ตอนที่ 26: “สมคิด ยกเดียวถอย”

            กลางสัปดาห์ที่แล้ว 14 กพ. นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานคณะกรรมการประสานและกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หมายว่าจะช่วยทำความเข้าใจกับต่างประเทศในเรื่องแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง 

ทั้งนี้เป็นความพยายาม-ความตั้งใจของคุณพ่อและพี่ชายซึ่งใกล้ชิดนายกรมต.เป็นผู้ฝากฝัง ปรากฎว่าเสียงต่อต้านดังขึ้นเกือบทันทีที่หายงง พลังสังคมและเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านคัดค้านกันอย่างหนัก  คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เองในช่วงแรกก็สนับสนุน แต่กลับลำมาคัดค้านร่วมกับพันธมิตรโดยเสนอทางออกให้ดร.สมคิดลาออก ในที่สุด 7 วันต่อมา (21 กพ.) สมคิดถอย นายกเองก็มิได้หาใครมาเป็นประธานแทน จึงเท่ากับว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวยุบเลิกไปโดยปริยาย

19 กพ. หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จชต. กันอย่างถ้วนหน้า เหตุการณ์ในวันตรุษจีนที่กลุ่มก่อการร้ายใช้กำลังกว่า 150 คน ออกถล่มตามจุดต่างๆ ภายในช่วงคืนเดียว ทั้งระเบิด ทั้งเผา ทั้งโจมตีหลากหลายรูปแบบเช่นนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง ร้ายแรง และเป็นเหตุการณ์ขนาดใหญ่จนยากที่ใครจะปกปิดได้มิด
รัฐบาลและคมช.เสียหน้าอย่างหนัก เพราะสะท้อนว่าแม้คุณมีอำนาจเต็มที่อยู่ในมือแล้ว คุณก็ยังไม่อาจปกป้องประชาชนหรือทำให้ปัญหาจชต.คลี่คลายลงได้
ตอนเช้ายังมีการเผาโชว์รูมเชพโรเลตอีกกลางวันแสกๆ (10.00น.) รถยนต์เสียหายประมาณ 10 คัน โดยเจ้าของนั่งมองตาปริบๆ ในขณะที่คนร้ายกรูกันเข้ามาเผาเอาดื้อๆ
นายกสุรยุทธ์รุดเข้าพบพลเอกเปรม เพื่อหารืออย่างเร่งด่วน ซึ่งคงยังไม่มีแนวทางอะไรที่จะให้ความหวังแก่สังคม เพราะผู้ใหญ่ของบ้านเมืองและฝ่ายความมั่นคงคิดในกรอบคิดที่จำกัดอยู่เช่นเดิม ในขณะที่สถานการณ์ไปไกลมากแล้ว จะเอาความสำเร็จในยุคสงครามเย็นมาใช้ย่อมไม่ทันเหตุการณ์
คิดในใจว่ารอจังหวะอีกนิด พวกเราคงต้องขอพบนายกโดยตรงเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและเสนอแนวทางกันใหม่ หลังจากปล่อยให้ศอ.บต.ใช้เวลาเตรียมตัวและแสดงฝีมือ
20 กพ. 7.30-8.30 น. ประชุมคทง. 5รมต.+3 เป็นครั้งที่ 2 คราวนี้ทีมงานของเรา(มีพม.เป็นแกน) ได้ทำงานมาสมบูรณ์กว่าคราวที่แล้วมาก เพราะทุกกระทรวงได้มาร่วมกันทำ
5 วาระเพื่อเด็ก-เยาวชน 2550 ได้ถูกแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 5 คณะทำงานย่อย โดยมีแต่ละกระทรวงแบ่งความรับผิดชอบกันไป
1. สื่อเพื่อเด็ก-เยาวชน                                                      – รมต.ธีรภัทร์ดูแล
2. สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมของเด็ก-เยาวชน – ศธ.ดูแล
3. จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็ก-เยาวชน                         – มท.
4. ศูนย์เด็กเล็ก                                                               – มท.
5. กม.ครอบครัว                                                  – พม.
