8 ม.ค. ถึงคิวที่ต้องนำเรื่องงาน พม.เข้าไปนำเสนอ (เล่า) ให้ที่ประชุมกลุ่มสามพรานฟัง เพราะรับปากคุณหมอกิตินันท์ อนรรฆมณี เอาไว้
กลุ่มสามพรานคือเวที “ประชุมเป็นเนืองนิตย์” ของกลุ่มแพทย์ชนบท และลูกศิษย์ลูกหาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นที่บ่มเพาะแพทย์หัวก้าวหน้าและมีจิตวิญญาณสาธารณะอันแรงกล้า เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมากของกลุ่มแพทย์นักคิดนักปฏิบัติและนักวิชาการซึ่งหลายคนได้กลายเป็นอธิบดีและปลัดกระทรวง แม้กระทั่ง รัฐมนตรีไปแล้วก็มี กลุ่มนี้มีประชุมกันเป็นประจำทุกเดือนมิได้ขาด ใช้โรงแรมโรสการ์เด้นหรือสวนสามพราน จ.นครปฐมเป็นสถานที่ประจำ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ร่วม 20 ปีเข้าให้แล้ว
ช่วงนี้ สมาชิกลุ่มหลายคนเป็นอธิบดี และเลขานุการรัฐมนตรี จึงขาดประชุมกันหลายคน อ.ประเวศ พูดเชิงติดตลกว่า “ยามใดที่ว่างงานจะมาประชุมกันเยอะ ฉะนั้นที่นี่คือเวทีของพวกไม่มีอะไรจะทำ!!”
วันนี้ผมถือโอกาสมาเล่างานที่ พม.ให้พรรคพวก และ อ.ประเวศฟังอย่างเป็นระบบเสียคราวหนึ่ง หลังจากที่ปลีกไปเล่นบทบาท “ฝ่ายการเมือง” มาได้ 3 เดือนแล้ว พอได้ฟังภาพรวมของภารกิจที่ พม.ที่ผมเล่าแล้ว นพ.สำเริง แหยงกระโทก (นพ.สสจ.โคราช ที่มีบารมียิ่งกว่า ผวจ.), พญ.กอบกุล (รอง ผอ.รพ.ชุมพร) และ นพ.พงษ์เทพ (ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน) นพ.วิชัย (ผอ.รพ.น้ำพอง ขอนแก่น) ฯลฯ ถึงกับออกปากว่าคิดได้อย่างไรถึงได้สามารถวางยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบเช่นนี้
16.00 ประชุมทีม คทง.รมว. ได้ครบทีมเป็นครั้งแรกของปี ซึ่งหวังว่าจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ผมจึงถือโอกาสได้ทบทวนและหารืองานสำคัญและประเมินสถานการณ์ร่วมกัน
ถือโอกาสพูดถึงปัญหาอุปสรรคในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์จังหวัดที่ถูกพรรคพวกเบรกอยู่เรื่อย จนในที่สุดทุกคนยอมถอยกลับไปตามที่ผมตั้งแท่นไว้ ทำไปทำมาเสียเวลาไปเสียเฉย ๆ ถึง 2 เดือนเต็ม
9 ม.ค. เช้า รมต.ประชุม ครม. แต่ในระหว่างนั้นมีภารกิจแทรกอันเป็นผลจากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลายเรื่อง
10.00 น. รมต.ต้องออกจากห้องประชุม มาพบกลุ่มเยาวชนสื่อสร้างสรรค์ที่ประตูทำเนียบ เพื่อให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ กลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้มีข้อเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน
10.30 น. ตัวแทนเยาวชน 10 คน (ศธ.8+พม.2) เข้าเยี่ยมการประชุม ครม.พร้อมตั้งคำถามและนำเสนอมาตรการทางนโยบายที่เป็นวาระเพื่อเด็กและเยาวชน 5 ข้อที่ขอให้รัฐบาลทำให้เป็นจริงภายใน 1 ปี
14.00 น. รมว.แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เนื้อหาคือวาระเด็ก 5 ประการที่ พม. + เครือข่ายเสนอต่อ ครม.
