ตอนที่ 7 “สัปดาห์แรกที่ พม.”

          เมื่อรู้ตัวและตัดสินใจที่จะต้องมาช่วยกันรับผิดชอบบริหารกระทรวง พม. อย่างน้อย 1 ปี เรา 3 พี่น้อง (ไพบูลย์ เอนก พลเดช) ต่างคนต่างมีภารกิจที่รัดตัวกันอยู่ก่อน จึงต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ โปรแกรมต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ ส่วนใหญ่ก็ตัดไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีประคับประคองตัวกันไปแบบวันต่อวัน

          ยกเว้นพี่เอนก แกทิ้งข้าวของไว้ที่ประเทศลาวเลย แกว่าว่าง ๆ ค่อยกลับไปเอา
          เช้าวันจันทร์ที่ 9 ต.ค. จะเข้ากระทรวงเลยก็ยังไม่เหมาะ ใจหนึ่งอยากจะเข้าไปศึกษาและเตรียม office ในฐานะเลขานุการ รมว. เป็นการเตรียมก่อนที่ รัฐมนตรีจะเข้ากระทรวง ใจหนึ่งเตือนว่าอย่าเพิ่งดีกว่าเพราะจะดู offside ไปหน่อย
          วันนั้นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้รับโปรดเกล้าฯ และเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นวันที่นับ 1 ได้ สำหรับรัฐบาลชุดนี้
          สัปดาห์นี้มีประเด็นที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ สัมภาษณ์ผมเรื่องพี่น้องเดือนตุลา ที่เกิดแตกแยกกันในวิกฤตการเมืองช่วงที่ผ่านมาและเอาไปลงหนังสือแทบลอยด์ ขึ้นปกหน้า

 

ตรงนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับผมที่ถูกสัมภาษณ์ลงแทบลอยด์   ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2548 เมื่อตอนที่เป็นหัวหอกรณรงค์“โหวตยุทธศาสตร์ โหวตเพื่อสังคมเข้มแข็ง” และ “เลือกคนที่รัก   เลือกพรรคไปคาน” ช่วงนั้นผู้คนในวงการเมืองและวงการงานพัฒนาพากันจับจ้องมาที่ผมในฐานะเป็นผู้ที่ทำงานพัฒนา และมีสถานภาพที่เป็นกลาง และเดินสายกลางมาตลอด ว่าเพราะเหตุใดจึงลุกขึ้นมาชู “โหวตยุทธศาสตร์” ในการรณงค์เลือกตั้ง 2548 ในสภาวการณ์ที่ ทรท. เหนือกว่าพรรคอื่น ๆ ในทุกด้าน

