ตอนที่ 45 : “หลีกวุ่นวาย ไปโอไฮโอ”

          รอบสัปดาห์นี้มีกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญ คือเรื่อง การเสนอ พรบ.งบประมาณ ปี 2551 เข้าสู่สภา ซึ่งรัฐมนตรีทั้งคณะต้องเข้าไปร่วมการประชุมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยพร้อมเพรียง 

วันรุ่งขึ้นหลังการประชุมดังกล่าว รมช.พม.ต้องเดินทางไป สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมประชุม International Workshop on Deliberative Democracy ที่เมือง Dayton , OHOI ซึ่งจัดโดยมูลนิธิ Kattening Foundation ทำให้มีช่วงเวลาหลบการเมืองร้อนๆไปต่างประเทศ 1 สัปดาห์เต็มทำให้ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ขาดช่วงไป จนมีคนถามถึง!

          2 ก.ค.
         ตอนเช้าก็ยังคงประชุม Workshop ผู้บริหารพม. ที่สวนสามพรานต่ออีกครึ่งวัน ที่ประชุมได้ข้อสรุปการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร พม.ทั้งกระทรวงได้โดยไม่ยากเย็นนัก บรรยากาศของทีมงานดูดีเป็นกันเอง สนุกสนาน และมีความหวัง ผมมอบหมายว่าอยากให้ทำรายละเอียดจนถึงขั้นสามารถ เสนอต่อคณะอนุกรรมการ กพ./กพร.ของกระทรวง และนำเข้าสู่ ครม. เพื่อแก้ไขกฏกระทรวงให้ได้ภายใน 2 เดือน ( 2 ก.ย 50 !!)
         14.00 น. ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบาย จชต. ของนายกรัฐมนตรีซึ่ง รมช.พม. อยู่ในฐานะที่ปรึกษา , มีเลขาธิการนายก (ลธน.) เป็นประธานและพล.ต.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจเป็นเลขานุการ การประชุมนัดแรกจัดขึ้นที่ สลน. ตึกไทยคู่ฟ้า เป็นการประชุมปฐมนิเทศ และตกลงวิธีทำงาน เสร้จแล้วตอนเย็นเคลื่อนย้ายไปคุยต่อที่ร้านอาหารสโมสรทัพบกเทเวศร์จนถึง
§     ในเรื่องเนื้อหาคงได้แก่การนำเสนอ Paper  ที่ทีม รมช.พม.เคย Brief นายกรมต.เพื่อให้ทีมได้ตามกันให้ทันเท่านั้น และที่ประชุมก็นัดอีกครั้งในวันที่ 12 ก.ค. ซึ่งวันดังกล่าวผมยังคงอยู่ที่ ต่างประเทศ
§    หลังประชุมเราประเมินกันว่า ตัวรองประธาน ยังคงมี คอนเซปต์การแก้ปัญหาที่เก่ามาก ต้องหาทางออกในการทำงานใหม่ๆเข้ามาเสริม เพราะการทำงานเพื่อป้อนแนวนโยบายสู่ท่านนายกฯคงไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว
         ข่าว พม. วันนี้ยังคงเป็นเรื่องแฟลตดินแดง เนื่องจากสื่อมวลชนกำลังสนใจว่าพรุ่งนี้ทั้ง รมว. และรมช.พม. ลงพื้นที่พบชาวแฟลตเป็นครั้งแรกจะเกิดอะไรขึ้น
3 ก.ค.
         06.30 น. TV สทท. 11 (คุณอดิศักดิ์ ศรีสม และคุณกรุณา บัวคำศรี) สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ เรื่องพรบ.ส่งเสริมกองทุนซากาด ซึ่งผ่านครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
                      06.45 น. สัมภาษณ์ UBC เรื่องแฟลตดินแดง
         08.30 น. ถ่ายรูปชุด ขรก. การเมืองเต็มยศ และสูทสากลเพื่อทำประวัติ รมต. และหนังสือประวัติศาสตร์ ครม. กว่าจะเสร็จเล่นเอาไม่ทันการประชุม ครมช.
