จากรัฐมนตรีโนเนม 1 เดือนแรกของการทำงาน พอกล่าวได้ว่ามีกระแสการตอบรับค่อนข้างดีมากจากสื่อมวลชน เริ่มจากการประกาศความมุ่งมั่นที่จะทำงานรูปธรรม 5 เรื่องใน 7 เดือนตอนนั้นสื่อมวลชนตั้งรับไม่ทัน จากนั้นพวกเขาพบสิ่งใหม่จาก รมช.พม.
และเป็นสิ่งที่พวกเขาแต่ละคนสนใจและสามารถหยิบไปทำรายการข่าวได้ทั้งสิ้น ในตอนหลัง ๆ จึงเห็นสื่อแต่ละคนเจาะประเด็นในแต่ละเรื่องแตกต่างกันไป ทำให้ภาพของ รมต. ปรากฎออกทั้ง TV,วิทยุ, นสพ. พร้อม Scoop และรายงานข่าวที่มีเนื้อหาสาระของงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและทันเหตุการณ์
การให้ข่าวเรื่อง “บ้านเอื้ออาทร” อย่างทันควันและมีเนื้อมีหนังทุกครั้ง ทำให้ภาพของผมในสายตาสื่อเปลี่ยนไปมาก มีเสียงสะท้อนว่า “บ้านเอื้ออาทรน่าจะแก้ได้ในยุคสมัย รมต.ผู้นี้!!”
การขยายความเป็นปัญหา จชต. ด้วยมุมมองของฝ่ายนโยบาย และด้วยความที่เป็นผู้ทำงาน จชต. มาต่อเนื่อง ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์เห็นถึงความแตกต่าง และความแปลกใหม่ต่อประเด็นปัญหาวิกฤตชาติเรื่องนี้ พวกเขาจึงค่อยติดตามหาคำตอบจาก รมต.พม.อย่างต่อเนื่อง
การขับเคลื่อน 926 เวที “ประชาธิปไตยชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์” เป็นเรื่องที่ฮือฮาและได้รับการปรบมือรับ รมต.ใน ครม. หลายท่านพูดถึงและมาขอหารือด้วย บทบรรณาธิการ นสพ. มติชน และรายงานข่าว นสพ. หลายฉบับรวมทั้งไทยรัฐ, เดลินิวส์,กรุงเทพธุรกิจ,ผู้จัดการ ฯลฯ ต่างพูดถึงในเชิงบวกแม้ว่าจะมีข้อห่วงใยและคำแนะนำอยู่หลายประการ เล่นเอา 926 เวทีกลายเป็นสัญญลักษณ์ประจำตัวผมไป บางคนถึงกับแซวว่า “นี่ถ้า Lottery ออก 926 ด้วย ก็จะยิ่งกลายเป็น Talk of the town ได้ในชั่วข้ามคืน” (นพ.เฉลิมชัย : รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ทรวิโรฒน์ ประสานมิตร)
