เป็นช่วงที่ทำงานต่อเนื่องในภารกิจรัฐมนตรีโดยไม่มีวันหยุดนับเป็นสัปดาห์ที่ 9 มีความเข้มข้นในสาระของงานอยู่ทุกวัน ประเด็นร้อนเรื่องหวย 2-3 ตัว ที่ รมว.คลัง ขับเคลื่อนออกมาได้ทำให้ รมช.พม.
กลายเป็นเป้าที่สังคมและสื่อมวลชน จับตาตลอดสัปดาห์ โปรแกรมลงใต้ของนายกฯ และ ครม. เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน, การพบหารือกับนักเขียนใหญ่ “คุณทมยันตี” ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น, การเปิดขบวนขับเคลื่อนโครงการการ์ตูนอนิเมชัน ประวัติพระพุทธเจ้าไปได้สวย, (ร่าง) พ.ร.บ. สำคัญของ พม. ได้รับการคลี่คลาย และภารกิจลงพื้นที่ปัตตานีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
7 พ.ค. หยุดชดเชยวันฉัตรมงคล ยังอุตส่าห์มีกิจรรมต้องไปอภิปรายที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ในเรื่อง “หวย 2 ตัว 3 ตัว” ร่วมกับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาทกกิจ, นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์, ดร.วรากร สามโกเศศ (รมช.ศธ.) และผู้นำชุมชนจากพัทลุง
เรื่องมีอยู่ว่า รมว.คลัง (ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์) มีความคิดจะออกหวยบนดินอีกครั้งในเดือน มิ.ย. โดยไม่ต้องรอแก้กฎหมาย กระทรวงทางสังคมและเครือข่ายทางสังคมคิดเรื่องนี้อย่างไร?
มสช. ในฐานะองค์กรบริหารแผนงานชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข ระยะที่ 1ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง พม.ใช้จังหวะที่เกิดกระแสถกเถียงทางนโยบายระดับชาตินี้ จัดให้มีเยาวชนและชุมชนใน 5 จังหวัดนำร่องมาระดมความคิด และจัดเวทีวิชาการโดยเชิญสื่อมวลชนมาทำข่าวมากมาย
ในการอภิปรายวันนี้ผมเสนอว่า “รัฐบาลต้องชั่งใจว่า ได้คุ้มเสียหรือไม่?” ได้เรื่องครับเพราะสื่อมวลชนนำคำพูดนี้ไปลงกันทุกฉบับ โดยเสนอความเห็นของ รมช.พม. และ รมช.ศธ. ในทางที่ “ตรงข้าม” กับ รมว.คลัง!!
คำสำคัญ (key words) ที่หนังสือพิมพ์นำไปลง อาทิ :
– จุดยืน พม. คือ “สร้างชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข” ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงอุดมคติ
– พม. มีภารกิจต้อง รณรงค์ลด-ละ-เลิกอบายมุข ซึ่งต้องทำทั้งการใช้พลังชุมชน-ท้องถิ่น, พลังครอบครัว ควบคู่กับพลังทางนโยบายซึ่ง หมายถึงการออกกติกาและกฎหมายที่เอื้อต่อการรณรงค์ และต่อต้านคัดค้านนโยบายที่ก่อปัญหา
– มนุษย์เป็นสัตว์ที่ดัดได้/ฝึกได้ รัฐจะต้องมีกติกาสังคมที่เอื้อต่อการฝึก/ดัดพฤติกรรมคนในทางที่ดี มิใช่การตามใจไปทุกสิ่งอย่าง
– รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ ที่มีระยะทำงานสั้น และอยู่ช่วงท้ายของการบริหารงานแล้ว จึงคิดว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”
– ถ้ามีการนำเข้าพิจารณาใน ครม. จะเสนอความเห็นคัดค้านอย่างสร้างสรรค์และเสนอทางออกทางเลือก แต่ถ้า ครม.มีมติเอาด้วยกับกระทรวงการคลัง ก็ทำใจได้ มี team spirit แพ้-ชนะรับผิดชอบไปด้วยกัน ฯลฯ
ได้ผลครับ วาทะของ รมช.พม.เป็นที่สนใจฮือฮาของสื่อมวลชน นักพัฒนาและเครือข่ายคุณธรรมอย่างล้นหลาม!
