22 ม.ค. เข้าทำงานแต่เช้า รอนัดคุณจีระพันธุ์ ผู้ปกครอง Autistic จากขอนแก่นจะมาพบรัฐมนตรีเพื่อหารือปัญหาเรื้อรังเรื่องงบประมาณสนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กAutistic ที่นั่น
ไม่ทันไร เสียง ทปษ.เอนกดังแว่วมาตามสาย ต่อว่าต่อขานเรื่องการจัดประชุม สำนักสนับสนุนวิชาการ (สสว.) 12 เขต ที่จะลงมือขับเคลื่อนงานวิจัย 12 อำเภอ โดยต่อว่าไม่บอกกัน จะเลือกพื้นที่อย่างไร พวก สสว. และจังหวัดเขาสับสนกันไปหมดแล้ว!?
ผมพยายามบอกว่าเป็นคนละส่วนกับงานจัดการความรู้ KM ที่พี่เอนกดูแลอยู่ และที่กำลังจะจัดประชุมนี้ก็แค่ทำหน้าที่ Orientation ว่าโครงการนี้ฝ่ายนโยบายตั้งงบประมาณไว้โดยมีเจตนาอย่างไร และควรบริหารจัดการอย่างไรเท่านั้น
พี่แกไม่ยอมฟัง และพูดใส่โทรศัพท์ จนไม่มีโอกาสได้แทรก แล้วก็ปิดท้ายห้วน ๆ ว่า “อย่างนี้จะลาออกดีกว่า” แล้วก็วางหูไป
ใคร ๆ ก็โดนกันแบบนี้โดยถ้วนหน้าแล้ว ผมโดนครั้งนี้หนักหน่อย ตอนเย็นประชุมทีม รมว. จึงได้เล่าให้ที่ประชุมฟังพร้อม ๆ กัน มี อ.ไพบูลย์, สิน และจิริกา ร่วมอยู่ด้วย คงเป็นครั้งแรกที่พี่ไพบูลย์ได้ฟังจากปากผม และเชื่อว่า รมว. คงถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการทำงานเป็นทีมไม่น้อย
ทราบว่าวันนั้นพี่เอนกไปนครศรีธรรมราช และโทรตรงขึ้นมาจากพื้นที่ ผมเล่าให้ทีมฟังว่าผมไม่ถือโทษ ไม่ต้องเป็นห่วงผม ห่วงพี่เอนกจะปล่อยให้อารมณ์มาเผาตัวเองลงไปทุกที
เรื่องการประชุม สสว. ผมบอกให้เจ้าหน้าที่เดินหน้าต่อไปโดยไม่ต้องกังวลขอให้เชิญมาร่วมด้วย เพราะทุกอย่างเขาเตรียมกันไปหมดแล้ว รวมทั้งเชิญนักวิจัยภายนอกที่จะมาร่วมงานให้มาพร้อมกันด้วยในวันที่ 2 ก.พ.ที่จะถึงนี้
นึกในใจว่าอีก 8 เดือนที่ต้องทำงานร่วมกันตัวเองน่าจะอึดไหว คงยืนได้ครบยก
เรื่องของพี่เอนกเคยสร้างเรื่องให้ปวดหัวมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2542 ขณะนั้น พี่เอนกเป็นผู้อำนวยการกองทุนชุมชน (SIF) ผมมาทำหน้าที่เลขาธิการ LDI แทน แต่ก็มีงานที่เชื่อมโยงเกื้อกูลกัน ตอนนั้นสภาพัฒน์ได้ขอให้ LDI ช่วยจัดกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์แผนฯ 9 ในทุกจังหวัดรวม 100 เวที และเริ่มจับมือกันขับเคลื่อนไปแล้ว พี่เอนกไม่พอใจเพราะมีความหลังฝังใจกับสภาพัฒน์มาตั้งแต่จัดทำแผนฯ 8 จึงกล่าวโจมตี LDI และสภาพัฒน์ไปทุกเวที จนพี่น้อง NGO ก็พลอยสับสนว่ามันเกิดอะไรขึ้น เดือดร้อนถึง อ.ประเวศต้องเรียก เอนกและพลเดชมาพบพร้อมกัน เอนกจึงหยุด และอีก 3-4 เดือนให้หลัง พี่เอนกกลายเป็นคนพูดเองว่า “ถ้า LDI ไม่ทำงานแผนฯ 9 ให้สภาพัฒน์คงจะไม่มีโอกาสขยายงานประชาสังคมได้อย่างนี้” …เป็นเสียอย่างนั้นไป!
