ตอนที่ 25: “หลังพายุสงบ”

          สัปดาห์นี้เป็นช่วงปลอดจากการรบกวนของสื่อมวลชน คล้ายภาวะหลังพายุฝนตลอดทั้งสัปดาห์ แต่ภารกิจการขับเคลื่อนกระทรวงพม.ยังคงเดินต่อไป ด้วยความเร็วที่คงเส้นคงวา กระนั้นมิวายโดน อ.แก้วสรรโยนข้อหา “เข้าเกียร์ว่าง” ผ่านหนังสือพิมพ์ในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในการเคหะแห่งชาติ กรณีบ้านเอื้ออาทร เข้าจนได้

          12 กพ. ศูนย์ประสานงานป้องกันและลดความรุนแรง (ศปลร.) จัดให้มีการประชุมสัมมนาเครือข่ายศูนย์รับแจ้งเหตุของส่วนราชการต่างๆ เพื่อก่อตัวเป็น “เครือข่าย” เชื่อมโยงถึงกัน โดยเชิญมาประชุมที่กระทรวงพม. ศูนย์ที่รับเชิญเข้ามา พากันดีใจและมีกำลังใจมาก เพราะที่ผ่านมาพวกเขาต่างคนต่างทำงานในหน้างานของตน มีการเชื่อมโยงกัน-ช่วยเหลือกันน้อยมาก ถือได้ว่าศปลร.ได้ริเริ่มสิ่งใหม่ขึ้นแล้ว สมกับที่พวกเราให้ความสำคัญ

          ศูนย์รับแจ้งเหตุที่มารวมมีประมาณ 14 ศูนย์ แต่ละศูนย์มีโทรศัพท์สายด่วน (เลข 4 ตัว) ด้วยกันทั้งนั้น อาทิ:

          – ศูนย์รับเรื่องราวของ สำนักนายก        1111
          – ศูนย์ความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)     1374
          – ศูนย์ประชาบดี                            1300
          – ศูนย์นเรนทร                              1669
          – ศูนย์ความปลอดภัยคมนาคม            1356
          – ศูนย์สายด่วนสุขภาพจิต                  1667
          – ศูนย์สายด่วนโรคหัวใจ                   1719
          – ฯลฯ
          รมว.ไพบูลย์เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา จากนั้นมอบให้ผมในฐานะเลขารมว.ดำเนินการแทน โดยมีผอ.ศูนย์เฝ้าระวังของ กอ.รมน. และผอ.ศูนย์เฝ้าระวังกทม. ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วม ช่วยกันดำเนินการประชุม
          การประชุมนัดนี้เป็นการสร้างความรู้จัก คุ้นเคย และแนะนำข้อมูลให้แก่กันและกันว่า ศูนย์ไหนมีภารกิจอะไร และมีศักยภาพอย่างไร ก่อนที่จะลงสู่ข้อหารือว่า “เราจะร่วมมือกันทำงานอย่างไร”ต่อไป
          ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า
   งานของพวกเราล้วนเป็นการบริการประชาชนในภาวะฉุกเฉิน เร่งด่วนด้วยกันทั้งนั้น การเป็นเครือข่ายเกื้อหนุนกันคือจุดมุ่งหมายร่วม
   ไม่จำเป็นต้องยุบรวมสายด่วนต่างๆ เข้ามาใช้เบอร์ใดเบอร์หนึ่ง อย่างในต่างประเทศหรือตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอให้ใช้เลข 1111 ร่วมกัน เพราะถ้าทำเป็นเครือข่ายเดียวกันจะดีกว่า ประชาชนติดต่อเข้ามาชนเครือข่ายที่จุดใด เราสามารถสับสวิทช์ต่อถึงกันได้ทันทีน่าจะดีกว่า พูดง่ายๆ คือ “หลายเบอร์โทร แต่เครือข่ายเดียว”
   ประชาชนจำเบอร์จนติดแล้ว  และแต่ละเบอร์มีงานและความเชี่ยวชาญเฉพาะ ชาวบ้านหัวใจวายจะมารอเรียก 1111 อยู่ไม่ได้ ต้องต่อที่ศูนย์นเรนทรเลย ฯลฯ
      มีโครงการจะไปเยี่ยมชมศึกษาดูงานซึ่งกันและกันเพื่อทำความรู้จักและเรียนรู้แลกเปลี่ยนโดยเวียนกันเป็นเจ้าภาพ 
