ตอนที่ 33 : “งานชุกรับสงกรานต์”

          กระแสความสนใจของสื่อมวลชนยังคงติดตาม รมช. พม.ในหลากหลายเรื่องราว ทั้งเรื่องปัญหาแก๊งค์ลักเด็กที่ พม.เป็นโต้โผจัดประชุม 7 หน่วยงานเพื่อบูรณาการแก้ปัญหา (9 เม.ย.) ทั้งเรื่องงานวัฒนธรรมประเพณีไทยวันครอบครัว วันผู้สูงอายุ (13 เมษา) วันสงกรานต์ และปัญหาบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.)

          ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็จับตาประเด็นปัญหาสุขภาพของนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนแปลงใน ครม. กระทั่งถึงเรื่องม็อบที่มีกระแสข่าวว่าจะระดมพลบุกกรุงหลังสงกรานต์

          9 เมษา ไปเชียงใหม่ตั้งแต่เช้า เพื่อเปิดงานสัมมนา เครือข่าย พม. และคณะทำงานยุทธศาสตร์สังคม 17 จังหวัด ภาคเหนือ ที่โรงแรมปางสวนแก้ว

                    ปาฐกถาพิเศษให้แนวคิดแนวทาง และนโยบายของ รมต. ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมในช่วง 7 เดือนที่เหลือ เน้นย้ำกิจกรรมร่วมที่อยากให้ทุกจังหวัดทำกันอย่างพร้อมเพรียง 3 เรื่องคือ 1) ขับเคลื่อนขบวนสวัสดิการท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้ยากลำบากโดยใช้พื้นที่ 7,400 อบต. + 1,100 เทศบาล เป็นตัวตั้ง 2) ขับเคลื่อนขบวนสวัสดิการชุมชนให้ครอบคลุม 75,000 หมู่บ้าน-ชุมชน เพื่อวางรากฐานสังคมเข้มแข็ง 3) ขับเคลื่อนเวทีประชาธิปไตยชุมชน 926 พื้นที่ ระดับอำเภอ เพื่อวางรากฐานสังคมคุณธรรม-การเมืองสมานฉันท์
                    ครูมุกดา  อินต๊ะสาร สนช. จาก พะเยา แรกๆ ครูมีความสับสนระหว่างสวัสดิการชุมชน กับสวัสดิการท้องถิ่น เมื่อฟังผมบรรยายแล้วจึง ถึงบางอ้อ
                    ขากลับบนเที่ยวบิน TG จากเชียงใหม่-ดอนเมือง มีโอกาสได้เขียนคำกลอน 1 บท มี 8 บาท เพื่อจะใช้ในการสื่อสารกับ ขรก. พม. ที่มารดน้ำดำหัวบ่ายวันนี้
                    กลับถึงกระทรวงฯ ทีมทำงานเรื่อง “แก๊งค์ลักเด็ก” รีบเข้ามารายงานผลการประชุมทันที เพราะพวกเขารู้ว่าผู้สื่อข่าวรอสัมภาษณ์รัฐมนตรีด้วยใจจดใจจ่อ
                    ผมให้สัมภาษณ์ 14.30 น. ที่ตึกวัง มีสื่อมวลชนทั้ง TV วิทยุ นสพ. อยู่เต็มห้องเช่นเคย   แถลงด้วยประเด็นที่ชัดเจนว่า
                   1) มีการประชุมประสานงานแล้ว 7 หน่วยงาน ทั้ง พม.,ยธ.,ตร., กทม. และ NGO
