ตอนที่ 21: “ผลงาน 3 เดือน”

          ควันหลงที่ติดตัวมาตลอดสัปดาห์คือเรื่อง ทบวงกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อมวลชนทั้งวิทยุ, หนังสือพิมพ์ ตามสัมภาษณ์ขยายผล 4-5 รายการ หลังจากที่หนังสือพิมพ์ร่วม 10 ฉบับ พากันลงข่าวจากเวทีอภิปรายที่สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อสุดสัปดาห์

         
15 ม.ค. ต้องไปส่งน้องพลอยที่โรงเรียนตั้งแต่เช้ามืด เพราะขนของไปจัดงานเลี้ยงปีใหม่ในหมู่เพื่อน ๆ ทำให้พ่อต้องไปถึงกระทรวงตั้งแต่ไก่โห่ ข้าวปลาไม่ได้กินไปจากบ้าน ต้องเดินออกประตูกำแพงหลังกระทรวงไปหาร้านอาหารเหมาะ ๆ แถวโบ้เบ๊

                   ไม่ทันไร มีโทรศัพท์เข้ามาจากรายการวิทยุของคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ นักจัดรายการวิเคราะห์การเมืองชื่อดังว่าจะขอสัมภาษณ์เรื่อง ทบวง จชต.

                   ดนัยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นข้อเสนอที่แหวกกรอบเป็นครั้งแรกนับจากการปล้นปืน 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา เขาทำหน้าที่ซักประเด็นต่าง ๆ อย่างผู้สงสัย บ่อยครั้งคล้ายกับการซักฟอกความคิด เพื่อยั่วให้ตอบ เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น บางทีก็ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เกิดอารมณ์เอาง่าย ๆ แต่ความจริงนั้นหน้าที่ของเขา – นักสื่อสารนักจัดรายการ!!
                   ตอนเที่ยง มีนัดร่วม LunchMeeting ระหว่าง Mr.Ian Porter (ผอ.สถาบัน World BankInstitute ประจำภูมิภาค สำนักงานที่ กทม.) กับรัฐมนตรีไพบูลย์เพื่อหารือเรื่องที่ WBI จะสนับสนุนภาคประชาชนในการฟื้นฟูพัฒนา จชต.
                   เรื่องนี้ทีมที่ปรึกษา WBI เคยมาหารือกับผมที่ LDI 2 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ช่วย รมว.จาตุรนต์ ฉายแสง อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเริ่มจากกระทรวงมหาดไทย โดยกรมพัฒนาชุมชนเป็นผู้ทำเรื่องขอการสนับสนุนไปที่ WBI เขาจึงส่งทีมมา 2 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ที่มีความรุนแรง เช่น ติมอร์, มินดาเนา และตะวันออกลาง เป็นผู้ชายทั้งคู่ มีคุณภมรรัตน์ (น้อง) เป็นคนประสาน
                   ล่าสุดผมได้เคยเสนอ idea ไปว่า WBI น่าจะทำงานร่วมกับกระทรวง พม. ในลักษณะตั้งเป็นกองทุน โดยหลักการ Matching Fund  ระหว่าง WBI กับ กองทุนในประเทศซึ่งเขาสนใจมาก จึงเป็นที่มาของการนัดพบ รมว. ไพบูลย์เพื่อหารือ
                   การพูดคุยโดยสรุปวันนี้ได้ความว่า WBI จะสนับสนุนเงิน 2 ล้าน USD โดยให้ทำเป็น 3 ระยะ แยกองค์กรรับผิดชอบ 3 ส่วน 
