ตอนที่ 54 สงบนิ่งรอเวลา

Table of Contents

ช่วงสัปดาห์นี้ รมช.พม. ยังคงใช้ความสงบนิ่งสลับการตระเวนต่างจังหวัดเพื่อรอกระบวนการทำงานของกลไกแก้ปัญหาและจังหวะการคลี่คลายตัวของสถานการณ์ทั้งด้านการเมือง การงาน และปัญหา Mob ที่ท้าทาย.

ซึ่งทุกด้านยังคงรุนแรง เกรี้ยวกราด และมีความเสี่ยง ในที่สุดจึงเริ่มคลี่คลายในช่วงท้าย กระทั่งพอมองได้บ้างแล้วว่าสัปดาห์หน้าจะเสนออะไรต่อสื่อมวลชนและสาธารณะ

2 กันยายน 2550

– เวลา 09.00 น. ไปเป็นประธานเปิดประชุมสัมมนาอาสาสมัครต่างประเทศที่เข้ามาช่วยงานพัฒนาสังคมฯ ในประเทศไทย และแสดงปาฐกถาพิเศษที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ พม.จัดประชุมสัมมนาเพื่อให้ความรู้และข้อมูลแก่อาสาสมัครต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุน อาสาสมัครพวกนี้เข้ามาทำงานโดยผ่านหน่วยงานเอกชน และต้องต่อ VISA ปีละครั้ง พม.ในฐานะหน่วยประสานสนับสนุนจึงจัด Workshop เช่นนี้ทุกปี

 

– ได้พบ ดร.พุทธจรัล และเพื่อเก่าเตรียมอุดม พญาไท รุ่น 33 ทั้ง 2 คนมาคุยด้วยเสนอว่าจะขอความร่วมมือจากรัฐบาล โดยผ่าน พม. ที่จะทำโครงการนำพาผู้ปฏิบัติสมาธิขั้นสูงจำนวน 1,000 คนจากอินเดีย ซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่านมะเหษโยคี เจ้าสำนัก Transcendental Meditation (TM) ที่มีการฝึกสอนเผยแพร่ไปทั่วโลกโดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มพวกนี้เชื่อทางพลังจิต เขาเชื่อว่าเมื่อผู้มีพลังจิตสูง, สงบ, เมื่อมาปฏิบัติการทำสมาธิร่วมกัน จะเกิดการทวีคูณพลังไปบันดาลให้โลกสงบได้ เขาบอกว่าขณะนี้พวกเขากำลังทำที่ USA จึงมีส่วนให้ USA สงบลงได้บ้างแล้ว และเขาอยากมาทำที่เมืองไทยเพื่อช่วยให้ จชต.สงบ !! พวกเขาไม่ขออะไรมากนอกจากให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกในเรื่อง VISA 1 ปีเท่านั้น สำหรับส่วนงบประมาณที่ระบุว่าใช้ 270 ล้านนั้นเขาหาทางอื่นได้ พูดแล้วก็มอบหนังสือถึงรองนายกฯ ไพบูลย์ 1 ฉบับเพื่อขอการสนับสนุน

 

– หลังเปิดงาน / ปาฐกถามี TV.7, 5 คอยสัมภาษณ์ แต่เรื่องที่สนใจกลับเป็นเรื่องอื่นพ่วงมาด้วยและไม่มีเรื่อง Mob

 

– เวลา 15.00 น. ไปเป็นประธานพิธีประกาศผลและมอบรางวัลประกวดวงดนตรีเยาวชนประชาธิปไตยของ สท. ที่โรงแรมชาลีนา พบคณะอาจารย์ที่เป็นกรรมการตัดสิน มีคุณธนิตย์ สีกลิ่นดีอยู่ด้วย และอาจารย์ทุกคนชอบโครงการนี้กันมาก

 

– การประกวดปีนี้เป็นปีแรกอาจกระชั้นชิดหน่อยมีวงดนตรี 124 วง แบ่งเวทีประกวด 4 ภาค แล้วมาตัดสินสุดท้ายที่ กทม.

