ตอนที่ 67 ผลงานสะท้อน ชีพจรลงเท้า

8  ธันวาคม 2550

——————————————————-

 สัปดาห์นี้มีพระราชพิธีถี่ยิบที่คณะรัฐมนตรีมีภารกิจเข้าเฝ้าเพราะเป็นช่วงมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่รัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศให้ความสำคัญ 

และมีการเตรียมงานกันมายาวนาน : พิธีสวนสนาม, เข้าเฝ้าฟังพระบรมราโชวาท, รับเสด็จออกมุขเด็จพระบรมมหาราชวัง, เข้าเฝ้าในพิธีฉลองสันนิบาตสมาคมที่ทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ  ระหว่างสัปดาห์สื่อมวลชนหลายฉบับสะท้อนผลงานของรมช.พม.ออกมาติดๆกัน  จนหวั่นว่าจะเป็นที่เขม่น, สยามรัฐ :“สร้าง-ซ่อมสไตล์หมอพลเดช, คม-ชัด-ลึก : พม.จุดเปลี่ยนสังคม, ทุกสื่อเสนอ ดัชนีความมั่นคงของมนุษย์ 2549  ฯลฯ  ในห้วงเดียวกัน  รมช.พม.ต้องใช้เวลา 3 วันอยู่ที่ฮานอยเพื่อร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 6 ว่าด้วยเรื่องสวัสดิการสังคม  จึงนับว่าเป็นสัปดาห์ที่หลากหลาย  ครบเครื่องและเข้มข้นทีเดียว

2 ธ.ค.

– ตั้งแต่เช้าซึ่งเป็นวันอาทิตย์  พัชราและนงนาคมาที่บ้านเพื่อสัมภาษณ์ผลงานเด่น พม.  เพื่อทำหนังสือส่งท้ายตามนโยบายรัฐมนตรี

– 15.00น. ต้องแต่งตัวไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  และพระบรมวงศ์ในงานพิธีสวนสนามประจำปีของเหล่าทหารรักษาพระองค์  ที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้า  นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและเข้าร่วมพิธีสำคัญแบบนี้  พิธียิ่งใหญ่มาก  มีทูตานุทูตร่วมชมด้วย  มีการแสดงศิลปะมวยไทย, ขบวนช้างศึก, ม้าศึก, สวนสนาม ฯลฯ

– พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพร้อมราชวงศ์ทุกพระองค์, พระราชดำรัสในวันนี้มีนัยยะสำคัญที่ถือว่าเป็นสัญญาณจากฟ้าทีเดียว

ใจความสำคัญคือ บ้านเมืองไม่น่าไว้วางใจ…ทหารและประชาชนต้องตัดสินใจว่าจะปล่อยหรือรักษาไว้ให้คงมั่น… เล่นเอาประชาชนที่ฟังตะลึง  หนังสือพิมพ์พาดหัวทุกฉบับ และ TV ทุกช่องนำมาถ่ายทอดซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า!

3 ธ.ค.

– 07.45น.  ข้าราชการและครม.ร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณที่ตึกสันติไมตรี  เป็นพิธีที่สำนักนายกจัดขึ้นเป็นประจำ  นายกเป็นผู้กล่าวนำปฏิญาณ

– 9.00น.  ไปร่วมเปิดงานวันคนพิการสากล(3 ธค.ของทุกปี) รองฯไพบูลย์เป็นประธาน  มีการมอบรางวัลผู้สนับสนุนคนพิการดีเด่นประจำปี มี 3 ประเภท คือ บุคคล, องค์กร  และสถานประกอบการ  ผู้คนเข้าร่วมประชุมกันคึกคัก  องค์กรคนพิการไทยถือว่าเข้มแข็งมาก

– 10.30น.  ประชุมเพื่อเตรียมเดินทางไปร่วมประชุม Commemorative Children ของ U.N. ที่สำนักงานใหญ่ ณ กรุงนิวยอร์ค  มีดร.สายสุรี  จุติกุลและผู้แทนยูนิเซฟประเทศไทย (Mr.Tomoo) มาร่วมด้วย

