โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดอะไรในรอบสัปดาห์ การโยนระเบิดของอาจารย์ ไพบูลย์ ในฐานะ รมว.พม.และรองนายกรัฐมนตรี กลางที่ประชุม ครม.เมื่อถูก รมว.มหาดไทยและหน่วยราชการรุมต้าน (ร่าง) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนที่กระทรวง พม.เสนอว่า “เสียใจมากและอาจถึงขั้นทำงานร่วมไม่ได้!”
ตั้งแต่คืนวันนั้นสุดสัปดาห์ (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้กลายเป็นประเด็น “talk of the town” ที่ร้อนแรง ทั้งไพบูลย์-พลเดช 2 พี่น้อง รมต.พม.เป็นข่าวไปทุกสื่อ ชนิดที่เรียกว่า “ครองพื้นที่สื่ออย่างเบ็ดเสร็จ” ไล่ตั้งแต่พาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง, ข่าวสั้น, สกู๊ปรายงาน, บทความ, บทบรรณาธิการ, คอลัมน์ประจำ, จดหมายจากผู้อ่าน, การ์ตูนการเมือง และข่าวสังคมซุบซิบ ฯลฯ เล่นเอา รมต.โนเนมกลายเป็นที่รู้จักของสังคมโดยฉับพลัน!! ฝ่าย monitor ข่าวของกระทรวง พม. ประเมินว่า เป็นภาพพจน์ด้านบวกและมีแรงเชียร์จากสื่อทุกฉบับ ทุกวงการ ทั่วประเทศ
4 มิ.ย.
10.00 น. ลงจากเครื่องบิน TG ที่ดอนเมือง ไปร่วมงานสัมมนา “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ที่ทำเนียบรัฐบาล มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ รองนายกฯ ไพบูลย์เป็นประธานเปิด, รมว. วธ. แสดงปาฐกถาพิเศษ และมีการอภิปรายกลุ่มซึ่ง รมช.พม. ร่วมอภิปรายกับปลัด ยธ. (จรัญ), รองเลขา.สศช.และตำรวจ
12.00 น. ไปร่วม lunch meeting กับบก.ข่าวของสื่อ เช่น Tv3, Tv9, อธิบดีกรม ปชส., TITV, Nation TV, INN, มติชน,ไทยรัฐ, watchdog ฯลฯ ผู้ประสานจัดการ คือ ที่ปรึกษา เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ และคุณสมชาย แสงวงการ (สนช./INN) ประเด็นหารือกันคือ “สื่อจะนำสังคมในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างไร” ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรมีการจัดพิมพ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ให้กว้างขวาง เพราะจะช่วยให้การศึกษาแก่สังคมได้ดีที่สุด และควรมีเวทีวิชาการโดยองค์กรด้านช่วยกันจัดขึ้น เป็น series
ตอนบ่ายกลับมาที่กระทรวง เซ็นต์หนังสือ และให้สัมภาษณ์ทีมวิจัยจาก สช. (สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งกำลังประมวลความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อออกแบบโครงสร้างองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ
ตกเย็นนั่งประมวลเหตุการณ์และสถานการณ์งานด้านต่าง ๆ ร่วมกับทีมที่ปรึกษา จนถึงเวลาต้องไปเป็นเจ้าภาพงานสวดศพ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ที่วัดเทพศิรินทร์
ที่นั่นปรากฎว่ามีเจ้าภาพร่วมหลายเจ้า คือ ม.ธรรมศาสตร์ (ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์) และคุณสุวิทย์ คุณกิติ ในนามกลุ่มอดีต สส. พรรคกิจสังคม ที่ครั้งหนึ่ง อ.เกษมเคยเป็นเลขาธิการในยุคหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ในฐานะ รมช.ของรัฐบาลสุรยุทธ์ ผมจึงไม่ได้ไปนั่งสุงสิงกับ สส. พวกนั้น เพราะเกรงจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง!! แต่หลังสวดเสร็จก็ทักทายกันฉันท์มิตร และถ่ายรูปหน้าศพพร้อมกับบรรดาญาติ
5 มิ.ย.