ช่วงแรก เป็นการทำ study โดย ม.มหิดล(โคทม อารียา), จุฬา (อมรา พงศาพิชญ์, และ ม.ธรรมศาสตร์ (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์)   เขาจะเลือกพื้นที่ 6 แห่ง (3 จังหวัด X 2 พื้นที่  เมือง-ชนบท) เพื่อศึกษาว่างานพัฒนาแบบไหนที่ชาวบ้านต้องการและ WBI ควรสนับสนุน
ช่วง 2 กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) จะนำการศึกษาทดลองรูปแบบในการทำงานของกรม ว่าจะทำรูปแบบไหนจึงจะเหมาะกับสถานการณ์ปัญหา จชต.
ช่วง 3 WBI จะร่วมกับ พม. เพื่อตั้งกองทุน สนับสนุนกิจกรรมโครงการขนาดเล็กที่ชาวบ้านเป็นผู้ริเริ่ม
ผมรับปากที่จะพัฒนาในส่วนที่ 3 โดยจะเชิญ สสส. เข้ามาร่วมหารือและทาบทามเรื่อง matching found  ด้วย
ก่อนถึงเวลานัด กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานด้าน Gender มิติความเสมอภาคและเพศสภาวะได้มาขอพบ รมว. พม. พวกเขาเดือดร้อนมากต่อเรื่องการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืน ซึ่ง สนช. (ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) เสนอให้มีการแก้ไขบางมาตรา บวรศักดิ์ให้ระบุว่า “ผู้ใดที่ข่มขืนผู้อื่นที่ไม่ใช่ภรรยาหรือสามีของตน….” แต่กลุ่มนี้ต้องการให้ระบุเพียงแค่ “ผู้ใดข่มขืนผู้อื่น…” เท่านั้น พวกเขาคาดหวังให้ รมว. พม. ดึงเรื่องออกจากวาระของ สนช. ก่อน
ผมแนะนำว่า “ดึงออกไม่ได้ และไม่ควรจะดึงออก”  เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เป็นฝ่ายเสนอกฎหมาย   สนช.เป็นผู้เสนอกันเอง   แต่รัฐบาลสามารถขอเรื่องมาดู และเรื่องนี้ได้ผ่านการรับทราบจาก ครม.ไปแล้ว ถ้าจะดึงกลับก็จะเป็นเรื่องใหญ่และทำให้ช้ายิ่งขึ้น   สู้เราไปดักรอในชั้นกรรมาธิการจะดีกว่า   พวกเขาก็เข้าใจดีจึงกลับไป
ตอนเย็นประชุมทีม คทง.รมว. อยู่กันครบหน้าจึงปรึกษาเรื่องงานกองทุน กสค.ว่าจะเดินอย่างไรต่อ? สรุปได้ว่าจะไปขอพบหม่อมอุ๋ยเพื่อขอเงินก้อนแรกสัก 1,500 ล้านมาทำงานก่อนโดยไม่ต้องรอผูกติดกับ การแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล   แต่ถ้าเขาจะให้เท่าไรก็เอาเท่านั้น    เลขา รมต.รับไปจัดการตามระเบียบ
เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดตกลงยินยอมผ่านให้แล้วโดยไม่เพิ่มรายชื่อใด ๆ เลย
เรื่องสรุปผลงาน 3 เดือนให้เลขาปรับปรุงรายละเอียดของ สนย. เพื่อใช้สำหรับเผยแพร่และแถลงข่าวได้ด้วย
ส่วนเรื่องการทำงานกับข้าราชการประจำ มีเสียงบ่นมาเข้าหูว่าทีม รมว.ไม่ให้บทบาทปลัด พม. เท่าที่ควรและการประชุมใช้เวลานานจนน่าเบื่อ   เราจึงตกลงกันว่าจะปรับวิธีทำงานกันจริงจังมากขึ้น   รมว. ก็มีท่าทียอมรับและพร้อมปรับตัว การประชุมทุกครั้งจะไม่ให้เกิน 1 ½ ชม. และจะพยายามมีเวทีพบปลัด พม.ทุกวันจันทร์ตอนเช้า
 