– 13.00น.  แถลงข่าว  ประกาศผลการประเมินดัชนีความมั่นคงของมนุษย์ประเทศไทยประจำปี 2549  ผู้สื่อข่าวให้ความสนใจกันมากกว่าที่คิด  ผลคือ  วิทยุ, โทรทัศน์  และนสพ.ลงข่าวกันขรมไปหมด  เล่นเอาเช้าวันอังคารก่อนประชุมครม.  มีข่าวรมช.พม.เด่นอยู่เต็มหน้าสื่อไปหมด

เรื่องนี้มีอยู่ว่า  กระทรวงพม.เคยให้ NIDA ศึกษาวิจัยทำกรอบประเด็นและตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์เมื่อปี 2547  ปีต่อมา ได้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาต่อยอดจนได้เครื่องมือวัดดัชนีความมั่นคงของมนุษย์ (Composite Human Security Index : CHSI) ประกอบด้วยด้านบุคคล 79 ตัวชี้วัด  และด้านพื้นที่ 69 ตัวชี้วัด  มธ.ได้คิดสูตรคำนวณค่า CHSI ออกมาเรียบร้อย  และใช้ข้อมูล Secondary Data จากหน่วยงานต่างๆ มาจัดทำเป็นรายงานดัชนีความมั่นคงของมนุษย์ประจำปี 2548 มาครั้งหนึ่งแล้ว  แต่ไม่เป็นที่ฮือฮา  สำหรับปี 2549 จนท.พม.ได้ทำต่อเนื่อง  คราวนี้ได้ข้อมูลครบถ้วนทั้ง 76 จังหวัด  พิมพ์เป็นเอกสารรายงานเรียบร้อยตั้งแต่ เมษายน 2550  แต่มิได้นำเสนอรมต.(ด้วยคงเกรงว่าจะไม่ได้รับความสนใจ!)  ต่อมาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนผมไปเห็นเข้า  จึงสั่งการให้จัดเวทีแถลงข่าวเพราะ มีของดีแล้วทำไมไม่นำมาอวด!” ซึ่งเป็นจริงดังที่รมช.พม.คาดการณ์  เพราะการแถลงข่าวได้รับความสนใจจากสื่อมาก  รมว.ไขศรี(วธ.) ตรงรี่มาหาในที่ประชุมครม.ว่า พี่สนใจมาก  ขอรายงานให้สักเล่ม, ดร.สุชีลา  ตันชัยนันท์(มธ.) ขอเอกสารไปใช้ประกอบการสอนนศ.ปริญญาโท ฯลฯ

แต่ว่าเรื่องนี้ พี่ไพบูลย์ กลับไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วม  เพราะท่านเชื่ออีกแบบหนึ่ง  ท่านไม่เชื่อดัชนีวัดระดับมหภาค (Macro) ท่านอยากให้พม.พัฒนาตัวชี้วัดระดับจุลภาค (Micro) ต่อยอดจากที่ นพ.อภิสิทธิ์  ธำรงค์วรางกูล  และนพ.ยงยุทธ ขจรธรรม ได้ทำที่อีสานแทน

– 14.00น.  ประชุมทีมที่ปรึกษากฎหมาย(อ.พิเชษฐ์) และกองนิติการเรื่องโครงการ  สถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม(สปรย.)

– 15.00น. ไปเข้าเฝ้าองค์ศรีรัชต์  เสด็จที่ชุมชนข้างวังสุโขทัย  มีกระทรวงและหน่วยงานจำนวนมากไปช่วยพัฒนาชุมชนแห่งนี้  ท่านเสด็จชุมชนนี้ 2 ครั้งแล้ว  คราวนี้ชุมชนน่าอยู่ขึ้นเยอะเพราะมีส่วนราชการพากันไปช่วยดูแลเป็นพิเศษ  ของกระทรวงพม.มีพส.เป็นแกนสำคัญ  ระหว่างรอรับเสด็จมีโอกาสได้คุยกับผว.กทม.(คุณอภิรักษ์), รองผว.(คุณดนุพงษ์)  และปลัดสธ.(นพ.ปราชญ์) หลายเรื่องราว

4 ธ.ค.

