สัปดาห์นี้นอกจากการประชุมครม.และคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว ยังได้เดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัด ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้สถานการณ์ ปัญหา และศักยภาพของกระทรวงพม.ในมิติต่างๆ จนเกิดแนวนโยบายที่น่าสนใจหลายเรื่อง
30 เม.ย. ไปบรรยายให้กับนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงของกพ. ที่นนทบุรี มีเพื่อ-พี่-น้องที่เป็นข้าราชการกระทรวงสธ.และพม.จำนวนกว่า 10 คน เข้าเรียนในรุ่นนี้ด้วย ทุกคนมาเรียนตามคิวที่ถึงเวลาจะต้องขึ้นเป็น C10 กันแล้ว เช่น พี่เตี้ย(นพ.วีระพันธุ์ สุพรรณไชยมาก), นพ.ชัยณรงค์ วงศ์บา(ผอ.สคต.9), นพ.พินิจ วิริยะกิจจา(น้องปลัดสธ. วินัย วิริยะกิจจา) ฯลฯ หัวข้อที่บรรยายคือ “นักบริหารระดับสูงกับการพัฒนาสังคมคุณธรรม-จริยธรรมและความโปร่งใส” เวลาบรรยาย 3 ชั่วโมง
บ่าย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานสนับสนุนการแก้ปัญหาสังคม(ครั้งที่ 3) คราวนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม กรรมการภาคประชาชนที่เสนอประเด็นมาเมื่อคราวก่อน คราวนี้ได้เสนอเป็นโครงการมา 7 โครงการ โดยจะใช้งบประมาณ 43 ล้านบาท ระดมความคิดให้เป็นภาพรวมแล้วจึงแบ่งกลุ่ม
1) กลุ่มโครงการด้านการฟื้นฟูเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา มีคุณเรวดี (กป.อพช.)เป็นแกน จัดงบประมาณให้ 3 ล้านบาท
2) กลุ่มโครงการด้านปัญหาคนชายขอบที่เดือดร้อนจากพิบัติภัยและปัญหากฎหมาย มีคุณไมตรี กงไกรจิต เป็นแกน จัดงบประมาณให้ 3 ล้านบาท
3) กลุ่มโครงการด้านแรงงานต่างชาติ มีคุณสมพงษ์ และ คุณทิพาพร เป็นแกน จัดงบประมาณให้ 2 ล้านบาท
4) กลุ่มโครงการด้านผู้เร่ร่อนไร้บ้านในกทม./ปริมณฑล มีอ.บัณฑร เป็นแกน รอประสานกับกทม.
และให้แต่ละกลุ่มตั้งคณะทำงานเฉพาะขึ้นมา ให้พส.ดูแลอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาให้เกิดผลรูปธรรมให้ได้ภายใน 6 เดือนที่เหลือ โดยงบประมาณที่เตรียมไว้จาก ก.ส.ค.(8 ล้าน) ดูท่าทางจะ Happy กันพอประมาณ เพราะแม้มีเงินไม่มากแต่ก็ได้ลงมือทำทันที!!