                   2) เมื่อได้ตรวจสอบข้อมูล พบว่ามี 2 แหล่งข้อมูลใหญ่คือ ศูนย์ติดตามคนสูญหายเพื่อต้านการค้ามนุษย์ของมูลนิธิกระจกเงา และศูนย์ประชาบดี 1300 ของ พม. ซึ่งมีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้ว่า สถานการณ์ลักพาเด็กไม่รุนแรงอย่างที่ตื่นกลัวในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
                   3) จากศูนย์ติดตามคนสูญหาย ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันมีคนหาย 755 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก (ต่ำกว่า 15 ปี) จำนวน 400 คน
          ในเด็ก 400 คนที่หาย มี 3 สาเหตุหลัก ๆ
    หนีออกจากบ้านไปเองเพราะปัญหาในครอบครัวและปัญหาตัวเด็ก (มากที่สุด)
    ถูกลักพาตัว (มีแค่ 19 รายเท่านั้น, 11 รายกลับมาแล้ว, เหลือ 8)
    สาเหตุเกิดจากถูกล่อลวงผ่านทาง chat,โทรศัพท์, internet
4) จากศูนย์ประชาบดี 1300 ในปี 2549/50 (11 เดือน) มีแจ้งเด็กหาย 15 ราย กลับบ้านเกือบหมดแล้ว   เหลือเพียง 2 รายเท่านั้น
5) เด็กที่กลับมาได้ พ่อแม่มักไม่ยอมให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะกลัวหรือกังวลว่าจะมีผลกระทบกับครอบครัว จึงทำให้ไม่สามารถประมวล/วิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันเหตุร้ายได้เท่าที่ควร ทาง พม.จะได้ใช้การวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้ต่อไป
6) หลังสงกรานต์ รมช. พม. จะไปเยี่ยม พ่อแม่เด็ก 2 คน ที่สูญหายเพื่อให้กำลังใจ   ปลายเดือนจะได้เชิญผู้ปกครองเด็กทั้ง 11 ราย  มาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับ 7 หน่วยงาน เพื่อหาทางติดตามช่วยเหลือต่อไป
                    ได้เรื่องเลยเพราะสื่อมวลชนทั้ง TV, วิทยุ, นสพ. ลงข่าวกันพร้อมหน้า ให้ภาพพจน์ทางบวกมาก ๆ สำหรับ รมต. และกระทรวง พม. ในแง่ความเอาใจใส่ปัญหาสังคมและความกระชับรวดเร็ว, ชัดเจน, รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจ และมีความหวัง-กำลังใจ
                    15.30 น. ในพิธีรดน้ำดำหัวตามประเพณี อาจารย์ไพบูลย์ กำลังให้โอวาทพอดี จึงขออนุญาตรดน้ำ อ.ไพบูลย์ แล้วขอพร   จากนั้นข้าราชการขอรดน้ำ รมช. พม.ต่อ เสร็จแล้วจึงได้พูดคุยกับข้าราชการ/ผู้บริหาร พม. โดยผ่านบทกลอนที่เขียนบนเครื่องบินดูท่าทางพวกเขา surprise กันมากกับบทกลอนนี้ และขอนำไปจัดพิมพ์ลงวารสารของกระทรวงและกรม พส.     อาจารย์ไพบูลย์รออยู่ฟังจนจบจึงกล่าวกับข้าราชการทุกคนในที่นั้นว่า “เห็นแล้วใช่ไหมว่า ผมเลือกคนไม่ผิด!”
 
