หลังจากหยุดยาว 5 วันในช่วงสงกรานต์ เริ่มทำงานวันพุธ ด้วยการประชุม ครม.นัดพิเศษ มีการหารือเรื่องปรับ ครม.และปรับวิธีการทำงานของรัฐบาล ผลออกมาในแนวทางที่พวกเราหารือกัน
ซึ่งเป็นไปตามที่ผมสัมภาษณ์สื่อมวลชนไปล่วงหน้าบ้างแล้ว หลังการประชุม นายกรัฐมนตรีและโฆษกแถลงข่าวตามปกติ แต่สื่อกลับกรูมาที่ผมเพื่อสัมภาษณ์และหาข้อมูลเพิ่มเติม ผมช่วยอธิบายให้เห็นประเด็นสำคัญโดยครบถ้วนและสำทับด้วยความคิดส่วนตัวประกอบว่า “ปรับ ครม. ก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่ปรับวิธีการทำงาน” ทำให้สื่อมวลชนทุกฉบับ ทุกช่องทางพากันลงข่าวอ้างอิงกันขนานใหญ่ทั้ง 2 วัน นับเป็นการ “เปรี้ยง ปร้าง (เล็ก ๆ)” ของ รมช. พม.ในสัปดาห์ที่ 6 ของการทำงาน
18 เมษายน
9.00 น. ประชุม ครม. ช่วงแรกนายก รมต. ขอประชุมเฉพาะ รมต. เท่านั้น โดยเชิญเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกไปนั่งกินกาแฟข้างนอก การประชุม “ลับเฉพาะ” เช่นนี้เป็นที่สนใจติดตามของสื่อเป็นอย่างมาก
นายกเริ่มต้นด้วยการพูดถึงสถานการณ์ที่รุมล้อมการทำงานของรัฐบาลจากทุกทิศทาง ทั้งด้านสื่อมวลชน กลุ่มพันธมิตร กลุ่มอำนาจเก่า ท่านพูดถึงความคิดที่จะปรับการทำงานโดยขอให้ช่วยกันเร่งสร้างผลงานตามที่ประกาศและริเริ่มไว้แล้ว มากกว่าที่จะเริ่มงานใหม่ พูดถึงการปรับ ครม. ในลักษณะที่จะเพิ่ม รมต. เข้ามาในบางตำแหน่ง ซึ่งมีโควต้าได้อีก 4 ตำแหน่ง ท่านขอปรึกษา ครม. ว่ากระทรวงใดที่มีงานมากและต้องการ รมต.เพิ่มก็ขอให้บอกมา ตัวท่านเองก็คิดไว้แล้วส่วนหนึ่ง ในด้านการปรับวิธีการทำงาน นายกขอให้รองฯ ไพบูลย์นำเสนอต่อที่ประชุมตามที่ท่านได้คุยกันไว้ก่อนเข้าประชุม ครม. รองฯไพบูลย์ก็นำเสนอกว้าง ๆ ถึงการปรับวิธีทำงานโดยให้มีเวทีระหว่างนายก-ประธาน คมช.-ประธาน สนช. ให้มีคณะทำงานประสาน ครม.-สนช.-คมช. และให้มีระบบ Fast Track สำหรับงานบางอย่าง
จากนั้นที่ประชุม ครม. ช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รมว. ทุกกระทรวงพูดกันหลายรอบ พวกเรา รมช. ส่วนใหญ่จะนั่งฟังโดยไม่ออกความคิดเห็น (รวมทั้งผมด้วย)
สุดท้ายนายกสรุปหลังจากคุยกันประมาณ 2 ชม.เศษ ผมโน้ตได้ 8 ประเด็น ซึ่งวันถัดมาผมช่วยอธิบายและหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับนำไป Quote กันโดยถ้วนหน้า
1. จะปรับเพิ่ม ครม. ภายในโควต้าอีกไม่เกิน 4 คน โดยเฉพาะกระทรวงที่มีงานมาก
2. เร่งงานที่ริเริ่มหรือประกาศไว้แล้วมากกว่าจะสร้างงานใหม่
3. ประชุม ครม. จะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกประชุมเฉพาะ รมต. เท่านั้น อาจเชิญ คมช. หรือ สนช. ฯลฯ มาร่วมเป็นคราว ๆ
4. ให้มีระบบ Fast Tack สำหรับงานสำคัญเร่งด่วน มอบรองฯ ไพบูลย์
5. ให้ชี้แจงผลงานด้านเศรษฐกิจให้มากขึ้น มอบรองฯ โฆษิต
6. ในเหตุผล 4 ประการในการยึดอำนาจของ คปค., รัฐบาลรับผิดชอบดูแลแค่ 2 ปัญหา (ทุจริต+สมานฉันท์)
