25 ธ.ค. คณะทำงาน รมว. คุยกันตั้งแต่เช้าเรื่องแผนงานลด-ละ-เลิกอบายมุขและสวัสดิการสังคม เป็นการเตรียมนำเรื่องเข้าสู่ ก.ส.ค. ที่มีหม่อมอุ๋ยเป็นประธาน ผมส่ง paper ฉบับสมบูรณ์ให้ทีมของกระทรวง (คุณชินชัย และคุณนงลักษณ์) มอบให้พวกเขาไปปรับเป็น Version ที่จะนำเข้าสู่ ก.ส.ค. ควบคู่กับแผนแม่บทการจัดสวัสดิการแห่งชาติที่ทีมอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ยกร่างให้
ผมบอก รมว.ว่า ถ้าการประชุม ครม. พรุ่งนี้มีใครทวงถามเรื่องแผนงานฯ ฉบับนี้ ขอให้บอกด้วยความมั่นใจเลยว่าเราได้จัดทำไว้พร้อมแล้ว รอเข้า ก.ส.ค. ในวันที่ 5 ม.ค. ก่อน จากนั้นจะนำเข้าเสนอ ครม.ทันที
มอบหมายให้ทีม สนย. และพัชราเตรียมเรื่องสรุปผลกระบวนการ AAR 22-24 ธ.ค. เพื่อนำเข้าแจ้งที่ประชุมผู้บริหาร พม.บ่ายพรุ่งนี้
26 ธ.ค. ตอนเช้า รมว. เข้าประชุม ครม. ตามปกติ ตอนบ่ายนัดประชุมผู้บริหารกระทรวงไว้ 14.00 น. ตามเดิม แต่ผิดคาดเพราะเลิกเร็วกว่าปกติ มีเรื่องพิจารณาไม่มาก ไม่มีเรื่องของ พม.โดยตรงมีแต่ที่ พม.เกี่ยวข้องเท่านั้น
ประชุมผู้บริหาร พม.วันนี้มีเรื่องหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ Roadmap ที่ สนย.ไปปรับปรุงให้ครอบคลุมงานของ กรม.ต่างๆ มากขึ้น และเรื่องแผนพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมฯ
Roadmap ได้ถูกยกร่างขึ้นโดย หมอพลเดช และนำเสนอที่ประชุมมา 3 ครั้งแล้ว ด้วยหวังว่าทุกหน่วยงานจะช่วยกันปรับปรุงให้สมบูรณ์ แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีส่วนร่วมกันมากนัก มาคราวนี้ดูเหมือนว่าจะจุดติดแล้ว เพราะเริ่มเป็นประเด็นถกเถียงขึ้นมาก พอช.บอกว่าเป้าหมายที่ระบุว่า จะทำให้ พอช. เป็นองค์การมหาชน ตัวอย่าง ฯลฯ นั้นไม่รับรู้ด้วย (ทำนองนี้) ผมจึงตอบไปว่า แก้ไขได้ ขอให้ดูกันอีกที อันไหนไม่อยากให้ระบุลงไปก็อย่าได้เกรงใจ ลบออกได้เลยทันทีครับ
ผมจึงขอร้องอีกครั้งให้ทุกหน่วย (อธิบดี) ไปดูในส่วนของตน แล้วส่งมอบให้ สนย. ทำให้ถูกต้องสมบูรณ์ จะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการประชุมและทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง จึงขอให้ สนย. ทำเป็นแฟ้มถาวร และนำมาใช้ในการประชุมทุกครั้ง โดยไม่แจกติดมือกลับไปเหมือนแต่ก่อน
มีผู้หยิบยกเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดขึ้นมา ภายหลังจากที่ผมออกจากที่ประชุมไปร่วมกันอีกคณะหนึ่งที่นัดหมายล่วงหน้า ซึ่งต่อมาปัญโญ (ทีมงาน) ได้รายงานว่าเขาจะรื้อวิธีการที่คุณหมอทำทั้งหมด!? ทั้งเอนก, สิน, จิริกา, สมสุข อภิปรายไปในทางเดียวกัน มีคุณระรินทร์ทิพย์ (ผอ.สนย.) เพียงคนเดียวที่คัดค้านเพราะ สนย. เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนิ่งดีแล้ว หลังการประชุม 22-23-26 ธ.ค. ควรออกคำสั่งตั้งได้แล้วไม่ควรเปลี่ยนกลับไปกลับมา ไม่ใช่มารื้อใหม่แบบนี้ สนย.ในฐานะผู้ปฏิบัติถูกต่อว่าจากพื้นที่มากจนรับไม่ไหว อยากจะลาออกวันละหลายเวลาแล้ว
