อาจารย์หมอประเวศ วะสี อวยพรปีใหม่ผ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับเตือนสติสังคมและขอให้คนไทยเข้าใจ “คุกที่มองไม่เห็น”
คุกที่มองไม่เห็นประกอบด้วย เสา 4 ต้น ที่ถักทอและจองจำเราไว้ กักกันเราไว้ไม่ให้มีอิสรภาพและศักยภาพที่จะสร้างความสุขและสร้างสรรค์
เสา 4 ต้น นั้นประกอบด้วย
– จิตสำนึกที่เล็ก อันเห็นแก่ตัว เห็นแก่พรรค เห็นแก่พวก
– วิธีคิด แบบแยกส่วน เป็นขาวเป็นดำ เป็นเราเป็นเขา
– สัมพันธภาพแนวดิ่ง ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง
– วิธีการทางลบในการแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อน
เมื่อระเบิดกลางกรุง 8 ลูกสิ้นเสียงลง ทันทีการวิเคราะห์ต่าง ๆ ก็เริ่มออกมาจากปากผู้เชี่ยวชาญและนักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายสำนัก พอประมวลได้ว่าอาจมีความเป็นไปได้ 3 ทาง
1. เป็นการขยายตัว ขยายพื้นที่ปฏิบัติการมาจาก 3 จชต.
2. เป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มอำนาจเก่า (ทักษิณและพวกพ้อง)
3. เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อกระชับอำนาจของฝ่าย คมช.สายเหยี่ยว
แต่วันถัด ๆ มา หลักฐานข้อเท็จจริงเริ่มมีน้ำหนักเปลี่ยนไป (1) เป็นไปไม่ได้แน่แต่ (2) และ (3) ยังก้ำกึ่ง จนกระทั่งสุดสัปดาห์ดูเหมือนว่ากระแสการวิเคราะห์ของสื่อมวลชนมุ่งไปในทาง (2) เป็นส่วนใหญ่
1 มกราคม บรรยากาศฉลองปีใหม่ใน กทม. เงียบเหงาไปอย่างถนัดใจ หนังสือพิมพ์พาดหัวทุกฉบับเรื่องระเบิดกลางกรุง ดีว่าทางการสั่งระงับงาน Count Down ไปเสียก่อนเพราะระบิด 2 ลูกสุดท้ายที่เกษรพลาซ่า และซีคอนสแควร์เกิดขึ้นใกล้เที่ยงคืน
ตลอดวันมีข่าวลือทาง SMS และ สื่อ TV เป็นระยะ ๆ ว่าจะมีระเบิดอีก แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น การแจ้งเหตุพบสิ่งของน่าสงสัยทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเป็นธรรมดา ตำรวจต้องทำงานหนักหน่อย
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ออกมาแถลงข่าวคู่กับ รอ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดจาเหมือนกับรู้ว่าอะไรเป็นอะไรไปหมด ผู้สื่อข่าวถามก็ตอบออกแนวว่าต่างประเทศก็เกิดขึ้นเหมือนกัน ภรรยาผมฟังแล้วเกลียดมากแกฟันธงเลยว่า “ฉันว่าพวกตำรวจทำแง๋เลย ดูซิเกิดเหตุใกล้ป้อมตำรวจทั้งนั้น แต่จับใครไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว!!”