ปัญหาของกลุ่มผู้ปกครอง Autism ขอนแก่น เรื่องมีอยู่ว่า คุณจีระพันธุ์ มีลูกเป็น Autistic จึงเข้าใจและเห็นใจผู้ปกครองที่หัวอกเดียวกันและได้พยายามเปิดศูนย์ดูแลเด็กออทิสติกขอนแก่นขึ้นมา โดยใช้อาคารของ กศน. กระทรวงศึกษาธิการในเขตเทศบาลขอนแก่นเป็นที่ดูแล รวมทั้งหาเงินบริจาคกันได้ 6 แสนบาท มาสร้างอาคารขึ้นอีกหนึ่งหลัง ดูแลเด็ก 15 คน ใช้ผู้ดูแลเด็ก 15 คน ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายมาก เคยได้รับงบอุดหนุนจากกองสลาก อยู่ครึ่งหนึ่งในสมัย รมต. จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นผู้ดูแล ศธ.และเงินหวย 2 ตัว 3 ตัวอยู่ แต่ขณะนี้เงินหมดแล้ว หาที่ไหนก็ไม่ได้ เทศบาลช่วยได้แค่ค่าอาหารไม่สามารถใช้เป็นค่าตอบแทนรายเดือนของพี่เลี้ยงเด็กได้ แกร้องทุกข์ไปทั่วหมด รมต.ทุกคนที่มาอยู่ พม. รวมถึง รมต.คลัง, รองนายก และนายก แต่ก็ไม่มีใครช่วยได้
ผู้ปกครองเด็ก Antistic มักมีความกดดันจากสภาวะที่ต้องดูแลลูกจึงเครียดและมีบุคลิกก้าวร้าว คุณจีระพันธุ์ก็เช่นกัน เวลาไปขอให้ใครช่วย เขาช่วยไม่ได้ก็มักจะโดนด่าให้หลังผ่าน Website
มาคราวนี้ แกมาคนเดียว พวกเราอยู่กันพร้อมหน้าทั้งปลัด พม., ผอ.สท., รมว.พม. ฯลฯ จึงช่วยกันตะล่อมจนสงบลงสุดท้ายได้ข้อสรุปกันว่า ปลัด พม.จะไปประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด, นายกเทศมนตรีขอนแก่น และหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันหาทางออกและความร่วมมือสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมกันโดยเร็ว
23 ม.ค. เช้า 09.00 น. ที่ สศช. รองเลขาฯ กิติศักดิ์ สินธุวนิช ขอเชิญนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ สสส. (คุณธนา ยันตรโกวิทย์, คุณวิจัย อมราลิขิต, คุณณัฐพงศ์) มาปรึกษาหารือการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่
ได้ผลดีมากเพราะทั้งคุณวิชัย (สันนิบาตเทศบาล) และคุณธนาต่างเห็นตรงกันว่าโครงการเมืองน่าอยู่ (HC)ที่ สสส. และ LDI ทำมา 2 ปีแล้ว เป็นงานที่มีคุณค่า และสันนิบาตจะทำหน้าที่รับไม้ต่อ เมื่อสิ้นปีที่ 3 ของโครงการ
สสส.เองก็สบายใจ โดยตกลงกันว่าให้ปนิตา (ผู้จัดการโครงการ HC) ไปปรับโครงการในปีที่ 3 เพื่อเตรียมส่งไม้ต่อให้ สมาคมสันนิบาตเทศบาลต่อไป
หลังประชุม HC ที่สภาพัฒน์ สสส.ขอให้ร่วมคุยกับคุณราณี หัสรังษี ตัวแทนสถาบันวิจัยสังคม จุฬา ที่เสนอโครงการของบประมาณทำงาน จชต. จาก สสส. เป็นปีที่ 2 ผมชี้ให้เห็นจุดแข็งของโครงการนี้ว่าอยู่ที่งานวิชาการเชิงวัฒนธรรมและศาสนา กับการชี้แจงให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจ สังคมใหญ่ซึ่ง สสส. ควรสนับสนุนต่อไป ส่วนการสนับสนุนโครงการเล็ก ๆ ในพื้นที่นั้นควรที่ สสส. จะมาร่วมกับ World Bank และ พม. ที่กำลังจะจัดตั้งเป็น “กองทุนสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนา จชต.” ในลักษณะ matching fund โดยมีกรรมการร่วมบริหารจัดการ WBI เตรียมไว้แล้ว 2 ล้าน USD ณัฐพงษ์ (สสส.) รีบกระโดดเข้าตะครุบเลย เพราะเขาอยากมีบทบาทใน จชต. อยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร
14.00 น. ประชุมผู้บริหาร พม.ตามปกติ
ผมแจ้งที่ประชุมถึงการปรับเปลี่ยนแนวการทำงานใหม่ โดยจะไม่มีการประชุมเจ้าหน้าที่กระทรวงแบบเดิม แต่จะใช้เวที “ดื่มน้ำชา-ปรึกษางาน” กับอธิบดี-ปลัดกระทรวงเท่านั้น ทุกบ่ายอังคารคราวละไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง และยกเลิกการแถลงข่าวกระทรวงประจำสัปดาห์ไปเลย เพื่อลดภาระงานเอกสารของฝ่ายเจ้าหน้าที่
19.00 น. มีนัด พล.ต.ดร.พีรพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษา สมช., นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ (รองปลัด ยธ.), วรรณชัย ไตรแก้ว ที่ร้านอาหารสวนกุหลาบ ซอยอารีย์ ทานข้าวเย็นและปรึกษางาน จชต.