8 พ.ค. สื่อมวลชนลงข่าวทุกฉบับ พาดหัวหน้าหนึ่งเลยก็มี เล่าเอาผมเดินเข้าประชุม ครม.วันนี้ด้วยความรู้สึกขัดเขินพิลึกเพราะเพื่อน รมต. ต่างจ้องมองมาที่ 2 รมช.ผู้ “ปากกล้า” เจอ รมว.ศธ. อาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ก่อนขั้น Lift ท่านกระซิบว่า “รัฐบาลทำอะไรไม่รู้ ที่ควรทำกลับไม่ทำ ทำแต่เรื่องไม่เข้าท่า” นั่นแสดงว่าคงมี รมต. อีกหลายท่านที่เห็นด้วยกับเรา 2 คน แต่อาจไม่กล้าพูดและหลายคนคงหวาดเสียวไปกับการแสดงของเราด้วย
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ 8 พ.ค.
กรุงเทพธุรกิจ – “2 รมต.ต้านหวยบนดิน เล็งสลากออมสิน-ต้นแบบ”
ข่าวสด – “พม. – ศธ. เตรียมต้านหวยบนดินใน ครม.”
คมชัดลึก – “2 รมต. ต้านหวยบนดิน เสนอ ครม.ถกชี้ขาด”
เดลินิวส์ – “หวยบนดินแบบสลากออมสิน”
ไทยรัฐ – “พลเดช ชี้รัฐบาลดันหวย ได้ไม่คุ้มเสีย”
ไทยโพสต์ – “รมต.หวดรัฐบาลมอมเมา ออกหวยลอกคราบคนจน”
แนวหน้า – “รมช.พม. สวนหมัด ค้านแหลกหวยบนดิน”
– “หลากเสียงต้าน เมื่อหวยบนดินจะกลับมา”
บางกอกทูเดย์ – “รมต.”ก็ค้านหวยบนดินแบบใหม่
บ้านเมือง – รัฐเสียงแตก ออกหวยบนดิน
ผู้จัดการรายวัน – “พลเดช เตรียมเสนอ ครม.ชี้ขาด”
พิมพ์ไทย – รมช.พม. ต้านหวยบนดิน
โพสต์ทูเดย์ – “2 รมช. ฟุ้งไอเดียทำหวยพันธุ์ใหม่”
มติชน – “ครม.เสียงแตกหวยบนดิน”
สยามรัฐ – ข่าวสั้น 25 ม.ค. ต้านหวยบนดิน
Bangkok Post – Minister, Govt. should abort lottery plan
The Nation – Poldej urge cabinet to think again on lottery
ประชุม ครม. ช่วงไม่เป็นทางการ วันนี้ พลเอกสนธิมาร่วมเช่นเคย นายกฯหารือและให้นโยบายเรื่องแก้ปัญหา จชต. โดยขอให้กระทรวงต่าง ๆ ช่วยกันดูแลปัญหา จชต. โดยไล่ไปตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ
ศธ. – อยากให้ดูการปรับระบบ กศ. จชต.ทั้งระบบ (ฟังดูคล้ายจะได้อิทธิพลจาก เอกสาร ศพต. ของพวกเราที่เคยเสนอถึงขั้น “ปฏิรูปการศึกษา จชต.”
อุตสาหกรรม – ฝากเรื่อง Southern Sea Board อยากจะไปลงที่ปัตตานี?
