รอบสัปดาห์นี้มีเหตุการณ์บ้านเมืองที่ร้อนแรงหลายเรื่อง ฝ่ายรัฐบาลและกุมสถานการณ์ได้ดี ครองพื้นที่หน้าสื่อได้เกือบหมด รมช.พม.เปิดประเด็นรื้อแฟลตดินแดงจนเป็นเรื่องคุยกันสนั่นเมืองหัวข้อใหม่
สื่อทุกแขนงจับตาทำข่าวถี่ยิบ บอร์ด ทศท. ปลด ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ทุกตำแหน่ง พ.ร.บ.ประชาสังคม ผ่าน ครม. เครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายพลังทางสังคมเคลื่อนไหวสนับสนุน พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนต่อเนื่อง DSI ลงดาบคดี AC Asset เชื่อมโยงคดีซุกหุ้นภาคแรก นายใหญ่ ทรท.ถูกถล่มซ้ำด้วยคดีอาญาหลายคดีจนน่วม ท่อน้ำเลี้ยงเริ่มกระทบ Mob ทรท. อ่อนแรงลงไปมาก คมช. ยิ้มออกเพราะควบคุมสถานการณ์ได้เหนือกว่าแล้ว สมาคมสื่อ 3 องค์กรเปิดฉากขับเคลื่อน “ประชาธิปไตยมิติใหม่” เพื่อพาสังคมไทยก้าวให้พ้นสถานการณ์ “ไฟเมือง” ที่รุมเร้า คมช.และรัฐบาลมาตลอด 6 เดือน
18 มิ.ย.
ข่าวการส่งสัญญาณ “หยุดผลักดัน” (push) ร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนที่ รมช.พม.ให้สัมภาษณ์สดตรงจากจังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก เมื่อวันอาทิตย์ ถูกรายงานไปทั่วประเทศผ่านสื่อ TV, ข่าวด่วน, SMS และหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ตั้งแต่บ่ายจนค่ำ และปรากฎเป็นข่าวหน้า นสพ. ทุกฉบับในเช้าวันจันทร์ตามลำดับ ทำให้นักข่าวส่วนกลางจ้องขอสัมภาษณ์ผมต่อเพื่อเจาะลึกและขยายผล ผมยังคงต้องให้สัมภาษณ์วิทยุ, โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เช้า โดยตอกย้ำจุดยืนและท่าทีของ รมต.พม. 2 พี่น้องว่า
· พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน เป็นกฎหมายที่ดี มีประโยชน์ต่อการสร้างชุมชนเข้มแข็งในระดับเครือข่าย เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการเมืองภาคปฏิบัติ
· แต่เมื่อยังมีภาคีพันธมิตรของเราบางส่วนไม่สบายใจและวิตกกังวลต่อผลกระทบการทำงานของเขา พม.จะ “ชะลอ” การขับเคลื่อน พ.ร.บ.นี้ และขอให้เป็นภารกิจในอำนาจหน้าที่ของ ครม. และนายกรัฐมนตรีที่จะใช้ดุลยพินิจต่อไป
· การลาออกของรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นและไม่ควรถือเป็นอารมณ์ เพราะต้องช่วยกันประคับประคองให้ประเทศผ่านช่วงวิกฤตไปให้ได้ ไฟใต้ยังแรงจัด ไฟกรุงก็ร้อนรุม จึงไม่สมควรก่อไฟในรัฐบาลขึ้นมาอีก
· อย่างไรก็ตาม หากสังคมหรือ สนช.จะขับเคลื่อน พ.ร.บ.นี้ต่อไปอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่เกินกว่ากระทรวง พม. จะไปข้องเกี่ยวได้