1 พ.ค. ประชุมครม.ตามปกติ มีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง
ก่อนเข้าสู่การประชุมครม. เป็นการประชุมนอกรอบซึ่งมีประธานคมช.มาร่วมพูดคุยเป็นครั้งที่ 2 ท่ามกลางกระแสข่าวที่รมต.บางคนไปแสดงความไม่พอใจที่มีการไปให้ข่าวข้างนอกว่า “คุยอะไรกันบ้าง” ซึ่งดูเหมือนว่าสื่อจะพุ่งมาที่ผม “รมช.พม.” ทำให้ต้องระมัดระวังการให้ข่าวมากขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรที่น่าจะเป็นความลับเลย เป็นเรื่องที่สังคมควรรับรู้และเข้าใจ ครม./คมช.กันมากๆ
เรื่องที่หารือกัน ทั้งนายกฯและประธานคมช.หยิบประเด็นการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ว่าเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ทุกกระทรวงช่วยกันคิด/ทำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศขณะนี้ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์เดียวคือ “การส่งออก” ท่านอยากให้ขับเคลื่อนเครื่องยนต์อื่นเสริม เช่น “การท่องเที่ยว” ที่ประชุมช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอมากมาย เช่น รองนายก ไพบูลย์ เสนอ”การท่งเที่ยวเพื่อสังคม”, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์-วัฒนธรรม, รมช.คค.(สรรเสริญ) จะทำการประสานประมูลรถไฟฟ้า 2 สาย ภายใน พค.-มิย., จะทำแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชื่อมคุณหมิง, นครสวรรค์-มาบตาพุด-มะละแหม่ง, รมช.พม.จึงเสนอเรื่อง “Financing บ้านเอื้ออาทร 300,000 ยูนิต ท่านนายก,รมว.พณ, รมช.คลัง ต่างสนับสนุน
ประชุมครม.ปกติ คราวนี้มีวาระไม่มากนัก และนายกฯต้องออกจากที่ประชุมไปร่วมงาน “May Day” ของผู้ใช้แรงงานที่ท้องสนามหลวง มีกม.ด้านแรงงาน 2 ฉบับผ่านการรับรองจากครม.ซึ่งนายกก็ได้นำไปเป็นข่าวดีบอกพี่น้องแรงงานที่มาชุมนุม
หลังการประชุม พวกเรารมต.กินข้าวกลางวันร่วมกันตามปกติ ในขณะที่ทีมงานโฆษกรัฐบาล และรองนายกและรมต.บางกระทรวงไปร่วมกันแถลงข่าวตามปกติ เมื่อแถลงเสร็จพวกเขาก็กลับขึ้นมากินข้าวกลางวัน ในขณะที่พวกเรารมต.ต่างทยอยกลับกระทรวงไปทำงานกันต่อ ซึ่งเป็นอย่างนี้อยู่เป็นปกติวิสัย แต่คราวนี้(และเกือบทุกคราวสำหรับรมช.พม.) มีผู้สื่อข่าวกรูกันเข้ามาล้อมรถตู้ของผมเพื่อหาข่าวเพิ่มเติม ผมจึงเลือกเรื่องที่พอจะเล่าได้และเป็นเรื่องเชิงบวกต่อรัฐบาล, คมช. และเป็นการสร้างความหวัง-กำลังใจให้แก่สังคม คือเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ และคงจะเป็นด้วยวิธีการเล่า/การสื่อสารของรมช.พม.ทำให้สื่อนำไปอ้างอิงและรายงานข่าวกันหลายฉบับ รวมทั้ง TV และสถานีวิทยุของทหารก็ขอสัมภาษณ์เพิ่มเติม พวกเขาบอกว่าเป็นการเล่าอธิบายที่ดีและคนอยากฟังแบบนี้มากกว่าการแถลงข่าว! (เอาเข้าไปนั่น)
16.00น. คณะตัวแทนองค์กร(สมาคม)ลูกจ้างราชการขอเข้าพบเพื่อสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มลูกจ้างหน่วยราชการ ซึ่งตอนหลังรัฐมีนโยบายที่จะไม่รับเป็นข้าราชการประจำ หรือพนักงานราชการ ทำให้ต้องอยู่ในสภาพเป็นลูกจ้างชั่วคราว, ลูกจ้างโครงการ, ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ ซึ่งมีระบบสวัสดิการที่จำกัดมาก มีข้อเสนอให้พม.ช่วยรับทราบและสนับสนุนให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบบางอย่างมาช่วย
