ตอนที่ 6 “การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิด”

           เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยเรื่องหนักๆ เช่นเคย บ่าย 15.30 น. มีนัด อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาค (ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ) เพื่อให้ข้อมูลประกอบการยกร่างกฎหมายดับไฟใต้ (พ.ร.บ.สันติสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และความต้องการของกลุ่มประชาคมมุสลิม จชต.

          ในบรรดาทีมงานจากส่วนกลางที่ลงไปคลุกคลีกับปัญหา จชต. ในภาคพลเรือนก็คงมีแค่ทีมเรา (LDI-ศพต.) และทีมยุติธรรมชุมชนของ อ.ชาญเชาวน์ นี่แหละที่ทำงานอย่างกัดติด
          เราตกลงกันว่าจะร่วมขับเคลื่อน พ.ร.บ.สันติสมานฉันท์ด้วยกันโดยทีม ชาญเชาวน์จะยกร่าง พ.ร.บ.   ส่วนทีมของเราจะจัดเวทีและรวบรวม 100,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย

วันนี้เราตกลงใจกันว่า จะเดินหน้าต่อไป แม้จะมีรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญเดิมไปแล้วก็ตาม

          3-4 ตุลาคม ทีม LDI ไปช่วยจัดกระบวนการประชุมภาคีรณรงค์ลดอุบัติเหตุจราจร ที่ สสส. และกรมบรรเทาสาธารณภัยร่วมกันทำโครงการอยู่
          งานลดอุบัติเหตุจราจรเป็นงานที่ผมเคยสนใจและลงมือทำอย่างได้ผลมาแล้วที่พิษณุโลก ประมาณปี 2536 ในช่วงนั้นเราใช้มาตรการตรวจจับความเร็ว และตั้งด่านตรวจปัสสาวะหา “ยาม้า” (Amphetamine) ตอนนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ยาบ้า” แบบวันนี้
          จากนั้นก็ร้างมือไปเสียนาน จนกระทั่งมาทำงานที่ LDI และ สสส. ได้ทาบทามให้ช่วยประสานเครือข่ายประชาสังคม 15 จังหวัดเพื่อนำร่องกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับมูลนิธิรามาธิบดี และมูลนิธิเมาไม่ขับที่มี รศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาลเป็นผู้อำนวยการโครงการ
          เมื่อต้องกลับมาสัมผัสอีกครั้งจึงใช้เวลาไม่นานก็สามารถฟื้นคืนความรู้และแนวคิดใหม่ ๆ ได้ไม่ยาก
          ทีมงาน LDI จึงมีโอกาสเชื่อมโยงกับเครือข่ายใหม่ รวมทั้งเปิดโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ อีกด้วย
          ระหว่างสัปดาห์การติดต่อประสานงานกับประพันธ์ คูณมี ในเรื่องคณะกรรมการอิสระเพื่อทบทวนนโยบายประชานิยม  ขณะนั้นเป็นระยะที่ด้านของ คปค.เองก็มีปัญหาสะดุดเมื่อประกาศตั้ง คตส.ไปแล้วบังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยสื่อมวลชนมากมาย จนในที่สุดต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลอีกครั้งจึงลงตัว
          นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การประกาศตั้งคณะกรรมการอิสระชุดของเราต้องชะงักไปด้วย
          วันต่อมา คปค.ได้ประกาศตัวนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 หวยออก ที่พลเอก สุรยุทธ์   จุลานนท์ พร้อมกันนั้นคปค.ได้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 242 คน และเปลี่ยนตัวเองจาก คปค.มาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แทน
          เป็นอันว่าเรื่องตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทบทวนนโยบายประชานิยมเป็นอันว่าน่าจะยุติไป โดยรอให้เป็นภารกิจของรัฐบาลชุดใหม่ แทนที่ คปค.จะเป็นผู้ตั้งเสียเอง
          ระหว่างสัปดาห์นี้ ข่าวหนังสือพิมพ์โฟกัสไปที่นายกรัฐมนตรีและรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ละท่านที่ถูกเผยรายชื่อออกมาล้วนมีภาพพจน์ดี เสียงวิพากษ์ทางลบจากสื่อมวลชนมีไม่มากนัก