บ่ายประชุมคณะผู้บริหาร พม.ตามปกติ ทำหน้าที่ประธานแทน รมต. ไปจนเกือบจบ พอดี รมต.กลับมาถึง มีเรื่อง KM ที่จะเซ็นต์ MOU กับ สคส. เร็ว ๆ นี้ และ ทปษ เอนกขอตัวแทน สสว., สป., กรมต่าง ๆ เพื่อเป็น คทง. KM ของกระทรวงที่จะเชื่อมประสานกับทีม สคส./สกว. มีเรื่องงานสัมมนา “สังคมไทยไม่สยบยอมต่อความรุนแรง” และงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “26 จังหวัดอุทกภัย” ที่จะจัดในวันพรุ่งนี้
ค่ำประชุมหารือ คณะกรรมการ กสค. เพื่อหาทางออกจากประเด็นติดค้างจากที่ประชุมวันก่อน ซึ่งเป็นที่ลงตัวเรียบร้อยตาม Style ไพบูลย์ คือเป็นไปตามแผนที่เตรียมกันเมื่อวานนี้ครบทุกอย่าง ตกลงว่าไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะ กก./อนุ กก./คทง.ใด ๆ เลย คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมทั้งหมดทุกระดับ ทุกพื้นที่ให้กลับไปใช้อำนาจ รมต. ตั้งขึ้นเองโดยไม่ต้องมารบกวน กสค. และขีดวงบทบาทของ กสค./กสจ. ออกจากคณะกรรมการบริหารกองทุนเป็นที่เรียบร้อย
10 ม.ค. เช้ามี 2 เวทีในเวลาเดียวกัน ที่ รร.ปรินซ์พาเลซ เวทีหนึ่งเป็นเวที work shop คทง. 26 จังหวัดน้ำท่วม ทปษ.เอนก, จิริกา ช่วยกันดูแล ผมไปร่วมเวทีเยาวชนต่อสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อเชื่อมไปถึงเวทีภาคบ่ายใน รร.สยามซิตี้
เด็ก-เยาวชน 14 เครือข่ายที่เป็นแกนงาน Young Expo มาร่วมกันระดมความคิด “จุดยืนของเยาวชนกับสถานการณ์ความรุนแรงในสังคม” เครือข่ายเด็กชนเผ่าภาคเหนือ ตอนบนมีปัญหาความรุนแรงที่ได้รับจากอำนาจรัฐปราบปรามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน, เด็ก จชต. ได้รับความรุนแรงและผลกระทบจากไฟใต้อย่างหนัก เยาวชนสตรีที่มาเล่าเรื่องให้ที่ประชุมฟัง ส่วนตัวก็เป็นผู้ที่เสียพี่ชายไปแล้ว 3 คนในเวลาที่ถัด ๆ กัน พี่ชายคนสุดท้ายถูกยิงจากเบื้องล่างซ้าย-ขวา ทะลุศรีษะต่อหน้าต่อตาลูกของตนเอง, เยาวชนตัวแทนจากบ้านกาญจนาภิเษก (เด็กที่เคยทำผิด-ฆ่าคนตาย) ถูกกักกันในบ้านพิเศษ
บ่าย เวทีรุ่นใหญ่ “สังคมไทยไม่สยบยอมความรุนแรง” ที่โรงแรมสยามซิตี้ มากันพร้อมหน้าพร้อมตาเต็มห้องเปรี๊ยะราว 100 คน ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, รมว.ไพบูลย์เป็นประธาน, ผมดำเนินการประชุม, คุณสันติสุข โสภณสิริ นักคิดนักอุดมคติ, ราณี หัสรังสี นักพัฒนาเอกชน, คุณลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ฯลฯ มีผู้แสดงความคิดเห็นรวม 30 คน TV 11 ถ่ายบันทึกตลอดงานเพื่อนำเทปไปออกอากาศภายหลัง
รมว.พม. (ไพบูลย์) เสนอ 4 แนวทางรับมือความรุนแรงทางสังคม-การเมือง
1. ไม่ยอมรับความรุนแรง – ความรุนแรงที่ไร้ขอบเขตควรถูกประนาม