สัญญาณที่ผมส่งออกไปอย่างชัดเจนเช่นนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับมากมายฝ่ายปกครองและ อปท. เริ่มออกมาพูดชมเชย ฝ่ายชุมชนรู้สึกเสียดาย สื่อมวลชน-นักวิชาการตัดพ้อว่า พม. ยอมแพ้, แท้ง, ถอย!! แต่ สนช. กลับเดินหน้าเสนอกฎหมายนี้โดยผ่านทางสภาในลักษณะ ยุทธศาสตร์ลาดดึง (pull strategy) อย่างไรก็ตาม ไม่มีเสียงออกมาในเชิง “ตำหนิ” หรือ discredit มาถึงตัว รมช.พม.เลย ทั้ง ๆ ที่บางฉบับยังกระแหนะกระแหนอาจารย์ไพบูลย์อยู่บ้างก็ตาม
มีข่าวใหญ่จากทาง DSI โดยผู้อำนวยการ (สุนัย) ออกมาแถลงเรื่องการตรวจสอบกรณี AC Asset ที่มีความเชื่อมโยงกับคดีซุกหุ้นภาคแรกซึ่งคุณทักษิณหลุดรอดไปได้ด้วยมติ ศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนโน้นแบบเฉียดฉิว คราวนี้มีหลักฐานมัดเชื่อมโยงกับการฟอกเงินที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น และการขายหุ้นชินคอร์ปด้วย และครั้งนี้เป็นเรื่องอาญาที่คุณทักษิณดูท่าจะดิ้นหลุดยาก และหนีไม่พ้นการเป็น “ผู้ต้องหา” เสียแล้ว การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระเสรีอยู่นอกประเทศทำท่าว่าจะไม่เหมือนเดิม
19 มิ.ย.
ก่อนเข้าประชุม ครม. ผมตั้งใจเดินผ่านหน้าตึก สลค. เพื่อพบกับผู้สื่อข่าว พวกน้องนักข่าวกรูกันมาเช่นเคย เริ่มต้นพวกเขายังคงถามเรื่อง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนซึ่งผมย้ำจุดยืนและท่าทีใหม่ตามที่ให้สัมภาษณ์ส่งสัญญาณไปทั้ง 2 วันที่ผ่านมา เมื่อเห็นว่าพอสมควรแล้ว ผมจึงเปิดประเด็นใหม่ “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไปเพราะพวกเขายังไม่มีความสำนึกในความผิดและแสดงความรับผิดชอบใด ๆ เลย ขอเตือนไปยังเพื่อนฝูงพี่น้อง ทรท. ว่าตั้งสติให้ดี ถ้าใครเสนอนิรโทษกรรมในสภาพสติแตกอย่างนี้ สังคมใหญ่จะไม่เห็นด้วย ถ้าตั้งสติให้ดี สำรวมคำพูดคำจา สังคมไทยให้อภัยกันง่ายมาก”
ได้เรื่องเช่นเคย ปรากฎวาทะ รมช.พม. เป็นข่าวด่วน, SMS ทันทีตั้งแต่ก่อนเที่ยงวัน และขยายมาสู่หนังสือพิมพ์อีก 4-5 ฉบับในวันรุ่งขึ้น น้อง ๆ ในกลุ่มไทยรักไทย เจอหน้าผมบอกว่า “พี่หมอไปแหย่รังแตนอีกแล้ว” ผมจึงบอกเขาไปว่า “แตนต่อยเสียมั่งก็ดี”
ประชุมนอกรอบ ครมช. วันนี้พูดคุยเรื่องไฟกรุงกันนิดหน่อย ดูท่าทางนายกฯ และประธาน คมช. สบายใจต่อสถานการณ์มากแล้ว มีแค่เพียงเร่งรัดการเตรียมการเดินหน้าสู่เลือกตั้ง (รวมทั้งการลงประชามติ รัฐธรรมนูญ) จากนั้น มาพูดคุยเรื่องไฟใต้ ท่าน รมว. มท. (อารีย์) แจ้งที่ประชุมว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นทุกวัน เช้านี้เองนายอำเภอเพิ่งถูกถล่มเสียชีวิต! ท่านอยากให้ ครม.มีการประชุมนัดพิเศษเรื่อง จชต.สักครั้ง ผมนึกในใจว่าจังหวะน่าจะเหมาะแล้วในการสัมภาษณ์มติชนในเรื่องนี้
