นอกจากงาน สัมมนาวิชาการปิดโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่(HPL) และ งานสัมมนาประจำปีโครงการเมืองน่าอยู่ (HC) ที่เลื่อนไปแล้ว ยังมีภารกิจที่ค้างอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ “การจัดงาน 30 ปี 6 ตุลาคม”
ซึ่งปีนี้เครือข่ายคนเดือนตุลามาขอให้ผมเป็นเลขานุการคณะกรรมการจัดงาน (แม่บ้านใหญ่) โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ (อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย) และ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ (เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เป็นประธานร่วมกัน
ผมพยายามปลอบใจทีมจัดงานว่า กว่าจะถึงวันงาน สถานการณ์รัฐประหารคงคลี่คลายแล้ว ดังนั้นที่เตรียมอะไรไว้ก็ขอให้เดินหน้าต่อไปก่อน
อย่างไรก็ตามกลุ่มเหล่านี้มีคุณค่าต่อประชาธิปไตยของประเทศ เพราะเป็นตัวกระตุ้นเตือนสังคมและกระตุก คปค.ว่าอย่ายึดอำนาจไว้นาน อย่าสืบทอดอำนาจนะ ประชาชนส่วนหนึ่งไม่ชื่นชมนักนะ! ทำให้ คปค.ต้องออกมายืนยันเป็นระยะว่า ภายใน 2 สัปดาห์จะออกรัฐธรรมนูญชั่วคราว และจะตั้งนายกรัฐมนตรีแน่นอน ระหว่างนี้ สังคมจึงอยู่ในภาวะต้องรอ รอดูว่า คปค.จะรักษาคำพูดหรือไม่
ที่ LDI ตั้งแต่เช้าวันจันทร์ (25 ก.ย.) ทีมแกนประสานงานภาคประชาสังคมตั้งวงวิเคราะห์สถานการณ์กันอย่างเกาะติด จู่ ๆ ก็มีโทรศัพท์จากคุณประพันธ์ คูณมี เลขาคนสนิทของ นต.ประสงค์ สุ่นศิริ (เจ้าของฉายา ซีไอเอ เมืองไทย) โทรมาหา และร้องขอให้ผมช่วยฟอร์มทีมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำการทบทวนนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ทรท. ทั้งระบบ
ประพันธ์สื่อสารมาว่า คปค. ซึ่งเขาและ นต.ประสงค์ เป็นส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนอยู่ข้างหลังนั้นต้องการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทบทวนนโยบายรากหญ้าของ ทรท. อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับที่เพิ่งจะตั้ง คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดต่อรัฐ) ที่มีคุณกล้าณรงค์ จันทิก, สัก กอแสงเรือง, แก้วสรร อติโพธิ, คุณหญิง จารุวรรณ เมนทกา ฯลฯ เป็นกรรมการ
ที่ประชุม LDI จึงตั้งโจทย์กันชัดเจนว่าจะมุ่งเปลี่ยนประชานิยมสู่สังคมสวัสดิการ โดยตั้งใจที่จะส่ง Concept paper และร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระไปให้ทันทีภายในวันศุกร์
26 ก.ย. ไปร่วมประชุมคณะกรรมการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) พอเดินเข้าที่ประชุมเท่านั้นก็พบกับสายตาทุกคู่ของคณะกรรมการจ้องมาที่ผม ทุกคนต่างรอซักถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองกันเช่นเคย วันนั้น อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการและเป็นอดีตประธานคณะกรรมการ วจส.ก็มาด้วย เราได้คุยกันในลักษณะที่ต่างคนต่างก็มีข้อมูลและมุมมองต่อเหตุการณ์ซึ่งแลกเปลี่ยนกันได้พอประมาณ เราก็มีเรื่องที่กำลังยกร่างเสนอ คปค. อาจารย์ไพบูลย์ไม่มีอะไรหลุดออกจากปาก แต่ว่า 3 วันให้หลัง ก็มีประกาศ คปค.แต่งตั้ง อ.ไพบูลย์เป็นประธานคณะกรรมการสร้างความสมานฉันท์ออกมาเสียแล้ว!