ตอนเย็น นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ออกมาพูดว่า “ไม่น่าจะใช่เหตุการณ์จากไฟใต้” เพราะระเบิดเป็นแบบ A4 ไม่ใช่ C4 และจุดระเบิดด้วยนาฬิกาปลุกแบบดิจิตอล ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ และชี้ไปในทาง “กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ทางการเมือง!” และ “เป็นคนมีสีทำ”
โทรทัศน์ออกข่าวรัฐมนตรีสาธารณสุขไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บ, นายกก็ไป ภุชงค์ กนิษฐชาติ (สXส)โทรมาบอกว่าน่าจะให้ รมว. พม. ไปเยี่ยมบ้าง ในใจผมคิดว่าก็ดีเหมือนกัน แม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงแต่ก็ควรไป คิดได้แค่นั้นก็เกรงว่า อ.ไพบูลย์จะไม่สะดวกจึงไม่ได้โทรไปบอก ถือว่าเลยตามเลย คงไม่เป็นไรเพราะเราไม่ใช่นักการเมืองอาชีพที่จะได้คอยโชว์ตัวตามหน้าสื่อ
2 ม.ค. ความเห็นของนายกรัฐมนตรีเมื่อวานออกพาดหัวต่อไม้ทาง นสพ. หลายฉบับ มีปฏิกิริยาทันทีจาก พ.ต.ท. ทักษิณ Fax จดหมายโต้นายกสุรยุทธ์และ คมช. ที่ชี้มาทางฝ่ายตน สื่อพากันนำมาออกข่าวกันยกใหญ่ ทำให้กระแสการเมืองยิ่งร้อนแรง
โดยไม่กระซิบบอก อ.ไพบูลย์ท่านคิดได้เอง จึงมีภาพข่าวทาง TV ในช่วงกลางวันว่า รมว.พม. ควงปลัด พม. ออกเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บและให้การเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อระเบิดที่ยังนอนอยู่ที่โรงพยาบาลครบทุกแห่ง ยกเว้นฝรั่งที่อยู่ รพ.บำรุงราษฎร์เท่านั้น เบาใจไปมากนี่แสดงว่า อ.ไพบูลย์เริ่มเป็นการเมืองแล้วในแง่นี้
กระแสการวิเคราะห์ของสื่อมวลชน เริ่มมีเสียงไปในทางระแคะระคายว่า งานนี้คือฝีมือของ เสธไอซ์ (พลตรี ไตรรงค์ อินทรัตน์) นายทหารมาเฟีย ลิ่วล้อทักษิณ และแว่วว่า พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธอยู่ข้างหลัง และเป็นแผนที่รับมาจากทักษิณ ซึ่งผมไม่อยากเชื่อเช่นนั้นเลย เพราะคนอย่าง “จิ๋ว” เป็นผู้มีคุณูปการต่อประเทศมามากมาย เราก็รู้จักกันดี แต่ของพรรค์นี้ต้องฟังเอาไว้และดู ๆ กันไป
ก่อนปีใหม่สัปดาห์เดียวก็บิ๊กจิ๋วนี่แหละที่มีข่าวว่าปูดเรื่องโบกี้รถไฟที่บ้านนายกสุรยุทธ์ แล้วในที่สุดก็เป็นเรื่องเก๊ เนชั่นสุดสัปดาห์เอาความจริงมาเปิดเผยว่า นายกสุรยุทธ์เป็นคนชอบสะสม Model รถไฟเป็นงานอดิเรกซึ่งเป็นเรื่องซื่อ บริสุทธิ์ และน่ารักแบบเด็ก ๆ ทำให้บิ๊กจิ๋วยิ่งเสียหาย ภาพยิ่งลบเข้าไปใหญ่ เจ้าตัวจะรู้หรือไม่ หรือว่าลูกน้องเป็นคนทำ แต่นายจิ๋วเละไปหมดแล้ว
ตกเย็น ลูกหญิงกับพลอยขออนุญาตขับรถไปสมทบกับอาปองที่เซ็นทรัลลาดพร้าว อาปองนัด Shopping และดูหนัง (หลานชอบนัดเพราะมีเจ้ามือ!!) ฝ่ายแม่เขาซิเดือดร้อนใจ ตะโกนไล่หลังว่า “อย่ากลับค่ำนะ ยิ่งเขาขู่จะมีระเบิดอีก ก็ยังจะไป!”