   มอบให้ ศปลร.เป็นฝ่ายเลขานุการเครือข่ายไปพลางก่อน   คราวหน้าให้ศปลร.ทำสรุปข้อมูลภารกิจและศักยภาพของศูนย์ต่างๆ เพื่อต่อภาพให้เห็นทั้งเครือข่าย ก่อนที่จะคิดว่าเราจะทำงานร่วมกันอย่างไร
      วันพุธนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีจะเปิดตัว ศูนย์บริการประชาชน 1111 ขอเชิญชวนเครือข่ายทุกหน่วยไปร่วมงาน
 
13 กพ. ทันพงษ์ รักษนานนท์ มาพบตั้งแต่เช้า ทันพงษ์เป็นคนรุ่น 6 ตุลา เคยถูกยิงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เข้าที่ช่วงท้องแต่รอดตายมาได้ หลังจากนั้นทำงานหนังสือพิมพ์หลายแห่ง เป็นนักข่าวระดับอาวุโสของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการภาคเหนือ เคยมาช่วยทำงานกองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชันอยู่ 3 ปี ระหว่าง 2545-2547
          ล่าสุดทันพงษ์ไปจับงานขุดคุ้ย (Investigative reporting) เรื่องทุจริตลำใย ร่วมกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (จเรตำรวจสมัยทักษิณ) ทำเอกสารพ็อกเก็ตบุ๊คเผยแพร่ 1 ฉบับ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิตลงทุนพิมพ์เผยแพร่ และเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในคณะที่สอนวิชาด้านธรรมาภิบาล
          มาพบคราวนี้ อยากรื้อฟื้นเวทีสัมมนาเปิดโปงคอร์รัปชันโดยใช้กรณี “ทุจริตลำใย” เป็นประเด็นเปิดฉาก และฟื้นสปต. (กองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน) และเครือข่ายนักข่าวสืบสวนสอบสวน (Corruption Investigative News Network : CINN) ด้วย
          นอกจากนี้ยังบอกว่ากำลังเขียนหนังสือเรื่อง “สหายคำตัน” อันเป็นชีวประวัติของลุงคำตัน หรือ พท.พโยม จุลานนท์ คุณพ่อของนายกสุรยุทธ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยของพคท. เอารูปภาพเก่าๆ มาโชว์ด้วย นัยว่าจะใช้ประกอบการจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว
          ทันพงษ์เล่าว่าอยากทำหนังสือการ์ตูนเรื่องสั้นเพื่อสอนคุณธรรมแก่เด็ก-เยาวชนรุ่นหลัง โดยคิดว่าน่าจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรมของกระทรวงพม. บอกว่าในอดีตตนเคยทำหนังสือเช่นนี้และเคยได้รับรางวัลจากนายกเปรม ติณสูลานนท์ มาแล้วด้วย พร้อมเอารูปมาอวด ผมจึงรับปากจะพยายามสนับสนุน
          ตอนสายกลุ่มคุณปรีชา, คุณเพียรเลิศ นัดนักศึกษาแกนนำต่อต้านการแยกตัวเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย, พี่สุพัตราที่เคยทำงานธนาคารหมู่บ้านกับอ.จำนงค์ สมประสงค์ มาพบเพื่อรายงานความก้าวหน้าของเครือข่ายว่ากำลังรวมตัวกับเครือข่ายพระสงฆ์ เคลื่อนไหวให้บรรจุในรัฐธรรมนูญให้ “พุทธศาสตร์เป็นศาสนาประจำชาติ” เข้าใจว่าคงอยากมาเล่าให้ผมฟังเพื่อหาแนวร่วม?!!!
          ฟังแนวคิดของกลุ่มนี้แล้วอ่อนใจพอสมควร เป็นที่คาดได้ว่าในการร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ ประเด็นศาสนาจะเป็นเรื่องร้อนที่จะนำไปสู่การปะทะทางความคิดที่รุนแรงประเด็นหนึ่ง คราวรฐน.2540ก็ครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้อาจรุนแรงกว่า เพราะเหตุการณ์ 3จชต.ได้ปลุกคนพุทธให้มีความคิดศาสนานิยมสุดโต่งมากกว่าเดิม?!