ประชุม ครม. วันนี้มีวาระพิจารณาร่วม 40 วาระเช่นเคย ต้องพักกินข้าวกลางวันระหว่างกลาง เลิกประชุม 16.00 น.พอดี ก่อนประชุมบรรยากาศมึนตึงระหว่าง พม.-มท. คลี่คลายลงมากเพราะทันทีที่เห็นหน้า มท.1,2,3 ผมเข้าไปทักทายตามปกติ ทั้งสามท่านยิ้มแย้ม แจ่มใส หัวเราะต่อกระซิกแสดงถึงความพึงพอใจที่ พม. ยอมชะลอ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนอย่างที่เป็นข่าวต่อเนื่องมา 2 วันก่อน
ครม. วันนี้มีเรื่อง พม. 2 เรื่อง
1) การเคหะฯ ขออนุมัติกู้เงิน 9,000 ล้านเพื่อเป็นสภาพคล่องในการดำเนินงานบ้านเอื้ออาทร รองนายกโฆษิตติงว่าอยากเห็นภาพรวมในการจัดการปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทรเสียก่อนที่จะมาขออนุมัติกู้แบบนี้ ทำให้ กคช. ต้องถอยกลับไปอีกคำรบแต่ ครม. มอบให้ประสานกับ กระทรวงคลังโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนได้
2) ครม.ผ่านเป็นมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาโดยท่านนายกขอให้ พม.ประสานกับคณะที่ทำ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องไปในทิศทางเสริมกัน
ผมกลับถึงกระทรวงตอนเย็น พบดอนและอิสกันดาร์ (ทีมที่ปรึกษา จชต.) มาประชุมเรื่องโครงการ จชต.ของ พม. ได้รับรายงานว่าลงตัวแล้วในเรื่องคนทำงานและการบริหารจัดการ 1 กรกฎาทุกอย่างน่าจะเริ่มงานภาคสนามได้ นอกจากนั้นยังถือโอกาสถามข่าวคราวสถานการณ์ จชต. จากปากของอิสกันดาร์ จึงทราบเพิ่มเติมว่า
· การถล่มนายอำเภอเป็นการแก้แค้นของฝ่ายขบวนการต่อกรณีทหารไปประกบยิงกำนันกลางเมืองปัตตานี
· การแก้แค้นไปมาจะเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ต่อไปอาจเห็นพวกขบวนการกระโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์ไล่ยิงคนพุทธแบบฉับพลัน แบบไม่ต้องมีการวางแผน
· ฝ่ายขบวนการ ในส่วนการเมือง ยังคงเห็นด้วยต่อการขับเคลื่อนสันติวิธีของ รมช. พม. และคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา พวกเขาอยากให้มี พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน และ พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมฟื้นฟู จชต.
· อิสกันดาร์มีความเห็นว่า ถ้าจะกระตุกให้ฝ่ายขบวนการได้คิดและหันมาเจรจา ควรเสนอให้ อบจ.มารับผิดชอบดูแลโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั้งระบบกันเอาเอง โดยรัฐส่วนกลางลดบทบาทและการสนับสนุนลง
· ดอนเสนอว่าการมอบบทบาทและอำนาจหน้าที่จริง ๆ ให้แก่คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน สพฐ. โดยเฉพาะในด้านการจัดซื้อจัดจ้าง จะช่วยให้ชุมชนมีภาระผูกพันที่จะต้องดูแลป้องกันภัยให้แก่ครูและโรงเรียนได้
· ทั้ง 2 คนเห็นว่า การลดกำลังทหารหลักจากส่วนกลาง จะช่วยแก้ปัญหาได้และงานมวลชนไม่ควรให้ทหารทำอีกต่อไป
20 มิ.ย.