          หนึ่งในชื่อเหล่านั้นคือ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ถูกวางตัวในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกระทรวงเล็ก ๆ แต่มีขอบเขตงานที่กว้างขวางมากทีเดียว
          5 ต.ค. บันทึกเทปโทรทัศน์ itv ในรายการของคุณจอม เพชรประดับ ว่าด้วยเรื่องการจัดงานรำลึก 30 ปี 6 ตุลาคม ซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้
          การบันทึกเทปทำที่บริเวณกำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)   หลังบันทึกเสร็จ ฝนตกลงขนานใหญ่พอดี
          6 ตุลาคม งานเริ่มตั้งแต่ 05.00 น. มีพิธีอ่านบทกวีและกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่บริเวณลานโพธิ์ แล้วตามประทีปเดินเรียงกันเป็นแถวจากลานโพธิ์ ผ่านสนามฟุตบอลที่เป็นสถานที่ที่พวกเราถูกกวาดต้อนลงจากตึกบัญชี แล้วมานอนตากแดด ถอดเสื้อจนหลังไหม้เกรียม ทั้งผู้หญิง-ผู้ชาย เมื่อ 30 ปีก่อน
          เวียนเทียนครบ 3 รอบแล้ว เข้าสู่บริเวณลานประวัติศาสตร์เพื่อทำพิธีตักบาตรทำบุญตามประเพณี
          งานวันนั้นจัดได้ดีมาก มีพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์ ตลอดจนการปาฐกถาของ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งและสันติวิธี ซึ่งสามารถเรียกน้ำตาของผู้คนได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง
          ดูงานวันนี้แล้วในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานรู้สึกหายเหนื่อย และคิดว่าคุ้มค่าใช้จ่ายและแรงกายแรงใจที่เตรียมงานกันมาหลายเดือน
          ก่อนวันงานผมได้ประสาน คปค.เพื่อขออนุญาต ติดขัดบ้างเล็กน้อยแต่ก็ตัดสินใจเดินหน้า   สุดท้ายงานก็ราบรื่น ฝ่ายคปค.ไม่ได้มายุ่มย่ามอันใดเลยแม้แต่น้อย
          7 ตุลาคม เดินทางไปลำปาง เพื่อสอนหนังสือหลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง   วิชา “ยุทธศาสตร์การพัฒนา” ทีมงานอาจารย์อรรณพ วงศ์วิชัย มาต้อนรับจากสนามบินเชียงใหม่
          นอกจากสอนเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาแล้ว วันนั้นยังได้หยิบประเด็นไฟใต้ขั้นมาเป็นตัวอย่างแบบฝึกหัด
          ตบท้ายด้วยเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองที่ทุกคนอยากรู้ อยากถาม อยากคุย ทั้งอาจารย์และนักศึกษามาร่วมวงเสวนากันเสียเต็มอิ่มไปเลย
          วันนั้นเอง มีโทรศัพท์จากอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมได้ออกปากร้องขอให้ผมเข้าไปช่วยงานเนื่องจากท่านได้รับปากนายกสุรยุทธ์ไปแล้วว่าจะมาช่วยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
          อาจารย์ไพบูลย์ นัดหมายคุยกัน 3 คนพี่น้อง (ไพบูลย์ เอนก พลเดช) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ท โรงแรมที่เพิ่งจะซบเซา เงียบเหงา อันเป็นผลกระทบจากการย้ายสนามบินเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
          เมื่อคืนนี้ตกลงกันว่า เรา 3 คนพี่น้องจะเข้าไปช่วยกันบริหารกระทรวง พม. โดยรับตำแหน่งทางการเมือง ในตำแหน่งรัฐมนตรี, ที่ปรึกษา และเลขานุการรัฐมนตรี ตามลำดับ
          ผมติดขัดที่ยังไม่อยากลาออกจากตำแหน่งราชการ จึงใช้วิธีขอยืมตัวจากกระทรวงสาธารณสุขมาช่วยราชการที่พม.ไปก่อน
          เรา 3 คนพี่น้องเหมือนคนบ้านนอกเข้ากรุง ไม่รู้เลยว่าเป็นนักการเมืองต้องทำอะไรบ้าง แม้แต่วันแรกจะเดินเข้ากระทรวง ก่อนแยกจากกันในคืนนั้น พี่ไพบูลย์หันมาถามผมว่า “เราจะแต่งตัวอย่างไรดี!?”  และ “ต้องทำอะไรมั่ง”.!!
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
8 ตุลาคม 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 6 “การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิด”"

Leave a comment

Your email address will not be published.