– 9.00น.  มีประชุมครม.ตามปกติ  วันนี้มีสาระเพื่อพิจารณาไม่มาก  เลิกประชุมก่อนเที่ยง  เพราะทุกคนต้องเตรียมตัวเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวตอนเย็น

– 14.00น.  ประชุมหัวหน้าหน่วยงานใหม่ของสป.ที่จะจัดตั้งขึ้นโดยคำสั่งกระทรวง(เป็นการภายใน)  5 หน่วยงาน 1) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

                                2) สำนักกิจการชาติพันธุ์

                                3) สำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา

                                4) สำนักวิจัยและจัดการทางสังคม

                5) กองบริหารกองทุน

ผมได้ให้ Concept และทิศทางนโยบาย  พร้อมกับความชัดเจนในภารกิจที่คาบเกี่ยวกันจนลงตัว  และมอบหมายให้สป.ไปพิจารณาออกเป็นคำสั่ง  รวมทั้งนัดหมาย Workshop 20-21 ธ.ค. เพื่อเสนอแผนงานและโครงสร้าง/อัตรากำลัง

– 16.00น.  เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่ศาลาดุสิตาลัย  สวนจิตรลดา  ปีนี้ข้าราชบริพาร  และประชาชนรวม 780 องค์กร 23,000 คน เข้าเฝ้าถวายพระพร  พระองค์ท่านตรัสร่ายยาวเป็นพิเศษ  เสียงที่ฟังในหอประชุมไม่ชัดเจน  ทำให้ต้องกลับมาฟังซ้ำทาง TV ที่นำมาเผยแพร่ในตอนกลางคืน  ท่านยังคงย้ำต่อจากวันสวนสนามว่า ต้องลดอคติ, ต้องสามัคคีกัน, ต้องเศรษฐกิจพอเพียง, ต้องรอบคอบ ฯลฯ  ระหว่างที่เข้าเฝ้าอยู่นั้น  พระองค์เจ้าทีปังกรซุกซนมาก  จนเสด็จปู่ต้องกล่าวว่า ซน,ดื้อ,พูดมากเหมือนพ่อ, ปู่ไม่พูดมาก!!”….เล่นเอาข้าราชบริพารต่างพากันอมยิ้ม

5 ธ.ค.

– 9.00น.  เข้าร่วมพิธีเสด็จออกมุขเด็จ  บริเวณที่นั่งจักรีมหาปราสาท  พระบรมมหาราชวัง  เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ  ถ่ายทอดไปทั่วโลก  สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจเพราะพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระชนมายุ 80 พรรษา  และครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก  ที่สำคัญพระองค์เป็นที่รักของประชาชน  และทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่เป็นแบบอย่าง

พระราชพิธียิ่งใหญ่อลังการจริงๆ คงเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมจะได้เข้าร่วมพิธีและเป็นการร่วมในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระองค์ท่านเสียด้วย

ระหว่างพิธีแดดร้อนเปรี้ยง  ทีมแพทย์สนามมาแจกยาดมยาหม่อง  บอกข้อมูลให้พวกเราทราบว่าพิธีแบบนี้มักจะมีคนเป็นลมคราวละ 5-6 คน ไม่ได้ขาด  พูดเหมือนจะขู่ว่าอย่าประมาทนะ  อาจเป็นท่านก็ได้!  เสร็จแล้วก็จริง  ระหว่างที่ประมุข 3 อำนาจ(รัฐบาล  รัฐสภา  และตุลาการ) กำลังถวายรายงานอยู่นั้น  ภริยาของท่านรองนายกโฆษิต  ปั้นเปี่ยมรัฐ พับไปก่อน  หามออกไปเป็นที่ชุลมุนตามสมควร  ข่าวว่ามีตำรวจด้านหลังก็เป็นลมไปด้วยอีกคน