ร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองตั้งแต่ 8.30 น. ถึง 10.00 น. ต้องขอตัวรองนายกฯ ไปแสดงปาฐกถาให้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขที่โรงแรมเฟิร์สต์ ประตูน้ำ เรื่อง “ตามรอยเท้าพ่อ-พอดี พอเพียง ลดเสี่ยง ลดโรค”
หลังการบรรยาย ทีมผู้สื่อข่าวมารอดักสัมภาษณ์เรื่องบ้านเอื้ออาทรที่เข้า ครม. ขออนุมัติกู้เงิน 9,000 ล้านแต่ถูก ครม.ติง แต่เอาเข้าจริง ๆ พวกเขากลับเปิดประเด็น “บอร์ดการเคหะจะทุบแฟลตดินแดนแล้วใช่ไหม?” ผมจึงเริ่มเรียบเรียงความทรงจำ มาเป็นคำพูดเพื่อบอกว่าบอร์ด กคช.ประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีมติว่าอย่างไรบ้าง
· บอร์ดพิจารณาผลการศึกษาสภาพโครงสร้างอาคารของสถาบัน AIT และการให้ความเห็นเพิ่มเติมของสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ประกอบกับการคำนึงถึงมิติความปลอดภัยของประชาชนผู้อยู่อาศัย, กฎหมาย, ความรับผิดชอบ ของ กคช. หากมีอุบัติภัยขึ้น, มิติเศรษฐกิจ, มิติการเมือง, มิติคุณธรรม และจริยธรรม ฯลฯ รวมความแล้วเห็นว่าควรมีมติ “รื้อเพื่อสร้างใหม่ โดยดูแลความปลอดภัย, ผลกระทบและหลักประกันด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวแฟลตเป็นสำคัญ”
ได้เรื่องเลยครับ เพราะตลอดบ่ายถึงค่ำมืดดึกดื่นวันนั้น ผมถูกวิทยุ, หนังสือพิมพ์, โทรทัศน์สัมภาษณ์ถี่ยิบ สัมภาษณ์แต่ละครั้งคือการส่งสัญญาณนโยบาย ยิ่งตอกย้ำมั่นคงและมีเหตุผลประกอบที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ประชาชนชาวแฟลตที่เคยรวมตัวคัดค้านออกมามีปฏิกิริยาทันที
12.00-14.00 น. มีนัดต้อนรับ อ.ประเวศ วะสีที่มาเยี่ยมกระทรวง และร่วมทานข้าวกลางวัน 3 คน คือ อ.ประเวศ, อาจารย์ไพบูลย์ และผมที่ห้องทำงาน รมต.พม. ตึกวัง อ.ประเวศบ่นให้วณีฟังหลายครั้งว่าจะหาเวลามาเยี่ยมที่ทำงานพลเดชสักหน่อย ได้อ่านประวัติของวังสะพานขาวแล้วสนใจมาก ระหว่างกินข้าวได้คุยกันไปตามประสาครู-ศิษย์ถึงปัญหาบ้านเมือง อ.ประเวศปรารภบางประเด็นที่น่าสนใจว่า
· บางครั้งอุปสรรคที่ขัดขวางประชาธิปไตยไทยก็มีส่วนมาจากวัฒนธรรมและสถาบันชั้นสูง เช่น กรณี 6 ตุลา 19 หรือกรณีผู้นำสามัญชน ใครโดดเด่นขึ้นมาเป็นถูกทำลาย เช่น ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
· ในอนาคตสถาบันพระมหากษัตริย์จะลำบากมากขึ้นเพราะประชาธิปไตยของเราไม่แข็งแรงพอที่จะเป็นภูมิคุ้มกันได้ ท่านยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ (บทความของท่าน 2 ตอนหลังก็พูดถึง) ว่าสมเด็จพระราชินีไม่ต้องเป็นคนเก่ง บางครั้งเป็นคนไม่ดีเสียด้วย แต่สถาบันอยู่ได้เพราะระบบประชาธิปไตยของเขาเข้มแข็ง จึงสามารถมีนายกรัฐมนตรีเก่ง ๆ มาดูแลประเทศไปได้ ทางรอดของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยคือต้องเร่งส่งเสริมประชาธิปไตยฐานรากให้เข้มแข็ง มิเช่นนั้นทุนนิยมสามานย์ จะทำลายระบบกษัตริย์ลงแน่
· ท่านอยากจะเขียนชมเชย นายกฯ สุรยุทธในความนิ่งของท่านที่ช่วยคลี่คลายบ้านเมืองในช่วง 1-2 เดือนมานี้ลงได้อย่างดี อ.ไพบูลย์จึงออกปากเชียร์ว่า เขียนชมช่วงนี้น่าจะเหมาะที่สุด!