          เด็กนศ.แกนนำที่มาด้วยพูดถึง 3 จชต.ในลักษณะที่สะท้อนการขาดความเข้าใจ ขาดข้อมูล มีแต่ความรู้สึกนึกคิด ประเภท “ฆ่ามันๆๆ!!” ฟังแล้วก็เหนื่อยใจจริง แต่ผมได้ให้สติกลับไปว่า ทำอย่างที่เสนอนี้ก็แก้ปัญหาไฟใต้ไม่ได้หรอก วันนี้ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แต่อย่าเพิ่งทำอะไรลงไปด้วยความวู่วาม อย่าใช้อารมณ์ ปัญหามันลึกกว่าที่คุณคิดมากนัก
          บ่าย ประชุมผู้บริหารพม.เช่นเคย มีเรื่องจากครม.ไม่มาก เรื่องที่ใช้เวลาดูกันหน่อยก็คือ (ร่าง) แผนงบประมาณ2551 ที่ฝ่ายสนย.ไปทำมาเสนอต่อจากการประชุมระดมความคิดที่สามพราน
          ผมถือโอกาสปรึกษาเรื่องการขับเคลื่อนร่างกฎหมายของพม.ซึ่งผมได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ
          A. กลุ่มกฎหมายยุทธศาสตร์ที่พม.จะผลักให้สำเร็จในสมัยนี้ (มี 2 ฉบับ คือ พรบ.สภาชุมชนท้องถิ่น และ พรบ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ)
          B. กลุ่มกฎหมายใน list พม. ที่จะทำในระยะยาว (มี 11 ฉบับ)
          C. กลุ่มกม.ที่มีการปรับแผน (มี 20 ฉบับ)
          ตอนเย็น หมอยงยุทธนัดประชุมคทง. 5 กระทรวง เพื่อเตรียมวาระแห่งชาติเพื่อเด็ก 2550 ซึ่งจะเสนอที่ประชุม 5 รมต.+3 ในวันอังคารหน้า
          ทีมทำงานกันเข้มแข็งดี ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามแผน
ตัวอย่างของงานวาระเพื่อเด็ก-เยาวชน 5 ประการนี้ เป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดีสำหรับบทบาทของกระทรวงในยุคใหม่ที่ต้องทำงานเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายซึ่งเป็นเรื่องที่ข้ามกระทรวง ผมสังเกตว่าทีมงานของสท.และ พม.มีกำลังใจและได้เรียนรู้อย่างมากทีเดียว
 
14กพ. กลุ่มนักธุรกิจ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมSVN(Social Venue Network) นำโดยคุณประสาร มฤคพิทักษ์ พาประธานและกรรมการเครือข่ายชุดใหม่มาเยี่ยมรมว.ไพบูลย์ ในฐานะเป็นท่านที่ปรึกษา 1 ใน 4 ของ SVN (4 ที่ปรึกษาได้แก่ อานันท์,สุลักษณ์,โสภณ  และไพบูลย์) ขอคำแนะนำและหารืองานที่อาจร่วมสนับสนุนยุทธศาสตร์พม.
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ซ้อนกันอยู่กับกลุ่ม GDH ที่จะจัดงานร่วมกับพม.ในเดือน พย.50 (งาน International Conference on GNH ครั้งที่ 3) มีคุณวัลภา และคุณ Hans มาด้วย
บ่ายมีนัดพบกลุ่มสนช.เพื่อปรึกษาเรื่องขับเคลื่อนกฎหมาย ไปรอนพ.อำพล จินดาวัฒนะ และอาจารย์ตวง อันทะไชย อยู่ตั้งแต่ 15.00 น. ตามนัด แต่พวกเขาติดกำลังอภิปรายนำเสนอกฎหมายต่อสภาอยู่คนละฉบับ ระหว่างรอผมจึงมีโอกาสได้ดูและศึกษาจากทาง TV
อ.ตวง อันทะไชย เป็นแกนเครือข่ายประชาสังคมที่จ.ร้อยเอ็ด ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2542 มาร่วมกับสปรส.ขับเคลื่อนพรบ.สุขภาพแห่งชาติกันพักใหญ่ เป็นหนึ่งในฑูตสุขภาพ 99 คน ผู้เป็นตัวเปิดเคลื่อนพรบ.สุขภาพกับรัฐบาลทักษิณ จนกระทั่งมาต่อต้านทักษิณก็เป็นตัวแทนในเครือข่ายพันธมิตรกู้ชาติ เป็นคณะทำงานไฮปาร์คประจำ Mob คนหนึ่ง มีชื่อเสียงมากขึ้นในช่วงหลัง เป็นแกนนำเครือข่ายครูอีสานด้วย หลังรัฐประหาร 19 กย.49 ได้เป็นสนช. และมีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง
