สุดสัปดาห์นี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของ พม.และ คทง.รัฐมนตรีไปร่วมประชุมแบบ Retreat กันที่สวนสามพราน จ.นครปฐม ซึ่งได้สร้างมิติใหม่ในการกำหนดทิศทางและจังหวะก้าวสำหรับปี 2551 ก่อนที่จะจัดทำแผนงบประมาณเสนอรัฐบาลก่อนสิ้นเดือนนี้
5 ก.พ.วันจันทร์นี้เป็นวันที่ 2 ของการประชุมประจำปีของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ (ครั้งที่ 3) ผมรับปากคุณสิน สื่อสวน ว่าจะไปร่วมงานพร้อมกับ รมว.พม. ในช่วงที่ต้อนรับท่านนายก พล.อ.สุรยุทธ์ ด้วยเพราะอยากพบท่านนายก เนื่องจากช่วงนี้หายหน้าหายตาไปพักใหญ่แล้ว
แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ไปอีกตามเคย เพราะงานที่สำนักงานรัฐมนตรีติดพันอยู่จนเกินเวลา ที่สำคัญต้องเตรียมเอกสาร/ดูความเรียบร้อยการประชุม รมต.5+3 พรุ่งนี้
ตอนบ่ายมีนัดสำคัญ เป็นประธานประชุมร่วมระหว่าง พมจ. 3 จชต., ทีม สป.พม. ที่ดูแลงบประมาณ และเครือข่าย LDI ที่ทำงานโครงการมูลนิธิรัฐบุรุษอยู่ในพื้นที่ 3 โครงการสำหรับปี 2550 ว่าจะทำอย่างไรกันดี
งาน พม. 3 โครงการนี้ เป็นงานสานต่อ/ขยายผลจากโครงการที่ LDI/มูลนิธิรัฐบุรุษ, ศพต., กยต. และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เริ่มไว้ก่อนในปี 2544 -2549 จึงอยากให้ Outsource ให้ องค์กรและเครือข่ายนี้ได้ทำต่อ โดย พมจ. เป็นผู้ว่าจ้าง และติดตามกำกับดูแลและประเมินผล
โชคดีที่ พมจ. ทั้ง 3 จชต. และ เจ้าหน้าที่ พม. เข้าใจและสนับสนุนวิธีการแบบนี้ แทนที่จะหวงไว้เพื่อทำเอง
แต่ก็อาจะเป็นเพราะปัจจัยความรุนแรงของสถานการณ์ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำได้ยากเพราะเข้าพื้นที่ไม่สะดวก คนมีน้อย และอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของ ลข.รมว. พวกเขาจึงไม่กล้าขัดก็เป็นได้
นี่กระมัง ที่ อ.ประเวศ บอกว่า “พลเดช ต้องหัดเป็นนักการเมืองให้มากขึ้น!?”
โครงการทั้ง 3 ประกอบด้วย
1. โครงการเยียวยาชุมชนโดยใช้ศูนย์เยียวยาปอเนาะ 70 แห่ง อาสาสมัคร 250 คน กิจกรรมหลักคือเยี่ยมบ้านผู้รับผลกระทบ และปลอบขวัญผู้ประสบเหตุรายใหม่ งบประมาณ 3.5 ล้าน
2. โครงการพัฒนาปอเนาะเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนเข้มแข็ง 20 แห่ง ก่อสร้างอาคารที่พักนักเรียน 500 ยูนิต งบประมาณ 45.5 ล้าน
3. โครงการพัฒนาระบบซากาตเพื่อดูแลเด็กกำพร้าโดยปอเนาะ 20 แห่ง เด็กกำพร้า 1,000 คน งบประมาณ 5.0 ล้าน
ตอนเย็นใกล้ค่ำแล้ว รมว. และคุณสิน กลับมาจากงานเวทีสวัสดิการชุมชนด้วยกัน โทรมาก่อนว่าอย่าเพิ่งกลับ จะมีเรื่องปรึกษาด้วย
เริ่มต้น ผมขอโทษคุณสินที่ไม่ได้ไปร่วมงานเพราะติดพันที่ Office และผมเปรยว่า เจ้าหน้าที่เขามารายงานว่าเมื่อวานนี้ ประชุมอะไรสักอย่าง ซึ่งพี่เอนกไปอาละวาดบนเวทีและประกาศลาออก!