7. เรื่อง จชต. จะขอฟังประธาน คมช.ก่อน จะบูรณาการกันอย่างไร
8. ให้ทุกกระทรวงเตรียมแถลงผลงาน 6 เดือน
หลังประชุม ครม. และการแถลงข่าวของโฆษกผู้สื่อข่าวรอดักอยู่ที่หน้าตึก สลค. กรูเข้ามาขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผม จึงยืนให้สัมภาษณ์อยู่ครู่ใหญ่ TV และข่าวออนไลน์ออกข่าวด่วนในช่วงบ่ายทันทีและออกซ้ำอีกในช่วงกลางคืน
ขึ้นรถออกไปประชุมคณะกรรมการประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (กยช.) โดยเป็นประธานแทน รองฯไพบูลย์ ที่ตึกบัญชาการ วาระประชุมวันนี้มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะ งานวิจัยที่ พม.มอบหมาย ดร.อรทัย อาจอ่ำ ไปศึกษาต้นทุนทางสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก-เยาวชน อยู่ประชุมได้เกือบจบ ก่อนที่จะต้องขอออกไปอีกงานหนึ่ง
ระหว่างเดินทางบนรถ ผู้สื่อข่าวโพสต์ ทูเดย์ โทรมาถามเพิ่มเติมถึง 8 ข้อที่สรุปสาระจากนายก จึงได้บอกไปโดยเรียงลำดับ ซึ่งส่วนนี้เองที่เป็น “แก่นสาระ” ของข่าว ปรับ ครม. – ปรับวิธีทำงานของ นสพ. เกือบทุกฉบับในวันถัดมา
17.00 น. คุณบุหลัน นศ.ปริญญาเอกของ ม.รามคำแหง/NIDA ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ผู้สูงอายุมาขอสัมภาษณ์ถึงแนวนโยบายของ พม. ว่าด้วยสวัสดิการผู้สูงอายุ
18.00 น. รายการวิทยุ “หน้าต่างสังคม” สัมภาษณ์ผลการประชุม (กยต.) เพื่อทราบความคืบหน้าสำคัญ ๆ ใช้เวลาประมาณ 45 นาที
19 เมษายน 8.00 น. คุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ “หมาแก่” นักจัดรายการวิพากษ์การเมืองชื่อดัง ขอสัมภาษณ์เรื่อง ครม.! (อีกรอบ)
8.30 น. กล่าวรายงานการจัดสัมมนาวิทยากรกระบวนการ “ประชาธิปไตยชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์” เพื่อเตรียมงานขับเคลื่อนเวทีประชาธิปไตย ระดับอำเภอ 926 เวที ทั่วประเทศ รนม.ฯ ไพบูลย์มาเป็นประธานเปิด บรรยายพิเศษ และ ศ.นพ.ประเวศ วะสี บรรยายพิเศษด้วยตนเองเพื่อปู concept “ประชาธิปไตยชุมชน : รากฐานการเมืองสมานฉันท์และการเมืองคุณธรรม”
10.30 น. บรรยายพิเศษ/เปิดประชุม เครือข่ายขับเคลื่อนสังคมไม่ทอดทิ้งกันภาคกลาง 26 จังหวัด ให้นโยบายเรื่องภารกิจ 3 อย่าง ที่เชิญชวนทำร่วมกันให้สำเร็จ 1) สวัสดิการท้องถิ่น 8,500 อปท. 2) สวัสดิการชุมชน 75,000 หมู่บ้าน 3) เวทีประชาธิปไตยชุมชน 926 เวที
12.30 น. ทีมนักข่าวที่ขอสัมภาษณ์มาดักพบเพื่อฟังเรื่อง “ปรับวิธีทำงาน ดีกว่าปรับครม.” ทั้ง TV นสพ. เช่นเคย ผมจึงตั้งใจพูดให้สังคมและ ครม.ได้ฟังโดยผ่านสื่อมวลชน
โปรยหัวว่า “ปรับ ครม. อย่างเดียวไม่มีความหมาย ถ้าไม่ปรับวิธีการทำงาน” โดยผมขอให้รัฐบาลปรับวิธีทำงาน 4 ระดับ
(1) ปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 5 หน่วยงานที่เกิดมาจาก คปค.ด้วยกัน คือ คมช.-ครม.-สนช.-คตส.-สสร. โดยประมุขทั้ง 5 ควรมีการพบปะดื่มกาแฟด้วยกัน สัปดาห์ละครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการกำหนดวาระใด ๆ
