ตอนที่ 42 : “คตส.ออกฤทธิ์”

          สัปดาห์นี้มีเรื่องหนัก ๆ มากมายประเดประดังเข้ามาสู่ศูนย์กลางอำนาจของประเทศ ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เกินการคาดคิด คตส.ซึ่งเกาะติดบัญชีการเงินของทักษิณ และเครือญาติพบว่ามีการถ่ายโอนและเบิกจ่ายเงินออกไปผิดปกติมากถึง 8,000 ล้านบาท ประกอบกับมีหลักฐานความผิดทางทุจริตคอร์รัปชันอยู่เดิม 

จึงตัดสินใจประกาศอายัดทรัพย์ 52,000 ล้านของคุณทักษิณแบบสายฟ้าฟาด ทำเอาผู้คนทั้งสังคมตะลึงกันทุกวงการ รัฐบาลและ คมช. เองไม่ได้รู้ระแคะระคายมาก่อนเลย   ต้องปรับขบวนกันจ้าละหวั่นเพื่อรับมือ mob ptv แผนเดิมที่ รมช.พม. นัดหมายผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์เรื่องมาตรการดับไฟใต้เป็นอันต้องพับไปก่อน   ส่วนกรณีร้อนเกี่ยวกับ พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนที่ต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว   ถูกสถานการณ์ใหม่ทำให้ต้องปรับท่าทีต่อกันลง และเมื่อได้เปิดเวทีพูดคุยกันพร้อมหน้าเรื่องทำท่าจะคลี่คลายไปสู่แนวทางใหม่ที่ดูมีอนาคต

          11 มิ.ย.

          พบปลัด พม.ตั้งแต่เช้าเช่นเคย หารือกันในเรื่อง กรม พส. และปัญหาโครงสร้างองค์กร,  เรื่องโครงการบัณฑิตอาสา พม. ที่อยากจะทำในปี 2551 ฯลฯ
          เจ้าหน้าที่แจ้งว่างานเปิดกิจกรรม “เยาวชนไม่ทอดทิ้งสังคม” ที่บริเวณลานน้ำพุ สยามแสคว์งดไปก่อน ทำให้ว่างเกือบตลอดวัน
          17.00 น. มีนัดกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปพบที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมกับ พลตรี ดร.พีระพงษ์   มานะกิจ เรื่องที่หารือคือ วิธีทำงานของ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกิจการ จชต. ของนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งตั้งขึ้น มี ลธน. เป็นประธานและ รมช. พม.เป็นที่ปรึกษาฯ และเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชน จชต.
          ระหว่างที่คุยกันอยู่ ดร.พีระพงษ์ได้รับ sms ว่า คตส. จะประกาศอายัดทรัพย์ทักษิณคืนนี้   ลธน.เช็คข่าวเป็นการใหญ่ ผมถือโอกาสเช็คไปที่คุณวีระ สมความคิด (ที่ปรึกษา LDI ด้านงานต้านคอร์รัปชัน) ปรากฎว่าเป็นเรื่องจริง   Nation TV เชิญวีระไปออกรายการคืนนี้ เพื่ออธิบายว่า คตส.มีอำนาจอายัดทรัพย์หรือไม่?
          เหตุการณ์ช่วงนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า การตัดสินใจของ คตส. ไม่ได้เป็นใบสั่งจาก คมช. หรือรัฐบาลเลย เพราะรัฐบาลไม่รู้มาก่อน   ใน ครม. ของเราตั้งแต่อังคารที่แล้วยังสาละวนอยู่กับการขยายผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่เลยว่าจะทำอย่างไรกันบ้าง ตอนนี้ คตส. อายัดแล้ว เป็นสถานการณ์ใหม่ล่าสุดทำให้ต้องคาดการณ์ปฏิกิริยาของ mob PTV กันใหม่ การนัดหมายของคุณวีระ มุสิกพงษ์ จิบกาแฟคุยกับ รมช. พม. 19.00 น. มีอันต้องกระทบอย่างแรง เพราะคืนนั้นมีข่าวลือว่าจะมีการจับกุมตัวคุณวีระและแกนนำ PTV เล่นเอาผมไม่สามารถติดต่อแกได้อีกเลย โทรไปไม่รับสายและไม่โทรกลับ   เรื่องที่คิดว่าจะมีโอกาสเรียนรู้ว่า mob ต้องการอะไร?  มีอันต้องเลิกไปด้วย
 