พี่ไพบูลย์เลยบอกว่า “ก็นี่แหละที่ต้องกลับมาคุยกัน” เพราะคุณสินรับหนังสือ ลาออกมาตั้งแต่วันอาทิตย์และมอบให้ รมว.แล้ว เรื่องมันเป็นอย่างไรกัน
จากนั้นคุณสินก็เล่าเหตุการณ์ จับประเด็นได้ว่าในเวทีวันนี้ พี่เอนกมี Agenda ที่ต้องเป็นผู้ดำเนินอภิปราย จึงใช้ถ้อยคำตำหนิ วิจารณ์ ขรก.พม. กระทรวง, รมว. และ ลข. ค่อนข้างแรงมากจนผู้คนตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมกับบอกที่ประชุมใหญ่ว่า “หมดศรัทธาการเมืองและรัฐบาล ขอประกาศลาออก พรุ่งนี้ถึงมือ รมว.”
สินเล่าว่าผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านอย่างครูชบ, น้าอัมพร ต่างพากันมาช่วยกันทำความเข้าใจพี่เอนกกันยกใหญ่ ทุกคนไม่มีใครเห็นด้วยกับที่พี่เอนกพูด และรู้สึกขัดใจกันมาก มิน่าเล่าเจ้าหน้าที่ พม.จึงมาฟ้องแต่เช้าว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ผมก็รู้สึกธรรมดาเพราะไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ไม่มีอารมณ์ร่วม และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะพี่เอนกเขามีอาการเช่นนี้อยู่เป็นระยะ
รมว.คิดว่าผมรู้อะไรมากกว่านั้น จึงรีบบึ่งรถกลับมาที่กระทรวง รมว.บอกว่า “วันนี้พยายามคิดต่อเอนกทั้งวัน โทรศัพท์ติดแต่ไม่มีคนรับสาย”
ทราบภายหลังว่า เช้าวันนี้พี่เอนกไปบรรยายที่เวทียุทธศาสตร์สังคมที่ร้อยเอ็ด ช่วงก่อนหน้านายกสุรยุทธ์จะไปพบชาวบ้าน แล้วนายกก็กลับมาปิดงานสวัสดิการชุมชนของเราในช่วงบ่ายพอดี รมว.ติดต่อไม่ได้ก็คงเพราะมีงานที่ว่า
งานที่ร้อยเอ็ดก็เช่นกัน อารมรณ์พี่เอนกยังคงร้อนแรง พุ่งเป้ามาที่ผมและ รมว. ด่ากราดเข้าราชการ พม. ว่าเกียร์ว่าง คนเสียกำลังใจกันมาก นักวิชาการและ อปท.ที่ร่วมเวทีรับไม่ได้เลย น่าสงสารพี่เอนกที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้ไฟเผาผลาญตัวเองจนเสื่อมสลายทาง ………..ลงไปทุกที
คุยกันแล้ว ก็ไม่ได้ข้อสรุปอะไร นอกจากต่อภาพให้เข้าใจสถานการณ์เท่านั้น รมว.จะตัดสินใจอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อ
6 ก.พ. 7.30-8.30 น. มีนัดประชุม รมต. 5+3 เพื่อสานต่อภารกิจที่ ครม. มอบให้คิด “วาระแห่งชาติเพื่อเด็ก 5 ประการ”
รมต. 5 = พม. (ไพบูลย์), วธ. (คุณหญิงไขศรี), ศธ. (ศ.วิจิตรฯ) สธ. (นพ.มงคล), มท.(อารีย์ และบัญญัติ)
+3 = รมต. สน.นายก ธีรภัทร์, ประสิทธิ์ (และคุณหญิงทิพาวดี)
มากันพร้อมหน้า ยกเว้นคุณหญิงทิพาวดี ติดภารกิจที่ จชต. (ตามเสด็จ)
รมว.หิ้วอธิบดีมาด้วย มท.มี อธิบดี กรม ปถ. (สมพร ใช้บางยาง) …และรองอธิบดี พช. (สรรค์ชัย อินหว่าง), รมต.สร.มีอธิบดีกรม ปชส. (ปราโมทย์ รัฐวินิต), พม. มี ปลัดพม., ผอ.สท., ผอ.สค.