– รางวัลชนะเลิศ 1) 100,000 บาท 2) 70,000 บาท 3) 50,000 บาท รางวัลชมเชย 30,000 บาท

– เด็กมีแววตาเป็นสุข และภาคภูมิใจ

– ผอ.สท.บอกว่าปีหน้าเตรียมโครงการไว้แล้ว จะทำตั้งแต่ต้นปี

 

3 กันยายน 2550

 

 

– ข่าวหนังสือพิมพ์เช้าวันจันทร์ 3 ฉบับ (มติชน, โพสท์ทูเดย์, เดลินิวส์) พาดหัวข่าวหน้าในว่า “ตัดพ้อหมอพลเดช”, “วอน รมช.พม.อย่าเล่นการเมือง”, “ละเลยช่วยเหลือชาวบ้านถูกไล่ที่” ฯลฯ เนื้อข่าวเป็นการรายงานเหตุการณ์และการอภิปรายกดดันที่ Mob สลัม 4 ภาคจัดขึ้นเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ ที่ข้างทำเนียบรัฐบาลโดยเชิญนักวิชาการ 2 – 3 คนมาร่วมเวทีอภิปรายวิพากษ์การแก้ปัญหาสลัมถูกไล่ที่ของรัฐบาล และผู้นำสลัม 4 ภาคก็ซัด รมช.พม. ตามระเบียบ ส่วนนักวิชาการไม่มีใครตำหนิแม้แต่น้อย แต่การพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ให้ความรู้สึกไปในทางที่ตำหนิ รมช. ตามสไตล์สื่อมวลชน

 

– ผมอ่านหนังสือพิมพ์รู้สึกเฉยชา เพราะมั่นใจว่าการแก้ปัญหารูปธรรมทั้ง 4 รายกำลังคืบหน้าไปด้วยดี ที่ผู้นำ Mob ทำคือการดิ้นรนเพื่อให้เป็นข่าวเท่านั้น สักพักศรัณย์(หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี)โทรมาเตือนว่า “ท่านอย่าไปรับ Mob เป็นอันขาด เพราะสันติบาลบอกว่าไม่มีใครให้น้ำหนัก Mob นี้เลย รวมทั้งสื่อมวลชน”

– เวลา 08.00 น. อ.ไพบูลย์ เชิญปรึกษาที่ห้องทำงาน มีสิน และ กฤษดา ร่วมด้วย หารือเรื่องปลัด พม. และ ตำแหน่งระดับ 10 พม.ที่ว่างลง เป็นการเตรียมข้อมูลไปคุยกับนายกฯ

ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.พม.นั้น – สภาองค์กรชุมชนจะหารือนอกรอบพรุ่งนี้

– กฎหมายอื่นๆ จะยืนยันตามเดิม

– เดินหน้ายุทธศาสตร์ดึง(Pull Strategy) จากฝาก สนช.

– เวลา 09.30 น. ไปเป็นประธาน / Keynote ในการ Workshop นานาชาติ ประเด็น “ผู้ชาย:พันธมิตรรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี” ที่ตึก UN จัดโดย UNIFEM ร่วมกับ พม.

– ดร.จีน ชันฮา (Jean Dcunha) ผู้แทน UNIFEM กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม 15 ประเทศ เจ้าหน้าที่ UNICEF ชาติเกาหลีกล่าววัตถุประสงค์ และ รมช. พม.กล่าว Keynote เสร็จแล้วไปแถลงข่าวร่วมกัน

– Speech ภาษาอังกฤษ เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ 4 หน้า ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเนื้อหาหลักเป็นการบอกว่าไทยมีความสนใจเรื่องความรุนแรงต่อสตรี และมุ่งมั่นที่จะขจัดความรุนแรงต่อสตรี เรามีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็กซึ่งเพิ่งออกและจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2550 นี้, เรามีเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรง “White Ribbon” ในเดือนพฤศจิกายนทุกปี และเราเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า “พันธมิตรสำคัญในการหยุดความรุนแรงต่อสตรี” นั้นคือ “ผู้ชาย”

– หลังแถลงข่าวมีสื่อมวลชนตามมาสัมภาษณ์ต่อ ช่อง 9 อสมท. และในประเด็นกฎหมายความรุนแรง ซึ่งมีคนสนใจกฎหมายนี้มากทีเดียว

 

