู่ พม.ด้วย
มีประเด็นงานวิทยุชุมชน ที่เป็นกรณีคาราคาซังระหว่าง กรม ปชส. กับเครือข่ายวิทยุชุมชน เราเห็นตรงกันว่า
    ที่ผ่านมามีพวกกลุ่มธุรกิจสื่อ เพียง 20-30 รายเท่านั้นที่อาศัยช่วงว่างทางกฎหมาย ไปจัดตั้งวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก 2-3,000 สถานีโดยใช้ชื่อเรียกตนเองว่า “วิทยุชุมชน”
    ในอนาคตอยากให้ พม. ทำการประเมินและรับรองวิทยุชุมชนของแท้ที่ไม่มีการทำธุรกิจแฝง ไม่มีการโฆษณา และด้วยงานแบบนี้อาจมี MOU ระหว่าง พม. + กรม ปชส. ก็ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาสื่อของประชาชนตามเจตนารมณ์ของ รฐน. มาตรา 40 อย่างแท้จริง
 
22 ธ.ค. งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัดเริ่มเอาตอนบ่าย ตอนเช้ามีประชุมทีม รมว. พม.สั้น ๆ เพื่อตามงาน
เริ่มประชุม รมว.พม. กล่าวต้อนรับสั้น ๆ เป็นพิธีการจากนั้น อ.ชัยวัฒน์ เริ่มกระบวนการ AI (Appreciative Inquiry) จัดกลุ่ม 6 คน (จังหวัดละ 3 คน X 2 จังหวัด) ให้ทบทวน “ประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ให้” และ “ผู้ถูกให้” “การเป็นผู้ประสานงาน” นำมาสู่การ AAR ว่าการให้และการประสานงานที่ดีที่มีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร
ที่ประชุมประกอบด้วย จนท. พัฒนาสังคมจังหวัด (พมจ.) + ผอ.ศูนย์พัฒนาสังคม (ศพส.) 2 คน และฝ่ายประชาสังคม (ว่าที่ประธาน) 1 คน, รวม สสว. 12 เขต และเจ้าหน้าที่ส่วนกลางประมาณทั้งหมด 300 คน เต็มห้องไปหมด บรรยากาศคึกคักมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาสังคมกระตือรือร้นดีทุกพื้นที่ ทำให้ ขรก.ต้องปรับตัวตาม    คราวนี้เทียบกับเวทีแรกเมื่อ 5 พ.ย. 49 รู้สึกว่ามีพัฒนาการของความรับรู้ ความเข้าใจของ ข้าราชการ พม. ขยับสูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว
23 ธ.ค. รายการช่วงเช้ายังคงเป็นของ อ.ชัยวัฒน์ เริ่มจากบรรยาย “ภาวะผู้นำ” จากนั้นให้มีการสำรวจประเมินตนเองถึงภาวะผู้นำที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ประสานงานที่ดี ทีมประสานที่ดีในอนาคต
สังเกตดูว่าที่ประชุมยังคงมีความสนใจและตื่นตัวค่อนข้างดีมาก อาจเป็นเพราะไม่เคยฝึกอบรมกับ อ.ชัยวัฒน์มาก่อน พี่ชัยวัฒน์เองก็มีทักษะที่ดีมากในเรื่องนี้
บ่าย 13.00 น.  ต้องหลบไป ม.ศิลปากร (ท่าพระ) เพื่อบรรยายพิเศษให้กับเครือข่าย “พลังเพลง พลังจิตอาสา” ซึ่งกลุ่มพี่น้องคนเดือนตุลาจัดขึ้น เตรียมรับโครงการเยาวชนประชาธิปไตยของ พม. เขาต้องการให้ “ปาฐกถาพิเศษ” เพื่อจะบันทึกเทป อัดลง VCD เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนในช่วงต่อไป
ประเด็นที่แสดงปาฐกถา หัวข้อ “ลักษณะการทำงานวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาสังคม” ประกอบด้วย
          วัฒนธรรมในความหมายกว้าง VS ความหมายแคบ (วัฒนธรรมหลวง-วัฒนธรรมราษฎร์)
          แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนและประวัติศาสตร์ความคิดชุมชนในสังคมไทย