กรณีพี่เลี้ยงเด็กตามบ้านทำร้ายเด็กจนสมองบวม เมื่อสื่อพุ่งเข้ามาหาผมเพื่อขอสัมภาษณ์โดยคิดว่า พม. คือผู้รับผิดชอบ ในขณะที่ผมอธิบายอย่างฉับพลันทันทีจนเคลียร์หมดภายใน Shot เดียวว่า “เรื่องนี้เป็นส่วนที่ พม. มิได้มีอำนาจ-หน้าที่ดูแลโดยตรง เพราะเป็นรูปแบบการจ้างคนมาเลี้ยงลูกที่บ้าน พม. ดูแลเฉพาะศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็กที่มีการจดทะเบียน-ขออนุญาตเท่านั้น พี่เลี้ยงคนนี้เป็นพนักงานบริษัทจุฬาเนอร์สซิ่งแคร์ เป็นธุรกิจเอกชนที่ให้บริการดูแลที่บ้าน พวกนี้จดทะเบียนการค้ากับ ก.พาณิชย์ และถ้ามีปัญหาเอาเปรียบผู้บริโภคก็จะมี สคบ. เป็นอีกหน่วยหนึ่งที่รับผิดชอบโดยตรง”
“แต่อย่างไรก็ตาม พม. ยังเกี่ยวข้องทางอ้อม ซึ่งผมเองนึกไม่ถึงว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้ จะขอรับไปคิดและหาวิธีดูแลและพัฒนาส่งเสริมต่อไป”
เท่านี้แหละครับ สื่อมวลชนถึงแก่ความเข้าใจภาพโดยกระจ่าง และเบนเป้าไปหา ก.พาณิชย์ และ สคบ. โดยไม่กลับมาถามอีกเลย
กรณีรถตู้ลักเด็ก เมื่อถูกสัมภาษณ์ทางวิทยุครั้งแรกเรื่องนี้ในขณะรอขึ้นเครื่องบินจากหาดใหญ่กลับกรุงเทพฯ ผมได้พูดถึงว่า “เป็นเรื่องที่เกิดจริง อย่างไม่น่าเชื่อ และ พม. ขอกระตุ้นเตือนให้ประชาชน/ผู้ปกครองตื่นตัวคอยดูแลป้องกันลูกหลานของตนอย่าประมาท และ พม.จะเชิญ กทม.+ ยธ. + ตร. มาหารือแนวทางรับมือกับปัญหาในวันที่ 9 เมษานี้ พร้อมกับบอกแนวคิดเบื้องต้นว่าจะต้องมีการดูแล ทั้งเด็กที่หายและผู้ปกครอง, ดูแลทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังเหตการณ์ และการกระจายข้อมูล-ภาพถ่ายของเด็กไปตามโรงพักตำรวจและที่สาธารณะต่าง ๆ โดยเร็ว” เท่านี้สื่อมวลชนส่งเสียงเชียร์กันเกรียว ทั้ง TV, วิทยุ, นสพ. ถึงกับมีบทความของ “ฉลามเขียว” คอลัมนิสต์ใหญ่เขียนลง นสพ. บ้านเมืองว่า “เป็น รมต.ที่คนสงสัยว่ามาได้อย่างไร ตั้งแต่ต่อนี้ไปคนไทยจะรู้จักท่านดีแน่จากผลงานที่เข้าตาฉับไว”
มีความตอนหนึ่งในบทความนั้นบรรยายว่า “ผมรู้สึกขนลุก ที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะมี รมต.อย่างนี้จุติขึ้นมาในสังคมไทย”
เอาเข้าแล้วซิภาพชักจะใหญ่เกินตัว ทปษ.เอื้อจิต ตัดบทความนี้มาให้ดูพร้อมกับบอกว่า “พี่อ่านบทความนี้แล้วพี่ก็ขนลุกเช่นกัน นึกไม่ถึงว่าสื่อกำลังมองและให้เครดิตหมอถึงขนาดนี้!!”