(2) จัดให้มี whip ครม.-สนช.-คมช. โดยรองนายก+ รองประธาน สนช.+ลธ.คมช. ร่วมกับ รมต.หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายละ 5 คน ทำงานประสานภารกิจกัน โดยมีผลงานและผลประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง
(3) จัดระบบ Fast Track เพื่อคัดกรองเรื่องเร่งด่วน/สำคัญ ๆ ของทุกกระทรวง ทั้งสายเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง จัดโครงสร้าง+ระบบ Fast tack เพื่อบริหารจัดการให้ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น เสนอความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ
(4) ให้มี innercabinet ประกอบด้วย นายก+รองนายก 3 ฝ่าย (เศรษฐกิจ,สังคม,มั่นคง) ประชุมเป็นประจำโดยภายใต้ รมต.วงในนี้ให้มี ครม.ย่อย 3 สาย (เศรษฐกิจ,สังคม,มั่นคง) เป็นกลไกทำงานรายละเอียด และทำให้การประชุม ครม. ที่เป็นทางการไม่ต้องเสียเวลามากและพิจารณาเรื่องวาระต่าง ๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น
ได้เรื่องเลยครับ เพราะหนังสือพิมพ์และ TV เย็นนั้นและวันรุ่งขึ้นเอาไปรายงานกันเป็นที่อึกทึกครึกโครม
“ดนัย” ถึงกับกล่าวในรายการวิทยุของเขาว่า “ใน ครม. มี รมต. อยู่คนเดียวที่กล้าพูดสวนทางนายกรัฐมนตรี!!”
13.00 น. ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองชุด 2 กับ รองฯไพบูลย์ จนกระทั่งบ่าย 15.00 น. ต้องขอตัวไปประชุมที่ สนช. เพื่อรับกฎหมายที่สมาชิกเสนอ 5 ฉบับ ไปไม่ทัน รมต.ประสิทธิรับมาแทน กระทั่งฉบับสุดท้าย
สนช.ประพันธ์ คูนมี (สหายสงคราม-เกลอเก่า) เป็นผู้เสนอ พ.ร.บ.แก้ไขประกาศ คปค.เพื่อต่ออายุ คตส. ออกไปให้สิ้นสุดเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ผมไปรับจากสภาแทน รมต.ประสิทธิ์ เสร็จแล้วเดินลงบัลลังก์มาพร้อมกับประธาน สนช. (คุณมีชัย ฤชุพันธุ์) ท่านถามว่ากฎหมายฉบับที่รับเกี่ยวกับอะไรกับกระทรวง พม. จึงตอบไปว่า คตส. ก็เกี่ยวข้องกับ พม. ในเรื่องโครงการบ้านเอื้ออาทรไงครับ ท่านร้อง “อ๋อ!” แล้วก็เดินคุยกันเรื่อง Fast track ดูท่านพร้อมจะมาช่วยนายกคิดด้วยอีกคน ทำให้ผมรู้สึกเบาใจ
16.30 น. กลับไปทำเนียบ ประชุมหารือกันที่ห้องรองฯ ไพบูลย์ เรื่องงานกองทุนหมู่บ้าน ดูวิธีคิดวิธีทำงานของทีมรองฯ ไพบูลย์ แล้วน่าเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถทำอะไรให้เป็นมรรคเป็นผลในระยะเวลาที่เหลือ ดังนั้นจึงเสนอในช่วงท้ายว่าควรทำอะไรบ้างใน 6 เดือนหลัง
(1) ปรับทิศทาง ปรัชญา กทบ. จากมุ่งเศรษฐกิจ (เป็นสถาบันการเงินชุมชน) มามุ่ง สังคม (เป็นองค์กรสวัสดิการชุมชน-ท้องถิ่น-เศรษฐกิจพอเพียง)
(2) ถ้าจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ./ระเบียบข้อบังคับ เข้าสู่ทิศทางใหม่ก็ต้องทำ