          12 มิ.ย.
          ประชุม ครม. เช้าวันนี้ มีควันหลงจากการงัดข้อระหว่าง มท.-พม. เรื่อง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้การพบกันระหว่าง รมต.มท. และ 2 รมต. พม. ในที่ประชุม ครม. มีเรื่องที่ต้องแสดงความเป็นมิตรมากกว่าปกติสักหน่อย  พวกเราทั้ง 5 ต่าง ทักทายปราศรัยยิ้มแย้มเข้าหากันด้วยดี   แม้ว่าลึก ๆ ในใจ ยังมีความขุ่นข้องกันอยู่บ้างก็ตามและในที่ประชุม ครม.  มิได้มีประเด็นนี้เข้ามาหารือแต่อย่างใด
          ช่วงประชุมนอกรอบ ประธาน คมช. พูดถึง mob ptv ว่า แม้เคลื่อนขบวนมาที่ บก.ทบ. ก็ไม่น่าหนักใจ เพราะ 1) ต้นขบวนมี 14,000 สุดท้ายมาถึงปลายทางเหลือ 2,000 เท่านั้น 2) มีการว่าจ้างมา 85-90% ของคนในขบวนทั้งหมด จึงไม่มีอุดมการณ์ที่ยืนหยัด 3) ค่าจ้าง 300-500 สำหรับใน กทม., Taxi 3,000   ต่างจังหวัด 5,000 4) ในช่วงที่ผ่านมาทางการใช้วิธีตรวจบัตร, บันทึกภาพถ่าย, ค้นอาวุธเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ mob ทำให้มีข้อมูลทุกคนครบถ้วนแล้ว หากเกิดอะไรขึ้นสามารถตามถึงบ้านได้เลย
          นายกกล่าวฝาก รมต.ทุกกระทรวงให้ช่วยกันชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง ศาล รฐน. และ คตส. ให้เจ้าหน้าที่ และประชาชนได้ทราบอย่างทั่วถึง
          รมว.กห. เชิญ พลเอกไวพจน์ ศรีนวล ผอ.ข่าวกรองแห่งชาติมาให้ข้อมูลรัฐมนตรีทั้งคณะเรื่องยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา จชต. โดยฉาย power point ประกอบ บรรยายปากเปล่าด้วยเสียงที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้มีข้อมูลเหนือกว่าคนฟัง (ดูออกไปทางหยิ่งทะนงสักหน่อย) แกวิเคราะห์เป็นฉาก ๆ แสดงภูมิรู้ว่าปัญหาไฟใต้รุนแรงอย่างไร  มีเหตุปัจจัยและปัญหาอุปสรรคอย่างไร ยุทธศาสตร์แก้ปัญหามีอะไรบ้าง ใช้เวลา 30 นาที เสร็จแล้วก็ออกไป   เหลือแต่พวกเราคุยกันต่อ รองนายกฯไพบูลย์ยกมือถามว่า “เมื่อมียุทธศาสตร์อย่างนี้แล้ว มีใครเป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ว่า?”
          ที่ประชุมคุยกันเรื่องไฟใต้ เป็นเวลานานจนเกือบ 11.00 น. นายกฯ และประธาน คมช. ดูเหมือนว่าจะแบกรับภารกิจดับไฟใต้อยู่ด้วยกัน ผมจึงแสดงความเห็นต่อที่ประชุม ครม. ว่า “1) เห็นด้วยว่า Political will ต้องชัดว่า ครม. ชุดเราจะแก้ปัญหาไฟใต้อย่างเต็มกำลัง มิได้ประวิงเวลาเพื่อรอรัฐบาลใหม่ 2) ต้องแก้ปัญหา การตายรายวัน และเอกภาพในการบริหารจัดการปัญหาไฟใต้ 3) ควรตั้ง รมต. เต็มเวลา 1 คน เพื่อทำหน้าที่ช่วยนายกฯ ช่วย ครม. ในการนี้ อาจจะเป็น รมช.กห.หรือ  รมต.สน.ก็ได้ 4) น่าจะตั้งองค์การมหาชนเพื่อช่วยเสริมการทำงานกับภาคประชาชนในการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชน จชต.