28 ก.ย. ที่ศูนย์คุณธรรม ผมได้ไป Defense โครงการของ LDI ที่ได้รับการร้องขอจาก ผอ.ศูนย์คุณธรรม คุณนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ให้ช่วยเสนอโครงการด้านพัฒนาคุณธรรมโดยมีเครือข่ายประชาสังคมและชุมชนของ LDI เป็นฐาน เพราะเขาอยากสนับสนุนและมีงบประมาณเหลือจ่ายมากพอ กรรมการและคณะทำงานที่ร่วมพิจารณาโครงการได้ขอให้ผมปรับเล็กน้อยเท่านั้น อย่างน้อยโครงการนี้น่าจะช่วยให้ทีมงาน LDI มีภารกิจและงบประมาณที่รองรับการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรมหลังจบโครงการ HPL เป็นที่แน่นอนแล้ว
30 ก.ย. ไปสอนหนังสือหลักสูตรปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มี รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์เป็นประธานหลักสูตร ดร.เอนก ร้องขอให้ผมไปช่วยบรรยายในหัวข้อ “จากวัฒนธรรมชุมชนสู่ประชานิยม” และให้เวลาบรรยายถึง 5 ชั่วโมงเต็ม
ดร.เอนก เป็น นศ.แพทย์รุ่นเดียวกัน เขาอยู่จุฬา ส่วนผมอยู่ศิริราช ปี 2519 เขาเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.) หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เข้าป่าไปอยู่ทางภาคใต้ ออกจากป่าแล้วไม่ยอมเรียนแพทย์ แต่หันไปเรียนทางเศรษฐศาสตร์ที่ USA จนจบปริญญาเอก และเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย John Hopkins อยู่พักใหญ่
ในช่วงที่กำลังต่อสู้กับระบอบทักษิณ ดร.เอนก ได้มาขอสัมภาษณ์ผมเพื่อทำวิจัยเรื่องประชานิยมให้กับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งภายหลังได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค ออกจำหน่ายแล้ว น่าอ่านมาก ในหลักสูตรนี้ ดร.เอนก ต้องการให้ผมขยายความให้นักศึกษาได้ฟังถึงความเป็นมาของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน จนกระทั่งถึงยุคที่นักการเมืองเอามาดัดแปลงเป็นนโยบายประชานิยม นักศึกษาที่เรียนล้วนเป็นผู้ใหญ่ เป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง เป็นนักธุรกิจ จำนวนประมาณ 30 คน
4) 2540 – ปัจจุบัน เป็นยุคเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน
ผมร่ายยาวมาจนกระทั่งถึงยุคทักษิณที่แปรรูปงานและแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนมาเป็นสินค้านโยบาย มาเป็นนโยบายประชานิยม โดยไม่ได้เอาแก่นสาระแนวคิดทฤษฎีของวัฒนธรรมชุมชนมาใช้ เอามาแต่เปลือกนอก แต่เอาไปขยายผลและขายดิบดีอย่างเทน้ำเทท่า
วันนั้น ระหว่างรอชั่วโมงสอน ผมได้มีโอกาสทานข้าวกลางวันกับอาจารย์ท่านอื่น ซึ่งก็เป็นอาจารย์พิเศษของหลักสูตรเช่นเดียวกัน ดร.นิพนธ์ พัวพงศ์ธร จาก TDRI และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ แห่งมติชน พวกเราประเมินสถานการณ์ คปค. หลังยึดอำนาจด้วยความเป็นห่วง ทั้ง 2 ท่าน ฟันธงว่าสุดท้าย คปค.จะล้มเหลวแบบ รสช.ปี 2534 ผมคุยกับ 2 ท่านในวันนั้นแล้ว รู้สึกหดหู่ท้อแท้อย่างบอกไม่ถูก กลับบ้านไม่อยากพูดคุยกับใครเลย แม้ลูกเมีย !
Be the first to comment on "ตอนที่ 5 “ควันหลง รัฐประหาร”"