2 เมษา 7.30 น. พบปะหารือ ปลัด พม. ตามปกติ มีเรื่องซักซ้อมกันเล็กน้อยเกี่ยวกับการประชุมสัมมนาเจ้าหน้าที่ พมจ. 76 จังหวัดในวันที่ 3-4 เมษา และเรื่องบริหารจัดการทั่วๆ ไป
9.00-10.00 น. ไปเป็นประธานเปิดงานสัมมนาชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข ที่ มสช. จัดขึ้นที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ ได้พบกับเด็กที่เขียนเรียงความที่บอกว่าพ่อติดการพนัน และถูกจับข้อหาฆ่าคนตายจากหักหลังการพนัน พบคุณแม่,คุณครู และพี่สาวของแกด้วย
หลังพิธีเปิด ผู้สื่อข่าวยังตามสัมภาษณ์ต่อกรณีเด็กถูกลักพาตัว
14.30 น.ไปร่วมงาน “อ่านนิทานให้เด็ก” ที่ศูนย์สิริกิติ์ งานสัปดาห์หนังสือ น้องปอง (เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป) ในนามของมูลนิธิส่งเสริมการอ่านเป็นแม่งาน ถูกเชิญให้ขึ้นไปเล่านิทานเรื่อง “ลูกหมูหูหาย” ที่ปองเป็นคนแต่ง
มี รมต.ที่ไปเล่านิทาน ได้แก่ รมว.ไพบูลย์, รมต.วรากร (ศธ.), ผม (พม.) , อ.เจริญ ภักดีธนากุล (ปลัด ยธ.), ดร.สิริกร มณีรินทร์ (อดีต รมช.ศธ.), ดร.ตรีศิลป์ (กรรมการซีไรท์)
ปองเล่าให้ฟังว่า บรรดาผู้สื่อข่าวและนักวิชาการกล่าวขานถึงพี่ชายว่า “เป็น รมต.คนเดียวในรัฐบาลชุดนี้ที่มีผลงาน “….” เป็นรมต.ที่เอาใจใส่ดูแลทั้งงานใหญ่และงานเล็ก ๆ ที่คนคิดไม่ถึง (กรณีรถตู้ลักเด็ก)”
17.30 น. ทีมบอร์ด กคช. มาพบเพื่อรายงานสถานการณ์ปัญหา “บ้านเอื้ออาทร”” มีขวัญสรวง , สมสุข, นพ.เฉลิมชัย และคุณไกร การคุยวงเล็กทำให้ผมได้ข้อมูลและมีความเข้าใจภาพรวมมากขึ้น
เราเห็นร่วมกันว่า ควรแต่งตั้งคณะทำงาน ทปษ. รมต. ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาบ้านเอื้ออาทรเป็นรายโครงการ (เป้าหมาย : 181 โครงการที่มีปัญหา) อย่างเร่งด่วน เพื่อ รมต.จะได้กำหนดนโยบายได้อย่างรอบคอบ และเป็นรูปธรรม
3 เมษา 9.00 น.ประชุม ครม. วันนี้ใส่เสื้อผ้าไทยสีเหลืองที่กระทรวง วธ. ตัดให้เป็นครั้งแรก มีทีมเครือข่ายครอบครัวไปรณรงค์ติดดอก “ลำดวน” ให้กับ รมต. ทุกคนก่อนเข้าห้องประชุม มีผู้สื่อข่าวอยู่เต็มไปหมด มีดารานักแสดงที่เครือข่ายครอบครัวชวนกันมาเต็มบริเวณหน้าตึก ถ่ายรูปร่วมกันจนตาลาย สื่อทีวีและ นสพ. เอาไปลงกันให้เกร่อไปหมด
หลังถ่ายรูป ผู้สื่อข่าวมาขอสัมภาษณ์ต่อเรื่อง 926 เวทีและรถตู้ลักเด็ก วันนี้ทั้งวัน Titv และ TV ช่องต่าง ๆ ขึ้นพาดหัว ตลอดทั้งวัน ตัววิ่งก็ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นที่ฮือฮา
การประชุม ครม.วันนี้ รองฯ ไพบูลย์เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งไปญี่ปุ่น มีวาระมากเหมือนทุกครั้งแต่ก็เสร็จเร็วกว่าเดิม ทำให้พวกรัฐมนตรีเรามีเวลาพูดคุยกันเป็นการภายในมากขึ้น โดยขอให้ข้าราชการออกไปทั้งหมดก่อน
เรื่องที่หารือกันคือ “สถานการณ์รัฐบาล” ซึ่งถูกรุมเร้าจากสื่อกลุ่มมวลชนพันธมิตร และ สนช. จนเกิดความยากลำบาก ที่ประชุมคิดกันว่าจะทำอย่างไรดี ซึ่งคิดไม่ออก คิดกันไม่พ้นกรอบเดิม ตอนท้ายผมจึงเสนอว่า “ที่จริงเราอยู่ในวิสัยที่จะบุกตีฝ่าวงล้อมออกไปได้ โดยใช้กฎหมายหัวหอกมาขับเคลื่อนสังคมเป็นชุด ๆ ละ 10 ฉบับ” รมต.หลายคนหันมาเชียร์ ในวันรุ่งขึ้นได้เรื่องเลยครับ เพราะ นสพ.ออกข่าวพาดหัวและบทรายงานว่า “ปิดประตูอัด สนช.” “พลเดชเสนอบุกด้วย กม.”