3 ม.ค. เปิดงานวันแรก รู้สึกไม่ค่อยสบาย แสบคอ ไอ เข้าใจว่าจะเริ่มเป็นหวัดตั้งแต่คืนที่นอนบ้านพิษณุโลกแล้ว
เช้า รมว.ร่วมประชุม ครม. จึงมีเวลาได้เตรียมงานที่สำนักงานมากหน่อย
บ่าย ทีมผู้บริหาร พม. พากันมาสวัสดีปีใหม่ รมว. และขอพร รมว. โทรมาสั่งล่วงหน้าตั้งแต่ยังอยู่ในที่ประชุม ครม. ว่า เดี๋ยวพวกเขามาขอให้เตรียมเรื่อง Social Report ซึ่งอยากให้กระทรวงทำ รายงานสถานการณ์ปัญหาและการพัฒนาสังคม ง่าย ๆ แบบเรื่องเล่า โดยออกทุกเดือน ผมนึกในใจว่า “เอาอีกแล้ว รมว.ช่างคิดงานเสียจริง”
ต้องยอมรับว่า อ.ไพบูลย์ท่านมีความปรารถนาที่ดีมาก อยากเห็นกระทรวง พม.มีการพัฒนาในด้านนั้นด้านนี้ แต่บางครั้งท่านลืมไปหรือคำนึงน้อยไปหน่อยว่า “เรามีเวลาบริหารกระทรวงอีกไม่ถึง 10 เดือนแล้วนะ” การออกความคิดและนโยบายที่สะเปะสะปะ บางครั้งเป็นการเพิ่มภาระงานและความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น
จริงดังที่คาด พม.รมว.มาถึง ข้าราชการทะยอยมาสวัสดีปีใหม่พร้อมกระเช้าของขวัญที่ละกลุ่มทีละกรม เสร็จแล้วท่านก็เริ่มแสดงธรรมสอนและมอบหมายงาน นอกจากนั้นยังใช้เวลาที่ยืดยาวมากจนผมเองอดเป็นกังวลไม่ได้ เพราะบ่อยครั้งเข้าก็จะเป็นที่เบื่อหน่ายและไม่ให้ความร่วมมือ ข้าราชการนั้นต้องรู้ว่าถ้าเขาไม่ร่วมมือแล้ว เฉื่อยงานเสียเฉย ๆ ใครจะทำอะไรได้
16.00 น. ทีม มสช. มีหมอสมศักดิ์, วณี และดวงพร และทีมศูนย์คุณธรรม, ทีม สสส. (ทพ.กฤษดา) มารายงานความก้าวหน้าของโครงการลดละเลิกอบายมุข ระยะที่ 1 ทีม มสช.เป็นผู้ยกร่างโครงการทำ paper เพื่อให้แหล่งทุนทั้ง 3 (สสส., ศูนย์คุณธรรมและ พม.) นำไป Process เพื่อให้ได้งบประมาณมาลงขันก่อน เราช่วยกันปรับแก้ projectproposal อีกเล็กน้อย นอกนั้นก็หารือถึงวิธีทำงานกัน
17.00 น. ทีม กระทรวงยุติธรรม., สถาบันพระปกเกล้า, สำนักงาน กกต. และ มสช. มี ดร.กิติพงษ์ กิตยารักษ์ รองปลัด ยธ., ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์,รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, คุณพิชัย รัตนพล, คุณจิราพร บุนนาค, คุณลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ฯลฯ มาปรึกษากันเรื่อง “การต่อต้านความรุนแรงโดยภาคประชาชน”
ท่าน อ.ไพบูลย์ อีกฐานะหนึ่ง ก่อนที่รัฐบาลจะให้ท่านมาเป็น รมว. พม. นั้น คปค.ได้ตั้งให้ท่านเป็นประธานคณะกรรมการสร้างความสมานฉันท์ของสังคมด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดเช่นนั้นท่านจึง take action ชวนกลุ่มมาปรึกษาหารือว่าควรจะทำอะไรบ้างไหม? ที่ประชุมสรุปได้สาระสำคัญดังนี้
1. ความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีอิสระจากความหวาดกลัว (Freedom from Fear)
2. เป้าหมายของการก่อการร้าย คือ ทำให้ประชาชนหวาดกลัว- – ทำให้วิถีชีวิตปกติสังคมเปลี่ยนไป- – เป็นการปล้นความสุขไปจากประชาชน- – จึงเป็นปัญหาคุกคามความมั่นคงของมนุษย์ด้วย
3. การต่อต้านการก่อการร้าย ต้องมีเป้าหมายสกัดกั้นมิให้การก่อการร้ายบรรลุผลในการทำให้ประชาชนหวาดกลัว
4. ในสถานการณ์ระเบิดเช่นนี้ สิ่งที่ พม.และภาคีพันธมิตรควรทำคือ