วันนี้เขานำเสนอ(ร่าง)พรบ.ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลอฮอล์ที่กระทรวงสาธารณสุขผลิตแล้วติดขัดที่ชั้นครม.และกฤษฎีกา พวกเขารวมกลุ่มสนช. 27 คน เสนอกฎหมายฉบับนี้ต่อสภาโดยตรง ตวงอภิปรายได้ดีมาก ทีมสธ.เตรียมข้อมูลที่หนักแน่นมากและตวงได้ใช้วาทะศิลป์และท่วงทำนองการอภิปรายที่โดดเด่นไม่แพ้นักการเมืองอาชีพ สุดท้ายประธานสภาให้ลงมติรับกฎหมายและรมต.สธ.เป็นผู้ไปรับมอบเพื่อดำเนินการในขั้นครม.ต่อไป
ต่อจากนั้นเป็นการเสนอพรบ.วิชาชีพสาธารณสุข โดยนพ.อำพล จินดาวัฒนะ ผู้เป็นทั้งเลขารมว.สธ., เป็นผอ.สปรส. และเป็นทั้งสนช.ในเวลาเดียวกัน พี่อำพลนำเสนอได้อย่างมั่นใจเพราะเป็นผู้ขับเคลื่อนพรบ.นี้มาตั้งแต่ยุคสมัยทักษิณ จึงรู้เรื่องอย่างละเอียดลึกซึ้งว่า หมออนามัย 50,000 คน จะได้ประโยชน์จากกม.ฉบับนี้เช่นเดียวกับวิชาชีพสาธารณสุขอื่นๆ เช่น แพทย์, พยาบาล, ทันตแพทย์, นักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งต่างมีพรบ.และสภาวิชาชีพของตนไปกันหมดแล้ว ท้ายที่สุดประธานให้สนช.ลงมติรับพรบ.ไปดำเนินการ รมต.สธ.ก็รับเอาไปเข้าครม.ต่อเช่นกัน
ผมได้พบกับพวกเขาหลังอภิปรายเสร็จ มีน้าประยงค์ รณรงค์(ผู้นำชุมชนรางวัลแม็กไซไซ) และครูชบ ยอดแก้ว ร่วมหารือด้วย เราต้องการให้พวกเขาสนช.รวมกัน 25 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อให้ได้สถานภาพและเป็นการเร่งกระบวนการทางครม.อีกทางหนึ่ง
เข้าใจกันดีแล้วจึงนัดหมายวันพุธหน้า จะให้เครือข่ายประชาชนมายื่นกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ต่อสนช.ที่พวกเขาจะ จัดคณะกันมารับเรื่องอย่างเป็นทางการ
 
15 กพ. เช้าแวะไปประชุมทีมบริหารสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และหารือการทำงาน และดูแลบุคลากร LDI ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ในภาพรวม LDI ยังมีความลำบากในช่วงที่โครงการต่างๆ จบลงและรอต่อโครงการใหม่
โครงการเมืองน่าอยู่ ปีที่ 3 ยังต้องรอกระบวนการของสสส.ที่ล่าช้าจนน่าเบื่อ
โครงการปรับเจตยาเสพติดก็เช่นกัน
โครงการเครือข่ายคุณธรรม มีปัญหาความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ศูนย์คุณธรรมระดับปฏิบัติ ทำให้ต้องฝึกฝนความอดทนไปพร้อมๆกัน
โครงการรณรงค์ปฏิรูปการเมืองของสำนักนายก กำลังจะทำสัญญาผ่าน สxส
โครงการร่วมกับกรมส่งเสริมพลังงานทดแทนกำลังดำเนินการไปด้วยดี โดยทางคุณเบ็ญจมาศเป็นแกน
โครงการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนเดียวที่กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและดูมีอนาคตมากกว่าเพื่อน
ฯลฯ
การประชุมกรรมการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDF) ประมาณเดือน พ.ค.50 ตั้งใจว่าจะให้ตึกตกแต่งเสร็จ และงาน IT/GIS สามารถแสดงผลงานเชิงพื้นที่และเครือข่ายโครงการ/กิจกรรมของLDI ได้
บ่ายไปประชุม บอร์ด กคช.ที่ซักซ้อมกับอ.ขวัญสรวงไว้แล้วว่านัดนี้เป็นนัดสำคัญที่อยากให้รัฐมนตรีเข้าร่วม เพราะน่าจะนำไปสู่การตัดสินใจปรับแผน/ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทรได้แล้ว