เข้าประชุม ครม.ตามปกติ ก่อนเข้าอาคารมีกลุ่มนักศึกษาจุฬามาจำหน่ายเข็มที่ระลึก วันอานันทมหิดล ยังไม่ทันแยกจากกลุ่มนักศึกษา พลันฝูงนักข่าวประจำทำเนียบกรูกันเข้ามาห้อมล้อม กล้อง TV เต็มไปหมด ผมทักพวกเขาว่า “จะสัมภาษณ์ก่อนเข้า ครม. เลยเชียวหรือ?” พวกเขาพากันหัวเราะ
ประเด็นแรกที่ถามคือ “มีความเห็นต่อปฏิกิริยา สส.ไทยรักไทย หลังคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร และรัฐบาลจะเลิกประกาศ คปค. 15 และ 27 นิรโทษกรรมหรือไม่?”
ผมนึกในใจว่า ครม.ยังไม่ได้ประชุม แต่ผมกำลังจะสัมภาษณ์ต่อหน้ากล้อง TV เหล่านี้ซึ่งจะกลายเป็นข่าวด่วนไปตามช่อง TV,วิทยุ และ SMS ตัววิ่งตามจอทีวีต่าง ๆ ดังนั้นต้องไม่พูดอะไรที่ผูกมัด จึงขอออกตัวว่า “เป็นความเห็นส่วนตัวในเบื้องต้นนะ” ซึ่งได้ผล เพราะวันรุ่งขึ้นมีข่าว นพ.พลเดช รมช. พม. เกือบทุกฉบับในเรื่องนี้ ทั้งส่วนที่พูดก่อนประชุม ครม. และส่วนที่สัมภาษณ์หลังการประชุม
“ครม. มีมติให้มีกิจกรรมการเมืองได้” (นสพ.ข่าวสด)
“ครม.แก้คำสั่ง คปค.15” นสพ.ข่าวสด
“พลเดช-ควรให้กำลังใจ ทรท. 111 คน” นสพ.ผู้จัดการ
“คมช.-ครม. ไม่หนักใจม็อบตจว.” นสพ.ผู้จัดการ
“นพ.พลเดชค้าน….(นิรโทษกรรม,ยกเลิก คปค.27)” นสพ.พิมพ์ไทย
“เปิดคำวินิจฉัยยุบพรรค” เดลินิวส์
การประชุม ครม.ช่วงแรก (นอกรอบ) พล.อ.สนธิ เปิดประเด็น คปค.15,27 และนิรโทษกรรมตามที่สื่อมวลชนคาด, ท่านให้ข้อมูลด้วยว่าสถานการณ์ไฟกรุงไม่น่าเป็นห่วงนัก เพราะสามารถคุมม็อบต่างจังหวัดได้แล้ว, ยังก็แต่ใน กทม.บางโรงงานและชุมชนแออัด ตลอดจนกลุ่มแท็กซี่บางกลุ่ม, ให้ข้อมูลด้วยว่า “ม็อบที่ปัตตานี มีกลุ่มนักศึกษารามคำแหงไปร่วม และมีข้อมูลยืนยันว่า เงินทุนสนับสนุนไปจากแหล่งเดียวกับม็อบกลางกรุง!”