กลับบ้านตอนค่ำแล้ว มีนกจัดรายการวิทยุ นาฏยา แวววีรคุปต์ โทรมาสัมภาษณ์ บอกว่ามติครม.วันนี้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังออกหวย 2 ตัว 3 ตัว ได้อีกแล้ว ผมเถียงว่าในครม.ไม่มีเรื่องนี้เข้ามาแน่นอน แต่ข่าวนสพ.ก็เริ่มลงรายงานบ้างแล้วว่าผ่านครม.จริง ซึ่งมาเข้าใจในภายหลังว่า กระทรวงการคลังไม่ได้แก้กฎหมายพรบ.สำนักงานกองสลากฯ แต่เขาใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเดิมซึ่งสามารถออกสลากแบบนั้นได้เลย ดังนั้นเข้าใจว่าเรื่องเข้าครม.จึงเป็นประเภท “วาระเพื่อทราบมากกว่า”
2 พ.ค. เวลา 8.30น. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่ 2 มีเรื่องของกระทรวงพม.ที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ร่างพรบ.สภาองค์กรชุมขนท้องถิ่น และร่างพรบ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ อยู่ร่วมประชุมได้ไม่ตลอดเพราะต้องรีบเดินทางไปเชียงใหม่ ในวันนี้ทั้ง 2 ร่างพรบ.ถูกต้านอย่างหนักจากหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่างพรบ.ฉบับแรกทางมหาดไทยและคณะกรรมการกระจายอำนาจกังวลว่าจะซ้ำซ้อนและส่งผลกระทบต่อองค์กรท้องถิ่น ส่วนร่างพรบ.ฉบับที่2 วธ.ก็ต้านหนักเพราะเห็นว่ามีหน่วยงานของวธ.ทำอยู่แล้ว และทั้ง 2 ฉบับ สำนักงบประมาณ, กพ., กระทรวงการคลังต่างกังวลว่าจะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป ผมกระซิบบอกประธาน(อ.ไพบูลย์) ก่อนขอตัวเดินทางไปเชียงใหม่ว่า ทุกประเด็นที่เป็นข้อกังวล/ข้อสังเกต เราสามารถปรับได้ทั้งหมด ขอให้ถอยออกมา 2 สัปดาห์เพื่อตั้งวงเล็กเชิญผู้เกี่ยวข้อง/ผู้มีความเห็นมาคุยกันให้ลงตัว แล้วเสนอกลับเข้ามาอีกครั้ง
ที่เชียงใหม่ เป็นการประชุมสัมมนาเครือข่ายชาติพันธุ์ที่มีกลุ่มชาวเขาและชาติพันธุ์ต่างๆ 17 ชาติพันธุ์มาร่วมกิจกรรม เป็นงานที่ผมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมพส.จัดขึ้นเพื่อจะระดมสมองช่วยกันคิดว่าจะพัฒนางานของ พม./พส./ชาวเขา อย่างไรได้บ้าง? ที่ประชุมมีการจัดBooth แสดงของแต่ละชาติพันธุ์ มีทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆ มีทั้งชาวผู้ไท (สกลนคร), มีทั้งชาวไทบูร์(อุบลราชธานี), มีทั้งชาวเล(อันดามัน), มีทั้งไทยซ่าดำ(เพชรบุรี) พวกเขาระดมความคิดกันอย่างคึกคัก ระหว่างนั้นทีมรพส.ได้พารมช.ไปเยี่ยม “พิพิธภัณฑ์ชาวเขา” ซึ่งตั้งอยู่ในที่กลางน้ำ เป็นที่ดินของทหาร เขาทำได้ดีทีเดียว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาศึกษาไม่ขาดสาย JICA ก็สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีห้องเก็บฟิล์มภาพยนตร์ มีการถ่ายลง VCD มีหนังสือ-สื่อ-เอกสารเผยแพร่ ฯลฯ ผมจินตนาการไปว่า ถ้าเราสามารถฟื้นฟูงานชาวเขาของพม.มาเป็น “สถาบันวิจัยส่งเสริมชาติพันธุ์ในประเทศไทย” และมีศูนย์/พิพิธภัณฑ์แบบนี้ทั้ง 4 ภาคก็น่าจะดีมากๆ ไปเยี่ยมพวกเขาสังเกตได้ชัดว่า พวกเขามีกำลังใจและมีความหวังมาก หลังจากงานชาวเขาของพม.ถูกกพ.ให้ยุบเลิกไปเมื่อคราวปฏิรูปประบบราชการปี 2546
กลับมาที่เวทีสัมมนาช่วงเย็น ฟังกลุ่มต่างๆนำเสนอผลการระดมความคิด ทำให้เห็นศักยภาพและการก่อรูปเป็นเครือข่ายเบื้องต้นของงานชาติพันธุ์ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจึงสรุปปิดท้ายว่า