ผมและขวัญสรวงปรึกษากันมาก่อนแล้วว่า ภายในเดือนมีนาคม อ.แก้วสรร ในนาม คตส. จะสามารถสรุปชี้มูลโครงการบ้านเอื้ออาทรได้ว่าใครผิด ผิดอย่างไร ใครที่เกี่ยวข้องบ้าง ในจังหวะนี้เองเรา (พม.และกคช.) ควรช่วงชิงแสดงความพร้อมและศักยภาพในการแก้ปัญหาเสียก่อนที่คตส.จะประกาศ
ที่ประชุมบอร์ดการเคหะฯวันนี้วางแนวทางการแก้ปัญหาบ้านเอื้ออาทร 6000,000 หน่วย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1)      กลุ่มที่ยังไม่ได้ทำสัญญา 300,000 ยูนิต จะหาทางระงับ
2)   กลุ่มที่กำลังก่อสร้าง 200,000 ยูนิต มีตั้งแต่แล้วเสร็จ 10% – 60+% มีแนวทางต่างกันไป บางโครงการอาจต้องเปลี่ยนผู้รับเหมา
3)      กลุ่มที่สร้างเสร็จแล้ว 60,000+ยูนิต จะต้องแก้ปัญหาการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคาร และการเข้าอยู่ของชาวบ้าน
วันรุ่งขึ้นจะเป็นงานสัมมนาใหญ่ของกคช.ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ รองนายกรัฐมนตรีปรีดิยาธร มาเป็นประธานและแสดงปาฐกถาด้วย บอร์ดวางแผนว่าจะถือโอกาสนี้แถลงข่าวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่า กคช.จะแก้ปัญหาอย่างไร
หลังการประชุมกคช.พาไปดูบ้านชนบทที่เป็นเทคโนโลยีเพื่อชนบทของกคช.ร่วมกับม.เชียงใหม่พัฒนาขึ้น บ้านทำด้วยวัสดุที่เรียกว่า Fiber Cement ที่ใช้ไมยราบยักษ์และฟาง ผสมกับซีเมนต์ ใช้ทำเป็นหลังคาและกระดานฝา ประหยัดและน่ารักมาก
จากนั้น รมว.ขอประชุมคทง.รมว. มีแค่ 3 คน คือ รมว.+ ผม และคุณจิริกา หารือทบทวนกันหลายเรื่อง อ.ไพบูลย์เตรียมข้อมูลเสนอสำนักเลขาธิการนายกรมต.ที่รับมอบจากครม. ให้ทุกกระทรวงรายงาน “จัดลำดับความสำคัญของงานและกม.” ของแต่ละกระทรวงเพื่อรัฐบาลทราบ
พี่ไพบูลย์ ท่านเป็นทั้งรมว. นักวิชาการและนักพัฒนา NGO อยู่ในตัว จึงสวมวิญญาณทำยกร่างมาเองเลยโดยไม่ต้องรอเลขานุการ ท่านไม่ถือสา ช่วยกันทำเป็นการแบ่งเบาภาระ
เรื่องกฎหมายพม.ที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษนั้น สุดท้าย รมว.ของพม.อีก 1 พรบ. คือ พรบ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา ตกลงรวมเราจะมี(ร่าง) พรบ.หลัก 3 ฉบับ (สภาชุมชน,คุณธรรม,ประชาสังคม) ซึ่งถูกใจผม แต่ก็หนักใจที่เพิ่มจาก 2 เป็น 3 ทำให้งานยากขึ้นอีก
 
16 กพ.  ทีมงานสสว.2 ที่ดูแลพื้นที่กทม.มาพบเพื่อเตรียม MOU ก่อนที่รมว.พม.และผว.กทม.จะพบกัน
ตกลงว่าสัปดาห์หน้า 22 กพ. 7.30น. จะพบกันรอบแรกก่อนเพื่อตกลงประเด็นที่จะร่วมงานกัน โดยผว.กทม.นัดที่ โรงแรมรอยัลปริ้นเซส เจรจาในวงกาแฟตอนเช้า ฝ่ายเขา 5 คน ฝ่ายเรา 5 คน
ตอนสายมีนักทำงานคุณธรรมมาพบโดยเสนอขอการสนับสนุนทางนโยบายในการจัดทำรายการสารคดีสั้น 2 นาที “คุณธรรมนำไทย” จะเสนอเรื่องบุคคลแบบอย่างด้านคุณธรรมของประเทศเป็นตอนๆ ตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ ทุกวันตลอดปี ทางทีวีช่อง 9
และจะทำรายการ “ตามรอยเท้าพ่อ เศรษฐกิจพอเพียง” ในรูปแบบการ์ตูนอนิเมชั่น ตอนละ 30 นาที เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ทางทีวีช่อง 5
โดยไม่ของบประมาณอะไรเลย ขอเพียงสนับสนุนทางนโยบายเท่านั้น ผมจึงตอบตกลงทันทีด้วยความขอบคุณเพราะงานสร้างสรรค์เหล่านี้เขาคิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจในนโยบาย/ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรมของพวกเรานั่นเอง