ช่วงประชุม ครม. วันนี้มีวาระมากเช่นเคย เรื่องพิจารณาและพิจารณาจร รวม 39 วาระ มีเรื่องของ พม.ที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องมีประเด็นที่หนัก ๆ ทั้งสิ้น
1) (ร่าง) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนของกระทรวง พม. ถูก มท.รุมค้าน จนต้องชะลอไปเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกามาก่อน
2) (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ของกระทรวง พม. ผ่านได้ แม้มีประเด็นอยู่บ้าง
3) แผนงบประมาณปี 2551 ของกระทรวง พม. ในส่วนงบประมาณกองทุน ก.ส.ค. ถูกตัดจาก 1,500 ล้าน เหลือแค่ 400 ล้าน
หลัง ครม. ผมรีบมาประชุมผู้บริหารกระทรวงตามที่นัดไว้ จึงแจ้งเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใน ครม. ให้ทราบซึ่งที่ประชุมตกใจมากต่อเหตุการณ์ที่ อ.ไพบูลย์ ประกาศถ้า พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนไม่ผ่าน ขอพิจารณาตนเอง (ลาออก)
แต่กว่าผู้สื่อข่าวจะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นใน ครม.วันนี้ เล่นเอาใกล้ค่ำ ผู้สื่อข่าวโทรมาถาม ข้อมูลกันยกใหญ่ ผมจึงได้เล่าให้ฟัง ผลก็คือ อุณหภูมิการเมืองใน ครม.ร้อนขึ้นตั้งแต่ค่ำวันนั้น
6 มิ.ย.
พาดหัวข่าว นสพ. หลายฉบับ ขึ้นหน้าหนึ่งเรื่อง พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน “ไพบูลย์ – พลเดช ขู่ไขก๊อก” “ครม.ร้าว-พม.งัดข้อ มท.” ฯลฯ ส่งผลให้สังคมตกตะลึง เพราะนึกไม่ถึงว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงขนาดนี้ สื่อทุกสำนักทุกแขนงพากันหันมาสนใจ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนว่าเป็นอย่างไร กองนิติกร พม. ต้องทำหน้าที่ส่ง e-mail และโทรสารข้อมูลร่าง พ.ร.บ.ไปให้ผู้สนใจตลอดทั้งวัน
ตอนเช้าไปร่วมงานประชุมผู้พิการนานาชาติ ที่ unescap ซึ่งสำนักงาน สท. และ APCD เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ JICA และสถานทูตญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุน หลังพิธีเปิด ซึ่งรองนายกไพบูลย์กล่าว Speech แล้ว ผมได้ยืนคุยกับ อ.ไพบูลย์ ถึงสถานการณ์ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน จากนั้นทัพผู้สื่อข่าวกรูกันเข้ารุม รมว.ไพบูลย์ในเรื่องเดียวกัน คำสัมภาษณ์ของอาจารย์ไพบูลย์ยิ่งตอกย้ำประเด็นขัดแย้งใน ครม. เพราะถูกถามให้ต้องแสดงจุดยืนและหลักการหากว่า (ร่าง) พ.ร.บ.ไม่ผ่าน ครม. จากนั้นพวกเขาวกมาที่ผม ซึ่งผมก็ยืนยันเช่นกันว่า “หากงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ พม.ไม่สามารถทำได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะอยู่ทำงานแบบรูทีน!!!”
บ่ายประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองชุด 2 รองนายกฯไพบูลย์ ในฐานะประธานหยิบยกประเด็น พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนมาหารืออีกครั้ง ได้ข้อสรุปว่าในขณะที่กฤษฎีกาดำเนินการตามที่ ครม.มอบหมาย เราจะตั้งโต๊ะกลมพูดคุยกัน เพื่อหาข้อยุติด้วยอีกทางหนึ่ง
หลังประชุมกลั่นกรอง ผมต้องไปเสนอกฎหมาย 1 ฉบับที่สภา สนช. คือ (ร่าง) พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ ปรากฎว่ามีสมาชิก สนช.อภิปรายเชียร์การทำงานและกฎหมายของ พม. มากและอยากเห็นรัฐบาลเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและคนยากจนมากขึ้น ผมจึงหันไปปรึกษากับ มท.2 (รมต.บัญญัติ) ซึ่งนั่งข้างกันว่า พวกเรา-รัฐบาลจะต้องช่วยกันผ่านกฎหมายเข้ามาอีก โดยคัดกฎหมายสังคมเป็นหลักและควรทำการสื่อสารสังคมควบคู่ไปด้วยอย่างจริงจัง จึงจะแก้ภาพพจน์รัฐบาล “ฤษีเลี้ยงเต่า-ไม่มีผลงาน” ได้
7 มิ.ย.