(1) Preparation (เตรียมตัว) เตรียมความพร้อมสังคมเข้าเผชิญความจริง และพร้อมรับมือกับมัน – – ซึ่งต้องใช้การ Campaign
(2) Prevention (ป้องกัน) ป้องกันไม่ให้สังคมไทยตกไปสู่สภาวะการยอมรับ หรือยอมจำนนว่า – – การใช้ความรุนแรงเป็นวิธีที่เขาใช้ได้ผล – – ป้องกันต่อต้านไม่ได้แล้ว! – – ซึ่งต้องใช้สื่อ Communication เข้าช่วย
(3) Preservation (รักษาความเป็นปกติ) Normalitization อะไรที่ถูกทำลาย ต้องซ่อมแซมกลับมาใช้ได้โดยเร็ว
5. พม. จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ- – “ศูนย์สนับสนุนประชาชนต้านความรุนแรง” (ศป.รร.) มีคนทำงานเต็มเวลา 2-3 คน ในช่วงแรก เน้นพื้นที่ใน กทม.และปริมณฑล มีโครงการและงบประมาณรองรับในเบื้องต้น 3-5 ล้านบาท และใช้โครงข่ายประชาบดี 1300 เป็นเครื่องมือหนุนเสริม
6. กิจกรรมเบื้องต้นที่จะทำ
10 ม.ค.
– สัมมนาวิชาการ “สังคมไม่ยอมจำนนต่อความรุนแรง”
– ตั้ง “กองทุนสนับสนุนประชาชนต้านความรุนแรง”
– ออก Gridline, คู่มือสำหรับประชาชนปฏิบัติ
– สนับสนุนกิจกรรมเครือข่ายประชาชน เด็ก-เยาวชนให้ประกาศเขตปลอดความรุนแรง ฯลฯ
กลับบ้านเกือบ 2 ทุ่ม ดูข่าว TV ภาคค่ำ พล.อ.ชวลิต เปิดบ้านพักให้สัมภาษณ์ยาวมาก ออกอาการน้อยใจและเป็นฟืนเป็นไฟที่ถูกปรักปรำว่าเกี่ยวพันระเบิดกรุง ฟังแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง “ลุงจิ๋ว” ไม่น่ามาเสียผู้ใหญ่ตอนแก่เลย เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกเสียดายแกเช่นกัน รวมทั้ง อ.ประเวศ เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท
4 ม.ค. เช้าแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของ พม. วันนี้เรื่องการดำเนินการฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วม มีผู้นำชุมชน 3 คน, ปลัด พม.และ รมว. (และ ผอ.พอช.) ร่วมแถลงข่าว
พม.เตรียมงบประมาณ 1,200 ล้านช่วยฟื้นฟูชุมชนและซ่อมแซมที่พักอาศัย ทุกอย่างพร้อม การช่วยเหลือสนับสนุนในมิติใหม่ของ พม. จะลงไปถึงเร็ว ๆ นี้แน่นอน
ท้ายการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวสนใจถามเรื่องบทบาท พม. กับปัญหา “ความรุนแรงทางการเมือง” กันใหญ่ ดีว่าเมื่อวานนี้ได้คุยกันจนได้แนวทางแล้ว จึงให้ข่าวได้อย่างสบายและมีสาระที่นักข่าวถึงขั้นตาโต
12.00 น. ยกทีมกันไปขอพร อ.ประเวศที่ มสช. พี่เอนกไปสมทบที่นั่น รมว.ปรึกษา อ.ประเวศว่าควรทำอย่างไร ท่านตอบว่า “ต้องตัดท่อน้ำเลี้ยง!” คือหมายถึง การอายัดทรัพย์สินบัญชีธนาคารเพื่อไม่ให้พวกนั้นใช้เงินมาก่อนคลื่นใต้น้ำและบนดินได้อย่างเสรีเช่นที่เป็นอยู่
จากนั้น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (TDRI) นำเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.การแพร่ภาพและวิทยุกระจายเสียง พ.ศ…. ผมจึงรับมาดำเนินการให้ เดิมทีเราฝากความหวังการเสนอ พ.ร.บ. สื่อเอาไว้ที่ รมต.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของเขา กระทรวง พม.ไม่ใช่ แต่เราเป็นผู้ต้องการใช้ประโยชน์ ในที่สุดผลักไปทางนั้นไม่ได้เราก็ต้องรับมาขับเคลื่อนเอง รมว.ไพบูลย์บอกว่าคงต้องใช้วิธีร่วมกัน 4-5 กระทรวงผู้ใช้สื่อเป็นผู้เสนอกฎหมายแทน!