12.00 น. ไปทานข้าวกลางวันร่วมกับอ.ประเวศและพี่หมอสงวน ที่สปสช. มีหมอประทีป, หมอสุพัตรา (ช้าง), คุณอรจิตต์ และพี่เอนก นาคะบุตรไปร่วมด้วย
พี่สงวนดูทรุดโทรมลงไปมากหลังการได้ Chemotherapy ในเที่ยวหลัง ผมร่วง ต้องใส่วิก หน้าซีดเซียวแต่กำลังใจยังดีมาก
อ.ประเวศ บอกว่าอยากให้พวกเรารวมตัวกันเป็น Cadre (กลุ่มแกน) คล้ายการทำงานของพวกพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อทำเรื่องชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง โดยใช้จังหวัดเป็นตัวตั้ง
ผมคิดเอาเองว่า แท้จริงแล้วอาจารย์ประเวศท่านนัดกินข้าวเพื่อให้เอนกและพลเดช คลายความอึดอัดกัน ผมรู้สึกเป็นห่วงพี่อเนกมากเพราะดูท่าทาง depress ถึงขั้นประกาศลาออกต่อหน้าคนนับพันจากทั่วประเทศ 
บ่ายประชุมคณะทำงานประสานสนับสนุนการแก้ปัญหาสังคมเป็นครั้งแรก เป็นการรวมเอาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน, NGO, ชุมชน ที่ทำงานร้อนๆ มาอยู่ร่วมกัน ต้องนับเป็นความใจกว้างและใจกล้าของพี่ไพบูลย์เขา รมว.ท่านมีหลักการและไม่กลัวว่าจะคุมสถานการณ์ไม่ได้
การประชุมเป็นไปด้วยดี เลขารมว.ตามเข้าไปสมทบช้าไปหน่อย แต่รมว. Control สถานการณ์ได้ทั้งหมด วันนี้เป็นการต่อภาพปัญหาร้อนๆ ให้เห็น โดยรวมๆ ได้ดีพอสมควร เริ่มจากผอ.ปกรณ์(ฝ่ายเลขา) แล้วประธานเจาะลงไปถึงรูปธรรมที่เราน่าจะร่วมกันทำให้ได้ภายในสมัยนี้
 
17 กพ. ไปชัยภูมิ บรรยายพิเศษให้กับการฝึกอบรมเกษตรกรเครือข่ายสกพ. 200 คน ที่ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรกรที่อ.สมคิด บุกเบิกขึ้นเพื่อสอนวิธีการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตเพิ่มจาก 3.7 ตัน/ไร่ เป็น 30 ตัน/ไร่
ดูแล้วทึ่งมากว่า ทำได้จริง โดยใช้ชีวภาพและการปรับโครงสร้างดิน
อีสานเป็นดินแดนที่ทำมันสำปะหลังกันมาก ถ้าเพิ่มผลผลิตได้เช่นนี้จะเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างมาก และนำสามารถไปสู่การแปรรูปและวิสาหกิจชุมชนด้านต่างๆ ตามมาอีกมาก ทั้งปุ๋ยชีวภาพ, อาหารสัตว์, พลังงาน(ethanol)
ท้ายการบรรยาย กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยระดับแกนนำประมาณ 10 คน ขอพบเพื่อหารือปัญหาต่างๆ รวมทั้งโครงการที่พวกเขาเคยเสนอรัฐบาล
   โครงการเกษตรพอเพียงเครือข่ายผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย 30 จว. 300 ตำบล เสนอของบประมาณผ่านพม. 544 ล้าน ตกลงซักซ้อมกันว่าให้คุณทวี ช่วยทำหนังสือเสนอนายกอีกครั้ง โดยสำเนาเรื่องให้พม. และเร่งรัดทางพี่เผือก(พลตรีนินนาท) นายทหารคนสนิทของท่านนายก) เป็นผู้ตามเรื่อง
   กรณีแพทย์เท้าเปล่าของสหาย(พคท.) ทำมาหากินในชนบทแล้วถูกสาธารณสุขกลั่นแกล้งจับกุม(ความจริงเขาทำตามกม.การประกอบวิชาชีพโรคศิลปะ) เรื่องนี้ผมขอพวกเขาให้ดูตัวอย่างที่จ.น่าน ที่นั่นกลุ่มสหายทำสำเร็จมาแล้วในยุครัฐบาลก่อนโดยสสจ.น่านดูแลให้มีสถานภาพร่วม 20 คน
   กรณีสหายจาก 3 จว.ภาคเหนือ(หินร่องกล้า) ทำโครงการกับสสส. เปลี่ยนที่ทำกระหล่ำปลีอยู่บนดอย และปล่อยสารเคมีมาทำลายสวล.ข้างล่าง ทำได้ดีมาก ผมขอให้เขาทำรายงานให้พม.ทราบเพื่อหาทางให้กำลังใจและสนับสนุนต่อ
   กรณีเหมืองแร่โปแตสอุดร กลุ่มสหายเก่าส่วนหนึ่งที่ไปช่วยฝ่ายบริษัทอิตัลไทยพยายามโน้มน้าวให้กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยสนับสนุน แต่ความเห็นยังแตกเป็น 2 ฝ่าย
 