· อ.ประเวศให้กำลังใจ รมต. 2 พี่น้องว่า ทั้งไพบูลย์และพลเดชไม่ต้องกังวลว่าจะทำอะไรไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ เพราะสิ่งที่กำลังทำและพยายามอยู่นั้น ล้วนเป็นการสร้างบารมีสำหรับการทำงานสังคมในระยะยาว
14.00 น. ประชุมคณะกรรมการเตรียมจัดตั้งองค์การมหาชน APCD
16.00 น. มีนัดสัมภาษณ์ นสพ.มติชนเรื่องการเมืองนำการทหารดับไฟใต้ ประเด็นที่ผมให้สัมภาษณ์มีสาระหลัก ๆ ได้แก่
1) จุดยืนและหลักการในการสื่อสารกับสาธารณะของ รมช. พม.สำหรับเรื่องนี้
2) ปัจจัยสาเหตุไฟใต้ มีอะไรบ้าง
3) ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีการใช้ความรุนแรงที่ทั้ง 2 ฝ่ายใช้อยู่
4) ภาพอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
5) สมมติฐานที่อยากให้เป็น
6) ข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร
6.1) ต่อปัญหาการปรับยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีฝ่ายขบวนการ
6.2) ต่อปัญหาการดำเนินนโยบายความมั่นคงและการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐ
6.3) ต่อปัญหาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานี-สยาม
6.4) ต่อปัญหาผลกระทบจากกระบวนการฟื้นฟูอิสลามสากลและภูมิภาค
6.5) ต่อปัญหาความแตกร้าวระหว่างสังคมไทยกับชุมชนมุสลิม จชต.
ตอนเย็นจรดค่ำ/ดึก ยังคงต้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องแฟลตดินแดง
21 มิ.ย.
ตั้งแต่เช้ามือเข้ารายการสยามเช้านี้ ทาง TV 5 ของกลุ่ม Nation, สัมภาษณ์ TV11 และ สวท. เรื่อง พ.ร.บ.ประชาสังคม, บันทึกเทปรายการหน้าต่างสังคมเรื่อง พ.ร.บ.ประชาสังคม
ประเด็นแฟลตดินแดงกลายเป็น Talk of the Town ไปแล้วในชั่วข้ามคืน รายงานข่าว, สกู๊ป และคอลัมนิสต์ นสพ.เขียนถึง
13.00 น. ไปเป็นสักขีพยานพิธีลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและการเคหะแห่งชาติเรื่องการจัดหาสถานที่ให้ สพฐ. ก่อสร้างโรงเรียนในชุมชนบ้านเอื้ออาทรที่มีขนาดตั้งแต่ 5,000 ยูนิตขั้นไป มี รมว. วิจิตรร่วมเป็นประธานลงนาม บรรยากาศความร่วมมือดีมาก ทั้ง 2 ฝ่ายชื่นมื่น
หลังพิธีลงนาม ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์, วิทยุ, โทรทัศน์ตั้งกล้องรอที่ห้องรับแขกของ สพฐ. รมช.พม. และ ผว.กคช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ ผมยืนยันหลักการและชื่นชมความกล้าหาญของบอร์ด กคช. ที่กล้าตัดสินใจแม้รู้ว่าจะมีการต่อต้าน และยืนยันที่จะดูแลประชาชนชาวแฟลตทุกคนทุกครอบครัวให้ดีที่สุดโดยไม่มีใครถูกทอดทิ้ง ถือเป็นการส่งสัญญาณที่หนักแน่นมีเหตุผล ยึดหลักเมตตาธรรม มีจุดยืนเพื่อประชาชน และแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม
19.00 น. ไปงานศพคุณแม่ ผอ.พอช. (สมสุข บุญญบัญชา) ที่ฝั่งธนบุรี
22 มิ.ย.