ดร.สมเกียรติ ถามผมว่า “ไม่รู้ว่าทำไมผลักไปทางธีรภัทร์ ไม่ Work?” …. ผมตอบทันทีว่า “อาจเป็นเพราะว่าเขาและทีมงานยังขาดทักษะการบริหารจัดการ!” สมเกียรติจึงถึงบางอ้อ
เสร็จจากเรื่อง พ.ร.บ.สื่อ ก็ไปประชุมกับทีมสถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ตกลงแนวทางการทำงานร่วมกัน รมว. และ ทปษ.ต้องการให้ทีม สคส. มาช่วย “จัดการความรู้เพื่อเสริมงาน/พัฒนาคน พม.” นับเป็นเรื่องที่ก้าวหน้ามาก
รีบกลับจาก มสช. ถึงกระทรวงมีทีมเยาวชนที่จะพบนายกสัปดาห์หน้ามาประชุมตามนัด ปรึกษาเครือข่ายเด็ก-เยาวชน เรื่องเวทีต้านความรุนแรงในวันที่ 10 และวันเด็ก (13) จึงรู้ว่าเด็ก ๆ เขากระทบโดยตรง อาสาสมัครแกนนำของพวกเขาโดนระเบิดด้วยตายไป 1 เจ็บอีก 3 พวกเขาจะออกแถลงการณ์ ประนามผู้ใช้ความรุนแรงด้วย
เสร็จจากเด็ก ทีมรองปลัด พม. (ชาญยุทธ) รอประชุมตามนัดหมาย เพื่อเตรียมการประชุม กสค. พรุ่งนี้ และตกลงกันในเรื่องแนวทางการจัดตั้งคณะทำงานจังหวัด ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะเสนอ กสค.ให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งระดับชาติ และ กสจ.ตั้งระดับจังหวัด
กลับบ้านยังมีงานติดมือมาอีก 1 ชิ้น คือทำต้นฉบับ powerpoint เพื่อบรรยายที่เวที สามพรานเช้าวันจันทร์ที่ 8 ต้องรีบส่ง file ไปให้ฝ่ายเลขาเตรียมเอกสารล่วงหน้า
หมดแรงพอดีจึงเข้านอน ท่ามกลางกระแสข่าวลือปฏิวัติซ้อนปฏิวัติซ้ำ
5 ม.ค. 08.00 น.มีนัดปลัด พม. หารือและมอบหมายงานปลัด 5 อย่างก่อนแยกย้ายไปเตรียมเข้าประชุม ก.ส.ค.