          ผมเสนอความคิดไปก็เหลือบมองสีหน้า ท่านนายกฯ ประธาน คมช. และ รมว.กห. ไปด้วย สีหน้า 2 คนแรกตั้งใจฟัง ส่วนคนที่ 3 มีสีหน้ายิ้มและพยักหน้า ส่วนที่ประชุมคนอื่น ๆ เงียบสนิท ทายความรู้สึกเอาว่าน่าจะอยู่ประมาณ เอาอีกแล้วขิงหนุ่มกล้าเสนอดีแท้!!” ความเห็นที่ผมเสนอนี้ปรากฎว่าวันรุ่งขึ้นมีคนขานรับ คนแรกคือ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ให้สัมภาษณ์ลง นสพ.วันรุ่งขึ้น ต่อมามี มท. 1 (อารีย์), มท.3 (พล.ต.ต.ธีราวุธ) และ พม.1 (ไพบูลย์)
          ประชุม ครม. วันนี้มีวาระมากเช่นเคย ผมอยู่ได้ถึงแค่บ่าย 2 โมงต้องรีบไปบรรยายที่สำนักงาน กพ. มีนักศึกษารุ่นพิเศษรออยู่ ทราบข่าวภายหลังว่า ครม. บัดนี้ยาวนานเป็นพิเศษ (ประวัติการณ์) เลิกประชุม 17.00 น. พอดี เรื่องของ พม. ที่สำคัญคือ ทุนการศึกษาเด็กยากจน 2 รุ่น 500,000 คน งบประมาณ 6,000 ล้านที่ค้างมาตั้งแต่รัฐบาลประชานิยม เดิมใช้เงินหวย 2 ตัว 3 ตัวมาให้ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล งดออกหวย 2 ตัว 3 ตัวจึงไม่มีเงินมาให้ทุน เด็กรุ่นหนึ่งที่เคยได้มาแล้ว 2 ปี เหลือปีที่ 3 จำนวน 230,000 คน และเด็กรุ่นสองที่รัฐบาลที่แล้วให้ พม. จัดกระบวนการคัดสรรมารอไว้อีก 260,000 คน เรื่องค้างเติ่งมา 7 เดือน   เข้า ครม. เที่ยวนี้รัฐบาลบอกหมดเงินแล้ว เป็นหน้าที่ พม./ศธ. ต้องช่วยกันชี้แจง ปชช. เอาเอง !
          อีกเรื่องคือ พ.ร.บ. กองทุนสวัสดิการสังคมฉบับแก้ไข ผ่านการเห็นชอบของ ครม.
          รีบออกห้องประชุม ครม. 14.00 น.เพื่อไปบรรยายข้าราชการพันธุ์ใหม่ของ กพ.
          ผู้สื่อข่าวดักหน้าดักหลัง ต้องขอตัวไปก่อน แต่ก็มิง่าย ให้ข่าวเล็กน้อยซึ่งกได้เรื่องเช่นเคย มีรายงานข่าวด่วน และ นสพ.วันต่อมาพอประปราย
          บรรยาย 2 ชั่วโมง ในหัวข้อ ผู้นำกับการดำเนินชีวิตแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ช่วงแรกใช้การเล่าเรื่องราวของผู้นำคุณธรรม 2 คน คือ พ่อเสม (ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว) และ อ.ประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ช่วงหลังเป็นการเล่าถึงแง่คิดส่วนตัว 8 ประการในฐานะคนทำงานสังคม  
1. สุขภาพพอเพียง
2. เศรษฐกิจพอเพียง
3. เรียนรู้-ฝึกฝนพอเพียง
4. มีเพื่อน-ชุมชนที่พอเพียง
5. อำนาจที่พอเหมาะ ศีลธรรมพอเพียง
6. ภาพพจน์ทางสังคมที่เหมาะสม
7. บทบาทและหน้าที่พอเพียง
8. ใคร่ครวญและพัฒนาตนเองอย่างพอเพียง
18.00 น. รมว.ไพบูลย์มาที่กระทรวง มีนัดทานข้าวกับทีมผู้บริหาร พม. พูดคุยหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ
20.00 น. ไปพบกับที่ประชุม workshop เครือข่ายองค์กรสาธารณประโยชน์จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ   รับฟังปัญหาเสียงสะท้อนให้กำลังใจและเชิญชวนร่วมทำงานพัฒนาเครือข่ายองค์กรสาธารณประโยชน์ ระดับจังหวัดและพัฒนาศูนย์การให้, ศูนย์รับบริจาคในวาระแห่งชาติร่วมกัน
 