14.00 เปิดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ พมจ.และ คณะทำงานยุทธศาสตร์ทั่วประเทศ เป็นงานเตรียมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมระลอกใหม่ ตามนโยบาย รมต. พม. คนใหม่ ที่ประชุมคึกคักมาก ผมบรรยาย 1 ชม. 15 นาที สังเกตจากปฏิกิริยาผู้ฟังทั้งหมดแล้วได้รับการ “ตอบรับดีมาก”
19.00 น. ผมกลับมาพบกับ พมจ. และผู้บริหารหน่วยงาน พม.ทั้งหมดอีกครั้งในชั่วโมงเปิดใจ มี รมช.และ ปพม. นั่งคู่กันเพื่อฟังและตอบ คำถามจากเจ้าหน้าที่ มีคุณสารภีเป็นพิธีกร บรรยากาศยังคง “ตอบรับดีเยี่ยม” เช่นเคย ผมกลับบ้านด้วยความสบายใจว่า ภารกิจที่ รมต. มอบ 2 อย่างให้ คณะทำงานยุทธศาสตร์ไม่น่าจะมีอะไรเหลือบ่ากว่าแรง
4 เมษา 7.00 น. สัมภาษณ์ TV11 ทางโทรศัพท์ตั้งแต่เช้า เรื่องการรณรงค์วันครอบครัว และเรื่อง พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัว, คุณอดิศักดิ์ ศรีสม และคุณกรุณา บัวคำศรี เป็นผู้สัมภาษณ์ในรายการข่าวตอนเช้า
8.30 น. ประชุมกรรมการกลั่นกรอง ชุด 2, มีเรื่องหลัก ๆ 5 เรื่อง กว่าจะเสร็จเกือบ 11.00 น. ต้องยกเลิกรายการอภิปรายของ อ.พิเชษฐ์ เมาลานนท์ เรื่อง “รัฐธรรมนูญกับตุลาการภิวัฒน์” ไปเลย
ท้ายการประชุมผมเสนอให้ สลค. ประมวลจัดทำบัญชี (ร่าง) กฎหมาย กระทรวงของมาให้ดูทั้งหมด เพื่อใช้วางแผนขับเคลื่อนงานรัฐบาลตามที่ผมเสนอใน ครม. เมื่อวาน ประธานขานรับ รัฐมนตรี สธ. สนับสนุน
12.00 น.ไปรับทานอาหารกลางวันและคุยกับ อ.ประเวศ ที่ มสช. อ.ประเวศอยากให้ออกคำสั่งนายกเรื่องยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขเพื่อให้มีกลไกทำงานระยะยาว หลังพ้น ครม.ไปแล้ว
แต่เมื่อผมบอกว่า “อยู่ดีมีสุข” นั้นมีเจ้าของแล้วเช่นเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียง อ.ประเวศถึงบางอ้อจึงเปรยว่า “ควรเปลี่ยนเรื่อง”
สุดท้ายก็เห็นด้วยกับผมว่า “ประชาธิปไตย ชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์” น่าจะเป็นประเด็นที่แหวกความจำเจ, การมีเจ้าของและสามารถช่วยรัฐบาลให้มีผลงานโดดเด่นได้
14.00 น. รีบมาประชุม สนช. เพราะต้องเสนอกฎหมายป้องกันความรุนแรงในครอบครัว เข้าสู่ สนช. มาช้าจนประธาน สนช. มีชัย ฤชุพันธุ์ น้อยใจนิด ๆ แต่ก็ผ่านไปได้ดี นับเป็นการประชุมสภาเป็นครั้งแรกในชีวิตจึงประหม่าเล็กน้อย