         10.00 น. ประชุม ครม.ตามปกติ วันนี้เรื่องพิจารณาไม่มากมีเรื่องสำคัญคือ พรบ.ปฏิรูปตำรวจ ซึ่งถือว่าร้อนที่สุดสำหรับวันนี้ ไม่มีเรื่องของ พม. โดยตรงเลย การประชุมเลิกเร็วกว่าปกติ เดินออกจากตึก ครม. นักข่าวรุมมาหา ผมสารภาพตามตรงว่าวันนี้ไม่มีประเด็นอะไรจะเล่าให้ฟังเลย ทำเอาพวกนักข่าวผิดหวังไปตามๆกัน
                      15.30 น. องค์กรคนพิการสากลเข้าพบรมช.พม. ปรึกษาเรื่อง APCD
         17.00 น. ลงพื้นที่แฟลตดินแดง มี รมว.ไพบูลย์ไปถึงก่อนแล้ว ท่านกำลังเดินดูตึกและเยี่ยมชาวแฟลต บรรยากาศมี Mob คอยต้อนรับ มีการจัดตั้งคนมาต่อต้านคัดค้าน นักข่าวรออยู่เต็มไปหมด ผมปล่อยบทบาททั้งหมดให้ รมว.เป็น Actor หลัก ส่วนตัวเองเดินดูอาคารและสภาพทั่วไป
         ดูแล้วเท่าที่เห็นแบบผิวเผิน อาคารทรุดโทรมตามสภาพแต่ก็คงจะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นแบบฉับพลัน หากมีก็ถือว่าโชคร้ายสุดๆ ดังนั้นจึงเข้าใจว่าน่าจะมีเวลาให้เราได้ใช้กระบวนการพูดคุยกันระหว่าง กคช. และชาวแฟลตสำหรับทำความเข้าใจและสร้างความไว้วางใจกัน
         ผมได้พบกับคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่แฟลตดินแดงอีกครั้ง พร้อมกับพูดคุยกับชาวบ้าน ดูแล้วชาวบ้านคนที่คัดค้านมากที่สุด(รัชภูมิ เปาโรหิตย์) ก็มีท่าทีว่า หากรู้ชัดๆว่ามีความมั่นคงมั่นใจได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เราจากกันด้วยท่าทีที่ดี
         ได้พบกับคุณอภิชาติ หาลำเจียก สก.เขตดินแดง พรรคประชาธิปัตย์ แอบปนอยู่กับ Mob จัดตั้ง ไม่มีใครรู้ว่าเขากับผมเป็นเพื่อนร่วมทีมเซปักตะกร้อมหิดลมาก่อนระหว่างปี 2516 – 19 หลังจากสลายจากชุมชนแล้ว ผมตรงเข้าไปทักอภิชาติ เราคุยกันด้วยดี และให้เบอร์โทรศัพท์กันไว้ เขาน่าจะเป็นตัวช่วยของเราได้ในการแก้ปัญหาแฟลตดินแดงครั้งนี้ (ผมหวังว่าอย่างนั้น)
         สก.อภิชาติ เรียนที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหิดล เข้ามหาวิทยาลัยรุ่นเดียวกัน หลังสำเร็จการศึกษาร่วม 10 ปี ผมเห็นเขาเป็นดารา ภาพยนตร์และโทรทัศน์ แสดงบททั้งพระเอกและผู้ร้ายตามสไตล์ เป็นที่โด่งดังทีเดียว ช่วงหลังหันไปเป็นสมาชิก สภา กทม. ด้วย พบครั้งนี้ดูท่าทางแก่ไปเยอะ เข้าใจว่าสุขภาพไม่ดีนัก อภิชาติบอกผมว่าชาวบ้านที่มีรายชื่ออยากให้หาที่ใกล้ๆเพื่อสร้างตึก แล้วขนชาวแฟลตทั้งหมดไปอยู่พร้อมกันก่อนที่จะรื้อสร้างใหม่ ส่วนหนึ่งอยากได้ค่าชดเชย 3 -5 แสนบาท บางส่วนไม่ยอมอะไรเลยซึ่ง อภิชาติเคยบอกพวกไปว่า “อย่างนั้นก็ตัวใครตัวมัน”
         ระหว่างลงพื้นที่ มีผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ผมทางวิทยุหลายรายการ ขณะที่อ.ไพบูลย์ สัมภาษณ์ TV ที่ไปทำข่าวภาคสนามจากดินแดง