2. ไม่ยอมสยบ – ไม่นิ่งเฉย ต่อต้าน ไม่ยอมแพ้ ปรับตัวให้เป็นปกติโดยเร็ว
3. ไม่ประมาท – ตื่นตัว ระวัง มีระบบ ติดตามดูแล เตือนภัย
4. สร้างภูมิคุ้มกัน – สร้างความเข้มแข็งสามารถ , สันติวัฒนธรรม
ศ.นพ.วันชัย เสนอ 4 แนวทาง
1. ต้องไม่กลัว + ต้องคิดเชิงบวก
2. ต้องสร้างพื้นที่ปลอดความรุนแรง ประกาศ เฝ้าระวังกันเอง
3. เปิดเวที “ประชาเสวนา” (Citizens Dialogue) ให้มาก ๆ
4. เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องหาคนผิดมาลงโทษ ด้วยกระบวนการยุติธรรม
ดร.กิติพงษ์ เสนอเร่งด่วน 2 ประการ
1. ทำเร่งด่วน ด้วยการประนามการใช้ความรุนแรง (ไม่ใช่ประนามผู้ใช้ความรุนแรง) อย่างทันท่วงที หนักหน่วง
2. รวมพลัง ป้องกัน ชี้เบาะแส
ดร.ชัยวัฒน์ เสนอ 4 ประเด็น
1. ความจริงใน ปทท. – รปห. 19 กันยายนคือการขู่จะใช้ความรุนแรง, ความรุนแรงใน จชต.ยังดำเนินต่อ, ระเบิด 31 ม.ค. 49 เป็นสัญลักษณ์สูง, สังคมไทยมีบริบทใช้ความรุนแรงให้เลียนแบบตลอดเวลา
2. สังคมไทยรักสงบ, ไม่ใช้ความรุนแรงจริงหรือ?…สังคมไทยไม่ต้องการความรุนแรงเกิดกับตัวเท่านั้นหรือเปล่า
3. 31 ม.ค.49 เป็นการก่อการร้ายต่อเนื่อง
4. การก่อการร้ายทำงานอย่างไร?
1) เป้าหมายไม่ใช่อยู่ที่ทำลายคน แต่อยู่ที่ความกลัว (ยิ่งคนไม่เกี่ยวโดนความกลัวยิ่งขยายเร็ว/กว้าง)
2) เป้าหมาย คือ ขโมยความเป็นปกติจากสังคม
3) มักทำให้เหยื่อกลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเสียเอง (เพราะโกรธแค้น)
คุณสันติสุข
– ระเบิด กทม. ต้องการให้จดจำถึงรุ่นลูกมารุ่นหลานว่าวันส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่ ระเบิดกลางกรุง
– คนไม่กล้าประนาม เพราะกลัวผู้ใช้ความรุนแรงทำร้าย!!
– แทนการประนาม ควรใช้วิธี “แผ่เมตตา” จะดีกว่า
ดร.สุริชัย หวันแก้ว
– สังคมบริโภคข่าวมาก ๆ ประนามมากนักระวังจะผิดทางเพราะยิ่งไปยั่ว ให้สังคมบริโภคข่าวมากขึ้น
– อย่าแยกขั้วแยกฝ่ายอย่างสำเร็จรูป ต้องสมานฉันท์ และใช้สติปัญญาร่วมกัน
ศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง (ศป.ลร.) เป็นการจัดตั้งภายใน พม. เพื่อรับมือกับความรุนแรงทางสังคม-การเมือง, บริหารแบบโครงการพิเศษ, คุณสารภี + น.สพ.ปกรณ์ ร่วมดูแล, งบประมาณเบื้องต้น 2 ล้าน, ตั้งอยู่ที่บ้านราชวิถี
ออกแถลง ฉบับแรก
1. เราคือผู้รักความสงบ เป็นอิสระไม่ฝักฝ่าย
2. เราขอประนาม/ต่อต้าน วิธีใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
3. เราไม่สยบยอมความรุนแรง
4. เราเรียกร้องรู้รักสามัคคี + ความถูกต้องเป็นธรรม
11 ม.ค.
– พิธีลงนาม MOU 4 องค์กรร่วมขับเคลื่อนแผนงานชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข ระยะที่ 1, พม. + สสส. + ศูนย์คุณธรรม + มสช.