– เวลา 13.30 น. ประชุมคณะกรรมการ สยช. ที่ทำเนียบ, รองนายกฯ ไพบูลย์ เข้ามาเป็นประธานเป็นช่วงๆ เพราะต้องวิ่งเข้า-ออกเจรจานายก / รมว.กระทรวงสังคมเรื่องตำแหน่ง C11 ที่ว่า, ผมต้องทำหน้าที่ดำเนินการประชุมแทน, เรื่องสำคัญคือ “การเสนอผลวิจัยพัฒนาตัวชี้วัดและเกณฑ์มาตรฐานเยาวชน ซึ่งคณะสังคมศาสตร์ มธ. เป็นผู้ดำเนินการ มีจำนวนตัวชี้วัดถึง 500 ตัว ที่ประชุมโดยเฉพาะ ดร.สายสุรี จุติกุล วิพากษ์แรงมาก…ในที่สุดผมต้องสรุปว่า

 

ให้แยกงานวิจัยจากการตัดสินใจเสนอนโยบายของ พม.

ร่วมงานวิจัยของคณะให้ปรับและส่งมอบ พม. / สท. ตาม TOR

สำหรับงานเสนอเข้า ครม. นั้นให้ ลข. ตั้งคณะทำงานเพื่อปรับให้เหมาะสมภายใน 2 เดือน

 

4 กันยายน 2550

 

– ก่อนเข้าประชุม ครม. กรมการขนส่งทางบกมาบริการทำบัตรใบขับขี่ระบบ Digital ให้ รมต.ทุกคน ใช้เวลาไม่นาน ถ่ายรูป เช็คข้อมูลบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านเสร็จภายใน 5-10 นาที ใบขับขี่เดิมของผมอายุ 20 ปีพอดี !

– ก่อนเข้าประชุมและหลัง ครม. วันนี้ รมช.พม. ไม่พบผู้สื่อข่าว เพราะตั้งใจจะสงบนิ่งในช่วงที่มีความกดดันหลายด้านถาโถมเข้ามา แต่ไม่วายที่จะมีนักข่าวเจ้าประจำใช้วิธีโทรเข้ามาขออนุญาตสัมภาษณ์โดยผ่านผู้ติดตาม (โอภาส)

– เวลา 09.30 น. นายกฯเริ่มประชุมอย่างไม่เป็นทางการก่อนในช่วงแรก ประชุมล่าช้า เพราะนายกฯ ต้องคุยกับ รมว.กระทรวงต่างๆ เป็นรายคนในเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการซี 11 เมื่อเริ่มประชุมนายกฯ บอกให้ใครที่มีประเด็นหารือนอกรอบให้หยิบขึ้นมา ทันทีนั้นเหมือนตกลงกับนายกฯ ไว้แล้ว อ.ไพบูลย์ เริ่มหารือเรื่อง (ร่าง) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนที่รัฐบาล ไปรับมาจากสภา และต้องตอบกลับภายใน 30 วัน หารือว่ารัฐบาลควรตอบอย่างไร ? โดยเสนอ (ร่าง) ที่ได้เตรียมไว้ให้พิจารณาประกอบ รมว.ไพบูลย์อธิบายรายละเอียดอย่างตั้งใจพร้อมเอกสารที่ทีมรองนายกทำไว้เอามาแจกด้วย ได้เรื่องทันทีเพราะพอพูดจบเท่านั้น และ รมต.มท. ทั้งทีมเริ่มเปิดฉากตอบโต้

 

1) รมต.ธีราวุฒิ (มท.3) : ไม่เห็นด้วย, อปท.ฟ้องว่าจะทำให้แตกแยก

 

2) รมต.บัญญัติ (มท.2) : แม้คุณมีชัยจะเป็นผู้ร่าง แต่ท่านก็บอกว่า “ท่านต้องมีหน้าที่ให้แนะนำทุกฝ่ายที่มาปรึกษา” จึงไม่มีน้ำหนัก !

3) รมต.สิทธิชัย (ICT) : รอให้รัฐบาลปกติพิจารณาดีกว่า

4) รองนายกฯโฆษิต : จำเป็นต้องเป็นกฎหมายไหม ? เป็นระเบียบสำนักนายกดีกว่าไหม ?