09.30 ประชุม ก.ส.ค.ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล มีทั้งเรื่องน่ายินดีและเรื่องน่าเป็นห่วงหลายประการ
เมื่อฝ่ายเลขานุการ (รองปลัด พม.) นำเสนอแผนปฏิบัติการสร้างสวัสดิการสังคมและชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข โดยมีกรอบงบประมาณ 3,000 ล้าน/ปี X 5 ปี เสร็จลง ประธาน (รองนายกปรีดียาธร) กล่าวกับที่ประชุมว่าเพิ่งได้ฟังทั้งหมดพอใจมาก เป็นแผนที่ดีมาก จะหางบมาให้ ที่ประชุม ก.ส.ค.ก็ชื่นชมกับแผนและคงมีจินตนาการกันไปต่าง ๆ นานาเพราะเดิม ก.ส.ค.ได้งบปีละ 30 ล้าน 2 ปีใช้เงินไปเพียง 7 ล้านเท่านั้น นี่กำลังจะมีเงินไหลมาปีละ 3,000 ล้านจะเป็นอย่างไร?
พอวาระการประชุมไปถึงเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมและการขอหลักการในการใช้เงินลงทุนสนับสนุนการแก้ปัญหาสังคมและการพัฒนาสังคม รวมทั้งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม ชักเกิดเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมา ที่ประชุม ก.ส.ค.ซึ่งประกอบด้วยกรรมการหัวเก่า กรอบความคิดแคบ ทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างแสดงภูมิปัญญากันใหญ่
การประชุม ก.ส.ค. ครั้งนี้ผมเพิ่งได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรก อ.ไพบูลย์และ ทปษ.เอนกเคยเข้ามาแล้ว แต่คราวนี้ทั้ง 2 ท่านคงได้รู้จัก ก.ส.ค. มากขึ้นเยอะ เดิมอาจคิดว่าจะผลักดันอะไรได้ง่าย ๆ เพียงแต่ประธานและ รมว.จะนำไปทางไหนก็คงไม่มีปัญหา แต่คราวนี้ส่งสัญญาณแล้วว่าไม่ใช่! ไม่แน่!!
ประเด็นคำจำกัดความ/ความหมาย “สวัสดิการสังคม” พวกเราได้รับทราบจากคุณชินชัยว่า พ.ร.บ.ได้ให้ definition ที่กว้างแล้ว คือ ไม่ใช่แค่ Social Welfare แต่เป็น Social Wellbeing ที่ครอบคลุมทั้งงานส่งเสริม ป้องกัน พัฒนา ฟื้นฟู ไม่ใช่แค่การตั้งรับด้วยการสังคมสงเคราะห์แบบเดิม ๆ เอาเข้าจริง ๆ กรรมการ ก.ส.ค.มีความคิดเช่นนั้นกันน้อยมาก ผมคิดอยู่ในใจว่าได้เรื่องแล้วซิ! รมว. และ ทปษ. เคยหวังกับ ก.ส.ค.เอามาก ๆ อะไร ๆ ก็ผลักลงมาผ่าน ก.ส.ค. หมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม และการบริหารแผนงาน/งปม. 3,000 ล้าน/ปี แล้วที่นี้จะทำอย่างไร!?
ที่ประชุมถึงกับขอให้ส่งไปปรึกษากฤษฎีกาให้ช่วยตีความและขอคำแนะนำ ซึ่งก็คงพอดีหมดเวลาทำงานของรัฐบาลชุดนี้โดยที่ไม่ต้องทำอะไร ผมคิดอยู่ในใจ
ประเด็นขอหลักการโครงการรณรงค์ลด ละ เลิก อบายมุข และของบ @ 200,000 บาท/จังหวัด สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดพลอยสะดุดไปด้วย
แต่ประธาน หม่อมอุ๋ยก็พยายามสรุปว่า วาระ 3.1,3.2 ให้ผ่านไปได้ เอาเรื่องแผนของบประมาณเข้า ครม.ได้เลย ส่วน 3.3 ให้ปรึกษาทางออกจากกฤษฎีกาก่อน
พวกเราเดินออกห้องประชุม ก.ส.ค.ด้วยความมึนตึบอยู่ในหัว ผมบอกพี่เอนกว่า “ถ้าให้ผมตัดสินใจ ผมจะเลือกทางเดินใหม่เพราะ ก.ส.ค.ไม่ใช่ the path of lessresistance ในความหมายของผมแล้ว” พี่เอนกก็เห็นด้วย แต่พี่ไพบูลย์จะเอาอย่างไรต้องฟังแกก่อน?