ทีมคณะทำงาน พม. (เด็ก-เยาวชน) ที่มี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ เป็นประธานได้ทำงานดีมาก จัดเตรียมเอกสารยกร่างมาให้เสร็จ สรุปว่าวาระ 5 เรื่องควรทำอะไร มีแนวทางอย่างไร และกระทรวงไหนรับผิดชอบ
1. กองทุนสื่อและสถานีโทรทัศน์-วิทยุเพื่อเด็กและเยาวชน มี….มาตรการ
2. สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมของเด็ก-เยาวชน มี….มาตรการ
3. พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก-ปฐมวัย มี….มาตรการ
4. ส่งเสริมพื้นที่จังหวัดน่าอยู่เพื่อเด็ก มี…..มาตรการ
5. ออก พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัว มี….มาตรการ
ที่ประชุมเห็นชอบในแนวทางที่เสนอทั้งหมด แต่มีประเด็นที่สนใจอภิปรายแลกเปลี่ยนกันมากในเรื่อง กองทุนสื่อและโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์
– รมว.วธ. “เรื่องดี ๆ แบบนี้ รัฐบาลปกติเกิดไม่ได้ ขณะนี้ปฏิวัติแล้วยังเกิดไม่ได้ก็ไม่รู้จะเกิดได้เมื่อไรอีกแล้ว!!!”
– รมว.ศธ. “ต้องทำให้ได้ การตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เสมือนเป็นการตั้งสถาบันการศึกษาอุดมศึกษา 1 แห่ง ลงทุนเท่า ๆ กัน แต่ TV ให้ กศ. คนทั้ง 63 ล้านคน แบบตามอัธยาศัย ตลอดชีวิต ตลอด 24 ชม. ส่วนการตั้งมหาวิทยาลัยก็แค่ผลิตบัณฑิต 10,000 คนเท่านั้น คุ้มมาก ต้องลงทุน”
– รมว.สธ. “เรื่องนี้ปล่อยให้ รมต.ธีรภัทร์แบกภาระคนเดียวไม่ได้ ต้องพวกเราทั้ง 5+3 ช่วยกัน และนำเข้าตัดสินใจโดย ครม.”
– รมว.ศธ. “ เรื่องกองทุนสื่อเพื่อ กศ.นั้นมีระบุในกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ตั้ง กระทรวง ศธ. มัวทำอะไรอยู่ไม่รู้ จะเข้าไปดูเอง เพราะทาง กทช. เขาเตรียมเงิน 10% ไหลเข้ากองทุนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุนใหม่”
– เรื่อง Time zone มีมติ ครม. อยู่แล้วแต่ไม่ได้ปฏิบัติเคร่งครัดทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ ช่วงเวลา 16.00-22.00 น.เป็น prime time ควรกำหนดให้ชัดว่ากี่เปอร์เซ็นต์ หรือกี่ชั่วโมง ที่ต้องเป็นรายการเพื่อเด็ก-เยาวชน-ครอบครัว และอะไรที่เป็นพิษร้ายก็ต้องมีระบบ Rating เป็นตัวจับแล้วกันออกไปจาก Zone นี้ รมต..รับไปดูแลเรื่องนี้
– ฝ่าย อธิบดีกรม ปชส.คอย defense ตัวเองตลอดเวลา และพยายามจะไม่ให้เกิด TV สถานีใหม่ แต่ รมว.ส่วนใหญ่ไม่ค่อนสนใจนัก
– ที่ประชุมมอบ นพ.พลเดช ไปประสานฝ่ายเลขานุการของทุก รมต. เพื่อเตรียมรายละเอียดมาดูกันอีกครั้งใน 2 สัปดาห์หน้า ก่อนตัดสินใจนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณาจริงจัง
10.00-12.00 น. ไปประชุมที่มูลนิธิรัฐบุรุษ โครงการ จชต. พี่ตู่ (พลโทประยุทธ์ จันทร์โอชา) ปัจจุบัน มทภ.1 อำนาจคับฟ้ามานั่งเป็นประธานเอง เป็นการติดตามความก้าวหน้าของโครงการ หลังจากขาดช่วงการประชุมไป 6 เดือน เนื่องจากสถานการณ์ทั้งในพื้นทีและใน กทม. ตลอดจนความก้าวหน้าในโครงการที่มีอุปสรรค
ประธานและที่ประชุมพอใจมาก ต่อความก้าวหน้าของงานภาคสนามซึ่งอาคารที่พักทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จและใช้งานได้ภายในเดือนมิถุนายน 2550 ส่วนงานดูแลเด็กกำพร้าก็ไปได้ตามเป้าหมาย มีเด็กในโครงการ 100+ คน