          ครั้งนี้ก็เช่นกัน คนในแวดวงสนใจกันว่า ในสถานการณ์ต้านทักษิณ การที่ผมประกาศยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาลด้วยท่าทีที่จริงจังแต่ไม่ก้าวร้าว ในขณะที่พี่น้องคนเดือนตุลาแตกกันเป็นฝักฝ่าย และในสถานะที่ต้องมาเป็นแม่งาน 30 ปี 6 ตุลาด้วย   สื่อมวลชนสนใจว่าผมจะมองเรื่องต่าง ๆ อย่างไร
          หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ออกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่ผู้คนจะได้อ่านและพูดคุยกันในสัปดาห์นี้
          บ่ายวันที่ 10 ต.ค. วันนั้นเป็นวันอังคารซึ่งมีการประชุม ครม. นัดแรกในตอนเช้า ทีมของ รมว.ได้เตรียมกับเจ้าหน้าที่ พม. ท่านหนึ่ง (คุณชินชัย ชี้เจริญ) ว่าจะขอพบ จนท. และผู้บริหารของกระทรวงเพื่อทำความรู้จักคุ้นเคย และเรียนรู้งานว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่และใน 1 ปีนี้จะทำอะไรเป็นเรื่องหลักกันบ้าง
          เราเข้าไปถึงกระทรวงก่อน รมว.ไพบูลย์ ระหว่างเดินเก้ๆกังๆ อยู่ มีเจ้าหน้าที่ พม.คนหนึ่งเดินเข้ามาทัก และเรียกชื่อได้ถูกต้อง เขาบอกว่าเขาเพิ่งอ่านคำสัมภาษณ์ของผมที่ลงแทบลอยด์ไทยโพสต์เมื่อวานนี้!
          เมื่อรัฐมนตรีมาถึง ทีมของปลัด พม., อธิบดีและ ผอ.ส่วนต่าง ๆ มาต้อนรับ   จากนั้นพาไปกราบไหว้รูปปั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ต้นราชสกุล “วุฒิไชย” ผู้เป็นอดีตเจ้าของวัง “วังสะพานขาว” อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานรัฐมนตรีที่ทีมงานของเราต้องนั่งทำงาน,  เมื่อไหว้เทวรูปพระประชาบดี เทพประจำกรม, และศาลพระภูมิเจ้าที่ แล้วจึงเข้าห้องประชุม
          ตาม protocol แล้ว   เขาจัดที่นั่งให้ รมว.นั่งกลาง, เลขานุการนั่งขวา และปลัดกระทรวงนั่งซ้าย
          วันนั้น รมว.ไพบูลย์ แสดงความเป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งคนในกระทรวงและภายนอกก็ให้เครดิตท่านอย่างนั้นอยู่แล้ว
          การประชุมนัดแรกใช้เวลานานทีเดียว เลิกเอาตอนเย็นกว่า 5 โมง ปลัดและอธิบดีต่างช่วยกันเล่างานให้ รมว. และทีมงานฟัง
          ออกนอกห้อง ผู้สื่อข่าวรอสัมภาษณ์ รมว.ใหม่ เต็มไปหมด คำถามของผู้สื่อข่าวสะท้อนความคาดหวังของสังคมที่มีต่อ รมว. พม. เป็นอย่างสูง   ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องของการเคหะแห่งชาติ และโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผู้สื่อข่าวพยายามรุกเข้ามาเพื่อหาคำตอบว่า รมว.ใหม่จะจัดการอย่างไร
          สัปดาห์แรกนี้ พี่ไพบูลย์ หมดเวลาไปกับการต้อนรับแขกเหรื่อผู้มาแสดงความยินดีและให้กำลังใจมากมาย หมดเวลาไปกับการให้สัมภาษณ์สื่อและบันทึกรายการโทรทัศน์
          เราเองก็ช่วยอะไร รมว.ไม่ได้ เพราะเป็นแขกที่ ตัวท่านมีสายสัมพันธ์ในงานพัฒนาสังคมอยู่ก่อน เลขาจึงจัด Agenda งานให้ รมว. ไม่ได้เอาเสียเลย
          ตัวเองก็จะเอาไม่รอดเพราะ วาระงาน LDI ที่ค้างคาก็ยังต้องเดินต่อไป ในขณะที่ต้องเร่งศึกษางานใหม่ไปด้วย
          วิธีง่ายที่สุดที่ผมทำได้คือการเชิญ หัวหน้าฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ของแต่ละกรมมาเล่าให้ฟังทีละหน่วยงาน เพื่อเป็นการสำรวจภูมิประเทศงานของกระทรวง พม. ให้เห็นภาพรวม
          กระทรวง พม. มีหน่วยงานระดับกรมอยู่ 6 หน่วย ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง (พม.), กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.), สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.), สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.), การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