เรารีบกลับมาที่กระทรวงเพราะมีนัดกับเจ้าหน้าที่ สร. ทั้งสำนักงานกินข้าวกลางวันฉลองปีใหม่ และรวบรวมของขวัญที่มีคนมาให้ รมว. และคณะทำงาน เอามาให้เจ้าหน้าที่จับสลากกัน ใครโชคดีก็ได้ไป ของขวัญมีมากพอที่จะได้กันทุกคนอยู่แล้ว
หมอแมน (น.สพ.ปกรณ์ สุวรรณประภา) อดีตทีมบริหารงานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน มาหาที่กระทรวง จึงพากันเดินออกไปกินข้าวที่โรงแรมรอยัลปรินเซส หลานหลวง
แมนตัดสินใจลาออกจากราชการกรมปศุสัตว์เมื่อ 6 ปีก่อน เพื่อทำงานธุรกิจการลงทุนในสายโรงงานผลิตยา เวชภัณฑ์ และผงเกลือแร่ ของพ่อตา ผมเคยบอกเขาว่าให้ลองทำดู จะได้มีประสบการณ์ แต่เมื่อคิดจะทำต้องให้เวลากับมันมาก ๆ อย่าว๊อกแว๊ก งานทางสังคมให้วางไว้ก่อนก็ได้
มาคราวนี้มาบอกว่า คิดว่าตนไม่ถนัดงานแบบนั้น ลงทุนอะไรหลายอย่างก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ใช่ตัวตนจริง ภรรยาก็บอกตลอดเวลา วันนี้ภรรยาดีใจมากที่ตัดสินใจกลับมาทำงานสังคมอีกครั้งเพราะถนัดในการจัดกระบวนการประชุม จึงมุ่งมาปรึกษา
ปกรณ์เป็นคนหนุ่ม ที่มีความคิดอ่านและมีทักษะดีในด้านการจัดกระบวนการและฝึกอบรม เขาถือได้ว่าเป็นศิษย์ก้นกุฎิของพี่หมอทวีศักดิ์ นพเกษร ทีเดียว ใคร ๆ ในเครือข่ายจังหวัด 4 แยกอินโดจีนก็รู้จักหมอแมนดี มีคนบอกว่าแกติดหมอทวีศักดิ์มากไปหน่อยจึง ขาดทักษะในงานเชิงยุทธศาสตร์และบริหารจัดการที่ควรจะเรียนรู้จากหมอพลเดช!
พอดีมีงานที่ พม. ซึ่งเรากำลังจะเคลื่อนเรื่อง “ต้านความรุนแรง” และ “รณรงค์ลดอบายมุข” ผมจึงชวนมาช่วยกันที่นี่ อาจตั้งฐานที่ LDI หรือมานั่งที่กระทรวง พม. เลยก็ได้
ตกเย็นคุณกัมพล และยรรยง แกนนำเครือข่ายผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยมาพบเพื่อตามเรื่องเข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังไม่ทันได้ขยับให้พวกเขาเลย งานยุ่งเหลือเกิน
ระหว่างคุยกันอยู่ รมว. เดินเข้ามาที่ห้องทำงาน จึงยืนคุยกับ รมว. ถึงเรื่อง กสค. เริ่มเห็นชัดแล้วว่า รมว. เองก็กังวลและมีแนวโน้มที่จะเลือกทางที่จะใช้อำนาจกระทรวงมากขึ้น แทนที่จะฝากไว้กับ กสค.แบบเดิม
ผมขอเวลาตั้งหลัก เสาร์-อาทิตย์นี้ วันจันทร์เราต้องช่วยกันตัดสินใจให้ดีอีกครั้ง
ผมฝากประเด็นอ.ไพบูลย์ไปว่า มีเรื่องสำคัญจากสถานการณ์บ้านเมืองที่เรา (รมว.+ลข.) น่าจะเข้าพบ นายกเป็นการเฉพาะสักครั้ง และอยากนัดท่านนายก ทานข้าวกับ อ.ประเวศ เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาบ้านเมือง รมว. เองก็เห็นด้วย