ยิ่งทราบว่า พม.ได้สานต่อขยายผลโครงการที่มูลนิธิรัฐบุรุษริเริ่มไว้ก็ยังมีกำลังใจกันมาก
บ่าย มีการประชุมผู้บริหาร พม. เป็นเวทีใหญ่ประจำเดือน มีผู้บริหารระดมกลาง (ผอ.กอง/สำนัก) เข้าร่วมด้วย คราวนี้มีเรื่องไม่มากนัก ใช้เวลาไม่นานก็เลิกประชุม
7 ก.พ. อ.ภัทรชัย เนื่องจำนงค์ มาพบตามนัดหมายเพื่อนำเสนอ ข้อมูลแนวคิดเรื่องตัวชี้วัดและการประเมินองค์กร ฟังโทรศัพท์นัดหมายก็ยังนึกไม่ออก ท่านบอกว่าเคยทำงานกับหมอพลเดชที่สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนเห็นหน้าจึงนึกได้ว่าเป็นใคร เดิมท่านชื่อประสงค์ เคยทำงานบริษัท controlGroup มาก่อน ชอบ/เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กรตอนที่มาช่วยงานที่ สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนก็พยายามจะชวยในด้าการพัฒนาองค์กรและระบบ แต่องค์กรเราอ่อนแอเกินไป และยังไม่สามารถมีตัวหลักในการ Lead ได้จึงล้มเลิกไป เข้าใจว่าท่านคงติดตามความเคลื่อนไหวของผมตลอดเวลา แบบห่าง ๆ จึงรู้จังหวะที่จะเข้าพบ
อ.ภัทรชัย มีเอกสารอ้างอิงผลงานและทฤษฎีมากมายหอบติดมือมาโชว์ พร้อมกับ NoteBook สำหรับ Presentation
แนวคิดเยอะเทคนิคการประเมินของ อ.ภัทรชัยนั้น อิงหลักทฤษฎีการประเมินและให้รางวัลองค์กรแบบธุรกิจ ของนักคิดนักทฤษฎีของ USA คนหนึ่งฟังแล้วน่าสนใจมาก แต่ได้บอกไปว่า จังหวะนี้คงจะแทรกเข้ามาใน พม.ได้ยาก เพราะ รมว.เลือกใช้ KM มาทำงานและมอบหมายให้ ทปษ.เอนกเป็นผู้ดูแล ผมคงจะเข้าไปยุ่งด้วยลำบากแต่อย่างไรก็ตาม ยังจะพยายามหาโอกาสให้ อ.ภัทรชัยได้นำเสนอแก่อธิบดีบางกรมที่สนใจ ซึ่งน่าจะได้ผลมากกว่า
13.30 น. มีประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายสวัสดิการสังคมที่ ทปษ.เอนกเป็นประธาน ผมเป็นกรรมการด้วย แต่ไม่อยากเข้าประชุมด้วยทีแรกคิดว่าเอนกจะไม่มาเพราะประกาศลาออกไปแล้ว แต่สุดท้ายก็มา ทราบในภายหลังว่าหลังประชุมแล้ว พี่เอนกอยู่คุยกับพี่ไพบูลย์ 2 ต่อ 2 จนมืดค่ำ ส่วนผมหลบไปประชุมกับ กทม.ที่สำนักพัฒนาสังคม กทม. ดินแดง
15.00 น. ที่ประชุม กทม. มีคนเข้าเพียบทั้ง 2 ฝ่าย กทม.นำโดย ผอ.สำนักพัฒนาสังคม กทม., รอง ผอ., ตัวแทน ผอ.สำนักอนามัย, สำนักการแพทย์, สำนักสวัสดิการสังคม ฝ่ายเรามี ผอ.ปกรณ์ (พส.), ผอ.สามารถชาย (สสว.2) และ ผอ……….. รวมทั้งฝ่ายเครือข่ายชุมชน (คพช.) และประชาสังคม
การประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่น สามารถบรรลุถึงการ Scope ประเด็นงานที่จะ MOU กันเป็นที่เรียบร้อย จึงมอบให้ผู้ปฏิบัติทั้ง 2 ฝ่าย ไปยกร่าง MOU แล้วแลกกันดู ทำให้สมบูรณ์ ส่วนผู้บริหาร 2 ฝ่ายจะไปดูปฏิทิน ผอ.กทม./รมว.พม. ให้ได้ลงนามภายในปลายเดือนนี้
8 ก.พ. กลุ่มทำงาน AIDS จาก อ.สกลนคร มาพบตั้งแต่เช้าประกอบด้วยพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำ 1, พยาบาล 1 และผู้ติดเชื้อผู้ชาย 2 คน มาเล่าให้ฟังว่า รวมตัวกันทำงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ AIDS ที่ อ.กุดบาท และขยายออกไปได้ 4-5 อำเภอ โดยมีพระเป็นผู้นำ และพยาบาลเป็นผู้ช่วยสำคัญ กลุ่มนี้มีโอกาสได้เข้าร่วมเวที “ไม่ทอดทิ้งกันที่สกลนคร ได้พบกัน ทปษ.เอนกจึงคิดที่จะมาพบ รมว. เพื่อเสนอโครงการ