          คือ 1 กรม 3 สำนักงาน 1 รัฐวิสาหกิจ และ 1 องค์การมหาชน
          และยังมีอีก 1 รัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ตั้งอยู่ในกรม พส. คือ สำนักงานธนานุ-เคราะห์ (สธ.) ซึ่งมีสถานธนานุเคราะห์ 32 แห่งในบริเวณกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และอีก 1 แห่งที่ระยอง
          ดังนั้น ก่อนที่คณะของ รมว. จะตระเวนไปเยี่ยมทุกหน่วยงานส่วนกลางของกระทรวงในสัปดาห์หน้า ผมได้สำรวจภูมิประเทศงานครบถ้วนแล้วด้วยประการฉะนี้
          11 ต.ค. มีงานบรรยายนักศึกษาโครงการข้าราชการสายพันธุ์ใหม่ของ กพร. ซึ่งมี ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธานโครงการเขาตั้งเป็น “สถาบันบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี” ซึ่งเป็นหน่วยงานประเภท SDU (Special Delivery Unit)   ถือเป็นหน่วยราชการแบบหนึ่งในกระบวนการปฏิรูประบบราชการ
          มีนักศึกษาในโครงการประมาณ 30 คน ผมไปบรรยายเรื่อง ประชาสังคมและการปฏิรูประบบราชการ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงเต็ม
          ช่วงนี้กลับมาถึงสำนักงานรัฐมนตรีทุกครั้งจะมีเรื่องกองพะเนินเพราะในฐานะเลขานุการ รมว. นั้นเป็นตำแหน่งทางการเมือง เป็นข้าราชการการเมือง มีฐานะเทียบเท่าอธิบดีกรม (ซี 9-10) จึงมีเรื่องต้องทำในฐานะผู้ใช้อำนาจหน้าที่อยู่มากทีเดียว
          ช่วงที่ผ่านมา กระทรวงได้ขาดรัฐมนตรีไประยะหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้งานคั่งค้างอยู่เยอะ ทีม สร.เสนอเรื่องมาล้วนมีแต่ ด่วนที่สุด ด่วนมาก และด่วนๆ ทั้งนั้นเลย
          พอมีเวลาหายใจช่วงใด อาจารย์ไพบูลย์ก็ขอปรึกษาทีม 3 คน ผมจึงได้โอกาสรุกในเรื่องหลักการทำงานร่วมกันของทีมว่า 1) เรามาในสถานการณ์ไม่ปกติและอยู่ในระยะสั้น (1 ปี) 2) รัฐบาลสุรยุทธ์บอกมีเรื่องเร่งด่วน 4 เรื่องคือ สมานฉันท์ ไฟใต้ อุทกภัย คุณธรรม ซึ่งไม่ได้ Focus ที่กระทรวงนี้ 3) แต่สังคมก็คาดหวังในตัว รมว. พม.มาก   4) ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือ เราควรทำงานเชิงนโยบาย – เชิงโครงสร้างเป็นหลัก ส่วนงานดำเนินการปล่อยให้กลไกกระทรวงเขาดำเนินไปตามปกติ จะดีจะด้อยก็ไม่ควรไปตอแยมากจนหมดเวลาและเกิดแรงต้าน 5) เราควรตั้งเป้าหมายว่า เราจะเข้ามาเพื่อทำให้กระทรวง พม. มีฐานที่กว้างและแข็งแรงขึ้น เพื่อจะได้ทำงานร่วมกันหลังจากนั้น
          ทั้ง 3 คน เราเห็นพ้องต้องกันตามนั้น (อย่างน้อยก็ในชั้นต้นนี้)
          12 ตุลาคม ที่งานมหกรรมตุลาประชาธิปไตยยังคงมีกิจกรรมต่อเนื่องรำลึกถึงเหตุการณ์ 30 ปี 6 ตุลา และ 33 ปี 14 ตุลา ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (สี่แยกคอกวัว)
          วันนั้นมี Workshop องค์กรภาคีเครือข่ายคนเดือนตุลา เพื่อหารือกันว่าจะจัดตั้งองค์กรถาวรเพื่อดูแลกิจกรรมส่งเสริมจิตใจ 14 ตุลา และ 6 ตุลาอย่างไรดี   องค์กรที่มาได้แก่ มูลนิธิ 14 ตุลา, มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา, มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, คณะกรรมการจัดงาน 30 ปี 6 ตุลา, คณะกรรมการญาติวีรชน 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535
          ในฐานะประธานที่ประชุมและเป็นผู้นำเสนอ Concept ผมจึงเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน ที่ประชุมประมาณ 30 คน ช่วยกันระดมความคิด ในที่สุดได้ข้อสรุปว่า