 
 
13 มิ.ย.
ข่าวตั้งแต่เมื่อคืนมีเรื่องพาดพิงถึง รมช.พม. คือ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี อดีตที่ปรึกษา กอ.รมน. ออกมาพูดว่า “ควรมีรัฐมนตรี จชต.” ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อว่าเป็นผลกระเทือนจากการแสดงความเห็นของผมในที่ประชุมนอกรอบ “ครมช.” (ครม+คมช) เมื่อวานนี้
เมื่อวานนี้พลเอกไวพจน์   ศรีนวล ผอ.สน. ข่าวกรองแห่งชาติวิเคราะห์สถานการณ์ จชต. และเสนอยุทธศาสตร์ ดังนี้ :
          1.   6 เดือนข้างหน้า การดูแล ปชช. และทรัพย์สินทำได้จำกัด
          2.  พัฒนาการของสถานการณ์
2547-2548 : จากชุมนุมเดินขบวนต่อต้าน สู่การใช้อาวุธประจำกาย, ระเบิดแสวงเครื่อง
2549-2550 : ขยายพื้นที่วางระเบิด, วางระเบิดใหญ่, สร้างความหวาดกลัว Ò ชุมนุมใหญ่, แสดงสัญญลักษณ์การปลดปล่อย โจมตีหลายจุดพร้อมกัน, ซุ่มโจมตีÒ ถ้ามีการสนับสนุนจากภายนอกจะเกิด Suicide Bomb  และการจับตัวประกัน Ò การโจมตีแบบสอดประสาน
          3.  ปัญหาการจัดการของรัฐในสถานการณ์ไม่ปกติ
คมช. – ดูความมั่นคง, ทหาร
รัฐบาล – ดูการพัฒนาของกระทรวงต่าง ๆ  (ศอบต. – สถานการณ์ปกติ. กอ.รมน.4 – สถานการณ์ไม่ปกติ)
4. หลักนิยม – ต้องให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างทำอย่างกระจัดกระจาย
5. ข้อสังเกตเพิ่มเติม  
          สถานการณ์ Dynamic
          การซ้อนทับ (overlapping) ของยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี, นโยบายต่างประเทศ-ในต่างประเทศ
          ความขัดแย้ง/ภัยคุกคามมีหลายชั้นของปัญหา
    คำจำกัดความใหม่ของภัยคุกคาม/ความขัดแย้ง, ขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม, ความตั้งใจของฝ่ายตรงข้ามและจุดอ่อนฝ่ายเรา
          Political will 100%
6. เสนอยุทธศาสตร์พื้นฐานเป็นยุทธศาสตร์แยกส่วน
          ยุทธศาสตร์แยกส่วนในประเทศ – แยก ปชช. เป็น 2 กลุ่ม
1) กลุ่มก่อความรุนแรง
2) กลุ่ม ปชช.ส่วนใหญ่
          ยุทธศาสตร์แยกส่วนต่างประเทศ
7. กลุ่มผู้ก่อความรุนแรง
          ยุทธศาสตร์ป้องปรามเชิงรุก
ขั้น 1 จำกัดเสรีภาพการปฏิบัติการ (หน่วยมั่นคง)
ขั้น 2 ทำลายข่ายงาน (หน่วยมั่นคง) มาตรการทางกฎหมาย (สภาวะปกติ) (ยุติธรรม)
8. กลุ่ม ปชช. ส่วนใหญ่
          ยุทธศาสตร์สมานฉันท์
ขั้น 1 สร้างความเชื่อใจ – ไว้วางใจ Bottom up (หน่วยมั่นคง/พลเรือน)
ขั้น 2 ขจัดเงื่อนไขที่ Root Causes (สภาวะปกติ) (กระทรวง/พลเรือน)
                    เมื่อฟัง ผอ.สขช. บรรยาย และฟังที่ประชุมอภิปรายแล้ว ผมจึงเสนอความเห็น:
1. เห็นด้วยว่าต้องมี political will 100% – ไม่รอเวลาให้รัฐบาลใหม่
2. เห็นด้วยว่า “ควรให้ฝ่ายความมั่นคงเป็น Leader” (ทหาร)
3. ควรตั้ง รมต.เต็มเวลา ดูแลปัญหา จชต. – รมช.กห. หรือ รมต.สร. (แทน รมต.ประสิทธิ์ที่ลาออกไป) รมต.เต็มเวลาต้องแก้ความปลอดภัยรายวัน,สร้างเอกภาพ
ในการปฏิบัติการแก้ปัญหาในพื้นที่ และระดมทรัพยากรจาก ครม. และจากทั่วประเทศมาช่วย ทุกกระทรวงแปรกิจกรรม/โครงการ มาให้ รมต.พื้นที่ดูแลแทน
4. จัดตั้งหน่วยงานกึ่งราชการ (องค์การมหาชน)
08.30 น.ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง ไม่มีวาระจาก พม. ในคราวนี้
15.00 น. ประชุมกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (อดีต พคท.) ที่มาพบนายกที่ทำเนียบรัฐบาลประมาณ 20 คน, ท่านนายกฯ มอบงาน 2 รมต., รมต.พม. (พลเดช) และ รมต.มท. (พล.ต.ต.ธีราวุธ) ช่วยดูแลสานต่อ กลุ่มสหายเก่าสายนี้เป็นพวกคุณไพบูลย์ สมแก้ว, หลายคนรู้จักผมอย่างสนิทสนมทีเดียว
กระแสข่าว Mob ร้อนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ มีโหรท่านหนึ่ง (บวรศักดิ์   อุวรรณโณ) ทำนายไว้ว่า 16-17-18 มิ.ย. คือช่วงแตกหักถึงขั้นนองเลือด   ฝ่ายทหาร ตำรวจมีแผนรับมืออย่างเข้มข้น ฝ่าย Mob เองได้โหมสงครามข่าวสารอย่างเต็มที่ ผมพยายามติดต่อคุณวีระ มุกสิกพงษ์ แกนนำ PTV แต่ไม่สำเร็จ จึงฝากบอกผู้ติดตามว่า “ขอให้เรียนพี่วีระว่าหมอพลเดชโทรมา!”
ฝ่าย Mob พยายามออกข่าวว่า ทักษิณจะกลับมาเพื่อสู้คดี คตส. อายัดทรัพย์, พวกลิ่วล้อมกระเหี้ยนกระหือว่านายใหญ่จะกลับมาบัญชาศึก พล.อ.สนธิ และพลเอกสุรยุทธ์บอกว่ากลับมาได้เลย   แต่ว่าระวังความปลอดภัยยากนะ ส่วน อ.หมอประเวศออกมาเตือนว่า “ทักษิณเป็นคนพิเศษที่มีคนเกลียดชังมากและก็มีคนรักมาก ถ้ากลับเข้ามาจะถูกฆ่าตาย  เพราะทหารจะไม่เอาไว้แน่   ถ้ารักทักษิณอย่าดึงทักษิณมาเลย” ซึ่งได้ผลแฮะ   กระแสความพยายามที่จะเอานายใหญ่กลับมาหยุดซ่าลงโดยง่ายดาย
 