ทั้งนี้ที่ประชุมยังคงให้พม.ทำหน้าที่เป็นแกนประสานในการตั้งทีมทั้ง 5 และติดตามความก้าวหน้าเพื่อนำเข้าสู่ ครม.สังคม(คก.คณะที่3) และครม.ชุดใหญ่ในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป
9.30 น. ที่ปตท. ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรกในการให้รางวัลปีที่ 9
มีดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์, คุณวันชัย ตันติวิทยพิทักษ์, ดร.สุรพล ดวงแข, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, อ.ตรีศิลป์, ดร.ส่งเกียรติ และทีมงานปตท.
เรื่องที่คุยกันที่สำคัญคือ ปีที่ 9 จะเริ่มให้รางวัลประเทศภูมิภาคด้วย โดยในปีนี้จะชิมลางให้รางวัลลูกโลกสีเขียวแก่ชุมชนคนรักป่าประเทศสปป. ลาวก่อน สุดท้ายที่ประชุมได้สรุปว่า
1. เราจะขยายรางวัลลูกโลกสีเขียวเป็นรางวัล Green Globe Awards สำหรับ Asia (ไม่ใช่อินโดจีน, ไม่ใช่ ASEAN แต่เป็น ASIA) โดยในปีแรกจะชิมลางที่ลาวก่อน
2. ในอนาคต GGA จะพิจารณาให้แก่ทุกประเทศที่ส่งผลงานยอดเยี่ยม 1 รางวัล ของตนมาโดยมีเกณฑ์มาตรฐาน GGA ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท สำหรับชุมชน องค์กร และสถาบันที่โดดเด่นใน 3 ประเภท คือ
            1) รักษาทรัพยากรธรรมชาติดินน้ำป่าและสวล.ท้องถิ่น
            2) รักษาสวล.ของประเทศ
            3) รักษาสวล.โลก
3. ให้มีคณะทำงานระดับประเทศ เพื่อจัดการสรรหา และส่งผลงานดีเด่นของประเทศ ทั้ง 3 ประเภทเข้ามาตามที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งคณะกก.กลางจะคัดเลือกเหลือไม่เกิน 1 รางวัลต่อประเทศ โดยอาจจะมีการไปลงพื้นที่บ้างตามจำเป็นและเหมาะสม
4. ปี 50 จะชิมลางที่ลาว ปี 2551 จะขยายไปทุกประเทศ ASIA
11.00 น. รีบเดินทางจากปตท. มาที่ LDI พบคณะอาจารย์จากญี่ปุ่น ที่คุณคาโอกิพามา ท่านเป็นคนสนใจงานพัฒนาเอกชน ทำงานเชื่อมโยงกับมูลนิธิ Nippon และ Japan คุณคาโอกิตั้งใจมาพบเพื่อรู้จัก LDI และคาดหวังว่าต่อไปอาจมีความร่วมมือ หรือหาทุนจากประเทศญี่ปุ่นมาสนับสนุน NGO ในประเทศไทย โดยมี LDI เป็นองค์กรประสานกลางให้พวกเขา
14.00 น. ประชุมผู้บริหารพม. บรรยากาศการประชุมดีมาก เป็นกันเอง และรู้สึกผ่อนคลายลงเยอะ
เรื่องแผนงาน/โครงการปี 2551 ทางฝ่ายสนย.กำลังดำเนินการ แนวเบื้องต้นที่ได้จากเวที สามพรานเป็นประโยชน์มาก แต่วันนี้ยังไม่แล้วเสร็จ
16.00 น. ประชุมคณะทำงาน กคช. มี Board ทั้ง 2 มาร่วมหารือกัน หลังจากถูกอ.แก้วสรรต่อว่าผ่านสื่อ “รมว.พม.เข้าเกียร์ว่าง!”
มีอ.ปรีดิ์ บูรณศิริ, นพ.เฉลิมชัย, ดร.นวลน้อย ศรีรัตน์(ประเมินผล), ผอ.กคช., อ.ขวัญสรวง อติโพธิ, ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และรมว.ไพบูลย์
คุณหมอเฉลิมชัยทำหน้าที่ได้ดีมาก ผมเบาใจไปเยอะ เพราะคุณหมอช่วยมองแบบองค์รวม และวางแนวทางการทำรายละเอียดข้อมูลและข้อเสนอทางออกไว้ 4 ประเด็นสำคัญ ซึ่งเมื่อคตส.แถลงเมื่อไร กคช.และรมว.พม.ก็จะแสดงความพร้อมและศักยภาพในการแก้ปัญหาได้โดยทันที
21 กพ. บ่ายประชุมคณะกรรมการเยียวยาจชต. (กยต.) ต้องเข้าร่วมประชุมใน 2 ฐานะ
ฐานะแรก  เป็นกรรมการกยต.