– รมว. พม., พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, ครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์,ปลัดวัลลภ พลอยทับทิม และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ร่วมแถลงข่าว
– นับเป็นพิธีลงนาม MOU ฉบับแรกในยุค รมว.ไพฑูรย์ นักข่าวมากันพร้อมหน้า
บ่าย คณะของสมาคมเกษตรกรเพื่อการพัฒนา (สทพ.) เข้าพบ รมว. พม. เพื่อเสนอตัวร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม นำโดย ดร.ยุกติ สาระภูติ (อดีตปลัด กษ.) ประธานที่ปรึกษา สทพ., นายกสมาคม และเลขาธิการ สกพ. (คุณชัยวัฒน์ สุระวิชัย) และพรรคพวก
ในจำนวนนี้มีคุณกฤษฎา จากราชบุรี แสดงตัวว่าเป็นลูกศิษย์ลูกหา/ผลผลิตจากประเวศ – ไพบูลย์ – เอนก – พลเดช ล่าสุดได้รับคัดเลือกเป็น สสร. 1 ใน 100 ด้วย
เย็น อ.สันติวิภา พานิชกุล มาพบแสดงความยินดีและสวัสดีปีใหม่มาพร้อมลูกน้อง 2 คน บอกข่าวว่า ทำธุรกิจเล็ก ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม จำหน่ายเครื่องกำจัดขยะพลาสติกแปลงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง! (น่าสนใจดี)
ค่ำ ประชุมทีม รมว. เหลือเพียง รมว.+สิน+ลข. รวม 3 คน เท่านั้นเพราะเอนกป่วยกลับไปอยุธยาแล้ว
12 ม.ค. โดดงานจากกระทรวงไปอยู่ที่ LDI ทั้งวันเพื่อประชุม staff และสะสางงาน LDI หลังจากทิ้งไปนาน
ปรับโครงสร้างให้พัชรา เพื่อเตรียมเสนอของบประมาณจาก กยต. เป็นโครงการเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเชื่อมพลัง 4 ส่วน
1) ศูนย์เยียวยาชุมชนปอเนาะ 70 แห่ง อาสา 236 คน
2) ศูนย์แจ้งข่าวมัสยิด 600 แห่ง อาสา 300 คน
3) โรงพยาบาล 30 แห่ง สถานีอนามัย 219 แห่ง
4) อบต. 300 แห่ง
LDI จะสร้าง “ปอเต็กตึ้งมุสลิม จชต.” ขึ้นมาขับเคลื่อนพลังที่เป็นกลางและทางสายกลางในพื้นที่
เย็นกลับไปประชุม “กรณีศึกษาแก้ความขัดแย้งที่อยู่อาศัย” กรณีชุมชนชอยหวั่งหลี (ยานาวา 52) ถูกวัดยานาวาไล่ที่ เป็นชุมชนตึกแถว ชุมชนมีฐานะไม่ยากจนแต่วัดเป็นวัดรวยมาก เจ้าอาวาสเป็นถึงขั้น “รองสมเด็จพระสังฆราช” (พระพรมหมวชิรญาณ) ปัญหาข้อขัดแย้งถึงขั้นมีคำสั่งศาลให้รื้อถอนชุมชนแล้ว แม้จะพยายามต่อสู้ด้วยแง่มุมความเป็น “โบราณสถาน” และผังเมืองแล้วก็ตาม วัดยานาวา เป็นวัดที่สร้างในรัชกาลที่ 3 เป็นอนุสรณ์แด่กษัตริย์นักเดินเรือสำเภาค้าขาย (ร.3) มีสำเภาเจดีย์เป็นโบราณสถานสำคัญ มีขอบเขตติดแม่น้ำเจ้าพระยา สวยงามมาก มีท่าเรือสำเภาโบราณ ชุมชนนี้ก็เป็นที่ตั้งรกรากของตระกูลหวั่งหลี วัดต้องการรื้อตึกแถวเดิมเพื่อพัฒนาที่ดินทำประโยชน์เชิงธุรกิจโดยมอบให้เอกชนรับสัญญาไปทำโดยมีผลตอบแทน 180 ล้านบาทให้วัด ชาวบ้านต้านทานว่าอาคารที่จะถูกรื้อเป็นตึกที่มีเอกลักษณ์ สร้างเป็นแถวรูปเรือ มีหัวท้ายสูง