หัวค่ำ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ทาง ASTV คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์อย่างดุเดือด ตาม style ของเขา คุณสนธิวิจารณ์พูดข้างเดียวเอากับบิ๊กจิ๋วผ่าน ASTV ว่า “ขอเตือนพี่จิ๋วให้ตั้งสติ และหยุดคิดนิ่งทำตัวให้นิ่งๆ เพื่อให้สังคมจำในส่วนที่เคยสร้างคุณูปการให้ยิ่งใหญ่ ดีกว่าจะมาเสียตัวตอนแก่”
คุณสนธิ วิเคราะห์สถานการณ์และฟังธงว่านี่เป็นแผนเป็นขบวนการที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของ คมช. และรัฐบาล อย่างต่อเนื่อง ใช้การปล่อยข่าวว่า คมช.แตกกัน พยายามตอกลิ่มว่า พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร กับ พล.อ.อนุพงษ์ แตกคอกัน แก่งแย่งบทบาทกัน, ใช้การก่อการร้ายมาบั่นทอน แล้วโยนว่าเป็นแผนปฏิวัติซ้ำที่สะพรั่งหนุนอยู่, จากนั้นก็ใช้โทรศัพท์ป่วนเมืองว่ามีระเบิดที่นั่นที่นี่ ก่อนที่จะขน Mob จากอีสาน/เหนือเข้ากรุงเพื่อโค่นรัฐบาล และคมช. กระทั่งลงด้วยการปฏิวัติซ้อน
ถือว่าคุณสนธิ ยังเป็นตัวแปรที่สำคัญสำหรับการเมืองไทยในวันนี้ เพราะเขามีพลังความคิดและพลังข้อมูลข่าวสาร มี ASTV มีเครือข่ายยามเฝ้าแผ่นดิน (2 ล้านคน เสียค่าสมาชิกแล้วคนละ 300 บาท) และมีพลังในการอธิบาย
6 ม.ค. ข่าว นสพ.ระบุว่า เปรม เรียก ชวลิต และ สนธิ (คมช.) ต่อสายคุยกัน และไม่คิดว่า ชวลิตเกี่ยวข้อง
7 ม.ค. ข่าว นสพ. ระบุ เปรม สับมือบึ้มเลวทราม โกรธป๋า ให้ทำป๋า อย่าทำร้ายประชาชนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ (อดีต ผอ.สำนักข่าวกรอง) เขียนลงคอลัมภ์ประจำในโพสต์ทูเดย์ เรื่อง สามก๊กเมืองไทย คมช./รัฐบาล, กลุ่มอำนาจเก่าและชวลิตที่จะฟื้นบทบาท โดยบอกว่าเชื่อว่าปีใหม่นี้รัฐบาล+คมช. จะเล่นบทบาทเข้มข้นและจริงจังเด็ดขาด หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากและเกิดบึ้มส่งท้ายปีเก่า
ความจริงก็มีแนวโน้มอย่างนั้น ผมเห็นด้วยกับเอนก เหล่าธรรมทัศน์ที่หยิบยกประวัติศาสตร์รัฐประหารมาเปรียบเทียบว่า ทุกครั้งที่รัฐประหาร หรือ ก่อกบฎ ฝ่ายแพ้จะยอมหยุด ฝ่ายชนะก็จะให้อภัย และประนีประนอม (แบบไทย ๆ ) แต่คราวนี้ฝ่ายแพ้ไม่ยอมหยุด ทักษิณไม่มีนิสัยยอมแพ้ใคร และห่วงทรัพย์สินในเมืองไทยมาก จึงดิ้นรนต่อสู้ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การกำจัดกันด้วยความรุนแรง
ภาคประชาชนมีแต่ต้องเตรียมรับมือกับความรุนแรงและประนามใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของฝ่ายตน.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
7 มกราคม 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 19 : ควันหลงระเบิดกลางกรุง"