ฐานะสอง เป็นตัวแทนของกระทรวงพม. ในการเสนอโครงการเยียวยาชุมชน 2 โครงการ
ที่ประชุมวันนี้ไม่มีมท.1(อารีย์ วงศ์อารยะ) มาเป็นประธาน ปลัดสร.ทำหน้าที่แทน
โครงการที่พม.เสนอประกอบด้วย
1. โครงการส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครชุมชนในการดูแลผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินในสถานการณ์จชต. มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครชุมชน 700 คน, ศูนย์แจ้งข่าวมัสยิด 600 แห่ง, ศูนย์ปฏิบัติการอาสาสมัคร 10 แห่ง ทำงานโดยเชื่อมโยงกับรพ. 19 แห่ง, สถานีอนามัย 319 แห่ง เพื่อช่วยเหลือประชาชน มีเป้าหมาย 3,000 ราย ในสถานการณ์สงครามกลางเมือง จชต.
2. โครงการส่งเสริมชุมชนพหุศาสนิกในการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมจชต. 
เป้าหมาย ชุมชนพุทธ-มุสลิม 13 แห่ง
งบประมาณโครงการแรก 30 ล้าน โครงการหลัง 3.5 ล้าน ระยะเวลา 1 ปี
ที่ประชุม(โดยประธาน) สรุปว่าขอให้มีคณะทำงานไปดูเฉพาะส่วนที่เป็นกิจกรรมในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและบูรณาการ ทั้งนี้ให้ศอ.บต.เข้ามาช่วยดูจะได้เกิดความรอบคอบและเป็นที่รับรู้ของศอ.บต.ที่เป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่
17.00 น. ไปที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  ท่านอ.ประเวศ, รมต.ไพบูลย์ และรมต.ทิพาวดี รอท่าอยู่ที่นั่น มีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช(TDRI), คุณสมชาย แสวงการ(สนช.), และสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม(ร่วมด้วยช่วยกัน) กำลังปรึกษาหารือสถานการณ์แนวโน้มการยึด ITV มาทำ สถานีโทรทัศน์ BBC ไทย
ในที่สุดข้อมูลจากคุณหญิงทิพาวดีทำให้ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า
– ITV ในที่สุดรัฐบาลจะ “ฟัน” แน่นอน (คุณหญิงเป็นคนรับผิดชอบเอง) โดยจะรอให้ถึง 6 มีค. ถ้าไม่มีเงินมาจ่ายค่าปรับ 3,000 ล้าน ก็จะยึดทันที แต่การที่จะเอามาใช้ทำ BBC ไทยคงไม่ได้สะดวกนัก เพราะอาจมีการยื้อค่าปรับ 100,000 ล้าน ที่ต้องสู้กันถึง 3 ศาล และคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี ทีเดียว
– ดังนั้น ถ้าจะทำ องค์การแพร่ภาพสาธารณะแบบ BBC นั้นควรแปรรูป สทท.11 จะดีกว่า
– ถ้าจะแปรรูป สทท.11 แค่ออกกม.แยกตัวออกจากกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้นเอง ทุกอย่างมี Hard ware พร้อมหมด ลงทุนน้อย
เมื่อเห็นดังนั้น รมต.ทั้ง 2 รับจะนำเข้าไปสู่ครม.สังคม (คณะกรรมชุด3)ที่มีรมว.วิจิตร ศรีสะอ้านเป็นประธาน เรื่องนี้คุณหญิงทิพาวดีเห็นว่าควร Backup รมต.ธีรภัทร์ ให้เป็นผลงานโบว์แดงของท่านโดยตรง
ในเชิงโครงสร้างคุณหญิงจะช่วยรมต.ธีรภัทร์อย่างเต็มที่
ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า แท้จริงแล้ว เราสามารถขอโดยสารเรื่องนี้ไปกับ “วาระเพื่อเด็ก 5 ประการ” ของรัฐบาลได้เลย
22 กพ. 7.30-9.00 น. มีนัดพบระหว่างทีมรมว.พม. 5 คน + ผู้ว่ากทม. 5 คน เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตชุมชน กทม.