คค. – การซ่อม-สร้างถนนและสะพานให้ทหารช่างทำแทนเอกชนที่ทิ้งงาน
กต. – ดูเรื่อง OIC และมาเลเซีย
มท. – ให้ดูเรื่องกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน
พม. – ขอให้ช่วยด้านชุมชน และสนับสนุนรากหญ้า
ฯลฯ
ช่วงประชุม ครม. ปกติมีเรื่องพิจารณา 40 วาระ และเพื่อทราบ 40 วาระ มากจริงๆ แต่ไปได้ค่อนข้างเร็ว และได้เนื้องานดี
ประเด็น CL (Compulsory Licensing) ที่เป็นมาตรการของกระทรวง สธ. บังคับผลิตยาต้านเอดส์และมะเร็ง 3 ตัวเพื่อคนจน โดยหลักมนุษยธรรม ได้รับการหยิบยกมาพูดกันนานหน่อย เพราะกระทรวงพาณิชย์ ต่างประเทศและคลังเป็นห่วงและกลัวสหรัฐอเมริกา จนหงอ! ในที่สุดเรื่องที่ รมว.สาธารณสุขขออนุมัติไปลงนามกับมูลนิธิคลินตันซึ่งสนับสนุนนโยบาย CL ของไทยสรุปว่า ครม.ไม่มีมติ เพราะถือเป็นการลงนามกับภาคเอกชน (มูลนิธิคลินตัน) กระทรวงสามารถทำได้เลย หลังประชุม รมว.มงคลเดินทางไป USA เพื่อชี้แจงและร่วมลงนามMOU กับมูลนิธิคลินตัน เรื่องนี้ฮือฮามากจนสามารถแซง “หวยบนดิน” ได้ในช่วงท้ายการประชุม
15.00 น. ในการประชุมทีมผู้บริหาร พม. ผมถือโอกาสเล่าเรื่องจาก ครม. และตามเรื่องสำคัญที่ผุดขึ้นมาระหว่างสัปดาห์หลายประเด็น อาทิ :
– กรณีปัญหาแก๊งค์ลักเด็ก
– กรณีงานชาวเขาและชาติพันธุ์
– กรณีโครงสร้างกระทรวง พม. กับงานวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– กรณีนิคมพัฒนาของกรม พส. ฯลฯ
แต่ละเรื่องดูเหมือนว่าจะปลุกความคึกคักในหัวใจของเจ้าหน้าที่และผู้บริหารกระทรวงได้ระดับหนึ่งทีเดียว ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไป
9. พ.ค. 8.30 น. ร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่ 2 เช่นเคย วันนี้มีเรื่องเกือบถึง 10 วาระ อยู่ประชุมได้พักเดียวต้องขอตัวไปเป็นประธานแถลงข่าวการลงนามความร่วมมือสนับสนุน โครงการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชัน “ประวัติพระพุทธเจ้า” มีทั้งกระทรวง พม., ศธ., วธ., สำนักพระพุทธศาสนา, มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ศูนย์คุณธรรม และบริษัท Media Standard ซึ่งเป็นผู้ผลิต
– การ์ตูนเรื่องนี้คล้ายการ์ตูน Lion King ทำได้งดงามมาก ลงทุน 100 ล้าน แต่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า กระทรวงต่าง ๆ จะต้องช่วยกันอุดหนุน/เผยแพร่ เพราะมีประโยชน์มาก
– 11.30 น.รับประทานอาหารกลางวันที่ภัตรคารอาหารญี่ปุ่นโรงแรมรอยัลปรินเซส หลานหลวง แขกคนสำคัญคือ “คุณทมยันตี” ซึ่งคุณบี๋ (ปฏิมา) จากบริษัทกันตนา เป็นผู้ประสาน จุดหมายคือการเชิญชวนทมยันตีมาช่วย เขียนนิยายหรือบทละครเรื่องยาว เพื่อสร้างความเข้าใจและทัศนคติเชิงบวกต่อการแก้ปัญหาไฟใต้