1. พม.จะให้ความสำคัญต่องานชาวเขาและจะฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง
2. พม.จะยกระดับงานชาวเขา๒ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาเดิมสู่ประเด็นชาติพันธุ์ที่กว้างขวางและหลากหลายกว่าเดิม
3. พม.จะตั้ง “สถาบันวิจัยส่งเสริมชาติพันธุ์ในประเทศไทย” ขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกอง อาจมีศูนย์ภูมิภาค 4-5 แห่ง
4. ในช่วง “9 สิงหาคม” ซึ่งเป็น Internation Indigenous Day วันชาติพันธุ์สากล พม.จะจัดให้มีงาน “มหกรรมชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย” โดยเป็นงานใหญ่ ค้นหา-เชิญชวนกลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้มากที่สุด มาร่วมงานกัน
หลังการประชุม ดร.สุวัฒน์(อดีตผวจ.น่าน) ซึ่งรับสนองงานชนเผ่ามาลาบรีให้กับสมเด็จพระเทพฯ โทรฯมาทันทีว่า “ขอสนับสนุนเต็มที่” และยินดีจะช่วยออกแบบ ช่วยคิด โดยเสนอให้ทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้าฯ หรือ/และ สมเด็จพระเทพฯมาโปรดด้วย (งานนี้คงจะสร้างความคึกคัก มีชีวิตชีวาให้กับพม./พส.อีก Highlight หนึ่งทีเดียว)
3 พ.ค. เข้าไปเป็นประธานเปิดงานสัมมนาสุขภาวะสังคมมุสลิม ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรับมอบ(ร่าง)พรบ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต ที่คณะทำงานโครงการฯได้ยกร่างขึ้น มีรศดร.อิศรา(เพื่อนของวณี) เป็นแกนนำ นับเป็นร่างกม.อีกฉบับหนึ่งที่เป็นประโยชน์มากและน่าจะถือเป็นผลงานของพม.ในยุคนี้ด้วยเช่นกัน บรรยากาศของงานดีมาก รมช.พม.กลายเป็นความหวังของประชาคมมุสลิมที่อยากเห็นกม.ฉบับนี้
ก่อนกลับกระทรวง ได้พบกับรศ.ดร.วินัย ดาลัน คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง/ดำเนินการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาล้าลที่มีศักยภาพมาก ตั้งอยู่ข้างๆ ห้างมาบุญครอง เป็นศูนย์ที่ทำวิจัยและตรวจสอบพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาล้าล และได้รับรางวัล/การยอมรับจากโลกมุสลิมมากโดยเฉพาะมาเลเซีย
13.30น. เป็นประธานประชุมระดมความคิดแก้ปัญหา “เด็กถูกลักพาตัว” โดยเชิญพ่อ-แม่เด็กที่ถูกลักพาตัว 8 ราย มาทำ Focus Group ตอนเช้า และตอนบ่ายนำเสนอต่อตัวแทนพนักงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วย (ยธ.,รง.,ตร.,พม.,กทม.,NGO) ได้ข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการใน 5 ขั้นตอน
1) ก่อนเด็กหาย
1.1) ประชาสัมพันธ์สร้างความตื่นตัวทางสังคมเป็นระยะๆ ให้ครอบครัว/ชุมชนระมัดระวัง
1.2) ดำเนินการแหล่งเลี่ยง 3 แหล่งสำคัญ
– โรงงานนรก ใช้แรงงานเด็กเป็นทาส
– แก๊งขายพวงมาลัย, ขอทานที่ใช้แรงงานทาสเด็ก(2อย่างแรกต้องใช้การหาข้อมูล/หาข่าวและการเข้ากวาดล้างเป็นช่วงๆ)
– เรือประมงนรกที่ใช้แรงงานทาสทั้งคนไทยและคนต่างชาติ(อย่างหลังต้องใช้วิธีรายงาน/ทะเบียนแรงงานก่อน+หลังออกทะเลซึ่งต้องประสานความร่วมมือหลายหน่วยงาน)
2) ทันทีที่เด็กหาย
2.1) ต้องติดตามทันที แจ้งความทันที กระจายข่าว กระจายกำลังติดตามทันที โดยอาศัยพลังทางสังคมช่วยกัน
