1 ธันวาคม 2550
ต้นสัปดาห์ไปทะเลลงเกาะดูปัญหาชาวเล(มอแกน) ปลายสัปดาห์ขึ้นเขา เปิดงานรวมใจไทยภูเขา ระหว่างกลางมีกิจกรรมนานาชาติ และงานสีสันบันเทิง บทบาทรมช.พม.เคลื่อนจากหน้านสพ.section การเมือง และปัญหาสังคม
มาสู่หน้าบันเทิงเป็นครั้งแรก ด้วยโครงการละครทีวีเรื่องยาวที่ ทมยันตีเป็นผู้ประพันธ์ บริษัทกันตนาผลิต พม.ให้การสนับสนุน และจะออกอากาศทาง TITV ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า การแถลงข่าวเปิดตัว ใช้สถานที่สยามสมาคม ถนนสุขุมวิท สื่อมวลชนทุกฉบับและ TV ทุกช่องไปทำข่าวด้วยความสนใจ
25 พ.ย.
– ไป จ.ระนอง โดยนั่ง เครื่องบินไปลงที่สุราษฎร์ธานี พมจ.ระนองและคณะมารับ จากสนามบินเดินทางไประนอง ลงเรือที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง เดินทางไปยังเกาะเหลา
– ที่เกาะเหลามีชาวมอแกนอยู่ประมาณ 40 ครัวเรือน, เป็นกลุ่มที่ไปจับปลิงทะเลในเขตเกาะนิโคบาร์ของอินเดีย และถูกทางการอินเดียจับตัวไว้ 19 คน, 1 ในนั้นเป็นอัมพาตจากโรคน้ำหนีบ กระทรวงพม.และกต.ไปช่วยพาตัวกลับมาแล้ว ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่รพ.นพรัตน์ราชธานี คราวนี้ผมมาเยี่ยมบ้านของเขาตามที่รับปากไว้ เพื่อดูปัญหาทั้งหมดในภาพรวมและตั้งใจจะหาทางแก้ไขให้เป็นรูปธรรมในสมัยรัฐบาลชุดนี้
– ปัญหาของพวกเขาคือ
1)ไม่มีบัตรประชาชน ทั้งๆที่เป็นคนที่เกิดที่นี่ และอยู่กันเป็นชุมชนมาร่วม 100 ปี เพราะเป็นพวกเร่ร่อนในท้องทะเล(มีคนเคยให้สมญาว่ายิปซีแห่งท้องทะเลกว้าง) ไม่มีบัตรประชาชนและเลขประจำตัว 13 หลัก ไม่มีสัญชาติ เฉพาะเกาะนี้ 100กว่าคน เมื่อรวมที่เกาะอื่นๆ ในทะเลอันดามันทั้งหมดมีประมาณ 5,000 คน
สำหรับปัญหาสัญชาติใกล้จะยุติแล้ว เพราะ NGOร่วมกับมท.ทำบัญชีรายชื่อ ได้ครบถ้วนตรงกันหมดแล้ว จึงอยู่ในวิสัยที่จะเร่งการออกบัตรเท่านั้น
2)ที่อยู่อาศัย พวกเขาอยู่เป็นหมู่บ้านประมง บ้านพักไม่แข็งแรงถาวร สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม สุขอนามัยแย่ ยากจน มีปัญหานายทุนเจ้าของเอกสารสิทธิ์ 1 แปลงติดหมู่บ้าน ไม่รู้ว่าได้เอกสารสิทธิ์ด้วยวิธีไหน ไม่มีหลักเขตที่แน่นอน และออกข่าวจะไล่ชาวบ้านออกไปให้พ้นบริเวณที่เขาจะทำท่าจอดเรือ
– ทางออกมีเพียงแค่ “ปักหลักเขต” ให้ชัดเจน ชาวบ้านจะไม่ไปยุ่งกับที่ดินของเขา