          10เมษา เข้าประชุม ครม. วันนี้รองนายกฯ โฆษิตทำหน้าที่เป็นประธานแทน เพราะนายกเข้าตรวจสุขภาพครั้งใหญ่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นที่มาของข่าวลือว่านายก เดี๊ยง แล้ว?, ถอดใจแล้ว?
                   – ที่ประชุม ครม. วันนี้มีวาระเพื่อพิจารณาจำนวนมากเช่นเคย ร่วม 20 เรื่อง กว่าจะเสร็จเล่นเอาเกือบบ่ายโมง
                   – ที่โต๊ะกินข้าวกลางวัน รมต. พลังงาน (ปิยะสวัสดิ์) หยิบประเด็นการเงินกองทุนพลังงานปีละ 250,000 ล้าน เพื่อลงทุนรถไฟฟ้า แทนที่จะไปใช้เงินกู้  JBIC แต่ทางเดียว, รมต.คลัง (ฉลองภพ) และ รมต. คมนาคม (สรรเสริญ + ธีระ) ตื่นเต้น ดีใจมาก ผมจึงเสริมว่าน่าจะทำให้เร็วเพื่อเป็นผลงานของรัฐบาลสำหรับฝ่าวงล้อมที่กดดัน ครม.เข้ามาถี่ยิบทุกวัน
                    14.00 น. ประชุมผู้บริหาร พม.ครั้งแรกหลังจากที่เป็น รมต. เว้นการประชุมไปเสียนานจนพวกเขารู้สึกเรียกร้องต้องการ วันนี้มีอธิบดี พส., พอช., สท., สค., กคช. มาพร้อมหน้ากัน ผมเปลี่ยนวิธีประชุมเป็นการพูดคุยหารือกันในบรรยากาศของพี่-น้อง-เพื่อนร่วมงาน ทุกคนดูพอใจมาก ไม่เกร็ง ไม่เครียดแบบแต่ก่อน ทำให้เราพูดคุยกันได้อย่างลึกและสร้างสรรค์ จนเกิดแนวคิด/นโยบายใหม่ในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน บนฐานศักยภาพของ พม. รวมถึงเรื่องที่จะใช้ที่ดินของนิคม 43 แห่ง + land bank ของ กคช.+พอช. มาขับเคลื่อนงานชิ้นโบว์แดงเพิ่มอีกสักอย่างในช่วง 7 เดือนที่เหลือ จึงนัดหมายกันว่าคราวหน้า (8 พ.ค.) จะนำรายละเอียดมานำเสนออีกครั้ง
                    นอกจากนั้นยังได้พูดคุยถึงเรื่อง “วันวิสาขบูชา” บวกวันแห่งการให้ที่จะรณรงค์วาระแห่งชาติ ของรัฐบาลตามมติ ครม. เดือน ธ.ค.49 ที่ผมเสนอ
                    17.30 น. ไปบันทึกเทป ASTV ที่ท่าพระอาทิตย์ในเรื่อง “926 เวทีประชาธิปไตยชุมชน” นับเป็นการไปเข้าถ้ำเสือโดยแท้
                    เสือตัวแรกคือ ASTV กลุ่มนี้มีแนวทางการต่อสู้แบบบู๊ ล้างผลาญ ชอบเผชิญหน้าอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลพูดถึง “เวทีสมานฉันท์” พวกเขาจึงไม่เชื่อเป็นทุนอยู่แล้ว
                    เสือตัวที่สอง คือวิทยากรผู้ร่วมรายการจากสถาบันพระปกเกล้า, สถาบันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศตามแนวทาง รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เน้น 2 ระบบ คือ การเมืองตัวแทน และการเมืองแบบพลเมือง (มีส่วนร่วม) แต่เขาทำกันแค่อย่างแรกเท่านั้น เพราะโดยพื้นฐานของพวกเขาคือ รัฐศาสตร์กระแสหลัก จึงไม่เชื่อเรื่อง “การมีส่วนร่วมแบบพลเมือง” เท่าใดนัก   ยิ่งประชาธิปไตยชุมชนพวกเขามีจินตนาการในเชิง “ดูถูก” เสียด้วยซ้ำ
 