2.2) ตำรวจต้องรับแจ้งทันที โดยไม่ต้องรอ 24 ชั่วโมง
2.3) อาจต้องกฎหมายระดับใดระดับหนึ่งให้เอื้อต่อการปฏิบัติที่ฉุกเฉิน
3) ติดตามค้นหา
3.1) ตั้ง/จัดหากองทุนสนับสนุนการติดตามค้นหา
3.2) ประสานแจ้งข่าว, กระจายข้อมูล, ภาพถ่ายอย่างเป็นระบบ
4) เยียวยาครอบครัวผู้รับผลกระทบ
4.1) อาศัยพมจ.และอาสาสมัครช่วยดูแลพ่อแม่ผู้สูญเสีย ช่วยประคับประคองทางจิตใจ และเป็นเพื่อนคู่คิดในการติดตามค้นหาเด็ก
5) เมื่อตามเด็กกลับมาได้
5.1) ฟื้นฟูจิตใจและร่างกาย ตลอดจนดูแลเรื่องอาชีพจนเกิดความมั่นคง
5.2) เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการแก้ปัญหา “ค้ามนุษย์”
เรื่องแก้ปัญหาการลักเด็ก เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ของพม.โดยตรง การลงมือลงแรงคราวนี้พม.ได้รับการชื่นชมจากสื่อมวลชนและสังคมมากพอสมควรทีเดียว แต่ถึงตอนนี้ผมได้บอกปลัดพม.ว่า “ผมถึงเวลาส่งไม้แล้ว” นั่นหมายความว่า บทบาทของฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายนโยบายในเรื่องนี้ได้ดำเนินมาจนสมบูรณ์แล้ว ต่อไปนี้เป็นหน้าที่ที่ฝ่ายประจำ(ปลัดกระทรวง)จะสานต่อ โดยน่าจะปรึกษาหารือ/นัดหมาย Top ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันในรายละเอียดของการปฏิบัติการ ส่วนเมื่อไรจะต้องอาศัยรมต.ก็ขอให้บอกได้ทุกเวลา
4 พ.ค. ไปราชการที่ จ.อุดรธานี ปฏิบัติการระทึก 9 จุด
1) คณะเจ้าหน้าที่พม./พส.มาต้อนรับและพาไปยังนิคมห้วยหลวง เยี่ยมจนท.นิคม, คุณณรงค์เป็นผู้ปกครองนิคม, เป็นคนอ.วังทอง พิษณุโลก เป็นคนหนุ่มที่คล่องแคล่ว ที่นิคมได้ฟังบรรยายสรุป นิคมแห่งนี้มีเนื้อที่ ~ 190,000 ไร่ จัดสรรที่ดินเกือบหมดแล้ว เหลือที่ดินส่วนกลาง 20% จำนวนหนึ่งที่ยังดูแลอยู่ แบ่งส่วนหนึ่งมาใช้ดูแลจัดให้คนจนที่ขึ้นทะเบียนกับนอภ./ผวจ.สมัยรัฐบาลที่แล้ว รองรับได้ประมาณ 200+ คนๆละ 5 ไร่ ขุดบ่อน้ำไว้ให้เสร็จ แต่ยังบรรจุน้ำไว้ไม่ได้เพราะเป็นปีแรก
2) จุดที่ 2 เขาพาไปเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ชุมชน ที่อยู่ข้างๆ ตัวอำเภอเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นมรดกจาก SIF ส่วนหนึ่ง ผู้นำเป็นกลุ่มที่ศรัทธาต่องานประชาสังคมมาก ร่วมงานโครงการ”ปรับเจตคติยาเสพติด” กับ LDI ด้วย
3) จุดที่ 3 ไปดูแปลงจัดสรรที่ดินให้คนจน ได้พบปะ/คุยกับชาวบ้านประมาณ 30 ครอบครัว พวกเขามาจากต่างหมู่บ้าน ห่าง1-5 กม. เมื่อได้มีไฟฟ้าใช้และมีน้ำขังในบ่อที่ขุดก็คงจะอพยพมาตั้งรกรากที่นี่
4) จุดที่ 4 ไปที่โรงแรมซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีลงนามความร่วมมือ MOU ระหว่าง รมต.พม. กับ นายกอบต. 40 แห่ง ที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ผู้ว่ามาร่วมด้วย จัดพิธีได้น่าประทับใจมาก เป็นที่น่ามั่นใจได้ว่าที่จ.อุดรธานีจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกันได้อย่างดี ผู้ว่าซึ่เพิ่งย้ายมาไม่ถึงสัปดาห์มีกำลังใจมาก
*อุดรเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายทักษิณใช้ต่อสู้ต้านทานพลังเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และต้านทานแข็งขืนการทำงานของรัฐบาล/คมช.อยู่ในขณะนี้ ผู้ว่าท่านนี้ก็ได้รับการส่งมาเปลี่ยนตัวคนเก่าที่เป็นสายอำนาจเก่า!!