ฟังดูแล้ว ทำให้นึกย้อนถึง งาน AIDS ที่พิษณุโลกที่เราร่วมกัน รทภ.3, สง.มีชัย, หมอทวีศักดิ์ บุกเบิกกันเมื่อปี 2534 ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น “กองทุนและมูลนิธิพิษณุโลกรวมใจต้านภัยเอดส์” จนถึงปัจจุบัน ทำให้รู้และเข้าใจความยากลำบากของพวกเขาได้เป็นอย่างดี
ดูบุคลิกของ พภ. ที่เป็น Leader ออกจะเป็นคนแข็ง ๆ นี่กระมังเป็นเหตุให้แสวงความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรราชการ/ท้องถิ่นได้ลำบาก ฟังดูแล้ว สสจ. ไม่ได้ช่วย, สจ.ไม่เข้าท่า, อบต.ก็ไม่เอาไหน, สสส.ที่ไม่สนับสนุน ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของพวกเขาเป็นเรื่องที่ดีและเป็นกลุ่มทำงานเชิงอาสา และทำเพื่อผู้บากลำบากตรงตาม concept และยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน จึงแนะนำให้ปรับโครงการให้เป็นโครงการบ่อย ๆ เพื่อจะได้ Process ต่อได้ง่าย
10.00 น. เข้าไปชี้แจงที่กรรมาธิการคุณธรรมจริยธรรมของ สนช. ที่รัฐสภา เนื่องจากได้รับจดหมายเชิญให้ รมว.ไปชี้แจง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติ แต่ รมว. มอบให้เลขาไปแทน
ที่นั่นได้พบ สนช. และกรรมาธิการที่ไม่ใช่ สนช. คุ้นหน้าคุ้นตาหลายคน เช่น คุณกัญจนา ศิลปอาชา,นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์, ปรีชา วัชราภัย(เลขา กพ.),วินัย สะมะอูน,เสถียรพงษ์ วรรณปก. พลเอกปานเทพ (อดีต มทภ.4), พล.อ.อ.วิทิต ฯลฯ การชี้แจงเป็นไปได้ด้วยดี แม้ถูกขึ้นเขียงสับไม่น้อยก็ไม่ระคาย เพราะเราไม่ได้ยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกู
สุดท้าย ปรีชา (เลขา กพ.) บอกว่า “สนับสนุนเต็มที่” ทำให้เบาใจไปมากเพราะกฎหมายนี้ต้องมีการตั้งหน่วยงาน (นิติบุคคล)ขึ้นใหม่ ถ้า ก.พ.เปิดไฟเขียวก็สบายขึ้นเยอะ
กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ผ่านกระบวนการทาง ครม. และคณะกรรมการกฤษฎีกาเลย แต่กรรมาธิการไม่ทราบจึงขอเชิญมาชี้แจงทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น แต่ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยถ้าเป็นการ inform รัฐสภาไว้ชั้นหนึ่งแล้ว
14.00 น. ทีม think tank จชต. 4 คน มีนัดหารือที่ พม.มีพลตรี พีระพงษ์ มานะกิจ, รองปลัด ยธ. ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ, วรรณชัย ไตรแก้ว และหมอพลเดช
แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ จชต.ล่าสุด ทุกคนเชื่อว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยใช้กลไก กอ.รมน., ศอบต., ทก.4 ยังคงไม่เป็นผล และจะนำไปสู่ความล้มเหลวอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
ดังนั้นการเตรียมข้อเสนอเป็น package ของกลุ่มจึงน่าจะยังเป็นประโยชน์มาก ๆ แต่ประเด็นที่ห่วงกับก็คือ นับวันสังคมใหญ่จะยิ่งเพิ่มดีกรีความเกลียดชังและการแยกเขา-แยกเรากับประชาชน 3 จชต. ทำให้การแสดงความคิดเห็นอะไรออกไปต้องระมัดระวังมากเพราะอาจถูกรุมประชาทัณฑ์ได้ง่าย ๆ
การออกมาพูดของสมเด็จพระราชินี ที่ปลุกให้คนกรุงเทพฯ และคนไทยทั่วประเทศไม่นิ่งเฉย ให้ช่วยประนามผู้ก่อการนั้น ยิ่งเป็นการสุมไฟความเกลียดชังให้คุโชนไปอีก
ชาญเชาวน์ บอกว่า ทูตแคนาดาเล่าให้ฟังถึงอารมณ์ พลเอกเปรม เมื่อเขาเสนอให้เพิ่ม “more self determination” จึงจะแก้ปัญหา จชต.ได้ ท่านเปรมโกรธมาก!!