          11 เมษา เช้าประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่ 2 (สังคม) อ.ไพบูลย์เป็นประธาน มี 2 เรื่องใหญ่คือ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน (สธ.) และการขึ้นเงินเดือนพิเศษในข้าราชการที่ทำงานป้องกันยาเสพติด (ปปส.)
                    จากนั้นผมขอทวงถามบัญชีกฎหมายที่ติดค้างอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา   ทาง สลค. นำมาให้ที่ประชุม มีกฎหมายอยู่ในขั้นนี้ จำนวน 46 ฉบับทั้งหมดล้วนเป็น (ร่าง) กฎหมายเก่าที่ค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว ของ พม.เองมีแค่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.เด็ก-เยาวชน, พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.คนขอทาน ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าทั้งสิ้น ของใหม่ที่เรารอ 3 ฉบับ ยังมาไม่ถึง (สภาองค์กรชุมชน, ประชาสังคม, คุณธรรม) ทำให้รู้ว่า คอขวดอีกจุดหนึ่งที่เรามองข้ามคือ “สลค.” นี่เอง
                    ก่อนออกจากที่ประชุมจึงฝากทีมรองนายกไพบูลย์ว่าขอให้เอา list จาก สลค.มาเพิ่ม
                    10.00 น. ไปที่ตึกสันติไมตรี เป็นงาน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องกล่าวรายงาน ถ่ายทอดสด TV11 ไปทั่วประเทศ ก่อนที่รองนายกฯ จะกล่าวเปิดงานและถวายรางวัล “ผู้สูงอายุแห่งชาติ 2550” แด่หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤษดิ์
                   – ท่านปัญญานันทภิกขุ ปัจจุบันอายุ 96 ปี สติปัญญายังแจ่มใส   สามารถแสดงเทศนาธรรมได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด ท่านกล่าวว่า “งานคือธรรมะ ธรรมะคืองาน บันดาลสุข” ท่านมีปณิธานจะทำงาน-ปฏิบัติธรรมไปจนสิ้นลม!!
                   – TV11,7 สัมภาษณ์เรื่องนโยบายผู้สูงอายุ ประเด็นแผนงานโครงการ พม.ที่ผ่าน ครม. เมื่อวานที่ว่าจะขยายโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งให้ครอบคลุมทุกตำบล-หมู่บ้านภายใน 5 ปี
                    13.30 น. ไปตอบกระทู้ในสภา (สนช.) เรื่อง “ปัญหาความเดือดร้อนของชาวมีนบุรีเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและบ้านเอื้ออาทร ทาง กคช. เขาเตรียมข้อมูลมาให้ดี จึงผ่านไปได้อย่างสบาย ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าการพูดในสภานั้นแท้จริงเป็นอย่างนี้เอง   ต่อไปคงหายประหม่าได้
                    16.00 น. สัมภาษณ์สื่อมวลชน เรื่อง บ้านเอื้ออาทร เป็นการแถลงนโยบายแก้ปัญหาผลกระทบโครงการฯ และนโยบายการฟื้นฟูองค์กรอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก
                   (1) นโยบายแก้ปัญหาผลกระทบมุ่งจัดการกับ 384 โครงการอย่างเหมาะสมโดยการประเมิน/วิเคราะห์เป็นรายโครงการ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
–  กลุ่มที่สร้างเสร็จแล้ว 65,000 หน่วย ¨ เข้าอยู่ให้ได้ 80-100% ใน 1 ปี
–   กลุ่มที่กำลังสร้าง 330,000 หน่วย ¨ ปรับ,ลด,ทำต่อ
–  กลุ่มที่ยังไม่ทำสัญญา 220,000 หน่วย ¨ ยุติ
                   (2) นโยบายฟื้นฟูองค์กร มุ่งสร้างขวัญกำลังใจข้าราชการ และฟื้นฟูศักยภาพองค์กร
                    การแถลงข่าวคราวนี้แม้จะสั้น ๆ แต่ นสพ. เกือบทุกฉบับนำไปลงข่าวอย่างพร้อมเพรียง ทั้งไทยรัฐ,เดลินิวส์, มติชน,ไทยโพสต์ โพสต์ทูเดย์ ฯลฯ
                    นอกจากนั้นยังมีเรื่อง กองทุน soft loan เพื่อผู้อยู่อาศัย ที่เปิดประเด็นไว้ในสภา สนช. ผมนำมาจุดประกายต่อ ซึ่งได้รับความสนใจของสื่อเป็นอย่างมาก
                    18.00 น. ประชุมกับ รองนายก และ รมต. รวม 5 คน (พม., ศธ., สน., กค.) หารือวิธีทำงาน และการรับมือกระแสปรับ ครม. วงประชุมได้วิเคราะห์ปัญหาการทำงานได้ชัดพอสมควร อ.วิจิตร+คุณหญิงทิพาวดี ช่วยกันวิเคราะห์ได้ดีมาก เพราะมีประสบการณ์ทำงานกับ ครม./รัฐสภา มายาวนาน
                   – พวกเราเห็นว่าแม้ปรับ ครม.ก็แก้ไม่ได้ หากไม่แก้ปัญหาระบบงานของ ครม. และความสัมพันธ์ ครม.-คมช.-สนช.
                   – ที่ประชุมมอบหมายให้ อ.ไพบูลย์พูดคุยสื่อสารกับนายกในช่วง weakend  หรืออย่างช้าตอนเช้าวันพุธที่ 18 ก่อนประชุม ครม.
         