เดินทางไปราชการที่ จังหวัดอุตรดิตถ์, แวะส่งคุณแม่ที่บ้านพิษณุโลก วณีไปร่วมในขบวน รมช.พม.ด้วย
ระหว่างรอการเดินทาง ที่บ้านพิษณุโลก ครูสน รูปสูง โทรเข้ามาบอกว่า “เห็นด้วยทุกอย่างที่ รมช.พม.ทำไปในเรื่องร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน, พวกเราชุมชนเข้าใจดี ขอให้กำลังใจเต็มที่ อย่าท้อถอยนะ” ผมจึงตอบไปอย่างคนที่รู้ใจกันว่า “อย่าได้ห่วง ผมในฐานะ รมต.ต้องหยุดรอดูท่าทีสถานการณ์ ไม่ใช่ว่าถอย ไม่ใช่การถอนร่าง พ.ร.บ. แต่เป็นการปรับจังหวะทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ช่วงนี้ขอให้พลังทางสังคมเคลื่อนไปโดยไม่ต้องมาข้องแวะกับ พม. เพราะ กระทรวงมหาดไทยเขาพยายามจะจับผิดว่า พม.อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว พวกเราต้องเข้าใจ และต้องแยกกันเดิน!!”
ออกจากพิษณุโลก 8.00 น. ไปอุตรดิตถ์ ที่อำเภอน้ำปาด ไปเปิด workshop ของคณะทำงานโครงการวิจัยบูรณาการกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับอำเภอซึ่ง มรภ.อุตรดิตถ์และ สสว.9 ร่วมกันทำอยู่ พวกเขาได้สำรวจกิจกรรมสวัสดิการเสร็จแล้วและกำลังจัดตั้งเป็นเครือข่ายระดับอำเภอ มี ดร.ฉัตรนภา เป็นหัวหน้าโครงการ ในเครือข่ายมีผู้นำสตรีคนหนึ่ง เป็นแกนนำกลุ่มน้ำดื่มและกลุ่มกระเทียมดอง เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งและมีผลงานดีเด่น
จากที่ประชุมซึ่งอยู่ในโรงเรียนประจำอำเภอ ออกมาที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง นายก อบต. พาไปเยี่ยมกิจกรรมกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้นำเป็นผู้ใหญ่บ้านสตรี หมู่บ้านนี้มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ฐานะยากจนแบบชนบททั่วไป เขาพา รมช.ไปดูบ้านที่สร้างให้คนชราอายุ 80 ชาวบ้านสงสารจึงร่วมกันสร้างบ้านให้ใหม่ สสร. ให้เงินอุดหนุน 10,000 ชาวบ้านช่วยกันบริจาคอีก 11,000 บาท ทำเป็นบ้านอิฐบล็อค มีห้องน้ำอยู่ในห้องนอน ภายในโล่งไม่มีกั้นห้อง บ้านแข็งแรงดี ชาวบ้านช่วยกันออกแรงงาน ถือเป็นการเคลื่อนไหว “ไม่ทอดทิ้งกันในระดับชุมชน” ที่มีพลังมาก
พักกินข้าวกลางวันที่เขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแล สถานที่ร่มเย็นมาก เขาทำสะพานแขวน สำหรับ ปชช.-นักท่องเที่ยวเดินเล่น-ออกกำลังกาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงชอบนั่งมองทิวทัศน์ที่ฝั่งตรงข้าม ผอ.เขื่อนและนักวิชาการอาวุโสมาต้อนรับและร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วย ท่านเล่าว่าทุกเดือนมีนักท่องเที่ยวประมาณ 15,000 คน มีผู้หลักผู้ใหญ่มาบ่อย ๆ สัปดาห์ที่แล้วเพิ่งต้อนรับ รมช.สธ. (หมอวัลลภ ไทยเหนือ) มาตีกอล์ฟ วณีแอบกระซิบให้ข้อมูลผมถึงเรื่องเกี่ยวพันที่พวก สสจ. พิษณุโลกเขาลือกันให้แซด
จากเขื่อน มุ่งหน้าไปที่ สสว.9 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณนิคมลำน้ำน่าน พบกับข้าราชการ พม./สสว. ทั้งหมด ฟังบรรยายสรุป และพูดให้กำลังใจและให้นโยบายตามธรรมเนียม
เสร็จแล้วเดินขึ้นเขาไปนิดหนึ่ง ถึงที่ประชุมซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม จังหวัดอุตรดิตถ์เตรียมต้อนรับอยู่ วิเนตร แก้วใหญ่, หัวหน้าสถานีอนามัย ซึ่งเป็นลูกศิษย์เก่าแก่มาต้อนรับ ทราบว่าเขาเป็นตัวแกนขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์สังคมของอุตรดิตถ์ด้วย คทง.ดีใจกันมาก ผู้นำชาวบ้านพูดกันว่า “เมื่อคืนยังเห็นอยู่ในจอทีวี วันนี้มาเห็นตัวเป็น ๆ แล้ว!”