– 15.30น.  ออกเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ  เพื่อโดยสารTG 684 ไปลงที่ Hanoi เพื่อร่วมประชุมรัฐมนตรีสังคมของอาเซียน  บนเครื่องบินวณีอ่านคมชัดลึก พบข่าว พม.ทำละครแก้ปัญหาภาคใต้ จึงนำติดตัวไปเวียดนามด้วย  ใช้เวลาเดินทาง 2 ชม.ถึงสนามบิน Noibai  จากสนามบินรถยนต์นำขบวนโดยตำรวจใช้เวลา 45 นาที จึงถึงโรงแรมเมเลีย  ซึ่งเป็นของคุณเจริญ (เจ้าพ่อน้ำเมา) มหาเศรษฐีโลกที่เป็นคนไทย  ทราบว่าซื้อต่อมาจากพล.อ.อ.สมบูรณ์  ระหงษ์  คืนนี้สถานทูตไทยและคนไทยในฮานอยมาจัดงานฉลอง 5 ธันวาที่โรงแรมนี้ด้วย  ผมจึงถูกเชิญให้ไปเป็นประธานตามระเบียบ  แต่ไปถึงงานก็เกือบเลิกแล้ว  ท่านเอกอัครราชฑูตรอรับอยู่ที่นั่น

6 ธ.ค.

– 9.00น.  พิธีเปิดการประชุม  ASEAN Ministerial Meeting for Social Welfare ครั้งที่ 6นายกรมต.เวียดนามมาเป็นประธาน  กล่าว Speech แล้วถ่ายรูปร่วมกันตามพิธีการ  การแสดงวัฒนธรรมของเวียดนามน่ารักมาก  ทั้งดนตรี  การเต้นร่ายรำ  และการแสดงของเด็ก

– เริ่มประชุม 10.30น.  เริ่มต้นโดยผมต้องทำหน้าที่ประธานที่ประชุมก่อนเพื่อเลือกประธานและรองประธาน  ที่ประชุมเสนอรมต.เวียดนามเป็นประธาน  และรมต.บรูไนเป็นรองประธาน

– จากนั้นรมต.แต่ละประเทศ 10 คน กล่าว Speech ใน theme “Mainstreaming Disability to Development” โดยเรียงกันไปตามลำดับตัวอักษรของแต่ละประเทศ  ประเด็นที่รมช.พม.(ไทย) กล่าวคือ ไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัญหาคนพิการมาก, เราทำการจดทะเบียนคนพิการ, เรามีกม.ใหม่, เราส่งเสริมเรื่องอาชีพ, มีระบบโควตารับคนพิการเข้าทำงานในโรงงานในอัตราส่วน 1: 200คน, มีกองทุนให้คนพิการกู้ยืมไปประกอบอาชีพอิสระ  และเรามีสถาบัน APCD เป็นศูนย์ฝึกอบรมคนพิการสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคด้วย

– 19.30น. ประชุม Working Dinner AMMSWD+3 ครั้งที่2  มีญี่ปุ่น  จีน และเกาหลีมาร่วม  ด้วย  เป็นการเตรียมเพื่อประชุมอย่างเป็นทางการวันรุ่งขึ้น

7 ธ.ค.

– 8.30น.  เริ่มประชุม AMMSWD+3  ฟัง 3 ประเทศ Speech ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร  เสร็จแล้วรมช.พม.ก็เสนอไอเดียเพิ่มเติมว่า APCD ที่ญี่ปุ่นมาสนับสนุนไทยตั้งอยู่ที่ Bangkok นั้น  มิใช่เพื่อคนไทยแต่เป็นสมบัติกลางของภูมิภาค  จึงอยากให้ทุกประเทศใช้ประโยชน์ร่วมกัน  โดยใช้หลักการ Cost Sharing Basis และผมได้ตั้งคำถามถึง ASEAN Foundation ว่าจะร่วมกันได้อย่างไรบ้างหรือไม่?  เลขาธิการอาเซียน(นายอันเค็งยอง-ชาวสิงคโปร์) นั่งฟังนิ่ง  ก่อนตอบว่า น่าจะถึงเวลาที่ ASEAN Foundation มาร่วมแล้ว  ขอให้เสนอ Proposal มา!!” …. เป็นอันว่าผมประสบความสำเร็จแล้วสำหรับการประชุมคราวนี้!!