5) รมว.ยงยุทธ (วิทย์) : กฎหมายน่าจะสำคัญ ควรพิจารณาให้รอบคอบ

6) รมว.อภัย (แรงงาน) : ระวังความแตกแยก

7) รมต.วรากรณ์ (ศธ.2) : เป็น พ.ร.บ.ที่ดี สนับสนุนการมีส่วนร่วมประชาชน

 

 

8) รมว.อารีย์ / รมต.พลเดช (ยกมือพร้อมกัน) แต่นายกฯชิงตัดบทเสียก่อน โดยท่านสรุปว่า ”เนื่องจากมีวาระพิจารณามาก และผมต้องไปก่อนจบการประชุม จึงขอสรุปว่าให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายก”

 

9) รมว.ไพบูลย์ : ขอพูดอีกสักนิดว่า “ที่ รมช.มหาดไทยพูดนั้นแสดงว่าท่านไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้เลย เข้าใจผิดๆ ไปหมด !!”

– การประชุมทางการเริ่มได้เมื่อเวลา 11.00 น. นายกอยู่ถึง 12.00 น. ให้รองฯ โฆษิตดำเนินการประชุมแทน มีประเด็นสำคัญ ได้แก่

แผนพัฒนาการเมืองที่เสนอโดย รมต.ธีรภัทธ์

พ.ร.บ.สำนักงานสลาก (สนช.จะให้ย้ายกระทรวงมา พม.)

โครงการรื้อพระที่นั่ง 3,900 ล้าน !

แต่งตั้ง C11, C10 หลายกระทรวง (ตามฤดูกาล)

แต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 38 ตำแหน่ง (หลังประชามติ?)

– หลังประชุม ครม. ผมหลบลงชั้นใต้ดินแล้วขึ้นรถออกไปจากทำเนียบทันทีเพราะต้องการหลบนักข่าว แต่ยังให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จนครบเกือบทุกคนเช่นเคย

– เวลา 14.30 น. ไปประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูคนพิการที่บ้านราชวิถีจนถึงเย็น มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเตรียมกลไกโครงสร้างรองรับ พ.ร.บ.คนพิการที่ออกใหม่ การเสนองานวิจัยตัวชี้วัดและสร้างเกณฑ์มาตรฐานงานด้านคนพิการที่ สท. มอบให้ธรรมศาสตร์ดำเนินการ

– การประชุมกับคนพิการนั้นต้องใช้เวลาหน่อย เพราะบางคนหูหนวกบางคนตาบอด บางคนพิการแขน-ขา เจ้าหน้าที่ทำงานคนพิการต้องถูกฝึกให้อดทนเป็นพิเศษ และคนพิการเขามีการจัดตั้งเป็นองค์กร และเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีอิทธิพลสูง ยิ่งปัจจุบันมีตัวแทนคนพิการเข้าไปในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฯลฯ ยิ่งมีเสียงดัง แม้กฎหมายคนพิการที่ได้มาก็เป็นฝีมือของพวกเขา ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงมักเกรงใจผู้นำคนพิการอยู่เป็นทุน

 

5 กันยายน 2550

 

– เวลา 09.00 น. พบรองนายกและคณะทำงานเรื่อง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนว่าจะเดินอย่างไรต่อไป ผมเสนอว่าให้เร่งเสนอ (ร่าง) ระเบียบสำนักนายกและคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการให้ ครม.พิจารณาโดยทันทีเพื่อแสดงให้ ครม.และสาธารณชนเห็นว่า พม.มีความพร้อมและมิได้แข็งขืนกับการตัดสินใจของ ครม. แต่รองฯ ไพบูลย์ยังเห็นว่า “ไม่ต้องรีบ !!” ผมไม่ประสงค์จะขัดคอ จึงปล่อยตามท่าน

– เวลา 13.30 น. ร่วมประชุมในสภา (สนช.) พิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ 2551, ครม.ของเราไปฟังการประชุมโดยพร้อมเพรียง มีนายกฯเป็นหัวหน้าทีม การอภิปรายวาระ 2, 3 เป็นไปตามปกติ ไม่รุนแรงอย่างที่คิด ใช้เวลาถึงประมาณ 2 ทุ่มเศษก็เสร็จแล้ว