16 ม.ค. เมื่อวานนี้ขณะพบ Ian Porter    รมว. ไพบูลย์ได้พูดตอนหนึ่งว่ากำลังมีผู้เสนอให้ตั้ง “Sub ministry” เพื่อแก้ปัญหา จชต. ผมมองหน้า รมว.แต่ท่านไม่รู้ตัว ยังคงพูดต่อไปว่าปัญหา จชต.หนักมากและรัฐบาลยังแก้ไม่ได้   ผมรู้ทันที อ.ไพบูลย์ไม่รู้ว่าคนเสนอไอเดีย Sub ministry นั้นคือผมซึ่งเป็นเลขาของท่านเอง! จึงปล่อยเลยตามเลย   เข้าใจว่าแกคงจะอ่านหัวข่าว นสพ.เท่านั้นโดยไม่ดูเนื้อใน เพราะเกือบทุกฉบับพากันรายงานเรื่องนี้
เช้านี้มีประชุม ครม.เช่นเคย   ผมอยู่ที่ สนง. เตรียมการประชุมผู้บริหาร พม. ช่วงบ่ายและทำงานจิปาถะ ราว 10.00 น. รมว. โทรเข้ามือถือเสียงพูดปนหัวเราะว่า “เมื่อวานนี้คุยกับ Porter ผมไม่รู้ว่าผู้เสนอทบวง จชต. ที่แท้คือหมอพลเดช!”
เช้านี้ใน ครม.มีการพูดถึงข่าว “ทบวง จชต.” กันเป็นเรื่องเป็นราวซึ่งตอนนั้น อ.ไพบูลย์ยังพาซื่อ ไม่รู้อะไรก็พลอยผสมโรงสนับสนุนแนวคิดนี้ไปด้วยในขณะที่ที่ประชุมไม่มีใครกล้าสนับสนุน เพราะนั่นคือการแสดงความเห็นที่ต่างจากแนวทางที่ นายกและรัฐบาลกำลังทำอยู่   จนกระทั่งมี รมว.ที่นั่งข้าง ๆ กระซิบว่า “คนเสนอทบวง จชต. คือ หมอพลเดช!!” แกจึงถึงบางอ้อ   พูดไปหัวเราะไป
เรื่องนี้ รมว.มท. (อารีย์ วงศ์อารยะ) มีอาการลมออกหูมากที่สุดเพราะเท่ากับเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ศอ.บต. ที่มหาดไทย รับผิดชอบโดยตรง   เขาพูดในที่ประชุม ครม.ทำนองว่า “เรื่องนี้ไม่ควรพูดให้ประชาชนเกิดความสับสน” แต่ รมว. พม. ของผมกลับมองว่า “รัฐบาลจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ ๆ จึงจะแก้ปัญหาได้”
หลังเลิกประชุม ครม. อ.ไพบูลย์ มีโอกาสนั่งทานข้าวข้าง ๆ  นายกสุรยุทธ์ จึงกระซิบบอกเป็นเชิงแก้เก้อแทนเลขาตัวดีว่า “หมอพลเดชเขาไปอภิปรายในเวทีวิชาการ จึงเป็นข่าวออกมาเช่นนี้”   นายกฟังก็ไม่ว่าอะไร   ท่านรู้จักหมอพลเดชดีอยู่แล้ว ท่านกล่าวกับ อ.ไพบูลย์ว่า “แนวทางที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เหมาะสมแล้ว และควรจะเห็นผลในไม่ช้า”
บ่าย ประชุมผู้บริหาร พม. เป็นปกติ มีเรื่องสรุปงาน 3 เดือนและจังหวะก้าว 3 เดือนถัดไป ผมสรุปให้ที่ประชุมทราบ
ผลงาน 3 เดือนแรกของ พม. ในยุคของ รมว.ไพบูลย์
1. ได้ทำนโยบายสังคมของรัฐบาลให้เป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่คมชัด
2. ได้ปรับวิถีการบริหารงานของกระทรวงเป็นลักษณะเชิงรุกโดยมีมิติพื้นที่ กลุ่มคนและประเด็นเป็นตัวตั้ง
3. สนองนโยบาย 4 เร่งด่วนของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม
          – น้ำท่วม 1,100 ล้านบาท
          – จชต. 517 ล้านบาท
          – แตกแยก ศปลร.
          – ทุจริต บอร์ด กคช./โครงการบ้านเอื้ออาทร
4. เริ่มออกตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไม่ทอดทิ้งกัน
5. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็งโดย คทง.ยุทธศาสตร์สังคมจังหวัด 3,000 คน
6. ขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์สังคมคุณธรรม
7. ผลักดัน กม.พัฒนาสังคมฯ 20 ฉบับ
งานขนาดนี้ อ.ไพบูลย์ กล่าวกับที่ประชุมผู้บริหารว่า “เป็นเรื่องที่สังคมจะตัดสินได้เองว่า เราเกียร์ว่างหรือเปล่า?” เป็นการตอบโต้คำวิจารณ์ของสุริยะไส  กตะศิลา ที่ประเมินว่า พม.เป็นหนึ่งในกระทรวงที่เกียร์ว่าง รมว.ไปแย่งงานข้าราชการประจำทำหมด
ส่วนจังหวะก้าวเมื่อสิ้นเดือนที่ 6 ผมชี้ว่า 3 เดือนต่อไปนี้ งปม.และกิจการโครงการระดับพื้นที่จะต้องกระจายลงให้หมดเพื่อตรึงปัญหามวลชนอยู่ในพื้นที่แทนที่จะปล่อยให้มี Mob เข้ากรุง ด้านกฎหมายทั้ง 20 ฉบับน่าจะเห็นหัวขบวนทะลุขึ้นที่ 10 ได้ (ผ่าน สนช.เป็นกฎหมาย) และท้ายขบวนน่าจะอยู่ที่ขั้น 3 (ผ่าน ครม.ครั้งที่ 1) เป็นอย่างน้อย
 