ทีมรมว.พม.มี รมว., เลขารมว., ปลัดพม.,คุณสิน และคุณสามารถชาย (ผอ.สสร.2 ที่ดูแลพื้นที่กทม.)
ทีมผู้ว่ากทม.ประกอบด้วย ผว.อภิรักษ์ โกษะโยธิน, รองผว.ดนุพงษ์ ปุณณกันต์, ปลัดกทม., ผอ.สำนักพัฒนาสังคม(คุณสมศักดิ์) และรองปลัดกทม. 
บรรยากาศที่ประชุมดีมาก สามารถบรรลุประเด็นที่จะร่วมมือกันอย่างน้อย 3 ส่วน
1) ส่วนที่จะร่วมกันพัฒนาสวัสดิการกลุ่มด้อยโอกาส 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ เด็กเร่ร่อนขายพวงมาลัย, ขอทาน, ชุมชนถูกไล่รื้อ, คนชราไร้ที่พึ่ง
2) ส่วนที่มุ่งหวังผลระยะสั้น 2 เรื่องคือ ปัญหาคนพิการ และกิจกรรมวันครอบครัว
3) ส่วนที่จะช่วยหนุนเสริมกัน คือ วาระประชาชนของผู้ว่า และยุทธศาสตร์สังคมพม. 
ทั้งนี้ภายใน 2 สัปดาห์ จะมีพิธีลงนามความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ ได้ผลครับ รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์พากันลงข่าวโดยพร้อมเพรียง
9.30น.-12.00น. ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมครั้งที่ 3 ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนยุทธสาสตร์ของพื้นที่และส่วนกลาง จากนั้นได้หารือวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ควรจะเป็นในช่วงปี 2551 เพื่อพม.จะได้นำไปประกอบในการทำแผนงบประมาณปีต่อไป
14.00น. ทีมของสถาบันไทยพัฒน์ ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์มาขอพบเพื่อรายงานผลวิจัยซึ่งผมเป็นที่ปรึกษาโครงการอยู่ ทีมนี้นำโดย ดร.พิพัฒน์     ยอดพฤติการณ์ พิพัฒน์เป็นคนหนุ่มที่มีความคิดอ่านดีและมีความสามารถในทางวิชาการและงานพัฒนาคนหนี่ง เป็นนักเขียนคอลัมภ์ลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจสม่ำเสมอ
พูดคุยกันแล้วก็เห็นลู่ทางในการพัฒนา CSR (ธุรกิจรับผิดชอบสังคม)เพราะพิพัฒน์เองก็สนใจทำวิจัยมาในด้านนี้และมีคอนเน็คชั่นอยู่ จึงได้มอบหมายให้ไปจัดทีมขึ้นมาทำงาน CSR ของกระทรวง พม.โดยเฉพาะ
16.00น. คุณวีระ มานะคงตรีชีพ นักการเงินการธนาคาร อดีตเป็นเจ้าของบริหารเงินทุน SITCA ที่ร่วมกับธนาคารเครดิตอกริโกลของฝรั่งเศส มีความรู้ ประสบการณ์และเส้นสายความสัมพันธ์ กับสถาบันการเงินต่างประเทศค่อนข้างกว้างขวาง
คุณวีระ เป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์(รร.เตรียมอุดม พญาไท) เป็นคนที่คุณสุวิทย์ คุณกิตติ หวังพึ่งในด้านเทคนิคและการเชื่อมโยงสถาบันการเงินต่างประเทศในอันที่จะยกระดับกองทุนหมู่บ้าน 75,000 แห่ง ให้เป็นธนาคารของชุมชน แต่คุณวีระตั้งเงื่อนไขว่า คุณสุวิทย์ต้องจับมือกับรมต.ไพบูลย์ก่อนเขาจึงจะช่วย ด้านคุณสุวิทย์ยังกังวล เพราะรู้กิติศัพท์ในทางความคิดของทีมรมว.ไพบูลย์ เป็นอย่างดีว่า “ต่างกัน” อยู่มาก
คุณวีระ มาเสนอผ่านผมว่า อยากให้รมว.ไพบูลย์ จับมือกับคุณสุวิทย์เพื่อพัฒนากองทุนหมู่บ้าน ผมรับฟังไว้ในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้