– เวลา 16.00 น. ดร.อนุชาติ พวงสำลี และคุณวิโรจน์ ชาวปากน้ำ มาพบที่กระทรวงเพื่อให้ข้อมูลเรื่องการแต่งตั้งรอง และ ผช.ผู้ว่าการ กคช. ซึ่งได้หารือเรื่องช่วยหาคนมาสมัครผู้ว่าการ กคช. คนใหม่อย่าง Serious ขอให้ช่วยกันเพราะคนนอกมีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน

– วันนี้ว่างทั้งวันเพราะเดิมมีโปรแกรมงานไปพิษณุโลกและจังหวัดโดยรอบ แต่ต้องยกเลิกเพราะต้องเข้าร่วมประชุม สนช. พิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณ

– อยู่ที่สำนักงานตึกวัง คุยกับคนโน้นทีคนนี้ที บ่ายกลับบ้านและออกกำลังกาย

– กลุ่มเครือข่ายแกนนำชุมชน กทม. มาเยี่ยมให้กำลังใจ

 

7 กันยายน 2550

 

– เวลา 11.00 น. ไปปรึกษาหารือ อ.ประเวศ ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้ข้อแนะนำและแง่คิดหลายประการ

 

1) สถานการณ์การเมืองอยู่ในภาวะ “ค้ำยันกัน” ระหว่างอำนาจทุนกับอำนาจเผด็จการ / ศักดินา…ในช่วงนี้เป็นโอกาสของการขยายกำลัง และบทบาทของพลังที่เป็นกลาง…พลังสังคม

 

2) อ.ประเวศชี้ว่า…ประเทศไทยผิดทิศทางมานาน เคยพัฒนาพลังอำนาจรัฐ/ราชการก็เป็นเผด็จการ, ไม่เห็นหัวประชาชน…ต่อมามุ่งพัฒนาธุรกิจ/เศรษฐกิจหวังจะทำให้ประชาชนดีขึ้น แต่ในที่สุดก็พบว่าไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริง…ที่ถูกต้องมุ่งพัฒนา/ลงทุนทางสังคมให้มากๆ แล้วเศรษฐกิจจะดี, การเมืองจะดีขึ้นเอง…อย่างที่ Robert Putnum วิจัยไว้

3) ต้องช่วยกันก่อตัว “กลุ่มพลังที่เป็นอิสระ” ที่ประกอบด้วยบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือ…คล้ายกับที่เราเคยทำมาแล้ว…

4) ไม่เห็นด้วยที่พลเดชจะไปเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนหลังหมดวาระรัฐมนตรี…แต่อยากให้ทำตาม ข้อ(3) อย่างเต็มที่

 

8 กันยายน 2550

 

– ไปขอนแก่นประชุมผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่มีความรู้ด้านการแพทย์พยาบาล และการแพทย์ทางเลือก (จีน-ไทย-ฝังเข็ม) ตั้งแต่ครั้งอยู่ป่า

– มีผู้เข้าร่วมประชุม 300 คน มากกว่าที่เชิญเกือบเท่าตัว ทุกคนมาอย่างมีความหวัง บางคนเรียนจบแพทย์แผนปัจจุบันจากจีน เวียดนาม มาด้วย แต่ประกอบโรคศิลป์ไม่ได้อย่างเปิดเผย แต่ละคนเคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในกองทัพปลดแอก (ทปท.) และ พคท.มาก่อน มีความคิดอ่านทางการเมืองระดับคุณภาพทั้งนั้น จิตใจรับใช้ประชาชนที่ถูกปลูกฝังจาก พคท. ยังคงเหนียวแน่นมั่นคง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่รัฐ/ราชการไม่ได้เห็นคุณค่าในทุนทางสังคม/ทุนทางปัญญาเหล่านี้ โดยปล่อยทิ้งให้เสียไปเฉยๆ ร่วม 30 ปี

– การประชุมวันนี้ได้ทำประวัติบุคคลไว้ครบหมด เพื่อประมวลจัดทำเป็นฐานข้อมูลเอาไว้ จะนำไปสู่การวางแผนและประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

– คนเหล่านี้พอจะแบ่งกลุ่มตามความรู้และบทบาทในทางการแพทย์เป็น 3 ระดับ

1) พวกจบแพทย์แผนปัจจุบัน (6-7 ปี)

2) พวกจบแพทย์ชั้น 2 / เสนารักษ์ (3-4 ปี)