17 ม.ค. รองนายกปรีดิยาธร อนุญาตให้ รมว.และทีมเข้าพบตอนสายเพื่อปรึกษาเรื่องงบประมาณสวัสดิการสังคม ผมเตรียม Diagram 1 แผ่น เพื่อประกอบการชี้แจง
พยายามอธิบายว่า พม.มีความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาสังคม/ Mob ร่วมกับรัฐบาล โดยจัดการทั้งซีกงานเย็น (ตรึงชุมชนท้องถิ่นด้วยสวัสดิการชุมชนถึงจังหวัด อย่างรวดเร็วทั่วถึงตามแนวทาง ยุทธศาสตร์ที่นำเสนอ ก.ส.ค.ไปแล้ว)   และซีกงานร้อน (เข้าเผชิญและบริหารจัดการปัญหาร่วมกับเครือข่าย 45 ประเด็น)   รองฯอุ๋ยเห็นภาพได้ทันที   ท่าทางมีกำลังใจและรับปากจะหางบประมาณก้อนแรกให้ 1,000 -1,500 ล้านบาท โดยขอให้ รมว.นำเข้าชี้แจงในคณะกรรมการกลั่นกรองวันพฤหัสบดี (25 ม.ค.) และเข้าอนุมัติจาก ครม. อังคารที่ 30 ม.ค. เพื่อเริ่มทำงานตามนี้
12.40 น. สถานีวิทยุ FM 103 ของทหารสัมภาษณ์เกี่ยวกับ ศปลร.
13.30 น. แถลงข่าวผลงาน 3 เดือนแรกของ พม.    หลังแถลงข่าวมีนักข่าวประมาณ 10 คนกรูกันเข้ามาขอสัมภาษณ์เรื่อง “ทบวง จชต.” (อีกแล้ว!)   นักข่าวสาว ๆ พากันต่อว่า “เคืองแล้วนะ คุณหมอพูดเรื่อง จชต.ไม่บอกกันเลย”
ทางกอง ปชส. ของกระทรวงถือโอกาสนำ Press  release ใส่เรื่องนี้ไปด้วย แบบนี้พรุ่งนี้คงเป็นข่าวอีกแล้ว รมว.อารีย์   ยิ่งมีอาการควันออกหูอยู่ด้วย   ผมจึงฝากไปว่า “ลงข่าวเบาๆ หน่อยแล้วกันนะ ขอบคุณ”
ตอนเย็นทีม อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และคุณเถกิง สมทรัพย์มาปรึกษา อ.ไพบูลย์ที่กระทรวง  เพิ่งรู้ว่า อ.ไพบูลย์ กับ อ.เจิมศักดิ์ เขาเป็นลูกพี่ลูกน้อง คนแรกเป็นคน อ.ฝักไห่ อยุธยา คนหลังเป็นคนอ่างทอง เขาออกหนังสือร่วมกันเล่มหนึ่ง เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนที่แล้ว ชื่อ แม่สอนไว้
 