5 เมษา เช้า ผอ.สุวินัยมาพบเพื่อเตรียมประชุมที่เชียงใหม่และหารืองานอื่น ๆ
ทปษ.เอื้อจิต, ลข.ปกรณ์ มาหารือเรื่องงาน 3-4 เมษาที่ผ่านมา และเตรียมการประชุมวิทยากรกระบวนการ 19-20 เมษา
10.00 น. ไปเปิดงานสมัชชาครอบครัว สู่สังคมอยู่ดีมีสุข ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี, รองไพบูลย์มาเป็นประธาน, เขาจัดงานได้ดีมาก, ตอนเย็นมีงานสืบขวัญครอบครัวไทย 18.00 – 21.00 น. วณี, ยอดและน้องพลอยไปร่วมงานด้วย
14.00 น.ไปบรรยายที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ-สังคมแห่งชาติ เรื่อง “ประชาธิปไตยชุมชน” สมาชิกให้ความสนใจกันมาก ที่นั้นมีแฟนเก่าของผมจำนวนมาก ความร่วมมือดีมาก
6 เมษา 08.45 น. ออกจากบ้านมาขึ้นเครื่องบิน C130 ไปเชียงใหม่พร้อมกับคณะของรองนายกไพบูลย์ ถึงเชียงใหม่ใช้เวลา 2 ชั่วโมงพอดี จากนั้นแยกกัน รองไพบูลย์, ปลัด มท. อธิบดี ปภ. เลขากฤษดา ไปแม่ฮ่องสอนโดยฮอ 2 ลำ ไปดูปัญหาหมอกควัน ที่แม่ฮ่องสอนกลับมีหมอกควันมาก PM 10 สูงขึ้นถึงระดับ 340 อีกแล้วในขณะที่จังหวัดอื่นลงสู่ปกติแล้ว
ผมแยกไปที่งาน “10 ปีสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ที่คุณชัชวาลย์เป็นผู้จัด มีบรรยากาศวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “วัฒนธรรมหลัก ๆ อย่างล้านนา, ปัตตานีมลายู และอื่น ๆ น่าจะได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริมอย่างจริงจัง”
ที่นั่นได้พบกับเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ เสนอผลสรุปข้อเรียกร้อง พม. โดยมีเอกสารติดมือมาด้วย
ปัญหาหมอกควัน PM10 ที่แม่ฮ่องสอนยังคงสูงมาก (ระดับ 350) ในขณะที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลดลง ต่ำกว่า 120 แล้ว หมอกฤษดา บอกว่า “คงต้องขอความร่วมมือกับพม่าจริงจัง” ผมคิดในใจว่าก็คงช่วยอะไรไม่ได้ รอเทวดาโปรยฝนลงมาดีกว่า?! คณะกรรมการดูแลปัญหาหมอกควัน เอาเข้าจริง ๆ แล้ว “ทำอะไรไม่ได้เลย” “นอกจากการประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลมีภาพพจน์ว่าเอาใจใส่จริงจังเท่านั้น”
ที่ปรึกษา รมช. พม. (ดร.อนุชาติ พวงสำลี) ถึงวิจารณ์ รองฯไพบูลย์ว่า “ไปทำอะไรก็ไม่รู้ ภาพของอ.ไพบูลย์เป็นเรื่องชุมชน แต่เมื่อต้องกระโดดไปลงพื้นที่ดูปัญหา สวล. ถ้าจะทำควรมี รมต.ทส. หรือ รมต. กษ.หนีบไปด้วยทุกครั้ง มิใช่มาแสดงเดี่ยว ๆ แบบนี้!!”