– ส่วนที่ตั้งหมู่บ้านนั้น ต้องใช้วิธีเจรจา “กรมเจ้าท่า” เพื่อขออนุญาตให้ชาวบ้านอยู่ โดยไม่ขอกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ในแนวทางนี้ชาวบ้านต้องทำตามเงื่อนไขของทางราชการบางประการ
3)อาชีพประมงของชาวมอแกนถูกเบียดเบียนจากเรืออวนรุนอวนลาก เพราะพวกนี้จะกวาดเอาเครื่องมือประมงพื้นบ้าน(ลอบ,ไซ) ของชาวบ้านไปหมด ชาวเลหากินไม่ได้เหมือนแต่ก่อน เขต 3000 เมตรจากฝั่งที่ราชการประกาศไม่มีผลบังคับเพราะเรือพวกนี้ไม่ปฏิบัติตามกม. ทางการดูแลไม่ทั่วถึง ชาวบ้านป้องกันได้ยากมาก
– ทางแก้ อาจใช้วิธีขยายเขตห้ามประมงอวนรุนอวนลากให้ไกลอออกไปเป็นการเผื่อไว้ เช่น 3 ไมล์ทะเล เป็นต้น
4)ปัญหาขาดน้ำดื่มและไฟฟ้า เนื่องจากไม่มีสัญชาติ ไม่มีทะเบียน หมู่บ้านจึงไม่มีโอกาสที่จะได้สาธารณูปโภคเหล่านี้
– ทางแก้ เจาะบ่อบาดาลน้ำจะช่วยเรื่องน้ำได้ แต่ภาครัฐที่จะมาช่วยมักมีขั้นตอนยุ่งยาก น่าจะใช้วิธีจ้างเอกชนไปช่วยก่อนได้ ส่วนไฟฟ้าคงต้องอาศัยแบตเตอรี่และเครื่องปั่นไฟตามช่วงเวลา
5)ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย พอช.กำลังเข้าไปช่วยอยู่แล้วในโครงการซ่อมแซมบ้านพักให้มีความมั่นคง
6)พวกเขาอยากได้การช่วยเหลือในลักษณะ “กองทุนเพื่อการพัฒนา” มากกว่าที่จะนำสิ่งของสำเร็จรูปไปให้ เพราะส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องความต้องการ
– เรื่องนี้พม.อาจช่วยคิดหาวิธีการได้ (พส.)
– คุยกับชาวบ้านเสียเพลิน เวลาก็สั้นมาก ขากลับต้องรีบมาขึ้นเครื่องบิน Air Asia ที่ระนอง ซึ่งเขาเพิ่งเปิดตัวเที่ยวปฐมฤกษ์เมื่อวันก่อน เจ้ากรรมเรือที่ไปส่ง ดันเครื่องยนต์เสีย 1 เครื่องในตอนขากลับ จึงวิ่งด้วยเครื่องเดียว ใช้เวลาร่วมชั่วโมง ทั้งๆที่ขามาใช้เวลา 20 นาทีเท่านั้น เจ้าของเรือต้องสั่งวิทยุให้เรือใหญ่ออกมารับช่วง แต่สุดท้ายก็ไม่ทันเวลาเครื่องบินอยู่ดี แม้ว่ารองผวจ.ระนองจะช่วยต่อรองเครื่องบินให้รอ แต่เขาถ่วงเวลาได้แค่ 5 นาทีเท่านั้น ในขณะที่พวกเราเราสายไปตั้ง 15 นาที ผู้โดยสารอื่นจะเดือดร้อนมาก
สุดท้ายเมื่อตกเครื่องบินจริงๆ จึงตัดสินใจนั่งรถตู้ของพมจ.มาส่งถึงกรุงเทพฯราวตี 3 วันรุ่งขึ้นมีงานที่ UN–ESCAP เสียด้วย ไม่มีเวลาเตรียมสปีชเลย
26 พ.ย.