18 กพ. เช้าวันอาทิตย์ หนังสือพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับพาดหัวคำสัมภาษณ์ของอ.แก้วสรร อติโพธิ ว่า “รมว.ไพบูลย์ เกียร์ว่าง ไม่ยอมแก้ปัญหา กคช.(บ้านเอื้ออาทร)”
เอาเข้าแล้วไง ไอ้แก้ว-ไอ้ขวัญ เล่นงานพี่ไพบูลย์เข้าให้แล้ว ทั้งๆที่พวกเราสื่อสารกันตลอดเวลา และร่วมวางแผนด้วยกันเสียด้วยซ้ำ ว่าจังหวะไหนควรจะเคลื่อนแบบไหน
ผมคิดในใจว่าสงสัยพี่น้องฝาแฝดมันมีแผนจะแหย่พี่ไพบูลย์แน่ๆ
ที่แน่ๆ ทีมงานพวกเรามั่นใจว่า เราไม่เคยใส่เกียร์ว่างอย่างที่ถูกกล่าวหา เพราะเราอำนวยความสะดวกให้ทีมคตส.ของอาจารย์แก้วสรรเป็นอย่างดี   แต่ในฐานะกระทรวงนั้นมีภารกิจต้องทำมาก และกำลังขับเคลื่อนหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน 
เรื่องปัญหาทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรเรากับคตส.ขับรถคนละคัน คนทั่วประเทศก็ต่อว่า คตส.(แก้วสรร) ล่าช้า มัวแต่รำมวยออกแขกอยู่เป็นนาน ฝ่าย คตส.ก็โยนว่าฝ่ายกระทรวง “เกียร์ว่าง” ต่างฝ่ายต่างโทษกันและปัดสวะให้พ้นตัว
บางทีหากมีโอกาสผมคงต้องอาศัยสื่ออธิบายบ้าง แต่มิได้แก้ต่างหรือสวนหมัด แต่อยากให้สาธารณะเข้าใจในเชิงสร้างสรรค์
ตอนสายไปดูงาน “พลังงานชุมชน” ที่อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มีคุณพัชรา อุบลสวัสดิ์ ไปร่วมด้วย , ทีมวิศวกรที่เป็นกลุ่มแกนได้แก่ ดร.สุนทร ทวีโภค, คุณจรุง, คุณธนเดช (บ.พลังงานหมุนเวียนชุมชน จำกัด), ผศ.ศุภวิทย์ ลวณะสกล ฯลฯ รวม 7 คน
ไปดูโรงไฟฟ้าชีวภาพของอ.วัชระ ลงทุนด้วยเงินพี่ๆน้องๆ ประมาณ 5 ล้านบาท มีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กฟภ.เดือนละ 300,000 บาท หักค่าใช้จ่าย/ค่าแรงตัวเอง จะเหลืออย่างน้อย 70,000-100,000 บาทเป็นกำไร ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป โครงการจะคืนทุนได้ภายใน 30 เดือน
แง่คิดที่ได้จากกรณีนี้คือ :
1) ในด้านเทคโนโลยีและ know how “โรงไฟฟ้าชุมชน” สามารถทได้ ไม่ยาก ไม่ซับซ้อน แหล่งพลังงานก็มีได้ทั้งก๊าซมีเทน CH3(โมลาส, ขยะ, มันสำปะหลัง), ethanol (ข้าว, มัน), Carbon (ถ่าน, ไม้, ฟืน) การขายพลังไฟฟ้าให้กฟภ.ก็ทำได้ไม่ยาก ราคาดี 3.70-5.00 บาท/ยูนิต
2) กรณีของคุณวัชระเป็นธุรกิจเอกชน, เป็น SME, ผลิตไฟฟ้าขายให้กฟภ. แต่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ในรูปวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ หากมีฐานชุมชนเข้มแข็ง มีกลุ่มออมทรัพย์ มีความสนใจลงทุน
ถ้ายิ่งมี อปท. และ Bank ให้การสนับสนุนด้วยยิ่งดี
3) การเชื่อมระหว่างโครงการวิจัยพัฒนาผลผลิตมันสำปะหลังที่ชัยภูมิกับโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพชุมชนที่กาญจนบุรี น่าจะเป็นทางออก ทางเลือกในการยกระดับชุมชนเข้มแข็ง ศก.พอเพียงและพลังงานชุมชนไปด้วยกัน
4) โรงไฟฟ้าชีวภาพแบบอ.วัชระลงทุน 5 ล้าน ผลิตไฟได้ 150kW อยู่ในวิสัยที่ชุมชนขนาด 1 ตำบลจะทำได้ 1 โรง ถ้ามีแหล่งเชื้อเพลิงชีวภาพ โรงเหล้าชุมชน ~ 3 โรง หรือแปลงมันสำปะหลัง ~ 1,000 ไร่