16.00 น. คณะของหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ และทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ จาก สสส. มาขอปรึกษาเรื่องการผลักดันนโยบายด้านเด็ก-เยาวชน ตกลงว่า นายกให้เวลาวันที่ 10 มกราคม 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เราสามารถจัด Event ที่นั่นครึ่งวันเช้าและมอบข้อเสนอเชิงนโยบายแก่ท่านนายกได้เลย จึงจัดตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุดเพื่อเตรียมงานดังกล่าว ดึงเอาทีมงาน พม. ที่รับผิดชอบเรื่องเด็ก-เยาวชน ซึ่งมีถึง 4 หน่วยงานมาร่วมคิด คือ สท., สค.., สป. และ พส.
ด้วยความที่มีกรมดูแลด้านเด็กและเยาวชนถึง 4 กรมเช่นนี้ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายว่าควรมีการทำให้ชัด แยกงานมาตั้งเป็นกรมใหม่เสียเลย เรียกว่า “กรมพัฒนาเด็กและเยาวชน” เรื่องนี้ได้ทำ Paper เสนอผ่าน รมว. พม. ถึงมือ รองนายก โฆษิตที่ดูแลการปฏิรูประบบราชการ (กพร.) แล้ว
คณะทำงานจะประชุมวันศุกร์ที่ 29 ผมขอตัวไม่มาร่วมประชุมด้วยเพราะเดินทางไปต่างจังหวัด และในฐานะประธานคณะทำงานจึงมอบหมายให้ นพ.ยงยุทธ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทน
เสร็จจากคุยกับคณะทำงานเด็ก-เยาวชนแล้ว จึงย้อนกลับไปที่ประชุมของ รมว. พม. กับทีมงาน สท. รัฐมนตรีนัดหมายพวกเขามาหารืองาน สท. ว่ามีส่วนใดเป็น Highlight ที่อยากให้ฝ่ายการเมืองช่วยทำให้สำเร็จในระยะ 1 ปี บ้างไหม
สำนักคนพิการ – ขอให้ทำเรื่อง Accessibility ของคนพิการ ขอให้ทำทางเดินและห้องน้ำสำหรับคนพิการสามารถช่วยตัวเองได้ ในสถานที่สาธารณะสำคัญ ๆ โดย พม. ร่วมกับ กทม., การรถไฟ, สนามบิน ฯลฯ
สำนักเด็ก-เยาวชน – อยากทำเรื่องศูนย์ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนให้มีคุณภาพ พี่เลี้ยงได้มาตรฐาน
สำนักผู้ด้อยโอกาส – จะทำทะเบียนและรับรองสิทธิ
สำนักผู้สูงอายุ – อยากทำศูนย์ประสานสนับสนุนผู้สูงอายุ แบบเอนกประสงค์ โดยร่วมกับเทศบาลที่มีความพร้อมและทำบัตรผู้สูงอายุเพื่อความสะดวกในการแสดงตนเพื่อใช้สิทธิ
ผมจึงสรุปมอบหมายให้ นงลักษณ์ (เลขา ป.พม.) ช่วยประสาน สนย. นำเข้าบรรจุใน Road map เพื่อจะได้ติดตามงานได้ดีขึ้น
เสร็จจากการประชุม เดินกลับ office มากับปัญโญ ปัญโญกระซิบว่าในท้ายการประชุมผู้บริหาร พม. ที่หมอกลับไปก่อนนั้น ที่ประชุมอภิปรายเรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานจังหวัดมาก แล้วเสนอให้มีการรื้อใหม่ โดยจะให้ผู้ว่าเป็นคนแต่งตั้ง เมื่อทราบเรื่องนี้ทำให้ผมกังวลถึงความยุ่งยากสำหรับผู้ปฏิบัติ (สนย.) ทันที แต่ก็ไม่เป็นไรขอให้ สนย. ทำตามเดิมไปก่อน คือปรับรายชื่อทุกจังหวัดตามผลประชุม 22-23-24 ธ.ค. แล้วขึ้น web ให้ทุกจังหวัดตรวจสอบก่อน หลังปีใหม่จึงออกคำสั่งแต่งตั้ง