ฟังพวกเขาแล้วจึงรู้สึกว่า พวกเขาได้ทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงกันระหว่างจังหวัดภาคเหนือล่างมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งที่ผม่อยู่พิษณุโลกแล้ว บัดนี้จึงได้โอกาสเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายภายใต้นโยบาย รมช.พม.
ไปเยี่ยมหมู่บ้านห้วยสัมพันธ์ อ.เมือง เพื่อเปิดป้ายธนาคารหมู่บ้าน มีผู้ว่าฯ ไปรอต้อนรับ ฟังผู้นำ (ประธานธนาคารหมู่บ้าน) บรรยายสรุปด้วย power point หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งขึ้นในปี 2498 ซึ่งเป็นปีที่ผมเกิดพอดี เป็นหมู่บ้านที่ปลอดยาเสพติด ปลอดอาชญากรรม มีการรวมตัวเข้มแข็ง ชาวบ้านสามัคคีกันดีมาก เป็นหมู่บ้านที่ สสว.9 ไปสนับสนุนส่งเสริมอยู่ด้วย
เดินทางต่อไปจังหวัดสุโขทัยเพื่อค้างคืนที่นั่น รองผู้ว่า (สมาน) และ หัวหน้า สนจ. (ประธาน สุรกิจบวร) รอต้อนรับ กินข้าวเย็นด้วยกัน พูดคุยกันสนุกสนานเพราะรู้จักกันมาก่อน ผู้ว่าติดภารกิจเข้าเฝ้าที่ กทม. ทางจังหวัดบอกว่าวันนี้เขาจัดตำรวจอารักขาที่โรงแรมไว้ 5 คน นี่เป็น protocol ของจังหวัด ขอ รมต.อย่าได้กังวลเพราะจังหวัดถือว่าเป็นหน้าที่ต้องต้อนรับและดูแล รมต.ทุกคนในฐานะตัวแทนรัฐบาลเสมอกัน
พักที่โรงแรมไพลิน สุโขทัย
23 มิ.ย.
ไปที่ อบต.วังไม้ขอน อ.ทุ่งเสลี่ยมพื้นที่ 47 ตร.กม. มี 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชากร 2,566 คน ผู้สูงอายุ 239 คน รับเบี้ยยังชีพ 193 คน (จากกรม 153, ที่เหลือได้จากรายได้ อบต.)