– 8.00น.หมอยงยุทธมาปรึกษางานเรื่องสถาบันครอบครัว และขอร้องให้ช่วยเหลือกรณีของคุณวีระ มานะคงตรีชีพ นักการเงินการธนาคารเจ้าของบลง.SITCA ที่ถูกมรสุมวิกฤติเศรษฐกิจ2540
– 9.00น. ไปร่วมเปิดประชุม “Committee of Emerging Social Issues” ที่สำนักงานสหประชาชาติ UN-ESCAP รมช.พม.ได้รับเกียรติให้กล่าว “Inaugural Speech” ก่อนนำเข้าสู่การประชุม เจ้าหน้าที่เตรียม Speech ให้ 7 หน้ากระดาษ ( 17 Paragraph) เล่นเอาเหนื่อย
– 11.30น. ไปออกรายการหมายเหตุประเทศไทย ที่ TV 11 ประเด็นงานคนพิการในโอกาสวันคนพิการสากล มีโทรศัพท์จากผู้ชมเข้ามาในรายการให้ความสนใจพอประมาณ
– 15.00น. ประชุมกลุ่มนักวิจัยLDI ระดมความคิดประยุกต์สูตรคำนวณ Composite Index เพื่อใช้ในงาน Healthy City ที่ทำอยู่ โดยศึกษาจากของ CHSI ของพม. วณี/อุไรรัตน์ รับไปศึกษาต่อ
– 17.00น. ไปร่วมเปิดงาน GNH3 ที่จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย มี VIP จากภูฏาน 2 ท่านคือ นายกคนปัจจุบัน และอดีตนายกคนก่อนมาร่วมงานด้วย, ส่วน VIP ไทย มี นายกสุรยุทธ์, รองนายกไพบูลย์, รมช.พม. และ อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์
– มีกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม 2 ชาติ และนายกทั้ง 2 ประเทศกล่าว Speech เปิดงาน บรรยากาศโดยรวมดีทีเดียว
– หลังพิธีแล้ว รองไพบูลย์เป็นเจ้าภาพเลี้ยงต้อนรับคณะของ2 นายกภูฏานที่ร้านอาหารเกาหลี โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส ที่พวกเขาพักอยู่
– ภูฏานมีประชากร 672,000 คน เท่านั้น มีกษัตริย์, นับถือศาสนาพุทธ(มหายาน), กำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือน มีค.51, มี 2 พรรคการเมืองแข่งกัน แต่เขาบอกว่าเป็นการแข่งกันแบบเพื่อน!! เขาเป็นประเทศเล็ก กำลังก้าว step by step อย่างระมัดระวังยิ่ง
27 พ.ย.
– 7.00น. ไปส่งนายกรมต.ภูฏาน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รองปลัดพม.(กานดา) ไปรอท่าอยู่ก่อนแล้ว มีโอกาสได้คุยงานกระทรวงไปด้วยระหว่างรอนายกภูฏานมาพร้อมกับหมออุกฤษณ์ พักรอก่อนขึ้นเครื่องสัก 10 นาทีก็ได้เวลา
– 9.00น. ประชุมครม.ตามปกติ มีเรื่องหารือนอกรอบที่นายกขอให้ใส่เสื้อเหลืองตลอดสัปดาห์ 1-5 ธค., รมต.ยงยุทธ ยกประเด็นการสนับสนุนขององค์กรต่างประเทศว่าที่นายกทักษิณได้เคยให้นโยบาย/ประกาศว่าไม่รับการสนับสนุนจากต่างประเทศทำให้ NGO ไทยลำบากเกินเหตุ จะยกเลิกดีไหม? ในที่สุดที่ประชุมก็เข้าใจสถานการณ์ช่วงนั้นว่า NGO ไทยในขณะนั้นต้านรัฐบาลอยู่มาก จึงเกิดปฏิกิริยาจากนายกทักษิณ ส่วนรัฐบาลชุดของเราคงไม่จำเป็นต้องไปมีมติอะไรเป็นการเฉพาะ
– วาระพิจารณาวันนี้มีมากและเคลื่อนไปได้ช้า ไม่มีเรื่องของพม.โดยตรง ที่ประชุมพักทานข้าวเที่ยงแล้วประชุมต่อ ท่านนายกบอกว่าบ่าย 3 โมงท่านต้องออกไปก่อน แต่ผมบอกไปก่อนท่านตั้งแต่บ่าย 2 โมงครึ่ง เพราะมีนัดประชุมระหว่างหน่วยงานหลายกระทรวง