คุยกันยังไม่ทันเสร็จ รมว. เข้ามาเสียก่อน และมีนัดพูดคุยกันให้ทีม รมว. จึงต้องหยุดพูดคุย
ท่าที รมว. พม. Concern ปัญหา จชต. และสนับสนุนการตั้ง “ทบวง จชต.” หรืออื่นใดเพื่อแก้ปัญหา เพื่อเกิดเอกภาพและเพื่อมีคนที่ “in charge” ที่แท้จริงเสียที
การประชุมทีม รมว. เย็นนั้นมีเรื่องเดียวคือ “เอนก” ตกลงว่าเขาคุยกัน 2 คน เมื่อวานนี้แล้ว เอนกคงยืนยันที่จะ “ออก” รมว.คงจะขอร้องให้ช่วยต่ออีกช่วงหนึ่งเป็นการถนอมน้ำใจกันคือช่วยดูแลเวที 6 ภูมิภาคที่ รมว.จะลงพื้น จากนั้นก็ “Fade-out” ออกไป
ผมเตือน รมว. ว่า “พี่ต้องคอยเฝ้าระวังผลกระเทือนเป็นระยะ แล้วชั่งสถานการณ์ชั่งใจเอาเอง เพราะผมเคยเจอปัญหาแบบนี้มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2543 ตอนทำแผน 9 กับ สศช.”
พี่ไพบูลย์รับปาก/รับทราบ ดูมีท่าทีให้น้ำหนักกับคำเตือนพอสมควร
9 ก.พ. คณะทำงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนารูปแบบบูรณาการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับอำเภอ ที่ประกอบด้วย สสว. 12 คน + ผู้ตรวจฯอุบลและ ผอ.สุวินัย มีประชุมกันเพื่อเตรียม TOR สำหรับ 12 พื้นที่ และTOR ชิ้นงานวิจัยที่ 13 ที่จะสังเคราะห์องค์ความรู้รวบยอดจากงานทั้ง 12 พื้นที่ข้างต้น
ที่ประชุมได้อภิปรายและช่วยกันปรับปรุง (ร่าง) TOR ที่ฝ่ายวิชาการ เตรียมมาอย่างคึกคัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นความกระตือรือร้นและการเรียนรู้ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ปัญโญและศุภรัตน์เล่าให้ฟังว่าพวก สสว. เขาภาคภูมิใจกันมาก ชอบงานนี้มาก เพราะเขาไม่เคยมีบทบาทแบบนี้มาก่อน ตรงนี้จะต่างจากมุมมองของ ทปษ.เอนกอย่างฟ้ากับดินเลย!!!!~
ผมมั่นใจว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เราทำงานวิจัยและสร้างทีมนักวิจัยมามากจึงจับ sense นี้ได้อย่างดี เชื่อว่าคราวนี้ก็ไม่พลาดอีก!