3) พวกฝึกแพทย์สนาม (สั้นยาวตามความต้องการของสงคราม)

– คนพวกนี้มีความรู้เรื่อง “การฝังเข็ม” เป็นพื้นฐานทุกคน และปฏิบัติงานได้อย่างช่ำชอง จึงเป็นผู้ที่พึ่งพาได้ของชาวบ้านในระแวกนั้น เพราะ “การฝังเข็ม” ดังกล่าวชาวบ้านหาบริการจากโรงพยาบาล/สถานีอนามัยไม่ได้

– พวก 1) และ 2) มีประสบการณ์ในศัลยกรรมสงคราม พวกเขามีความมั่นใจว่าเขาทำได้ และพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลเป็นอาสาสมัครใน 3 จชต. ด้วย !! ซึ่งน่าสนใจมาก

 

– เวลา 15.30 น. เสร็จการประชุมออกไปดูนิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ ที่นั่น ผอ.นิคมมีความสนใจเรื่อง “สบู่ดำ” อย่างมาก เขาทดลองปลูก/คัดเลือกพันธุ์สบู่ดำ แล้วนำมาแปรรูปเป็น “น้ำมัน” สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้อย่างดี, ทำปุ๋ย และกำลังจะทำโรงไฟฟ้าชั่งมวลจากกากสบู่ดำต่อไป

 

– เดินทางจากขอนแก่นถึง อ.พิมาย เพื่อค้างคืนที่นั่น พบครูชบ และครูมุกดา สมาชิกสนช.ฝ่ายชุมชน ทั้ง 2 คนมาเป็นวิทยากรร่วมกันในงานมหกรรมสวัสดิการชุมชนในโครงการบูรณาการสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นระดับอำเภอของกระทรวง พม.

– ฟังทั้ง 2 สนช. พูดถึง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนแล้ว ผมยิ่งมั่นใจว่า สนช. จะไม่ยอมถอยแน่ เขาบอกว่าวันที่ 19 กันยายน นี้จะเข้าเสนอวาระ 1

 

– ตลอดช่วงสัปดาห์นี้ รมช.พม.พยายามสงบนิ่งและไม่ปรากฎตัวเป็นข่าวเพื่อลดแรงเสียดทานจาก Mob สลัม 4 ภาค และเพื่อรอดูความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้ผล สิ่งที่ปรากฎชัดขึ้นแล้วได้แก่

 

1) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน นายกฯตัดสินใจเอาแค่ “เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี”

2) การแก้ปัญหาสลัม 4 ภาค คืบหน้าไปอย่างน่าพอใจ 3 ชุมชน เหลืออีก 1 ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดคิดได้อยู่แล้ว

3) สถานการณ์การเมือง 2 ขั้วชัดเจนยิ่งขึ้น และพลังอิสระคงถึงเวลาแสดงบทบาท

4) งาน พม.ก้าวหน้าไปด้วยดีเช่นเคย ยุทธศาสตร์สื่อและงานมหกรรมพร้อมที่จะ Rebranding แล้ว

– ค้างคืนที่โรงแรมพิมายอินทร์

 

9 กันยายน 2550

 

– เวลา 09.00 น. เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมสวัสดิการชุมชนอำเภอพิมาย โคราช ”การบูรณาการสวัสดิการชุมชน ของโคร เพื่อใคร อย่างไร” จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งรับผิดชอบโครงการวิจัยบูรณาการระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับอำเภอของ พม.

– งานมหกรรมมีกลุ่มผู้นำชุมชน อบต. และเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชน ประมาณ 600-700 คน มาร่วมงาน มีร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนมากมาย ดูคึกคักตามสมควร

– งานบรรยายทางวิชาการมี ครูชบ ยอดแก้ว และครูมุกดา อินต๊ะสาร ร่วมถ่ายทอดบทเรียนจากภาคใต้และภาคเหนือ รมช.พม.ทำหน้าที่สังเคราะห์เพิ่มเติมและให้นโยบาย/กำลังใจ

– ก่อนกลับ กทม. ได้ไปดูกลุ่มจักสานเฟอร์นิเจอร์หวายของผู้สตรีท่านหนึ่ง แกเก่งมาก มีสมาชิกมากมาย ทุกคนมีรายได้เสริมกันถ้วนหน้า ดูจากแววตาแล้วถือเป็นกลุ่มที่มีสุขภาวะพอสมควรทีเดียว