– 14.30น. กรมพส.ประสานงาน กรมราชทัณฑ์, กรมคุมประพฤติ, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ฯลฯ มาหารือเรื่องสืบเนื่องจากวาระพิจารณาในครม.อังคารก่อน ที่รัฐบาลออกพรฎ.พระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข 25,000 คน เพื่อเป็นพระราชกุศล 80 พรรษา ประเด็นหารือคือ เราจะช่วยกันรับมือดูแลพวกคนเหล่านี้กลับสู่สังคมที่ดีที่สุดอย่างไร ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า
· กรมราชทัณฑ์ทำข้อมูลเชิงปริมาณของนักโทษ 25,000 คน โดยแยกเป็นรายอำเภอ เพื่อใช้ในการวางแผน
· ทำโครงการ/บริหารแบบโครงการร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษ, เป็นรายจังหวัด, มี อบจ. เป็นหน่วยงานหลักในด้านงบประมาณ, กรมที่เกี่ยวข้องจะช่วยในด้านวิชาการ และด้านเครือข่ายปฏิบัติการ
· ให้ทำพิธีลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธ.ค.(?)
· ให้ พส./พม. นำเรื่องรายงานครม.เพื่อทราบด้วย
– 16.00น. ประชุมผู้บริหารพม. วันนี้เรื่องหลักคือ งบประมาณลงพื้นที่
– อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องโครงสร้างใหม่ของกระทรวง ผมติดตามความคืบหน้าและสร้างความชัดเจนว่า สป.,สท.,พส. ส่ง(ร่าง)แก้ไขกฎกระทรวงแล้ว? สป.ส่งเรื่องแก้ไขพรบ.แบ่งส่วนราชการแล้ว? และแต่ละกรมจะออกประกาศตั้งหน่วยงายภายในตามวิสัยทัศน์ใหม่ภายในสัปดาห์นี้-หน้า?
– ผมถือเอางานทั้ง 2 เป็นภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนโค้งสุดท้ายของรมช.พม.
– 18.00น. หมอยงยุทธและคุณวีระ มานะคงตรีชีพ มาปรึกษาเรื่องคดีฟ้องปั่นหุ้น 2540 ได้ข้อสรุปว่าได้ทำหนังสือถึงนายกเพื่อขอความอนุเคราะห์โดยชี้ให้เห็นว่า (1) ไม่ผิด/ไม่ชั่ว…ศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้ว (2)ทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดิน กรณี K never smile! (3) เขาได้ช่วยธนาคารทหารไทยจากการล้มละลาย โดยดึง ING Bank ของฮอลแลนด์มาถือหุ้น 30%(20,000ล้าน) ซึ่งเป็นผลงานช่วยประเทศ พรุ่งนี้เขาจะนำจดหมายมาส่งที่พม.ด้วยตนเอง โดยขอให้รมช.พม.ช่วยสื่อสาร
28 พ.ย.
– 9.00น. ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่ 2 รองไพบูลย์เป็นประธาน มีวาระสำคัญหลายเรื่องรวมทั้งของพม.(กคช.) 2 เรื่องด้วย แต่สุดท้ายก็พิจารณาไม่จบเพราะหมดเวลาเสียก่อน
· กษ.เสนอคณะกรรมอนุมัติให้มีการทดลองพืชGMO ได้ทั้ง 3 ระดับคือ
(1)ในห้องทดลอง (2)ในแปลงควบคุมของราชการ (3)ในไร่นาเกษตรกรทั่วไป
สรุป – ที่ประชุมจะเสนอครม.เร่งรัด ออกกม.ความปลอดภัยจาก
เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีสาระครอบคลุมครบถ้วนมากกว่าแทน
– อนุมัติให้กษ.ทำการทดลองขั้น (2)ได้ มีมาตรการควบคุมเข้ม ซึ่ง
ขอให้กษ.ทำรายละเอียดประกอบการเสนอครม.