18.00น. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล มาปรึกษาเรื่อง “กองทุนเพื่อพัฒนาสังคมที่ คณะทำงานได้ช่วยกันคิด รายงานว่าคอนเซ็ปต์ชัดแล้ว และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปสู่การออกกฎหมาย
ผมเสนอว่า การผลักดันกองทุนนี้ควรร่วมไปกับวาระเพื่อเด็กๆ โดยบูรณาการกันให้ดี จึงขอรับไปพิจารณาก่อน
23 กพ. 9.00น. ไปร่วมเวทีเสวนา “องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ” ที่มสช.+TDRI และสนช. ร่วมจัดขึ้นที่รัฐสภา โดยเชิญ รมต.ธีรภัทร์ มาเป็นประธานเปิด
ผมไปร่วมเพื่อดักพบและพูดคุยกับรมต.ธีรภัทร์ พร้อมๆ กับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช และคุณสมชาย แสวงการ ที่นัดหมายกันเมื่อ 2 วันก่อน
ได้ผลครับ รมต.ธีรภัทร์ มีท่าทีตอบรับ และดูเหมือนว่าพร้อมจะขับเคลื่อนให้มี BBC ไทย โดยมุ่งไปที่การเอา สทท.11 มาเป็นทุนตั้งต้นตามที่พวกเราคิดกันไว้
คงต้องติดตามผลักดันกันต่อไป
14.00น. เดินทางไปเชียงราย ร่วมประชุมประจำปีของสมาคมสันนิบาตสมาคมแห่งประเทศไทย(สทท.) เขาจัดที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยมากๆ เลย มีคนเข้าร่วมประชุมประมาณ 2,000 คน หลังการปาฐกถาพิเศษของรมต.ไพบูลย์ เป็นพิธีลงนาม MOU ระหว่าง สทท.+ พม.+ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งบนเนินเขา หลังอิงเขา หน้าหันเข้าหาเมืองเชียงราย ทิวทัศน์ดีมาก ฮวงจุ้ยกินขาด ออกแบบสวย ตัดกับ Contour ของภูเขา มีนกศึกษา 6,500 คน มีศูนย์ภาษาจีนด้วย
24 กพ. 9.00-10.30น. ไปบรรยายพิเศษให้กับโครงการฝึกอบรม SME เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เขาจัดที่ม.ราชภัฏเชียงราย ได้พบกับคุณสุโข เป็นผู้จัดการโครงการ โครงการนี้เป็นโครงการที่คุณสุโขได้รับการสนับสนุนจาก AIS จะจัดอบรม 4 รุ่น 4 ภาค โดยภาคเอกชนริเริ่มและทำกันขึ้นเอง น่าสนใจมาก
คุณสุโข เป็นคนสุโขทัย เป็นคนหนุ่ม แกเล่าให้ผมฟังว่าเรียนจบที่ม.เชียงใหม่ เป็นนักเรียนทุนภาคเหนือ ระหว่างเรียนทำกิจกรรมนักศึกษาโดยตลอด จบแล้วทำงานธุรกิจด้านสื่อสารแต่ก็ยังมีเลือดอาสาพัฒนาอยู่มาก จึงทำโครงการนี้ขึ้นตามที่ใจใฝ่ฝัน
ผมจึงทาบทามว่า จะชวนเข้ามาร่วมทีมกับคุณพิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ เพื่อทำ CSR แกตอบรับด้วยความปิติยินดี
12.00น. ร่วมประชุมกับพมจ.เชียงรายและคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
25กพ. ไปพิษณุโลก ร่วมประชุมสถาบันพัฒนาสี่แยกอินจีน มีประเด็นต้องเปลี่ยนตัวเลขาธิการสพอ. มาเป็นคุณสอน ขำปลอด
ทีมคนทำงานประชาสังคมที่พิษณุโลกกำลังคึกคักต่อกระแสภาพยนต์ “ตำนานพระนเรศวร” กันมาก และมีแผนที่จะใช้ภาพยนต์เรื่องนี้ปลุกจิตสำนึกรักท้องถิ่น นำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม  ผมจึงหนุนเต็มที่และอยากให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
           
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
25 กุมภาพันธ์ 2550

Be the first to comment on "ตอนที่ 26: “สมคิด ยกเดียวถอย”"

Leave a comment

Your email address will not be published.