สถาปนิกสมาคมทำเอกสารการท่องเที่ยวเป็นหลักฐาน แต่ศาลไม่ฟัง กรณีศึกษานี้ ทำให้ผมเรียนรู้ว่าบทบาทของ พม.ควรมีแค่ไหนในกรณีความขัดแย้งชุมชนเช่นนี้
13 ม.ค. พักอยู่กับบ้าน รับส่งน้องพลอยไปเรียนพิเศษ
เย็นไปฟังคอนเสริต “October Zone” ของมูลนิธิสายธารประชาธิปไตยที่เลื่อนมาจากช่วง 30 ปี 6 ตุลาคม
คณะดุริยางค์ศิลป ม.มหิดล ศาลายา เป็นผู้บุกเบิกวิชาการด้านดนตรีในระดับอุดมศึกษาที่น่าสนใจ ดร.สุกรี สุขเจริญ เป็นผู้นำผู้บุกเบิกที่สำคัญสร้างผลงานไว้เยอะมาก อ.สุกรีนำเพลงเพื่อชีวิต/เพลงปฏิวัติไปทำเป็น Orchestra น่าฟังมาก จัดงานทีไรเป็นต้องไปดูทุกครั้ง
คราวนี้เขานำเอาเพลงที่เหมาะสมมาปรับประยุกต์เป็น PopOrchestra วงใหญ่เกือบ 100 ชีวิต เพื่อให้เข้าถึงเยาวชน เพราะมากการแสดงอลังการตามสภาพ
มีครอบครัวศิลปิน 2 ครอบครัวมาร่วมแสดง คือวง Family ของโฮป (พ่อ-สุเทพ, แม่,ลูกสาวน่ารักมาก 2 คน) และวงไก่ฟุตบาธ (พ่อ-ลูกสาว 2 คน เก่งไวโอลินมาก)
เกิดประกายความคิดอย่างน้อย 2 อย่าง 1) การรณรงค์ “สถาบันครอบครัว” น่าจะอาศัย ครอบครัวศิลปินช่วยขับเคลื่อน 2) รณรงค์สร้างสมานฉันท์น่าจะใช้ pop orchestra ออกตระเวนตามมหาวิทยาลัยภูมิภาค ร่วมกับการระดมทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ Raise Fund
14 ม.ค. รับเชิญไปร่วมอภิปรายในเวที “ราชดำเนินเสวนา” ในหัวข้อไฟใต้ของสมาคมนักข่าว นสพ. แห่งประเทศไทย ที่สามเสน (หน้า รพ.วชิระ) ผู้ร่วมอภิปรายมี รศ.ดร.ปนิธาน วัฒนายากร, รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป และคุณพิภพ ธงไชย
หลังดร.ปนิธาน พูดถึงปัญหาเชิงเทคนิค ยุทธวิธีและงานด้านความมั่นคง หมอพลเดช พูดถึงภาพรวมภาพใหญ่และเสนอทางออกจนที่ประชุมฮือฮา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นข่าวใหญ่ใน TV เย็นนี้ และ นสพ. พรุ่งนี้เช้า ฝ่ายจัดการประชุมมีแผนจะถอดเทปและจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็ก (ปกขาว) เผยแพร่
1. มองสถานการณ์ จชต. นี้อย่างไร
1.1 มองว่า เป็นการต่อสู้ของประชาชนในรูปแบบใช้ความรุนแรง และมองว่าเป็นคนไทยด้วยกัน ไม่แยกเราแยกเขา หากทุกคนเป็นพวกเราทั้งหมด จึงไม่เสนออะไรเพื่อให้ใครรุกเอาชนะใคร แต่เป็นการเสนอเพื่อการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
1.2 มองว่า แท้จริงเป็นขบวนต่อสู้ของชาวบ้านเท่านั้น ไม่มีทฤษฎีชี้นำ (ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การพัฒนา) แต่สู้เพราะความคับแค้นสะสม, อาละวาดแบบเด็กเกเร บังเอิญเป็นขบวนการขนาดใหญ่ มวลชนมาก, ใช้ธงแยกดินแดนประวัติศาสตร์และศาสนา เป็นเครื่องมือปลุกระดมทางการเมือง
1.3 เชื่อว่าฝ่ายขบวนการฯ รู้ทั้งรู้ว่าแยกดินแดนไม่สำเร็จ ลึก ๆ ไม่อยากแยกครอบครัวออกไป แกนนำยอมรับสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวกำลังพลฮึกเหิมในผลงาน 3 ปี แต่แกนนำอ่อนล้า