ข่าว “สภาองค์กรชุมชน” ยังคงร้อนแรง แย่งเนื้อที่ข่าวได้หมดทุกสื่อและกลายเป็นประเด็น “Talk of the Town” ไปจนได้ เสียงสะท้อนจากเวทีการประชุมต่าง ๆ ที่เครือข่ายเข้ามาร่วม จะตั้งวงพูดคุยเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วงและมีอารมณ์โกรธแค้นกระทรวงมหาดไทย
ตั้งแต่เช้ามืดต้องเข้ารายการ TV ข่าวช่วงเช้า 3 รายการ ติด ๆ กัน TV11, TV5 และ TITV คุณเทพชัย หย่อง เจ้าของ nation tv เป็นพิธีกรสัมภาษณ์ด้วยตนเองใช้ 20 นาที ซึ่งกระชับและตรงประเด็นมาก, ทั้ง 3 รายการ เขาเปิดประเด็นที่สอดรับกันเพราะ เข้าใจว่าทั้ง 3 ทีมงานจะดูรายการของกันและกันอยู่ ช่วงนี้ ผมเริ่มมุ่งเสนอประเด็นไปที่เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ. มากกว่าที่จะจมอยู่กับความขัดแย้งทางความคิดใน ครม. อย่างที่เป็นอยู่เมื่อวาน ซึ่งได้ผลครับ สื่อเริ่มเบนความสนใจไปตามที่ผมอยากเห็น
รายการวิทยุ 96.5 ของคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ติดต่อเข้ามาเพื่อซักผมในประเด็นความขัดแย้งใน ครม. โดนผมเบี่ยงประเด็นไปในเนื้อหาและทำให้เรื่องขัดแย้งเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรไป เล่นเอาคุณดนัย ตั้งหลักไม่ทันถึงกับออกปากว่า “คุณหมอนี่แน่จริงๆ ปรับอารมณ์ได้ยอดเยี่ยม เมื่อวานยังเห็นขึงขังเผ็ดร้อน เรื่องทำไม่สำเร็จจะลาออก แต่วันนี้หัวเราะร่าเริง ยืนยันว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยได้ง่ายดาย!!”
9.00 น.ไปบรรยายที่โรงแรมเรดิสัน เป็นการเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในเรื่อง “นโยบายสาธารณะอาหารปลอดภัย : การขับเคลื่อนสู่สังคมสุขภาวะ” ซึ่งเครือข่ายนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่จับงานวิจัยเรื่องยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารเชิญผมไปแทน อ.ประเวศ วะสี ผมใช้เวลา 45 นาที เต็มบรรยายแนวคิดเชิงนโยบายที่คิดว่าพวกเขาสามารถนำไประดมความคิดต่อได้ทันที ประเมินว่าที่ประชุมดูพอใจเกินคาดเพราะจากสีหน้าท่าทาง และการจดบันทึกของผู้ร่วมประชุมดูดีมาก ตอนออกจากห้องประชุมจะขอตัวกลับก่อน ปรากฎว่ามีฝูงนักข่าวตามมาดักทำข่าวเรื่อง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนอีก จึงถือโอกาสตอกย้ำในประเด็นเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ. และแสดงความมั่นใจว่ากระบวนการภายในรัฐบาลจะทำให้ พ.ร.บ.นี้ผ่านไปได้ด้วยความสบายใจของทุกฝ่าย ผู้สื่อข่าวพยายามถามคำถามที่ยุให้แตกแยก-ทะเลาะกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะผมไม่ยอมตกหลุมพราง กลุ่มนักวิชาการที่มาประชุมตามออกมาห้อมล้อมฟังผมให้สัมภาษณ์ ต่างเชียร์กันเซ็งแซ่ สุภาพสตรีท่านหนึ่งเข้ามาบอกกับผมว่า “อย่าลาออกนะ จะตกหลุมพรางมหาดไทย!”