         19.40 น. สัมภาษณ์วิทยุ 96.5 รายการของคุณวิสุทธิ์ คมรัชรพงษ์ (อสมท.) คุยกันถึงเรื่อง “ประชาธิปไตยชุมชน” เกือบ 45 นาที เขาสนใจว่า 926 เวทีของ พม. ได้ผลเป็นอย่างไร
4 ก.ค
         9.30 น. ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเสนอ พรบ. งบประมาณปี 2551ต่อสภา รัฐบาลของบ 1.66ล้านบาท รมต.ทั้งคณะเข้าร่วมชี้แจงและฟังการประชุมตลอดวันตั้งแต่ 9.30 – 22.00 น. ได้รับคำชมเชยจากสมาชิก สนช.ว่าเป็นการให้เกียรติต่อสภา สนช.เป็นอย่างมาก
         เมื่อนายกฯเสนอหลักการ – เหตุผล ของ พรบ.งบประมาณ 2551 แล้ว สมาชิกก็เริ่มอภิปรายกัน ประธาน สนช.(คุณมีชัย)ตกลงกติกากับสมาชิกว่าจะอภิปรายได้คนละกี่นาที สุดท้ายได้คนละ 15 นาที
         การอภิปรายของ สนช. เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย น่าจะเป็นผลจากวาทกรรม “ เซลล์เดียวกัน” ที่สามารถสัมผัสได้
         13.00 น. ผมต้องออกจาก สนช. รีบไปออกรายการสดทาง TV 9 “บ่ายนี้มีคำตอบ” ของคุณวิศาล ดิลกวิลาศกุล เป็นรายการเรื่อง”ประชาธิไตยชุมชน” งานนี้ที่ปรึกษาเอื้อจิตเป็นผู้ ประสานจัดการ เพื่อสร้างกระแสความเคลื่อนไหวสังคม และความเข้าใจในกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของ รมช.พม. ผมย้ำ กรอบคิดสำคัญและรูปธรรมผลงาน
·เวทีประชาธิปไตยชุมชน เป็นเวทีประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปฏิรูปสังคม – ปฏิรูปการเมือง
·เป็นเวทีพูดคุยกันโดยไม่มีแบ่งขั้วแยกฝ่าย เพื่อหาประเด็นนโยบายความต้องการร่วมกันของท้องถิ่นและหาทางออกร่วมกัน
·เวทีจัดไป 60 % แล้ว พบว่าเรื่องที่ประชาชนห่วงใย มีแต่เรื่องวิถีชีวิตและการพัฒนาท้องถิ่น ไม่มีเรื่องการเมืองระดับชาติเลย แสดงให้เห็นได้ว่า “การเมืองระดับชาติที่แตกแยกกันนั้น เป็นเรื่องไร้สาระสำหรับคนในพื้นที่”
·เวทีประชาธิปไตยชุมชนที่จัดพบว่าช่วยให้เกิดความรักสามัคคีและสมานฉันท์ไปโดยปริยาย ซึ่งก็เป็นเป้าหมายทางอ้อมของกระทรวง พม.ในอันที่จะร่วม “ถอดสลักความรุนแรงในสังคมไทย” อีกทางหนึ่งตามที่แถลงไว้
         เสร็จจากออก TV รีบกลับมาที่สภา สนช. เจ้าหน้าที่รายงานว่า “ระหว่างที่รมช.พม.ไม่อยู่ในสภามี สนช.คนหนึ่งอภิปรายชมเชยงานกระทรวงพม. โดยเฉพาะระบุว่า รมช.พม. (คุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป) มีความกล้าหาญมากที่แสดงจุดยืนไม่สนับสนุน การออกหวยบนดิน” เล่นเอา เจ้าหน้าที่ พม. หน้าบานกันหมดเลย เพราะวันนี้ทั้งวัน รมช.พม.เป็นรัฐมนตรีคนเดียวที่ได้รับคำชมเชยกลางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
         รมต.ช่วยกันตอบข้อซักถาม แค่ 3 คน คือ รองนายกฯโฆษิต ,รมต.คลัง (ฉลองภพ )และรมต.คมนาคม(พล.ร.อ.ธีระ)
         การประชุมเลิก 22.00 น พอดี ผมอยู่จนสุดท้าย ทั้งๆที่พรุ่งนี้จะต้องเดินทางไป สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เช้ามืด
5 ก.ค.