12 เมษา วันนี้งานถี่ ทั้งงานหลวง งานราษฎร์ รวม 10 ภารกิจ
                    7.30 น. คุณเปรมชัย กรรณสูตร, บอสใหญ่ของอิตัลไทย มาพบหารือเรื่องแก้ปัญหาชาวบ้านต่อต้านเหมืองแร่โปแตสที่อุดร จึงให้คำแนะนำไปหา ดร.อนุชาติ พวงสำลี (คณบดี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหิดล) หรือ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ (สถาบันพระปกเกล้า) หรือ นพ.บรรพต ต้นธีระวงศ์ (สธ.) เพื่อช่วยเป็นตัวกลางจัดกระบวนการ แก้ความขัดแย้งกับชาวบ้านฝ่ายต่อต้าน
                    8.30 น. อธิบดี พส.และคณะที่ปรึกษา มาหารือเรื่องงานสมัชชาชาติพันธุ์ ที่จะจัดวันที่ 2 พ.ค. ที่เชียงใหม่ (?) และขอแนวนโยบายเรื่องการพัฒนาที่ดินนิคมสร้างตนเอง 43 แห่ง ของ พส.
                    10.00 น. ไปบันทึกเทป TV 11 รายการสายตรงทำเนียบร่วมกับ นพ.ยงยุทธ มัยลาภ และครูเคท (โฆษก/รองโฆษกรัฐบาล) 1 ชม.เต็ม ๆ กับนโยบายของ รมต.พม. มีทั้งงาน 5 ภารกิจใน 7 เดือน งานวันครอบครัวงานผู้สูงอายุ และงาน จชต. ทีมงานจะนำมาออกอากาศในวันสงกรานต์
                    12.00 น. ประชุมทีมที่ปรึกษา รมต. เพื่อเตรียมงาน 19-20 เมษา และปฐมนิเทศ วิทยากร 926 เวที
                    13.00 น.รดน้ำดำหัว นายกสุรยุทธ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า มีสื่อมวลชนมากันเต็ม ขณะรดน้ำท่าน ผมกระซิบบอกว่า “ผมยืนอยู่กับท่าน ไม่ต้องห่วงด้านสังคม” ท่านนายกยิ้ม ขอบใจและใช้มือตบเบา ๆ ที่หลังมือ ในขณะประสานสายตา
                    13.30 น. ไปประชุม board กคช. ที่คลองจั่น ไปให้นโยบายตามที่เคยแถลงสื่อมวลชนไว้ และได้ส่งเอกสารมาให้ กคช.  ก่อนหน้านั้นแล้ว   ที่ประชุมดูขานรับด้วยดี แถลงเสร็จก็ขอตัวไปก่อนเพื่อให้เขาประชุมกันตามสะดวก
                    17.00 น. กลับถึง พม.ไม่ทันการประชุมบอร์ด อกพ. ปลัดกระทรวงรายงานว่าเรียบร้อยดีบรรลุผลตามที่ได้หารือกันไว้ทุกประการ
                    17.30 น. TV11 ขอสัมภาษณ์ 3-4 ประเด็น เพื่อ stock  เอาไว้ทยอยออกในช่วง long weekend
 