คุณทมยันตีสารภาพว่า “ตั้งใจจะมากินข้าวฟรีและปฏิเสธ เพราะแก่แล้วและหมดความหวังแล้วต่อปัญหา จชต.” แต่เมื่อได้คุยกันจึงเกิด “ถูกใจ” และ “มีใจให้” จึงตกลงใจจะทำงานร่วมกัน โดยจะทำนิยายโทรทัศน์ 20 ตอน, 2 ชั่วโมงหลังข่าว, ออกทางช่อง 7 สี และเกิดแรงบันดาลใจที่จะ plot เรื่องในสมัย ร.6 ที่ออกรัฐประศาสโนบายไว้อย่างทรงคุณค่า
นี่ถือเป็นความสำเร็จขั้นต้นแล้วเรื่องจะเป็น High Light เรื่องหนึ่งของ พม.ทีเดียว
เบื้องต้นผมจึงสั่ง “พัชรา” ทีมงานรัฐมนตรี ให้ประสานสนับสนุนและเตรียมงบประมาณรองรับ
– 14.00 น. ไปร่วมประชุมระดมสมอง ที่คณะทำงานรองนายกไพบูลย์จัดขึ้นที่โรงแรมสยามซิตี้ ในหัวข้อ “รัฐบาลจะส่งเสริมวิถีชีวิตพอเพียงในช่วง 6 เดือนที่เหลือ “อย่างไร?”
10 พ.ค. วันพืชมงคล ไปร่วมพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง สมเด็จพระบรมฯ และราชวงศ์มาร่วมงาน มีพิธีทางพรามณ์ เสี่ยงทายพระโค การทำนายผล การมอบรางวัล เกษตรกรดีเด่นประจำปีประเภทต่าง ๆ
– 10.00 น. ไปเป็นประธานพิธีสัมมนาเครือข่ายเยาวชนประชาธิปไตยที่โรงแรมบางกอกเซนเตอร์ ราชปรารภ ที่ สท.เป็นเจ้าภาพ ในเรื่อง “การจัดงาน 14 ตุลา วันประชาธิปไตย 2550”
เพื่อนผองน้องพี่คนเดือนตุลาดีใจกันมากที่ผมไปงาน ทุกปีพวกเขาหาเงินจัดงานกันด้วยความยากลำบาก ปีนี้ กระทรวง พม. จัดงบประมาณให้ 15.5 ล้าน ทำงานโครงการเยาวชนประชาธิปไตยและจัดงาน 14 ตุลา
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมประชาสัมพันธ์คนหนึ่งบอกว่าช่วงนี้มีแต่รองฯไพบูลย์ และหมอพลเดช เท่านั้นที่มีข่าวทางสื่อมวลชนและมีกิจกรรมตลอดเวลา รมต.คนอื่น ๆ แทบไม่เป็นข่าวเลย!!
– บ่าย ประชุมปรับแก้ (ร่าง) พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนฯ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ บรรยากาศการประชุมดีมาก มีข้อสรุปที่คาดว่าน่าจะผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่ 2 ได้ในพุธหน้า ก่อนที่จะเสนอ ครม.โดยเร็วต่อไป
11 พ.ค. ไปถึงกระทรวงเกือบ 8.30 น. มีคณะรอพบ 2 คณะ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันจากอำนาจเจริญ และประธานชมรมผู้สูงอายุ กทม. ทั้ง 2 กลุ่มมาเสนอปัญหาและเสนอโครงการขอรับการสนับสนุน
– 10.00 น. บันทึกเทป TV รายการรู้ทันข่าว ว่าด้วยเรื่องหวยบนดิน ผมได้เสนอประเด็นสำคัญ 4 ประการ
(1) จุดยืน พม.ในเรื่องหวยบนดิน คือเพื่อชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข
(2) นโยบาย พม. จะขอให้รัฐบาลและครม. ประเมินความ “ได้-เสียว่าคุ้มกันหรือไม่?”