· กษ.เสนอแผนแม่บทพัฒนาชลประทาน 10 ปี เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 60 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 6 แสนล้าน….คณะกรรมการ 2 เห็นว่าควรชะลอไปก่อน
· พม./กคช.เสนอแนวทางแก้ปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทร โดย(1)ลดเป้าหมายจาก 600,000 เป็น 300,504 ยูนิต (2)ให้คลายเงื่อนไข spec บ้านได้ (3)ขยายเงื่อนไขผู้ซื้อโดยเพิ่มรายได้จาก 20,000 เป็น 30,000 บาท เป็นการขยายฐานลูกค้า (4) ขอวงเงิน OD ธอส.เพิ่มอีก 480 ล้าน…คณะกรรมการ2เห็นชอบให้นำเข้าครม.ตัดสินใจ
– 16.00น. เป็นประธานร่วมแถลงข่าวเปิดตัวละครโทรทัศน์เรื่องยาว 30 ตอน เป็นละครก่อนข่าว TITV ตอนละ 60 นาที เรื่อง “รายากูนิง” โดยมี ทมยันตี(คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์) และคุณปฏิมา(กันตนา) ร่วมแถลงข่าว ที่สยามสมาคม ถ.สุมขุมวิท ผู้สื่อข่าวทุกช่องทุกฉบับสนใจมาก กันตนาเขาจัดแถลงข่าวเอง
– เพื่อโปรโมทรายการ มีกิจกรรม “ตามหารายากูนิง” โดยบริษัทกันตนาเชิญชวนนักข่าวและประชาชนร่วมกันทายว่า รายากุนิงคืออะไร?(คน,สัตว์,สิ่งของ,ฯลฯ) ให้เขียนมาสั้นๆ เพื่อชิงรางวัล 100,000บาท…..ได้ผลครับเพราะนักข่าวสนใจสัมภาษณ์เราทั้ง 3 คน(หลังแถลงข่าว) กันอย่างยาวเหยียด
– วันต่อมา มติชนพาดหัวข่าวหน้าบันเทิง “พม.ร่วมกันตนาทำละครดับไฟใต้!”
– คุณโอภาส(เจ้าหน้าที่ผู้ติดตามรัฐมนตรี) บอกว่า “ท่านรมต.เปลี่ยนพื้นที่ทางสื่อหนังสือพิมพ์ จากหน้าการเมืองและปัญหาสังคม มาสู่หน้าบันเทิงแล้ว!”