14 มิ.ย.
10.00 น. เตรียมสาระการประชุมชี้แจง กรรมาธิการ สนช. เรื่องสลากและคนพิการ
11.30 น. นัดสัมภาษณ์ นสพ.มติชน ตั้งใจว่าจะพูดเรื่องปัญหา/ยุทธศาสตร์แก้ปัญหา จชต. เป็นบทรายงานชิ้นใหญ่ แต่เมื่อพวกเขามาถึงจึงปรึกษาหารือว่า ความสนใจของผู้คนคงจะอยู่ที่ Mob เมืองกรุง ดังนั้น ขอให้ชะลอเรื่องสัมภาษณ์ จชต.ไปสัปดาห์หน้าดีกว่าไหม?
13.30 น. ประชุมคณะกรรมการเยาวชนแห่งชาติ ต้องทำหน้าที่เป็นประธานแทนรองนายกฯ มีปลัดกระทรวง ยธ., พม. ฯลฯ มาร่วมประชุมด้วย   มีประเด็นสำคัญหลายเรื่อง เช่น ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนวาระเพื่อเด็ก-เยาวชนของรัฐบาลในปี 2550, การประชุม AMMY,AMMY+3 ที่สิงคโปร์ และรายงานสภาวะการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2548-2549
17.00 น. ไปร่วมประชุมบอร์ดการเคหะแห่งชาติที่สำนักงานใหญ่ มีประเด็นสำคัญซึ่งคืบหน้าไปมากเป็นที่น่าพอใจ 2 ประการ
1. โครงการแฟลตดินแดง – รายงานผลของ 2 องค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรรมบอกว่า “ซ่อมได้” แต่ที่ประชุมบอร์ดมองในฐานะผู้ดูแล/เป็นเจ้าของแฟลตและแง่กฎหมาย โดยเอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง ได้ลงความเห็นว่า ต้องรื้อและสร้างใหม่ โดยขอให้เริ่มขบวนการเตรียมประชาชน-ชุมชน-สังคมได้ ณ บัดนี้
2. เรื่องโครงการบ้านเอื้ออาทร จากการสำรวจโดย 14 สถาบัน 278 โครงการ สามารถลดปริมาณบ้านที่จะต้องสร้างลงได้จาก 330,000 เหลือ 190,000 หน่วย โดยจะทำแผนเสนอต่อ ครม. ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า
เลิกการประชุม 22.00 น.
 