27 ธ.ค. เช้าขอตัวจาก รมว. เพื่อไปร่วมอภิปรายทางวิชาการ “วิพากษ์ร่างแผนพัฒนาสุขภาพฉบับที่ 10” ของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับตัวแทนเลขาธิการ สศช., และ ศ.นพ.ศุภสิทธิ พรรณารุโนทัย
แผน 10 ของกระทรวงสาธารณสุข คราวนี้มี นพ.ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นผู้เขียนร่างขึ้นมา แล้วผ่านกระบวนการให้ความเห็น-ปรับแก้กันมาหลายครั้งแล้ว ต้องยอมรับว่าเขียนได้ดี กระชับ และมีข้อมูล สถานการณ์แนวโน้มทางสุขภาพ ระบบบริหารสาธารณสุข-การแพทย์ แนวโน้มทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ ทำไว้ค่อนข้างดี
จึงพูดในที่ประชุมว่า กลับไปจะไปดูแผน 10 ของกระทรวง พม.บ้างว่า ทางกระทรวงเขาได้ทำไว้เช่นไร
บ่าย รมว. ต้องเข้าประชุมสภา สนช. นัดพิจารณางบประมาณหลังจากกรรมาธิการทำงานเรียบร้อยแล้ว การอภิปรายมีพอเป็นกระษัย รมว.ไป Stand by โดยที่ไม่มีอะไรกดดันนัก
16.00 น. รมว.กลับมาประชุมร่วมแบบไม่เป็นทางการกับคณะกรรมการ กคช. ทั้ง 2 ชุด (บริหาร + ประเมินผล) เป็นการประชุมนอกรอบก่อนที่บอร์ด กคช. จะประชุมนัดแรกในวันศุกร์นี้
อ.ขวัญสรวง หยิบประเด็นปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทรขึ้นมาหารืออย่างจริงจัง เพราะปัญหามันหนักมาก ในขณะที่ Board ชุดนี้มีอายุแค่ 1 ปี ตามวาระของ รมว. พม. ที่ประชุมจึงคุยกันมากในเรื่องนี้ แต่ รมว. บอกที่ประชุมว่า Board มีอายุ 3 ปีตามข้อบังคับ ไม่ใช่มีอายุตามระยะเวลาของ รมว. ขอให้มั่นใจตรงนี้ด้วย
ที่ประชุมขอนโยบายและหลักการทำงานจาก รมว. ซึ่ง อ.ไพบูลย์ ก็ตอบเชิงหลักการ และเชิงนามธรรม ทำให้ที่ประชุมชักอึดอัด แต่ในที่สุด รมว.ก็ขยายความจนชัดเจนว่า ท่านอยากเห็นความถูกต้อง โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และประหยัด โดยเชื่อมั่นในคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ทุกท่าน ขอให้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยอย่ารอ รมว.ให้นโยบายอะไรอีก ไม่ต้องรอถาม รมว.จะไม่ล้วงลูกแน่ ๆ
หลังจาก รมว. ออกจากที่ประชุม ผมตามออกไปด้วย ที่ประชุมคุยกันต่อจนค่ำมืด ทปษ.เอนก และคุณจิริกาอยู่ร่วมประชุม เห็นว่าคณะกรรมการมีความกังวลอยู่มาก แต่มีใจฮึดสู้แล้ว
28 ธ.ค. ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสร็จลงตั้งแต่เมื่อคืน งบประมาณของ พม.ได้ครบตามที่ ครม. ผ่านให้ ตอนเช้าจึงมีเวลา รมว. ที่จะคุยกับพวกเรามากหน่อย
วันนี้ได้หารือรายละเอียดของการดำเนินการระบบสวัสดิการสังคมแนวใหม่ และ งปม. 3,000 ล้าน/ปี ที่จะได้จากรัฐบาล
ตกลงเป็นที่ชัดเจนว่างานนี้เป็นงานเย็น ทปษ. เอนกจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ส่วนผมจะไปดูเรื่องปัญหาสังคมที่เป็นงานร้อน เพื่อจะได้ Balance กัน!