5) ถ้าใช้มันสำปะหลังแปลงเป็น ethanol (โครงการ ethanol ชุมชน) ก็ต้องใช้เครืองยนต์อีกแบบหนึ่ง และต้องมีกระบวนการ/ระบบกลั่น Ethanol ขึ้นมาเสริม แต่ถ้าใช้ CH3 ก็สามารถหมักมันสำปะหลังด้วยจุลินทรีย์เพื่อทำ CH3 ได้เช่นกัน
6) กรณีใช้ CH3 จากขยะ ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อเป็นที่แยกและหมักขยะชีวภาพให้เป็น CH3 ซึ่งถ้าทำได้จะเหมาะมากกับ เทศบาลหรือ อบต. ที่อยู่ใกล้เมืองใหญ่ ซึ่งจะลงทุนกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าขายไปพร้อมกันได้
7) ความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม.+กระทรวงพลังงาน+อปท.+กฟภ. น่าจะเป็นองค์ประกอบของภาคีที่ให้คำตอบเหล่านี้ได้
8) น่าจะมีโครงการนำร่องสัก 4-5 จุด โดยมีความหลากหลายทั้งในด้านภาคีความร่วมมือ, ในด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในด้านรูปแบบการจัดการเชิงชุมชนและเชิงธุรกิจ
ถ้ามีโอกาสน่าจะเริ่มต้นทดลองให้ได้ภายในยุคที่อ.ไพบูลย์ และพวกเราบริหารพม.อยู่
9) เดือนหน้าจะไปดู อีกรูปแบบหนึ่ง อ.ศุภวิทย์ทำขนาดเล็กกว่า ลงทุน 200,000+ บาท ใช้เชื้อเพลิงจาก Carbon ถ่านที่ได้จากเผาไม้เอาน้ำส้มควันไม้ หรือ แกลบ ฯลฯ กำลังผลิต 15-20 KW ซึ่งสามารถขยายกำลังการผลิตได้
รูปแบบนี้อาจเหมาะกับ 3 จชต. ซึ่งอิสกันดาร์ และทีมจาก จชต.สนใจ เพราะธนาคารอิสลามอยากให้กู้แบบนี้ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ที่ผู้ชายมักใช้เวลาในการเล่นนกเขาเป็นอย่างยิ่ง
ส่งท้ายสัปดาห์นี้ด้วยข่าวด่วนทาง TV“มิคสัญญี 4 จชต.” ระเบิดเมือง 23 จุด ตาย 3 บาดเจ็บ 50 ระหว่างเวลา 19.00-20.30 น. อลหม่านไปทั่วทั้งเมือง ปัตตานีไฟฟ้าดับทั้งจังหวัด ผบ.ทบ.(พลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน) บอกรู้ก่อนหน้าแต่ป้องกันไม่ได้!!
ดอน(วรรณชัย) โทรมากลางดึก(4 ทุ่ม) บอกว่าเอาเข้าจริงๆ รัฐบาลและกองทัพก็คุมสถานการณ์ไม่ได้ การแก้ปัญหาด้วยยุทธวิธีที่ดีเยี่ยม แต่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องก็คงแก้ไฟใต้ไม่ได้จริง น่าเสียดายที่ข้อเสนอของพวกเราหลัง Mission Penang นั้นนายกสุรยุทธ์ไม่ได้ใส่ใจ สายพิราบฝั่งขบวนการก็เลยเสียท่า สายเหยี่ยวของพวกนั้นชิงรุกตัดหน้าไปเสียแล้ว เพราะรัฐบาลไม่สนองตอบข้อเสนอสายพิราบอย่างเราและทำให้เป็นหมันไป
น้องผู้นำนักศึกษาที่มาคุยเมื่อ 2 วันก่อน และพวกนักข่าวที่สัมภาษณ์ผมเมื่อเดือนก่อน คงจะได้สติจากสิ่งที่ผมให้สัมภาษณ์ไปบ้างไม่มากก็น้อย ที่ว่า “ผมประเมินว่า 5 ปีนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังสามารถยืนสู้กันด้วยความรุนแรงได้อย่างสบายๆ แต่คนตายคือประชาชน อย่าคิดนะว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเอาชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”
สำหรับนายกสุรยุทธิ์ และกองทัพ คงต้องแบกรับความรับผิดชอบเรื่องนี้ต่อไป หากนึกขึ้นได้และเห็นประโยชน์ของทีมงานของพวกเราก็ยินดี แต่ต้องเดินเข้ามาหาเอง เราไม่ใช่พวกอยู่ว่างที่มาของานทำ ไม่ต้องดิ้นรน สัปดาห์หน้าเรื่องจชต.คงร้อนระอุ จนคาดว่าจะกลบเรื่องบ้านเอื้ออาทรไปเลย
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
18 กุมภาพันธ์ 2550
 

Be the first to comment on "ตอนที่ 25: “หลังพายุสงบ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.