– BKK Post สัมภาษณ์ ผมอธิบายว่า “นี่คือหนึ่งในงานที่อาจนับได้ว่าเป็นชิ้นโบว์แดงในการบริหารพม.” ด้วยเหตุผลว่า
1) กระทรวงพม.ดูแลปัญหาความมั่นคงของมนุษย์/การพัฒนาสังคม และเอาใจใส่ปัญหาไฟใต้ตลอดมา
2) พม.ไม่สามารถทำด้านความมั่นคงของชาติไม่ได้เพราะมีหน่วยงานเจ้าของอยู่แล้ว จึงทำในด้านเยียวยา ฟื้นฟู สนับสนุนอยู่ในแนวชายขอบแบบนี้เท่านั้น
3) ความเข้าใจของสังคมไทยเป็นปัญหาอุปสรรคในการแก้ปัญหาไฟใต้ แต่ทำอย่างไรจึงจะสื่อถึงประชาชน ให้เข้าใจง่าย
4) ผมให้ความสำคัญกับสื่อและวัฒนธรรมมาตลอด เพิ่งจะมาลงตัวเมื่อพบกับ กันตนา และยิ่งชัดเจนเมื่ออาจารย์ทมยันตีเข้าร่วม
5) รายากูนิง เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ ฉายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสยามกับรัฐปัตตานี ในยุคพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2100เศษ)
6) รศ.ดร.ครองชัย หัตถา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานี และรศ.ดร.รัตติยา สาและ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีมลายู เป็น 2 ผู้เชี่ยวชาญที่พม.ตั้งเป็นที่ปรึกษาร่วมทำงานกับนักเขียนชั้นครูอย่าง “ทมยันตี” ละครจึงมีความแม่นยำในทางวิชาการ และมีความสวยสดงดงามในเชิงวรรณศิลป์ ยิ่งมีกันตนามืออาชีพด้านละครTV มาช่วยทำให้ตัวละครประวัติศาสตร์โลดแล่นขึ้นมาเหมือนมีชีวิตจริง จึงน่าจะสมบูรณ์ที่สุดแล้ว!
7) ผมเชื่อมั่นว่าแนวรบด้านวัฒนธรรมและศิลปะ จะทำให้สังคมไทยได้สติในเรื่องไฟใต้มากกว่าที่เป็นอยู่
29 พ.ย.
– 8.30น. สัมภาษณ์รายการวิทยุ “หน้าต่างสังคม” เรื่องแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค
– 10.00น. ไปร่วมงานพิธีฉลองสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-ญี่ปุ่น 120 ปี ที่ APCD รองนายกไพบูลย์, ท่านทูตญี่ปุ่น Koloyashi, องคมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร และผู้แทน JICA (Ouoda) กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดงาน เสร็จแล้วรมช.พม.เป็นผู้แสดงปาฐกถานำเข้าสู่การสัมมนาวิชาการ ผมเสนอ 5 แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ต่อที่ประชุม
(1) ผลักดันให้คำสัญญาในสนธิสัญญา/ปฏิญญาระหว่างประเทศด้านคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นจริงในหมู่สมาชิก APCD
(2) บูรณาการงานคนพิการเข้าไปในกระแสหลักการพัฒนาประเทศ
(3) ส่งเสริมองค์กร/เครือข่ายคนพิการเข้มแข็ง, ให้มีบุคลากรพร้อม
(4) ผนึกความเข้มแข็งกับภาคี รัฐ-เอกชน-ชุมชน-ท้องถิ่น-ต่างประเทศ
(5) เพิ่มประสิทธิภาพ APCD ในฐานะองค์กรแกนประสานระหว่างประเทศ
หลังปาฐกถา นักวิชาการจาก Tokyo ผู้ทรงคุณวุฒิไทย มาชื่นชมต่อวิสัยทัศน์ที่แสดงกันหลายคน ท่านธานินทร์บอกว่าดีมาก, อยากให้ทำได้อย่างนั้น และปรารภว่าจะขอผมมาช่วยมูลนิธิทำงานเมื่อพ้นตำแหน่งรมต.แล้ว
– 13.00น. ทีมแกนเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งภาคตะวันออกมาพบประมาณ 20+คน นำโดยผอ.สสว.ชลบุรี(คุณวิจิตร)
– 15.00น. ออกรายการ TV9 “เวทีความคิด” โดยพิธีกรคุณสุวิทย์ สุธิประภา เรื่องคนพิการกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง 23 ธค.