จบการสัมภาษณ์ต้องรีบฮ่อรถไปที่ UNESCAP ตามที่มีนัดกับปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการของประเทศศรีลังกา พวกเขาหารือเรื่องที่ศรีลังกาจะขอเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม APCD ปีหน้าที่โคลัมโบและอยากจะขอการสนับสนุนการฝึก IT ให้กับคนพิการชาวศรีลังกา กลุ่มที่หารือมีทูตศรีลังกา และตัวแทน JICA ร่วมประชุมด้วย ผลการประชุมบรรลุความต้องการด้วยดีทุกฝ่าย แต่แทนที่จะให้เขาส่งคนพิการมาฝึกอบรม (หลักสูตร 3 อาทิตย์) ที่ประเทศไทย เราพบว่ามีคนพิการ 7 คนที่นั่นเคยผ่านการฝึกกลับไปแล้ว จึงจะใช้วิธีไปตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่ศรีลังกาแทน โดยมีอาจารย์จากเมืองไทยไปร่วมสมทบกับวิทยากรท้องถิ่น 7 คนดังกล่าว หลังหารือแล้ว คุณ Akiee ผู้เชี่ยวชาญ JICA ประจำ APCD พูดกับผมว่า เขาติดตามข่าวหน้า นสพ. และ TV ตลอด ขอชมเชย (พร้อมยกนิ้วโป้งให้ 2 มือ) ว่ายอดเยี่ยมมากที่ รมช.พม.กล่าวว่า “He resign, I resign” ซึ่งแกหมายถึงว่า การที่ผมประกาศว่าจะลาออกตาม รมว.ไพบูลย์ นั้น สง่างามมากนั่นเอง ผมได้แต่หัวเราะ ส่วนเจ้าหน้าที่ไทยต่างกังวลว่าผมจะต้องออกจริงเพราะกลัวงานที่กำลังเดินด้วยดีจะสะดุดลง
บ่ายคุณสยาม จาก พอช. มารับนโยบายเรื่องบ้านมั่นคงที่ด่านอำเภอสะเดา (จังโหลน) สงขลา
ไปประชุมที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อรับกฎหมายที่ สนช.เสนอ 2 ฉบับรวด คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมเด็ก-เยาวชน และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดกองทุนสวัสดิการแห่งชาติ
หลังวัน (ร่าง) กฎหมายแล้วนั่งรอ รองนายกฯ ไพบูลย์ตอบกระทู้ในสภา สนช. เรื่องกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จนเสร็จจึงมีโอกาสคุยกันต่อ 2 พี่น้องบนบัลลังกฝ่าย รัฐบาล พวกสมาชิก สนช. บางคนอาจคิดว่าเรา กำลังคุยเรื่องแก้เกม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ที่กำลังอื้อฉาวร้อนแรงอยู่ทางหน้าสื่อ ก่อนจากกันพี่ไพบูลย์ได้บอกผมว่า ท่านนายกฯ ขอให้ช่วยติดต่อ PTV เพราะแกนนำมีความพยายามจะขอเจรจากับรัฐบาล ท่านจึงฝากให้ผมช่วยหาลู่ทาง
แยกกันแล้วคืนนั้นพี่ไพบูลย์ไปออกรายการโทรทัศน์ 3 รายการ ส่วนผมไปออก ASTV ในเรื่องเดียวกัน
8 มิ.ย.
ข่าวหน้าหนึ่ง บทบรรณาธิการ คอลัมภ์ประจำหลัก ๆ และข่าวภาพความเคลื่อนไหวในหนังสือพิมพ์ยังคงเกาะติด พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน วันนี้เครือข่ายที่ทำงานยกร่าง พ.ร.บ. รวมตัวกันไปกดดันเรียกร้องที่ทำเนียบ เข้าพบนายกฯ และรองนายกฯพร้อมกัน หลังจากที่ผมสัมภาษณ์โทรทัศน์ 3 รายการและวิทยุ 1 รายการในช่วงเช้า ท่านนายกฯ ส่งสัญญาณว่า “พ.ร.บ.นี้ไม่น่าเป็นห่วง น่าจะผ่านได้และไม่มีใครต้องลาออก!!” ทิศทางของสถานการณ์จึงเบนมาทางกระทรวง พม.อย่างเต็มที่ แม้ว่ามหาดไทย (รมว.อารีย์ วงศ์อารยะ) จะยังคงเสียงแข็งก็ตาม
พาดหัวข่าววันนี้ออกไปในโทนที่จะได้ทางออก เช่น ….