7 เมษา เดินทางไปราชการที่จ.ตาก และแม่สอด ลงเครื่องบินที่พิษณุโลก คณะทำงานและข้าราชการในพื้นที่ (พิษณุโลก) เขาเตรียม program และจัดขบวนกันเอิกเริก มีรถตำรวจนำขบวน 2 คัน, รถตู้โดยสาร 3 คัน
จุดที่ 1 แวะที่ อบต.น้ำซึม อ.เมือง จ.ตาก ผู้ว่าราชการจังหวัดมาต้อนรับและร่วมขบวนไปตลอดจนจบโปรแกรมทั้งวัน, ที่นั่นชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องน้ำกิน-น้ำใช้ ภัยแล้งรุนแรงที่สุดของ จ.ตาก นายก อบต. ต้องขนน้ำประปามาใส่ถัง 2,000 ลิตรที่หน้าหมู่บ้านให้ชาวบ้านมาขนไปใช้ทุกวัน ๆ จนกว่าจะพ้นภัยแล้ง ชาวบ้านมาต้อนรับคณะ รมต. กันเต็มศาลาวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวรายงาน นายก อบต. กล่าวรายงาน รมต. กล่าวปราศรัยกับชาวบ้านเพื่อให้กำลังใจ-ให้แง่คิด-สื่อสารนโยบายของ พม. และรัฐบาล, อบต.ยื่นเสนอขอการสนับสนุนโครงการปลูกต้นไทรที่บริเวณวัด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะหางบประมาณมาช่วยกันได้จึงรับมา
จุดที่ 2 ไปที่หมู่ 7 ต.น้ำซึม เพื่อดูจุดส่งน้ำช่วยภัยแล้ง ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ออก Action ปล่อยน้ำเข้าสู่คุถังของชาวบ้านให้ TV ถ่ายภาพ เสร็จแล้วสื่อมวลชนท้องถิ่นขอสัมภาษณ์ใต้ถุนบ้านชาวบ้านที่นั่น ประเด็นที่สื่อภูมิภาคสนใจคือ 1. เรื่องเด็กหาย 2. เรื่องนโยบายผู้สูงอายุ 3. เรื่องภัยแล้ง
จุดที่ 3 เดินทางไปยัง อ.แม่สอด พบปะคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัดตาก ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร วิทยาเขตแม่สอด ศูนย์อุดมศึกษามีผู้เข้าร่วม 150 คน บรรยายมอบนโยบายขับเคลื่อนสังคมสำหรับช่วง 7 เดือนหลัง
จุดที่ 4 ไปที่เทศบาลแม่สอด กลุ่มผู้สูงอายุมาคอยต้อนรับที่นั่นจนล้นหลาม น่าจะเกิน 300 คน นายกเทศมนตรีเทศบาลแม่สอด (กลุ่มเดียวกับคุณปณิธิ) กระตือรือร้นมาก ที่นั่นเขาจัดให้มีการมอบเสื้อผ้าแก่คนชรา ชมรมสามล้อถีบ มีคนแก่ทั้งชายหญิงมาต้อนรับมอบดอกกุหลาบ (ที่นี่เขาปลูกกุหลาบส่งออก) คาดผ้าขาวม้าเต็มพุงไปหมดจนคาดไม่ไหว ได้กล่าวปราศรัยกับชาวบ้าน พูดถึงเรื่องผู้สูงอายุ ในตอนหนึ่งพอพูดถึงแม่แล้วตื้นตันจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ คนเฒ่าคนแก่พากันร้องไห้ตามกันไปทั้งที่ชุมนุม บรรยากาศกลายเป็นบรรยากาศฉันท์พี่น้อง ผมรู้สึกว่าพวกชาวบ้านไม่เคยรู้จักเรามาก่อน แต่เขามีความผูกพัน จริงใจมาก ๆ อาจเป็นเพราะเราไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ และเราเป็นแพทย์ที่มีความใกล้ชนิดชาวบ้าน ช่วงสุดท้ายยังมีพิธี “รดน้ำดำหัว” ในโอกาส “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” อีกด้วย ใช้เวลาที่นี่เกือบ 2 ชั่วโมงเต็ม