– 17.00น. ไปร่วมฟังรายงานผลเวที “ราชวิถีฟอรั่ม” ครั้งที่ 7 ซึ่งระดมความคิดกันเรื่อง “จะจัดการการแต่งตั้งโยกย้ายให้เป็นธรรมได้อย่างไร” ที่ประชุมมีข้อเสนอที่ดีมาก ไม่แพ้ครั้งที่ 6 ที่พมจ.75 จังหวัด ประชุมกัน
– 19.00น. ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “Motor Expo 2007, Grand Charity Night” ซึ่งคุณขวัญชัย ปภัศร์พงศ์ ผู้จัดงานงาน Motor Show เป็นเจ้าภาพ เขาจัดเพื่อระดมทุนจากบริษัทรถยนต์ที่มาร่วมแสดงในงาน เงินเอาไปบริจาคช่วยมูลนิธิพัฒนาไทและกระทรวงพม.สนับสนุนกิจกรรมโครงการเกี่ยวกับ “ใสสะอาด”, “เยาวชน”, “ไร้มลพิษ” ปีนี้เขาให้ พม./สท. สนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนประกวดบทความ, คลับ VDO, กวี…ว่าด้วย “ลมหายใจไร้มลทิน”
งาน CSR แบบนี้มีแนวโน้มสดใสขึ้นทุกวัน
30 พ.ย.
– 8.00น. รองกานดาและผอ.สนย.มา Brief เรื่องงานที่จะไปประชุมอาเซียนว่าด้วย “สวัสดิการสังคม” ที่เวียดนาม ในสัปดาห์หน้า
– 9.00-12.00น. ไปบรรยายนศ.สถาบันพระปกเกล้าหลักสูตรสันติวิธี บรรยายหัวข้อ “บทบาทประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี” 3 ชั่วโมงเต็ม
– นอกจาก Review องค์ความรู้ทางทฤษฎีแล้ว ผมได้ใช้ตัวอย่างกรณีแฟลตดินแดง สำหรับเรื่อง “Negotiation” และกรณีสลัม 4 ภาค เรื่อง “Mediation” มาขยายความด้วย
– หลังบรรยาย อ.จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ติดต่อทาบทามให้ไปร่วมเป็นอาจารย์สอนหลักสูตรปริญญาโท “สันติวิธี” ซึ่งมก.กำลังจะเปิดใหม่
– 13.00น. ประชุมคณะกรรมการธรรมาภิบาลครั้งที่ 2 งานคืบหน้าไปตามที่ รมช.พม.วางไว้ทุกประการ คณะอนุกรรมการ 2 ชุด ดูแลคนละโครงการตามเสนอ
(1)ทำข้อเสนอปรับปรุงโครงการที่เกี่ยวข้อง
(2)ทำหลักจริยธรรม(จรรยาบรรณ)พม.
นัดคราวหน้า 21 ธค.50…..คาดว่างานจะลุล่วงได้ทันเวลา
1 ธ.ค.
– ไปเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานชุมนุมชนเผ่า 10 ชนเผ่าภาคเหนือ พวกเขากราบถวายพระพรในหลวง 80 พรรษา ผวจ.และรองผวจ.มาต้อนรับและร่วมงานพิธี ทั้ง 2 ท่านชื่นชมบทบาทกระทรวงพม.มาก
– หลังงานไปทานข้าวกลางวันและพูดคุยกับดร.ชัยยันต์ และคณบดีคณะสังคมศาสตร์มช. ว่าด้วยเรื่องที่จะเปิดสอนหลักสูตรชาติพันธุ์ร่วมกับพม. การพูดคุยช่วยกันทำให้ภาพชัดเจนขึ้นและถ้ามีการสานต่อจะมีอนาคตทีเดียว
– 18.30น. ไปร่วมงาน “ทำดีเพื่อพ่อ” ที่สยามพารากอน นายกเป็นประธาน รองไพบูลย์เป็นแม่งาน
ได้พบกับศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม อีกครั้งท่านบอกผมว่า “อีกไม่กี่เดือนก็หมดวาระแล้วนะ….แต่คิดว่าหมอคงสบายแค่2-3 วันเท่านั้น เพราะเชื่อว่าการเมืองจะยังไม่ลงตัว และคนมีฝีมือ มีผลงานอย่าง You มีคนเรียกใช้แน่!!”
Be the first to comment on "ตอนที่ 66 ละครทีวีรายากูนิง"