1.4 รู้สึกว่า กำลังฝ่ายความมั่นคงจะเอาไม่อยู่ ฝีไม้ลายมือและภูมิปัญญาการจัดการไม่สูงพอจะแก้ปัญหาให้ได้ตามความสะใจของสังคมไทยทั่วไป
1.5 ห่วง/กังวลว่า สังคมใหญ่ปฏิเสธขบวนชาวบ้านเหล่านี้แล้ว แยกพวกเขาเป็นอื่นไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยกระแสความเกลียดชัง
2. วิเคราะห์ 4 ปัจจัย
2.1 ขบวนต่อสู้ของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น แม้ปักธงแยกดินแดนแต่ก็ตระหนักว่าคงไปไม่ถึง ถึงโหดร้ายสุด ๆ แต่พวกเขาก็มีมวลชนมาก ใครจะกำหราบด้วยกำลังคงยาก ฆ่าคนได้แต่ฆ่าความคิดไม่ได้ ยึดพื้นที่ได้แต่ยึดคนไม่ได้ ยืนระยะต่อสู้อีก 5 ปี ได้สบาย ๆ
2.2 อำนาจรัฐด้านความมั่นคง มือยังอ่อน ภูมิปัญญาแก้ปัญหาจำกัด งานข่าวหมดสภาพ ศอ.บต.เป็นยาเฉพาะที่แผนเก่าที่ไม่น่าจะใช้ได้ผล สู้กันอีก 5 ปี อาจตายรวม ๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย และประชาชนผู้บริสุทธิ์ร่วม 20,000! คน 73 จังหวัดกับ 3 จังหวัด จะเกลียดชังกันมากยิ่งขึ้น
2.3 พลังสายกลางยังอ่อนแอมาก
ในพื้นที่ พลังสายกลางยังอ่อนแอ เสี่ยงภัยสูง ไม่มีระบบสนับสนุน
นอกพื้นที่ ยังไม่เข้มแข็งพอ ขาดความรู้จริง ขาดข้อมูล
และไม่มีบารมีมากพอจะสร้างความเข้าใจกับสังคมใหญ่ได้
2.4 สังคมใหญ่ตกอยู่ในกระแสความเกลียดชังแบบเหมารวม แต่ชอบดันให้คนอื่นสู้ ๆๆ
3. สังเคราะห์ข้อเสนอทางออก
มีข้อเสนอ 4 มาตรการที่ประกอบกัน ซึ่งควรทำร่วมกันทุกมาตรการ
3.1 ต้องส่งสัญญาณหยุดความรุนแรงไปจากนอกพื้นที่
โดยกลุ่มคนที่ทรงคุณธรรม/บารมี ¨ เสนอให้ตั้ง กอส. Episode 2
3.2 ประกาศความมุ่งมั่น และลงมือทำจริงว่า จะสร้างนวัตกรรมการแก้ปัญหาโดยตั้ง “ทบวงกิจการ จชต.” ประกอบด้วย
(1) สภาผู้ชำนาญการศาสนาอิสลามท้องถิ่น 100 คน เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน-ชุมชน, มีภารกิจ ดูแลการปกครองท้องถิ่น, ดูแลการจัดการศึกษาศาสนาชั้นสูง (ซานาวีย์8-9), เป็นกลไกกลั่นกรอง รมต.ทบวงฯ
(2) สภาที่ปรึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม จชต., ทำหน้าที่แบบเดียวกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(3) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา จชต. เป็นองค์กรมหาชน
3.3 บรรจุเรื่อง “เทศาภิบาลหรือมณฑล” ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, เป็นท้องถิ่น/ภูมิภาคขนาดใหญ่กว่าจังหวัด โดยรวมกลุ่มตามภูมินิเวศวัฒนธรรม เช่น ล้านนา ปัตตานี อีสานเหนือ ฯลฯ และระบุว่าให้ดำเนินการภายใน 5 ปี
3.4 สนับสนุนขบวนการทางสายกลางในพื้นที่ให้เติบโตเข้มแข็ง เพื่อให้เป็นทางออกทางเลือก และเป็นเวที Dialogue ประเด็นยุทธวิธีของผู้เกี่ยวข้อง.
นพ.พลเดช ปานประทีป
14 มกราคม 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 20 : เข้มทุกรส"