(3) จัด Social Movement สัมมนาเครือข่าย กทบ. ทั่วประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ กระบวนคิดใหม่ แนวทางใหม่
(4) ควรทำ RapidAssessment ดูความเข้มแข็งของ สทบ.ทั่วประเทศอีกครั้งเพื่อทราบสถานการณ์และใช้ข้อมูลมาวางแผนได้แม่นยำขึ้น
(5) ปรับ กลไกบริหารจัดการ จัดให้มี executive board ขอให้คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ (ธกส.) เป็นประธาน
(6) จัดประชุม 25 เมษา กทบ. พร้อมให้นโยบาย + เอกสารประกอบ
19.00 น. พบปะเครือข่ายวิทยากรแกนนำ “ประชาธิปไตยชุมชน” อีกครั้งแบบไม่เป็นทางการ เพื่อฟังปัญหา/ความคิดเห็น และปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาก่อนออกปฏิบัติงาน
20 เมษายน ไปราชการที่ จ.สกลนคร
9.00 น. พบเครือข่ายผู้สูงอายุของเทศบาลเมืองสกลนคร รองฯ นายก และ สท. มาต้อนรับ แกรนด์พอสมควร มีแสดงศิลปวัฒนธรรม (ดนตรีผู้สูงอายุ+รำมวยโบราณสกลนคร) ฟังบรรยายสรุปและให้นโยบาย/ข้อแนะนำงานพัฒนาสังคม+ผู้สูงอายุ ที่เทศบาลกำลังริเริ่มอยู่หลายอย่าง รวมทั้งเรื่องศูนย์เอนกประสงค์ผู้สูงอายุด้วย
10.00 น. เยี่ยมครู และนักเรียน โรงเรียนการศึกษาพิเศษ เด็กปัญญาอ่อน autistics มีครู 2-3 คน นักเรียน 25-30 คน/วัน ได้ฟังบรรยายสรุปจาก ผอ.ศูนย์แล้วน่าชมเชยน้ำใจและความอดทนของครูอย่างมาก
11.00 น. ประชุมกับคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด-สกลนคร เครือข่ายอาสาสมัครมากันเต็มห้องประชุมศาลากลางเลย น่าจะถึง 200 คน ทราบภายหลังว่าพวกเขามาด้วยใจ และภาคภูมิใจกับ รมต.พม. โดยไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีอาหารเลี้ยงใด ๆ เลย!!~ (เงิน พม.หมด?!)
12.30 น. ไปรับประทานอาหารที่ มร.สน. ร่วมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย
13.30 น. ประชุมสภา มร.สน. ที่ประชุมแสดงความยินดี และขอให้พูดถึงเรื่องนโยบาย และงานที่ พม.อยากจะทำร่วมกับ มร.สน.
17.00 น. คุยกับทีมแกนต่อ
18.00 น. ทานอาหารกับคณะกรรมการสภา + เจ้าหน้าที่ พม.
20.30 น. เดินทางกลับ กทม.
21 เมษายน
07.30 น. ตักบาตรทำบุญ “เทิดไท้องค์ราชันย์” ร่วมกับ นายกและ ครม.ที่สนามหลวง
08.00 น. พักรับประทานอาหารข้าวต้มที่ตึกอัยการสูงสุด ข้าง ๆ ศาลหลักเมือง ระหว่างรอเวลา ช่วงนี้ ครม. ประมาณ 20 คน มีโอกาสได้นั่งพูดคุยสังสรรค์กัน เรื่องสัพเพเหระ มี พอ.อภิชาติ (ทีมงาน ลธน.) มากระซิบว่า “รายการวิทยุคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ (หมาแก่) เอาไปพูดใหญ่เลยว่า พี่หมอกล้ามากที่พูดสวนทางนายก!! แต่ผมว่ามันใส่ไข่ ครับพี่ พอดีนายกไม่ได้ฟังเพราะลง จชต.” พอ.อภิชาติ แกคงจะมาบอกให้รู้ตัวว่าสื่อเขาพูดกันอย่างไร หลังจากนั้น พล.ท.ประยุทธ จันทร์โอชา (มทภ.1) เข้ามากอดพร้อมพูดว่า “หมอพูดดี มีคนพูดแบบนี้จะช่วยให้รู้ว่า ประชาชนเขาคิดอย่างไร!”