ในวันที่ 5 ม.ค. ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแห่งชาติจะเสนอเรื่องสำคัญให้พิจารณา :
1. พิจารณาเห็นชอบ “แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข 2550-2554”
2. ตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ส.ค. “คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากองทุน สสค.” ให้ เอนก เป็นประธาน เพื่อช่วยดูการบริหารแผนฯ 3,000 ล้าน ด้วยอีกทางหนึ่ง
3. ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม (ระดับชาติ)
4. เห็นชอบให้ กสจ. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัด
5. อนุมัติ งปม. @ 200,000 บาท/จังหวัด ให้กับคณะกรรมการจังหวัดสำหรับทำงาน (รวม 15.2 ล้าน)
6. อนุมัติ งปม. 4 ล้าน สำหรับโครงการนำร่องบูรณการจังหวัดแก้ความยากจนร่วมกับ สกว. (4 จังหวัด)
7. อนุมัติ งปม. 4 ล้าน สำหรับโครงการนำร่องพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมระดับพื้นที่ (4 จังหวัด)
8. อนุมัติ งปม.4 ล้านสำหรับโครงการนำร่องความร่วมมือระหว่าง ศอ.สส.(ศอม. เดิม) กับ พม.
17.30 น. ทีม มสช. (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) นำโดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ดร.วณี ปิ่นประทีป และคุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ มาปรึกษาเรื่องงาน ศอ.สส. กับ รมว. จึงทำให้ต้องกลับบ้านค่ำ พรุ่งนี้จะโดดร่มแล้วจึงบอก รมว.ลางานไว้ก่อน
29 ธ.ค. ขับรถไปพิษณุโลกกับภรรยา ลูกหญิง และลูกพลอย ออกจากบ้าน กทม. 04.30 น. ไปถึงที่หมาย 09.30 น. พอดีทันงานทำบุญเลี้ยงเพลพระที่บ้าน
ทำบุญแล้วก็ไปชักบังสุกุลที่เจดีย์เก็บกระดูกของคุณปู่, ย่ารัตน์, ย่าอึ่ง, และน้าของปุ้ม ซึ่งพวกเราทำเช่นนี้ทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง ถือเป็นวันรวมญาติด้วยในตัว
30 ธ.ค. บ่ายขับรถกลับ กทม. พร้อม ๆ กับน้อง หน่อง, ปอง, นิด, ปุ้ม-ตุ๊ก
ก่อนกลับน้องพลอยชวนไปไหว้พระพุทธชินราช จึงต้องย้อนกลับไปวัดใหญ่อีกครั้ง คิดปลื้มอยู่ในใจว่าน้องพลอยเป็นผู้ชวนพ่อไปไว้พระ!!! (คนอื่นๆ พ่อ-แม่ต้องชวนลูกเข้าวัด)
ออกจากพิษณุโลก 14.30 น. ถึง กทม. 18.30 น. ค่ำพอดี
ข่าวทาง SMS รายงานว่า 05.30-06.00 วันนี้ มีการแขวนคอ อดีตประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ที่ประเทศอิรัก เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางเสียงค้านและเสียงสนับสนุนไปทั่วโลก
31 ธ.ค. ปีเก่ากำลังจะสิ้นสุดลง ชีวิตผู้คนและชะตาบ้านเมืองในปี 2550 จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าห่วงอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ปี 2549 เป็นปีที่ผันผวน ปั่นป่วน เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและทั่วโลก มีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ๆ มากมายเหลือเกิน
ในประเทศของเรา หลังจาก “โหวตยุทธศาสตร์ เลือกตั้ง 48” แม้ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนั้นเท่าใดนัก (ทรท. ชนะแบบถล่มทลายทั่วประเทศตามคาด) แต่ภาคใต้ทั้งภาคก็พรรค ทรท. แพ้ราบคาบเช่นกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จชต. ถือว่าสูญพันธุ์เลยสำหรับ ทรท.