ได้ข้อสรุปว่า เราจะขับเคลื่อนพลังสังคมในจังหวะรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อสร้างความเข้าใจสังคมใหญ่ และทดลองเสนอรูปแบบนวัตกรรมการจัดการปัญหา จชต. ในระยะยาว เป็นการสานต่อจากที่จุดประกายในเวทีสมาคม นักข่าว หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง ทบวงกิจการ จชต. เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น
24 ม.ค. บ่าย คณะผู้บริหารและตัวแทนของสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ เข้าพบ รมว.พม. นำโดยคุณวิจัย อมราลิขิต ที่เพิ่งเจอกันเมื่อวาน ที่ สศช. และ ดร.จำเนียร วรรัตนชัยพันธ์ แห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่ไปช่วยเป็นองค์กรปรึกษาทางวิชาการแก่สันนิบาตอย่างใกล้ชิด
พวกเขาทำการบ้านมาดีมาก ศึกษายุทธศาสตร์ พม. อย่างละเอียด และมีข้อเสนอการทำงานร่วมกัน 12 อย่าง วงประชุมสรุปได้ว่าเราน่าจะจับมือกันทำงาน และเริ่มมี MOU อย่างเป็นทางการโดยเลือกงานรูปธรรมสัก 4-5 อย่างเพื่อการเริ่มต้น การลงนาม MOU จะมีในวันที่ 23 ก.พ. ที่สันนิบาตมีงานใหญ่ที่จังหวัดเชียงราย รมว. จะไปร่วมลงนามเอง
เมื่อตอนเที่ยง รมว.ขอคุยกันพี่เอนก เป็นการส่วนตัวก่อนที่จะนัดกินกาแฟ 3 คนพี่น้อง
25 ม.ค. นัดพบคุณสามารถชาย (ผอ.สสว.2) ที่ดูแลพื้นที่ กทม. เพื่อปรึกษาหารือจัดเวทีพบปะระหว่าง รมว. พม. กับ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร
งานนี้ ฝ่าย ผู้ว่า กทม. ริเริ่มมาก่อน หลังเวที 17 พ.ย. จุดประกายยุทธศาสตร์สังคมที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.กัลยา โสภณพานิชย์ เสนอตัวที่จะนำเรียน ผู้ว่า กทม. และเขาก็มีหนังสือเชิญมาตั้งแต่ปลาย พ.ย. 49 คุณเอนก รับผิดชอบ แต่สะดุดเหตุการณ์ระเบิด 31 ธ.ค. จึงเลื่อนมาเรื่อย เห็นทีไม่ได้การ รมว. จึงมอบให้เลขาสานต่อ ผมคิดในเบื้องต้นว่างานที่น่าจะทำร่วมกันมี 4 ประเด็นรูปธรรม คือ
1. สวัสดิการชุมชน
2. ที่อยู่อาศัยคนจน
3. คนเร่ร่อน ด้อยโอกาส
4. ศูนย์ประสานงานภาคประชาสังคมและโครงการ Public space ขนาดใหญ่สำหรับพลเมือง กทม.
ซึ่งเมื่อคิดชัดแล้ว ปักธงว่า การลงนาม MOU น่าจะมีขึ้นในช่วง 23-27 ก.พ.50 นี้!