ข้อมูล 2 แหล่งนี้ทำให้ผมนั่งกินข้าวต้มกับนายกและเพื่อน รมต.ด้วยความสงบเสงี่ยมเป็นอย่างยิ่ง เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะ “แหลม”ไปหน่อยแล้ว!”
08.25 น. พิธีบูชาศาลหลักเมือง
08.45 น. รีบเดินทางไปเป็นประธานการประชุมสัมมนาเครือข่ายองค์กรชุมชนเรื่อง “สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น ทางออกชุมชนไทย” คนประชุมเยอะมากจนล้นห้องประชุมใหญ่โรงแรมบางกอกพาเลซ คิดว่าอาจถึง 1,000 คน มาจาก 200 ตำบลทั่วประเทศ
ผมให้แง่คิดที่ประชุมว่า สภาองค์กรชุมชน คือ รูปธรรมของประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยการมีส่วนร่วม ต้องมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมไม่มุ่งแสวงอำนาจ มีอำนาจหรือใช้อำนาจ เพราะสภาเชิงอำนาจมี สภา อบต./สภาเทศบาล ทำหน้าที่อยู่แล้ว
และอยากเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ที่ภาคประชาชนร่างขึ้นด้วยมือและทุกภาคีสนับสนุนโดยเอกฉันท์ โดยไม่มีแรงต้านทาน
10.00 น. ออกเดินทางไปเยี่ยม พ่อ-แม่เด็กที่ถูก “ลักพาตัว” ไปพบ 3 ครอบครัวที่ จ.สมุทรสาคร
ฟังบรรยายสรุปที่ ศาลากลาง ผวจ.มาต้อนรับและติดตามคณะไปตลอดทุกจุด
รายที่ 1 เด็กชาย “เท็น” 12 ปี หายตัว ธ.ค.49 พ่อแม่ตามหาจนแทบขาดใจ มีลูก 4 คน ต้องตามหาลูกที่หาย และดูแลลูกที่เหลือจน พ่อล้มป่วยต้องผ่าตัดกระเพาะอาหาร
รายที่ 2 เด็กชาย “ลาภ” 10 ปี หายตัววันเดียวกัน แม่เลี้ยงลูกคนเดียว ลำบากมาก หมดปัญญาตามหาลูกแล้ว
รายที่ 3 เด็กชายอีกคน 7 ปี หายตัวปี 2545 แม่สงสัยว่าเป็นสามีเก่าลักพาตัวไป
การลงพื้นที่ครั้งนี้มีสื่อตามไปดูมากมาย TV7, TV5,TITV มารุมสัมภาษณ์ทั้ง รมช. และผู้ปกครองเด็ก คาดว่ากระแสสื่อในสัปดาห์หน้าจะหันกลับมาสนใจเรื่องนี้อีกระลอก
แนวทางแก้ปัญหา
เฉพาะหน้า : จะช่วยกันติดตามเด็กทั้ง 3 มอบให้ พมจ.เป็นเพื่อนคู่คิดให้กับพ่อแม่ผู้รับผลกระทบ วันที่ 3 พ.ค. จะ work shop ร่วมระหว่าง 7 หน่วยงาน กับ 9 ผู้ปกครองที่ลูกหายและยังหาไม่พบ
ระยะยาว : มอบให้มูลนิธิกระจกเงา ทำวิจัย หารูปแบบการลักพาตัว และการติดตามกลับมาได้ โดยศึกษาข้อมูลที่อยู่ใน database ของมูลนิธิ เมื่อได้องค์ความรู้แล้วจึงทำสื่อเพื่อให้การศึกษาแก่สังคม หลากหลายรูปแบบ สาระแม่นยำและปฏิบัติได้
17.00 น. เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ร่วมพิธี ทำบุญที่วัดพระแก้ว
22 เมษายน
10.30 น. เปิดงานรวมพลคนรักครอบครัว มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ร่วมกับ TK Park จัดขึ้น
กล่าวปาฐกถาเปิดงาน ตัดริบบิ้น และเขียนคำขวัญเป็นที่ระลึกที่บอร์ด
“ครอบครัว : คือ ฐานรากของสังคมคุณธรรม
: คือ ปราการด่านสุดท้ายของความมั่นคงของมนุษย์”
วณีและลูกหญิงไปร่วมงานด้วย ถือโอกาสถ่ายรูปกัน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
22 เมษายน 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 34: ปรับ ครม.-ปรับวิธีทำงาน"