5) จุดที่ 5 ไปเยี่ยมสถานสงเคราะห์สตรี(ที่ถูกทอดทิ้ง)มีคุณพารื่น เป็นผู้ปกครอง ที่นี่นมีทั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็ก(ปฐมวัย)ที่ถูกทอดทิ้ง ศูนย์ดูแลเด็กโต(สตรี) บางคนกำลังเรียนมัธยม บางคนเรียนมาหวิทยาลัย มีศูนย์ดูและเด็กที่กำพร้าจากพ่อแม่ HIV/AIDS ด้วย มาที่นี่แล้วยิ่งเข้าใจชัดถึงงานสังคมสงเคราะห์ที่เป็นภาระกิจดั้งเดิม/หลักของพม.
6) จุดที่ 6 ไปชุมชนที่ต่อต้านเหมืองโปแตส ชุมชนมีการรวมตัวที่เข้มแข็งมาก มี NGO และ สว.NGO เป็นพี่เลี้ยง กลุ่มอนุรักษ์มีแม่มณีและนายก อบต.ประจวบเป็นแกนนำ มวลชนมีการจัดตั้งรัดกุมมาก บรรยากาศที่ศาลาวัดในวันนั้นน่าอกสั่นขวัญแขวนมากสำหรับคณะของพวกเรา โดยเฉพาะนายอำเภอและจนท.ราชการ เพราะพวกเขาจะปล่อยให้มีอะไรเกิดขึ้นกับรมต.ไม่ได้เป็นอันขาด
เมื่อเดืนอก่อน ทีมอาจารย์จากม.ราชภัฏอุดรธานีเข้าชุมชน และถูกชาวบ้านต้อนรับด้วยการ “เทน้ำหมาก” เข้าใส่มาแล้ว ผวจ.คนเก่าก็เคยถอยลงบันไดวัดรับกลับศาลากลางมาแล้วเช่นกัน
ผมเองมิได้หวั่นไหวมากนัก แต่ก็อดเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยไม่ได้เหมือนกัน บรรยากาศฝนตกหนักยิ่งเพิ่มความอึมครึมยิ่งขึ้น เจ้ากรรมบังเอิญช่วงที่รถตู้ไปถึงบริเวณศาลาวัด ผมติดสัมภาษณ์รายการวิทยุค้างอยู่จึงยังคงนั่งโทรฯต่อในขณะที่รถหยุดแล้ว พมจ.ไม่เปิดประตูรถ ชาวบ้านยิ่งพรุ่งพล่านว่า “มันจะมาไม้ไหนกันแน่” (ระแวง)หนักขึ้นไปอีก เมื่อผมลงจากรถเดินขึ้นศาลา มีแกนนำมวลชนมาต้อนรับ บนศาลามีแต่ผู้หญิง ส่วนผู้ชายอยู่ด้านล่างเหมือนการจัดตั้งมืออาชีทีเดียว จนท.ของเรายิ่งปอดกระเส่าที่เห็นเช่นนี้ แต่รายการต้อนรับ การชี้แจงความทุกข็ร้อน และการเสนอต่อรัฐบาลก็ดำเนินไปด้วยดี จนสุดท้ายผมต้องกล่าวปราศัยกับพวกเขา ด้วยสไตล์ของรมช.พม. ที่ประชุมชาวบ้านนิ่งเงียบ จนท.ของพวกเราใจเต้นระทึก (“จะได้กลับออกไปหรือไม่ขึนอยู่กับคุณหมอ/รมช.เท่านั้น”)
สุดท้ายผมรับปากที่จะเป็นตัวกลาง(พม.) ในการให้เกิดเวทีพูดคุยกันอย่างจริงจัง เป็นที่พอใจของชาวบ้านพอสมควร แต่เชื่อได้ว่ากลุ่มอนุรักษ์ที่มีการจัดตั้งเข้มแข็งเช่นนี้ ยากที่บริษัทอิตัลไทยจะทึกทักใจร้อนลงทำเหมืองโดยไม่ใส่ใจชาวบ้านไม่ได้ง่ายๆแน่
7) ออกจากศาลาวัด พวกเขาพาไปดูสถานที่ขุดเจาะทำเหมืองซึ่งเป็นที่ดอนหลังเต่า มีแหล่งน้ำสาธารณะขนาดปานกลางอยู่ด้านล่าง หมายความว่าการขุดแร่มากองบริเวณนี้จะส่งผลกระทบลงไปที่แหล่งน้ำสาธารณะแน่นอน