บ่าย คุณสมศรี และคุณชำนาญเดช มาพบเพื่อหารือปัญหาการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต คนแรกเป็น NGO ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับคุณสมชาย หอมละออ, มาจากองค์กร Amnesty International ส่วนคนหลังเป็นอดีตนักโทษที่เป็นแพะมา 20 ปี พ้นโทษออกมาจึงอุทิศตน ทำงานทางสังคมช่วยเหลือผู้ต้องขังที่ตกทุกข์ได้ยาก
ประเด็นที่เขาเรียกร้องคือ
1. ยุติโทษประหาร (หลายประเทศมากที่ยุติไปแล้ว แม้แต่เขมรที่เป็นประเทศด้อยพัฒนาก็ยังเลิกไปแล้ว)
2. ยุติการตีตรวนนักโทษ
3. ดูแลช่วยเหลือผู้เคยเป็นอดีตนักโทษให้มีที่ยืนในสังคม
ผมขอให้เขาตั้งเรื่องมาถึง รมว. พม. แล้วเราจะนำเสนอ ต่อ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป แต่ถ้าจะให้ดีพวกเขาน่าจะมีเวที Action&communication ให้ Public ได้รู้ด้วยจะเป็นการช่วยผลักดันอีกทางหนึ่ง
26 ม.ค. ไปประชุม คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนครหลังจากขาดประชุมติดต่อกัน 3 เดือน เนื่องจากงานที่ พม.ยุ่งมาก
ถือโอกาสเล่าเรื่อง พม. ที่พวกเขาอยากรู้ และอยากร่วมมือด้วย คุยกับอธิการบดีเกิดความคิดว่าปี 2551 พม. น่าจะตั้งงบประมาณ/โครงการให้ มรภ.ทั้ง 40 แห่งทั่วประเทศ ทำวิจัย/พัฒนาจังหวัดของตนตามแนวคิด 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัดของ อ.ประเวศ ที่ประชุมฮือฮามาก ทุกคนอยากเห็น ซึ่งผมคิดว่า MOU ระหว่าง พม. กับ อธิการบดี/นายสภา ทั้ง 40 แห่งควรจะเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนนี้
27 ม.ค. ไปประชุมกรรมการสภาวิทยาลัยอิสลามยะลา มีโอกาสได้คุยกับ ดร.วินัย ดะห์ลัน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระหว่างเดินทางจากสนามบินหาดใหญ่ไปวิทยาลัย
อ.วินัย เป็นนักวิชาการที่มีแนวคิดดี ก้าวหน้า และเป็นมุสลิมที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และเดินสายกลาง ท่านเห็นว่าปัญหา จชต.ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการศึกษาวิทยาศาสตร์น้อยเกินไป คน จชต. มุ่งเน้นศึกษาทางสังคมกันหมด เสียสมดุลย์ พื้นฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ จชต. อ่อนแอมาก แต่การจะสนับสนุนนั้น ท่านเห็นว่าต้องสร้าง “ฮีโร่” ของพวกเขาด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมา สร้าง New Looks โดยเริ่มจาก สตรีมุสลิมในภาพพจน์ของนักวิทยาศาสตร์ที่สะอาดสะอ้าน มีบารมี มีอำนาจ ต้องผลิตนักศึกษา/บัณฑิตมุสลิมนักวิทยาศาสตร์ให้มีจำนวนมากขึ้น โดยผลิตจากนอกพื้นที่ 3 จชต. ดีกว่าไปสร้างที่ จชต. เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อ ท่านเล็งที่ จ.กระบี่ซึ่งมีมุสลิมอยู่มากถึง 30% และอยากให้ พม.สนับสนุน
ผมได้ idea จาก อ.วินัยมากเลยใน 1 ชั่วโมงที่นั่งรถไปด้วยกัน ผมคิดว่า Halal Science จะเป็นองค์ความรู้หัวหอกในเรื่องนี้ และถ้าจะร่วมกันระหว่างคณะสหเวชศาสตร์ จุฬา กับกระทรวงสาธารณสุข (สถาบันพระบรมราชนก) ก็น่าจะมีมิติของ Health เข้ามาร่วมด้วย