จุดที่ 5 ไปที่ชุมชน (รอแหละ) สามัคคี เป็นชุมชนที่ยากจนที่สุดในเมืองแม่สอด ที่นั่นประธาน อพม. จะเปิดป้ายที่ทำการของภาคประชาชนอาสาสมัคร มอบถุงยังชีพให้คนพิการจำนวน 10 คน และกล่าวปราศรัย
จุดที่ 6 ไปที่ อบต.แม่ตาว ที่มีปัญหาความขัดแย้งเรื่อง “แคดเมี่ยม” ได้ฟังนายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เล่าเรื่องปัญหาสุขภาพและการทำมาหากินที่กระทบจากปัญหาแคดเมี่ยม แต่พวกเขาก็มีการร่วมกันคิดหาทางแก้ไข โดยใช้ความรู้และสติปัญญา โดยไม่ใช้อารมณ์เข้าต่อสู้เอาชนะคะคาน ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานว่าที่นี่มีเป้าหมายจะ “เปลี่ยนโครงสร้างอาชีพเกษตร” คือ “เปลี่ยนจากปลูกข้าว (เพราะปลูกแล้วขายไม่ได้ ปนเปื้อนแคดเมี่ยมมากเกินไป และใช้กินก็ไม่ได้) มาเป็น “ปลูกอ้อยพันธุ์ใหม่” สำหรับป้อนโรงงาน Ethanol ที่ไทยออย์ และผาแดงกำลังจะลงทุนสร้างเพื่อรองรับ มีพื้นที่เริ่มปลูกอ้อย (ตามสมัครใจ) 2,000 ไร่ จะขยายเป็น 10,000 ไร่ ¨ 30,000 ไร่ ภายใน 3 ปี ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ต่อ 1 ไร่ มากกว่าการปลูกข้าวหลายเท่าตัว แต่ชาวบ้านก็ยังลังเลๆ อยู่ นอกจากมีกลุ่มหนึ่งที่บุกเบิกไปแล้วและได้ผล มีสมาชิก อบต.คนหนึ่งลุกขึ้นกล่าว “หักหน้า” ผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “ปัญหาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมสำคัญกว่าการเปลี่ยนโครงสร้างเกษตร” พร้อมกับชวนให้ชาวบ้านที่มีระดับแคดเมี่ยมในเลือดสูงกว่าปกติยกมือแสดงตน มีชาวบ้านกว่า 30 คน ชูมือขึ้น ที่ประชุมเริ่มตึดเครียด ผู้ว่าเริ่มออกอาการเสียหน้า ผมจึงต้องแสดงบทบาท calm down ที่ประชุมโดยชี้ว่า “ปัญหาส่งเสริมอาชีพสำคัญ และปัญหาคุณภาพชีวิต/สวล. ก็สำคัญไม่แพ้กัน เราคงต้องมีทั้ง 2 อย่างตีคู่กันไป พม./สธ. จะเข้ามาช่วยจังหวัดอีกแรงหนึ่ง ผมยินดีสมทบทุนสร้างกองทุนคุณภาพชีวิต และสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ สวล. ที่ชาวบ้านอยากทำ” ที่ประชุมดีใจที่มีทางออก ผู้ว่าก็ไม่เดือดร้อน นอกจากนั้น อบต.เสนอโครงการขยายเขตประปาภูมิภาค เพื่อส่งน้ำมาให้ชุมชนที่นี่ ผมก็รับไปประสานให้ทันที
จุดที่ 7 ไปดูไร่อ้อยที่ริเริ่มปรับโครงสร้างฯ ต้นอ้อยงามมากและดูท่าทางจะมีความสำเร็จด้วยดี ผู้ว่าราชการจังหวัดบอกว่ามั่นใจว่าภายใน 3 ปี ชาวบ้านจะปรับทัศนคติได้ด้วยการเห็นตัวอย่างและบอกต่อกัน
จุดที่ 8 ไปดูฟาร์มโค ที่เป็นแนวทางปรับโครงสร้างฯ อย่างหนึ่ง พบว่าเป็นการเลี้ยงโคพันธุ์เนื้อ (บรามัน ผสม ปากีสถาน) ระบบปิด หญ้าที่เลี้ยงมีทั้งที่มาจากพื้นที่และจากกำแพงเพชร ผู้ว่าราชการบอกว่าอยู่ในระหว่างทดลองเพื่อจะดูว่า “มีผลกระทบจากการปนเปื้อนแคดเมี่ยมใน สวล. อย่างไรหรือไม่?”