8) จุดที่ 8 เป็น เทศบาลตำบลนาข่าซึ่งขึ้นชื่อในด้านผ้าไหมและการเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่นี่คณะผู้บริหารและจนท.หนุ่มสาวอยู่ในวัยกำลังทำงานทีเดียว เขาต้อนรับดีมาก ได้มีโอกาสให้นโยบายเมืองน่าอยู่ 5 ด้าน(เมืองปลอดภัย เมืองสะอาด เมืองคุณภาพชีวิต เมืองธรรมาภิบาล และเมืองวัฒนธรรม) พวกเขาให้ของขวัญเป็นเสื้อฝ้ายสีเหลืองสัญลักษณ์ 80 พรรษา จึงบอกพวกเขาว่า “อังคารหน้าจะเสื้อตัวนี้เข้าประชุมครม. ขอให้ดูทาง TV” พวกเขาเฮกันตึงเลย
ก่อนกลับไปซื้อเสื้อ(อีก 2 ตัว) ที่ตลาดที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจหลักของเทศบาลนาข่าแห่งนี้
9) รับประทานอาหารเย็นที่ร้านแหนมเนืองมีชื่อที่สุดของอุดร พากันกินไปคุยไปสนุกสนาน เพราะมีเวลาหลายชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง 4 ทุ่ม พวกเจ้าหน้าที่ทั้ง พม.,อาสาสมัครประชาสังคม,ทีมงานผวจ.,สื่อมวลชน ฯลฯ พากันประเมินสถานการณ์ย้อนหลังที่หมู่บ้านโปแต้สพวกเขาระบุว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศคลายตัวคือ “สาระและ Style การพูดของรมช.พม.!!”
5 พ.ค. วันฉัตรมงคล 10.00น. ตอนเช้าเข้าเฝ้าในพระราชพิธี “ทักษิณานุปธาน” ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีพระเจ้าอยู่หัว,พระราชินี,พระบรม,พระเทพรัตน์,และพระราชวงศ์มากันพร้อมหน้า พระราชพิธีใช้เวลานานมาก พระเจ้าอยู่หัวทรงเดินได้ดีขึ้น แต่สังเกตว่าเวลานั่งท่านหายใจแรงคล้ายหอบเหนื่อย
เสร็จจากพิธีแล้ว มุ่งไปที่เสถียรธรรมสถานของแม่ชีศันสนีย์ ที่วัชรพล วันนี้คณะจนท.ของกรมสค.ร่วมร้อยคนมาร่วมปฏิบัติธรรมที่นี่ และค้างคืนที่นี่ด้วย แม่ชีอยากให้รมต.ไปร่วมจึงต้องแวะไปเยี่ยมและร่วมกิจกรรมครึ่งวัน บรรยากาศที่เสถียรธรรมสถานร่มรื่นมาก ที่ 14 ไร่ถูกตกแต่งปลูกต้นไม้,สระน้ำ,อาคาร,ที่พัก,ฯลฯ น่าปฏิบัติธรรมมาก อยากเห็นวัดดีๆ ทำเช่นนี้บ้าง อยากเห็นในทุกจังหวัดๆ ละ 1-2 แห่งก่อนก็พอ พม.ควรสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้นโยบายผอ.สค.(คุณสุวิทย์ ขันธโรจน์)ไป
19.00น. ไปร่วมพิธี “สันนิบาต” ที่รัฐบาลจัดขึ้นถวายพระพรวันฉัตรมงคล วณีไปด้วย ได้พบกับรมต.,ขรก.ผู้ใหญ่ฝ่ายต่างๆมากมาย ทั้งฝ่ายบริหาร,ตุลาการ,นิติบัญญัติ,ทหาร-ตำรวจ-องครักษ์,องค์กรอิสระ กว่าจะได้กลับถึงบ้านก็เกือบ 3 ทุ่ม
6 พ.ค. ไปราชการที่พิษณุโลก ปฏิบัติการถี่ยิบ 8 จุด จากเช้าจนดึก
จุดที่ 1 รองผวจ.พิษณุโลกและคณะจนท.พม.มารับที่สนามบินพาไปที่บ้านคุณย่า กินอาหารเช้ากันที่นั่น ถือโอกาสเยี่ยมคุณย่าด้วย