          ลักษณะวัฒนธรรมชุมชนและสิทธิชุมชนท้องถิ่น
          ลักษณะ 6 ประการของงานวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาสังคม
(รูปแบบหลากหลาย ทันสมัย โดนใจ, จุดยืนเพื่อสังคมส่วนใหญ่, รับใช้การพัฒนาสังคม, ยกระดับจิตสำนึก, สำนึกพึ่งตนเอง-สำนึกสาธารณะ-สำนึกอาสา, ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นไม่สิ้นสุด)
เย็นกลับมาที่งาน AAR กว่าจะได้บรรยายก็ตก 17.00 น. ต้องบรรยายเร่งด่วนแข่งกับเสียงดนตรีของห้องข้าง ๆ ที่เขากำลังจะจัดงานคริสต์มาส   โชคดีที่ทำ power point ไว้แล้วจึงไปได้เร็ว และมอบการบ้านให้แต่ละจังหวัดเขียนคำตอบจังหวัดละ 1 แผ่น ส่งพรุ่งนี้เช้า
ประเด็นที่ชี้แจงประกอบด้วย – เล่างานของทีม รมว. พม. ให้พันธมิตรภูมิภาคทราบ, บอกภารกิจและงบประมาณที่เตรียมไว้ให้เป็น 3 ช่วง ช่วง 1 โครงการ/งปม. ปกติของ พม. ตามยุทธศาสตร์สังคม ช่วง 2 การทำงานกับกรมต่าง ๆ ของ พม. และช่วง 3 เป็นการเตรียมระบบสวัสดิการสังคมทั้งประเทศตามแผนงานปีละ 3,000 ล้านที่เสนอต่อรัฐบาล
คนที่มาประชุมตื่นเต้นกันมาก และเสียดายที่ช่วงสำคัญที่ผมชี้แจงกลับมีเวลาน้อย กินข้าวเย็นร่วมกันจึงปลอบว่า ไม่เป็นไรพรุ่งนี้อีกครึ่งวัน เช้าผมจะมาตอบคำถาม ช่วงอภิปรายทั่วไป ยังติดใจตรงไหนเตรียมไว้ถาม
24 ธ.ค. ครึ่งเช้า อ.ไพบูลย์มาบรรยายพิเศษในเรื่องระบบสวัสดิการสังคมที่จะใช้เป็นแกนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม อย่างที่เรียกว่า“เป็นยุทธศาสตร์ของยุทธศาสตร์” นั่นเอง
การบรรยายของ อ.ไพบูลย์ (รมว.) ใช้สไตล์ ที่เนิบ ๆ ช้า ๆ และค่อย ๆ สร้างความเข้าใจจากพื้นฐาน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างสอดคล้องกับสิ่งที่ผมบรรยายเมื่อวานนี้อย่างมาก ต้องยอมรับว่า รมว. ทำได้ดีทีเดียว
ผมต่อจากท่านด้วยการเปิดอภิปรายทั่วไป   มีประเด็นคำถาม ข้ดข้องใจอยู่บ้างพอประปราย บรรยากาศมีพลังและกระตือรือร้นที่จะกลับไปทำงานกันแล้ว
ผมปิดท้ายการประชุมด้วยการเน้น
          สถานการณ์ 5 ปี ข้างหน้ากับโกลาหลของประเทศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
    สถานการณ์ 1 ปี ข้างหน้าจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะต้อง วางฐานทุนทางสังคมที่เป็นพลังสำรองของแผ่นดิน เพื่อเป็นหลักประกันในความผันผวนว่าบ้านเมืองจะไม่ถูกนักการเมืองและชนชั้นนำพาประเทศไปลงเหว
    ประเทศต้องการพลังทางสังคม พลังที่เป็นกลาง พลังสำรองของแผ่นดิน ที่ขยายตัวและเข้มแข็งอย่างก้าวกระโดด จะปล่อยช้าๆ แบบเดิมไม่ทันกาล
          ฝากพวกเขาทั้งหลายมาช่วยกันทำงานในช่วงเวลาสำคัญของแผ่นดินที่กำลังจะมาถึง
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
24 ธันวาคม 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 17: “ข่ายประชารัฐ (ยุคใหม่)”"

Leave a comment

Your email address will not be published.