18 ม.ค. วันนี้มีนัดหมายฟังความคืบหน้าของกฎหมาย 2 ฉบับ
เช้าคณะทำงานที่ร่วมร่าง พ.ร.บ. สภาชุมชนท้องถิ่นได้นำเสนอ concept อย่างละเอียด ที่ประชุมช่วยกันเพิ่มเติมและมอบหมายทีม “นิติกร” ของ พม. ไปยกร่างเป็น พ.ร.บ.รายมาตรา และนัดนำเสนอ 29 ม.ค.อีกครั้ง พร้อมกันไป พอช. จะ implement สภาตาม concept นี้ไปเลยเพราะว่ามีถึง 100 ตำบลแล้วที่ริเริ่มทำกันอยู่ 
บ่ายคทง.นำเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ทีมนิติกร พม. ร่างได้ค่อนข้างดีทีเดียว เสร็จ 90% เห็นจะได้
16.00 น. ทีมสมาคมเกษตรกรเพื่อการพัฒนา (สกพ.) เข้าพบ รมว. มีคุณชัยวัฒน์   สุรวิชัย เป็นเลขาธิการ สกพ. มี ดร.ยุกติ สารภูติ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรเป็นประธานที่ปรึกษา
17.00 น. คณะทำงานเด็กและเยาวชน ประชุมเพื่อสานต่อ มติ ครม.เมื่อวันเด็ก ที่กำหนดให้วาระเด็ก-เยาวชน 5 ประการสำหรับทำให้ได้ภายในปี 2550 ได้แก่ 1) กองทุนสื่อเด็ก-เยาวชน 2) สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก-เยาวชน 3) พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 4) จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก 5) พ.ร.บ.ครอบครัว
ที่ประชุมทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อที่จะส่งสรุปแนวทางการทำงานให้ เลขา รมว. พม. สำหรับจัดประชุมร่วมระหว่าง 5 รมว. กระทรวง + 2 รัฐมนตรีประจำสำนักนายก ให้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้ และนำเข้าเสนอ ครม.ให้ทันเดือนหน้า
 