– 11.00น. ออกเดินทางมาขึ้นเครื่องบินกลับกทม.  สายการบิน Nok Air ถึงกทม. 14.30น.  กลับบ้านอาบน้ำ  รีบแต่งตัวไปงานสโมสรสันนิบาตที่ทำเนียบรัฐบาลตอนค่ำ

– 18.00น.ขณะเดินเข้าบริเวณงานสโมสรสันนิบาต  พบดร.กิตติพงษ์  กิตยารักษ์  รองปลัดยธ.และภรรยาเดินเข้ามาทัก  พร้อมกับบอกว่า นับว่าท่านรมต.ประสบความสำเร็จอย่างมากในการมาบริหารกระทรวงพม.ในช่วงสั้นๆ  เพราะสื่อสะท้อนตัวชี้วัดว่าประชาชนพึงพอใจมาก …เรื่องนี้ทำให้ผมต้องกลับมาสำรวจเสียงสะท้อนจากสื่อว่าอะไรถึงทำให้รองปลัดยธ.พูดเช่นนั้น

(1) นสพ.สยามรัฐรายวัน  ทยอยลงบทความของรมช.พม.  คอลัมภ์ วิถีผู้นำ เสนอเรื่องไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม : นักการธนาคาร  ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ติดต่อกันมา 2 สัปดาห์แล้ว  สัปดาห์ละ 2 ตอน  รวม 10 ตอน 

(2) 28 พย.  สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ลง Scoop เกี่ยวกับรมช.พม.โดยตรงเรื่องหมอพลเดช :รมช.พม.กับการบริหารงานแบบสร้าง-ซ่อม…บทความกล่าวถึงงาน 12 เดือนที่ผ่านมา  และงาน 3 เดือนที่เหลือ…กล่าวว่า รมต.ที่โดดเด่นและเข้าถึงประชาชนมากที่สุดคนหนึ่งคือหมอพลเดช

(3) 1 ธค.  คมชัดลึกรายวัน  ลง Scoop สัมภาษณ์รมช.พม.  ชื่นชมเป็นพิเศษเรื่อง พม.จุดเปลี่ยน…สังคม  ชาวบ้านสอนนักการเมือง…นี่ก็เชียร์อย่างออกหน้า ถึงขั้นตั้งคำถามว่า ถ้ามีคนเชิญมาเป็นรมต.อีกจะว่าอย่างไร?”

(4) 4ธค.  สื่อวิทยุ-TV-นสพ.เกือบทุกสื่อรายงานข่าวการแถลง CHSI ของรมช.พม.  ท่ามกลางกระแสขาลงของครมและอื่นๆ

(5) 5ธค. คมชัดลึก  พม.สร้างละครโทรทัศน์แก้ปัญหาไฟใต้

– การปรากฏเป็นข่าวในเชิงสร้างสรรค์  มีสิ่งใหม่ๆ เสนอต่อสังคมตลอดเวลา  ไม่ถี่ไม่ห่างจนเกินไป ฯลฯ  คงมีส่วนทำให้เสียงสะท้อนของสื่อและสังคมที่มีต่อรมช.พม.ออกมาในทางบวกมากๆ

– ในงานสโมสรสันนิบาตที่ทำเนียบรัฐบาล  องค์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ  เสด็จพร้อมฟ้าหญิงจุฬาภรณ์  ทูลกระหม่อมอุบลรัตน์  และเจ้าฟ้าชายแอนดรู(อังกฤษ) มีการแสดงโขน, จุดพลุฉลอง  และร้องเพลงถวายพระพร

8 ธ.ค

– 9.00น.  นัดข้าราชการพม. 3 คณะมาพบที่กระทรวงเพื่อหารือและระดมความคิดเกี่ยวกับโครงสร้าง  และระบบงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธรรมาภิบาล

(1) ว่าด้วยเรื่อง  การแต่งตั้งโยกย้ายและการเข้าสู่ตำแหน่งที่เป็นธรรม

(2) ว่าด้วยเรื่อง  งานบริการสถานสงเคราะห์และมูลนิธิ

(3) ว่าด้วยเรื่อง  การจัดสรรงบประมาณและระบบงบประมาณลงพื้นที่

ทั้ง 3 คณะ  สามารถดำเนินการจนบรรลุข้อสรุปเบื้องต้นที่พร้อมจะนำเสนอต่อกรรมการได้  จึงสบายใจลงไปหมด  พรุ่งนี้จึงสามารถเดินทางไปประชุมที่นิวยอร์คและเลยไปที่ปักกิ่งด้วยความสบายใจ

Be the first to comment on "ตอนที่ 67 ผลงานสะท้อน ชีพจรลงเท้า"

Leave a comment

Your email address will not be published.