จุดที่ 9 ไปดูสวนปาล์มน้ำมัน ที่ชาวบ้านผู้หนึ่งทดลองลงมือทำก่อนเพื่อน ปาล์มเริ่มโตอายุ 1 ปีเศษ ระหว่างต้นปาล์มใช้ปลูกพืชตระกูลถั่วใช้คลุมดิน เจ้าของมีความภาคภูมิใจมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ร่ำว่าจะให้รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ ผู้ว่าฯให้ข้อมูลว่าพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมมีกว่า 30,000 ไร่ แต่จุดที่รุนแรงมาก (พื้นที่สีแดง) มีเพียง 2,000 ไร่เท่านั้น ซึ่งจังหวัดจะห้ามทำการเกษตรอื่นใด เพื่อตัดวงจรห่วงโซ่อาหาร โดยให้ปลูก “สะบู่ดำ” เพื่อทำ Biodeisel แทน (Zoning) ดูแล้วพวกเขา (ผวจ.+ ประชาคมแม่สอด+ชุมชน+ท้องถิ่น) ก็มีแนวทางการจัดการปัญหาได้ไม่เลวทีเดียว จะมี NGO สายสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองท้องถิ่น (ส.อบต.) บางส่วนที่พยายามจะทำให้เป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ดูแล้วผู้นำชุมชน-ท้องถิ่น-ประชาคมเขา “รู้เท่าทัน” และ “เอาอยู่”
วณีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แท้ที่จริงบริเวณนี้มีเหมืองด้วย และมีแร่สังกะสีอยู่แล้วในชั้นดินลึก 2 ฟุต มีก่อนที่จะมีเหมืองเสียอีก แต่ขณะนี้เหมืองกลายเป็น “จำเลยไปโดยสภาพแพะรับบาป” แต่ผาแดงอินดัสตรี เขาก็ดีที่ไม่ทอดทิ้ง ไม่บอกปัด กลับมาช่วยกับชาวบ้านหาทางออก
เรื่องนี้หากรายงาน ครม.ทราบก็จะดี
จุดที่ 10 แวะรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารข้าวแช่-ข้าวฝ่าง (?) เขาตกแต่ง บริเวณดีมาก ๆ เหมือนอยู่ในป่าดงดิบที่ร่มรื่นมีน้ำตก-คลอง-บึงน้ำ จากฝีมือคน แต่เป็นธรรมชาติมากเลย เจ้าของเป็นอาจารย์จบเกษตรแม่โจ้ รักธรรมชาติและมีศิลปะในสายเลือด
จุดที่ 11 แวะเยี่ยมคุณแม่ที่บ้านพิษณุโลกได้ 30 นาที ก่อนกราบลาไปขึ้นเครื่อง 21.30 น. กลับถึงบ้าน กทม.เกือบเที่ยงคืน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
7 เมษายน 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 32 : หนึ่งเดือนในสายตาสื่อมวลชน"