         ออกจากบ้าน 04.00 น. เพื่อไปสนามบินสุวรรณภูมิ พี่เนาวรัตน์ (รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย) รออยู่ที่นั่นแล้ว วันนี้เดินทางไกลข้ามทวีป ข้าม Time Zone รวมเดินทางทั้งสิ้น 24 ชม.พอดี
         บนเครื่องบิน North West Airline (NWA OD27) ได้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทย มีข่าวพม.และรมช.เช่นเคย เดลินิวส์ หน้า 4 วันนี้ พูดถึงแฟลตดินแดงในทำนองเชี้ยร์ว่า ……” ขอเอาใจช่วยไพบูลย์ – พลเดช ที่กล้าหาญเผชิญปัญหาและไม่มีคำว่าเกียร์ว่าง !!” …….เล่นเอาเดินทางไป USA คราวนี้ด้วยความสบายใจยิ่งนัก เพราะว่าสื่อเริ่มเข้าใจและสนับสนุน พม.แล้ว ไม่ใช่เอาแต่ขายข่าว – เอาใจชาวบ้านท่าเดียวอย่างแต่ก่อน
         เดินทาง 3 ช่วง กรุงเทพฯ – นาริตะ , นาริตะ – เซนต์พอล Mineapolis , เซนต์พอลฯเดย์ตัน ถึงโรงแรมมาริออต เดย์ตัน เป็นเวลา 6 โมงเย็นพอดี เวลาที่นั่นเป็นวันที่ 5 ก.ค เวลา 19.00 น. ในขณะที่เมืองไทยเป็นวันที่ 6 ก.ค. เวลา 6.00 น. แล้ว ห่างกัน 13 ชม.
          โทรมาหาที่บ้าน,วณี บอกว่าเลื่อนตั๋วเดินทางกลับได้แล้ว ขอให้ไปติดต่อคุณOlmsted เพื่อจ่ายเงินค่าธรรมเนียมโดยด่วนผมตั้งใจกลับเมืองไทยก่อนกำหนดเพื่อร่วมงานรับปริญญาลูกสาวคนโต
6 ก.ค.
         วันนี้ว่างทั้งวันเพราะ program สัมมนาเริ่มเสาร์ (7 ก.ค.) – พฤหัส (12) เข้าใจว่าเป็นเพราะเราเป็นรุ่นปีที่ 2 (DDW2) เขาให้มาล่วงหน้า 1 วันเพื่อพักผ่อน
          2 คนพี่น้อง พากันยืมรถจักยานจากโรงแรมไปขี่เล่นในตัวเมือง Dayton ขี่ไปตามFootpath ทางสำหรับคนเดินเท้าด้วยความเข้าใจว่าเป็นที่ที่เขาให้ขี่จักรยานได้ พอไปถึงตัวเมือง ขี่เล่นไปตามถนนสายกลางเมือง จาก Square แห่งหนึ่ง ,จอดรถนั่งเล่นที่สวนสาธารณะเล็กๆ เพราะปวดชาที่แขนซ้ายมากจนทนไม่ไหว พอนั่งสักครู่ก็มีพนักงาน 2 คนเดินเข้ามาหาและนั่งคุยด้วย แกบอกว่า”ที่นี่เขาห้ามขี่จักยานบนฟุตบาธ ถ้าตำรวจจับจะถูกFine คนละ 125 – 150 USD ถ้าคุณมีเงินจ่ายก็ขี่ได้ครับ” ผมบอกไปว่า “อย่างนั้นหรือครับ เราไม่รู้ นี่ถ้าถูกปรับผมคงจนแบบ Suddenly เลยนะ
         รถจักยานของฝรั่งอานมันสูง ขาผมหยั่งไม่ถึง ขี่ลำบากมาก เวลาจอดรอสัญาณไฟจราจรต้องดึงตัวขึ้นๆลงๆ ทำให้ถูกกระแทก กลับไปถึงโรงแรมพบว่ามีรอยฟกช้ำ 3 – 4 แห่งที่ต้นขาและข้อเท้า เป็นรอยจารึกจาก Dayton
7 ก.ค
         เปิดประชุมวันแรก มีรถมารับจากโรงแรม พาไปถึงสำนักงานมูลนิธิ Kettening Foundation…. และเริ่มประชุมร่วมDDWI + DDW II
         การประชุมเดินไปตาม program ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นนัก อาจเป็นเพราะว่าผมและอาจารย์เนาวรัตน์ เคยผ่าน DDWI ทำให้เรามีโอกาสทบทวนฝึกฝนเทคนิค Deliberation ลึกซึ้งขึ้นถึงขั้นสามารถฝึกการModerator เวทีได้