10 ก.พ.Work shop ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ที่สวนสามพราน จ.นครปฐม เป็น Retreat ที่มุ่งสร้างบรรยากาศและการผุดบังเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
ดร.จิตติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มธ. ทำหน้าที่ Facilitate ซึ่งช่วยได้มาก
– เริ่มจากการตั้งเป้าหมาย, วัตถุประสงค์ ความมุ่งหวังในการพูดคุย
– จากนั้นวาดฝันอยากเห็นสังคมไทยอย่างไร อยากเห็น พม. แบบไหน
– นำมาสู่ SWOT ประมวล, scan จุดแข็งข้อจำกัด โอกาส และภาวะคุกคาม
– ไม่หยุดแค่นั้น ระดมความคิดเพื่อทำ TOWSMatrix เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์
SO–Strategy (Star*)
SW – Strategy (ปรับปรุง)
OW – Strategy (ประคองตัว-Cash cows)
WT – Strategy (Dog – ถอนตัว)
ถือว่า ดร.จิตติ ช่วยเราได้มากในการ work shop นี้ ทุกคนประทับใจ บรรยากาศทีมงาน (Topteam) ของ พม. ครั้งนี้ดีที่สุดตั้งแต่เข้ากระทรวงมาได้ 4 เดือน เพราะทุกคนรู้สึกใกล้ชิดมีช่องว่างน้อยลง
สรุปได้แค่ยุทธศาสตร์หลัก ๆ ที่จะทำในปี 2551 4 ประการ
1. ผนึกกำลังพันธมิตรยุทธศาสตร์ของกระทรวง พม. ที่หลากหลายเพื่อขับเคลื่อนงานอย่างจริงจัง
2. จัดตั้งวิทยาลัย/สถาบันวิชาการฝึกอบรมในด้านการจัดสวัสดิการชุมชน-สังคมเพื่อวิจัยและฝึกอบรมให้ อปท. และหน่วยงานที่สนใจได้มีความรู้ความสามารถและทักษะพื้นฐาน
3. พัฒนาองค์กร พม.ให้เป็นองค์กรเรียนรู้และเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมจริยธรรม
4. ขับเคลื่อนกระบวนการออก/ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากกฎหมาย กฎหมายส่งเสริมงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อย่างจริงจัง
11 ก.พ. ไปจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานในเวทีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน มีคนมาร่วมเวที 200 คน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เทศบาล ชุมชน ครู และหน่วยงานต่าง ๆ
– บรรยาย 2 ชั่วโมง บรรยากาศดีมาก คนฟังอย่างตั้งใจตื่นตัว สงบเงียบมีสมาธิ
– ทีมงาน และ พมจ. (คุณแดเนีย-เป็นคนมุสลิม) พอใจกันมาก ฟังแล้วก็ดีใจไปกับเขาด้วย
– กลุ่มจังหวัด “สนุก” สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร-กาฬสินธุ์ มากันหมด เพื่อดูเป็นตัวอย่างจะไปจัดที่บ้านของตนบ้าง
– ก่อนเดินทางกลับ คุณแดเนียล (พมจ.มุกดาหาร) พาไปดูสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ตามเส้นทาง East-west Corridor จากมุกดาหาร-สวันนะเขต (ลาว) – คาบรัง (เวียดนาม) ทราบว่ามุกดาหารมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก ที่ดินราคาขึ้นไป 3 เท่าตัวแล้ว เพราะที่นี่จะเป็นที่ถ่ายเท-บรรจุสินค้าเข้า container แล้วใช้หัวรถลากข้ามสะพานไป มุกดาหารกำลังจะโตอย่างรวดเร็ว และโตได้มากเพราะเป็นทุ่งนาทั้งนั้น ผิดกับนครพนมและหนองคายที่เป็นเมืองขยายไม่ได้อีกแล้ว
– พวกเขาเตรียมรับปัญหาทางสังคม ประชาการ ชุมชน ที่จะมากับการเติบโตของเมืองกันแล้ว
– ก่อนไปสนามบินอุบล คุณแดเนียลพาไปดูโครงการบ้านเอื้ออาทรมุกดาหารที่อยู่นอกเมืองออกมารวม 2-3 กิโลเมตร สร้างบ้าน phase ที่ 1 จำนวน 300 หลัง ยังหาคนเข้าอยู่ไม่ได้เลย ทิ้งไว้เฉย ๆ มีค่าดูแลรักษาทุกวัน กำลังทำ phase 2 อีก 300 หลัง ดูเถอะ กคช.ไม่เจ๊งคราวนี้จะไปเจ๊งคราวไหน???
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
11 กุมภาพันธ์ 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 24: รวมพลังกำหนดจังหวะก้าว"