15 มิ.ย.
8.30 น. ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ มาปรึกษาเรื่อง CSR ซึ่งรายงานว่ามีความก้าวหน้าไปด้วยดี ผมจึงมอบเลขานุการ รมต.ไปช่วยกันจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติงานรองรับ โดยมีแผนจะให้เป็นจุดก่อตัวของ สนง.เพื่อรองรับ พ.ร.บ.ประชาสังคมไปด้วยเลย
9.30 น. ไปเสนอกฎหมายยุทธศาสตร์ของ พม. 3 ฉบับต่อที่ประชุมกลุ่ม สนช. ที่สนใจ รวมทั้งสื่อมวลชน มีรองประธาน สนช. พลเอกจรัล กุลละวาณิชย์ มาเปิดงาน
12.30 น. ประชุมคณะกรรมการประสานงานกฎหมายของรัฐบาล
13.30 น. ประชุมร่วมกรรมาธิการ สนช. เรื่องโควต้าการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลสำหรับคนตาบอด, คนพิการ อยากให้ พม.เข้าไปช่วยดูแลร่วมกับธนาคารออมสิน
18.00 น. คุยวางแผนกับทีมรองนายกฯไพบูลย์ ก่อนประชุมหาทางออก พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน
19.00 น. ประชุมทำความเข้าใจ สานเสวนาระหว่างผู้ต่อต้านและผู้สนับสนุน พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน มีผู้นำสมาคม อบต., อบจ. และสันนิบาตเทศบาล สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, หน่วยงานกระทรวงมหาดไทย 4 กรมหลัก (ปค.), สถ., พช., และสป) ซึ่งฝ่ายนี้ตั้งป้อมต่อต้านแข็งแกร่งมาก โชคดีที่เครือข่ายชุมชนผู้เรียกร้องกฎหมาย (สวท.) มีวุฒิภาวะ ไม่ยอมมีอารมณ์ตอบโต้ ทำให้ที่ประชุมไม่วิกฤติ แม้ว่าจะมีความเห็นทีแรงมากต่อกันและกัน
หลังประชุมผมคิดในใจว่า “มีแรงต้านมากกว่าที่คิดแฮะ!!”
 