1) เห็นด้วยกับการดำรงไว้ซึ่งกิจกรรมรำลึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา
2) มองว่าเหตุการณ์เดือนตุลาเป็นประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณ/สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งต่อสู้เรียกร้องให้ได้มา และทั้งปกป้องรักษาเอาไว้
3) ทั้งนี้มองประชาธิปไตยเป็นกระบวนการ เป็นสายธาร เป็นพัฒนาการที่สืบเนื่องตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มิใช่มองเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งเพียงแค่จุดใด
4) ทุกปีจะมีการจัดงานที่บูรณาการทั้ง 14 ตุลาและ 6 ตุลา เป็นช่วง 1 สัปดาห์เต็ม ๆ ระหว่าง 6-14 ตุลา โดยควรมีกิจกรรมเน้นที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทุกปี
5) จะจัดตั้งสถานบันตุลาประชาธิปไตยให้เป็นองค์กรถาวรที่รับผิดชอบงานนี้
6) ให้สถาบันนี้เป็นกลไกกลางที่ทุกองค์กรภาคีคนเดือนตุลาและภาคีประชาธิปไตย เป็นผู้สนับสนุนและร่วมก่อตั้ง
7) ให้สถาบันนี้ทำงานส่งเสริมจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับเยาวชนและสังคมไทยตลอดทั้งปี มิใช่แค่การจัดงานปีละครั้งเท่านั้น
8) การจัดตั้งสถาบันให้ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป โดยปูทางไปจนถึงปี 2551 ซึ่งจะเป็นการครบรอบ 35 ปี 14 ตุลา ก็จะประกาศเปิดตัวสถาบันอย่างเป็นทางการ!
          สรุปแล้วคงไม่พ้นภารกิจที่ผมต้องช่วยประคับประคองอีกภารกิจหนึ่งเพราะพวกเขาขาดคนที่จะประสานเชื่อมโยงให้ยอมรับกันทุกฝ่ายและนำไปสู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพได้ จึงรวมกันไม่ติดเลยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
          13 ตุลา รมว.นัดหมายขอคำปรึกษา อ.ประเวศ วะสี ทั้งทีมในช่วงเย็น อ.ไพบูลย์, พี่เอนก, พลเดช, ดร.อนุชาติ พวงสำลี และ ดร.วณี ปิ่นประทีป, นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, คุณดวงพร เฮงบุญพันธ์ จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติก็มาด้วย
          ปรึกษากันว่าจะทำงานเชิงยุทธศาสตร์อย่างไรดีที่กระทรวง พม. แห่งนี้
          วันนั้น เราช่วยกัน Draft 3 ยุทธศาสตร์หลักขึ้นมาคือ สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็งที่มีชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน และสังคมคุณธรรม อาจารย์ประเวศมอบให้พวกเราคิดรายละเอียด และนัดประชุมกันวันเสาร์ 24 ตุลาอีกครั้ง
          14 ตุลา ไปร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่อนุสรณ์สถาน ฟังปาฐกถาพิเศษ 14 ตุลา โดย ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ซึ่งมูลนิธิ 14 ตุลาที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน์เป็นประธาน เขาจัดขึ้นทุกปี
          ทั้งองค์ปาฐกและนักวิชาการพากันชี้ถึงความเสี่ยงของ คมช. และรัฐบาลว่าน่าเป็นห่วงจะไปไม่รอด และเกรงว่าจะไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม!
          เสาร์-อาทิตย์ นี้เริ่มมีเวลาได้นั่งคิดวางแผนบ้าง เวรตรวจคนไข้ที่เคยมีที่ รพ.นวมินทร์ทุกวันอาทิตย์และจันทร์ก็บอกเลิกหมดแล้ว เพราะต้องให้เวลาเต็มที่กับภารกิจทางการเมือง.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
15 ตุลาคม 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 7 “สัปดาห์แรกที่ พม.”"

Leave a comment

Your email address will not be published.