จุดที่ 2 ไปที่หมู่7 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม ร่วมสังเกตเวทีประชาคมของหมู่บ้าน ที่พัฒนาการตำบลเข้าไปจัดเวทีร่วมกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อพิจารณาตัดสินใจโครงการอยู่ดีมีสุข หมู่บ้านนี้ได้งบประมาณ 49,000 บาท จะทำโครงการอะไรกันดี การประชุมเป็นไปง่ายๆ ในที่สุดลงความเห็นว่าจะทำเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง-บ่อเลี้ยงปลาดุก” รองผู้ว่าฯบอกว่า โครงการนี้สู้ SML ไม่ได้ เพราะ 1)เงินน้อยกว่า(SML 2-3 แสน/หมู่บ้าน) 2)ชาวบ้านตัดสินใจโดยอยู่ในกรอบ 5 ภารกิจที่ส่วนกลางกำหนดเท่านั้น (SML เปิดกว้าง) 3)กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.มามีอิทธิพลได้มากกว่า (SML ให้ชาวบ้านทำกันเอง)
จุดที่ 3 แวะดูการขุดค้น “พระราชวังจันท์” เพื่อบูรณะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ การขุดค้นยังทำไปได้ไม่มากนัก ซากกำแพงอยู่ใต้ดิน ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าเมื่อขุดแล้วจะสร้างเสริมต่อเติมอีท่าไหนจึงจะกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาได้เหมือนกับศรีสัชนาลัย!!
จุดที่ 4 ไปเป็นประธานพิธีเปิดงานโฆษณาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 17 จังหวัดภาคเหนือที่พอช.เป็นแม่งาน หลังอาหารกลางวัน บรรยายพิเศษเสร็จแล้วและรับเรื่องราวร้องทุกข์จากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร 2 กลุ่ม
จุดที่ 5 ไปที่บางระกำ เยี่ยมกลุ่มประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐหลังอุทกภัยใหญ่ปี 2549 ได้ฟังปัญหาของพวกเขาซึ่งยังยากลำบากอยู่มาก พวกเขากำลังเลี้ยงหมู(ริเริ่ม) โดยมีปศุสัตว์มาช่วยแนะนำ นายอำเภอและปลัดมาต้อนรับด้วย ชาวบ้านบอกว่าปีนี้ฝนเริ่มแค่นั้นก็เริ่มมีปัญหาน้ำท่วมขังแล้ว บางระกำเป็นพื้นที่ลุ่มมีแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังไหลลงมาบรรจบกันทำให้มีปัญหาน้ำท่วมทุกปี ปัญหาลำคลองตื้นเขินก็เป็นอีกสาเหตหนึ่งที่ทำให้เก็บกักน้ำไว้ไม่ได้ น้ำมาก็ท่วม น้ำไปก็แห้งแล้ง! คุยกับชาวบ้านแล้วพบว่า “เลี้ยงควาย” น่าจะเป็นอาชีพที่ควรส่งเสริม
จุดที่ 6 ไปที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเกษตรอินทรีย์ที่ปลักแรด ชุมชนที่นั้นเข้มแข็ง รวมกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์ประสบความสำเร็จ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าชื่นชม
จุดที่ 7 ไปที่ที่ทำการนิคมพัฒนาบางระกำ ได้ฟังบรรยายสรุปจากผู้ปกครองนิคมฯ พบว่าที่นี่นเป็นนิคมที่อยู่ในที่ราบ พื้นที่เกือบ 2 แสนไร่ ถูกจัดสรรหมดไปแล้ว เหลือที่จริงๆ แค่ 500 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งนิคมเท่านั้น
จุดที่ 8 กลับมากินข้าวเย็นที่บ้านคุณย่า และนั่งคุยกันสัพเพเหระจนถึง 3 ทุ่ม จึงออกไปขึ้นเครื่องบินกลับกทม.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
6 พฤษภาคม 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 36 : ตระเวนภูมิภาค"