– แวะไปดูนิคมสร้างตนเองพิมาย ผอ.นิคมพาไปดูชุมชนที่เข้ามาอยู่ใหม่ในโครงการจัดที่ทำกินให้คนจนที่ขึ้นทะเบียน ศตจ. ประมาณ 500 ครอบครัว ปลูกผัก พริก เลี้ยงปลาดุก ฯลฯ ผลผลิตกำลังงาม ดูเขามีความหวังและพึงพอใจดีทีเดียว

– กลับถึงบ้านประมาณ 1 ทุ่ม

 

10 กันยายน 2550

 

– ไปยโสธร ลงเครื่อง TG ที่อุบลราชธานี วันนี้มีหลายงานที่ต้องไปร่วม ที่ยโสธร อำนาจเจริญ และกลับมาขึ้นเครื่องที่อุบลราชธานี 6 โมงเย็น

 

– ที่ยโสธรเป็นการลงนาม MOU ระหว่าง อบต. 42 แห่ง เทศบาล 2 แห่ง กับ พมจ. คณะทำงานยุทธศาสตร์สังคม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และ รมต.พม. เป็นสักขีพยานในการร่วมกันทำสวัสดิการท้องถิ่น ดูแลคนยากลำบาก

 

– ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ วีระวิทย์ และนายอำเภอบุญธรรม เป็นทีมงานมหาดไทยที่เคยทำงานด้วยกันในเรื่องยาเสพติด และความยากจนมาก่อนจึงเหมือนมาพบเพื่อนเก่า

– นพ.สสจ.สุรพร ลอยหา และ ผอ.โรงพยาบาลยโสธรมาร่วมรับประทานอาหารกลางวัน

– เวลา 13.00 น. ไปดูงานและเยี่ยมโรงพยาบาลตำบลตามโครงการเดือนละ 2 บาทของป๋าโรเบิร์ต(ชื่อเล่น) ที่ อบต.ศรีฐาน พวกเขาทำเข้มแข็งมาก

เข้าไปดูงานโรงพยาบาลตำบล, ชาวบ้านจ่ายเข้ากองทุนเดือนละ 2 บาท (ปีละ 24 บาท) ปีแรกมีทุน 700,000 บาท ปรับปรุงอาคารสถานีอนามัยเสียกว้างขวางใหญ่โต, เจ้าหน้าที่อนามัยมี 4 คน เขาจ้างพยาบาลเพิ่มเป็นลูกจ้างกองทุนอีก 7 คน รวม 11 คน เป็นตัวอย่างที่ดีมากที่ชุมชนจ้างพยาบาลจัดบริการประชาชนเอง โรงพยาบาลและ สสจ.สนับสนุนเข้มแข็ง มีกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลร่วมกับ สปสช.ด้วย

– เดินทางต่อไปอำนาจเจริญพบ ผวจ.ปริญญา ปานทอง รอง ผวจ. และเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัดกว่า 500 คน เต็มห้องประชุมทีเดียว ปาฐกถาให้นโยบายพอหอมปากหอมคอ

– ไปร่วมกิจกรรมที่ลานพระเวสสันดร วัดป่าสาขาหลวงปู่ชา พวกชาวบ้านกำลังทำโครงการของบประมาณ 25 ล้านบาทจากกรมอุทยานเพื่อพัฒนาลานพระเวสสันดรให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และค่ายธรรมชาติ ชาวบ้านที่นั่นเป็นญาติพี่น้องของคุณปัญโญ คณะทำงาน รมช.พม.ด้วย เขาเตรียมชาวบ้านใหญ่โตมาก เข้าใจว่าจะอาศัยบารมี รมช.พม.เพื่อหนุนส่งโครงการดังกล่าว

– กลับถึง กทม. 2 ทุ่มกว่า พรุ่งนี้ต้องเตรียมงานใหญ่ใน ครม. เพราะรองฯ ไพบูลย์ แจ้งมาว่าจะนำเรื่องกฎหมาย 10 ฉบับเข้าหารือใน ครม.

Be the first to comment on "ตอนที่ 54 สงบนิ่งรอเวลา"

Leave a comment

Your email address will not be published.