การประชุมสภาวิทยาลัยอิสลามยะลา คราวนี้ได้ทราบว่า ได้รับการอนุมัติให้ยกระดับเป็น “มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา” แล้ว พรุ่งนี้ รมว. มท. (อารีย์ วงศ์อารยะ – อุปนายกสภา) จะมาแจ้งในที่ประสาทปริญญาประจำปีของวิทยาลัยด้วย และอีก 3 เดือนข้างหน้าจะจัดเวทีวิชาการ (สัมมนา) ใหญ่พร้อมกับประกาศตัวเป็น “มหาวิทยาลัย” เพื่อให้สาธารณะและสากลได้รับรู้
กรรมการอยากเห็นแผนการรับนักศึกษาต่างชาติมาเรียนมากขึ้น เช่น จากเวียดนาม, กัมพูชา พม่า ซึ่งกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากการ์ตา, ซาอุดิอารเบีย บอกว่าเขายินดีหาทุนสนับสนุนอยู่แล้ว ขอให้ทำแผนมาดูกันในคราวหน้าด้วย
ออกจากประชุมสภา ลม้าย, พร และเพ็ญ (น้อง ๆ NGO ใน 3 จชต.) มารับไปเยี่ยมชุมชนไทยพุทธ 2 แห่ง ที่อ.สายบุรี และอ.กระพ้อ ชุมชนไทยพุทธใน 3 จชต. อยู่อย่างลำบากมาก ถูกแวดล้อมไปด้วยชุมชนมุสลิม และความหวาดระแวงมีมากขึ้นจนไม่กล้าออกนอกหมู่บ้าน อยู่กันอย่างระวัดตัว เมื่อสัปดาห์ก่อนก็เพิ่งถูกคนร้ายดักยิงรถรับส่งนักเรียน 2 วันติดต่อกัน เคราะห์ดีที่ไม่มีใครเป็นอะไร เจ้าหน้าที่หัวหน้าสถานีอนามัยบอกว่าลำบากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาไปเบิกยาจากโรงพยาบาล ไป 2 คน นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ไป ผมฟังแล้วคิดว่า ถ้า รพ./สสอ./สสจ. มีระบบจัดการให้รถยนต์ไปส่งยาเวชภัณฑ์เดือนละครั้ง ทั้งอำเภอมี 13 สอ. 2 วันก็ส่งได้หมดแล้ว จึงรับจะนำไปบอก รมต. สธ.ให้ช่วยเหลือโดยด่วน
จากกะพ้อรีบบึ่งรถมาหาดใหญ่ พบทีมของ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสุ่วิวัฒน์วงศ์ (พี่จิ๋ม) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พี่จิ๋มให้เด็กในโครงการบัณฑิตอาสา มอ. (บอ.มอ.) นำเสนอว่าทำอะไรกันบ้าง โดยที่ผมไม่รู้ตัวมาก่อนว่าพี่จิ๋มอยากพบผมเรื่องอะไร เพิ่งมารู้เมื่อฟังทั้งหมดแล้ว รวมความว่า โครงการ บอ.มอ.เป็น 1 ใน 4 โครงการใหญ่ของวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ที่พี่จิ๋มดูแลอยู่ โครงการ บอ.มอ. Adapt มาจากโครงการบัณฑิตอาสาของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ แต่มีจุดต่าง ตรงที่ว่าที่นี่ไม่เรียนเพื่อได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ แต่เป็น paid volunteer ที่มาทำงานหลังจากศึกษา (ป.ตรี) ระยะเวลา 1 ปี เพื่อฝึกฝนและเน้นบัณฑิตในพื้นที่ไม่ใช่เด็กต่างพื้นที่ไปฝึกกับชาวบ้านในชนบทแบบ มธ.
ปี 1, 13 คน ปี 2, 20 คน จบโครงการแล้ว อยากหาลู่ทางให้มีงานพัฒนาทำต่อ ไม่รู้จะคุยกับใคร พอดี นพ.บัญชา พงษ์พาณิชย์ แนะนำว่าเรื่องแบบนี้ต้องคุยกับ หมอพลเดช
ฟังดูแล้วว่าสอดคล้องกับแนวคิดของ ดร.วินัย ดะห์ลัน ที่คุยกันเมื่อเช้านี้ ดร.วินัย สร้างนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นมา แล้วต่อด้วยโครงการ “SME Incubator” เพื่อฝึกฝนให้บัณฑิตสามารถออกไปเป็นผู้ประกอบการได้ เพราะเรียนทฤษฎีได้ปริญญาไม่เพียงพอ
บางทีสูตรความร่วมมือในทางนโยบาย อาจเป็น “จุฬา (Helal Science) + มอ. (Health Scinee) + สบช. (สธ.) และ พม.” ก็เป็นได้.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
28 มกราคม 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 22: ทดสอบความอดกลั้น"