ด้วยชัยชนะเด็ดขาดทั่วประเทศแต่ก็แพ้บางส่วนแบบหมดรูปเช่นนี้ ทำให้อารมณ์ของนายกทักษิณขุ่นมัวยิ่งนัก ปฏิกิริยาแบบเด็ก ๆ จึงเกิดขึ้นกับ 3 จชต. และภาคใต้ คำประเภทนี้จึงหลุดออมาจากปากเป็นประจำ
“จังหวัดไหนเลือก ทรท. ก็ดูแลมากหน่อย”
“พื้นที่สีแดง อย่าไปให้งบประมาณมัน”
การใช้อำนาจบาตรใหญ่ การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมจึงเกิดขึ้นอย่างเบ็ดเสร็จ ขยายวง ควบคุมไม่ได้ว่าลูกน้องคนไหนกินมูมมามอย่างไร และไม่ควบคุมด้วย
กระแสการต่อต้านรัฐบาลเสียงข้างมากจึงก่อตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดในปี 2549 ก็เกิดการรัฐประหารอีกจนได้
มกราคม (ทดสอบมวลชน) เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่ ม.ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และสวนลุมพินีเริ่มปั้นมวลชนเกาะกลุ่มกันได้ในระดับครึ่งหมื่น
กุมภาพันธ์ (ปราฎการณ์สนธิ) ผลพวงจากการขายหุ้นชินคอร์ป เมื่อ 23 มกราคม โกยเงิน 73,000 ล้านโดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ทำให้กลุ่มคุณสนธิประกาศชุมนุมใหญ่ 4 ก.พ., 11 ก.พ. ซึ่งมีผู้ชุมนุมเรือนแสน จนกระทั่งนายกทักษิณ ประกาศยุบสภาเมื่อ 24 กพ. โดยหวังลดกระแสต่อต้านรัฐบาล
มีนาคม (ยุทธการดาวกระจาย) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยแกนนำ 5 คน คือ สนธิ, จำลอง, สมเกียรติ, สมศักดิ์ และพิภพ นัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง (5 มี.ค.) แล้วเคลื่อนมาปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลรวม 20 วัน โดยกระจายตัว กระจายม๊อบเคลื่อนออกไปที่สยามพารากอน
เมษายน (โนโหวตสำแดงพลัง) 2 เมษายนมีการเลือกตั้งตามแผนของนายกทักษิณเกิดปรากฎการณ์ NO Vote กว่า 10 ล้านเสียง ส่งผลให้ทักษิณต้องประกาศเว้นวรรคทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อ 4 เมษายน (แล้วมาเบี้ยวภายหลัง)
พฤษภาคม (ดอกไม้จะบาน) ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า เลือกตั้ง 2 เมษา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งสั่งให้เลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน! (เสียเงินฟรี 2,000 ล้าน สำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านไป)
กระแสมวลชนทั่วประเทศ นักเรียนนักศึกษาต่างลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบทักษิณอย่างกว้างขวาง เปิดเผย เผชิญหน้ามากขึ้น
มิถุนายน (รวมพลคนเสื้อเหลือง) เป็นช่วงพักรบ ก้าวเข้าสู่เดือนสมโภช เนื่องในมหามงคลวโรกาศครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษาของพระเจ้าอยู่หัว