          13 เมษายน
                   – วันสงกรานต์ หยุดราชการ พักอยู่ที่บ้าน
                   – 20.30 น.ไปเข้าเวรรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเสด็จกลับจากเมืองจีน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตัวแทน ครม.ไปร่วม 4 ท่าน คือ รมว.นิตย์ (กต.) รมว.สุวิทย์ (กท.) รมต.สรรเสริญ (คค.) และ รมต.พลเดช (พม.)
                   – ได้พบเอกอัครราชทูตจีน พูดไทยเก่งมาก ช่างคุยเสียด้วย
                   – พระเทพฯ   ท่านเดินทักทายแถวรับเสด็จประมาณ 15 นาทีจึงเสด็จกลับวังสุโขทัย  
                   – ท่านตรัสกับเอกอัครราชทูตเป็นภาษาจีนอย่างคล่องแคล่ว!! ท่านทูตบอกว่า ที่เมืองจีน ท่านก็ตรัสกับ รมต.จีนที่นั่นด้วยภาษจีนโดยท่านไม่ต้องช่วยเป็นล่ามเลยแม้แต่น้อย น่าทึ่งในอัจฉริยภาพมาก
 
          14 เมษา เดินทางไปพิษณุโลกโดยรถตู้ รมต.พม. ระหว่างเดินทางให้สัมภาษณ์ นสพ./วิทยุ/TV ทางโทรศัพท์รวม 6 รายการ
                    11.30 น. แวะที่สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน พลเอกศิริ ทิวะพันธุ์ รอต้อนรับอยู่ที่นั่น รดน้ำดำหัว และฟังรายการผลการประชุมของพวกเขา
                    รับทราบว่าพวกเขาอยากจะทำ 3 โครงการใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าโมทนา
                   (1) โครงการรณรงค์ซ่อมบ้าน 80 หลังให้คนจน
                   (2) โครงการพัฒนาชุมชนรอบเขื่อนแควน้อย ด้วยความร่วมมือของ พม.+ กษ.+ธนาคารกรุงไทย
                   (3) โครงการปรับเจตคติสังคมด้านผู้สูงอายุ 10 จังหวัดจะของบประมาณจาก พม.
                    15.00 น. รดน้ำคุณย่า+คุณก๋ง พี่น้องมากันพร้อมหน้า ขาดนายหน่อง และหนูน้อยเท่านั้น
                    16.00 น. ไปบังสุกุลที่เจดีย์คุณปู่ที่วัดกระบัง ขากลับแวะที่ บ้านแควน้อย ซึ่งเป็นบ้านเกิด, ที่นั่นชาวบ้านพากันขึ้นป้ายผ้าขวางถนน “แสดงความยินดีกับ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” ในฐานะ รมต.พม. ได้พบคนเก่าคนแก่ที่นั่นหลายคน
                    18.00 น. ไปงานรับเลี้ยงแสดงความยินดีของเพื่อนนักเรียน โรงเรียนอินทุภูติพิทยา รุ่น 2512 
                    21.00 น. ร่วมงานอาหารเย็นในหมู่ญาติพี่น้อง ที่โรงแรมริเวอร์ไซค์ คุยกันจนดึกดื่น
 