ไปดูบ้านคนจนที่ อบต.ชนะศึกสร้างให้ 2 แม่ลูก แม่อายุ 93 ลูกชายเป็นอัมพาตครึ่งท่อน พิการอายุ 60 ปี อยู่กัน 2 คน ในเพิงพักไม่มีข้างฝา อบต.ทำบ้านสีเหลืองเล็กกระทัดรัด ราคา 70,000 บาท (วัสดุ) สร้าง 7 วันโดยช่างและแรงงานอาสาสมัครชุมชน
ไปฟังบรรยายสรุปของ อบต.ชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยง 11 หมู่บ้านประชากร 8,300 คน ผู้สูงอายุ 1,081 คน ได้รับเบี้ยยังชีพ 270 คน อบต.ให้เพิ่มอีก 60 คน มีกลุ่มอาสาสมัครคนสูงอายุหลายสิบคน
รับประทานอาหารที่ อบต.ชนะศึกแล้วไปไหว้พระแล้วไปวัดตระพังทอง มีนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเก่ามาต้อนรับ กลุ่มผู้สูงอายุหลายร้อยคนรอต้อนรับ ที่วัดนี้ได้ทดลองทำบ้านพักผู้สูงอายุโดยวัดเป็นผู้ดูแล ทั้งจังหวัดทำ 9 แห่ง ที่นี่เข้มแข็งที่สุด ทางวัดให้อาคารเก่ามาปรับปรุง สวยงามมาก มีผู้สูงอายุอยู่ประจำ 10 คน มีเจ้าหน้าที่เต็มเวลาดูแล 1 คน วัดรับภาระทั้งหมด จึงให้แง่คิดแก่พวกเขาว่า
· รูปแบบดูแลผู้สูงอายุดีที่สุดคือครอบครัว รองลงไปคือชุมชน โดยชุมชนและทางเลือกสุดท้ายจึงเป็นการตั้งศูนย์ดูแลเฉพาะ เป็นรูปแบบที่มีภาระในเรื่องการจัดการและทรัพยากรมาก ต้องการมืออาชีพ ต้องมีงบประมาณมาอุดหนุนสม่ำเสมอ มั่นคง เพียงพอ ดังนั้นศูนย์ฯ ที่วัดตระพังทองนี้ต้องเร่งตั้งกองทุนฯ มาช่วยทางวัดโดยเร็ว
ก่อนกลับขึ้นเครื่องบิน ไปเปิดงาน workshop กรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัดที่วิทยาลัยเทคนิค บรรยายพิเศษให้แง่คิดสำหรับการทำงาน
ไปเปิดงานถนนเด็กเดิน ของโครงการ child watch ที่ริมฝั่งแม่น้ำยม ทั้งเด็กและคนสูงอายุดูเข้มแข็งดี
โดยสรุปแล้ว ภาพรวมจังหวัดสุโขทัยมีงานกลุ่มเด็ก-เยาวชน และงานผู้สูงอายุค่อนข้างเข้มแข็ง เด่นกว่าที่อื่น ๆ เท่าที่เห็นมา
24 มิ.ย.
วันรำลึกประชาธิปไตย เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นวันที่ Mob PTV (นปก.) ประกาศจะรวมพลนับแสนเพื่อโค่น คมช. แต่เอาเข้าจริง ๆ กลับแผ่ว
วันนี้ 3 สมาคมสื่อและสถาบันพระปกเกล้า ริเริ่มจัดเวทีตามข้อเสนอแนะของ อ.ประเวศ เขาเรียกเวที “คิดเพื่อประเทศไทย คิดไปข้างหน้า” ครั้งที่ 9 มีกระทรวง พม.อยู่เบื้องหลัง สนับสนุน งปม. และนโยบาย วันนี้มีทั้ง อ.ประเวศ นายกฯ สุรยุทธ รองนายกฯ ไพบูลย์ รมช.พลเดช และอาจารย์โคทม ฯลฯ มาร่วม
อ.ประเวศ บรรยายสรุปว่า :
1) ควรสร้างวิสัยทัศน์ร่วมที่มีพลัง เพื่อเป็นแรงฉุดให้สังคมไทยเคลื่อนจากอดีตและปัจจุบัน
2) ให้ระวังโรคไก่อยู่ในเข่งที่เอาแต่จิกตีกันร่ำไป ต้องร่วมใจบินออกจากกรอบที่คับแคบ
3) ต้องแก้ขัดแย้งด้วยการมีกติการ่วม สื่อสารถ่ายทอดหลักกติกาดังกล่าว ประชาชนเป็นคนดูบทบาทและพฤติกรรมคู่ขัดแย้งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4) ควรจับให้ได้ว่าสังคมที่ดีเกิดจากอะไร
(1) มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ (ทุกตำบล)
(2) สร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน (เศรษฐกิจ,สังคม,การเมือง)
(3) สร้างสังคมทางราบหรือประชาสังคมให้เต็มประเทศ
(4) ใช้ยุทธศาสตร์สื่อสารอย่างเต็มที่
(5) การเมืองสร้างสรรค์ทำทุกข้อข้างต้น โดยพรรคการเมืองที่มีการพัฒนาตนเองให้เป็นสถาบัน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
24 มิถุนายน 2550
Be the first to comment on "ตอนที่ 43 : ดีเอสไอลงดาบสอง"