(3) จะเสนอทางเลือกใหม่บนหลักการบูรณาการ “เสี่ยงโชค + การออม + การให้” ตัวอย่างเช่น
“เสี่ยงโชคนำ ออมตาม” เช่น ซื้อหวย 10 บาท (แบ่งเป็นลงทุน 5 และเงินออม 5) หรือเมื่อได้รางวัล 10 ล้าน (แบ่งเป็นจ่ายสด 5 ล้าน และกันไว้เป็นเงินออม 5 ล้าน)
“ออมนำ – เสี่ยงโชคแถม” เช่นรูปแบบสลากออมสิน/ธกส.
“ให้นำ – เสี่ยงโชคตาม” เช่นรูปแบบสลากกาชาดและสลากการกุศล
(4) กระทรวง พม. มีหน้าที่ต้องรณรงค์สังคมต่อไป โดยทำควบคู่กับการออกนโยบายให้เอื้อต่อการ ลด-ละ-เลิก อบายมุข
ขายได้ครับ เพราะแม้แต่พิธีกรและเด็กในห้องส่ง TV 11พากันชอบใจกันยกใหญ่
11.30 น. ออกรายการสด TV 11, “หมายเหตุประเทศไทย” เรื่องเดียวกัน คือ หวยบนดินกับนโยบาย พม.
บ่ายกลับมาประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนแออัดที่กระทรวง มี พอช.เป็นฝ่ายเลขา ประเด็นทางนโยบายที่จะต้องผลักดันเพื่อแก้ปัญหาได้แก่ :- 1) มติครม. 2) แผนแม่บทพัฒนาชุมชนแออัด 3) พ.ร.บ.ชุมชนแออัด
ส่วนประเด็นปฏิบัติการได้แก่ กรณีชุมชนพระราม 2 ชุมชนพระราม 3 ต้องอาศัยอำนาจบารมีของ รมช.พม.เข้าประสานเจ้าของที่ดินเอกชน
ในภาพรวมการประชุมวันนี้ ค่อนข้างมีความคืบหน้าตามสมควร อีกสักระยะหนึ่ง พม.น่าจะจัดเวทีให้ชุมชนที่แก้ปัญหาได้สำเร็จเหล่านี้มาแลกเปลี่ยนบทเรียนและขับเคลื่อนสังคมพร้อมกับแสดงผลงาน พม.ไปในตัวด้วย
12 พ.ค. ไปปัตตานีกับ รมว.พม. มีโอกาสได้คุยกับพี่ไพบูลย์ตลอดทางเพราะนั่ง TG ไปด้วยกัน รวมทั้งเรื่องหวยบนดิน
ที่ปัตตานีได้ไปดูโครงการบ้านมั่นคงปูโป้ะ, อ.เมือง ดีมากเลย โครงการเช่นนี้เป็นที่ยอมรับ สนใจของคน 3 จชต.มาก ปีนี้จะเริ่มขยายไปอีก 40 ชุมชน 5,500 ครอบครัว
ที่โรงแรม CS พอช.ได้จัดเวทีประมงพื้นบ้านและมีเครือข่ายอื่น ๆ มาร่วมด้วยในภาคบ่าย ในแง่การพัฒนาพื้นที่ พม.ได้ประโยชน์จากเวทีนี้มาก ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาณุ อุทัยรัตน์อยู่ร่วม ตลอดการประชุม
แต่ถ้าพูดถึงการลดการฆ่ารายวันแล้วเวทีนี้เกือบไม่ได้ประโยชน์เลย!
13 พ.ค. พักอยู่กับบ้าน
ไปเยี่ยมคุณย่าที่บ้านอานิด กินข้าวกลางวันในหมู่เครือญาติ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
13 พฤษภาคม 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 37 : อบายมุข"