          15 เมษา
                    9.00 น. ไปกราบหลวงอา ท่านพระธรรมเสนานุวัตร เจ้าอาวาสวัดใหญ่ รองเจ้าคณะภาค 5 ท่านเป็นผู้ที่รู้จักกับคุณปู่เป็นอย่างดี ท่านเคยเป็นคนไข้ที่คุณปู่ช่วยชีวิตไว้ หลังป่วยมากจนสลบไป 3 คืน 4 วัน
                    ท่านเป็นคนปากโทก ตอนที่ท่านอยู่วัดทองนพคุณ พี่ชายคนโตของผมก็ไปอยู่กรุงเทพฯ กับท่านในฐานะลูกศิษย์วัด ตอนเรียน วค.สวนสุนันทา ท่านจึงสนิทสนมกับครอบครัวเรามาก
                    ฟังท่านเล่าเรื่องของ พ่อ จนพวกเราเกิดแรงบันดาลใจและลงความเห็นว่า จะต้องพยายามเขียนเรื่องของพ่อให้ได้ โดยมอบปองเป็นผู้ร้อยเรียงเช่นเดิม
                    กลับกรุงเทพ รถติดมากในช่วง สิงห์บุรี-กทม. ใช้เวลารวมเกือบ 7 ชั่วโมง จึงถึงบ้านพัก
 
          16 เมษา 
          – พักวันหยุดที่บ้าน
          – กระแสข่าวปรับ ครม.ยังกระหึ่ม รมต. พม.ขึ้นพาดหัวหน้า 1 โพสต์ทูเดย์ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 14
          – สาระผมที่ได้สื่อสารเรื่องปรับ ครม.คือ
                    (1) อำนาจปรับ ครม. อยู่ที่นายกคนเดียว และท่านคงไม่ปรึกษาใครแน่
                    (2) การปรับมีความเป็นไปได้เหมือนกัน แต่ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าปรับ ครม. หรือแม้แต่เปลี่ยนตัวนายกก็ไม่ช่วยอะไรได้มาก เพราะยังแก้ไม่ตรงจุด
                    (3) ถ้ามุ่งที่จะให้ได้ผลงานจริง ไม่ต้องปรับ ครม.หรือนายกก็ได้แต่ต้องเปลี่ยนแปลง 3 จุด
                   ก. ปรับกลไกอำนาจรัฐส่วนกลางที่รองรับงาน ครม. คือ สลค., สงป., กพ., ส.กฤษฎีกา, สปน. โดยต้องปรับวิธีทำงาน ต้องให้นโยบายชัด ๆ และอาจต้องปรับตัวบุคคลรับผิดชอบ
                   ข. ปรับความสัมพันธ์ระหว่าง คมช.-ครม.-สนช. โดยให้มีโครงสร้าง/กลไกทำงาน 2 ระดับมาหนุนเสริมคือ ประธาน คมช.-นายก-ประธาน สนช.
                    และระดับ รองประธาน คมช.-รองนายก-รองประธาน สนช. รวมถึงระดับรองลงมาอีก ฝ่ายละ 5 คน ทำหน้าที่เสมือนเป็น whip 3 ฝ่าย
                   ค. ใน ครม.เองก็ต้องปรับการทำงาน ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและต่างประเทศ มีรองนายกดูแลด้านละ 1 คน เมื่อ 3 รอง +1 นายก จะกลายเป็น innercabinet หรือครม.วงในที่นายกพบปะประชุมเป็นประจำ
                    และแต่ละด้านก็มีรองนายกฯ ดูแล ให้สามารถทำงานอย่างบูรณาการข้ามกระทรวงได้ด้วย
                    ปรากฎว่าแนวที่ผมให้สัมภาษณ์เช่นนี้ คุณประดิษฐ์   เรืองดิษฐ์ นักข่าวอาวุโสจากสมาคมนักข่าว นัก นสพ.แห่งประเทศไทย และคุณอัญชลี ไพรีรัตน์ แห่ง ASTV ออกปากยอมรับว่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปรับ ครม.!!”
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
15 เมษายน 2550
 

Be the first to comment on "ตอนที่ 33 : “งานชุกรับสงกรานต์”"

Leave a comment

Your email address will not be published.