         โทรศัพท์กลับบ้านทุกวันจึงรู้ ข่าวการเมืองไทยตลอดเวลา วณีบอกว่าเมื่อวานพบ อ.ประเวศ ในงานประชุมวิชาการประจำปีของสภาพัฒน์ฯ อาจารย์ถามว่า “รัฐมนตรีไปไหน ช่วงนี้ไม่เห็นออกข่าว” คุณโสภณ สุภาพงษ์ รี่เข้ามาหาวณี ฝากว่า “บอกคุณหมอพลเดชว่าให้พูดบ่อยๆช่วยรัฐบาลมีผลงานด้วย ให้ช่วยพูดเรื่องจชต.มากๆ”
         คนไทยอีก 2 คนที่ไปร่วม DDWI ในปีนี้ คือ คุณประวิทย์ (นักข่าวอาวุโสแห่ง Nation )และคุณกาญจนิยา (แห่ง Bangkok post ) ทั้งคู่กำลัง Activeและมีทักษะภาษาอังกฤษดีมาก หวังว่ากลับไปเมืองไทย พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญของข่ายประชาสังคมไทย
8 ก.ค.
         งานWorkshop เดินไปตามปกติ KF.มีความเชื่อและความมุ่งมั่นในเรื่อง Deliberative Democracy (DD) และเทคนิคกระบวนการ Namini Framing / Issue Book /Public Deliberation
         ผมแปล คำว่า Deliberative Democracy ของ KF ว่า “ประชาธิปไตยพ]เมือง”ซึ่งมีส่วนละม้ายกับสิ่งที่เรากำลังทำในเมืองไทย ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยชุมชน”อยู่มาก แต่ต่างกันที่ระดับชุมชนของเรากับของเขาต่างกันมาก ของเราเป็นชุมชนฐานล่าง แต่ของเขาเป็นประชาคมคนชั้นกลางมากกว่า แต่สิ่งที่ถือว่า เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของเขา คือ เทคนิคทางวิชาการในการสร้าง Issue Book เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบในเวทีระดมความคิดสาธารณะ
                      มูลนิธิ KF มี mission ในการวิจัยและพัฒนา DD โดยเผยแพร่ความรู้ และสร้างเครือข่ายไปทั่วโลก
         วิธีทำ Issue Book ของเขา เริ่มจาก การกำหนดประเด็นปัญหา(Naming) ซึ่งต้องใช้กระบวนการระดมความคิด กลุ่มสนทนาเจาะลึก สัมภาษณ์ฯลฯ มากขึ้นนำไปสู่การศึกษาข้อมูล แล้วกำหนดกรอบแนวทางแก้ปัญหา ที่เรียกว่า Framing โดยทั่วไปแนะนำให้สร้างChoices/ Approaches ไว้ 3 ทางเลือกที่มีความแตกต่างกันเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเข้าใจและคิดต่อยอดได้ง่ายขึ้น เมื่อได้   Approaches แล้วนำมาสู่การทำ Issue Book สำหรับใช้ในการประชุมเวที ซึ่งเป็นเอกสารที่กระชับ มีข้อมูลประกอบที่สำคัญครบถ้วน สาระไม่มากไม่น้อยเกินไป
         ในการจัดเวที เทคนิคกระบวนการนำประชุมต้องมีความละเอียด   KF จะสอนวิธีการโดยฝึกพวกเราให้มีประสบการณ์ ปีนี้เขาใช้ เรื่องEnergy Crisisเป็นโจทย์แบบฝึกหัด
         ตอนเย็นกลับถึงที่พัก มีโอกาสได้คุยกับประวิทย์ และ กาญจนิยา พวกเขาสนใจ DDWI มาก และคิดว่าได้ประโยชน์คุ้มค่า
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
8 กรกฎาคม 2550

Be the first to comment on "ตอนที่ 45 : “หลีกวุ่นวาย ไปโอไฮโอ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.