ในกรุงเทพฯหยุดชุมนุม แต่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ยังคงสัญจรไปต่างจังหวัด ประเด็นการโจมตีมุ่งไปที่ทักษิณหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหนักขึ้นเรื่อย ๆ
กรกฎาคม (ศาลกู้ชาติ) ศาลอาญา (25 ก.ค.) พิพากษาจำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต., ปริญญา นาคฉัตรีย์ และวีระชัย แนวบุญเนียร 3 กกต. ว่าได้กระทำผิดจริงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2541 กรณีแบ่งเขตใหม่ 15 จังหวัด 38 เขต
สิงหาคม (ตาต่อตา ฟันต่อฟัน) ม็อบเชียร์ทักษิณ เข้าปะทะทำร้าย ม็อบต่อต้านที่สยามพารากอน และเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์เป็นสิ่งที่ยั่วยุให้กลุ่มพันธมิตรนัดชุมนุมใหญ่ถึงขั้นแตกหัก
กันยายน (เสื้อเหลือง-ผ้าพันคอสีฟ้า)
กระแสข่าวการหนุนจากข้างบนทั้งสีเหลือง และสีฟ้ามาสู่ผู้ชุมนุมทำให้มีความคึกคักยิ่งขึ้น
ช่วงที่นายกทักษิณเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก USA ระหว่าง 17-21 กันยายน พันธมิตรประชาธิปไตยฯ นัดชุมนุมใหญ่ 20 ก.ย. ประกาศกดดันไม่ให้นายกกลับประเทศ
ทางด้านฝ่ายสนับสนุนทักษิณเตรียมจัดชุมนุมใหญ่ที่อุดรธานีในวันที่ 23 ก.ย.คาดว่าจะมีผู้คนนับหมื่น
สุดท้าย 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกมาทำรัฐประหารยึดอำนาจกลางดึก
ตุลาคม ได้รัฐบาลใหม่ รัฐบาลเฉพาะกิจ รัฐบาลขิงแก่
พฤศจิกายน กระแสคลื่นใต้น้ำยังคงมีอยู่ และแรงความชื่นชมของคนรากหญ้ายังมีต่อทักษิณและนโยบายประชานิยมไม่อาจทดแทนได้ด้วยการทำงานที่ชักช้าของรัฐบาลขิงแก่
ธันวาคม สถานการณ์ จชต. ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ตลาดหุ้นถูกโจมตี ค่าเงินบาทแข็งขึ้นจนเกิดผลกระทบ ราคายาง, ข้าว และผลผลิตเกษตรตกต่ำ มีปัญหาอุทกภัยแผ่คลุม 47 จังหวัด 400 อำเภอ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ งบประมาณไม่มีทำงานเพราะต้องรอกระบวนการทางสภาอนุมัติกฎหมาย พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี
ในวันส่งท้ายปีเก่าวันนี้มีกระแสข่าวกระเซ็นกระสายว่าจะเกิดวินาศกรรมช่วงปีใหม่ คนทั่วไปมุ่งไปที่ จชต. แต่ปรากฎว่าเกิดเหตุการณ์วางระเบิดร่วม 10 จุดในกรุงเทพฯ ในถังขยะตามที่ชุมนุมชน มีคนตายไปแล้ว 2 คน บาดเจ็บหลายสิบ 10 กว่าคน
งานสนุกสนานรื่นเริงส่งท้ายปีเก่าต้องถูกระงับกระทันหันทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆ
ส่งท้ายปีเก่าที่ผันผวนด้วยเหตุความรุนแรงกลางเมืองหลวงนับเป็นสิ่งเตือนใจว่า…..
ปีหน้า 2550 เราจะรับมือกับสถานการณ์ร้าย และอยู่กับมันได้อย่างไร
ลาทีปี 2549 ปีแห่งความผันผวน และวุ่นวาย.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
31 ธันวาคม 2549
Be the first to comment on "ตอนที่ 18 : บอกลาปีแห่งความผันผวน"