“สุรยุทธ์กาวใจยุติขัดแย้ง” กรุงเทพธุรกิจ
“นายกฯ เคลียร์ศึก มท.-พม.” คมชัดลึก
“ม็อบชุมชนบุกทำเนียบฯ หนุนไพบูลย์” ไทยโพสต์
“สมานฉันท์ส่งเค้าเหลว ไพบูลย์-อารีย์” แนวหน้า
“วิจิตร กาวใจสยบ พ.ร.บ.ชุมชน” บ้านเมือง
“วิจิตร คนกลาง” ผู้จัดการ
“ตั้งวิจิตรหย่าศึก พม.-มหาดไทย” มติชน
9.00 น. ไปบรรยายที่สำนักพิมพ์สยามรัฐ ถนนราชดำเนิน เรื่อง พ.ร.บ. องค์กรชุมชน แรก ๆ นึกหวั่นว่า ค่ายสยามรัฐจะเชิญผมไปซักฟอก เพราะระยะหลังมีบทความโจมตีไพบูลย์และ สสส. อยู่ต่อเนื่อง แต่เมื่อได้คุยสักพักจึงพบว่า “เชียร์ รมช. พม. กันทั้งกอง บก.!” แม้แต่คุณวิทยา ตัณฑสุทธิ์ คอลัมนิสต์ใหญ่คู่กัดของชมรมแพทย์ชนบทและประชาคมสาธารณสุข มาวันนี้แกชอบใจมาก เข้ามาจับมือถือแขนให้กำลังใจผม แกบอกว่า “ไพบูลย์เป็นคนสีขาว เช่นเดียวกัน อ.เสน่ห์ที่ทำเรื่องชุมชนมายาวนาน เรื่องนี้ต้องช่วยกันโค่นมหาดไทยให้ได้!!” “อย่าตกหลุมพราง ลาออกเด็ดขาด”
11.00 น. ดร.ทิวา ศุภศิริจรรยา ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่เมืองโบราณ มาขอพบเพื่อให้ข้อมูลเรื่องศูนย์วิทยาศาสตร์หว้ากอ ที่ประจวบคีรีขันธ์ว่าถูกย้ายไปสังกัดอยู่กับ กศน. กลายเป็นเหมือนหน่วยเล็กๆ ที่ไม่มีความหมาย อยากให้ฟื้นขึ้นมา และมี Board บริหารเป็นการเฉพาะแบบเดิม คุยเรื่องนี้แล้วเลยไปถึงเรื่องแผนที่เมืองเก่าปัตตานีว่าจะช่วยคลี่คลายปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ได้มาก ผมจึงร้องขอให้ช่วยทำงานให้ 3 จุด คือ ปัตตานี หว้ากอ และพิษณุโลก
13.30 น. ประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านกฎหมายของรัฐบาล มี อ.วิจิตร (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ที่ประชุมได้วางแผนการขับเคลื่อนกฎหมายทั้งระบบ ทั้งเก่าและใหม่ ให้ทันในเวลาสิ้นเดือน ก.ค. 50 เพราะเกินจากนั้นแล้ว สนช. จะมีภาระงานด้านรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จะทำให้กฎหมายรัฐบาลออกไม่ได้ทัน ที่ประชุมได้วางแนวการทำงานเตรียมเสนอ ครม.อังคารหน้า
จุดนี้คืองานโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งที่ผมควรจะช่วยรัฐบาลได้ตามที่คุยเอาไว้ ในบทสัมภาษณ์มติชน”
9 มิ.ย. (เสาร์)
ไปหาดใหญ่ สงขลา ตอนเช้าไปเปิดงาน workshop ทีมวิทยากรกระบวนการเวทีประชาธิปไตยชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 15 คน รวม 75 คน เพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหา 3 พ.ร.บ.ที่จะใช้เป็นแก่นสาระในการเปิดเวที คือ
1) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน 2) พ.ร.บ.ซะกาต 3) พ.ร.บ.สถาบันฟื้นฟูพัฒนา จชต. (มหาชน) ในที่ประชุมมีทั้งกลุ่มขบวนการและกลุ่มประชาสังคมปะปนกัน ในอนาคตเครือข่ายพวกนี้อาจจะเป็นกำลังสำคัญในการ “เปิดเวทีเจรจาแก้ปัญหาไฟใต้ในทางยุทธวิธี”
หลังบรรยายเปิดการประชุม ผู้สื่อข่าว TV5,9,11 มาสัมภาษณ์ทันที อาจารย์เอื้อจิต (ที่ปรึกษา) ฟังผมบรรยายแล้วบอกว่า สาระที่ รมช.พม.พูดในที่ประชุมมีพลังมากจนเกิดแรงบันดาลใจ จึงขออนุญาตนำเทปไปตัดต่อเป็น CD เพื่อขยายผล
ผมได้ถือโอกาสเวทีนี้ ทดลองนำเสนอยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา จชต. เป็น 4 ด้านโดยสังเขป
1) ต่อปัจจัยด้านความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างปัตตานี-สยาม
2) ต่อปัจจัยด้านกระบวนการฟื้นฟูอิสลามสากล-ภูมิภาค-ท้องถิ่น
3) ต่อปัจจัยด้านยุทธศาสตร์ยุทธวิธีใหม่ของฝ่ายขบวนการ
4) ต่อปัจจัยด้านการบริหารงานของราชการ
ซึ่งผมคิดว่า สัปดาห์หน้าคงจะถึงเวลาพูดผ่านสื่อมวลชนทั้งระบบได้แล้ว!!!
บ่ายไปงานรณรงค์ชีวิตมั่นคง ปลอดอบายมุข ที่ ต.ทะเลน้อย จ.พัทลุง ที่นั่นมี 4 หมู่บ้าน นำร่องโครงการของ พม. ที่ดำเนินการโดย มสช. พวกเขาใช้ยุทธวิธี “ครอบครัวสีขาว” เป็นครอบครัวปลอดอบายมุข เริ่มแล้ว 196 ครอบครัว ผม (รมช.) และผู้ว่าราชการจังหวัด ไปร่วมงานและมอบธงสีขาวปักหน้าบ้าน ชาวบ้านภาคภูมิใจกันมาก
ขากลับจากหาดใหญ่ นั่งคุยกับ ทปษ.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เราเห็นฟ้องต้องกันว่า แทนที่จะออกเป็น พรฎ.สถาบันฟื้นฟู จชต. ควรออกเป็น พ.ร.บ.จะดีกว่า ดังนั้นจึงตกลงจะนัดหมายคุยเรื่องนี้กับเลขาธิการนายกโดยเร็วในวันจันทร์
10 มิ.ย.
วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว แต่ต้องไปส่งภรรยาเดินทางไปศรีสะเกษตั้งแต่ตี 4 จากนั้นกลับบ้านเขียนหนังสือ
13.00 น. เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม “มะเร็งลำไส้” ป้องกันได้ รักษาหายขาด ที่ศูนย์สิริกิติ์ ซึ่ง พลตรี รศ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ เพื่อนศิริราชขอเชิญไปเป็นเกียรติ
ประสานติดต่อ คุณวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ PTV และเลขาธิการนายก (พลเอกพงศ์เทพ เทศประทีป) เพื่อประสานงานแก้ปัญหา mob ซึ่งต่างตอบรับด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
10 มิถุนายน 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 41: รัฐบาลร้าว"