          19 ม.ค. วันนี้คณะของอดีตเจ้าของวัง (มจ.หญิง) ลูกสาวของพระองค์เจ้าเฉลิมไชย ประมาณ 12 คน เข้าเยี่ยมสถานที่ รมว.และปลัด พม. ร่วมให้การต้อนรับ ท่านอายุประมาณ 75 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ USA กลับมาประเทศไทย 3 เดือนจึงถือโอกาสขอมาเยี่ยมชมวังเก่าของท่าน
                   วังนี้มีขนาดใหญ่กว่าวังที่สภาพัฒน์มาก เดิมมีขนาด 20 ไร่ รัฐบาลซื้อมาทำเป็นกรมประชาสังเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยเมื่อปี 2500
                   คณะของท่านเดินดูตึก ทุกซอกทุกมุมเพื่อรำลึกความหลังและเล่าเรื่องราวให้พวกเราฟัง มีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกข้อมูลตามไปด้วย     สุดท้ายท่านมอบหนังสือที่ท่านเขียนให้ 2 เล่ม   ท่านบอกว่าหลายเรื่องท่านได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว         
                   ท่านเป็นนักเขียนและเป็นศิลปิน ท่านอยากให้ทำห้องเฉพาะสักห้องเพื่อใช้แสดงภาพเก่าและภาพเขียนของท่านและท่านพ่อเอาไว้
                   11.00 น. คณะทำงานญาติวีรชน 14 ตุลาขอเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลและขอรับการช่วยเหลือตามสิทธิที่เขาควรได้รับ
                   หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 รัฐบาล ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือด้วยเงิน 32 ล้านบาท โดยจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน 200-500 บาท/คน สำหรับญาติผู้เสียชีวิต 43 คน และผู้พิการ 47 คน จนถึงปี 2547 เงินหมด (เหลือ 2 ล้านบาทเท่านั้น) เพราะไม่มีรายได้เข้ากองทุน มีแต่รายจ่ายทุกเดือน
                   ต่อมารัฐบาลทักษิณ อนุมัติเงินช่วยเหลือแบบครั้งเดียวจบในอัตรา 200,000 สำหรับคนเสียชีวิต และ 1,600,000 สำหรับคนพิการ เมื่อปี 2547
                   หลังจากนั้นมีประเด็นเมื่อเกิดมีกฎหมายฉบับหนึ่งเรื่องการชดเชยผู้ประสบภัย (2543) ว่าให้คิดดอกเบี้ย 7.5% ให้ด้วย พวกเขาจึงขอเพิ่มตามสิทธิ์และรัฐบาลให้แล้วสำหรับผู้เสียชีวิต แต่ผู้พิการอย่างพวกเขายังไม่ได้จึงเรียกร้องผ่าน พม. เมื่อคำนวนแล้วต้องใช้เงิน 166 ล้านบาท ผมจึงรับเรื่องไว้ว่าจะเสนอ ครม.ให้
                   พวกเขาดีใจกันมาก คนพวกนี้รู้จักผมเพราะปีที่ผ่านมาผมถูกอุปโลกน์เป็นเลขานุการคณะกรรมการจัดงาน 30 ปี 6 ตุลาจึงได้ทำงานร่วมกัน
                   17.00 น. ทีมน้อง ๆ นักข่าว 5 คน นำโดยชุติมา นุ่นมันและนาฏยา แวววีรคุปต์ ซึ่ง มสช.มอบหมายให้เป็นทีมรณรงค์ลดอบายมุข ระยะที่ 1 ที่เพิ่งเซ็นต์ MOU ไปเมื่อวันก่อน ยกทีมมาขอปรึกษาว่าจะทำสื่ออย่างไร มีวัตถุประสงค์-เป้าหมายอย่างไร   คุยกันจนค่ำ
 
          20 ม.ค. ไปตราด พบกับเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกันของ จ.ตราด เขาจัดที่ รพ.ตราด ชั้น 5 ที่ประชุมใหญ่มีคนเข้าร่วมสัก 200 คนเห็นจะได้
                   ไปบรรยายให้กำลังใจและแนวคิดแก่เครือข่ายก่อนที่เขาจะระดมความคิดวางแผนทำงานกัน
 
          21 ม.ค. ไปพิษณุโลก ประชุมกรรมการบริหาร สพอ. มีประเด็นว่า เลขาธิการ สพอ. ที่จ้างมาบริหารไม่สามารถสร้างผลงานให้กับสถาบันตามเป้าหมาย ที่ประชุมจึงขอให้เปลี่ยนตัวหรือ งดค่าตอบแทนไปก่อน
 
          เสาร์หน้า 27 ม.ค.เป็นวันเกิดคุณย่า น้อง ๆ จะพากันมาทำบุญที่พิษณุโลก ครบรอบ 79 ปี ย่าง 80 ปี ผมติดงานที่ปัตตานี คงไม่ได้ไปร่วมทำบุญด้วย.
 
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
20 มกราคม 2550
 

Be the first to comment on "ตอนที่ 21: “ผลงาน 3 เดือน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.