16 มิ.ย.
ไปราชการ ศอ.บต. ที่ยะลาร่วมกับ รองนายกฯไพบูลย์จึงมีโอกาสพูดคุยตลอดทาง,   ประเด็นสำคัญคือควันหลงจากการประชุม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนเมื่อคืนนี้ ซึ่งเราสองคนเห็นตรงกันว่า “ภาคียังไม่มีความพร้อม   อาจต้องยอมให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกไปพลางก่อน”
ที่ ศอบต. คุณพะนาย สุวรรณรัตน์มาต้อนรับและคุยกันครึ่งวัน ทำให้พวกเรารู้สภาพปัญหาความรุนแรง (ทั้ง 2 ฝ่าย) มาก/ลึกขึ้น และได้ค้นพบข้อจำกัดเชิงการบริหารจัดการในการดับไฟใต้ จึงเตรียมแนวทางที่จะชงเรื่องเข้า ครม. ให้พิจารณาตั้ง คณะกรรมการพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เพื่อเป็นกลไกสร้างเอกภาพในงานด้านพัฒนา
ไปเยี่ยมคนเจ็บจากเหตุการณ์ จชต. 19 คนที่ โรงพยาบลยะลาได้เห็นสภาพที่น่าสมเพชเวทนา บางคนต้องเสียแขน-ขา-ลูกตา บางคนเสียญาติพี่น้องไปด้วยก็มี
 
17 มิ.ย.
ไปราชการที่ พิจิตร และออกรายการสดทาง สทท.11 ของคณะกรรมการธิการรับฟังความคิดเห็น รฐน. 50 ของ สสร. จัดที่พิษณุโลก
ที่พิจิตรไปดู “หมู่บ้านบึงสีไฟ” ที่ชาวชุมชนรวมตัวแก้ปัญหากันเองจากการเป็นชุมชนสลัม, บุกรุกคลองสาธารณะ, อยู่แบบตัวใครตัวมัน พัฒนามาเป็นชุมชนเข้มแข็ง-มีกลุ่มออมทรัพย์และมีโครงการออมทรัพย์เพื่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่
ผู้สื่อข่าวขอสัมภาษณ์ผมจาก จังหวัดพิจิตรเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน
ที่พิษณุโลก ออกรายการมองต่างมุมของ สสร. มี   อาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเป็นพิธีกร   มีคุณกล้าณรงค์ จันทิก, คุณสิวะ แสงมณี, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์, นพ.วรงค์ เดชวิกรม (อดีต สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์) และ รมช.พม. เวทีนี้ถ่ายทอดสด 2 ชั่วโมงเต็มทาง สทท. 11 มีประเด็นสำคัญ 5 เรื่อง ศตส.อายัดทรัพย์, พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน บรรยากาศออกรสชาดดีมาก
หลังออกทีวี ผู้สื่อข่าวช่อง 5 ยังตามมาขอสัมภาษณ์เรื่อง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนอีกยกหนึ่ง
เหตุการณ์ใน กทม. ที่ท้องสนามหลวงไม่วิกฤติอย่างที่คิด, มีฝนตกทำให้ผู้คนถอยไปมาก ดูท่าทาง Mob เริ่มอ่อนแรง เข้าใจได้ว่าน้ำเลี้ยงอาจเหือดแห้งลง
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
17 มิถุนายน 2550
 

Be the first to comment on "ตอนที่ 42 : “คตส.ออกฤทธิ์”"

Leave a comment

Your email address will not be published.